ถอนร่างกม.ปปช.-วิ.อาญา องค์กรอิสระขู่ส่งศาลรธน.

"ในหลวง" พระราชทานแจกันดอกไม้แก่ “เศรษฐา” เนื่องในวันคล้ายวันเกิด 62 ปี "อุ๊งอิ๊ง" เข้าทำเนียบฯ   อวยพรวันเกิดขอให้มีสุขภาพแข็งแรง   "ภูมิธรรม" ถกหัวหน้าพรรคร่วมฯ จ่อชงหลักการแก้ รธน.เข้า ครม.มี.ค. "วันนอร์" สั่งงดประชุมร่วม 16 ก.พ. เหตุ “ชูศักดิ์” ขอถอนร่าง กม.ป.ป.ช.-วิธีพิจารณาคดีอาญาฯ ด้าน “ชูศักดิ์” ยอมรับองค์กรอิสระไม่เห็นด้วยเลขาฯ ป.ป.ช.บอกหากขัด รธน.จะส่งตีความ จึงขอเอากลับไปศึกษาให้ละเอียดฯ

ที่ทำเนียบรัฐบาล เวลา 08.45 น. วันที่ 15 กุมภาพันธ์ นายเศรษฐา ทวีสิน   นายกรัฐมนตรีและ รมว.การคลัง เดินทางเข้าปฏิบัติหน้าที่ตามปกติ โดยในวันเดียวกันนี้เป็นวันคล้ายวันเกิดอายุครบ 62 ปี เมื่อเดินทางมาถึงรถยนต์ของนายกฯ ได้ชะลอและลดกระจกทักทายผู้สื่อข่าวที่อวยพรแฮปปี้เบิร์ธเดย์เนื่องในวันคล้ายวันเกิด โดยนายเศรษฐาตอบกลับว่า “ขอบคุณครับ”

จากนั้น เวลา 09.00 น. พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว  และสมเด็จพระนางเจ้าสุทิดา พัชรสุธาพิมลลักษณ พระบรมราชินี ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ผู้แทนพระองค์ เชิญแจกันดอกไม้พระราชทานแก่นายเศรษฐา เนื่องในโอกาสวันคล้ายวันเกิด ที่ห้องสีงาช้าง ตึกไทยคู่ฟ้า

เมื่อเวลา 10.00 น. น.ส.แพทองธาร ชินวัตร หัวหน้าพรรคเพื่อไทย (พท.) เดินทางเข้าทำเนียบรัฐบาลเพื่ออวยพรวันคล้ายวันเกิดนายเศรษฐา โดย น.ส.แพทองธารใส่เสื้อสีม่วง ต่อมา น.ส.แพทองธารเปิดเผยว่า ได้อวยพรให้นายกฯ มีสุขภาพแข็งแรง ไม่ได้มีอะไรมาก

หลังเข้าอวยพรนายกฯ บนตึกไทยคู่ฟ้า น.ส.แพทองธารเดินทางขึ้นตึกบัญชาการ 1 เพื่อร่วมประชุมกับนาย ภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.พาณิชย์ และแกนนำพรรคร่วมรัฐบาล

ทั้งนี้ เวลา 10.00 น. นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกฯ ได้เชิญหัวหน้าพรรคหรือตัวแทนหัวหน้าพรรคประชุมที่ตึกบัญชาการ 1 เพื่อหารือเกี่ยวกับกฎหมาย ป.ป.ช.และกฎหมายเกี่ยวกับการทำประชามติ โดยมี น.ส.แพทองธาร ชินวัตร หัวหน้าพรรคเพื่อไทย, นายสันติ พร้อมพัฒน์ รมช.สาธารณสุข ในฐานะรองหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ, นายวราวุธ ศิลปอาชา รมว.การพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ในฐานะหัวหน้าพรรคชาติไทยพัฒนา, พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง รมว.ยุติธรรม ในฐานะหัวหน้าพรรคประชาชาติ, นายสุวัจน์ ลิปตพัลลภ ประธานพรรคชาติพัฒนากล้า   เข้าร่วมประชุม

ภายหลังการประชุม นายภูมิธรรม เปิดเผยว่า เป็นการหารือเรื่องเกี่ยวกับการทำงานในสภาและเกี่ยวกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญ โดยเฉพาะเรื่องรัฐธรรมนูญตนได้แจ้งคณะกรรมการศึกษาแนวทางในการทำประชามติเพื่อแก้ไขรัฐธรรมนูญที่ตนเป็นประธาน เพื่อจะเสนอนายกรัฐมนตรี และคาดว่าจะนำเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ในเดือน มี.ค. ซึ่งทุกคนก็ได้รับฟังในสิ่งที่ตนพูด และมีความเห็นให้เดินตามแนวทางของคณะกรรมการชุดดังกล่าว ส่วนรายละเอียดทุกคนก็เห็นพ้องต้องกันตามแนวทางนี้ ส่วนความเห็นต่าง ตามที่คณะกรรมการฯ ไปศึกษามา ก็จะนำเสนอต่อที่ประชุม ครม.ให้รับทราบด้วย  นอกจากนี้ยังฝากให้หัวหน้าพรรคนำไปคิด หากมีความเห็นต่างก็จะนำไปเสนอพิจารณาในที่ประชุม ครม.ร่วมกัน

นายภูมิธรรมกล่าวว่า สิ่งที่จะนำเข้า  ครม. คือเรื่องหลักการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ยังไม่ถึงขั้นตอนยกร่างแก้กฎหมาย เช่น ข้อเสนอการทำประชามติจะ 2 ครั้งหรือ 3 ครั้ง ว่าจะเสนอออกมาเป็นอย่างไร  การตั้งคำถามทำประชามติเพื่อแก้รัฐธรรมนูญจะเป็นรูปแบบไหน กระบวนการร่างรัฐธรรมนูญจะเป็นอย่างไร เพื่อหารือใน ครม.ให้ได้ข้อสรุป หากได้ข้อสรุปก็จะนำเสนอต่อคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เพื่อให้ดำเนินการต่อไป  ในขณะนี้ในสภาก็กำลังจะมีเรื่องเสนอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าการทำประชามติควรจะดำเนินการกี่ครั้งด้วย  และมั่นใจว่าหากรัฐบาลผลักดันเรื่องนี้ ก็จะไม่มีเสียงแตกในสภาอย่างแน่นอน เพราะพรรคร่วมรัฐบาลเห็นตรงกัน

ที่รัฐสภา นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานรัฐสภา ให้สัมภาษณ์ว่า การประชุมร่วมรัฐสภาในวันที่ 16 ก.พ. เพื่อพิจารณ 3 วาระ ประกอบด้วย ร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่..) พุทธศักราช.... ยกเลิกมาตรา 272 ว่าด้วยการโหวตนายกฯ, ร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญ ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต และร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองนั้น ตนได้สั่งงดการประชุมออกไป เนื่องจากนายชูศักดิ์ ศิรินิล สส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย ได้ขอถอนร่างกฎหมายปราบทุจริตและร่างกฎหมายป.วิอาญาฯ ออกไปก่อน โดยให้เหตุผลว่าขอนำกลับไปพิจารณาทบทวนเพื่อให้เกิดความรอบคอบ แล้วจึงจะนำกลับเข้ามาพิจารณาในที่ประชุมร่วมรัฐสภาในครั้งต่อไป ทั้งนี้ ยังไม่ทราบว่าจะนัดอีกครั้งเมื่อใด เนื่องจากต้องดูความพร้อมและประชุมร่วมของวิปทั้ง 3 ฝ่าย

ด้านนายชูศักดิ์ กล่าวถึงเรื่องดังกล่าวว่า เมื่อการพิจารณาดูอย่างรอบคอบแล้ว มีปัญหาพอสมควร เรื่องใหญ่คือเรื่องที่องค์กรอิสระทั้งหลายไม่ค่อยเห็นด้วยเท่าไหร่ เช่น สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ซึ่งเป็นเจ้าของกฎหมาย เขาบอกว่าเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ เขาต้องการให้ ป.ป.ช. เป็นองค์กรอิสระ องค์กรเดียวที่จะฟ้องนักการเมืองต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญานักการเมือง ซึ่งมีการเขียนไว้เฉพาะในมาตรา 235 หากเราเอาผู้เสียหายไปฟ้องได้ เขาก็บอกว่าอาจจะขัดต่อเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ และในความหมายที่เขาตอบมาคือหากผลักดัน กฎหมายสำเร็จคงต้องส่งให้ ป.ป.ช.พิจารณาด้วย ซึ่ง ป.ป.ช.เห็นว่าหากขัดรัฐธรรมนูญ ก็จะส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความ ซึ่งนี่เป็นความเห็นของ ป.ป.ช. โดยเลขาธิการได้มาแถลงมติของคณะกรรมการ ป.ป.ช. เสร็จแล้วบางหน่วยงาน เช่น สำนักงานอัยการสูงสุด ก็มีความเห็นเฉพาะว่าให้ผู้เสียหายขอเป็นโจทก์ร่วมกับอัยการได้ แต่ถึงขนาดที่สามารถฟ้องเองได้เขายังไม่เห็นด้วย

"เมื่อได้มาคิดทบทวนประมวลดูแล้ว หากเราผลักดันต่อไป ก็จะเป็นประเด็นปัญหาเรื่องความชอบด้วยรัฐธรรมนูญ ฉะนั้นจึงขอถอนเรื่องออกมาก่อน แล้วมาศึกษาในรายละเอียดให้รอบคอบว่าหากเสนอไปแล้วจะไม่เป็นปัญหา"

นายชูศักดิ์กล่าวต่อว่า ความหมายคือจะเขียนกฎหมายอย่างไรไม่ให้ไปขัดหรือแย้งกับรัฐธรรมนูญ ซึ่งไม่ได้หมายความว่าเราจะยกเลิกหรือไม่ได้ดำเนินการ เราได้เรื่องนี้เป็นเรื่องที่เราแถลงนโยบายไว้ตลอด เพียงแค่เอากฎหมายหรือร่างมาดูให้รอบคอบ ซึ่งได้นำเรียนนายวันมูหะมัดนอร์ ท่านก็ได้สั่งให้งดประชุม ส่วนเรื่องกรอบระยะเวลาที่จะเสนอสู่ที่ประชุมอีกครั้งนั้น อาจจะต้องใช้เวลาอีกสักพัก

เมื่อถามว่า มีการตั้งข้อสังเกตว่า เป็นเรื่องของการเมืองหรือไม่ เพราะเพิ่งมีการเสนอร่างเข้าไป นายชูศักดิ์กล่าวว่า จริงๆ ยื่นมานานแล้ว และพรรคการเมืองต่างๆ เขาก็มาดูคอมเมนต์ ดูที่เขาให้ความเห็น รวมถึง ป.ป.ช. อัยการสูงสุด สำนักงานศาลยุติธรรม ซึ่งเมื่อดูความเห็นแล้วเขาก็เป็นห่วง.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

‘พิธา’อ้อนให้รอ9ปี พร้อมเป็นนายกฯดีกว่าเดิม/‘พท.’มั่นใจ‘ทักษิณ’ยังขายได้

"แกนนำพรรคส้ม" เดินสายหาเสียงนายก อบจ.อุดรฯ ต่อเนื่อง "ชัยธวัช" ลั่นนโยบายที่ท้องถิ่นในอดีตไม่พร้อมทำ "ปชน." พร้อมทำให้ดู