กองทัพธรรม-ศปปส.บุกกระทรวงยุติธรรม ขอความชัดเจนพักโทษ "น.ช.ทักษิณ" 18 ก.พ.นี้ ด้านที่ปรึกษา รมว.ยุติธรรมแจง ผู้ได้รับการพักโทษยังอยู่ระหว่างคณะอนุกรรมการฯ พิจารณา โยนสื่อไปถาม "ทวี" ระบุหาก "ทักษิณ" ได้พักโทษ ราชทัณฑ์ต้องปล่อยตัวทันทีหรือไม่ แต่ยอมรับอัยการต้องคุยกับราชทัณฑ์ถึงขั้นตอนอายัดตัวคดี ม.112
เมื่อวันที่ 12 กุมภาพันธ์ 2567 ที่บริเวณหน้าอาคารกระทรวงยุติธรรม ถ.แจ้งวัฒนะ กรุงเทพฯ กลุ่มเครือข่ายนักศึกษาปฏิรูปประเทศไทย (คปท.) ศูนย์รวมประชาชนปกป้องสถาบัน (ศปปส.) และกองทัพธรรม ร่วมกันเดินทางมายื่นหนังสือคัดค้านการพักโทษของนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี โดยกลุ่มมวลชนระบุขอเข้าพบ พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม เพื่อคัดค้านการที่นายทักษิณจะได้รับการพักโทษหลังเที่ยงคืนวันที่ 17 ก.พ.นี้ตามที่ปรากฏเป็นข่าว
นายพิชิต ไชยมงคล แกนนำเครือข่ายนักศึกษาประชาชนปฏิรูปประเทศไทย ปราศรัยบนรถที่ติดเครื่องขยายเสียงว่า วันนี้ครบ 178 วันแล้ว ที่นายทักษิณ ผู้ต้องขังเด็ดขาดคดีคอร์รัปชันที่ไม่ได้อยู่ในคุกแม้แต่เพียงวันเดียว ซึ่งไม่ใช่ผู้ต้องหา แต่เป็นผู้ต้องขังที่ไม่ติดคุกเลย แล้วจะพักโทษให้นายทักษิณอย่างไรในเมื่อยังไม่ได้รับโทษสักวัน ให้อภิสิทธิ์กับคนคนเดียว โดยไม่ได้เอากฎหมายเป็นตัวตั้ง แต่เอาทักษิณเป็นตัวตั้ง แล้วเอากฎระเบียบทุกอย่างมาช่วย วันนี้รายชื่อจำนวนพันรายชื่อที่จะได้รับการพักโทษ ซึ่งกรมราชทัณฑ์จะส่งให้รัฐมนตรีกระทรวงยุติธรรมนั้น คปท.ไม่คัดค้านหรือทำให้ผู้ต้องขังอื่นเสียสิทธิตามที่กล่าวหา คปท.เรามาคัดค้านทักษิณเพียงคนเดียว
เขากล่าวว่า พ.ต.อ.ทวีทำตัวเป็นโฆษกของทักษิณ แทนที่จะบังคับใช้กฎหมายและเป็นผู้รักษาความยุติธรรม พร้อมกันนี้ท่านยังชี้แจงกรณีที่นายทักษิณอยู่โรงพยาบาลตำรวจ โดยไม่ได้อยู่เรือนจำนั้นว่า การที่อยู่ในโรงพยาบาล ก็เหมือนอยู่เรือนจำ ถ้าคิดอย่างนั้นแล้วทำไมไม่เอาทักษิณ อยู่ในเรือนจำ จะให้อยู่โรงพยาบาลเพื่อให้เขาด่าทำไม
ขณะที่นายสมบูรณ์ ม่วงกล่ำ ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม เป็นตัวแทนรับเรื่อง พร้อมเผยว่า รายชื่อของผู้ต้องขังที่จะได้รับการพักโทษทั้งหมดยังอยู่ในขั้นตอนของการจะเสนอไปยัง รมว.ยุติธรรม แต่โดยธรรมเนียมแล้วเราจะไม่บอกก่อน เพราะมันเป็นการละเมิดเขา และถึงเสนอมาบางรายก็อาจไม่ได้รับสิทธิ์ การเปิดเผยไปก่อนก็อาจมีผลกระทบได้ ที่ผ่านมากระทรวงยุติธรรมและกรมราชทัณฑ์ไม่เคยแถลง แต่จะปรากฏก็ต่อเมื่อเขาได้รับการปล่อยตัวไปแล้ว
"แม้ว่าในวันที่จะได้รับการพักโทษจะตรงกับวันเสาร์หรือวันอาทิตย์ เราก็ต้องปล่อยตัวผู้ต้องขังตามสิทธิที่เขาได้รับ หลังเที่ยงคืนวันที่จะได้พักโทษ มันก็ถึงวันของเขา ราชทัณฑ์จึงไม่มีสิทธิ์จะเอาตัวผู้ต้องขังอยู่ต่อ แต่การที่จะอยู่ต่อมันก็เป็นการอะลุ่มอล่วยกันว่าวันรุ่งขึ้นอาจจะค่อยปล่อยตัวได้ ผมจึงยังตอบไม่ได้ว่าเที่ยงคืนของวันพักโทษของผู้ต้องขังจะได้ออกเลยหรือไม่ เพราะมันอยู่ที่ข้อเท็จจริงของแต่ละราย"
นายสมบูรณ์กล่าวต่อว่า สำหรับการพักโทษปกติคณะอนุกรรมการฯ จะมีการประชุมกันทุกเดือนอยู่แล้ว และจะมีรายชื่อจากเรือนจำหรือทัณฑสถานทั่วประเทศที่ผ่านเกณฑ์ ถูกเสนอขึ้นมายังชั้นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมกว่า 1,000 รายชื่อในทุกเดือนให้พิจารณา แต่มากที่สุดคือการพักโทษแบบปกติประมาณ 500-800 ราย แต่การพักโทษกรณีมีเหตุพิเศษ จะมีทั้งการเจ็บป่วย อายุมากกว่า 70 ปี หรือเข้าโครงการฝึกฝนทักษะอาชีพ กลุ่มเหล่านี้จะมีจำนวนน้อยกว่ากลุ่มที่ได้รับการพักโทษกรณีปกติ แต่ทั้ง 2 กลุ่มรวมๆ แล้วก็เกือบ 1,000 รายทุกครั้ง แต่ไม่ใช่ว่าคณะอนุกรรมการฯ จะพิจารณาเห็นชอบทุกรายให้ได้รับการพักโทษ เพราะตัวแทนจาก 19 หน่วยงานจะต้องพิจารณาอย่างรอบคอบ
สำหรับเรื่องการอายัดตัวนายทักษิณจากคดีมาตรา 112 ของเจ้าหน้าที่ตำรวจ บก.ปอท.และอัยการสูงสุดนั้น นายสมบูรณ์กล่าวว่า ตอนนี้อยู่ในอำนาจของพนักงานอัยการที่จะต้องพิจารณาร่วมกับกรมราชทัณฑ์ ส่วนจะอายัดตัวได้หรือไม่นั้นอยู่ที่พนักงานอัยการ ส่วนขั้นตอนในปัจจุบันตนต้องเรียนว่ายังอยู่ในกระบวนการที่กรมราชทัณฑ์จะต้องหารือกับอัยการ ว่าถ้ามีชื่อนายทักษิณได้รับการพักโทษจริงๆ วันนั้นขั้นตอนจะเป็นอย่างไร แต่ความเห็นหลักและการตัดสินใจจะเป็นของอัยการ โดยที่กรมราชทัณฑ์ก็จะต้องพิจารณาร่วมด้วย
นายสมบูรณ์กล่าวอีกว่า ในเรื่องของการติดหรือไม่ติดกำไล EM ของนายทักษิณหากได้รับการพักโทษนั้น ตนขอชี้แจงถึงมติของคณะอนุกรรมการฯ เมื่อปี 2563 คนเจ็บป่วยหรืออายุ 70 ปีขึ้นไป ไม่ต้องสวมหรือติดกำไล EM อีกทั้งในกระบวนการของการพักโทษ คณะอนุกรรมการฯ จะไม่ได้มีการระบุว่าต้องทำอะไร เพราะกรมราชทัณฑ์มีระเบียบที่กำหนดไว้อย่างชัดเจนอยู่แล้ว และกรมคุมประพฤติก็ต้องไปปฏิบัติตามระเบียบนั้น ทั้งนี้ ตนยืนยันว่าถ้าผู้ต้องขังรายใดที่อายุมากกว่า 70 ปีและเจ็บป่วย มีเหตุร้ายแรง จะไม่มีรายใดที่ได้ติดกำไล EM เพราะถ้าต้องติดกำไล เจ้าหน้าที่กรมราชทัณฑ์ก็ต้องติดคุก เพราะทำผิดระเบียบกรมราชทัณฑ์
นายวัชระ เพชรทอง อดีต สส.พรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า พ.ต.อ.ทวีสมควรได้รางวัลตุ๊กตาทอง เพราะตีบทแตกยิ่งกว่าดาราภาพยนตร์ ที่ผ่านมารัฐบาลเศรษฐาได้ใช้นโยบายเดียวกับระบอบทักษิณซึ่งเป็นนายใหญ่ คือโยกย้ายคนใกล้ชิดให้มารับงานทำงานลับให้ เช่นโยกย้ายนายสหการณ์ เพ็ชรนรินทร์ จากรองปลัดกระทรวงยุติธรรม อดีตหน้าห้องคนใกล้ชิดนายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ อดีตนายกรัฐมนตรี ตั้งแต่สมัยนายสมชายเป็นรองปลัดกระทรวงยุติธรรม มารับงานดูแลนายทักษิณเรื่องนี้โดยเฉพาะ หรือเตรียมการให้ พ.ต.ต.ยุทธนา แพรดำ อดีตหน้าห้องและคนใกล้ชิดติดตาม พ.ต.อ.ทวี ตั้งแต่สมัย พ.ต.อ.ทวีเป็นอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ ผลักดันให้ขึ้นเป็นอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ เป็นต้น เป็นการวางเครือข่ายเหมือนสมัยนายธาริต เพ็งดิษฐ์ ไม่ผิดเพี้ยน
นายวันชัย สอนศิริ สมาชิกวุฒิสภา (สว.) ให้ความเห็นถึงสถานการณ์การเมืองในขณะนี้ว่า ในช่วงเดือน มี.ค. เป็นต้นไป อาจจะเริ่มตั้งแต่กลางเดือน ก.พ.หลังตรุษจีน จะมีกฎหมายร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) 2 ฉบับ เข้าสู่วาระการพิจารณาของที่ประชุมร่วมกันของรัฐสภา คือร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต และร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ที่นายชูศักดิ์ ศิรินิล รองหัวหน้าพรรคเพื่อไทย กับคณะเป็นผู้เสนอ และอาจจะมีการถกแถลงฟัดกันน่าดูพอสมควร
เนื่องจากมีกลุ่มหนึ่งเห็นด้วย แต่วุฒิสภาไม่เห็นด้วยอย่างยิ่ง เพราะเกรงว่ากฎหมายฉบับนี้จะก่อให้เกิดความขัดแย้งในสังคม เกิดความไม่สมัครสมานสามัคคี จะเป็นการรื้อการฟ้องร้องคดีที่ ป.ป.ช.ยุติไปแล้ว อาจจะอีนุงตุงนังกันต่อไป
"ปลายเดือน ก.พ.จนกระทั่งเดือน มี.ค. จะเป็นเดือนที่มีสถานการณ์ทางการเมืองในสภาร้อนแรงพอสมควร ดังนั้นใครที่ติตตามทางการเมือง จะเห็นว่าที่เงียบสงบมาตลอดในรัฐบาลเศรษฐา ก่อนที่จะปิดสภานี้จะเห็นความร้อนแรง การปะทะกันทางความคิด รวมทั้งอาจจะเห็นการต่อสู้กันทางการเมืองในสภา เดือน มี.ค.นี้ร้อนแรงจริงๆ" นายวันชัยกล่าว
นายชูศักดิ์ ศิรินิล สส.บัญชีรายชื่อ และรองหัวหน้าพรรคเพื่อไทย เปิดเผยว่า จะเห็นได้ว่า ป.ป.ช.มีอำนาจมาก จึงมีการขอแก้ว่าเมื่อ ป.ป.ช.มีมติว่าคดีไม่มีมูล ที่ผ่านมาถือว่าเป็นอันสิ้นสุด แต่จะแก้ไขให้สามารถส่งคดีที่ไม่มีมูลให้แก่อัยการสูงสุดได้ เพื่อให้พิจารณาด้วย ถือเป็นการคานอำนาจซึ่งกันและกัน ส่วนประเด็นต่อมาที่แก้ไขคือ ตามหลักการสากลในกรณีที่อัยการสั่งไม่ฟ้อง ก็จะไม่ตัดสิทธิผู้เสียหายในการฟ้องคดี และนำไปสู่กระบวนการของศาลได้ จึงขอชี้แจงสมาชิกวุฒิสภา โดยยืนยันว่าจะไม่ใช่การรื้อฟื้นคดีเก่า แต่เป็นการสร้างหลักกฎหมายขึ้นมาใหม่ ไม่ให้ตัดสิทธิผู้เสียหายในการฟ้องคดี แต่ทั้งนี้ก็ต้องขึ้นอยู่กับพยานหลักฐานและการวินิจฉัยของศาล รวมถึงขึ้นกับดุลยพินิจของผู้เสียหายเองว่าจะฟ้องคดีหรือไม่.
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
'รมว.ยธ.' แนะ 'รพ.ตำรวจ' โชว์โปร่งใส ส่งเวชระเบียน 'ทักษิณ' ให้ ป.ป.ช.
'รมว.ยธ.' แนะ รพ.ตำรวจ ส่งเวชระเบียนรักษา 'ทักษิณ' ให้ ป.ป.ช. สร้างความโปร่งใสมีธรรมาภิบาล อ้างกรมราชทัณฑ์ให้ความร่วมมือตลอด
เทพไท ชี้ ‘ทักษิณ’ ยังขลัง ขึ้นเวทีช่วยผู้สมัคร นายกอบจ. เพื่อไทย โกยคะแนน
ใครจะบอกว่า นายทักษิณหาเสียงไม่มีผลต่อคะแนน ผมขอเถียงคอเป็นเอ็นว่า ทักษิณขึ้นเวทีหาเสียง มีผลต่อคะแนนผู้สมัครของพรรคเพื่อไทยแน่นอน
บิ๊กอ้วนตอกยํ้า แจก‘เงินดิจิทัล’ ‘อนุสรณ์’เตือน
“ภูมิธรรม” ยันรัฐบาลเร่งแจกเงินดิจิทัลวอลเล็ต หวังกระตุ้นเศรษฐกิจ
อิ๊งค์หาเสียงฟุ้งพท.มาคนจนรวยแน่
"หัวหน้าอิ๊งค์” ลุยนครพนม ช่วย “อนุชิต” ผู้สมัครนายก อบจ.เพื่อไทยหาเสียง
รพ.ตำรวจอึมครึม เวชระเบียนชั้น14
เส้นตายพุธนี้! แพทยสภาสอบหมอช่วย "ทักษิณ" อึมครึม "แพทย์ใหญ่ รพ.ตำรวจ" ปัดตอบส่งเอกสารหรือยัง
‘จ่าเอ็ม’เครียด อุบ‘ผู้มีบุญคุณ’ ตร.หิ้วฝากขัง!
ตำรวจเค้นสอบ “จ่าเอ็ม” ตลอดคืน ยังให้การไม่เป็นประโยชน์คดียิงอดีต