ฟัน2พันรายโกงเราชนะ

คลังลงดาบใหญ่ ฟันผู้ประกอบการ 2,099 รายในโครงการเราชนะ ชี้มีพิรุธหลายข้อ แต่ยังให้โอกาสรีบเอาหลักฐานมาอุทธรณ์ใน 15 วัน ก่อนถูกเรียกเงินคืน “ธนกร” วอนเห็นใจข้าราชการต้องปฏิบัติตามกฎระเบียบ “เด็กไทยสร้างไทย” ซัดโครงการดีแต่ไม่รอบคอบ อัดมีปัญหาก็โยนภาระให้ประชาชน    

เมื่อวันจันทร์ที่ 11 ตุลาคม นายพรชัย ฐีระเวช ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) กระทรวงการคลัง ได้แถลงถึงการตรวจสอบผู้ประกอบการที่ฝ่าฝืนหลักเกณฑ์หรือเงื่อนไขในโครงการเราชนะ  จากผู้ประกอบการที่เข้ารวมโครงการกว่า 1.3 ล้านราย ว่าได้จัดตั้งคณะทำงานพิจารณาตรวจสอบข้อมูลและเรื่องร้องเรียนสำหรับโครงการเราชนะ เพื่อติดตามตรวจสอบการกระทำที่เข้าข่ายฝ่าฝืนหลักเกณฑ์และเงื่อนไขของโครงการ ซึ่งเมื่อพบการฝ่าฝืนก็จะระงับสิทธิ์การเข้าร่วมโครงการ รวมถึงร่วมมือกับหน่วยงานต่างๆ เช่น สำนักงานตำรวจแห่งชาติและกรมการค้าภายใน ตรวจสอบข้อเท็จจริงและขยายผลสืบสวนสอบสวนต่อไป

นายพรชัยกล่าวต่อว่า ขั้นตอนการดำเนินงานกับผู้ที่มีพฤติกรรมฝ่าฝืนหลักเกณฑ์หรือเงื่อนไขของโครงการเราชนะ ประกอบด้วย 1.การระงับสิทธิ์ชั่วคราวการใช้แอปพลิเคชันถุงเงิน เมื่อพบพฤติกรรมที่ผิดปกติในธุรกรรมการใช้จ่าย เช่น จุดรับเงินของแอปถุงเงินขยับไปมาระยะไกล ธุรกรรมเต็มจำนวนวงเงินสิทธิเป็นจำนวนมาก เป็นต้น ซึ่งจะแจ้งให้ผู้ประกอบการติดต่อชี้แจงโต้แย้งภายใน 14 วัน ซึ่งเมื่อครบกำหนดแล้วจะนำเอกสารชี้แจงโต้แย้งของผู้ประกอบการที่ได้รับเข้าสู่การพิจารณาของคณะทำงาน

2.เมื่อได้พิจารณาเอกสารหลักฐานของผู้ประกอบการแล้วเห็นว่า ผู้ประกอบการกระทำการฝ่าฝืนหลักเกณฑ์ดังกล่าวจริง หรือผู้ประกอบการไม่ชี้แจงโต้แย้งภายในเวลาที่กำหนด จะได้มีหนังสือประทับตราแจ้งผลวินิจฉัยและขอให้ชำระเงินคืนให้โครงการ แต่ผู้ประกอบการสามารถอุทธรณ์ได้ภายใน 15 วันนับแต่วันที่ได้รับหนังสือประทับตรา และ 3.กรณีไม่มีการชี้แจงหรือเสนอข้อมูลหลักฐานประกอบการอุทธรณ์ หรือไม่มีการชำระเงินคืนให้แก่โครงการเราชนะ รวมถึงกรณีอุทธรณ์มา แต่คณะทำงานพิจารณาแล้วเห็นว่ายังมีพฤติกรรมฝ่าฝืนหลักเกณฑ์หรือเงื่อนไขโครงการ ก็จะได้มีหนังสือแจ้งผู้ประกอบการอีกครั้ง โดยหากผู้ประกอบการยังไม่ชำระเงินคืน ก็ต้องดำเนินการเรียกร้องตามกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับผู้ประกอบการต่อไป

“โครงการเราชนะได้ระงับสิทธิ์ถาวรผู้ประกอบการที่ฝ่าฝืนหลักเกณฑ์และเงื่อนไขของโครงการแล้ว 2,099 ราย และได้ออกหนังสือประทับตราแจ้งผู้ประกอบการที่ฝ่าฝืนหลักเกณฑ์ เงื่อนไข และความยินยอมสำหรับผู้ประกอบการที่เข้าร่วมโครงการเราชนะเพื่อคืนเงินที่ได้รับ โดยขณะนี้อยู่ระหว่างการเปิดให้ผู้ประกอบการขออุทธรณ์ได้ภายใน  15 วัน” นายพรชัยกล่าวและว่า เพื่อเป็นการรักษาสิทธิ์จึงขอให้ผู้ประกอบการชี้แจงเหตุผล พร้อมยื่นเอกสารหรือหลักฐานที่เกี่ยวข้องต่อ  สศค.ภายในระยะเวลาที่กำหนด เช่น ใบเสร็จรับเงินเพื่อแสดงต้นทุนสินค้า, หลักฐานการจัดส่งสินค้า, เอกสารแสดงสินค้าคงคลัง รวมถึงภาพถ่ายสถานประกอบการ เป็นต้น เพื่อนำเข้าสู่กระบวนการพิจารณาของคณะทำงานและกระบวนการขั้นตอนตามกฎหมายต่อไป

ด้านนายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี  กล่าวถึงเรื่องดังกล่าวว่า มีผู้ประกอบการ 2,099 รายที่มีธุรกรรมผิดเงื่อนไข เช่น รับสแกนแล้วแลกเป็นเงินสด, มีการสแกนเงินเต็มจำนวนวงเงินสิทธิ 1,000-2,000 บาท เป็นต้น หรือรับสแกนซื้อขายข้ามจังหวัด ทำให้จุดรับเงินขยับไปมาเกิน 7,000 กิโลเมตรใน 1 วัน หรือบางรายอยู่นอกพื้นที่ในเวลาใกล้เคียงกัน ซึ่งเป็นพฤติกรรมที่ไม่สอดคล้องกับลักษณะการประกอบกิจการ แต่ผู้ประกอบการสามารถยื่นอุทธรณ์คำสั่ง พร้อมแสดงหลักฐานให้ทบทวนผลการพิจารณาต่อผู้อำนวยการ สศค.เพื่อนำเข้าสู่กระบวนการตรวจสอบข้อเท็จจริงอีกครั้งหนึ่ง
“วิงวอนขอให้เห็นใจการทำงานของหน่วยงานภาครัฐ ทุกอย่างต้องยึดตามระเบียบและกฎหมายรองรับ ซึ่งผู้ประกอบการที่สมัครใจร่วมโครงการต้องปฏิบัติตามเงื่อนไขและข้อกำหนดตลอดระยะเวลาที่เข้าร่วมโครงการด้วย หากละเมิดกติกาหรือผิดวัตถุประสงค์ที่วางไว้ ส่วนราชการที่รับผิดชอบก็จำเป็นต้องดำเนินการตามข้อบังคับเพื่อปกป้องและรักษาสิทธิ์ของประชาชน และให้เกิดความเป็นธรรมแก่ผู้ประกอบการส่วนใหญ่”

ส่วนนายรณกาจ ชินสำราญ คณะกรรมการอำนวยการและพัฒนาพรรค พรรคไทยสร้างไทย กล่าวว่า ต้องมองทั้ง 2 มุม นอกจากมองมุมของกฎกติกาที่รัฐวางไว้แล้ว ยังต้องมองถึงเรื่องความรัดกุมเหมาะสมในเงื่อนไข และให้ความยุติธรรมกับร้านค้าและผู้ประกอบการด้วย โดยการนำไปใช้ผิดประเภทหรือตั้งใจทุจริตของร้านค้าเป็นเรื่องที่ไม่สมควรทำ  แต่รัฐควรให้ความเป็นธรรมและชี้แจงอย่างเป็นเหตุเป็นผลกับทุกคนด้วย  มีตัวอย่างที่ร้านค้าได้จดหมายเรียกเงินคืน แต่ไม่ได้ชี้แจงว่าทำผิดเงื่อนไขลักษณะไหนเพื่อที่ร้านค้าจะได้ยื่นอุทธรณ์ได้ตรงจุด หรือแม้แต่การเรียกเงินคืนที่รวมไปถึงส่วนต้นทุนของร้านค้าด้วย ไม่ได้แค่เรียกคืนเฉพาะส่วนที่รัฐอุดหนุนมา เพราะมีร้านค้าหลายรายที่ได้รับจดหมายเรียกเงินคืนหลักหลายแสนบาทไปถึงหลักล้านบาท หลายคนตกใจและไม่รู้ว่าตัวเองทำผิดเงื่อนไขในลักษณะใด 

“โครงการช่วยเหลืออุดหนุนต่างๆ ของรัฐตั้งแต่ช่วงโควิดปีที่แล้ว  หลายโครงการเป็นโครงการที่ดีเจตนาดี แต่บ่อยครั้งที่เราเห็นตลอดมาว่ารัฐคิดไม่ครบ คิดไม่จบ ไม่รอบคอบ ไม่รัดกุม พอเกิดปัญหาก็ผลักให้ประชาชนเป็นผู้ร่วมรับผิดชอบตลอด ขอเรียกร้องให้รัฐคิดให้รอบคอบในการออกโครงการต่างๆ และให้ความยุติธรรมกับประชาชนและคนทำมาค้าขายทุกคน เพื่อที่โครงการดีๆ จะได้ไม่เป็นภาระกับประชาชน” นายรณกาจระบุ.

เพิ่มเพื่อน