‘กนง.-ปปช.’ขัดใจ! เศรษฐายัวะคงดอกเบี้ยสวนไม่มีหน้าที่จุ้นแจกเงินดิจิทัล

"ป.ป.ช." ชง 8 จุดเสี่ยงแจกเงินดิจิทัลวอลเล็ตเสนอรัฐบาล ยันไม่ได้ค้านโครงการแค่ป้องปรามการทุจริต ย้ำศก.ชะลอตัวไม่ถึงขั้นวิกฤต แนะปรับเกณฑ์แจกเฉพาะกลุ่มเปราะบาง "เศรษฐา" สวนทันทีไม่มีหน้าที่ขีดเส้น บอกทำตามความต้องการ ปชช. ข้องใจใครเข้าเกณฑ์แจกเอาอะไรกำหนด "ศิริกัญญา" ยุส่งเดินหน้าอย่าสนคำแนะนำ "กนง." เมินแรงบีบ มีมติ 5:2 คงอัตราดอกเบี้ยนโยบาย 2.50% ชี้สอดคล้องการขยายตัวเศรษฐกิจ "นายกฯ" ขัดใจ กนง. อ้างเงินเฟ้อติดลบ 4 เดือนแล้ว

ที่สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) วันที่ 7 ก.พ.2567 นายนิวัติไชย เกษมมงคล เลขาธิการคณะกรรมการ ป.ป.ช.  แถลงถึงความคืบหน้าเรื่องนโยบายแจกเงินดิจิทัลวอลเล็ตของรัฐบาลว่า ภายหลังที่ประชุมคณะกรรมการ ป.ป.ช.มีมติเห็นชอบให้ส่งผลการศึกษาเพื่อป้องกันการทุจริตเกี่ยวกับนโยบายรัฐบาล กรณีการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่านดิจิทัลวอลเล็ต (Digital Wallet) ไปยังรัฐบาล โดยประธานคณะกรรมการ ป.ป.ช. ลงนามในวันนี้ (7 ก.พ.) แล้ว เพื่อเรียนนายกฯประกอบการตัดสินใจดำเนินโครงการต่อไป คาดว่าจะส่งถึงรัฐบาลภายใน 1-2 วัน โดยข้อเสนอแนะที่เป็นเนื้อหามี 61 หน้า แต่ถ้ารวมภาคผนวกและข้อมูลประกอบจะมีประมาณกว่า 100 หน้า

นายนิวัติไชยกล่าวว่า คณะกรรมการ ป.ป.ช. ในการประชุมครั้งที่ 15/2567 เมื่อวันที่ 5 ก.พ.2567 พิจารณาแล้ว มีมติเห็นควรเสนอข้อเสนอแนะเพื่อป้องกันการทุจริตเกี่ยวกับนโยบายรัฐบาล กรณีการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่านดิจิทัลวอลเล็ตต่อ ครม. เพื่อพิจารณาดำเนินการตามควรแก่กรณี ในการป้องกันมิให้เกิดการทุจริตหรือเกิดความเสียหายต่อประโยชน์ของรัฐหรือประชาชน โดยมีข้อเสนอแนะจำนวน 8 ข้อ

1.รัฐบาลควรศึกษา วิเคราะห์ การดำเนินโครงการตามนโยบายฯ รวมทั้งชี้แจงความชัดเจนอย่างเป็นรูปธรรม ว่าผู้ได้รับประโยชน์จากโครงการ จะไม่ตกแก่พรรคการเมือง นักการเมือง หรือเป็นการ เอื้อประโยชน์แก่บุคคลรายใดรายหนึ่ง หรือกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง โดยเฉพาะกลุ่มผู้ประกอบการรายใหญ่ที่มีศักยภาพมากกว่าผู้ประกอบการรายย่อย ซึ่งเป็นการดำเนินนโยบายที่อาจเข้าข่ายการทุจริตเชิงนโยบาย รวมทั้งประชาชนที่เข้าร่วมโครงการเป็นผู้ที่มีคุณสมบัติเหมาะสมที่จะได้รับประโยชน์จากการดำเนินโครงการของรัฐบาลอย่างแท้จริง เช่น เป็นผู้ที่มีรายได้น้อย หรือกลุ่มเปราะบาง พร้อมกับต้องมีขั้นตอนและวิธีการที่เป็นรูปธรรมชัดเจนเพื่อให้สามารถกระจายการกระตุ้นเศรษฐกิจได้อย่างทั่วถึงและเป็นธรรม

2.การหาเสียงของพรรคเพื่อไทย (พท.)ในการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 14 พ.ค.2566  และพรรค พท.จัดตั้งรัฐบาล ได้มีการแถลงนโยบายต่อรัฐสภาเมื่อวันที่ 11 ก.ย.เกี่ยวกับโครงการดังกล่าวนั้นมีความแตกต่างกัน กกต.ควรดำเนินการตรวจสอบว่าขัดต่อรัฐธรรมนูญและ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. 2560 หรือไม่ 3.การดำเนินนโยบายของรัฐบาลที่มีวัตถุประสงค์เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ โดยเฉพาะอย่างยิ่งโครงการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่านดิจิทัลวอลเล็ตควรคำนึงถึงความคุ้มค่าและความจำเป็นในการกระตุ้นเศรษฐกิจ ตลอดจนผลกระทบและภาระทางการเงินการคลังในอนาคต ภายใต้หลักธรรมาภิบาล 4 ด้าน พิจารณาระหว่างผลดีผลเสียที่จะต้องกู้เงินจำนวน 5 แสนล้านบาท ในขณะที่ตัวทวีคูณทางการคลังมีเพียง 0.4 การกู้เงินจึงเป็นการสร้างภาระหนี้แก่รัฐบาลและประชาชนในระยะยาว

4.การดำเนินโครงการเติมเงิน 10,000 บาท ครม.และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องควรพิจารณาประเด็นความเสี่ยงด้านกฎหมายอย่างรอบคอบ ตลอดจนกฎหมาย คำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญและระเบียบอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง 5.ครม.และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องควรมีการประเมินความเสี่ยงในการดำเนินโครงการอย่างรอบด้าน โดยกำหนดแนวทางหรือมาตรการในการบริหารความเสี่ยงและการป้องกันการทุจริต 6.ในการนำเทคโนโลยีบล็อกเชน (Blockchain) มาใช้กับโครงการควรพิจารณาถึงความจำเป็นและความเหมาะสม ตลอดจนระยะเวลาและงบประมาณที่ต้องใช้ในการพัฒนาระบบ เพื่อให้สอดคล้องกับวัตถุประสงค์และระยะเวลาในการดำเนินโครงการ ซึ่งเป็นการดำเนินโครงการแจกเงินเพียงครั้งเดียวโดยให้ใช้จ่ายภายใน 6 เดือน

ชี้ 8 จุดเสี่ยงแจกเงินหมื่น

7.จากข้อมูลภาวะเศรษฐกิจของหน่วยงานต่างๆ ที่ได้จากการศึกษาและตัวทวีคูณทางการคลัง รวมถึงตัวบ่งชี้ภาวะวิกฤตที่ธนาคารแห่งประเทศไทยได้รวบรวมและประมวลข้อมูลจากงานศึกษาของธนาคารโลกและ IMF มีความเห็นตรงกันว่า ในช่วงเวลาที่ศึกษาอัตราความเจริญเติบโตของประเทศไทยยังไม่ถึงขั้นประสบภาวะวิกฤตเศรษฐกิจ เพียงแต่ชะลอตัวเท่านั้น ดังนั้น ในการกระตุ้นเศรษฐกิจให้เติบโตอย่างมีเสถียรภาพและยั่งยืน รัฐบาลควรพิจารณาและให้ความสำคัญต่อโครงสร้างทางเศรษฐกิจ ในกรณีที่รัฐบาลต้องดำเนินนโยบายที่มีวัตถุประสงค์ในการช่วยเหลือประชาชนภายใต้สถานการณ์เศรษฐกิจที่ไม่เข้าขั้นวิกฤต ควรพิจารณากลุ่มประชาชนเป้าหมายที่เปราะบางที่สุด ซึ่งต้องการความช่วยเหลืออย่างแท้จริง

