"ภูมิธรรม" หยาม "ก้าวไกล" ยิ่งยุบยิ่งโตแค่วาทกรรม ขอให้อยู่กับความจริง ย้ำ ม.112 ยังเถียงกันไม่จบ ไม่ควรยัดใส่ พ.ร.บ.นิรโทษกรรม เย้ยข้อเสนอ “ปิยบุตร” ลดอำนาจศาล รธน. แค่ความเห็นนัก กม.ต้องให้สภาตัดสิน "ก้าวไกล" ย้ำจุดยืน พ.ร.บ.นิรโทษกรรมต้องรวม ม.112 ลั่นกฎหมายถูกเขียนขึ้นโดยคนก็ต้องแก้ไขได้ ศาล สั่งจำคุก 4 เดือน "ธนาธร-พิธา-ปิยบุตร-พรรณิการ์" กับพวกรวม 8 คน คดีแฟลชม็อบปี 62 รอลงอาญา 2 ปี จ่ออุทธรณ์ต่อไป แอมเนสตี้จี้รัฐบาล “ปล่อยทนายอานนท์-นักกิจกรรมทางการเมือง"
ที่ทำเนียบรัฐบาล เมื่อวันที่ 5 กุมภาพันธ์ นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.พาณิชย์ ในฐานะแกนนำพรรคเพื่อไทย (พท.) ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีมีการวิเคราะห์กันว่าหากยุบพรรคก้าวไกล (ก.ก.) จะทำให้เหมือนยิ่งยุบยิ่งโตว่า ยิ่งยุบยิ่งโตเป็นเพียงวาทกรรม จะยุบแล้วจะโต จะยุบแล้วจะเล็ก หรือจะอะไรต่างๆ ต้องขึ้นอยู่กับข้อเท็จจริง ตนว่าอย่าไปคาดการณ์อะไร เพราะตอนนี้จะยุบหรือไม่ยังไม่รู้ หากจะยุบจะยุบแบบไหน ทุกอย่างมีปัจจัย ย้ำว่ายิ่งยุบยิ่งโตเป็นแค่วาทกรรม อย่าให้ความสำคัญมาก เราให้ความสำคัญกับความเป็นจริงดีกว่า
ผู้สื่อข่าวถามว่า ในคณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญพิจารณาศึกษาแนวทางการตราพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) นิรโทษกรรม จะพิจารณาเกี่ยวกับความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 หรือไม่ เพราะศาลรัฐธรรมนูญได้วางหลักในเรื่องนี้ไว้ นายภูมิธรรมกล่าวว่า ต้องนำคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญมาดู หากชัดเจนว่าการพูดถึงหรือดำเนินการเรื่องนี้เป็นเรื่องการล้มล้างการปกครอง ก็ชัดเจนว่ามติศาลรัฐธรรมนูญผูกพันทุกองค์กร เราคงต้องดูรายละเอียด
เมื่อถามว่า พรรคเพื่อไทยมีจุดยืนต่อประเด็นความผิดตามมาตรา 112 อย่างไร นายภูมิธรรมกล่าวว่า จุดยืนเรื่องมาตรา 112 ของ พท.ชัดเจน เราพูดมาตั้งแต่ต้นว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องที่สามารถก่อให้เกิดความขัดแย้งใหม่ได้ เพราะมีประชาชนหลายส่วนเห็นต่างกัน จุดยืนของเราคือ เรื่องอะไรที่มีความอ่อนไหวที่จะนำไปสู่ความขัดแย้งรอบใหม่และยังมีความเห็นต่างกัน ต้องหาข้อสรุปให้ได้ก่อน ถ้ายังหาข้อสรุปไม่ได้ไม่ควรหยิบยกขึ้นมา พท.ชัดเจน จะเห็นว่าในการเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญเราจึงไม่แตะเรื่องมาตรา 112 จนกว่าทุกอย่างจะชัด และเชื่อว่าถ้ายังคงเป็นเช่นนี้ไม่ควรไปแตะต้อง
"เพราะสถาบันพระมหากษัตริย์อยู่นอกเหนือการเมือง เมื่อสภาพสังคมเป็นเช่นนี้ไม่ควรหยิบยกเรื่องนี้ขึ้นมาและไปกระทบกระเทือนสถาบัน และหน้าที่ของรัฐบาลขณะนี้คือชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชน ปัญหาวิกฤตประเทศ วิกฤตเศรษฐกิจ ที่ต้องสนใจและแก้ปัญหา ผมเคยตอบกระทู้ของนายชัยธวัช ตุลาธน สส.บัญชีรายชื่อ และหัวหน้าพรรคก้าวไกล ที่ถามในเรื่องนี้ว่าทำไมต้องไปหมกมุ่นเรื่องนี้ ทำไมไม่มาสนใจเรื่องที่จะแก้ปัญหาให้ประชาชน"
เมื่อถามถึงกรณีนายปิยบุตร แสงกนกกุล เลขาธิการคณะก้าวหน้า เสนอให้แก้ไข พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญเพื่อลดขอบเขตการทำหน้าที่ของศาลรัฐธรรมนูญ นายภูมิธรรมกล่าวว่า นายปิยบุตรเป็นนักกฎหมายต้องไปถามรายละเอียดกับนายปิยบุตร ตนเป็นนักรัฐศาสตร์ไม่เข้าใจรายละเอียดที่นายปิยบุตรพูด และยังไม่ได้เห็นรายละเอียดดังกล่าว แต่คิดว่าทุกอย่างต้องมีเหตุผลรองรับ กลไกทางการเมืองทั้งหมดเป็นเรื่องของหลักการอยู่แล้ว คือการกระจายอำนาจและรับผิดชอบซึ่งกันและกัน ตรวจสอบถ่วงดุลซึ่งกันและกัน อีกทั้งยังเป็นเรื่องของสภา ความเห็นคนใดคนหนึ่งไม่ใช่สาระที่จะต้องเอามาเป็นเรื่องที่สังคมต้องเอามาดำเนินการ หากมีความเห็นอะไรก็เสนอเข้าสภา ถ้าสภาพิจารณาอย่างไรถือเป็นความเห็นของตัวแทนประชาชน
เมื่อถามย้ำว่า ส่วนตัวเห็นว่าศาลรัฐธรรมนูญมีอำนาจมากไปหรือไม่ นายภูมิธรรมกล่าวว่า ตนยังไม่ได้ดูรายละเอียด แต่คิดว่าท่านก็ทำหน้าที่ของท่าน ทุกองค์กรมีหน้าที่ตามสถานการณ์ ตามเงื่อนไข หากเหมาะสมก็ดำเนินการไป เป็นที่ยอมรับ แต่หากมีปัญหาก็จะหยิบยกขึ้นมา และต้องไปพิจารณาต่อว่าจะจัดการอย่างไรให้เหมาะสม แต่ส่วนตัวมองว่าโดยพลวัตของการเปลี่ยนแปลง ทุกองค์กรทุกหน่วยงานสามารถเปลี่ยนแปลงได้ตามสถานการณ์ที่เกิดขึ้น คงต้องไปรอดูตรงนั้น
ก.ก.ย้ำนิรโทษคดี ม.112
ที่รัฐสภา นายกรุณพล เทียนสุวรรณ สส.บัญชีรายชื่อ และรองโฆษกพรรคก้าวไกล ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีที่สภาผู้แทนราษฎรมีมติตั้ง กมธ.วิสามัญพิจารณาศึกษาแนวทางการตราร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ที่หลายฝ่ายออกมาแสดงความไม่เห็นด้วย เนื่องจากมีการรวมคดีเกี่ยวกับ ป.อาญา มาตรา 112, คดีทุจริต และคดีอาญาต่างๆ ว่า เราต้องมีการถกเถียงหาข้อยุติในข้อสงสัยของแต่ละพรรค ซึ่งความเห็นอาจจะมีการเปลี่ยนแปลงได้ แต่หากไม่เปลี่ยนเราก็ยังยืนยันในหลักการว่า การนิรโทษกรรมควรรวมความผิดมาตรา 112 ไปด้วย แต่ไม่รวมผู้ก่อการทั้งหลายที่เป็นแกนนำ เพราะเห็นว่ามีหลายกรณีที่ถูกแจ้งข้อหามาตรา 112 สุดท้ายในบั้นปลายศาลก็ยกฟ้องให้ผู้ถูกกล่าวหา
