พักโทษ!ไม่เคยติดคุก 18ก.พ.‘นช.เทวดา’ฉลุยไร้กำไลEM/อิ๊งค์ดี๊ด๊ากลับบ้าน

คอนเฟิร์ม “ทักษิณ” ไม่ต้องติดคุกแม้แต่วันเดียว "รมว.ยุติธรรม"  แจงได้รับการพักโทษเข้าเกณฑ์ป่วยร้ายแรง-พิการ-อายุเกิน 70 ปี รองอธิบดี​กรมคุมประพฤติระบุเข้าสู่กระบวนการวันที่ 18 ก.พ. เตรียมเข้าพบเพื่อแจงขั้นตอน   แย้มอาจไม่ต้องใส่กำไลอีเอ็มเนื่องจากเข้าข่ายสูงอายุ-​เจ็บป่วย นายกฯ ยันเข้าเกณฑ์ระเบียบราชทัณฑ์พร้อมขอคำปรึกษาหารือ “อิ๊งค์” ทำความสะอาดบ้านจันทร์ส่องหล้ารอแล้ว จ่อขนลูกๆ ไปดูแล หวังไปไหนจะมีแต่คนรอรับ  ญาติวีรชนพฤษภา 35 ร้อง ปธ.สภาฯ  เร่งผลักดันร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม

ที่ทำเนียบรัฐบาล วันที่ 13 กุมภาพันธ์ พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง รมว.ยุติธรรม  ให้สัมภาษณ์ถึงการพักโทษนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ว่า อธิบดีกรมราชทัณฑ์ได้เสนอเรื่องการพักโทษมาที่กระทรวงยุติธรรมแล้ว และมีคณะร่วมกันพิจารณา เนื่องจากการพักโทษครั้งนี้มีทั้งหมด 945 คน ซึ่งคณะอนุกรรมการพักโทษได้มีการอนุมัติไปทั้งสิ้น 930 คน โดยมีส่วนหนึ่งที่ไม่อนุมัติ  ทั้งนี้ การพักโทษอยู่ในกฎหมายราชทัณฑ์ มาตรา 52 ซึ่งการจะพิจารณาบุคคลที่จะได้รับการพักโทษคือ จะต้องเข้าเงื่อนไขติดคุกมาแล้ว 6 เดือน หรือ 1 ใน 3 หากอันไหนมากกว่ากันให้ใช้เกณฑ์อันนั้น แต่โทษต้องเหลือไม่เกิน 10 ปี ซึ่งการดำเนินการเป็นไปตามกฎหมาย โดยแต่ละเดือนการพักโทษจะมีเฉลี่ยประมาณเท่านี้

ผู้สื่อข่าวถามว่า การพักโทษในครั้งนี้มีชื่อของนายทักษิณด้วยหรือไม่ พ.ต.อ.ทวีกล่าวว่า ในรายงานการประชุมมีชื่อของนายทักษิณด้วย โดยคณะอนุกรรมการพักโทษเห็นชอบตามที่อธิบดีกรมราชทัณฑ์เสนอ เนื่องจากเกณฑ์ของนายทักษิณอยู่ในกลุ่มเจ็บป่วยร้ายแรงหรือพิการ หรืออายุ 70 ปีขึ้นไป

เมื่อถามว่า นายทักษิณจะได้พักโทษวันไหน พ.ต.อ.ทวีกล่าวว่า ท่านต้องโทษ 1 ปี ถ้า 1 ใน 3 คือ 4 เดือน แต่กรณีของนายทักษิณ พอครบ 6 เดือนก็เป็นอัตโนมัติที่จะได้รับการพักโทษ ส่วนจะได้รับโทษวันใดนั้น ต้องไปไล่วันดู แต่เราไม่มีวันหยุดอะไร ถ้าได้รับครบเกณฑ์ก็เป็นสิทธิ์ของผู้พักโทษ ทางราชทัณฑ์ก็จะมีการประสานกัน

"มันเป็นเรื่องปกติ ผมได้ตรวจสอบว่าโครงการการพักโทษกรณีเจ็บป่วยร้ายแรง พิการ หรืออายุ 70 ปี มันเริ่มมาตั้งแต่ปี 2546 จนถึงปัจจุบันมีอยู่จำนวน 2,240 คน ซึ่งนอกจากการพักโทษแล้ว ยังมีการยกเลิกการพักโทษก็มี เนื่องจากว่าในช่วงที่ผ่านมาต้องมีการปฏิบัติตามเกณฑ์ที่อนุกรรมการกำหนด" รมว.ยุติธรรมกล่าว

พ.ต.ท.มนตรี บุณยโยธิน รองอธิบดีกรมคุมประพฤติ กล่าวถึงขั้นตอนและวิธีการรับตัวนายทักษิณ ชินวัตร จากกรมราชทัณฑ์ เพื่อเข้าสู่กระบวนการพักโทษ ภายใต้การกำกับดูแลของกรมคุมประพฤติว่า ภายหลังจากที่อดีตนายกรัฐมนตรีได้รับการพักโทษเรียบร้อยแล้ว เนื่องจากมีคุณสมบัติตามเกณฑ์ที่กำหนด คืออายุมากกว่า 70 ปีขึ้นไปและเจ็บป่วย ซึ่งหากนับตามวันที่และเวลาที่อดีตนายกรัฐมนตรีเข้าสู่กระบวนการรับโทษมาแล้วก่อนหน้านี้ คิดเป็น 1 ใน 3 หรือ 6 เดือน (180 วัน) จะทำให้ในวันที่ 18 ก.พ.นี้ นายทักษิณ ก็จะเข้าสู่กระบวนการพักโทษทันที แต่ก็ต้องรอดูใบแจ้งการพักโทษก่อนว่ามีรายละเอียดอย่างไร ทุกรายมีเวลา 3 วัน นับตั้งแต่วันที่ได้รับการพักโทษ ในการเข้าพบและรายงานตัวกับเจ้าหน้าที่คุมประพฤติ

"ในกรณีของนายทักษิณ หรือบุคคลใดก็ตามซึ่งเป็นผู้สูงอายุมากกว่า 70 ปีขึ้นไป และมีอาการเจ็บป่วยนั้น ตามมาตรฐานการปฏิบัติ ทางกรมคุมประพฤติจะเป็นฝ่ายเดินทางเข้าพบด้วยตัวเองภายใน 3 วัน คือ ตั้งแต่วันที่ 18 ก.พ.-วันที่ 21 ก.พ. ณ สถานที่พักโทษของแต่ละราย หรือสถานที่ที่ได้นัดหมาย เพื่อชี้แจงถึงกระบวนการพักโทษ เงื่อนไขการคุมความประพฤติ การปฐมนิเทศ และการดำเนินการเบื้องต้น แต่ก่อนจะเข้าพบ เจ้าหน้าที่กรมคุมประพฤติต้องได้รับการประสานยินยอมจากเจ้าตัวและญาติก่อนว่าสะดวกช่วงเวลาใด เราต้องเผื่อเวลาการให้การรักษาของแพทย์ด้วย เพื่อให้เกิดความสะดวกที่สุด ทั้งนี้ ในกรณีการพักโทษแบบปกติ ผู้ได้รับการพักโทษจะต้องไปรายงานตัวที่สำนักงานคุมประพฤติด้วยตัวเองภายใน 3 วันเช่นเดียวกัน"

ไม่ต้องติดกำไลอีเอ็ม

พ.ต.ท.มนตรีกล่าวว่า สำหรับการเข้าพบผู้ได้รับการพักโทษกรณีมีเหตุพิเศษ โดยเฉพาะบุคคลนั้น เป็นผู้เคยดำรงตำแหน่งทางการเมืองระดับสูง หรือเป็นบุคคลสำคัญของประเทศ ทางอธิบดีกรมคุมประพฤติจะมีการมอบหมายให้มีผู้บริหารระดับสูงเข้าพบพร้อมๆ กับเจ้าหน้าที่คุมประพฤติด้วย สำหรับการติดหรือไม่ติดกำไลอีเอ็ม ในกรณีของนายทักษิณ ถือว่าเป็นผู้ได้รับการพักโทษกรณีมีเหตุพิเศษ เนื่องจากสูงอายุ มีอายุ 74 ปี และเจ็บป่วย ดังนั้น ตามหลักเกณฑ์ที่ผ่านมา คณะกรรมการฯ มักจะไม่ให้ได้รับการติดกำไลอีเอ็ม เพราะต้องคำนึงถึงปัญหาเรื่องสุขภาพและอัตราความเสี่ยงน้อยที่จะไปก่อเหตุกระทำผิดซ้ำได้

รองอธิบดีกรมคุมประพฤติกล่าวอีกว่า ส่วนเรื่องเงื่อนไขพิเศษสำหรับกรณีที่นายทักษิณ เป็นผู้ต้องขังจากคดีทุจริตคอร์รัปชัน เจ้าหน้าที่คุมประพฤติจะมีการสืบเสาะข้อมูลมาอย่างครบถ้วนแล้ว และประเมินว่าหากได้รับการพักโทษ มีผู้อุปการะคือใคร บุคคลที่อุปการะหรือในภาษาปากอาจเรียกว่าผู้ค้ำประกัน มีอาชีพหรือมีที่อยู่เป็นหลักแหล่งอย่างไรบ้าง เมื่อได้รับการพักโทษจะมีอาชีพอะไร ให้ความช่วยเหลือตัวเองได้หรือไม่ ซึ่งถ้าพบว่าไม่มีความสะดวกเพียงพอในด้านใดก็ตาม เจ้าหน้าที่คุมประพฤติก็ประเมินได้ว่าอาจไปก่อเหตุซ้ำได้

ส่วนประเด็นการรายงานตัวของนายทักษิณหลังได้รับการพักโทษ พ.ต.ท.มนตรีกล่าวว่า ปกติแล้วไม่ว่าผู้ได้รับการพักโทษจากกรณีปกติหรือแบบพิเศษฯ ก็จะต้องรายงานตัวต่อพนักงานคุมประพฤติทุกๆ เดือน ไปจนถึง 4 เดือน แต่หลังจาก 4 เดือน ถ้ามีการรายงานตัวตามปกติ ก็สามารถผ่อนปรนเป็นรายงานตัวทุกๆ 2 เดือนได้ และถ้าผู้ได้รับการพักโทษยังมีอาการเจ็บป่วยไม่หายดี เจ้าหน้าที่คุมประพฤติก็จะเป็นฝ่ายเดินทางไปเข้าพบเช่นเดิม

เมื่อถามถึงเรื่องเงื่อนไขหลังได้พักโทษไปแล้วนั้น พ.ต.ท.มนตรีกล่าวว่า หากสถานที่พักโทษอยู่ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร หากจะเดินทางข้ามเขตพื้นที่ไปยังอีกจังหวัดหนึ่ง ถ้ามีเหตุจำเป็นต้องออกนอกพื้นที่เขตก็ให้แจ้งพนักงานคุมประพฤติ ซึ่งการออกนอกพื้นที่เขตชั่วครั้งชั่วคราวสามารถทำได้ ส่วนการเดินทางออกต่างประเทศ จะไม่สามารถทำได้ และการออกรายงานทีวีต่างๆ  สามารถกระทำได้

นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และ รมว.การคลัง กล่าวว่า ตามที่มีการนำเสนอข่าวนายทักษิณมีชื่อเข้าข่ายได้รับการพักโทษ ก็ถือว่าเป็นทางการแล้วว่าอดีตนายกฯ ได้รับการพักโทษ เป็นไปตามกฎหมายและระเบียบของกรมราชทัณฑ์อยู่แล้ว

เมื่อถามว่า ขณะนี้ยังมีกลุ่มเคลื่อนไหวที่คัดค้านการพักโทษดังกล่าว  นายกฯ กล่าวว่า เราว่าไปตามกฎหมาย นายทักษิณเองก็เป็นอดีตนายกฯ มาหลายปี และเป็นคนที่มีประโยชน์กับประเทศชาติ และทำประโยชน์ให้กับประเทศชาติมาอย่างยาวนาน เป็นนายกฯ ที่ได้รับความนิยมชมชอบอย่างสูงที่สุดท่านหนึ่งในประวัติศาสตร์ของการเมืองไทย และความจริงเมื่อท่านออกมาแล้ว ก็เป็นประชาชนธรรมดาคนหนึ่ง เรื่องในอดีตก็ถือเป็นเรื่องในอดีตไป และได้เข้าสู่กระบวนการทางกฎหมายไปเรียบร้อยแล้ว

เข้าหลักเกณฑ์ราชทัณฑ์

 “ท่านเองก็มีลูกมีหลาน ลูกสาวคนเล็กก็เป็นหัวหน้าพรรคเพื่อไทย แล้วผมเชื่อว่าท่านจะมีคำแนะนำดีๆ ที่จะให้เป็นแนวทางที่เป็นประโยชน์ ผมเชื่อว่าลูกก็จะนำมาใช้เป็นประโยชน์ในการบริหารประเทศได้ และปัจจุบันท่านก็มีหลาน 7 คน ในฐานะที่ผมเป็นพ่อคน  ผมก็เข้าใจความรักคุณปู่หรือคุณตามีให้กับลูกหลาน ก็ถือเป็นสิทธิ์ของท่าน ยืนยันว่าตามระเบียบของกรมราชทัณฑ์ทุกอย่าง" นายกฯ กล่าว

เมื่อถามว่า กรณีกลุ่มที่เคลื่อนไหวต่อเนื่อง จะทำให้เกิดปัญหาหรือไม่ นายกฯ กล่าวว่า เราทำตามกฎหมายทุกอย่าง ทั้งในส่วนกฎหมายของกรมราชทัณฑ์เอง อย่าลืมว่านายทักษิณก็กลับมารับโทษอย่างชัดเจน ทุกอย่างเข้าเกณฑ์หมด ก็ว่าไปตามกฎหมาย เราอยู่ด้วยกฎของการอยู่ร่วมกัน คือการมีกฎหมาย

ถามว่า ในอนาคตถ้ามีโอกาสขอคำปรึกษาจากนายทักษิณหรือไม่ นายกฯ กล่าวว่า พร้อมที่จะพูดคุยกับคนที่ทำประโยชน์ให้กับประเทศชาติทุกคน ทั้งพรรคตรงข้าม ฝ่ายตรงข้าม อดีตนายกฯ ทหาร ตำรวจ ในอดีตก็พูดคุยตลอดเวลาเพราะตนเข้ามาในรัฐบาลที่มีพรรคร่วมรัฐบาลเยอะปัญหาบ้านเมืองก็เยอะ  ความชำนาญในการบริหารจัดการประเทศของแต่ละคนก็มีไม่เท่ากัน ก็พร้อมที่จะพูดคุยกับทุกคนที่มีความรู้ความสามารถ

นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.พลังงาน ปฏิเสธให้สัมภาษณ์ถึงกรณีการได้รับแบ่งงานมาคุมกระทรวงยุติธรรม และรักษาการแทน รมว.ยุติธรรม ถูกจับตามองว่าเป็นการเอาภาพลักษณ์มาการันตีคดีของนายทักษิณหรือไม่ว่า "ต้องไปถามกระทรวงยุติธรรม ไม่เกี่ยวอะไรกับผม"

ที่พรรคเพื่อไทย (พท.) น.ส.แพทองธาร ชินวัตร หัวหน้าพรรค พท. ให้สัมภาษณ์ถึงเรื่องดังกล่าวว่า ก่อนจะมาถึงพรรค ตนยังไม่เห็นรายชื่อ แต่เพิ่งทราบจากข่าวออนไลน์ว่ามีรายชื่อ ซึ่งจริงๆ แล้วครอบครัวก็ทราบในหลักการอยู่แล้วว่าเมื่อครบ 6 เดือนจะได้รับการพักโทษ แต่ยังไม่เคยได้รับการคอนเฟิร์ม นับว่าเป็นข่าวดีของเช้านี้                  เมื่อถามว่า จะได้เห็นนายทักษิณปรากฏตัวหรือไม่ น.ส.แพทองธารกล่าวว่า ไม่แน่ใจว่าวันที่ออกจะเป็นอย่างไร แต่จะคุยกันในวันสองวันนี้ แน่นอนว่าเมื่อนายทักษิณกลับบ้านแล้วได้พัก และคุณหมอคิดว่าโอเคเมื่อไหร่ คิดว่านายทักษิณคงจะออกมาด้านนอกแน่นอน เพราะอยู่ในห้องมาเป็นระยะเวลา 6 เดือน ได้มีการพูดคุยกันเรื่องอาการของนายทักษิณมาเรื่อยๆ ฉะนั้น ตอนนี้อยากให้ท่านพักผ่อนให้สบายใจพอสมควร และทุกคนให้กำลังใจซึ่งกันและกันอยู่ ก่อนหน้านี้ที่เคยได้คุยกันว่าหากได้รับการพักโทษ จะนัดให้คุณหมอไปหาที่บ้านเพื่อไปเช็กอาการและคอนเฟิร์มเรื่องต่างๆ แต่ตอนนี้ยังไม่ได้มีการบอกว่าจะต้องเข้าโรงพยาบาลอีกครั้ง

เมื่อถามว่า บ้านที่พักจะเป็นบ้านจันทร์ส่องหล้าใช่หรือไม่ น.ส.แพทองธารกล่าวว่า ใช่ ซึ่งขณะนี้ได้มีการเตรียมบ้านและทำความสะอาดบ้านไว้แล้ว เพราะบ้านนั้นไม่มีใครอยู่

เปิดบ้านจันทร์ส่องหล้ารอแล้ว

เมื่อถามว่า หากนับตามกรอบระยะเวลา 6 เดือน จะครบในวันที่ 18 ก.พ.นี้ น.ส.แพทองธารกล่าวว่า ต้องถามทางราชทัณฑ์ ไม่ทราบว่านับชนวันที่นายทักษิณกลับมาหรือไม่ ต้องขอให้ทางราชทัณฑ์ช่วยบอกวันอีกครั้ง ซึ่งนายทักษิณอยู่ในหลักเกณฑ์การได้รับการพักโทษ ซึ่งการประเมินเรื่องการจะได้การพักโทษหรือไม่นั้นประกอบด้วยหลายหน่วยงาน หลายองค์กร ไม่ใช่องค์กรใดองค์กรหนึ่ง และคนที่ได้รับสิทธิ์พักโทษก็ไม่ใช่แค่นายทักษิณเพียงคนเดียว แต่มีอีกหลายคน ซึ่งถือว่านายทักษิณผ่านกระบวนการเหมือนหลายคนเช่นกัน

เมื่อถามว่า มีหลายกลุ่มที่ออกมาคัดค้านเรื่องการพักโทษของนายทักษิณ กังวลว่าจะมีเรื่องความขัดแย้งตามมาหรือไม่ น.ส.แพทองธารกล่าวว่า นายทักษิณเป็นนายกรัฐมนตรีที่ทำเพื่อประเทศชาติมาอย่างมากมาย ออกไปนอกประเทศ 17 ปี ทราบดีว่า 17 ปีที่ผ่านมาหลายคนอาจจะไม่รู้จักท่าน แต่หากได้ดูได้ทราบก็จะได้ทราบว่าท่านได้ทำเพื่อประเทศชาติมากมาย ได้รับความยุติธรรมและไม่ยุติธรรมปะปนกันไปตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา ฉะนั้น สำหรับครอบครัวเองก็ยืนหยัดให้ความมั่นใจกับท่านว่าการที่ท่านกลับมารับโทษ และอยู่ในที่จำกัดเป็นระยะเวลา 6 เดือนขณะที่อายุ 75 ปี วันนี้ถึงเวลาได้พักโทษ ได้กลับบ้านก็ขอให้ท่านมีสุขภาพที่แข็งแรง

 “อิ๊งค์คิดว่าความยุติธรรมหลายอย่างสำหรับคุณพ่อเป็นสิ่งที่ควรจะได้ และได้ใช้ชีวิตที่เหลืออย่างมีความสุขจากประโยชน์ที่ท่านได้ทำให้กับประชาชน หวังว่าท่านไปที่ไหนก็จะมีแต่คนรอรับ อย่างที่ท่านเคยตั้งหวังว่าจะกลับมาเจอพี่น้องประชาชนคนไทยอีกครั้ง ซึ่งหากพ้นโทษแล้วก็หวังว่าทุกอย่างจะราบรื่นดี” น.ส.แพทองธารกล่าว

เมื่อถามว่า จะไปดูแลคุณพ่อที่บ้านจันทร์ส่องหล้าหรือไม่ หลังจากที่ได้รับการพักโทษแล้ว น.ส.แพทองธารถามกลับมายังผู้สื่อข่าวว่า “อยากให้ลองเดา” มีผู้สื่อข่าวตอบกลับไปว่า “ไป” ทำให้ น.ส.แพทองธารหันมายิ้มและกล่าวตอบว่า "ว่าจะขนลูกไปให้หมด"

ที่รัฐสภา คณะกรรมการญาติวีรชน พฤษภา'35 นำโดยนายอดุลย์ เขียวบริบูรณ์ ประธานคณะกรรมการญาติวีรชนฯ เข้าพบนายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานรัฐสภาและประธานสภาผู้แทนราษฎร เพื่อยื่นหนังสือผลักดันการออก พ.ร.บ.นิรโทษกรรม หลังจากสภาผู้แทนราษฎรได้เห็นชอบตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาแนวทางการเสนอร่างกฎหมายนิรโทษกรรม   โดยมีความเห็นว่า 1.ขอขอบคุณสมาชิก สส.ทุกท่านที่ร่วมกันผลักดันให้มีการนิรโทษกรรม ให้สังคมไทยเกิดความปรองดองสมานฉันท์และความรักสามัคคีแก่ประชาชนทุกภาคส่วน

2.คณะกรรมการศึกษาแนวทางการสร้างความปรองดอง สภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ได้มีการศึกษาเรื่องการนิรโทษกรรมไว้ครอบคลุมทุกมิติ และตกผลึกแล้ว ซึ่งที่ประชุม สปช.ได้ลงมติเห็นชอบเป็นเอกฉันท์ต่อมาสภาผู้แทนราษฎรที่มีนายชวน หลีกภัย เป็นประธานสภาฯ ก็ได้มีมติเห็นชอบอย่างเอกฉันท์เช่นกัน จึงไม่มีความจำเป็นต้องศึกษาให้เสียเวลาอีก สามารถนำร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมที่มีอยู่แล้วเข้าพิจารณาได้เลย

3.หากที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรยังหาข้อยุติการนิรโทษกรรมไม่ได้ คณะกรรมการญาติวีรชนฯ มีความจำเป็นต้องเรียกร้องต่อรัฐบาล เพื่อให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้ออกพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) นิรโทษกรรมต่อไป

นายอดุลย์กล่าวว่า การตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญศึกษาถึง 2 เดือน ทั้งที่ข้อมูลมีอยู่แล้ว และทำให้เกิดความรู้สึกล่าช้า เสมือนยื้อเวลา ซึ่งคนที่ติดคุก แม้วินาทีเดียวก็ถือว่าไม่ถูกต้อง ดังนั้น อาจจะเห็นชอบในการให้นิรโทษกรรม ควรทำให้เร็วที่สุด แต่ว่าตั้งคณะกรรมาธิการมาแล้ว ควรหาทางย่นระยะเวลาให้น้อยกว่า 60 วัน เช่น นัดประชุมกันให้อย่างน้อยมากกว่าสัปดาห์ละครั้ง.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง