ภาคเอกชนกังวล กนง.คงดอกเบี้ย ดัชนีเชื่อมั่นร่วง

ส.อ.ท.เผยเอกชนกังวล กนง.คงดอกเบี้ย หวั่นผู้ประกอบการแบกรับต้นทุนทางการเงินเพิ่มขึ้น ชงรัฐออกมาตรการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำสำหรับเอสเอ็มอี “แบงก์ชาติ” เผยดัชนีความเชื่อมั่นทางธุรกิจเดือน ม.ค.2567 ร่วง หลังคำสั่งซื้อลดลงมาก ชี้ 3 เดือนข้างหน้าทิศทางยังทรงตัว มองกลุ่มผลิตอาหาร-เครื่องดื่ม-ค้าส่งฟื้น

เมื่อวันพฤหัสบดี นายมนตรี มหาพฤกษ์พงศ์ รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยผลการสำรวจ FTI CEO Poll ครั้งที่ 37 ในเดือนม.ค.2567 ภายใต้หัวข้อ “ดอกเบี้ยสูง หนี้พุ่ง อุตสาหกรรมไปต่ออย่างไร” พบว่า ผู้บริหาร ส.อ.ท.ค่อนข้างมีความกังวลกับการที่คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) จะดำเนินนโยบายในการคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ 2.5% เป็นระยะเวลานาน ซึ่งต้องเข้าใจว่าที่ผ่านมาธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้พยายามอย่างมากที่จะสร้างสมดุลในการบริหารนโยบายการเงินของประเทศ ทั้งในมิติด้านเศรษฐกิจและการเสริมสร้างเสถียรภาพของค่าเงินบาท

"แต่อย่างไรก็ตาม ดอกเบี้ยที่ปรับตัวสูงขึ้นส่งผลกระทบค่อนข้างมากกับผู้ประกอบการเอสเอ็มอี ซึ่งเป็นกลุ่มที่มีสัดส่วนมากที่สุดของผู้ประกอบการในประเทศ และกำลังอยู่ในช่วงที่ฟื้นตัวจากผลกระทบของโควิด-19 และการต้องเร่งปรับธุรกิจเพื่อรับมือกับปัญหาต้นทุนการผลิตที่ปรับตัวสูงขึ้นเกือบทุกตัวในช่วงปีที่ผ่านมา"

นายมนตรีกล่าวว่า ในประเด็นเรื่องส่วนต่างระหว่างอัตราดอกเบี้ยสินเชื่อและอัตราดอกเบี้ยเงินฝาก หรือ Spread ของธนาคารพาณิชย์ ที่มีความห่างมากเกินไปเป็นลำดับต้นๆ ของประเทศในอาเซียน ทำให้ผู้ประกอบการไทยต้องแบกรับต้นทุนทางการเงินเพิ่มขึ้น ส่งผลให้เกิดการชะลอการขยายธุรกิจหรือการลงทุนใหม่ เพิ่มความเสี่ยงขาดสภาพคล่องทางการเงินและการผิดนัดชำระหนี้ รวมทั้งกระทบต่อกำลังซื้อสินค้าของประชาชน ดังนั้น ผู้บริหาร ส.อ.ท.ส่วนใหญ่จึงเสนอให้ธนาคารแห่งประเทศไทยพิจารณาออกมาตรการกำกับดูแลตรวจสอบสถาบันการเงินในการกำหนดอัตราดอกเบี้ยทั้งในส่วนของเงินฝากและสินเชื่อ รวมทั้งมีการประกาศกำหนดส่วนต่างอัตราดอกเบี้ย (Spread) ที่เหมาะสม เพื่อช่วยลดต้นทุนทางการเงินให้กับผู้ประกอบการ

นอกจากนี้ ผู้บริหาร ส.อ.ท.ส่วนใหญ่ มองว่า มาตรการแก้ไขปัญหาหนี้ทั้งระบบที่ภาครัฐอยู่ระหว่างดำเนินการนั้น จะช่วยแก้ไขปัญหาหนี้ให้กับประชาชนภาคเกษตรกรรมและภาคธุรกิจที่สะสมมานานได้ในระดับปานกลาง โดยในส่วนของภาคอุตสาหกรรม เสนอให้ภาครัฐออกมาตรการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำสำหรับผู้ประกอบการเอสเอ็มอี ผ่านสถาบันการเงินของรัฐ เพื่อพัฒนาศักยภาพในกระบวนการผลิตและเสริมสภาพคล่องทางการเงิน รวมทั้งควรช่วยพิจารณาปรับลดเงื่อนไขการเข้าถึงสินเชื่อให้สะดวกยิ่งขึ้น

 วันเดียวกัน ธนาคารแห่งประเทศไทย  (ธปท.) เปิดเผยว่า ดัชนีความเชื่อมั่นทางธุรกิจโดยรวม เดือน ม.ค.2567 อยู่ที่ 48.0 ลดลงจาก 49.1 ในเดือน ธ.ค.2566 ตามการลดลงในเกือบทุกองค์ประกอบ โดยเฉพาะด้านต้นทุน สำหรับดัชนีความเชื่อมั่นในภาคที่มิใช่การผลิต ปรับลดลงในเกือบทุกหมวดธุรกิจ โดยเฉพาะกลุ่มการค้าที่ความเชื่อมั่นด้านคำสั่งซื้อลดลงมาก หลังจากเร่งไปในช่วงเทศกาลปลายปี

ขณะที่ความเชื่อมั่นในภาคการผลิต ทรงตัวอยู่ต่ำกว่าระดับ 50 สะท้อนความเชื่อมั่นที่แย่ลงเมื่อเทียบกับเดือนก่อน โดยความเชื่อมั่นของกลุ่มอิเล็กทรอนิกส์ปรับลดลงมาก โดยเฉพาะด้านต้นทุน ตามค่าขนส่งที่สูงขึ้นจากสถานการณ์ความขัดแย้งบริเวณทะเลแดง ส่วนกลุ่มผลิตเหล็กมีความเชื่อมั่นที่ดีขึ้นจากด้านคำสั่งซื้อเป็นสำคัญ สอดคล้องกับความเชื่อมั่นของกลุ่มผลิตเครื่องใช้ไฟฟ้าที่ปรับดีขึ้นในทุกองค์ประกอบ ส่วนหนึ่งจากผลของมาตรการ Easy E-Receipt ที่ช่วยกระตุ้นยอดขายในช่วงต้นปี ทั้งนี้ ดัชนีฯ โดยรวมทรงตัวใกล้เคียงกับระดับ 50 อย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2565 จากความเชื่อมั่นของทั้งภาคการผลิตและภาคที่มิใช่การผลิต

โดยในอีก 3 เดือนข้างหน้า ดัชนีความเชื่อมั่นโดยรวมทรงตัวอยู่ที่ 53.9 จากทั้งภาคการผลิตและภาคที่มิใช่การผลิต โดยความเชื่อมั่นของกลุ่มผลิตอาหารและเครื่องดื่มดีขึ้นจากด้านการลงทุนเป็นหลัก  และกลุ่มการค้าส่ง มีความเชื่อมั่นดีขึ้นจากด้านคำสั่งซื้อ และผลประกอบการเป็นสำคัญ

ทั้งนี้ ดัชนีความเชื่อมั่นของกลุ่มผลิตเคมี ปิโตรเลียม และยาง-พลาสติก ปรับลดลงมากตามราคาน้ำมันที่มีแนวโน้มสูงขึ้น ส่วนกลุ่มผลิตยานยนต์ ความเชื่อมั่นปรับลดลงตามความระมัดระวังในการปล่อยสินเชื่อของสถาบันการเงิน ประกอบกับความกังวลรถยนต์ไฟฟ้าที่เข้ามาแย่งส่วนแบ่งตลาดมากขึ้น นอกจากนี้  กลุ่มโลจิสติกส์และอสังหาริมทรัพย์ ดัชนีฯ  ปรับลดลงในเกือบทุกองค์ประกอบ

อย่างไรก็ดี ดัชนีความเชื่อมั่นโดยรวมมีแนวโน้มลดลงเล็กน้อยตั้งแต่ต้นปี 2566 แต่ดัชนีฯ ยังอยู่เหนือระดับ 50 ได้อย่างต่อเนื่อง.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

‘จุรินทร์’ เผย8ปัจจัย การเมืองปี68เดือด!

"จุรินทร์" เปิด 8 ปัจจัยการเมืองปี 2568 จับตามีคดีความที่มีผู้ร้องไปยื่นร้องนายกฯ และผู้เกี่ยวข้องไว้ที่ศาลรัฐธรรมนูญและองค์กรอิสระต่างๆ ซึ่งปัจจุบันมีเรื่องที่ค้างอยู่อย่างน้อย