"ดิเรกฤทธิ์" ตำหนิรัฐบาลดึงเวลาอภิปราย ม.153 ปลาย มี.ค. ข้องใจหรือรอ สว.หมดวาระ จ่อถาม "พรเพชร" ทำไมยอมให้เขาต่อรอง "คำนูณ" จี้ รบ.ทบทวนวันซักฟอกเร็วกว่า 18 มี.ค.เชื่อจะเป็นประโยชน์ ชี้ยังมีเวทีซักฟอกของ สส.-แก้ รธน.และอีกหลายเรื่องรุมล้อม วิป รบ.อ้างเลื่อนเร็วขึ้นได้แค่ 18 มี.ค. “หมออำพล” ฉะ “พัชรวาท” เทตอบกระทู้ 4 ครั้ง “วันชัย” ซัดเป็นเรื่องน่าอาย ไม่ให้เกียรติวุฒิสภา
ที่รัฐสภา เมื่อวันที่ 5 กุมภาพันธ์ นายดิเรกฤทธิ์ เจนครองธรรม สมาชิกวุฒิสภา (สว.) ในฐานะรองประธานคณะกรรมาธิการการพัฒนาการเมืองและการมีส่วนร่วมของประชาชน วุฒิสภา กล่าวถึงกรณีที่รัฐบาลตอบรับการอภิปรายทั่วไปแบบไม่ลงมติตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 153 ในช่วงหลังวันที่ 15 มี.ค.เป็นกรอบเวลาที่เหมาะสมหรือไม่ ว่า อยากจะตำหนิรัฐบาล ว่าการใช้สิทธิของวุฒิสภาเพื่อเปิดอภิปรายเป็นประโยชน์ต่อรัฐบาลและประชาชน เป็นการใช้อำนาจตามรัฐธรรมนูญที่ระบุอยู่ในมาตรา 171 ถ้าท่านจะปฏิเสธการทำหน้าที่ของวุฒิสภา โดยเห็นว่าการทำหน้าที่ในฝ่ายบริหารและทำตามนโยบายอื่นๆ สำคัญกว่าเรื่องนี้ คิดว่าน่าจะไม่ถูกต้อง ละเลยความสำคัญของการทำหน้าที่ตามรัฐธรรมนูญ ซึ่งรัฐบาลจำเป็นต้องมาชี้แจงทั้งคณะร้ฐมนตรี (ครม.)
"เรื่องที่เราเปิดอภิปรายทั้ง 7 ประเด็น นานวันเข้าข้อมูล ข้อเรียกร้อง ข้อสงสัยมากมายของประชาชนได้เกิดขึ้น ถ้าปล่อยให้มีการดำเนินการในบางเรื่อง อาจจะสร้างความเสียหายให้แก่ประเทศชาติอย่างแก้ไขไม่ได้ เพราะฉะนั้นวุฒิสภาเห็นว่า มีเรื่องที่สำคัญเพียงพอที่จะเปิดอภิปราย มีความสุกงอมมากพอ และจำเป็นต้องเท่าทันกับห้วงเวลาที่จะเกิดปัญหา เรามีเหตุมีผล เรายกร่างหนังสือมาและทำตามเงื่อนไขตามรัฐธรรมนูญทุกประการ ดังนั้นการที่รัฐบาลจะมาตอบเราปลายเดือน มี.ค.เป็นต้นไป หรือปล่อยให้เราหมดวาระการดำรงตำแหน่งนั้น ไม่ควรกระทำ เพราะเป็นการละเลยการทำหน้าที่ที่ดีของรัฐบาลของประชาชน“ นายดิเรกฤทธิ์กล่าว
ถามว่า มองว่าเป็นการดึงเวลาเพื่อให้กระแสเบาลงไปหรือไม่ นายดิเรกฤทธิ์กล่าวว่า ก็เป็นเหตุผลที่ประชาชนคลางแคลงสงสัยเหมือนกัน การดึงเวลาไว้ไม่ได้มีประโยชน์ต่อรัฐบาลเลย มีแต่ผลเสีย เพราะเป็นหน้าที่ที่รัฐบาลต้องให้ความสำคัญกับระบบรัฐสภาและตัวแทนของประชาชน เมื่อวุฒิสภาทำหน้าที่เหล่านี้ รัฐบาลต้องวางเรื่องอื่น รัฐบาลต้องให้ความสำคัญและมาตอบแถลงข้อเท็จจริง แถลงปัญหา ข้อจำกัด เพื่อหาวิธีจัดการกับเรื่องที่รัฐบาลจะขับเคลื่อนให้เกิดประโยชน์สูงสุดแก่ประชาชน สำหรับเวลาที่ให้รัฐบาลอภิปรายตามที่ทำหนังสือเป็นลายลักษณ์อักษรไป คือ 2 วัน จันทร์และอังคารในเดือน ก.พ. ซึ่งก็มีหลายสัปดาห์ ดังนั้นท่านจะต้องยินยอมพร้อมใจหาวันให้เรา บรรจุลงระเบียบวาระ
"เป็นเรื่องที่น่าตำหนิ หากท่านเห็นว่ามีเรื่องอื่นที่สำคัญกว่า แล้วให้เวลาเราปลายมีนาคม ซึ่งท่านก็ไม่แน่ใจด้วยซ้ำ เป็นเพียงข่าวจากแกนนำของรัฐบาล ไม่ได้ให้ตามคำขอของเรา ถ้าเกิดท่านติดภารกิจอีกมันจะไปเดือน เม.ย.ใช่หรือไม่ แล้วเปิดไม่ได้ติดสมัยประชุม ก็จะถึงวิธีการที่ไม่ต้องมาอธิบายเลยใช่หรือไม่“ นายดิเรกฤทธิ์กล่าว
เมื่อถามถึงกรณีที่ประธานวุฒิสภายังไม่บรรจุระเบียบวาระเป็นเรื่องเร่งด่วน นายดิเรกฤทธิ์กล่าวว่า ตนอยากจะถามนายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธานวุฒิสภา เหมือนกัน ว่าทำไมถึงยอมให้รัฐบาลเขาต่อรองเราได้ เพราะเรากำหนดไปแล้ว หากเขาไม่มาเราก็อภิปรายข้างเดียวไปเลย ก็ถือว่าไม่ปฏิบัติหน้าที่ตามรัฐธรรมนูญ
นายคำนูณ สิทธิสมาน สว. กล่าวเช่นกันว่า โดยปกติการเสนอญัตติให้รัฐมนตรีมาชี้แจงเป็นเรื่องที่มีความสำคัญ และต้องเร่งด่วนพอสมควร ถ้าทิ้งเวลาไปช่วงเดือน มี.ค.หรือวันที่ 18 มี.ค. แม้สามารถทำได้ แต่ถ้ารัฐบาลจะทบทวนให้ใกล้กว่าช่วงนั้นน่าจะเป็นประโยชน์ ซึ่งเชื่อว่าวิป 2 ฝ่ายจะพูดคุยหารือตกลงกันให้ได้ เพราะช่วงเวลาจากนี้ไปจะมีหลายเรื่องรุมล้อมเข้ามา ทั้งในส่วนสภาผู้แทนราษฎรจะอภิปรายไม่ไว้วางใจแบบลงมติ หรืออภิปรายทั่วไปโดยไม่ลงมติหรือไม่ และยังมีการประชุมร่วมรัฐสภาในวันที่ 16 ก.พ.เพื่อพิจารณาร่าง พ.ร.บ.แก้ไขรัฐธรรมนูญ 2 ฉบับ และยังมีผู้ยื่นแก้มาตรา 256 รวมไปถึงการยื่นแก้ไข พ.ร.บ.ว่าด้วยการลงประชามติเพื่อแก้ปัญหาเรื่องเสียงข้างมาก 2 ชั้น หากมีวาระเหล่านี้การอภิปรายของ สว.ในประเด็นเดียวกันก็อาจจะน้อยลง
ส่วนการเปิดให้ สว.มาลงชื่อเพื่อกำหนดกลุ่มอภิปรายหัวข้อในวันนี้ (5 ก.พ.) นั้น นายคำนูณกล่าวว่า ต้องรอดูกำหนดเวลาก่อน ถ้าได้เวลาอภิปรายเพียง 1 วัน ก็มีจำนวนชั่วโมงที่ต้องมาหารเวลากัน ซึ่งมีทั้ง สว.ที่ลงและไม่ลงชื่ออาจอภิปรายไม่ได้ทุกคน เพราะเมื่อแบ่งเวลากันแล้วอาจจะเหลืออภิปรายคนละ 5-7 นาที หรือไม่เกิน 10 นาที
วันเดียวกัน ในการประชุมวุฒิสภา มีนายศุภชัย สมเจริญ รองประธานวุฒิสภา คนที่สอง เป็นประธานการประชุม ในการพิจารณากระทู้ถามเป็นหนังสือ 2 เรื่อง กระทู้แรกเรื่องมาตรการสวมหมวกนิรภัยในเด็กทั่วประเทศ แต่เนื่องจากนายเกรียง กัลป์ตินันท์ รมช.มหาดไทย ติดภารกิจสำคัญจึงขอเลื่อนการตอบกระทู้ออกไป กระทู้ที่สอง เรื่องการจัดสรรพื้นที่ป่าชายเลนให้เอกชนปลูกป่าชายเลน เพื่อประโยชน์จากคาร์บอนเครดิต โดย นพ.อำพล จินดาวัฒนะ สว.ถาม พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ รองนายกฯ และ รมว.ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ซึ่งเป็นเรื่องที่เลื่อนจากการประชุมวุฒิสภาเมื่อวันที่ 8 ม.ค. 67 แต่พล.ต.อ.พัชรวาทติดภารกิจสำคัญไม่สามารถมาตอบกระทู้ได้ จึงขอเลื่อนการถามกระทู้ออกไปวันที่ 4 มี.ค. 67
นพ.อำพลกล่าวว่า ตนได้ตั้งกระทู้ถาม รมว.ทรัพยากรฯ เพื่อให้รัฐมนตรีมาตอบ โดยตั้งกระทู้นี้ตั้งแต่สมัยประชุมที่แล้ว และบรรจุวาระครั้งแรกวันที่ 16 ต.ค. 66 และ รมว.ทรัพยากรฯ แจ้งว่าติดภารกิจสำคัญ ขอเลื่อนตอบเป็นวันที่ 30 ต.ค. 66 ซึ่งเป็นวันสุดท้ายของสมัยประชุม แต่ถึงวันดังกล่าว รมว.ทรัพยากรฯ ก็ขอเลื่อนอีกเป็นครั้งที่ 2 มาสมัยประชุมนี้กระทู้นี้ได้บรรจุวันที่ 8 ม.ค. 67 แต่ รมว.ทัพยากรฯ ก็แจ้งติดภารกิจสำคัญ ขอเลื่อนออกไปอีก 1 เดือน คือมาตอบในวันนี้ ( 5 ก.พ.) แต่ก็อ้างว่าติดภารกิจสำคัญขอเลื่อนออกไปอีก จะขอตอบในวันที่ 4 มี.ค. 67 ซึ่งตนไม่อยากจะให้สังคมและประชาชนเข้าใจว่า รัฐมนตรีซื้อเวลาหรือไม่ในการเลื่อนตอบกระทู้ไปถึง 4 ครั้งแล้ว จะรอปิดสมัยประชุมเลยใช่หรือไม่
นายวันชัย สอนศิริ สว. กล่าวว่า ตนรู้สึกตั้งแต่เปิดสมัยประชุมแล้วว่า รัฐบาลชุดนี้ไม่ให้ความสำคัญกับวุฒิสภา ทั้งๆ ที่เป็นรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งทั้งนั้น แล้วได้มีการพูดกันในที่ประชุมวิป ซึ่งมีตัวแทนของรัฐบาลคือ นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รองนายกฯ ร่วมประชุมด้วย ซึ่งนายสมศักดิ์รับปากว่าได้ไปประสานงานในที่ประชุม ครม.แล้ว และยืนยันว่านายกฯ แจ้งให้รัฐมนตรีทุกคนทราบ ถ้าไม่ติดภารกิจใดๆ ต้องมาตอบกระทู้ในที่ประชุมวุฒิสภา แต่ดูเหมือนการประสานงานนั้นสักแต่พูดกัน แต่ไม่ได้ปฏิบัติตาม
"เป็นเรื่องน่าอาย น่าเกลียดอย่างยิ่ง เพราะฉะนั้นเอาความน่าอายตรงนี้ส่งไปยังนายกฯ และรัฐมนตรีทุกคน ก็พยายามนั่งดูว่าทำไมเลื่อนแล้วเลื่อนอีกหลายครั้ง แสดงว่าเขาไม่ให้เกียรติวุฒิสภาเลย ถือว่าท่านก็ไร้เกียรติต่อการที่จะมาตอบกระทู้แค่นี้ ทั้งที่เป็นประโยชน์กับรัฐบาล ผมคนหนึ่งที่เป็น สว.ขอประณามต่อการกระทำอย่างนี้" นายวันชัยกล่าว
นายครูมานิตย์ สังข์พุ่ม สส.สุรินทร์ ในฐานะรองประธานวิปรัฐบาล กล่าวถึงเรื่องกรอบเวลาอภิปรายที่ ครม.ให้ สว.ดูจะล่าช้าไปว่า ถ้าดูเนื้อหากันจริงๆ ก็ไม่รู้ว่าจะมาอภิปรายเรื่องอะไร และเป็นครั้งแรกด้วย ตั้งแต่รัฐธรรมนูญปี 60 ที่ สว.ขออภิปรายรัฐบาลโดยใช้รัฐธรรมนูญมาตรา 153 และใช้ข้อบังคับของวุฒิสภา 171 ซึ่งเป็นสิทธิ แต่หากถามว่าช้าไปหรือไม่ก็ไม่ถึงกับช้า ก็ต้องเห็นใจนายกรัฐมนตรีและ ครม. เนื่องจากต่างคนต่างมีภารกิจที่จะแก้ปัญหา ดังที่ทราบว่านายกฯ ก็ไม่ได้พักผ่อนเลยจนล้มป่วย เพราะท่านพยายามที่จะแก้ปัญหาในทุกมิติ
ถามว่า จะเป็นไปได้หรือไม่ที่จะขยับวันอภิปรายให้เร็วขึ้น นายครูมานิตย์กล่าวว่า คงจะลำบาก เพราะเท่าที่ทราบน่าจะเป็นวันที่ 20 มี.ค.นี้ ถ้าขยับให้เร็วขึ้นก็คงจะเป็นวันที่ 18 มี.ค. ซึ่งตอนนี้รัฐบาลก็ส่งเรื่องมาให้วิปรัฐบาลได้พิจารณาถึงเรื่องจำนวนเวลา ส่วนเรื่องวันก็เป็นเรื่องของ ครม. วิปไม่สามารถไปตอบแทนได้ ส่วนเรื่องของเวลาวิปอาจจะเสนอว่า ให้พิจารณาจากเนื้อหาสาระว่าต้องใช้เวลาเท่าไหร่ ที่จะให้วุฒิสมาชิกอภิปรายและสอบถาม ในเบื้องต้นคิดว่าจะใช้เวลา 13 ชั่วโมง โดยใช้เวลาภายใน 1 วัน โดยให้เวลา สว. 10 ชั่วโมง รัฐบาลอีก 3 ชั่วโมง รัฐบาลมีความจำเป็นที่จะต้องใช้เวลามากกว่านั้นในการตอบ.
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
แฉระบบเด็กฝาก ทำลายองค์กรตร. ดับฝัน‘ดาวฤกษ์’
เช็ก 41 รายชื่อแต่งตั้งนายพลสีกากี ระดับรอง ผบ.ตร.-ผบช.
ยธ.เมินแจงกมธ. ปมนักโทษเทวดา รพ.ตำรวจชั้น14
ชั้น 14 น่าพิศวง "โรม" กวักมือเรียก “ทักษิณ” ไปสภา เข้าแจง กมธ.มั่นคงฯ
แจกเฟส2เอื้อเลือกอบจ. เตือนร้องถอดถอนครม.
นายกฯ โชว์วิชั่น Forbes ยันไทยสงบ สันติ หวังแม้รัฐบาลเปลี่ยน
ฟ้อง9บิ๊กมท.ทุจริตที่เขากระโดง
เรื่องถึงศาล "ณฐพร" ฟ้องกราวรูด "บิ๊ก ขรก.มหาดไทย"
ลุ้นศาลรับคดีล้มล้าง ตุลาการถก6ประเด็น‘ทักษิณ-พท.’/ดันแก้ประชามติไม่รอ180วัน
"ทักษิณ-พท." ระทึก! 9 ตุลาการศาล รธน.ยืนยันนัดประชุมวาระพิเศษ 22 พ.ย.นี้
สั่งประหารชีวิต ‘แอม ไซยาไนด์’ คุกผัวเก่า-ทนาย
ศาลพิพากษาประหารชีวิต "แอม ไซยาไนด์" วางยาฆ่าก้อย พร้อมชดใช้ 2.3 ล้าน