แถลงแจกดิจิทัล1หมื่น เงินเฟ้อยังลดต่อเนื่อง

“จุลพันธ์” จ่อแถลงเรื่องดิจิทัลวอลเล็ตแบบละเอียด 6 ก.พ.นี้ “ภูมิธรรม” ท่องคาถาต้มยำกุ้งมาแน่หากไม่มีการดำเนินการ พาณิชย์เปิดตัวเลขเงินเฟ้อลดต่อเนื่องเดือนที่ 4 และต่ำสุดในรอบ 35 เดือน ชี้ยังไม่เข้าสู่ยุคเงินฝืด “เศรษฐา-จุลพันธ์” ประสานเสียงถล่มแบงก์ชาติ  นโยบายดอกเบี้ยต้องยึดโยงประชาชนมากกว่าเสถียรภาพ

เมื่อวันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2567 นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง เดินทางเข้าพบนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ที่ห้องทำงานบนตึกไทยคู่ฟ้า เพื่อหารือเรื่องโครงการแจกเงินดิจิทัลวอลเล็ต 10,000 บาท

ต่อมาเวลา 14.30 น. นายเศรษฐาเดินลงมาที่หน้าตึกไทยคู่ฟ้าก่อนกล่าวถึงเรื่องนี้ว่า เรียบร้อย เดี๋ยวไว้ถึงเวลาสมควรแล้วจะบอกว่าเรื่องอะไร 

เมื่อถามย้ำว่าเป็นข่าวดีหรือไม่ นายกฯ กล่าวว่า เป็นขั้นตอนในการทำงาน 

ถามถึงกรณีนายจุลพันธ์ระบุว่าต้องรอความเห็นของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ  (ป.ป.ช.) หรือไม่ นายกฯ กล่าวว่า ต้องทำงานคู่ขนานกันไป เดี๋ยวนายจุลพันธ์คงบอกเรื่องการนัดหมายประชุมคณะกรรมการนโยบายโครงการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่าน Digital Wallet

เมื่อถามย้ำว่า ไม่จำเป็นต้องถามไปยัง ป.ป.ช.ใช่หรือไม่ นายกฯ กล่าวว่าถามไปแล้ว ก็เดี๋ยวคอยอยู่ ท่านคงมีข้อเสนอแนะออกมา ไม่อยากไปอะไรทั้งสิ้น ก็ทำงานไป และทราบว่าประชาชนคอยอยู่

ด้านนายจุลพันธ์กล่าวว่า ยังไม่มีข้อสรุปเกี่ยวกับโครงการเงิน Digital Wallet เนื่องจากยังอยู่ระหว่างรอหนังสือจาก ป.ป.ช. แต่รัฐบาลยังเชื่อมั่นว่าจะสามารถตอบข้อสังเกต ตอบคำถามในประเด็นต่างๆ ของ ป.ป.ช. ได้อยู่แล้ว ซึ่งวันนี้ได้หารือกับนายกฯ เกี่ยวกับโครงการดังกล่าว ก็มีข้อเสนอที่ได้นำไปพูดคุย แต่รายละเอียดยังไม่สามารถบอกได้ ขอเปิดเผยรายละเอียดในวันที่ 6 ก.พ. 2567 ก่อนการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) 

 “สถานการณ์เศรษฐกิจของประเทศไทยตอนนี้ ตัวเลขเศรษฐกิจมันชี้ชัด มันหนักขึ้นเรื่อยๆ กลไกในการกระตุ้นเศรษฐกิจระยะสั้นที่ต้องทำก็มีความจำเป็น ส่วนจะสามารถทำได้เร็วแค่ไหนนั้น แน่นอนว่าในมุมของรัฐบาลถือว่าเป็นเรื่องเร่งด่วน แต่ก็ต้องรับฟังให้รอบด้าน และการดำเนินการต้องอยู่ภายใต้กรอบของกฎหมาย ซึ่งเมื่อมีความเป็นห่วงหรือข้อห่วงใยมาจากบางส่วนงาน เช่น ป.ป.ช.  รัฐบาลก็ต้องรับฟัง และต้องไปทำความชัดเจนในเรื่องที่ ป.ป.ช.เป็นห่วงมาให้มันจบ” นายจุลพันธ์กล่าว

นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกฯ และ รมว.พาณิชย์ย้ำว่า เวลานี้เรายังอยู่ในช่วงวิกฤตอยู่ ยังไม่ขึ้นมาจากศูนย์เลย เพราะฉะนั้นสถานการณ์เป็นอย่างนี้ เผยให้เห็นว่ายังมีวิกฤติหลายเรื่อง ซึ่งสิ่งที่น่าเป็นห่วงที่สุดคือวิกฤติทางการเงิน เพราะเคยส่งผลกระทบกระเทือนมาแล้ว อย่างในช่วงวิกฤตต้มยำกุ้งปี 2540 พอเรารู้เข้าก็พังทลายทั้งระบบ และเท่าที่ดูนักการเงินก็เป็นห่วงเรื่องนี้ และดูได้จากปัญหาหุ้นกู้

“หากปล่อยเรื่องนี้จนเกิดวิกฤตขึ้นอย่างในช่วงต้มยำกุ้ง จะส่งผลเสียหายอย่างรุนแรงต่อประเทศ ผมอยากให้ทุกคนที่อยากต่อต้านการกระทำของรัฐบาลให้คำนึงถึงจุดนี้ด้วย นักเศรษฐศาสตร์หลายคนบอกว่าถ้าไม่ทำอะไรตอนนี้เลย โอกาสเกิดต้มยำกุ้งจะตามมา หน่วยงานต้องดูว่าการคาดการณ์นี้น่าเชื่อถือหรือไม่ และหากเป็นจริงจะเกิดอะไรขึ้น หากมากเกินกว่าจะเสี่ยงได้ก็ต้องตัดสินใจในทางที่ทำไป แต่หากยังคัดค้านกันอีกก็ไม่ว่ากัน ทุกคนมีสิทธิ์แสดงความเห็น แต่หากเกิดเหตุการณ์เลวร้ายก็อยากให้คนที่คัดค้านรับผิดชอบ” นายภูมิธรรมกล่าว

วันดียวกัน นายพูนพงษ์ นัยนาภากรณ์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) แถลงตัวเลขดัชนีราคาผู้บริโภค (เงินเฟ้อทั่วไป) เดือน ม.ค. 2567 ว่าเท่ากับ 106.98 เทียบกับ ธ.ค. 2566  เพิ่มขึ้น 0.02% เทียบกับเดือน ม.ค. 2566 ลดลง 1.11% ลดลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 4 ติดต่อกัน และต่ำสุดในรอบ 35 เดือน นับจาก ก.พ. 2564 โดยมีปัจจัยสำคัญมาจากมาตรการลดค่าใช้จ่ายด้านพลังงานของภาครัฐ ประกอบกับราคาสินค้าในกลุ่มอาหารสดยังคงลดลงต่อเนื่องจากเดือนที่ผ่านมา โดยเฉพาะผักสดและเนื้อสัตว์  เนื่องจากมีปริมาณผลผลิตเข้าสู่ตลาดเพิ่มขึ้น รวมทั้งฐานราคาเดือน ม.ค. 2566 ที่ใช้คำนวณเงินเฟ้อค่อนข้างสูง มีส่วนทำให้อัตราเงินเฟ้อลดลง ขณะที่สินค้าและบริการอื่นๆ ราคาเคลื่อนไหวในทิศทางปกติ

“เรื่องเงินฝืดมีคำถามมา 2-3 เดือนแล้ว ก็อย่างที่บอกมันเป็นตัวชี้วัดหนึ่ง ที่บอกว่าลบติดต่อกัน 3 เดือน เป็นเงินฝืด แต่ก็ต้องไปดูว่าสินค้าส่วนใหญ่ลดลงหรือเปล่า ก็มีสูงขึ้น ลดลง คงที่ และยังต้องไปดูที่เงินเฟ้อ มันเฟ้อโดยตัวของมันเองหรือมีกลไกแทรกแซง ซึ่งมีการแทรกแซง โดยเฉพาะนโยบายลดค่าครองชีพ ทั้งน้ำมัน ค่าไฟฟ้าที่เป็นตัวหลัก สรุปคือยังไม่ฝืด ยังไม่น่าเป็นห่วง” นายพูนพงษ์กล่าว

นายเศรษฐาทวีตข้อความผ่าน x ระบุว่า การที่เงินเฟ้อติดลบมา 4 เดือนติดต่อกัน ย่อมเป็นสัญญาณความอ่อนแอทางเศรษฐกิจอย่างหนึ่ง และเป็นการเตือนให้รู้ว่านโยบายการคลังซึ่งเป็นหน้าที่ของรัฐบาล และนโยบายการเงินที่เป็นหน้าที่ของแบงก์ชาติจะต้องสอดประสานและเดินไปด้วยกัน ถ้าต่างคนต่างทำคงจะแก้ปัญหาได้ยาก

ด้านนายจุลพันธ์กล่าวเรื่องนี้ว่า แม้การติดลบของอัตราเงินเฟ้อนั้นส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากนโยบายด้านพลังงานของรัฐบาล ซึ่งก็ถูกต้อง แต่ว่าอัตราเงินเฟ้อก็ยังอยู่ในระดับต่ำจนน่าเป็นห่วง ซึ่งหลักๆ มองว่าเป็นผลมาจากประชาชนขาดกำลังซื้อ กำลังซื้อหดหาย ขณะเดียวกันสถานการณ์ตัวเลขหนี้ก็ยังอยู่ในระดับสูง ส่งผลให้อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจลดต่ำลง

 “ตอนนี้กำลังซื้อของประชาชนมันหดหาย บวกกับสถานการณ์ตอนนี้ที่ตัวเลขหนี้สูง ทั้งหนี้ภาคครัวเรือน ทำให้ประชาชนไม่ใช้จ่าย เพราะเป็นห่วงเรื่องการแก้ไขปัญหาหนี้สินของตัวเอง ขณะที่ภาคเอกชนเองก็ไม่ลงทุนเพราะประชาชนไม่ใช้จ่าย มันก็ทำให้อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจต่ำ” นายจุลพันธ์กล่าว

รมช.การคลังกล่าวอีกว่า สถานการณ์ปัจจุบันเรื่องอัตราดอกเบี้ยต้องยอมรับว่ายังเป็นภาระต่อประชาชนอยู่มาก ซึ่งการประชุมของคณะกรรมการนโยบายการเงิน  (กนง.) ในวันที่ 7 ก.พ. 2567 ก็เป็นอำนาจของ กนง. ที่จะพิจารณาเรื่องอัตราดอกเบี้ยนโยบาย ส่วนตัวคงไม่อยากเข้าไปพูด แต่ที่ผ่านมารัฐบาลก็พูดชัดเจนอยู่แล้วว่า  อยากให้ส่วนงานที่เกี่ยวข้องโดยเฉพาะเรื่องอัตราดอกเบี้ย  ได้มีความเชื่อมโยงนโยบายให้ใกล้กับประชาชนมากขึ้นกว่านี้ จะห่วงแต่เรื่องเสถียรภาพอย่างเดียวไม่ได้

“ตรงนี้เราพูดชัดอยู่แล้ว ว่าอยากให้ส่วนงานที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะเรื่องดอกเบี้ยมีความเชื่อมโยงใกล้กับประชาชนให้มากขึ้น จะห่วงแต่เสถียรภาพอย่างเดียวคงไม่ได้ ตอนนี้ระบบสถาบันการเงินแข็งแกร่งมาก ดูจากผลกำไรที่ออกมาสะท้อนว่าเขาแข็งแกร่งแล้ว แต่ปัญหาคือผลกระทบที่เกิดกับประชาชน ตรงนี้เป็นอีกมิติหนึ่ง ในเรื่องการทำงานนั้นนโยบายการเงินและนโยบายการคลังจะต้องสอดคล้องสอดประสานกัน” นายจุลพันธ์กล่าว.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง