จี้ปปช.เร่งฟัน44สส. เรืองไกรกางข้อกฎหมาย! เด็กก.ก.รู้ชะตาลุยทำงาน

เด็กก้าวไกลบอกไม่กังวลเรื่องล้มล้าง แต่ต้องเร่งเครื่องทำงานให้จบภายใน 3 เดือน! ราเมศเตือนก้าวไกลคุมด้อมส้ม ชี้คดีศาลรัฐธรรมนูญไม่ได้ปั้นแต่งขึ้นมาเองแต่มีผู้ร้อง “เรืองไกร” จัดเต็มไล่เรียงข้อกฎหมายไล่บี้ ป.ป.ช.เร่งดำเนินการเรื่องจริยธรรม 44 สส. “ปริญญา” ชี้ไม่มีทางที่รัฐธรรมนูญจะเป็นฉบับสุดท้าย “ดร.เจษฎ์” เตือนสติสังคม หากอยากได้ รธน.ฉบับประชาแท้จริง กฎหมายก็ต้องเป็นกฎหมาย ไม่ว่าจะเป็นยุบพรรค ก.ก.และนักโทษชั้น 14 ต้องเข้าคุก 

เมื่อวันอาทิตย์ที่ 4 ก.พ.2567 ยังคงมีความต่อเนื่องในกรณีศาลรัฐธรรมนูญมีมติเอกฉันท์วินิจฉัยการกระทำของนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ อดีตหัวหน้าพรรคก้าวไกล (ก.ก.) และพรรคก้าวไกล ที่เสนอแก้ไขประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 และใช้ในการรณรงค์หาเสียงเลือกตั้ง เป็นการใช้สิทธิหรือเสรีภาพเพื่อล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข โดยนายชยพล สท้อนดี สส.กทม. พรรค ก.ก. กล่าวถึงเสียงสะท้อนของประชาชนในพื้นที่ว่า ยังไม่ได้คุยเรื่องนี้กับชาวบ้านเท่าไร แต่เท่าที่ฟังก็มีบ้างว่าไม่ค่อยพอใจสักเท่าไร แต่ชาวบ้านในพื้นที่กำลังใจยังดี

เมื่อถามว่า คุยกันในพรรคเรื่องยุบพรรคหรือไม่ และชาวบ้านถามเรื่องยุบพรรคหรือไม่ นายชยพลตอบว่า ในพรรคยังไม่ได้คุยกันเป็นเรื่องราว คิดว่าต้องโฟกัสงานก่อน อย่าไปพะวงเรื่องอะไรที่เหนือการควบคุม เดี๋ยวจะเสียงานสำคัญตอนนี้ เช่น เรื่องกรรมาธิการงบประมาณ 2567 เรื่องยุบพรรคไม่กลัว หรือซีเรียส มองว่าอีกด้านหนึ่งอาจดีเสียยิ่งกว่าอีก ถ้ามีเหมือนกำหนดเวลาที่ชัดเจนจากเดิมต้องทำงานครบ 4 ปีเต็ม ก็ใส่ให้เต็มแบบระเบิดระเบ้อมากกว่าเดิมให้ทันภายใน 3 เดือน

นายชยพลยังกล่าวถึงกรณี 44 สส.พรรคก้าวไกล ที่เคยเซ็นรับรองเสนอแก้ไข 112 อาจโดนตัดสิทธิ์ทางการเมืองในอนาคต นายชยพลยอมรับว่า ในฐานะ สส.หน้าใหม่ ทำงานไม่ถึง 1 ปี ก็หวั่นไหวบ้าง เพราะ สส.ที่มีประสบการณ์คอยแนะนำเรื่องการทำงานเราอย่างดีตลอด แต่เรื่องนี้ไม่เห็นมีใครจะใจฝ่อ ทุกคนที่เข้ามาเป็น สส.พรรคก็ถือว่าขาแข็งพอตัวอยู่แล้ว พร้อมรับสถานการณ์

เมื่อถามว่า คิดว่าผู้มีอำนาจกล้ายุบพรรคก้าวไกลหรือไม่ นายชยพลตอบว่า มันสุดเกินกว่าจะเดาใจจริงๆ คิดว่าการไปเดาใจก็ไม่มีประโยชน์อะไรด้วย เรารู้แล้วว่าเรื่องที่จะเกิดขึ้นมันไม่ซ้ายก็ขวา  เราเตรียมเผื่อสำหรับสิ่งที่แย่ที่สุด และยังทำงานต่อไป

ด้านนายราเมศ รัตนะเชวง โฆษกพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) กล่าวถึงกรณีความเคลื่อนไหวของพรรค ก.ก.หลังศาลมีคำวินิจฉัยว่า ขอเรียกร้องให้หยุดการแสดงความคิดเห็นที่มีลักษณะเป็นการให้ร้ายโจมตีศาลรัฐธรรมนูญ ในสื่อสังคมออนไลน์มีการโพสต์ข้อความในลักษณะการปลุกปั่นในลักษณะไม่ยอมรับคำตัดสินของศาลรัฐธรรมนูญ  เป็นการกระทำที่ไม่ควรเกิดขึ้น นี่คือหลักการพื้นฐานในการเคารพกระบวนการยุติธรรม

“คดีที่ศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัย  แน่นอนมีทั้งคนที่พอใจและไม่พอใจ มีทั้งคนชนะและคนที่แพ้คดี แต่ทุกคนต้องน้อมรับคำตัดสินของศาล ไม่เช่นนั้นหลักการของบ้านเมืองเดินต่อไปไม่ได้ คดีที่นายพิธาชนะได้กลับเข้าสู่สภา โห่ร้องไชโย พออีกคดีพรรคก้าวไกลแพ้ มีมวลชนโดยเฉพาะในสังคมออนไลน์กลับด่าทอ โจมตีศาลรัฐธรรมนูญอย่างเสียหาย พอชนะรูดซิปใส่กระเป๋าเงียบกริบ พอแพ้กลับทำตรงกันข้ามกัน แกนนำต้องอธิบายมวลชนให้เข้าใจ อย่าส่งเสริมให้ท้าย” นายราเมศกล่าว

ย้ำศาล รธน.ไม่ได้นั่งปั้นคดี

นายราเมศกล่าวอีกว่า คดีที่ศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัย ศาลไม่ได้เริ่มต้นตั้งต้น หรือนั่งปั้นแต่งข้อเท็จจริง แต่เกิดขึ้นจากการมีผู้มาร้อง ศาลพิจารณาตามข้อเท็จจริงอย่างละเอียด ผู้ถูกร้องมีโอกาสชี้แจงข้อเท็จจริง นำพยานหลักฐานต่อสู้คดีได้อย่างเต็มที่ การโดนโจมตีให้ร้ายย่อมไม่เป็นธรรมต่อศาลรัฐธรรมนูญ บ้านเมืองหากไม่ยอมรับกระบวนการ ก็จะมีแต่ความขัดแย้งไม่จบสิ้น การวิจารณ์คำวินิจฉัยสามารถทำได้ แต่ต้องกระทำโดยสุจริต และที่สำคัญต้องไม่ใช้ถ้อยคำที่หยาบคาย เสียดสี โจมตีด้วยข้อมูลที่บิดเบือน ระวังหากวิจารณ์ในลักษณะละเมิดศาลก็จะถูกดำเนินคดี

วันเดียวกัน นายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ สมาชิกพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) ระบุว่า ได้ส่งหนังสือทางไปรษณีย์ด่วนพิเศษ (อีเอ็มเอส) เพื่อขอให้คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) รีบนำคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ณ วันที่ 31 ม.ค.2567 มาตรวจสอบเพิ่มเติมว่า สส.พรรคก้าวไกล จำนวน 44 คน มีพฤติการณ์จงใจปฏิบัติหน้าที่หรือใช้อำนาจขัดต่อบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ หรือฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติมาตรฐานทางจริยธรรมอย่างร้ายแรง ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 234 (1) หรือไม่ และต้องเสนอเรื่องต่อศาลฎีกาตามความในพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2561 มาตรา 87 หรือไม่

ทั้งนี้ หนังสือของนายเรืองไกรได้ระบุเป็นข้อๆ ว่า 1.เมื่อวันที่ 29 ก.ย.2564  เคยร้องขอให้ ป.ป.ช.ตรวจสอบ สส.พรรคก้าวไกล จำนวน 44 คน ว่ามีพฤติการณ์จงใจปฏิบัติหน้าที่หรือใช้อำนาจขัดต่อบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ หรือฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมอย่างร้ายแรง ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 234 (1) หรือไม่

2.เมื่อวันที่ 18 ม.ค.2565 สำนักงาน ป.ป.ช. ได้มีหนังสือที่ ปช 0019/0142 เรื่อง ชี้แจงผลการตรวจสอบข้อเท็จจริง ที่ระบุไว้บางส่วน ว่ากรณีดังกล่าวมีข้อเท็จจริงว่าเมื่อวันที่ 10 ก.พ.2564 ผู้ถูกร้องกับคณะ ได้เสนอร่าง พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่..) พ.ศ..... (แก้ไขเกี่ยวกับความผิดฐานหมิ่นประมาท) ซึ่งสำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรได้ตรวจสอบพบข้อบกพร่องและได้แจ้งให้ผู้ถูกร้องทราบ โดยผู้ถูกร้องได้มีหนังสือแจ้งขอถอนการเสนอร่าง พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่..) พ.ศ..... ดังกล่าว ต่อมาเมื่อวันที่ 25 มี.ค.2564 ผู้ถูกร้องกับคณะได้เสนอร่าง พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่..) พ.ศ..... เป็นครั้งที่สอง ซึ่งสำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรได้เสนอความเห็นต่อประธานสภาผู้แทนราษฎร จำนวน 2 ครั้ง

ปัจจุบันร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้อยู่ระหว่างการดำเนินการตามดำริของนายสุชาติ ตันเจริญ รองประธานสภาคนที่หนึ่ง ซึ่งปฏิบัติหน้าที่ประธานสภาฯ ที่ให้สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรแจ้งผู้เสนอ (ผู้ถูกร้อง) ให้แก้ไขข้อบกพร่องตามข้อบังคับการประชุมสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ.2562 ข้อ 111 ที่กำหนดว่า ร่าง พ.ร.บ.ที่มีผู้เสนอตามมาตรา 133 ของรัฐธรรมนูญให้ประธานสภาฯ ทำการตรวจสอบ และหากมีข้อบกพร่อง ให้ประธานสภาฯ แจ้งผู้เสนอทราบภายใน 7 วันนับแต่วันที่ได้รับ ซึ่งสำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรได้แจ้งให้ผู้ถูกร้องทราบแล้ว เมื่อวันที่ 22 ธ.ค.2567 ดังนั้นร่าง พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่..) พ.ศ..... จึงยังไม่ได้รับการอนุญาตให้บรรจุระเบียบวาระการประชุมสภา และยังไม่ได้จัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นและวิเคราะห์ผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นจากร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ ตามข้อบังคับการประชุมสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ.2562 ข้อ 110 วรรคสี่ ร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้จึงยังไม่มีผลบังคับใช้เป็นกฎหมาย ซึ่งกรณีการร่าง พ.ร.บ.ที่ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยนั้น ไม่พบว่ารัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 และข้อบังคับการประชุมสภามีการกำหนดบทลงโทษผู้เสนอร่างกฎหมายในเรื่องนี้ไว้เป็นการเฉพาะแต่อย่างใด

ไล่เรียงกฎหมายไล่บี้ 44 สส.

3.วันที่ 31 ม.ค.2567 ตามข่าวสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ ที่ 5/1567 ได้เผยแพร่ผลคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญว่า ศาลรัฐธรรมนูญโดยมติเอกฉันท์ วินิจฉัยว่า การกระทำของผู้ถูกร้องทั้งสองเป็นการใช้สิทธิหรือเสรีภาพเพื่อล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 49 วรรคหนึ่ง และสั่งการให้ผู้ถูกร้องทั้งสองเลิกการแสดงความคิดเห็น การพูด การเขียน การพิมพ์ การโฆษณา และการสื่อความหมายโดยวิธีอื่นเพื่อให้มีการยกเลิกประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 อีกทั้งไม่ให้มีการแก้ไขประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ด้วยวิธีการซึ่งไม่ใช่กระบวนการทางนิติบัญญัติโดยชอบ ที่จะเกิดขึ้นต่อไปในอนาคตด้วย ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 49 วรรคสอง และพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2561 มาตรา 74

4.คำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญเมื่อวันที่ 31 ม.ค.2567 เป็นกรณีที่มีกล่าวหาเกี่ยวกับการที่ผู้ถูกร้องทั้งสองเสนอร่าง พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่..) พ.ศ.....ด้วย ซึ่งน่าจะเป็นมูลกรณีในทำนองเดียวกันกับคำร้องของตนเอง ซึ่งสำนักงาน ป.ป.ช. ระบุไว้ท้ายหนังสือดังกล่าวส่วนหนึ่งว่า หากยังมีข้อมูลหรือข้อเท็จจริงที่จะสนับสนุนว่าข้อกล่าวหามีรายละเอียดเพิ่มเติมเพียงพอที่จะดำเนินการต่อไป โปรดแจ้งข้อเท็จจริงพร้อมเอกสารหลักฐานที่เกี่ยวข้องไปยังสำนักงาน ป.ป.ช.

5.เนื่องจากมาตรฐานทางจริยธรรมของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ และผู้ดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระ รวมทั้งผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน และหัวหน้าหน่วยงานธุรการของศาลรัฐธรรมนูญและองค์กรอิสระ พ.ศ.2561 ข้อ 3 วรรคสอง ระบุว่า มาตรฐานทางจริยธรรมนี้ให้ใช้บังคับแก่ สส. สว. และคณะรัฐมนตรีตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา 219 วรรคสอง ด้วยหมวด 1 มาตรฐานทางจริยธรรมอันเป็นอุดมการณ์ ข้อ 5 ระบุว่า ต้องยึดมั่นและธํารงไว้ซึ่งการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ข้อ 6 ระบุว่า ต้องพิทักษ์รักษาไว้ซึ่งสถาบันพระมหากษัตริย์  เอกราช อธิปไตย บูรณภาพแห่งอาณาเขตและเขตที่ประเทศไทยมีสิทธิอธิปไตย เกียรติภูมิและผลประโยชน์ของชาติ ความมั่นคงของรัฐ และความสงบเรียบร้อยของประชาชน ข้อ 27 วรรคหนึ่ง ระบุว่าการฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมในหมวด 1 ให้ถือว่ามีลักษณะร้ายแรง

6.ประกอบกับ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2561 มาตรา 87 บัญญัติว่า มาตรา 87 เมื่อคณะกรรมการ ป.ป.ช.ไต่สวนและมีความเห็นว่า ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ หรือผู้ดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระ ฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมอย่างร้ายแรง ให้คณะกรรมการ ป.ป.ช.เสนอเรื่องต่อศาลฎีกาเพื่อวินิจฉัย การเสนอเรื่องต่อศาลฎีกาตามวรรคหนึ่ง และการพิจารณาพิพากษาของศาลฎีกาให้เป็นไปตามระเบียบของที่ประชุมใหญ่ของศาลฎีกาซึ่งต้องกำหนดให้ใช้ระบบไต่สวนและให้ดำเนินการโดยรวดเร็ว ให้นำความในมาตรา 81 และมาตรา 86 มาใช้บังคับด้วยโดยอนุโลม การเสนอเรื่องต่อศาลฎีกาตามวรรคหนึ่ง คณะกรรมการ ป.ป.ช.มีอำนาจมอบหมายให้พนักงาน เจ้าหน้าที่ดำเนินการในศาลแทนได้”

รัฐธรรมนูญฉบับสุดท้ายยาก

และ 7.โดยผลของคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญเมื่อวันที่ 31 ม.ค.2567 จึงควรถือเป็นรายละเอียดเพิ่มเติมเพียงพอที่จะขอให้ ป.ป.ช.ดำเนินการต่อไปได้  กรณีจึงมีเหตุอันควรขอให้ ป.ป.ช.นำคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ ณ วันที่ 31 ม.ค.2567 มาเป็นรายละเอียดเพิ่มเติมเพื่อนำไปประกอบการตรวจสอบว่า สส.พรรคก้าวไกล 44 คน มีพฤติการณ์จงใจปฏิบัติหน้าที่หรือใช้อำนาจขัดต่อบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ หรือฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติมาตรฐานทางจริยธรรมอย่างร้ายแรง ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 234 (1) หรือไม่

วันเดียวกัน มีการจัดเสวนาทางวิชาการ “กับดักรัฐธรรมนูญ กับการพัฒนาประชาธิปไตย” โดย ผศ.ดร.ปริญญา เทวานฤมิตรกุล ผู้อำนวยการศูนย์นิติศาสตร์ คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และ รศ.ดร.เจษฎ์ โทณะวณิก นักวิชาการทางกฎหมาย และประธานหลักสูตรนิติศาสตร์ วิทยาลัยบัณฑิตเอเชีย ร่วมเสวนา ดำเนินรายการโดย น.ส.วทันยา บุนนาค อดีต สส.บัญชีรายชื่อ พรรค ปชป.

ผศ.ดร.ปริญญากล่าวถึงปัญหาในรัฐธรรมนูญว่า หากจำเป็นจะต้องมีรัฐธรรมนูญใหม่ จะต้องหาวิธีการอย่างไร เพื่อทำให้เป็นฉบับสุดท้าย แต่เห็นว่าเป็นไปได้ยาก เพราะต้องให้สังคมเห็นพ้องร่วมกัน ซึ่งหลังเหตุการณ์พฤษภาทมิฬ เกิดการแก้ไขรัฐธรรมนูญครั้งใหญ่ ทำให้เกิดรัฐธรรมนูญ 2540 แต่ก็มีการใช้กลไกนอกรัฐธรรมนูญ หรือการรัฐประหารมาแก้ปัญหาทางการเมือง จนขณะนี้ก็ยังไม่สามารถแก้ปัญหาได้ รวมถึงการแก้ไขรัฐธรรมนูญปัจจุบันในมาตรา 256 ยังทำได้ยาก เพราะต้องใช้เสียง สว. 1 ใน 3 และกลไกอื่นๆ อีก ดังนั้นจึงเห็นว่า เมื่อ สว.ชุดนี้ตามบทเฉพาะกาลของรัฐธรรมนูญจะหมดวาระ โอกาสที่ สว.ชุดใหม่จะเข้ามาปฏิบัติหน้าที่ในช่วงปลายเดือน ก.ค.นี้จะทำให้หน้าต่างการแก้ไขรัฐธรรมนูญเปิดขึ้น และทำให้คนไทยได้มาตกลงกติกาใหม่กันอีกครั้ง

ผศ.ดร.ปริญญากล่าวต่อว่า ส่วนการออกแบบรัฐธรรมนูญ เพื่อหยุดยั้งรัฐประหาร และทำให้เป็นรัฐธรรมนูญฉบับสุดท้ายนั้น การออกแบบรัฐธรรมนูญจะต้องให้ประชาชนเจ้าของประเทศออกแบบ และให้สมดุลระหว่างประชาชน และนักวิชาการ แม้จะเห็นต่างกันในสังคม แต่สังคมก็ต้องอยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญ ไม่ว่าจะเกิดปัญหาการเมืองใดๆ ต้องแก้กันตามระบบ เพราะไม่เช่นนั้นไม่ว่าจะเกิดปัญหาทางการเมืองใดๆ  ก็ต้องกลับมาใช้วิธีการรัฐประหาร และทางการเมือง รัฐธรรมนูญถือเป็นกติการ่วมกันภายใต้ระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข และทุกฝ่ายต้องอยู่ร่วมกันอย่างสันติ จบที่การเลือกตั้ง และรัฐบาลต้องสามารถถูกตรวจสอบได้ ผ่านกลไกการถ่วงดุลอำนาจ และการรัฐประหารในประเทศไทย จะไม่สามารถสำเร็จหากประชาชนไม่ยินยอม พรรคการเมืองไม่ตกต่ำ หรือเสียความชอบธรรม เพราะที่ผ่านมาการรัฐประหารเกิดขึ้น เนื่องจากรัฐบาลเสื่อมความนิยม และเสียความชอบธรรม โดยเฉพาะการรัฐประหาร 2557

กฎหมายต้องเป็นกฎหมาย

ด้าน รศ.ดร.เจษฎ์ ในฐานะอดีตที่ปรึกษากรรมการยกร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) กล่าวว่า ประเทศไทยไม่เคยมีรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน เพราะชนชั้นใดตรากฎหมายก็เพื่อประโยชน์ชนชั้นนั้น  ซึ่งกลไกต่างๆ ที่เกิดขึ้นในการเมืองปัจจุบัน โดยเฉพาะศาลรัฐธรรมนูญก็เกิดขึ้นจากรัฐธรรมนูญ 2540 ที่ได้รับการยกย่องว่าเป็นรัฐธรรมนูญที่ดีที่สุด รวมถึงการออกฤทธิ์เดชของนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรีในปัจจุบันด้วย มั่นใจว่าแม้ สว.ชุดปัจจุบันจะไม่มีอำนาจลงมติเลือกนายกฯ พรรคเพื่อไทยก็จะยังคงเป็นรัฐบาล เพราะพรรคก้าวไกล แม้จะชนะการเลือกตั้ง แต่เสียง สส.ของพรรค ก.ก.ไม่ได้เกินกึ่งหนึ่งที่จะตั้งรัฐบาลได้ และในอดีตจนถึงปัจจุบัน ทหารและนักการเมืองก็จับมือกันทางการเมือง ดังนั้น หากต้องการจะให้เป็นรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน ก็ต้องให้ประชาชนมีส่วนร่วม และกฎหมายต้องเป็นกฎหมาย ไม่ว่าจะต้องยุบพรรค ก.ก. หรือนายทักษิณต้องเข้าคุก ผิดก็ต้องว่าไปตามผิด

รศ.ดร.เจษฎ์กล่าวต่อว่า การออกแบบรัฐธรรมนูญเพื่อไม่ให้มีการรัฐประหารนั้น ไม่สามารถเขียนรัฐธรรมนูญให้ไม่มีรัฐประหารได้ แต่ต้องขึ้นกับประชาชน ที่จะต้องทำให้นักการเมืองเกรงใจ มีโครงสร้างสังคม และโครงสร้างประชาธิปไตยที่ลงตัว จึงจะสามารถแก้ปัญหาดังกล่าวได้ พร้อมเห็นว่า ในอดีตหากรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ยอมลาออก หรือมวลชนที่มาชุมนุมยอมกลับบ้าน เงื่อนไขการรัฐประหารก็ไม่เกิดขึ้น

“ต้องมีภาวการณ์กลไกเดินไปสู่อนาคตร่วมกัน ไม่คิดเพียงว่าตัวอักษรในกฎหมายจะใช้บังคับได้เพียงอย่างเดียว หากยังมีการละเมิดกฎหมาย และบ่อยครั้งที่ประชาชนถามหาทหาร เพราะประชาชนรู้สึกอุ่นใจว่ามีทหารช่วยเหลือในยามประสบภัย ไล่จับโจรได้ ช่วยรักษาความสงบในพื้นที่ชายแดนใต้มากกว่านักการเมือง” รศ.ดร.เจษฎ์ กล่าว

ทั้งนี้ ภายหลังการเสวนาเสร็จสิ้น ผู้เข้าร่วมรับฟังการเสวนายังได้ร่วมกัน Work Shop ออกแบบรัฐธรรมนูญ สู่อนาคตที่ดีกว่า ซึ่งมีทั้งการออกแบบองค์กรอิสระ, ศาลรัฐธรรมนูญ, ระบบการเลือกตั้ง, ระบบสภา, การปกครองท้องถิ่น และการปฏิรูปประเทศ เพื่อร่วมกันออกแบบสถาบันการเมือง ทั้งที่มา, อำนาจ และการถอดถอน เป็นต้น.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

สว.ส่งสัญญาณเบรกแก้รธน.

แก้ รธน. "เพื่อไทย" ตีกรรเชียงหนี "พรรคส้ม" ปักธงเคาะร่างแก้ รธน. 256 ไม่แตะหมวดกษัตริย์ “ชูศักดิ์” ชี้พุ่งเป้าไปที่ ส.ส.ร.เป็นหลัก