เพื่อไทยแทงกั๊กนิรโทษกรรม ม.112 "ชูศักดิ์" อ้างต้องฟังความเห็นรอบด้าน ชี้ปัญหาใหญ่คือการกำหนดให้ครอบคลุม "การกระทำ-เวลา-บุคคล" ใดบ้าง พร้อมวางกรอบทำงาน จ่อเชิญ "คณิต-โคทม" ร่วมหารือครั้งต่อไป อาจศึกษาจากเรื่องเก่า อดีตรองอธิการ มสธ.หนุนต้องพูดคุยกันอย่างมีวุฒิภาวะ แนะหยิบยกคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญมาประกอบในการพิจารณาด้วย
เมื่อวันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2567 นายชูศักดิ์ ศิรินิล สส.บัญชีรายชื่อ และรองหัวหน้าพรรคเพื่อไทย ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาแนวทางการตราพระราชบัญญัตินิรโทษกรรม กล่าวภายหลังการประชุม กมธ.นิรโทษกรรมฯ นัดแรก ถือเป็นนิมิตหมายที่ดี ซึ่งในท้ายที่สุดจะมีกฎหมายนิรโทษกรรมออกมาบังคับใช้หรือไม่ ว่าวันนี้เป็นการประชุมครั้งแรกเพื่อเลือกตั้งตำแหน่งต่างๆ ตนจึงเสนอว่าเราควรมีกรอบการทำงาน ว่าเรามุ่งหวังให้ไปถึงจุดไหน อย่างไร มีวิธีการทำอย่างไร
เขาบอกว่า ในการประชุมครั้งหน้า จะเชิญผู้ทรงคุณวุฒิทั้งหลายที่เคยมีประสบการณ์ในการทำนิรโทษกรรมและความปรองดองมาให้ความคิดเห็นก่อน ว่าควรจะทำอย่างไร อาทิ ศาสตราจารย์ ดร.คณิต ณ นคร ที่ปรึกษาคณะนิติศาสตร์ปรีดีพนมยงค์, รองศาสตราจารย์ ดร.โคทม อารียา ที่ปรึกษาสถาบันสิทธิมนุษยชนและสันติศึกษา มาให้ความรู้จากประสบการณ์ เพราะบุคคลเหล่านี้มีการศึกษาเรื่องนิรโทษกรรมมาพอสมควรแล้ว
ส่วนกรอบการทำงานของ กมธ.จะไปถึงจุดไหนนั้น จะมีการคุยรายละเอียดกันครั้งหน้า ซึ่งเมื่อฟังการอภิปรายในการประชุมสภา ดูเหมือนพรรคการเมืองทั้งหลายอยากให้มีการนิรโทษกรรม เพื่อให้นำไปสู่ความปรองดองของคนในชาติ บางพรรคเสนอเป็นกฎหมายมาแล้วด้วยซ้ำ
"ปัญหาใหญ่ที่กรรมาธิการต้องถกคิด คือจะนิรโทษกรรมให้ครอบคลุมเพียงใด เป็นสิ่งที่สังคมและพรรคการเมืองกำลังโต้เถียงอยู่ในขณะนี้ กรรมาธิการคงต้องไปศึกษาว่าจะครอบคลุมการกระทำอะไร เวลาใด บุคคลใด ซึ่งจะมีการหารือกันว่าหากท้ายที่สุดเห็นควรว่าจะนิรโทษกรรม เราจะไปถึงขั้นยกร่างหรือไม่ เพราะหน้าที่ของเราคือการศึกษาการตรากฎหมายนิรโทษกรรม เพราะเป็นประเด็นที่เป็นหัวใจ จะต้องมีการถามให้รอบคอบ จะได้ร่วมแรงร่วมใจกันทำงานให้สำเร็จ"
ส่วนแนวทางการพิจารณานิรโทษกรรมให้แก่ผู้ที่มีความเห็นต่าง และอาจนำไปสู่การนิรโทษกรรมผู้ต้องโทษตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 นั้น นายชูศักดิ์ระบุว่า ต้องฟังความคิดเห็นกัน อย่าไปด่วนสรุปว่าจะมีหรือไม่มีอะไร ต้องดูรอบด้าน อย่าไปถึงขั้นฟันธงเลย
สำหรับการตั้งคณะกรรมการเพื่อพิจารณาว่าเรื่องใดบ้างควรได้รับการนิรโทษกรรมนั้น ส่วนตัวคิดว่าเรื่องนี้มีการศึกษามาพอควรแล้ว หลายๆ คนก็เคยทำไว้ กมธ.อาจจะสามารถศึกษาจากเรื่องเก่าได้เลย ไม่จำเป็นจะต้องไปตั้งคณะอนุกรรมการชุดใด
ด้านนายสมคิด เชื้อคง รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ในฐานะโฆษกคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาแนวทางตรากฎหมายนิรโทษกรรม เปิดเผยผลการประชุมนัดแรกว่า มีการเลือกตำแหน่งต่างๆ ใน กมธ.นิรโทษกรรมฯ ซึ่งได้พูดคุยกรอบการทำงานกว้างๆ ยังไม่มีการพิจารณาตัวร่างกฎหมายและข้อมูลนิรโทษกรรมในอดีตที่ผ่านการคัดกรองมาแล้ว
โดย กมธ.นิรโทษกรรมฯ จะประชุมทุกวันพฤหัสบดี ในเวลา 13.00 น.เป็นต้นไป ซึ่งที่ประชุมสภากำหนดระยะเวลาให้ศึกษา 60 วัน หากเสร็จไม่ทันก็จะขอขยายเวลา
ทั้งนี้ นายสมคิดได้ขอบคุณพรรคการเมืองและนักวิชาการทุกคนที่เข้าร่วมประชุมในวันนี้ ถือว่าเป็นนิมิตหมายที่ดี
นายสมคิดยันยืนว่า จะนำร่างพระราชบัญญัติทุกฉบับมาพูดคุยและนำมาสรุปทั้งหมด รวมถึงร่างของภาคประชาชนที่จะเสนอมาด้วย เพราะแต่ละฉบับมีข้อดีข้อเสีย หากมีประเด็นเกี่ยวกับต่างประเทศ จะเชิญตัวแทนจากกระทรวงการต่างประเทศมาให้ความเห็น
รองศาสตราจารย์ยุทธพร อิสรชัย อดีตรองอธิการบดี มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช (มสธ.) ในฐานะกรรมการและที่ปรึกษาคณะกรรมาธิการฯ กล่าวว่า กฎหมายนิรโทษกรรมเป็นเครื่องมือสำคัญที่จะสร้างความปรองดองให้เกิดขึ้นในสังคม อย่างไรก็ดี กฎหมายคือเรื่องปลายทาง แต่เรื่องที่สำคัญที่สุดคือกระบวนการที่ต้องสร้างความไว้วางใจให้เกิดขึ้น ตลอดระยะเวลา 20 ปีที่ผ่านมา เราพูดถึงเรื่องการสร้างความปรองดองและความสมานฉันท์มามากมาย แต่ปรากฏว่ายังไม่เคยเห็นอะไรที่เป็นภาพเป็นผลชัดเจน
เพราะฉะนั้นจะต้องเริ่มต้นด้วยหลักอธิปไตยแบบปรึกษาหารือ เรามีคำตอบล่วงหน้าแล้ว จะแก้หรือไม่แก้เรื่องใด อยากให้มีหน้าตาของกฎหมายแบบไหน ตรงนี้ไม่ใช่ปัจจัยแห่งความสำเร็จแน่นอน
แต่ปัจจัยแห่งความสำเร็จที่เกิดขึ้น คือกระบวนการพูดคุยหารือร่วมกัน ด้วยหลักประชาธิปไตยแบบมีส่วนร่วม เปิดพื้นที่ให้คนทุกกลุ่มในสังคม โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ทางการเมือง ช่วงความขัดแย้งร่วมสมัยในประเทศไทยที่ผ่านมา
ทั้งนี้ เมื่อเราพูดถึงกฎหมายนิรโทษกรรม ในอดีตกลายเป็นเครื่องมือของคณะรัฐประหาร ทุกยุคทุกสมัย เพื่อใช้ในการนิรโทษกรรมตัวเอง ทั้งนี้ทั้งนั้น ถ้าเราต้องมองกฎหมายนิรโทษกรรมในลักษณะที่เป็นเครื่องมือร่วมกันของคนในสังคม เพื่อทางออกร่วมกัน ตนคิดว่านี่จะเป็นปัจจัยแห่งความสำเร็จของร่างกฎหมายนิรโทษกรรมในครั้งนี้ได้
ส่วนจะรวมการนิรโทษกรรมคดีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ด้วยหรือไม่นั้น รองศาสตราจารย์ ยุทธพรกล่าวว่า ประเด็นเรื่อง ม.112 เป็นประเด็นที่มีความสำคัญประการหนึ่ง เพราะในระยะเวลาที่ผ่านมามีบุคคลที่ต้องคดีเหล่านี้เป็นจำนวนมาก มีกระบวนการในการใช้กฎหมายให้กลายเป็นการเมือง จึงต้องพูดคุยกันอย่างมีวุฒิภาวะ มีการเปิดพื้นที่ในการรับฟังทุกฝ่าย ทั้งประชาชนและฝ่ายการเมือง หรือแม้กระทั่งการหยิบยกคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญมาประกอบในการพิจารณาด้วย เพราะฉะนั้นการพูดและมองอย่างรอบด้านในประเด็นนี้ จะต้องหาข้อสรุปที่ทุกฝ่ายยอมรับร่วมกัน เพื่อให้สามารถคลี่คลายปมแห่งความขัดแย้งสำคัญตรงนี้ได้พอสมควร
“ผมยังเชื่อมั่นว่าการเปิดพื้นที่ทางการเมืองในครั้งนี้เป็นการพูดถึงกฎหมายนิรโทษกรรมในสมัยและบรรยากาศที่มีความเป็นประชาธิปไตย ซึ่งเป็นการเปิดให้คนทุกกลุ่มร่วมกันแสดงความคิดเห็นได้อย่างกว้างขวาง อย่างมีวุฒิภาวะ" รองศาสตราจารย์ยุทธพรกล่าวทิ้งท้าย
สำหรับรายชื่อคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาแนวทางการตราพระราชบัญญัตินิรโทษกรรม มีดังนี้ 1.รองศาสตราจารย์ชูศักดิ์ ศิรินิล เป็นประธานคณะกรรมาธิการ 2.ศาสตราจารย์วุฒิสาร ตันไชย เป็นรองประธานคณะกรรมาธิการ คนที่หนึ่ง 3.นายรังสิมันต์ โรม เป็นรองประธานคณะกรรมาธิการ คนที่สอง 4.นายประดิษฐ์ สังขจาย เป็นรองประธานคณะกรรมาธิการ คนที่สาม 5.นายไพบูลย์ นิติตะวัน เป็นรองประธานคณะกรรมาธิการ คนที่สี่ 6.นายวิชัย สุดสวาสดิ์ เป็นรองประธานคณะกรรมาธิการ คนที่ห้า 7.นางอังคณา นีละไพจิตร เป็นรองประธานคณะกรรมาธิการ คนที่หก
8.นายพิชัย นิลทองคำ เป็นกรรมการและที่ปรึกษา 9.รองศาสตราจารย์ยุทธพร อิสรชัย เป็นกรรมการและที่ปรึกษา 10.นายชัยธวัช ตุลาธน เป็นกรรมการและที่ปรึกษา 11.นายนพดล ปัทมะ เป็นกรรมการและที่ปรึกษา 12.นายนรินท์พงศ์ จินาภักดิ์ เป็นกรรมการและที่ปรึกษา 13.นายเจือ ราชสีห์ เป็นกรรมการและที่ปรึกษา 14.นายสมคิด เชื้อคง เป็นโฆษกคณะกรรมาธิการ 15.นายสฤษฏ์พงษ์ เกี่ยวข้อง เป็นโฆษกคณะกรรมาธิการ 16.นางสาวศศินันท์ ธรรมนิฐินันท์ เป็นโฆษกคณะกรรมาธิการ 17.นางสาวขัตติยา สวัสดิผล เป็นโฆษกคณะกรรมาธิการ 18.นายพงศ์พล ยอดเมืองเจริญ เป็นโฆษกคณะกรรมาธิการ
19.นายนิกร จำนง เป็นเลขานุการคณะกรรมาธิการ 20.นายสมบูรณ์ ม่วงกล่ำ เป็นผู้ช่วยเลขานุการคณะกรรมาธิการ คนที่หนึ่ง 21.นางสาวชญานิษฐ์ พูลยรัตน์ เป็นผู้ช่วยเลขานุการคณะกรรมาธิการ คนที่สอง 22.นายชูวัส ฤกษ์ศิริสุข เป็นผู้ช่วยเลขานุการคณะกรรมาธิการ คนที่สาม.
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
ฮือไล่ปธน.ยุน!วุ่นรมว.กห.ไขก๊อก
พรรคฝ่ายค้านของเกาหลีใต้เคลื่อนไหวถอดถอน "ประธานาธิบดียุน ซ็อกยอล"
ชงรัฐบาลชะลอค่าแรง400
“พาณิชย์” เผยเงินเฟ้อเดือน พ.ย.67 เพิ่มขึ้น 0.95% บวก 8 เดือนติด
เฮ‘ต้มยำกุ้ง’ ขึ้นมรดกโลก ภูมิปัญญาไทย
เฮ! ยูเนสโกรับรอง "ต้มยำกุ้ง" มรดกวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ นายกฯ ปลื้มซอฟต์พาวเวอร์ไทย ยกศิลปะปรุงอาหาร
บุญทรงปิดปาก/ขังนอกคุกทันสิ้นปี
"บุญทรง" ปรากฏตัวครั้งแรก ไปรายงานตัวคุมประพฤติตามนัดหมายที่เชียงใหม่
อาสาเชือด‘หวานใจ’ เต่าขอปปช.ลุยคดีเอง/เขากระโดงแค่เกมพท.-ภท.
“กมธ.ที่ดินฯ” เตรียมบุกไร่ภูนับดาว 13 ธ.ค. ตรวจการใช้เอกสารสิทธิ ส.ป.ก.
จงรักภักดีจนชีวิตหาไม่
"ในหลวง" เสด็จฯ ไปในพิธีสวนสนามของทหารรักษาพระองค์