WHOย้ำ ‘โอมิครอน’ ถล่มโลก

โอมิครอนถล่มหนักทั่วโลก WHO เผยระบาดแล้ว 110 ประเทศทั่วโลก ย้ำยังไม่สามารถบอกได้แน่ชัดถึงความรุนแรงของเชื้อตัวนี้ ขณะที่เที่ยวบินถูกยกเลิกไปแล้วมากกว่า 4,500 เที่ยวบินทั่วโลก จับตาอเมริกาทุบสถิติระบาดรายวัน เกาหลีใต้เกิดสภาวะผู้ป่วยล้นโรงพยาบาลแล้ว 

องค์การอนามัยโลก (WHO) ออกแถลงการณ์เมื่อวันที่ 25 ธันวาคม 2564 ว่า ไวรัสโควิด-19 สายพันธุ์โอมิครอนถูกพบแล้วใน 110 ประเทศทั่วโลก และยังคงแพร่กระจายอย่างทวีคูณ โดยมีหลายพื้นที่ที่พบผู้ติดเชื้อรายใหม่เพิ่มขึ้นเป็นสองเท่าในระยะเวลาแค่เพียง 2-3 วัน

จากข้อมูลล่าสุดที่มีอยู่ มีหลักฐานที่แสดงให้เห็นว่าไวรัสโควิด-19 สายพันธุ์โอมิครอนมีความได้เปรียบในการแพร่กระจายเชื้อมากกว่าสายพันธุ์เดลตา โดยพบว่าเชื้อไวรัสสายพันธุ์ใหม่กำลังแพร่กระจายอย่างรวดเร็วในประเทศที่มีรายงานพบการระบาดในชุมชน

แถลงการณ์ของ WHO ยังเผยว่า มีแนวโน้มการเติบโตของการแพร่ระบาดในแอฟริกาใต้กำลังลดลง เนื่องจากพบอัตราการติดเชื้อลดลงในจังหวัดเคาเต็ง ซึ่งเป็นที่ตั้งของเมืองโจฮันเนสเบิร์ก อย่างไรก็ตาม ยังไม่สามารถบอกได้ว่าอัตราการติดเชื้อที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วในช่วงเดือนพ.ย.ที่ผ่านมานั้น เป็นเพราะเชื้อไวรัสสามารถหลบหลีกภูมิคุ้มกันได้ หรือมีการแพร่เชื้อในชุมชนเกิดขึ้นตามธรรมชาติในช่วงเวลานั้นพอดี ซึ่งมีความเป็นไปได้ที่จะเกิดจากทั้งสองสาเหตุรวมกัน

แม้ข้อมูลเบื้องต้นจากแอฟริกาใต้, สหราชอาณาจักร และเดนมาร์ก จะแสดงให้เห็นว่าโอไมครอนมีความเสี่ยงที่จะทำให้ผู้ติดเชื้อต้องเข้ารักษาตัวในโรงพยาบาลต่ำกว่าเดลตา แต่นี่เป็นเพียงบางแง่มุมที่ยังไม่สามารถบอกได้แน่ชัดถึงความรุนแรงของเชื้อตัวนี้ ซึ่งอาจสามารถเปลี่ยนแปลงได้หากมีข้อมูลใหม่ๆ เข้ามาเพิ่มเติม

WHO ย้ำว่า ข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับไวรัสโอมิครอนในตอนนี้ยังคงมีอยู่อย่างจำกัด และยังไม่หลักฐานที่แน่ชัดเกี่ยวกับความสามารถในการหลบหลีกภูมิคุ้มกันของไวรัสตัวนี้ โดยยกตัวอย่างถึงกรณีที่พบการติดเชื้อซ้ำเพิ่มขึ้นในสหราชอาณาจักร, เดนมาร์ก และอิสราเอล ซึ่งจำเป็นที่จะต้องอาศัยการเก็บข้อมูลเพิ่มเติมมาทำการศึกษาด้วยความระมัดระวังต่อไป

สำนักข่าวต่างประเทศรายงานว่า ชาวอเมริกันจำนวนมากยังคงทยอยเดินทางไปใช้บริการภายในสนามบินต่างๆ ทั่วสหรัฐอเมริกา เพื่อเร่งรีบเดินทางกลับภูมิลำเนาให้ทันก่อนวันคริสต์มาสจะมาถึง ซึ่งทำให้การดำเนินการภายในสนามบินหลายแห่งล่าช้ากว่าปกติ โดยปีนี้ถือเป็นคริสต์มาสครั้งที่ 2 แล้ว ที่ทั่วโลกต้องฉลองเทศกาลแห่งความสุขท่ามกลางวิกฤตโควิด-19

เว็บไซต์ไฟลท์อะแวร์ดอทคอม เป็นเว็บไซต์ติดตามสถานะเที่ยวบินทั่วโลก เปิดเผยว่า ในวันก่อนวันคริสต์มาส หรือคริสต์มาสอีฟ ที่ปกติจะเป็นวันที่คนเดินทางมากที่สุดในช่วงเทศกาลนี้ กลับพบว่า มีเที่ยวบินถูกยกเลิกไปอย่างน้อย 2,401 เที่ยวบินทั่วโลก และล่าช้าอีกเกือบ 10,000 เที่ยวบิน

ขณะที่สายการบินต่างๆ ต้องยกเลิกเที่ยวบินในวันคริสต์มาสอีกมากกว่า 1,700 เที่ยวบิน และในวันพรุ่งนี้อีกมากกว่า 400 เที่ยวบิน ซึ่งทำให้ปัจจุบันมีเที่ยวบินถูกยกเลิกไปแล้วมากกว่า 4,500 เที่ยวบินทั่วโลก ซึ่งในจำนวนนี้เป็นเที่ยวบินในสหรัฐอเมริกา รวมทั้งเที่ยวบินขาเข้าและขาออกจากประเทศนี้ มากกว่า 1 ใน 4 ของทั้งหมด

สายการบิน American Airlines ยกเลิกเที่ยวบินในวันคริสต์มาสอีฟ เนื่องจากการแพร่กระจายอย่างรวดเร็วของไวรัสโควิดกลายพันธุ์โอมิครอน

ทั้งนี้  สายการบินรายใหญ่ของสหรัฐ และสายการบินต้นทุนต่ำ รวมทั้ง United Airlines และ Delta Airlines ได้ยกเลิกเที่ยวบินทั้งหมดกว่า 1,404 เที่ยวบิน ตามกำหนดเดิมที่เตรียมไว้สำหรับการเดินทางในช่วงคริสต์มาสอีฟ 24 ธันวาคม

United Airlines กล่าวในแถลงการณ์ว่า ได้ตัดสินใจยกเลิกเที่ยวบินเพื่อปกป้องลูกเรือและเจ้าหน้าที่ปฏิบัติการด้านอื่นๆทั้งหมด ซึ่งทำให้ผู้โดยสารที่วางแผนจะเดินทางในวันคริสต์มาสอีฟแสดงความไม่พอใจผ่านช่องทางโซเชียลมีเดียทุกช่องทาง เมื่อพวกเขาถูกเททิ้งกลางคันเช่นนี้

ในช่วง 2 สัปดาห์ที่ผ่านมา ในสหรัฐอเมริกา จำนวนผู้ป่วยที่ได้รับการยืนยันต่อวันเพิ่มขึ้นกว่า 38% หรือเพิ่มขึ้นกว่า 170,000 ราย เที่ยวบินหลายร้อยเที่ยวทั้งไปและกลับจากเมืองใหญ่ๆ ถูกยกเลิกทั้งหมด เข้าสู่สภาวะล็อกดาวน์ทางการเดินทาง และดูท่าว่าจะทำให้ค่ำคืนแห่งความสุขนี้วุ่นวายและพังทลายลงอย่างไม่เป็นท่าเลยทีเดียว

รายงานระบุว่า โอมิครอนทำให้ตัวเลขผู้ติดเชื้อในหลายเมืองของสหรัฐพุ่งสูงขึ้นเป็น 2 เท่าในทุกๆ 2 ถึง 3 วัน และคาดว่าจะทำลายสถิติผู้ติดเชื้อรายวันสูงสุด 251,232 รายที่เคยทำไว้ในเดือน ม.ค. หรืออาจมีผู้ป่วยพุ่งสูงถึง 1 ล้านรายต่อวันในช่วงสิ้นปีนี้

อังกฤษเปิดเผยข้อมูลในวันศุกร์ บ่งชี้ว่าจำนวนผู้ติดเชื้อโควิด-19 รายใหม่เพิ่มขึ้นอีก 122,186 รายในช่วง 24 ชั่วโมงล่าสุด โดยพุ่งขึ้นเกิน 120,000 รายต่อวันเป็นครั้งแรกนับตั้งแต่โรคโควิด-19 เริ่มแพร่ระบาด ซึ่งส่งผลให้ยอดรวมผู้ติดเชื้อในประเทศอยู่ที่ 11,891,292 ราย

ผู้เสียชีวิตรายใหม่จากโควิด-19 อยู่ที่ 137 ราย ส่งผลให้ยอดรวมผู้เสียชีวิตจากโควิดทั้งหมดอยู่ที่ 147,857 ราย และมีผู้ป่วยโควิดจำนวน 8,240 รายยังคงอยู่ในโรงพยาบาล

สำนักงานด้านความมั่นคงทางสุขภาพของสหราชอาณาจักร (UKHSA) เปิดเผยในวันศุกร์ว่า มีผู้ติดเชื้อสายพันธุ์โอมิครอนอีก 23,719 รายในอังกฤษ ซึ่งเป็นการเพิ่มขึ้นรายวันมากที่สุดนับตั้งแต่พบสายพันธุ์ดังกล่าวภายในประเทศ ส่งผลให้ยอดรวมผู้ติดเชื้อโอมิครอนในประเทศอยู่ที่ 114,625 ราย

ทั้งนี้ ข้อมูลบ่งชี้ว่าประชาชนราว 1 ใน 20 คนในกรุงลอนดอนติดเชื้อโควิด-19 ในสัปดาห์ที่สิ้นสุดวันที่ 19 ธ.ค. ซึ่งเป็นอัตราส่วนสูงที่สุดในอังกฤษ

ขณะที่เกาหลีใต้ เกิดสภาวะผู้ป่วยล้นโรงพยาบาล รัฐบาลเกาหลีใต้สั่งให้ผู้ป่วยโควิด-19 จำนวน 210 คนออกจากห้อง ICU เนื่องจากโรงพยาบาลทั่วประเทศกำลังประสบปัญหาการขาดแคลนเตียงอย่างหนัก

กระทรวงสาธารณสุขและสวัสดิการได้ยืนยันคำสั่งนี้ และได้สั่งย้ายผู้ป่วย 210 รายที่เข้ารับการรักษาโรคโควิดเป็นเวลานานกว่า 20 วันในห้องไอซียูของโรงพยาบาลทั่วประเทศ โดยกระทรวงระบุว่า ผู้ป่วยทั้ง 210 รายจะถูกย้ายไปยังห้องฉุกเฉินทั่วไป สำหรับผู้ป่วยนอกอื่นๆ ซึ่งมีการดูแลแบบผู้ป่วยอาการไม่หนัก และผู้ป่วยที่ไม่ปฏิบัติตามคำสั่งจะถูกปรับเงินสูงสุด 1 ล้านวอน

คำสั่งในครั้งนี้ระบุรายละเอียดหลักว่า  ให้ผู้ป่วยจากการติดเชื้อไวรัสโควิดมีสิทธิ์ได้รับการรักษาในห้อง ICU ได้ต่อเนื่องไม่เกิน 20 วัน เพื่อคืนพื้นที่เตียงไว้สำหรับเคสฉุกเฉินผู้ป่วยใหม่ที่เพิ่มขึ้นทุกวัน ซึ่งทางกระทรวงได้แจ้งกับทางโรงพยาบาลทั้งหลายให้ปฏิบัติตามคำสั่ง หากผู้ป่วยยังอยู่รักษาต่อในห้อง ICU หลังจาก 20 วัน ผู้ป่วยจะไม่ได้รับการยกเว้นค่ารักษาพยาบาลที่เกี่ยวข้องกับการรักษาโรคโควิด และโรงพยาบาลที่ไม่ปฏิบัติตามจะไม่ได้รับงบประมาณในการบริหารสถานการณ์ฉุกเฉินจากการติดเชื้อไวรัสโควิด

โดยรัฐบาลหวังว่าคำสั่งนี้จะช่วยบรรเทาวิกฤตขาดแคลนเตียงในโรงพยาบาลที่กำลังเผชิญอยู่ ซึ่งตอนนี้ขีดความสามารถในการรองรับการรักษาในห้อง ICU พุ่งสูงถึงประมาณ 80 เปอร์เซ็นต์แล้ว และอาจจะถึงขีดจำกัดในไม่ช้าหากไม่ทำอะไรซักอย่าง โดยเฉพาะในเขตกรุงโซลและเมืองใกล้เคียง อัตราการครอบครองเตียงในห้อง ICU จากภาวะติดเชื้อไวรัสโควิดสูงถึง 85 เปอร์เซ็นต์เข้าให้แล้ว

ผู้เสียชีวิตจากโควิด-19 เมื่อวันพฤหัสบดีที่ผ่านมาของเกาหลีใต้ ได้ทำลายสถิติสูงสุดที่ 109 รายต่อวัน จากที่ เคยสูงสุดอยู่ที่ 100 รายต่อวันเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ส่วนหนึ่งของการเสียชีวิตนั้นมาจากการเสียชีวิตขณะรอเตียง เพื่อเข้ารับการรักษาในห้อง ICU ซึ่งรัฐบาลจำเป็นต้องเข้ามาจัดการบริหารเตียงด้วยคำสั่งคราวนี้ ก่อนที่จะวิกฤตมากเกินกว่าจะรับไหว

ที่ญี่ปุ่น กระทรวงสาธารณสุขอนุมัติอย่างเป็นทางการให้มีการใช้ยารักษาโรคโควิด-19 ชนิดรับประทานที่พัฒนาโดย บริษัทยาของสหรัฐ Merck & Co. ทำให้เป็นยาเม็ดรักษาโรคโควิด-19 ชนิดแรกที่ใช้ในประเทศญี่ปุ่น และยังได้เตรียมแผนการใช้ยาตัวนี้สำหรับการรักษาแบบ Home Isolation

ยืนยันอย่างเป็นทางการว่าญี่ปุนพบเคสแรกของการระบาดโรคโควิดสายพันธุ์โอมิครอนในประเทศเรียบร้อยแล้ว และเป็นการระบาดในชุมชนของกรุงโตเกียว โดยมีต้นตอจากแพทย์ชายอายุ 50 ปี ซึ่งทำงานที่คลินิกแห่งหนึ่งในโตเกียวและไม่มีประวัติเดินทางไปต่างประเทศ ได้ตรวจพบว่าติดเชื้อโอมิครอนโดยไม่ทราบที่มา และผู้ใกล้ชิดอย่างน้อย 5 คนกับแพทย์ท่านนี้ กลายเป็นผู้เสี่ยงสูงและพบว่าติดเชื้อในที่สุด

คณะรัฐมนตรีของญี่ปุ่นอนุมัติร่างงบประมาณ 107.60 ล้านล้านเยน (940 พันล้านดอลลาร์) สำหรับปีงบประมาณ 2022 ซึ่งสูงที่สุดเท่าที่เคยมีมา เพื่อใช้เป็นเงินทุนสำหรับมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด โดยมีที่มาจากค่าใช้จ่ายในการประกันสังคมที่พุ่งสูงขึ้น และการใช้จ่ายด้านการป้องกันประเทศที่สูงเป็นประวัติการณ์.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

‘ยิ่งลักษณ์’ กลับคุก ‘บิ๊กเสื้อแดง’ รู้มา! ว่าไปตามราชทัณฑ์ไม่ใช้สิทธิพิเศษ

“เลขาฯ แสวง” ยันเดินหน้าคดี “ทักษิณ-เพื่อไทย” ล้มล้างการปกครองต่อ เพราะใช้กฎหมายคนละฉบับกับศาล รธน. "จตุพร" ลั่นยังไม่จบ! ต้องดูสถานการณ์เป็นตอนๆ ไป