8.หากรัฐบาลมีความจำเป็นต้องการช่วยเหลือประชาชน รัฐบาลควรช่วยเหลือกลุ่มประชาชนที่มีฐานะยากจน ที่เปราะบาง ที่ช่วยเหลือตัวเองไม่ได้เท่านั้น โดยแจกจากแหล่งเงินงบประมาณปกติ มิใช่เงินกู้ตามพระราชบัญญัติเงินกู้ และจ่ายในรูปเงินบาทปกติในอัตราที่เหมาะสม เพื่อพยุงการดำรงชีวิตของกลุ่มประชาชนที่ยากจน โดยการกระจายจ่ายเงินเป็นงวดๆ หลายงวดผ่านระบบแอปเป๋าตังที่มีประสิทธิภาพ และมีฐานข้อมูลครบ สามารถทำได้รวดเร็ว การดำเนินการกรณีนี้หากใช้แหล่งเงินงบประมาณปกติ มิใช่จากการกู้เงินตาม พ.ร.บ.เงินกู้จะลดความเสี่ยงต่อการขัดรัฐธรรมนูญ ขัด พ.ร.บ.การเงินการคลัง และขัด พ.ร.บ.เงินตรา ประการสำคัญไม่สร้างภาระหนี้สาธารณะของประเทศในระยะยาว

"ป.ป.ช.ทำหน้าที่จบด้วยการเสนอแนะและการเฝ้าระวัง ซึ่งเราจะส่งเรื่องต่อไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการทุจริต ป.ป.ช.ทำงานในเชิงป้องกัน ก้าวไปข้างหน้าก่อนเกิดเหตุ" นายนิวัติไชยกล่าว

ถามว่า ป.ป.ช.มองว่าภาวะเศรษฐกิจประเทศตอนนี้อยู่ในภาวะวิกฤตหรือไม่ เลขาฯ ป.ป.ช.กล่าวว่า ตามที่ ป.ป.ช.มีมุมมองอาจจะยังไม่เข้าขั้น แต่ในมุมของรัฐบาลอาจมองว่าวิกฤต ซึ่งเรื่องนี้ ป.ป.ช.ได้ส่งข้อเสนอแนะไปยังรัฐบาลเท่านั้น ไม่ใช่การคาดการณ์ว่ารัฐบาลจะทุจริตหรือไม่ สุดท้ายแล้วรัฐบาลจะต้องเป็นผู้อภิปรายในโครงการนี้ ถ้ามีเหตุมีผลรัฐบาลก็สามารถขับเคลื่อนได้

ซักว่าโครงการนี้เป็นการเอื้อกลุ่มนายทุนหรือไม่ เลขาฯ ป.ป.ช.กล่าวว่า ปัจจุบันยังไม่เห็นว่าจะมีกลุ่มทุนกลุ่มไหนมาทำ อย่างไรก็ตาม รัฐบาลเป็นผู้ขับเคลื่อนโครงการนี้ และจะเป็นผู้รับผิดชอบ ซึ่ง 8 ข้อเสนอแนะนี้เป็นเพียงข้อเสนอแนะทางวิชาการที่หลากหลายสาขา ไม่ใช่ความคิดเห็นของ ป.ป.ช. ที่คิดเองเออเอง เป็นข้อเสนอแนะให้รัฐบาลพิจารณา ซึ่งตอนนี้เรายังไม่รู้ว่ารัฐบาลจะขับเคลื่อนโครงการนี้หรือไม่ และถ้ารัฐบาลตัดสินใจทำ เราก็ดูลำดับการขับเคลื่อนต่อ ซึ่งที่ผ่านมารัฐบาลไม่ได้ดึงดันจะทำโครงการนี้ เพราะยังชี้แจงอยู่ว่าจะรอข้อเสนอแนะจากป.ป.ช.ทั้งหมดแล้วเราทำเพื่อประเทศ ไม่ได้มีอคติอะไร และ ป.ป.ช.ไม่มีอำนาจยับยั้งโครงการแต่อย่างใด

เมื่อถามว่า ข้อเสนอแนะตอนแรกของป.ป.ช.โดนผู้ใหญ่ฝั่งรัฐบาลมองว่าเป็นจินตนาการของ ป.ป.ช. มีความเห็นอย่างไร เลขาฯ ป.ป.ช.กล่าวว่า สื่อและประชาชนมองแล้วว่าเป็นเรื่องมโนหรือไม่ ถ้าจับต้องได้ มีเหตุมีผล มันก็ใช่ สิ่งที่ ป.ป.ช. ทำไม่ได้หมายความว่ามันต้องใช่ แต่มันมีหลักฐานข้อมูล 8 ข้อที่อ่านดูก็เป็นข้อเสนอแนะเชิงวิชาการ ส่งข้อเสนอแนะด้วยความห่วงใยให้ ครม.

"ป.ป.ช.ไม่ได้ค้านการดำเนินโครงการ เพราะกฎหมายไม่ได้ให้อำนาจ ป.ป.ช. เว้นแต่มีความผิดเกิดขึ้น มีการทุจริตไปแล้ว ตามข้อเท็จจริงเป็นขั้นตอนปราบปราม ที่ผ่านมา ป.ป.ช.เสนอมาตรการไปหลายเรื่อง ทำมานานแล้ว เป็นไปตาม พ.ร.ป. ป.ป.ช. มาตรา 32 วันนี้เพิ่มตามมาตรา 35 ไป อีกเพื่อตอกย้ำว่าสิ่งที่ ป.ป.ช.ทำ ดีกว่าไปนั่งเอาผิดเขา ไม่ใช่ปล่อยเขาทำผิด แล้วไปจับผิดเขา แบบนั้นขี่ช้างจับตั๊กแตน รัฐเสียหายไปแล้ว วันนี้เราทำงานเชิงรุก" เลขาฯ ป.ป.ช.กล่าว

สวน ปปช.ไม่มีหน้าที่ขีดเส้น

ขณะที่ นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและ รมว.การคลัง กล่าวถึงกรณีป.ป.ช.แถลงเสนอแนะโครงการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่านดิจิทัลวอลเล็ต ว่าเรื่องของการทุจริตในการประชุมของคณะกรรมการชุดใหญ่ในเรื่องนี้ คงมีการตั้งคณะอนุกรรมการขึ้นมาดูแลเรื่องนี้โดยเฉพาะ ยืนยันว่าต้องตอบคำถามเรื่องนี้ให้ได้ ซึ่งอาทิตย์หน้าจะมีการประชุมคณะกรรมการชุดใหญ่อีกทีหนึ่ง หลังจากนั้นคงมีการแถลงใหญ่

ถามว่า ป.ป.ช.แนะให้กลับมาใช้งบประมาณประจำปีปกติ ดีกว่าการออกพ.ร.บ.กู้เงิน นายเศรษฐากล่าวว่า อันนี้เดี๋ยวต้องไปคุยกัน ก็เพิ่งทราบเหมือนกัน เมื่อถามอีกว่าจะเป็นไปได้หรือไม่ นายเศรษฐากล่าวว่า ยังไม่ทราบ ยังไม่ได้คุยเลย ต้องดูความเหมาะสมก่อน เมื่อถามว่าข้อเสนอแนะ ป.ป.ช.ถึงขั้นให้ปรับเกณฑ์แจกเฉพาะกลุ่มเปราะบางหรือผู้มีรายได้น้อย นายเศรษฐากล่าวว่า ก็ต้องไปดูเรื่องของหน้าที่ และสิ่งที่ ป.ป.ช.บอกมาว่าอย่างไรและเหตุผลคืออะไร ซึ่งก็ต้องดูหน้าที่ของ ป.ป.ช. คือการตรวจสอบ ทุจริตประพฤติมิชอบใช่หรือไม่ ส่วนนโยบายว่าจะให้ใครบ้าง เป็นเรื่องของรัฐบาล เป็นหน้าที่ของเราที่ต้องคำนึงถึงและน้อมรับคำและข้อสังเกตเรื่องของการทุจริต ตนเน้นตรงนี้ดีกว่าที่เกี่ยวข้องกับทาง ป.ป.ช. เพื่อให้ ป.ป.ช.สบายใจว่าตรวจสอบได้ทุกขั้นตอน

"อย่างที่บอกเรื่องของคนเปราะบาง เริ่มจากวันแรกที่เราพูดคุยกันแล้วว่าตรงไหนคือเปราะบาง ตรงไหนคือไม่เปราะบาง ถ้าผมบอกว่าต่ำกว่า 20,000 บาทเปราะบาง ถ้าสูงกว่า 20,000 บาทไม่เปราะบาง หากคุณได้เงินเดือน 20,000 บาทคุณจะโต้เถียงหรือไม่ เพราะผมก็เปราะบางเหมือนกัน ผมก็มีหนี้เยอะต้องการการกระตุ้นเหมือนกันใช่ไหม อันนี้เป็นเรื่องที่ละเอียดอ่อนเหมือนกัน ฉะนั้นทาง ป.ป.ช.หน้าที่ของท่านที่เสนอมาในเรื่องของการทุจริตต้องระมัดระวังตรงนี้ น้อมรับครับ" นายเศรษฐากล่าว

เมื่อถามว่า ยังมั่นใจใช่หรือไม่ว่าจะฝ่าวิกฤตความเห็นต่างตรงนี้ไปได้ และสามารถแจกเงินดิจิทัลได้ นายกฯ กล่าวว่า เป็นเรื่องสำคัญในสังคมไทย เราเองเป็นรัฐบาลมาจากการเลือกตั้ง มีพี่น้องประชาชนให้การสนับสนุน ความเห็นต่างเป็นเรื่องที่สังคมต้องยอมรับได้ ความเห็นต่างเป็นเรื่องที่เราต้องบริหารความคาดหวังซึ่งกันและกัน ต้องอยู่ในกรอบของกฎหมายและความไม่ก้าวร้าวซึ่งกันและกัน ฉะนั้นตรงนี้ต้องบริหารกันไป

เมื่อถามว่า รู้สึกเหมือนถูกบีบให้ถอยหรือไม่ นายกฯ กล่าวว่า ไม่มีความรู้สึกใดๆ ทั้งสิ้น เป็นหน้าที่ที่ต้องบริหารจัดการเรื่องนี้อยู่แล้ว

ส่วนนายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รมช.การคลัง กล่าวว่า ข้อเสนอแนะของ ป.ป.ช.เป็นสิ่งดี เป็นสิ่งสำคัญที่เราต้องรับฟังอยู่แล้ว ซึ่งไม่ว่าอย่างไรเรามีหน้าที่ที่ต้องชี้แจงทำความเข้าใจ

ด้าน น.ส.ศิริกัญญา ตันสกุล สส.บัญชีรายชื่อ และรองหัวหน้าพรรคก้าวไกล กล่าวว่า คำแนะนำของ ป.ป.ช. ก็เป็นเพียงอำนาจหน้าที่ของ ป.ป.ช. แต่รัฐบาลก็ไม่จำเป็นต้องทำตามที่เสนอแนะ แน่นอนว่ามีส่วนที่เราเห็นด้วยในบางข้อ แต่ในหลายข้อเราก็คิดว่าน่าจะเกินขอบเขตอำนาจหน้าที่ของ ป.ป.ช.ในการแนะนำ

"การที่ ป.ป.ช.ทำรายงานฉบับนี้ออกมา แล้วทำให้ทุกอย่างต้องดีเลย์ออกไป ค่อนข้างเป็นการเสียระยะเวลาไปโดยเปล่าประโยชน์ ความจริงรัฐบาลควรต้องเดินหน้า ปรึกษาหารือและนัดประชุมกับคณะกรรมการนโยบายชุดใหญ่ เพื่อสรุปว่าโครงการนี้จะเดินหน้าในวิธีใดมากกว่า" น.ส.ศิริกัญญากล่าว

กนง.ยืนมติไม่ลดดอกเบี้ย

วันเดียวกัน นายปิติ ดิษยทัต เลขานุการ คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) แถลงผลการประชุม กนง.ว่า คณะกรรมการฯ มีมติ 5 ต่อ 2 เสียง ให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ร้อยละ 2.50 ต่อปี โดย 2 เสียง เห็นควรให้ลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายร้อยละ 0.25 ต่อปี โดยเศรษฐกิจไทยในปี 2567 มีแนวโน้มขยายตัวชะลอลงจากภาคการส่งออกและการผลิต เนื่องจากอุปสงค์โลกและเศรษฐกิจจีนฟื้นตัวช้า รวมถึงปัจจัยเชิงโครงสร้างกระทบการขยายตัวของการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมและการท่องเที่ยวมากกว่าที่ประเมินไว้ แต่อุปสงค์ในประเทศยังขยายตัวต่อเนื่อง และเป็นแรงขับเคลื่อนสำคัญของเศรษฐกิจ ด้านอัตราเงินเฟ้ออยู่ในระดับต่ำ โดยมีแนวโน้มทยอยเพิ่มขึ้นเข้าสู่กรอบเป้าหมายช้ากว่าที่ประเมินไว้