"หากเราจะนิรโทษกรรมคดีทางการเมืองทั้งหมด เราจะเห็นว่าคดี 112 ในช่วงสองปีที่ผ่านมา ก็เป็นการเรียกร้องที่มีการลงถนน หรือบางคนมีการพูดบางคำที่ทำให้ผู้ใหญ่บ้านเมืองนี้มีความไม่สบายใจ เราจำเป็นที่จะต้องยืนยันในหลักการนี้"
เมื่อถามว่า มองว่าการตั้ง กมธ.ขึ้นมาศึกษาเรื่องนี้เป็นการถ่วงเวลาให้พรรคหรือไม่ นายกรุณพลกล่าวว่า ไม่ได้เป็นการถ่วงเวลา แต่ย้ำว่าคดีทางการเมืองควรต้องรวมมาตรา 112 ด้วย หากสุดท้ายต้องลงมติและเราไม่สามารถโน้มน้าวให้มีความเห็นแบบเดียวกับเราได้ ก็ถือว่าเรายังยืนอยู่ในจุดยืนที่ต้องการชี้ให้สังคมเห็นว่า ทำไมต้องการให้มาตรา 112 รวมอยู่ในกฎหมายนิรโทษกรรม เพื่อเป็นความเข้าใจในอนาคต กฎหมายสามารถเปลี่ยนแปลงได้ ให้คนได้ฟังว่ากฎหมายมาตรา 112 คือการกลั่นแกล้งทางการเมือง
เมื่อถามว่า ก.ก.จะต้องมีความระมัดระวังมากขึ้นหรือไม่ เนื่องจากศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยให้ยุติการกระทำที่เกี่ยวข้องกับมาตรา 112 นายกรุณพลกล่าวว่า จริงๆ ไม่ต้องระมัดระวัง เพราะศาลเองก็ได้บอกว่ามาตรา 112 สามารถแก้ให้เพิ่มหรือลดโทษได้ในสภา ซึ่ง ก.ก.เป็นพรรคการเมือง เรามีหน้าที่ฝ่ายนิติบัญญัติที่สามารถแก้ไขกฎหมายล้าหลังให้ทันสมัย ที่ไม่เป็นธรรมให้เกิดความเป็นธรรมให้เกิดขึ้นในยุคปัจจุบันได้
“มาตรา 112 ก็เป็นกฎหมายที่มีคนเขียนขึ้น ไม่ได้ลอยลงมาจากฟ้า ในเมื่อคนเขียนขึ้น คนก็ต้องแก้ไขได้" นายกรุณพลกล่าว
ที่ศาลแขวงปทุมวัน ถนนนครไชยศรี ศาลนัดฟังคำพิพากษาในคดีหมายเลขดำที่ 767/2563 ที่พนักงานอัยการคดีศาลแขวง 6 (ปทุมวัน) เป็นโจทก์ยื่นฟ้อง น.ส.ณัฏฐา มหัทธนา, นายพริษฐ์ ชิวารักษ์, นายธนวัฒน์ วงค์ไชย, นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ, นายปิยบุตร แสงกนกกุล, น.ส.พรรณิการ์ วานิช, นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ และนายไพรัฏฐโชติก์ จันทรขจร เป็นจำเลย 1-8 ในความผิด ตาม พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะฯ, ร่วมกันเป็นผู้จัดการชุมนุมสาธารณะโดยไม่แจ้งการชุมนุมต่อผู้รับแจ้งก่อนเริ่มการชุมนุมไม่น้อยกว่า 24 ชั่วโมง, ร่วมกันเป็นผู้จัดการชุมนุมสาธารณะในรัศมี 150 เมตรจากพระบรมมหาราชวังฯ, ร่วมกันเป็นผู้จัดการชุมนุมสาธารณะโดยกีดขวางทางเข้าออกหรือรบกวนการปฏิบัติงานหรือการใช้บริการสถานีรถไฟ, ร่วมกันเป็นผู้จัดการชุมนุมสาธารณะโดยไม่ดูแลและรับผิดชอบการชุมนุมสาธารณะไม่ให้เกิดการขัดขวางเกินสมควรต่อประชาชนที่จะใช้ที่สาธารณะฯ, ร่วมกันเป็นผู้จัดการชุมนุมสาธารณะก่อให้เกิดความไม่สะดวกแก่ประชาชนที่จะใช้ที่สาธารณะอันเป็นที่ชุมนุม หรือทำให้ผู้อื่นได้รับความเดือดร้อนเกินที่พึงจะคาดหมายได้ฯ, พ.ร.บ.ควบคุมการโฆษณาโดยใช้เครื่องขยายเสียงฯ
จากกรณีที่กลุ่มจำเลยร่วมในการชุมนุมแฟลชม็อบ บริเวณสกายวอล์กสี่แยกปทุมวัน หน้าหอศิลปวัฒนธรรมกรุงเทพมหานคร เมื่อวันที่ 14 ธ.ค. 2562 ภายหลังคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) มีมติยื่นศาลรัฐธรรมนูญยุบพรรคอนาคตใหม่ คดีกู้ยืมเงินจากนายธนาธร 191 ล้านบาท และจำเลยยังได้สลับกันขึ้นปราศรัยในการชุมนุม
คุก 2 ด. 'ธนาธร-พิธา' กับพวก 8 คน
โดยในวันนี้จำเลยเดินทางมาศาลพร้อมทนายความ
ศาลพิเคราะห์แล้วเห็นว่า เมื่อจำเลยประกาศเชิญชวนผู้ชุมนุมมาร่วมชุมนุมผ่านเฟซบุ๊กและทวิตเตอร์ของกลุ่มจำเลยเอง ย่อมรู้อยู่แล้วว่าหากประกาศโพสต์เชิญชวนจะต้องมีประชาชนมาร่วมชุมนุมจำนวนมาก ดังนั้นจำเลยจึงเป็นผู้จัดการชุมนุมโดยแบ่งหน้าที่กันทำ ศาลเห็นว่าจำเลยไม่สามารถรับผิดชอบต่อการชุมนุมไม่ให้กีดขวางการสัญจรของประชาชนต่อระบบขนส่งสาธารณะ และการชุมนุมอยู่ในเขตพระราชฐาน ใกล้กับพระราชวังสระปทุมฯในระยะ 150 เมตร พิพากษาจำคุกจำเลยทั้ง 8 จำนวน 4 เดือน ปรับ 10,000 บาท เมื่อพิเคราะห์อายุ ประวัติสถานะทางสังคม ความมีชื่อเสียงและมีผู้ติดตามจำนวนมาก จำเลยไม่เคยต้องโทษจำคุกมาก่อน และการชุมนุมเป็นการแสดงออกแสดงความคิดเห็นทางการเมืองไม่ใช่อาชญากรรมร้ายแรง เห็นควรให้รอลงอาญาเป็นเวลา 2 ปี
ส่วนกรณีที่จำเลยไม่แจ้งการชุมนุมและใช้เครื่องขยายเสียงโดยไม่ได้รับอนุญาต เป็นความผิดตาม พ.ร.บ.ปรับพินัย ศาลสั่งปรับ 20,200 บาท
นายกฤษฎางค์ นุตจรัส ทนายความศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ในฐานะทนายความ กล่าวว่า จำเลยยังติดใจในประเด็นเรื่องของระยะ 150 เมตรของเขตมาตรฐานว่าวัดจากจุดไหน ซึ่งพฤติการณ์ดังกล่าวมีการ เทียบเคียงกับคดีอื่นที่มีการชุมนุมสถานที่เดียวกัน จุดเดียวกัน ซึ่งศาลอาญากรุงเทพฯ ใต้เคยมีคำพิพากษายกฟ้องข้อหาชุมนุมใกล้เขตพระราชฐานในระยะ 150 เมตร ทั้งที่เป็นการชุมนุมจุดเดียว ตนเคารพคำพิพากษาศาล แต่เคารพข้อเท็จจริงมากกว่า ส่วนอัยการจะอุทธรณ์ขอให้ลงโทษสถานหนักกว่าเดิมหรือไม่ต้องถามทางอัยการ
ส่วนนายพิธากล่าวว่า จากการหารือกับจำเลยคนอื่นว่าจะต้องยื่นอุทธรณ์คดีเพราะมีประเด็น ข้อเท็จจริงเรื่องของระยะของการชุมนุมใกล้เขตพระราชฐาน ว่าอาจจะมีความคลาดเคลื่อนของ 150 เมตรว่าวัดจากจุดไหน เพื่อให้เป็นบรรทัดฐานกับคดีอื่นๆ การที่ศาลตัดสินในลักษณะนี้ ไม่ทำให้พรรคก้าวไกลเสียเครดิตทางการเมือง เนื่องจากประชาชนมีความเข้าใจในข้อเท็จจริง อยากโฟกัสเรื่องงาน
ด้านนายปิยบุตรกล่าวว่า คดีนี้มีหลายประเด็นในการยื่นอุทธรณ์ต่อ พร้อมเทียบเคียงกับคดีปิดสนามบิน มีผลกระทบจำนวนมากและเป็นความผิดชัดเจน แต่ศาลพิจารณาสั่งปรับคนละ 20,000 บาท เป็นเหตุผลที่จะต้องอุทธรณ์คดีเพื่อให้ศาลสูงพิจารณา ส่วนเรื่องความไม่เหมาะสมของกฎหมาย ก็อยากจะฝากให้พรรคก้าวไกลไปพิจารณาแก้ไขในสภาต่อไป
วันเดียวกัน ที่ศาลแขวงปทุมวัน ถ.นครไชยศรี ศาลอ่านคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์ ในคดีหมายเลขดำ 653/2566 ที่พนักงานอัยการสูงสุดเป็นโจทก์ฟ้องนายพริษฐ์ ชิวารักษ์ หรือเพนกวิน จำเลยที่ 1 และ น.ส.จุฑาทิพย์ ศิริขันธ์ หรืออั๋ว จำเลยที่ 2 ในความผิดต่อพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน คดีจากการจัดกิจกรรม #Saveวันเฉลิม ทวงความเป็นธรรมให้กับการบังคับสูญหายวันเฉลิม สัตย์ศักดิ์สิทธิ์ บริเวณหน้าหอศิลป์กรุงเทพฯ เมื่อวันที่ 5 มิ.ย. 63
จี้ปล่อยนักโทษการเมือง
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษาว่า จำเลยทั้ง 2 มีความผิดตาม พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 มาตรา 9(2), 18 ประกอบมาตราประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83 ให้จำคุกจำเลยทั้งสองคนละ 2 เดือน และปรับคนละ 10,000 บาท จำเลยที่ 2 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 368 วรรคหนึ่ง อีกกระทงหนึ่ง ปรับ 2,000 บาท รวมจำคุกจำเลยที่ 2 มีกำหนด 2 เดือน และปรับ 12,000 บาท โทษจำคุกให้รอการลงโทษมีกำหนด 2 ปี
จำเลยทั้ง 2 อุทธรณ์
โดยศาลพิจารณาว่า ที่ศาลชั้นต้นพิพากษานั้น ศาลอุทธรณ์เห็นพ้องด้วย อุทธรณ์ของจำเลยทั้งสองทุกข้อฟังไม่ขึ้น พิพากษายืน
เมื่อเวลา 10.40 น. กลุ่มแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย ร่วมกับเครือข่ายนิรโทษกรรมประชาชน ได้นำ 7,301 รายชื่อมารวมตัวกันบริเวณหน้ากระทรวงศึกษาธิการ ถ.ราชดำเนินนอก เพื่อยื่นหนังสือที่ศูนย์รับเรื่องราวร้องทุกข์ของรัฐบาล 1111 ถ.พิษณุโลก ฝั่งตรงข้ามทำเนียบรัฐบาล โดยนางปิยนุช โคตรสาร ผอ.แอมเนสตี้ฯ ได้ยื่นหนังสือผ่านนายสมคิด เชื้อคง รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ฝ่ายการเมือง เพื่อเรียกร้องถึงนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและ รมว.การคลัง รวมถึง พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง รมว.ยุติธรรม
โดย ผอ.แอมเนสตี้แถลงการณ์ข้อเรียกร้องถึงรัฐบาลไทย 3 ข้อ คือ 1.ปล่อยตัวนายอานนท์โดยทันทีอย่างไม่มีเงื่อนไข รวมทั้งให้ยกเลิกคำตัดสินว่ามีความผิด และการดำเนินคดีใดๆ ต่อนายอานนท์และบุคคลอื่นๆ รวมทั้งเด็ก ซึ่งถูกดำเนินคดีเพียงเพราะการใช้สิทธิมนุษยชนของตน 2.ระหว่างที่ยังไม่ยกเลิกคำตัดสินว่ามีความผิดและการดำเนินคดี ต้องอนุญาตให้นายอานนท์และนักกิจกรรมคนอื่นมีสิทธิได้รับการปล่อยตัวชั่วคราว และประกันว่าเงื่อนไขการประกันตัวจะไม่เป็นการจำกัดโดยพลการต่อการใช้สิทธิของตนโดยสงบ และ 3.แก้ไข เพิ่มเติม หรือยกเลิกกฎหมายที่ถูกใช้เพื่อจำกัดสิทธิที่จะมีเสรีภาพในการแสดงออก และการชุมนุมโดยสงบ
ด้านนายสมคิดกล่าวว่า จะนำหนังสือดังกล่าวส่งให้นายกฯ และ รมว.ยุติธรรมเพื่อพิจารณา รวมถึงจะส่งไปยัง กมธ.วิสามัญพิจารณาศึกษาแนวทางการตรา พ.ร.บ. นิรโทษกรรม สภาผู้แทนราษฎร ที่จะมีการประชุมนัดแรกวันที่ 8 ก.พ.นี้ เพื่อพิจารณาตามข้อเรียกร้องดังกล่าวต่อไป.
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
ทอน-เท้งไม่กล้าแตะแม้ว ร้องกกต.ซื้อเสียง52เรื่อง
“อิทธิพร” ยืนยันความพร้อมเลือกตั้งสมาชิก-นายก อบจ.
งบปี69ยึด3เป้า ย้ำขรก.ใช้คุ้มค่า คัด‘ปธ.ธปท.’อืด
นายกฯ มอบนโยบายจัดทำงบปี 69 วาง 3 เป้าหมาย ไม่ลดสัดส่วนนักลงทุน-ไม่เพิ่มงบ-ไม่เพิ่มอัตรากำลัง
สภาไฟเขียว‘สุราชุมชน’ ตีปี๊บซอฟต์พาวเวอร์ไทย
มติสภาเอกฉันท์ 415 เสียง ไฟเขียว "กม.สุราชุมชน" เปิดโอกาสเกษตรกรรายย่อยผลิต-มีเครื่องกลั่นสุรา
อิ๊งค์หวิดโดนตุ๋น/3ทุนใหญ่งาบ
อึ้ง! "นายกฯ อิ๊งค์" หวิดโดนคอลเซ็นเตอร์หลอกโอนเงิน
ลากทักษิณขึ้นเขียง แพทยสภาเปิดวอร์รูมตรวจเวชระเบียนชั้น14เร่งจบมี.ค.
แพทยสภาเข็นนักโทษเทวดาขึ้นเขียง “หมออมร” เปิดวอร์รูมนัดแรกตรวจเอกสารลับ
27ม.ค.โอนเงินหมื่นเฟส2 คลังยันคุยธปท.ดันศก.โต
นายกฯ สรุปทิศทางทำงบปี 69 ย้ำต้องตอบโจทย์พัฒนาประเทศ