ยันมีแผนสองเงินดิจิทัล แย้มพรบ.กู้เงิน8มาตรา

นายกฯ แจงข้อแคลงใจ “พิธา-ศิริกัญญา” ลั่นไม่ได้เอาไข่ใส่ตะกร้าใบเดียว ยันมีแผนรองรับ แต่อาจสื่อสารน้อยเกินไปทำคนไม่เข้าใจ พร้อมรับฟังฝ่ายค้านชี้แนะ  อ้างเหตุโครงการล่าช้าต้องฟังความเห็น ทำให้ทุกฝ่ายสบายใจมากที่สุด "จุลพันธ์" เผย ก.คลังยังไม่ได้หนังสือ  ป.ป.ช. เหตุถูกส่งไปทำเนียบฯ จ่อนำเข้าที่ประชุม ครม.  ก่อนหารือบอร์ดชุดใหญ่ แย้มยกร่าง พ.ร.บ.กู้เงินเสร็จแล้ว

เมื่อวันจันทร์ นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและ รมว.การคลัง ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ สส.บัญชีรายชื่อ ประธานที่ปรึกษาหัวหน้าพรรคก้าวไกล  และนางสาวศิริกัญญา ตันสกุล สส.พรรคก้าวไกล ระบุว่า โครงการแจกเงิน 10,000 บาท ผ่านระบบดิจิทัลวอลเล็ต รัฐบาลไม่มีแผนสอง เปรียบเสมือนเอาไข่ไปรวมในตะกร้าเดียวกันว่า ตนเชื่อว่าเป็นที่ประจักษ์อยู่แล้วประเทศเรามีนโยบายหลายอย่าง รัฐบาลแถลงนโยบายไปหลายอย่าง  ไม่ว่าจะเป็นเรื่องกระตุ้นการท่องเที่ยว การเซ็นสัญญาเขตการค้าเสรี (FTA) ที่จะเพิ่มมากขึ้น การลงทุนข้ามชาติ  นโยบายการเกษตร

"ยืนยันว่าไม่ได้ใส่ตะกร้า แต่ถ้าเกิด สส.ของพรรคฝ่ายค้านมีความคลางแคลงใจก็จะมีการแถลงข่าวให้ทราบไปเรื่อยๆ เพื่อพูดคุยและชี้แจงให้กระจ่าง ก็อาจจะเป็นความบกพร่องของรัฐบาลที่ไม่แถลง ทั้งนี้วันที่ 13 ก.พ.จะมีการพูดคุยกันต่อไป และถือเป็นหน้าที่ของฝ่ายค้านที่จะเสนอแนะมา หน้าที่ของรัฐบาลก็รับฟังและไปพูดคุยกัน ไม่ได้มีอะไรเพราะเรารู้อยู่แล้วว่าเราทำอะไรอยู่ อาจจะยังพูดไม่เยอะพอ"

เมื่อถามว่า นายพิธามองว่ารัฐบาลไม่มีแผนสำรอง  นายกฯ กล่าวว่า มันไม่ใช่ ก็เหมือนคำพูดที่ตนพูดไปแล้ว  เชื่อว่าเราต้องมีแผนงาน เพียงแต่อาจจะยังพูดไม่พอ ขอบคุณสำหรับคำเตือนและคำแนะนำ เดี๋ยวเราจะไปพูดคุยให้เยอะขึ้น

เมื่อถามย้ำว่า ให้ความมั่นใจประชาชนได้หรือไม่ว่าจะเดินหน้าโครงการ นายกฯ กล่าวว่า เราให้ความมั่นใจประชาชนอยู่แล้ว และเชื่อว่าประชาชนก็มั่นใจว่ารัฐบาลทำเต็มที่ เพื่อยกระดับชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชน ไม่ใช่เฉพาะเรื่องดิจิทัลวอลเล็ตอย่างเดียว เรื่อง 30 บาทรักษาทุกโรคที่ยกระดับสาธารณสุข เรื่องความปลอดภัยระบบสาธารณสุข ชีวิตความเป็นอยู่ การส่งเสริมธุรกิจอุตสาหกรรมที่ใช้ไฮเทคระยะยาว หรือยกระดับการศึกษา รวมถึงการยกระดับพาสปอร์ตไทยให้ดีมีศักดิ์ศรีมากยิ่งขึ้น  ฟรีวีซ่า วีซ่าแชงเก้นยุโรป ซึ่งมีหลายเรื่อง ซึ่งเราพยายามทำอยู่อีกหลายเรื่องเต็มไปหมด ก็ดีจะได้เป็นเวทีในการพูดว่าเราทำอะไรไปบ้าง ไม่ได้คิดอะไร

ถามว่า การประชุมคณะกรรมการนโยบายโครงการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่าน Digital Wallet ในวันที่ 15 ก.พ.นี้ จะมีความคืบหน้าเลยหรือไม่ นายกฯ กล่าวว่า ก็เดี๋ยวมีประชุม ยืนยันอยากให้ทุกฝ่ายพูดมาให้หมด

เมื่อถามย้ำว่า นายกฯ ต้องการย้ำกับประชาชนหรือไม่ว่า เหตุที่โครงการล่าช้าเพราะต้องทำให้เกิดความรอบคอบ นายกฯ กล่าวว่า ทุกคนทราบอยู่แล้วตั้งแต่ตอนต้น และที่บอกว่าเราไม่ฟังความคิดเห็น แต่การฟังความคิดเห็นต้องใช้เวลาเพราะอยู่ในสังคมที่มีความเห็นต่าง เราเองก็ต้องทำให้ทุกฝ่ายสบายใจมากที่สุดเท่าที่สามารถทำได้ เราพยายามรับฟังแล้ว และก็พยายามแก้ปัญหาและอธิบายแล้ว

นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวถึงความคืบหน้าการเตรียมประชุมคณะกรรมการดิจิทัลวอลเล็ตในวันที่ 15 ก.พ.นี้ ได้รับรายงานจากคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) แล้วหรือไม่ว่า ตนยังไม่ได้รับรายงาน เพียงแค่เห็นตามข่าวและตามมาตรา 32 ของพระราชบัญญัติ ป.ป.ช.นั้น กำหนดว่า ป.ป.ช.สามารถให้ข้อเสนอแนะกับรัฐบาลหรือหน่วยงานรัฐได้ในเรื่องของนโยบาย ฉะนั้น เรื่องข้อเสนอของ ป.ป.ช.เข้าใจว่าส่งไปที่ทำเนียบรัฐบาล  ทางกระทรวงการคลังไม่ได้หนังสือ ซึ่งเมื่อส่งไปยังทำเนียบแล้ว ขั้นตอนต่อไปก็น่าจะต้องเข้าสู่การพิจารณาของที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ซึ่งหลังจากนั้น ครม.อาจจะมีมติส่งมาที่คณะกรรมการดิจิทัลวอลเล็ต และเมื่อเข้ามาก็คงจะได้นำเข้าที่ประชุมในวันพฤหัสบดีที่ 15 ก.พ.นี้

เมื่อถามว่า หากรายงานของ ป.ป.ช.ส่งถึงมือรัฐบาลแล้ว มีโอกาสที่จะนำเข้าสู่ที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายดิจิทัลวอลเล็ตในสัปดาห์นี้เลยหรือไม่ นายจุลพันธ์กล่าวว่า เข้าเป็นเรื่องวาระรับทราบ และจริงๆ แล้วหนังสือที่เราเตรียมที่จะนำเข้าสู่วาระรับทราบ ได้แก่ของคณะกรรรมการกฤษฎีกา, หนังสือของ ป.ป.ช. แต่ทั้งนี้หากขั้นตอนของเอกสารราชการมีความล่าช้า ซึ่งไม่แน่ใจด้วยซ้ำว่า ขณะนี้ขั้นตอนของหนังสืออยู่ตรงไหน หากหนังสือมาไม่ทันการประชุมสัปดาห์นี้ ก็อาจจะมีการนำเนื้อหาที่มีการแถลงอย่างเป็นทางการของ ป.ป.ช.มานำเรียนต่อที่ประชุมคณะกรรมการ

ส่วนกรณีที่พรรคก้าวไกลตั้งคำถามถึงเรื่องแผนสำรอง  หากโครงการดิจิทัลวอลเล็ตต้องสะดุด รัฐบาลมีการเตรียมอะไรไว้บ้างหรือไม่ นายจุลพันธ์กล่าวว่า รัฐบาลไม่ได้ทำงานด้านเดียวอยู่แล้ว เราไม่ได้มีนโยบายดิจิทัลวอลเล็ตนโยบายเดียวอยู่แล้ว จริงๆ แล้วเราทำหลายอย่างมาก  หากติดตามข่าวสารคงจะเห็น และไม่ต้องเป็นห่วงภารกิจอื่นๆ ที่อยู่ในกรอบอำนาจที่รัฐบาลสามารถทำได้ เพื่อเป็นประโยชน์แก่พี่น้องประชาชน เราทำทุกเรื่อง

เมื่อถามว่า ร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) กู้เงินยกร่างเสร็จแล้วหรือไม่ นายจุลพันธ์กล่าวว่า ยกไว้แล้ว แต่อยู่ที่ขั้นตอนทางการประชุมของคณะกรรมการว่าจะหยิบยกมาใช้หรือไม่ และจะหยิบยกมาใช้เมื่อไหร่

เมื่อถามย้ำว่า แสดงว่ายกร่างเสร็จแล้วใช่หรือไม่ นายจุลพันธ์กล่าวว่า มีแค่ 7-8 มาตราสั้นๆ โดยจะยังไม่นำเข้าที่ประชุมคณะกรรมการในสัปดาห์นี้.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง