ขู่ดันเงินดิจิทัลเจอร้องแน่

"เรืองไกร" ชี้ ป.ป.ช.เตือนชัดเดินหน้าดิจิทัลวอลเล็ตเสี่ยง ขู่ "เศรษฐา" หากดึงดันไม่ฟังข้อเสนอแนะเจอร้องสอบแน่ "สมชัย" ระบุ ป.ป.ช.ทำหน้าที่ถูกต้อง จับตา ครม.กล้าส่ง กม.กู้เงิน 5 แสนล้านเข้าสภาหรือไม่ "จุรินทร์" จี้รัฐบาลเร่งตัดสินใจ บอกกล้าหาเสียงก็ต้องกล้ารับผิดชอบ "คลัง" เล็งเข็นแพ็กเกจกระตุ้นอสังหาฯ ฟื้น ศก. "หอการค้าฯ" หวัง กนง.ลดดอกเบี้ยรอบหน้า

เมื่อวันที่ 8 ก.พ. นายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ สมาชิกพรรคพลังประชารัฐ กล่าวถึงความเห็นของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ต่อโครงการดิจิทัลวอลเล็ตอาจขัดต่อข้อกฎหมายหลายข้อว่า มีโอกาสร้องเรียนได้ง่าย ถ้ากล้าทำตนก็ไม่รู้ ถือว่าเตือนแล้ว และขอบคุณที่ ป.ป.ช.เตือนคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ด้วย เพราะเรื่องนี้ไม่ใช่ปล่อยให้พรรคการเมืองหาเสียงจะพูดอะไรก็ได้ ถึงเวลาก็มาบอกว่าจัดตั้งรัฐบาลไม่ได้อย่างโน้นอย่างนี้ แบบนี้ถ้าตระบัดสัตย์หรือโกหกประชาชนได้ แล้วคุณจะไม่ทำสิ่งที่ไม่ถูกต้องอย่างอื่นได้หรือ

"คุณเอาแต่อำนาจรวมหัวกันหาอำนาจ ทรยศเพื่อนฉีกเอ็มโอยูขอให้ตระหนักไว้ และผมยังเป็นนักร้องและนักตรวจสอบอยู่ ถ้าผมว่างผมจะทำ" นายเรืองไกรกล่าว

นายเรืองไกรกล่าวว่า เรื่องเงินดิจิทัลวอลเล็ตต้องเข้าใจนโยบายของรัฐบาลที่แถลง และต้องเข้าใจรัฐธรรมนูญ การจ่ายเงินแผ่นดิน รวมถึงต้องเข้าใจกฎหมายวินัยการเงินการคลัง วิธีงบประมาณ ซึ่งตนได้เขียนเรื่องนี้เตือนนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและ รมว.การคลังไปแล้ว 4 แผ่น เป็นข้อกฎหมายล้วนๆ และตนไม่แปลกใจที่กฤษฎีกาและ ป.ป.ช.ให้ความเห็นครั้งนี้ เงินแผ่นดินจะเอาไปทำอะไรต่างๆ เราทุกคนจะต้องเป็นคนใช้หนี้ ซึ่งโครงการดิจิทัลวอลเล็ตอาจจะทำให้ขาดทุนเหมือนโครงการรับจำนำข้าว

"โครงการรับจำนำข้าวแม้ขาดทุนก็ยังมีข้าวเปลือก แต่โครงการดิจิทัลวอลเล็ตหากขาดทุนจะไม่เหลืออะไรเลย ผมเตือนแล้วด้วยความรู้ความสามารถและประสบการณ์ ไม่ได้ตั้งท่าว่าจะร้องอย่างเดียว ก็ต้องรอให้มีการทบทวนก่อน ภาษาพระเรียกว่าพึงสังวร ภาษาชาวบ้านเรียกว่าสำเหนียกไว้ว่าสิ่งต่างๆ เหล่านี้ควรจะปฏิบัติหรือไม่ปฏิบัติ" นายเรืองไกรกล่าว

ถามว่าจะมีโอกาสไปร้องด้วยตนเองหรือไม่ นายเรืองไกรกล่าวว่า แผลยังไม่เกิดก็ยังไม่ต้องทายา แต่ถ้าทำเข้าข่ายความผิดก็ใช้กฎหมาย ป.ป.ช.ได้เลย ไม่ต้องห่วงตนทำให้ แต่สิ่งที่ตนทำตนกล่าวหาจะไม่ใช้อารมณ์ ไม่ใช้ความเห็นเหมือนหลายๆ คนไปยื่นคำร้องว่าผิดนั่นผิดนี่ ซึ่งรัฐบาลก็มีสิทธิ์แก้ข้อกล่าวหาได้ เจ้าหน้าที่มีหน้าที่ตรวจสอบก็ตรวจสอบไปจะถูกจะผิดก็อยู่ที่ฟังคำตัดสิน

ส่วนนายสมชัย ศรีสุทธิยากร อดีต กกต. โพสต์เฟซบุ๊กลักษณะถาม-ตอบในหัวข้อ “ป.ป.ช.กับดิจิทัลวอลเล็ต” ทั้งหมด 5 คำถาม เนื้อหาระบุ 1.ป.ป.ช.ทำเกินหน้าที่หรือไม่ คำตอบ ไม่ เพราะ พ.ร.ป.ป.ป.ช. มาตรา 32 เขียนไว้ว่า ป.ป.ช.มีหน้าที่และอำนาจเสนอมาตรการความเห็นและข้อเสนอแนะต่อคณะรัฐมนตรี เพื่อป้องกันหรือปราบปรามการทุจริต แม้โครงการยังไม่เกิดก็เสนอเพื่อป้องกันได้ 2.ข้อเสนอข้อที่ 2 ให้ กกต.ไปดูนโยบายในการหาเสียงของพรรคเพื่อไทยว่ามีการปฏิบัติต่างจากการหาเสียงหรือไม่ เป็นการก้าวก่ายหน้าที่ กกต.หรือไม่ คำตอบคือ ไม่ เพราะ มาตรา 221 ของรัฐธรรมนูญ กำหนดให้ องค์กรอิสระร่วมมือและช่วยเหลือกันเพื่อให้บรรลุเป้าหมายในการปฏิบัติหน้าที่

จี้ รบ.เร่งตัดสินใจดิจิทัลฯ

3.ครม.ต้องปฏิบัติตามข้อเสนอของ ป.ป.ช.หรือไม่ คำตอบคือ ไม่ ข้อเสนอของ ป.ป.ช.เป็นเพียงการให้ข้อคิดเห็น รัฐบาลไม่จำเป็นต้องปฏิบัติตาม 4.รัฐบาลควรเดินหน้าในเรื่องการแจกเงินดิจิทัลอย่างไร คำตอบคือหากรัฐบาลเห็นว่าเป็นสถานการณ์จำเป็นเร่งด่วน ก็ออกเป็นพระราชกำหนด แต่หากอยากให้รัฐสภามีส่วนรับผิดชอบก็ออกเป็นพระราชบัญญัติ และ 5.ครม.จะกล้าลงมติส่งร่าง พ.ร.บ.กู้เงิน 500,000 ล้านบาท เข้าสภาหรือไม่ และจะมีผลอย่างไรตามมา คำตอบ ไม่รู้ อยากรู้ก็ทำเลย

ขณะที่ นายจุรินทร์ ลักษณ์วิศิษฏ์ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.)และอดีตหัวหน้าพรรค ปชป. กล่าวถึงกรณี ป.ป.ช.มีข้อเสนอแนะนโบายรัฐบาลเรื่องแจกเงินดิจิทัล 1 หมื่นบาทว่า หมดเงื่อนไขที่จะซื้อเวลาแล้ว ดังนั้นต้องตัดสินใจอย่างใดอย่างหนึ่ง ซึ่งตนเชื่อว่าจนถึงเวลานี้ประชาชนก็รออยู่ และเมื่อดูข้อเสนอแนะของ ป.ป.ช.โดยละเอียด ถือว่ามีความชัดเจน และสะท้อนว่า ป.ป.ช.ให้ความสำคัญกับเรื่องนี้ และสะท้อนให้เห็นว่า ป.ป.ช.มีทีมงานทางด้านเศรษฐกิจที่มีศักยภาพสูงมาก ทั้งการให้ความเห็นและการทำหน้าที่ตรวจสอบในอนาคต

"ข้อเสนอแนะมีประเด็นสำคัญคือ ป.ป.ช.ชี้ชัดว่าเศรษฐกิจไม่ได้วิกฤตในเศรษฐกิจมหภาค ซึ่งที่ผ่านมาก็มีการถกกันแล้ว ต่อมาคือถ้ารัฐบาลตัดสินใจทำโครงการ ต้องคำนึงว่าจะไม่ก่อให้เกิดการทุจริต และทำผิดกฎหมาย โดยต้องไม่ทุจริตเชิงนโยบาย รวมทั้งในภาคปฏิบัติที่จะเกิดขึ้นในอนาคต สุดท้าย ป.ป.ช.จะไปตรวจสอบว่าพรรคการเมืองที่หาเสียงไว้เมื่อมีโอกาสเข้ามาทำหน้าที่ในฐานะรัฐบาลแล้วการหาเสียงกับการทำจริงตรงกันหรือไม่" นายจุรินทร์กล่าว

ถามว่า หากรัฐบาลจะดำเนินโครงการต่อจะเกิดผลกระทบอย่างไร นายจุรินทร์ มองว่า รัฐบาลเมื่อไปหาเสียงมาแล้วก็ต้องทำ ตนพูดอย่างนี้มาตลอด ตนไม่ได้ขวางเรื่องโครงการดิจิทัลวอลเล็ต แต่พูดเรื่องความรับผิดชอบของพรรคการเมือง เมื่อไปหาเสียงไว้แล้วก็ต้องทำอย่างที่หาเสียง เมื่อมีโอกาสมาเป็นรัฐบาลจะทำเป็นอย่างอื่นไม่ได้ ต้องทำให้พรรคการเมืองมีความรับผิดชอบมากขึ้น หากจะใช้นโยบายประชานิยมก็ต้องเป็นประชานิยมแบบรับผิดชอบมากขึ้น ทั้งทำให้ตรงปกและรับผลที่จะตามมา ไม่ว่าจะเป็นทางด้านการเมืองด้านเศรษฐกิจ หรือด้านอื่นๆ

"หมดเวลายื้อแล้ว เพราะก่อนหน้านี้ก็อ้างกฤษฎีกา วันนี้ก็อ้าง ป.ป.ช. และไม่น่ามีเงื่อนไขอะไรหลงเหลือที่จะซื้อเวลาอีกแล้ว ขอย้ำว่าต้องตัดสินใจอย่างใดอย่างหนึ่งแล้ว" นายจุรินทร์กล่าว

อดีตหัวหน้าพรรค ปชป.กล่าวว่า ในมุมวิกฤตเศรษฐกิจ หากมองเรื่องปากท้องประชาชนก็เดือดร้อนจริง แต่ภาษากฎหมายที่บอกว่าถ้าจะไปกู้เงินมาแจกจะต้องเข้าเงื่อนไขเศรษฐกิจวิกฤต คำว่าเศรษฐกิจวิกฤต หมายถึงเศรษฐกิจมหภาค ซึ่งเป็นเรื่องที่พูดชัดแล้ว เรื่องที่เหลืออยู่อย่างเดียว คือการตัดสินใจของรัฐบาล และเป็นอำนาจรัฐบาลที่จะทำหรือไม่ทำ ดังนั้นก็ควรตัดสินใจได้แล้ว

ถามว่าพรรคฝ่ายค้านจะติดตามเรื่องนี้อย่างไรต่อไปนั้น อดีตหัวหน้าพรรค ปชป.กล่าวว่า ตนติดตามตั้งแต่ต้นแล้ว เคยพูดในสภาไปแล้วว่าจะทวงถามแทนประชาชน วันนี้ก็ถามอีกรอบ

วันเดียวกัน นายกฤษฎา จีนะวิจารณะ  รมช.การคลัง กล่าวถึงกรณีคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) มีมติคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ 2.50% ต่อปีว่า เป็นเรื่องที่ กนง.จะพิจารณา เป็นเรื่องของการตัดสินใจในภาวะเศรษฐกิจที่ว่านโยบายการเงินควรจะนำมาใช้ตอนนี้แล้วหรือไม่ ซึ่งตรงนี้คงไม่ขอก้าวล่วง ก็แล้วแต่ กนง. จะพิจารณา ขณะที่ในส่วนของรัฐบาลเองเห็นว่าเวลานี้ควรจะเข้ามาช่วยกันแล้วเท่านั้นเอง

 “ส่วนตัวยังไม่เห็นตัวเลขเศรษฐกิจปี 2566 ของ กนง. เข้าใจว่ายังไม่ได้มีการแถลง เราก็ไม่รู้จริงๆ ว่าตัวเลขปี 2566 จะเป็นอย่างไร ขณะนี้มีเพียงตัวเลขเศรษฐกิจจากกระทรวงการคลังเท่านั้นที่ออกมา เข้าใจว่าอาจจะรอตัวเลขจริงๆจากสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือสภาพัฒน์ ที่จะออกมาเร็วๆ นี้ ส่วนแนวโน้มตัวเลขเศรษฐกิจในปี 2567 ของทุกส่วน ผมเข้าใจว่าคงมองใกล้ๆ กัน ไม่ว่าจะเป็นธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) คลัง  โดยสมมุติฐานเท่าที่ทราบที่เห็นตามข่าวก็ออกมาใกล้เคียงกัน” นายกฤษฎากล่าว

คลังเข็นแพ็กเกจกระตุ้น ศก.

รมช.การคลังกล่าวว่า ระหว่างที่รอความชัดเจนจากโครงการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่านดิจิทัลวอลเล็ต กระทรวงการคลังกำลังอยู่ระหว่างการพิจารณาแพ็กเกจมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจในหลายๆ ด้าน โดยเฉพาะการกระตุ้นภาคอสังหาริมทรัพย์เพื่อสนับสนุนให้คนมีที่อยู่อาศัยมากขึ้น โดยจะเปิดให้ผู้ประกอบการอสังหาริมทรัพย์รายย่อยสามารถยื่นขอรับการส่งเสริมการลงทุนจากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) ในการสร้างที่อยู่อาศัยในราคาไม่เกิน 1.5 ล้านบาท ซึ่งจะเป็นมาตรการที่ออกมาเสริมกับการต่ออายุมาตรการลดค่าธรรมเนียมการโอนและจดจำนองในช่วงก่อนหน้านี้

นอกจากนี้ยังอยู่ระหว่างการหารือและเจรจาร่วมกับ ธปท. เพื่อขอให้มีการปรับลดเกณฑ์มาตรการควบคุมสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัย (Loan-to-Value : LTV) ซึ่งยอมรับว่าได้มีการหารือกับไปหลายทีแล้ว และหวังว่าทาง ธปท.จะใจอ่อนเสียที

 “มาตรการกระตุ้นอสังหาริมทรัพย์ที่เตรียมจะออกมานั้น ปลัดกระทรวงการคลังและสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) อยู่ระหว่างดำเนินการ ผมยังไม่เห็นรายละเอียด แต่ตามหลักหากพิจารณาเรียบร้อยแล้วก็ต้องนำไปหารือกับนายกรัฐมนตรี ซึ่งคิดว่าน่าจะออกมาเป็นแพ็กเกจ โดยจากสถานการณ์เศรษฐกิจขณะนี้กระทรวงการคลังได้มีการเร่งผลักดันมาตรการด้านการคลังออกมาอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่เรื่องการจัดทำงบประมาณแบบขาดดุล เพราะต้องการให้เศรษฐกิจเติบโต มาตรการด้านภาษี ทั้งการลดหย่อนต่างๆ มาตรการด้านการส่งเสริมการลงทุนต่างๆ สะท้อนจากตัวเลขการขอรับการส่งเสริมการลงทุนจากบีโอไอ มาตรการสนับสนุนด้านการท่องเที่ยว การแก้ปัญหาหนี้ครัวเรือน ซึ่งเหล่านี้เกี่ยวกับมาตรการด้านการคลังที่พยายามทำอย่างเต็มที่ พยายามพิจารณาดูว่าส่วนไหนที่ยังขาดก็เข้าไปช่วย” รมช.การคลังกล่าว

นายสนั่น อังอุบลกุล ประธานกรรมการหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย กล่าวว่า หอการค้าไทยรับทราบถึงเหตุผลประกอบการพิจารณาของ กนง. ซึ่งภาคเอกชนโดยที่ประชุมคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) มองว่าแม้ภาพรวมของเศรษฐกิจไทยปี 2567 จะฟื้นตัวได้จากปัจจัยหนุนภาคการท่องเที่ยว แต่ก็ยังมีความเปราะบางจากกำลังซื้อภายในประเทศที่ยังไม่ฟื้นตัวตามเต็มที่ ภาคการผลิตยังมีแนวโน้มหดตัว รวมถึงยังเผชิญความเสี่ยงและความท้าทายในประเด็นภูมิรัฐศาสตร์หลายปัจจัย

นอกจากนี้ยังมีการเลือกตั้งใหญ่ที่จะเกิดขึ้นในหลายประเทศ ซึ่งอาจเกิดการปรับเปลี่ยนทางนโยบายสำคัญ ผลกระทบจากสงครามที่ขยายวงโดยเฉพาะอิสราเอล-ฮามาส ที่ส่งผลให้ค่าระวางเรือเพิ่ม และกระทบกับราคาพลังงาน ปัญหาความไม่สงบในประเทศเพื่อนบ้าน และการแข่งขันกับสินค้าจีนในประเทศเพื่อนบ้าน ขณะที่ภาคธุรกิจถูกกดดันจากอัตราดอกเบี้ยที่ยังอยู่ในระดับสูง กระทบต้นทุนการดำเนินกิจการโดยตรง ส่วนการกู้ยืมของประชาชน ก็มีภาระหนี้สินที่อยู่ในระดับสูงเช่นกัน ส่วนตัวเลขเงินเฟ้อทั่วไป ที่ติดลบต่อเนื่อง 4 เดือน แม้ส่วนหนึ่งน่าจะมาจากการปรับลดเชิงเทคนิค ตามนโยบายการลดภาระค่าครองชีพด้านพลังงานของภาครัฐ แต่บ่งชี้ให้เห็นถึงกำลังซื้อภายในประเทศที่อ่อนแอ

"หอการค้าไทยจึงมีข้อเสนอแนะว่าในระยะถัดไป กนง.ควรพิจารณาปรับลดอัตราดอกเบี้ยลง เพื่อช่วยลดภาระประชาชน ลดต้นทุนผู้ประกอบการ ซึ่งจะส่วนลดความเสี่ยงในการเกิดหนี้เสีย รวมถึงเสนอให้มีมาตรการใหม่ๆ ในการสนับสนุนให้ผู้ประกอบการเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้สะดวก จะเป็นกลไกสำคัญที่ช่วยเพิ่มกำลังซื้อภายในประเทศ และเป็นแรงหนุนให้เศรษฐกิจไทยฟื้นตัวได้ตามเป้าหมายต่อไป" ประธานกรรมการหอการค้าไทยระบุ.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง