จับตาเส้นทางนักโทษป่วยอาการเป็นตายเท่ากัน "อธิบดีราชทัณฑ์" ชี้ “นช.ทักษิณ” ได้รับการพักโทษ และปล่อยตัววันถัดไปทันที ไม่ต้องใส่กำไล EM เพราะอายุเกิน 70 ปี มีอาการเจ็บป่วย รพ.ตำรวจแจง ญาติมารับกลับเองไม่ได้ เป็นหน้าที่กรมคุก เพื่อไทยสดุดี นักโทษคดีโกง เป็นศูนย์รวมจิตใจของชาวเพื่อไทย จับตา "หมอใหญ่" รพ.ตำรวจจะเข้าไปรายงานอาการป่วย "น.ช.ทักษิณ" ต่อ ป.ป.ช. 16 ก.พ.นี้
เมื่อวันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2567 นายสหการณ์ เพ็ชรนรินทร์ รองปลัดกระทรวงยุติธรรม ในฐานะรักษาราชการแทนอธิบดีกรมราชทัณฑ์ กล่าวถึงแนวทางการพักโทษของนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ว่าสำหรับการพักโทษ ตามหลักการคือเมื่อรับโทษมาแล้วครึ่งปี หรือเท่ากับ 6 เดือน หลังจากครบ 6 เดือนแล้ว วันถัดไปจะเป็นวันปล่อย ส่วนแนวปฏิบัติของกรมราชทัณฑ์ จะต้องประสานกับหลายส่วน เนื่องจากผู้ต้องขังมีอยู่ทั่วประเทศ หากได้รับการพักโทษแล้วติดวันเสาร์-อาทิตย์ แต่ได้ประสานกับคุมประพฤติไว้แล้ว ก็สามารถปล่อยตัวในวันเสาร์-อาทิตย์ได้เลย แต่ถ้าบางที่หากคุมประพฤติยังไม่พร้อมอาจต้องไปปล่อยตัวในวันปกติ
ทั้งนี้ ในการพักโทษไม่จำเป็นต้องรายงานต่อศาล เพราะผู้ต้องขังยังอยู่ในคำพิพากษาของศาล และกรมราชทัณฑ์ยังคงปฏิบัติตามคำพิพากษาของศาล จึงไม่ต้องขอหมายปล่อยจากศาล แต่เป็นการพักโทษในรูปแบบที่ไม่ต้องถูกควบคุมตัวในเรือนจำ สามารถกลับไปอยู่ในสังคมได้
สำหรับช่วงเวลารับโทษที่เหลืออยู่ตามคำพิพากษาของศาล เจ้าหน้าที่คุมประพฤติจะเป็นผู้กำหนดว่า ผู้ที่ได้รับการพักโทษ จะต้องปฏิบัติอย่างไร มีข้อห้ามอย่างไร และมีข้อที่จะต้องพึงระวังอย่างไร รวมถึงเงื่อนไขต่างๆ คุมประพฤติจะเป็นผู้กำหนดให้กับผู้ที่ได้รับการพักโทษได้ทราบถึงแนวปฏิบัติ
นายสหการณ์ยังกล่าวอีกว่า กรณีของนายทักษิณ ซึ่งมีอายุเกิน 70 ปี ถือว่าอยู่ในเกณฑ์ตามมติของกรรมการ ซึ่งระบุว่า ผู้ที่เจ็บป่วยพิการอายุ 70 ปีขึ้นไป ไม่ต้องติดกำไล EM เพราะถือว่าอยู่ในเงื่อนไขที่มีการประเมิน และมีข้อมูลยืนยันว่า คนในกลุ่มนี้ไม่เคยทำผิดซ้ำ พร้อมยืนยันว่า กรมราชทัณฑ์ดำเนินการทุกอย่างเป็นไปตามขั้นตอนของกฎหมายทั้งหมด
ที่โรงพยาบาลตำรวจ (รพ.ตร.) พ.ต.อ.หญิงศิริกุล ศรีสง่า โฆษก รพ.ตร. กล่าวถึงขั้นตอนการปล่อยตัวนายทักษิณว่า ตามปกติการปล่อยตัวผู้คุมขังที่ถูกส่งมารักษาจะขึ้นอยู่กับทางกรมราชทัณฑ์ หากราชทัณฑ์แจ้งว่าจะขอรับตัวออก ทางโรงพยาบาลมีหน้าที่ออกใบรับรองแพทย์ให้ พร้อมแนบความเห็นแพทย์ถึงอาการของผู้ป่วยว่าควรรักษาตัวต่อหรือไม่ ถือว่าหมดหน้าที่ของโรงพยาบาลตำรวจแล้ว
โฆษก รพ.ตร.กล่าวว่า สำหรับขั้นตอนการรับตัวกลับระหว่างผู้ต้องขังกับบุคคลทั่วไปที่มารักษาตัว จะแตกต่างกันเพียงบุคคลที่มารับตัวเท่านั้น ซึ่งกรณีนายทักษิณ ญาติไม่สามารถมารับตัวได้ แม้มีคำสั่งพักโทษแล้วก็ตาม ต้องเป็นเจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์มารับไปเท่านั้น ส่วนรับออกไปแล้วจะส่งมอบให้ญาติหรือมีขั้นตอนต่อไปอย่างไร เป็นหน้าที่ของกรมราชทัณฑ์
“ส่วนระยะเวลาการขอรับตัวที่ผ่านมา ไม่มีหลักเกณฑ์ว่าต้องแจ้งโรงพยาบาลก่อนกี่วัน เพราะผู้ต้องขังที่ถูกส่งตัวมารักษา จะมีเจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์เฝ้าตลอด 24 ชั่วโมงอยู่แล้ว ทางกรมราชทัณฑ์จะประสานกับเจ้าหน้าที่ จากนั้นเจ้าหน้าที่สามารถแจ้งกับทางโรงพยาบาลได้ตลอดเวลา นั่นหมายถึงเที่ยงคืน 1 นาทีของวันที่มีการพักโทษ ก็สามารถแจ้งขอออกจากโรงพยาบาลได้ หากราชทัณฑ์มีความประสงค์จะเอาตัวออกจากโรงพยาบาล” พ.ต.อ.หญิงศิริกุลกล่าว
สำหรับกรณีนายทักษิณ จนถึงวันนี้ (14 ก.พ.) ยังไม่ได้รับการประสานจากทางกรมราชทัณฑ์ว่าจะออกวันใด แม้ รมว.ยุติธรรมจะระบุว่านายทักษิณเข้าเกณฑ์ได้รับการพักโทษแล้วก็ตาม
ขั้นตอนปล่อยตัวทักษิณ
แหล่งข่าวจากกระทรวงยุติธรรมเปิดเผยว่า ในจำนวนผู้ได้รับความเห็นชอบจากคณะอนุกรรมการพิจารณาพักการลงโทษ กระทรวงยุติธรรม 930 คน แบ่งเป็นกลุ่มที่ได้รับพักโทษกรณีทั่วไป และกลุ่มที่ได้พักโทษกรณีพิเศษ โดยคณะอนุกรรมการฯ ได้พิจารณาเรียงตามรายชื่อนักโทษจากทั่วประเทศ ที่เรือนจำเสนอผ่านกรมราชทัณฑ์มา 945 คน และมีมติไปตั้งแต่การประชุมเมื่อวันที่ 26 มกราคมที่ผ่านมา โดยมีนักโทษเข้าเกณฑ์ได้พักโทษกรณีพิเศษ รวมนายทักษิณ ครั้งนี้ 18 คน ส่วนใหญ่เข้าเกณฑ์อายุเกิน 70 ปี และป่วยโรคร้ายแรง ส่วนนักโทษรายสำคัญอื่น อย่างคดีทุจริตจำนำข้าว ยังติดเงื่อนไขจำคุกไม่ถึง 2 ใน 3 จึงยังไม่เข้าเกณฑ์
สำหรับขั้นตอนการปล่อยตามมติพักการลงโทษของนายทักษิณ เจ้าหน้าที่เรือนจำพิเศษ กทม.จะนำเอกสารได้รับการพักโทษให้นายทักษิณลงนาม จากนั้นเดินทางออกจากโรงพยาบาลตำรวจได้ทันที ตั้งแต่หลังเที่ยงคืนวันที่ 17 เข้าสู่วันที่ 18 ก.พ.67 ไม่ต้องมีหมายปล่อยจากศาล เพราะยังไม่พ้นโทษ โดยขั้นตอนการรายงานตัวต่อเจ้าพนักงานคุมประพฤติสามารถนัดหมาย รับการรายงานตัวภายใน 3 วัน หลังเข้ากระบวนพักโทษ ซึ่งนายทักษิณระบุที่พักที่บ้านจันทร์ส่องหล้า ซึ่งอยู่ในพื้นที่ของสำนักงานคุมประพฤติ จรัญสนิทวงศ์ กทม. โดยเงื่อนไขให้รายงานตัวต่อเจ้าพนักงานคุมประพฤติเดือนละ 1 ครั้ง จนกว่าจะครบกำหนดพ้นโทษ หากจะเดินทางไปต่างประเทศ ต้องยื่นเรื่องขออนุญาตก่อน และเนื่องจากมีอายุเกิน 70 ปี จึงไม่ต้องใส่กำไลอีเอ็ม ส่วนคดีความผิด 112 ที่มีข้อสงสัยเรื่องอายัดตัว ในวันที่ได้พักโทษ มีรายงานว่า ขั้นตอนแจ้งข้อหาดำเนินการแล้ว อยู่ระหว่างยื่นขอความเป็นธรรม ยังไม่ได้สั่งฟ้อง จึงจะไม่มีการอายัดตัว
ที่หน้า รพ.ตำรวจ ถนนพระราม 1 นายพิชิต ไชยมงคล แกนนำกลุ่มเครือข่ายนักศึกษาประชาชนปฏิรูปประเทศไทย หรือ คปท. และมวลชนจากกองทัพธรรม รวมตัวเพื่อจัดกิจกรรมแสดงข้อเรียกร้องขอเข้าพบนายทักษิณ หลังมีรายชื่อว่าจะได้รับการพักโทษในวันที่ 18 ก.พ.นี้
นายพิชิตเปิดเผยภายหลังเข้าพบ พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ หักพาล รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ และตัวแทนจากโรงพยาบาลตำรวจ เพื่อสอบถามอาการป่วยของนายทักษิณว่า นายแพทย์ใหญ่ไม่อนุญาตให้ขึ้นเยี่ยมที่ชั้น 14 เพราะต้องได้รับอนุญาตจากกรมราชทัณฑ์และเป็นสิทธิ์ของผู้ป่วย ขณะที่แพทย์ชี้แจงว่าอาการป่วยไม่คงที่ บางช่วงเสี่ยงภาวะวิกฤต ส่วนสาเหตุที่ยังต้องรักษาตัวที่โรงพยาบาลนั้น ให้ไปสอบถามจากกรมราชทัณฑ์ ทั้งนี้ นายแพทย์ใหญ่โรงพยาบาลตำรวจจะเข้าไปรายงานอาการป่วยของนายทักษิณต่อคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ หรือ ป.ป.ช. ในวันที่ 16 ก.พ.นี้
นายชูศักดิ์ ศิรินิล สส.บัญชีรายชื่อ และรองหัวหน้าพรรคเพื่อไทย ให้สัมภาษณ์ว่า เรามีจุดยืนว่าทุกอย่างจะสามารถวิพากษ์วิจารณ์กันได้ แต่ควรอยู่ในครรลองของกฎหมาย อยู่ในความสงบเรียบร้อย และไม่ทำอะไรให้เกิดความแตกแยกร้าวฉานไป โดยเฉพาะอย่างยิ่งพรรคเพื่อไทยที่ไม่นิยมความรุนแรง ไม่ว่าในกรณีใดก็ตาม
เมื่อถามว่า จะกลับไปเหมือนยุคเหลืองแดงหรือไม่ นายชูศักดิ์กล่าวว่า ไม่เชื่อว่าจะเป็นถึงขนาดนั้น และปัจจุบันนี้เราเห็นว่ารัฐบาลประกอบด้วยหลายพรรค ซึ่งพรรคที่เคยเห็นไม่ตรงกันแต่ก็มาร่วมมือกันจัดตั้งรัฐบาล เพราะเงื่อนไขทางการเมืองเปลี่ยนแปลงไป โดยเงื่อนไขหรือปัจจัยไม่เหมือนเมื่อก่อน
พท.สดุดีนักโทษคดีโกง
ถามว่า การกลับมาของนายทักษิณที่จะทำให้พรรคเพื่อไทยเข้มแข็งขึ้นหรือไม่ นายชูศักดิ์กล่าวว่า ต้องยอมรับว่านายทักษิณเป็นศูนย์รวมจิตใจของชาวเพื่อไทย ในประวัติของทั้งพรรคไทยรักไทย พรรคพลังประชาชน นายทักษิณก็คือศูนย์รวมทางจิตใจ เหมือนเป็นกำลังใจให้พรรคเพื่อไทยด้วย แต่พรรคเพื่อไทยต้องเข้มแข็ง ยืนด้วยความรู้ความสามารถของบุคลากรที่มีอยู่ด้วย
นายครูมานิตย์ สังข์พุ่ม สส.สุรินทร์ พรรคเพื่อไทย ให้สัมภาษณ์ว่า หลังจากที่ท่านต้องจากประเทศไทยไปอยู่ต่างประเทศ 17 ปี แล้วกลับมาก็มารักษาตัวอยู่อีก 6 เดือน พวกเราสมาชิกพรรคเพื่อไทย โดยเฉพาะตนที่เป็นสมาชิกพรรคไทยรักไทยตั้งแต่รุ่นแรกในปี 2544 ที่เขาเรียกว่ารุ่นนกแล ท่านก็ให้โอกาสเรามา ถือเป็นผู้มีพระคุณอย่างสูงยิ่งทางการเมือง วันนี้ท่านกลับมาแล้ว ตนคิดว่าหลังจากนี้อีกหลายเรื่อง ก็จะได้มีการรับฟังว่าข้อเท็จจริงนั้นเป็นอย่างไร
“ส่วนหนึ่งผมคิดว่าท่านยังมีประโยชน์กับประเทศอีกเยอะ หลายคนเป็นห่วงหรือกังวล ผมถามว่าคนคนเดียวแล้วสร้างคุณูปการให้กับประเทศมามากมาย ได้กลับมาอยู่บ้าน ผมเห็นขบวนการที่ไปต่อต้าน ผมก็มองว่ามันเกิดอะไรขึ้น พวกที่ไปต่อต้านบางคนแทบจะไม่สร้างคุณูปการที่เป็นประโยชน์ให้บ้านเมืองเลย ในฐานะที่ผมอยู่ในการเมืองมาปีนี้ปีที่ 22 แล้ว เข้ามาเป็นผู้แทนปี 2544 พร้อมกับที่ท่านหัวหน้าพรรคและนายกรัฐมนตรี ผมว่าประเทศไทยยังต้องอาศัยคนที่มี ประสบการณ์ ความรู้ความสามารถ สิ่งสำคัญคือผมเชื่อว่าท่านเป็นคนที่มีคอนเนกชันกับผู้นำต่างประเทศอยู่มาก ฉะนั้น วันนี้ประเทศไทยเป็นประเทศเล็กๆ ที่ต้องอาศัยต่างประเทศอีกมาก ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการค้าขาย การส่งออก หลายๆ อย่าง ถามว่าดีใจหรือไม่ ก็ดีใจ พลพรรคพรรคเพื่อไทยทุกคนเราดีใจกันมากเมื่อทราบข่าวกันเมื่อวานนี้ (13 ก.พ.)" นายครูมานิตย์กล่าว
เมื่อถามว่า มีการตั้งข้อสังเกตว่านายทักษิณจะกลับมาเป็นศูนย์รวมอำนาจทางการเมืองอีกครั้ง นายครูมานิตย์ กล่าวว่า ระยะทางพิสูจน์ม้า กาลเวลาพิสูจน์คน วันนี้ตนไม่อยากเห็นการคาดคะเนไปก่อน แต่แน่นอนที่สุดท่านเป็นอดีตผู้นำ ท่านมีน้องสาวเป็นผู้นำ มีลูกสาวเป็นหัวหน้าพรรค พท. เมื่อใครไปถามเรื่องราวที่ท่านมีประสบการณ์ มีความรู้ ท่านก็ย่อมให้ความรู้ความคิด
“แต่ถามว่าจะมารวบอำนาจหรือไม่นั้น ผมคิดว่าคิดไกลกันมากเกินไป จะไม่ให้ท่านพูดกับลูกสาวท่านหรือ ลูกสาวท่านเป็นหัวหน้าพรรค ไปเยี่ยม ไปขอความรู้จากพ่อ จะไม่ให้ท่านให้การต้อนรับ ไม่ให้พูดหรือ แล้วท่านก็เป็นต้นตระกูลของเพื่อไทยก็ว่าได้ ตั้งแต่ไทยรักไทย พลังประชาชน มาจนถึงเพื่อไทย อย่าว่าแต่ท่านเลย แต่พื้นฐานการเมืองในประเทศไทยก็ย่อมฝังความรู้สึกนึกคิดของพี่น้อง ประชาชนทั้งประเทศ ผมคิดเช่นนั้น” นายครูมานิตย์กล่าว
เมื่อถามต่อว่า แต่นายทักษิณโดนข้อกังขาที่ไม่ได้เข้าคุกแม้แต่วันเดียว นายครูมานิตย์กล่าวว่า ก็คนป่วย คนไม่สบาย จะให้ทำอย่างไร จะให้นอนอยู่ในคุกได้อย่างไร ก็ต้องหาหมอที่ดี ชีวิตคนคนหนึ่งที่เคยสร้างคุณูปการให้กับประเทศ เป็นถึงผู้นำประเทศ หากป่วยแล้วโรงพยาบาลของเรือนจำมีหมอที่ไม่เชี่ยวชาญ แล้วเกิดมีปัญหา และหากท่านมีอะไรที่เป็นหนักกว่านั้น ตนถามว่าใครรับผิดชอบ ฉะนั้น จึงต้องมาอยู่โรงพยาบาลที่มีหมอที่ดีกว่า มีความพร้อมกว่า
นายราเมศ รัตนะเชวง โฆษกพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงกรณีนายทักษิณ ชินวัตร ที่ได้รับการพักโทษว่า ที่ผ่านมาได้มีการทักท้วงตลอดระยะเวลาเรื่องการต้องโทษจำคุกของนายทักษิณ การพักรักษาตัวที่โรงพยาบาลตำรวจ กรณียังไม่ติดคุกเหมือนประชาชนนักโทษรายอื่น เป็นการใช้ทฤษฎีเลือกปฏิบัติ สองมาตรฐาน คือคำถามที่สังคมรอคำตอบจากรัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง แต่บัดนี้ล่วงเลยเวลามาแล้ว ทุกอย่างสำเร็จลุล่วงแล้ว เพราะสุดท้ายการได้รับการพักโทษก็เป็นสิทธิที่นายทักษิณได้รับ เป็นการทำงานสอดรับสอดคล้องกันอย่างเป็นระบบ
“ถ้านายทักษิณติดคุกจริงก่อนแล้วได้รับสิทธิการพักโทษเหมือนนักโทษทั่วไป สังคมคงไม่ต้องตั้งคำถาม แต่จะหลอกประชาชนไม่ได้ เพราะทุกคนรู้ทันเรื่องเหล่านี้ ต้องยอมรับว่าเจ้าหน้าที่รัฐที่เกี่ยวข้อง ต้องยอมรับกระบวนการตรวจสอบต่อไปในภายหน้า อะไรที่ได้มาฉาบฉวย ลาภยศ ตำแหน่ง จะเป็นทุกขลาภในวันข้างหน้า ความจริงเป็นสิ่งไม่ตาย และในส่วนรัฐบาล ระบุไว้ในผลงานรัฐบาลได้เลยว่า ความสำเร็จของรัฐบาลคือกรณีนายทักษิณ ชินวัตร และคดีอื่นๆ ที่เหลือ ไม่ควรดำเนินคดีนายทักษิณอีกต่อไป เพราะเสียดายเวลากระบวนการยุติธรรม และประชาชนรู้ดีว่าสุดท้ายคุกมีไว้ขังคนจน” โฆษกพรรคประชาธิปัตย์กล่าว.
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
แฉระบบเด็กฝาก ทำลายองค์กรตร. ดับฝัน‘ดาวฤกษ์’
เช็ก 41 รายชื่อแต่งตั้งนายพลสีกากี ระดับรอง ผบ.ตร.-ผบช.
ยธ.เมินแจงกมธ. ปมนักโทษเทวดา รพ.ตำรวจชั้น14
ชั้น 14 น่าพิศวง "โรม" กวักมือเรียก “ทักษิณ” ไปสภา เข้าแจง กมธ.มั่นคงฯ
แจกเฟส2เอื้อเลือกอบจ. เตือนร้องถอดถอนครม.
นายกฯ โชว์วิชั่น Forbes ยันไทยสงบ สันติ หวังแม้รัฐบาลเปลี่ยน
ฟ้อง9บิ๊กมท.ทุจริตที่เขากระโดง
เรื่องถึงศาล "ณฐพร" ฟ้องกราวรูด "บิ๊ก ขรก.มหาดไทย"
ลุ้นศาลรับคดีล้มล้าง ตุลาการถก6ประเด็น‘ทักษิณ-พท.’/ดันแก้ประชามติไม่รอ180วัน
"ทักษิณ-พท." ระทึก! 9 ตุลาการศาล รธน.ยืนยันนัดประชุมวาระพิเศษ 22 พ.ย.นี้
สั่งประหารชีวิต ‘แอม ไซยาไนด์’ คุกผัวเก่า-ทนาย
ศาลพิพากษาประหารชีวิต "แอม ไซยาไนด์" วางยาฆ่าก้อย พร้อมชดใช้ 2.3 ล้าน