"เศรษฐกิจที่ขยายตัวชะลอลงในช่วงที่ผ่านมา ส่วนใหญ่เกิดจากแรงส่งจากภาคต่างประเทศที่น้อยลงและผลกระทบจากปัจจัยเชิงโครงสร้าง แต่การบริโภคยังขยายตัวดีต่อเนื่อง ขณะที่อัตราดอกเบี้ยยังอยู่ในระดับที่สอดคล้องกับการรักษาเสถียรภาพเศรษฐกิจและการเงินซึ่งเป็นรากฐานสำคัญสำหรับการเจริญเติบโตที่ยั่งยืนในระยะยาว กรรมการส่วนใหญ่จึงเห็นควรให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายในการประชุมครั้งนี้ ขณะที่กรรมการ 2 ท่าน เห็นว่าควรปรับลดอัตราดอกเบี้ยร้อยละ 0.25 ต่อปี เพื่อให้สอดคล้องกับศักยภาพการขยายตัวทางเศรษฐกิจที่ต่ำลงจากปัจจัยเชิงโครงสร้าง" นายปิติกล่าว

เลขาฯ กนง.กล่าวว่า แรงส่งทางเศรษฐกิจที่ลดลงในช่วงปลายปี 2566 ส่งผลให้การขยายตัวของเศรษฐกิจไทยทั้งปี 2567 ปรับลดลง และคาดว่าจะอยู่ในช่วงร้อยละ 2.5-3 โดยการบริโภคภาคเอกชนและภาคการท่องเที่ยวยังเป็นแรงขับเคลื่อนสำคัญ ขณะที่การส่งออกและการผลิตมีแนวโน้มการขยายตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไป ส่วนหนึ่งจากอุปสงค์โลกและวัฏจักรสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ไทยที่ฟื้นตัวช้ากว่าคาด อัตราเงินเฟ้อทั่วไปมีแนวโน้มปรับลดลงกว่าที่ประเมินไว้จากปัจจัยด้านอุปทาน ทั้งราคาอาหารสดและราคาพลังงาน รวมทั้งการขยายมาตรการช่วยเหลือค่าครองชีพของภาครัฐ

"อัตราเงินเฟ้อที่ต่ำในปัจจุบันไม่ได้บ่งชี้ถึงอุปสงค์ที่อ่อนแอ โดยราคาสินค้าไม่ได้ปรับลดลงเป็นวงกว้าง แต่สะท้อนปัจจัยเฉพาะในบางกลุ่มสินค้า และหากหักผลของมาตรการช่วยเหลือค่าครองชีพของภาครัฐ อัตราเงินเฟ้อทั่วไปยังคงเป็นบวก อัตราเงินเฟ้อทั่วไปในปี 2567 มีแนวโน้มทรงตัวในระดับต่ำใกล้เคียงร้อยละ 1 ก่อนที่จะทยอยเพิ่มขึ้นในปีหน้า ในขณะที่อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานมีแนวโน้มทรงตัวใกล้เคียงเดิม" เลขาฯ กนง.กล่าว

อย่างไรก็ดี นายเศรษฐา ทวีสิน นายกฯ และ รมว.การคลัง กล่าวถึงมติ กนง.ให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ร้อยละ 2.50 ต่อปีว่า ก็ต้องน้อมรับว่าเป็นหน้าที่ของเขา เราไม่มีสิทธิ์ไปก้าวก่ายอะไร หน้าที่ของตนคือให้ข้อคิดเห็นในฝ่ายรัฐบาลว่าควรจะทำอย่างไรบ้าง ความเดือดร้อนของประชาชนอยู่ตรงไหน แต่ผลโหวตออกมาอย่างนั้น รัฐบาลไปก้าวก่ายไม่ได้

"ถามว่าเห็นด้วยไหม คงไม่เห็นด้วย ทาง กนง.มีความเป็นอิสระในการดำเนินนโยบายด้านการเงิน แต่เราเองก็อยากเห็น อย่างที่ผมเคยเรียนและที่นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกฯ และ รมว.พาณิชย์เคยบอกว่า เราอยากเห็นนโยบายการเงินการคลังเดินไปด้วยกัน เพราะตอนนี้เงินเฟ้อติดลบติดต่อกัน 4 เดือนแล้ว" นายเศรษฐากล่าว

ถามว่าความเห็นต่างระหว่างฝ่ายบริหารกับฝ่ายปฏิบัติที่ออกมาแบบนี้ การเดินหน้าบริหารนโยบายจะทำให้มีอุปสรรคอะไรหรือไม่ นายกฯ กล่าวว่า มีอุปสรรคก็ต้องแก้ไขกันไปทุกๆ เรื่อง.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง