แจกเงินหมื่นรอป.ป.ช.!

ดอนเมือง ๐ นโยบายเร่งด่วนแต่เงียบกริบ! ดิจิทัลวอลเล็ตลูกผีลูกคน นายกฯ  อ้างต้องรอ ป.ป.ช.ก่อน บ่นยังไม่มาสักที ขายฝันแบงก์ AIIB พร้อมสนับสนุนการลงทุนแลนด์บริดจ์ เพื่อไทยยันเดินหน้าแจกเงินแน่ เพราะเป็นนโยบายเรือธง   ข้ามหัวแบงก์ชาติ สภาพัฒน์ยกตัวเลข  "ผู้ช่วย ผอ." จีดีพีโตพรวด 4 ปีซ้อน

เมื่อวันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2567 ที่ท่าอากาศยานทหาร 2 กองบิน 6 (บน.6)   ดอนเมือง กรุงเทพฯ นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและ รมว.การคลัง กล่าวถึงความคืบหน้าโครงดิจิทัลวอลเล็ตว่า   จะมีการพูดคุยกับนายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง ซึ่งต้องยอมรับว่าจะต้องรอคำเสนอแนะจากคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.)   ซึ่งก็รอมานานแล้ว ตนคิดว่าต้องมีวิธีการอื่นรองรับ เพราะคำเสนอแนะยังไม่มาสักที พี่น้องประชาชนเขาคอยไม่ได้

ผู้สื่อข่าวถามว่า ทาง ป.ป.ช.รอการดำเนินการชัดเจนจากรัฐบาล และรัฐบาลก็รอข้อเสนอแนะจาก ป.ป.ช. จะทำให้ไทม์ไลน์ขยับไปมากหรือไม่  นายกฯ ตอบว่า ไม่ค่อยแน่ใจว่า ป.ป.ช.รอรัฐบาลเรื่องอะไร จึงต้องขอสอบถามก่อนดีกว่า อย่าให้พูดไปโดยไม่มีข้อมูล   ขอเป็นต้นสัปดาห์หน้า

นายเศรษฐายังให้สัมภาษณ์ถึงการหารือกับประธานธนาคารเพื่อการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานแห่งเอเชีย (AIIB ) ว่า หลายคนอาจจะไม่เข้าใจ แต่แบงก์ AIIB  นั้นเป็นแบงก์ที่ให้การสนับสนุนทางด้านการเงินกับการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานในระดับภูมิภาคค่อนข้างมาก คล้ายๆ  กับธนาคารพัฒนาเอเชีย (เอดีบี) ของญี่ปุ่น ซึ่งจากการพูดคุยกันวันที่ 2 ก.พ.  เขาชอบนโยบายของเรามาก โดยเฉพาะในเรื่องของแลนด์บริดจ์ และตนได้พูดคุยไปคร่าวๆ คือการยกระดับสนามบินทั่วประเทศ ซึ่งตรงนี้เขาก็อยากจะมีส่วนร่วมด้วย ในส่วนของแลนด์บริดจ์ มั่นใจว่าเขาจะเข้ามามีส่วนร่วมอย่างแน่นอน

"ทางธนาคารเขาพร้อมที่จะสนับสนุนหลายๆ ด้าน ไม่ใช่เฉพาะในแง่ของการลงทุนเพียงด้านเดียว รวมทั้งเรื่องของการทำการศึกษาในเบื้องต้นด้วย ในลักษณะที่เป็นองค์กรอิสระที่เข้ามามีส่วนร่วม และนอกเหนือจากเรื่องการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานแล้ว เขาสนใจในเรื่องการศึกษาด้านเทคนิคว่าจะทำอย่างไร เพื่อยกระดับการศึกษาในส่วนของไทยด้วย ซึ่งผมจะจัดเจ้าหน้าที่ไปพูดคุย" นายเศรษฐากล่าว

ด้านนายอนุสรณ์ เอี่ยมสะอาด สส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย ให้สัมภาษณ์ว่า ตอนนี้คณะกรรมการดิจิทัลวอลเล็ตกำลังเดินหน้ารับฟังข้อเสนอจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องที่ร่วมอยู่ในคณะกรรมการฯ ซึ่งได้มีการตั้งคณะทำงานชุดนโยบายดิจิทัลวอลเล็ตขึ้นมาหลายคณะเพื่อให้ฟังความเห็นจากหน่วยงานอย่างครบถ้วน รอบด้าน เช่น  ความเห็นจากธนาคารแห่งประเทศไทย รวมถึง ป.ป.ช. ที่ได้ส่งหนังสือตั้งข้อสังเกตโครงการดังกล่าวมา ขณะนี้อยู่ในขั้นตอนรวบรวมประมวลผลความคิดเห็นของคณะกรรมการฯ ต่อการเดินหน้าโครงการนี้

“นโยบายบายดิจิทัลวอลเล็ตถือเป็นหนึ่งในนโยบายเรือธงของพรรคเพื่อไทย  และเราจะเดินหน้าโครงการนี้ แต่จะเดินหน้าต้องชอบด้วยกฎหมาย ให้ถูกต้อง ไม่ให้มีปัญหาในอนาคต ก็ต้องมีการรัดกุม มีความรอบคอบ แต่จนถึงขณะนี้ขอให้ประชาชนสบายใจได้ว่ารัฐบาลยังคงยืนยันเดินหน้านโยบายดิจิทัลวอลเล็ตนี้ แต่ย้ำว่าต้องเดินหน้าภายใต้กรอบของกฎหมาย” นายอนุสรณ์กล่าว

เมื่อถามว่า กังวลหรือไม่ว่าคะแนนนิยมอาจจะตกไป เพราะความล่าช้าของนโยบาย นายอนุสรณ์ตอบว่า นโยบายของพรรคเพื่อไทยไม่ได้มีแค่นโยบายดิจิทัลวอลเล็ตอย่างเดียว โดยนโยบายที่เป็นเรือธง ไม่ว่าจะเป็นซอฟต์พาวเวอร์ เรื่องสาธารณสุข บัตรประชาชนใบเดียวเชื่อมโยงข้อมูลทั่วไทย รวมถึงผลงานของรัฐบาลที่ดึงดูดนักท่องเที่ยวเข้ามาในประเทศไทย ก็สามารถเดินหน้าไปก่อนได้ ส่วนอะไรที่เกี่ยวข้องกับกฎหมายที่ต้องทำให้ถูก ต้องอาศัยระยะเวลา ทั้งนี้ เชื่อว่าประชาชนจะได้เห็นหลายโครงการที่รัฐบาลทำและประสบความสำเร็จ

 น.ส.วิสาระดี เตชะธีราวัฒน์ สส.เชียงราย พรรคเพื่อไทย กล่าวว่า พรรคเพื่อไทยยังคงเดินหน้าทำนโยบายดิจิทัลวอลเล็ตให้สำเร็จ เพราะประชาชนรากหญ้าคาดหวังกับโครงการนี้มาก โดยจะช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจระดับฐานรากภายในชุมชน จังหวัด จนถึงระดับประเทศ ให้มีเม็ดเงินสะพัด ทำให้เศรษฐกิจหมุนเวียนดีขึ้นจากกำลังซื้อที่มากขึ้น ส่งผลให้คุณภาพชีวิตของประชาชนดีขึ้นตามไปด้วย โดยเฉพาะในพื้นที่จังหวัดเชียงรายที่ตนได้ลงพื้นที่พบปะประชาชนอย่างสม่ำเสมอ ต่างเรียกร้องให้ทำนโยบายให้สำเร็จโดยเร็ว และภาคเอกชนในพื้นที่ก็ตอบรับ และเชื่อมั่นว่าโครงการนี้จะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจ

สำหรับผลการศึกษานโยบายดิจิทัลวอลเล็ตของนายสุวิทย์ สรรพวิทยศิริ และทีมงานเศรษฐศาสตร์นอกขนบ ที่อธิบายเรื่องผลของนโยบายต่อ GDP และต่อหนี้สาธารณะต่อ GDP พบว่านโยบายนี้มีผลสำคัญต่อการกระตุ้นการเติบโตของ GDP ได้ดีที่สุด โดยสามารถกระตุ้นผลของการเติบโต GDP ปี 2567-2570 ได้สูงสุดที่ 4.73%, 5.22%, 5.61% และ 5.54% ตามลำดับ และมีผลกระทบต่อการเพิ่มขึ้นของหนี้สาธารณะต่อ GDP ต่ำสุดด้วย ซึ่งหาก GDP ยังคงถูกปล่อยให้เติบโตต่ำในระดับเพียงแค่ราวๆ 2% เศรษฐกิจของประเทศไทยจะเริ่มมีปัญหาในการดูแลผู้สูงอายุที่นับวันก็จะมีจำนวนคนมากขึ้นทุกปี

น.ส.วิสาระดีกล่าวต่อว่า ความเห็นจากโพลสำรวจต่างๆ พบว่าผลสำรวจของเนชั่นโพลร่วมกับสถาบันอนาคตศึกษาเพื่อการพัฒนา (IFD) ระบุว่าประชาชนเห็นด้วยกับนโยบายเงินดิจิทัลวอลเล็ตคิดเป็น 72.46% โดยส่วนใหญ่เป็นกลุ่มคนรากหญ้า ว่างงาน และรับจ้างทั่วไป ซึ่งเห็นว่านโยบายนี้จะช่วยบรรเทาผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจตกต่ำ มีเงินลงทุนและกระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศได้ ในขณะที่นิด้าโพลพบว่าส่วนใหญ่ 50.08% อยากให้จ่ายดิจิทัลวอลเล็ตทุกกลุ่มโดยไม่ต้องมีเกณฑ์เงินเดือน และผลสำรวจจากมหาวิทยาลัยศรีปทุมร่วมกับดีโหวต (D-vote) พบว่าประชาชนสนับสนุนนโยบายดังกล่าว โดยหวังนำเงินไปใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน

“พรรคเพื่อไทยต้องการดำเนินนโยบายเพื่อประชาชน การที่ประชาชนเรียกร้องเข้ามาทุกวัน ยิ่งเป็นแรงผลักดันให้เรามุ่งหน้าในการดำเนินโยบายให้สำเร็จ ขอให้พี่น้องทุกคนไม่ต้องเป็นห่วง” น.ส.วิสาระดีกล่าว

ส่วนนายราเมศ รัตนะเชวง โฆษกพรรคประชาธิปัตย์ ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีที่รัฐบาลออกมาระบุว่าโครงการเงินดิจิทัลวอลเล็ตเป็นเครื่องมือในการแก้วิกฤตประเทศว่า ในกรณีนี้มองได้ 2 มุม คือในส่วนที่รัฐบาลได้ประกาศเป็นนโยบายหลักของพรรคร่วมรัฐบาล จะต้องมีการผลักดันให้เกิดโครงการนี้ให้ได้มากที่สุด ซึ่งพรรคประชาธิปัตย์มองว่า ถ้ารัฐบาลประกาศไปแล้ว และดำเนินการได้ เราก็ไม่ขัดข้อง เพราะถือเป็นนโยบายของพรรคการเมือง แต่เราก็ต้องท้วงติงว่า ที่บอกว่าเศรษฐกิจวิกฤตนั้น วิกฤตจริงหรือไม่

เขาบอกว่า รัฐบาลต้องฟังความคิดเห็นอย่างรอบด้าน ไม่ว่าจะเป็นข้อท้วงติงจากทุกภาคส่วน ทั้งคณะกรรมการกฤษฎีกา ที่ได้ให้ความเห็นในเรื่องข้อกฎหมาย ซึ่งรัฐบาลก็จะต้องตระหนักในข้อคิดเห็นของกฤษฎีกา แต่ส่วนที่จะต้องใช้ดุลยพินิจว่าเศรษฐกิจถึงขั้นวิกฤตจนต้องออกเป็นกฎหมาย พ.ร.บ.กู้เงินฯ หรือไม่ เราก็ต้องยอมรับว่าไม่ใช่อำนาจหน้าที่ของกฤษฎีกา และมีกรอบในการทำงานของข้อกฎหมาย

ส่วนในเรื่องการพิจารณาความจำเป็นในการกู้เงิน รัฐบาลต้องตัดสินใจภายใต้ข้อมูลและข้อเท็จจริงอย่างรอบด้าน การที่ผู้ว่าฯ แบงก์ชาติให้ความเห็นถือเป็นสิ่งที่ดี แม้จะมีความเห็นไม่ตรงกันกับรัฐบาล แต่เชื่อว่าการให้ความเห็นดังกล่าวยึดมั่นในผลประโยชน์ของประชาชนและประเทศ

“ถ้ารัฐบาลตั้งธงเพียงอย่างเดียว ไม่รับฟังเสียงสะท้อนจากประชาชนและหน่วยงานต่างๆ ก็จะทำให้เป็นนโยบายที่สร้างความเสียหายให้กับประเทศได้”

นายราเมศกล่าวว่า ในกระบวนการตรวจสอบของสภา พรรคประชาธิปัตย์ก็ยังคงตรวจสอบเรื่องนี้อยู่ว่าจะไปในทิศทางใด และต้องดูว่ารัฐบาลจะกำหนดแนวทางเดินหน้าไปในทิศทางอย่างไร เพราะทอดเวลามานานพอสมควร ส่วนจะคัดค้านนโยบายนี้หรือไม่ ต้องมาดูจุดหมายปลายทางว่าจะไปทิศทางไหน  และต้องรับฟังความเห็นของทุกฝ่าย และมองว่าไม่มีองค์ไหนต้องการเตะตัดขารัฐบาล.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง