สภาลงมติยื้อเวลาผุด พ.ร.บ.นิรโทษกรรมไป 2 เดือน "เดียร์" สะอื้น ชงกฎหมายยันเพื่อไทยไม่ยัดไส้ให้เจ้าหน้าที่พ้นผิด แต่ "โรม" ชี้นิรโทษฯ ของแท้ต้องครอบคลุมความผิด ม.112 ด้วย ด้าน "ชัยธวัช" เชื่อการนิรโทษกรรมคู่ขัดแย้งทั้งหมดเป็นจุดเริ่มต้นในการสร้างการเมืองแห่งความรัก
เมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2567 ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร มีนายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร เป็นประธานที่ประชุม ได้พิจารณาญัตติด่วนขอให้สภาตั้งคณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญเพื่อศึกษาการออกกฎหมายนิรโทษกรรม โดยมี น.ส.ขัตติยา สวัสดิผล สส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย เป็นผู้เสนอญัตติว่า การเสนอตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญฯ ดังกล่าว เพื่อศึกษาหลักเกณฑ์และแนวทางที่เป็นสาระสำคัญการนิรโทษกรรมให้ได้ข้อยุติ ก่อนเสนอเป็นร่างกฎหมายต่อสภาผู้แทนราษฎร ที่ผ่านมาสังคมไทยผ่านช่วงเวลาของความขัดแย้งทางการเมืองแบบแบ่งขั้วอย่างรุนแรง และซึมลึกอยู่ในสังคมไทยมากว่า 20 ปี ตั้งแต่สงครามสีเสื้อ การรัฐประหาร 19 กันยายน 49 การชุมนุมของกลุ่ม กปปส. การรัฐประหาร 22 พฤษภา 57 มาจนถึงการชุมนุมของกลุ่มคนรุ่นใหม่เมื่อปี 63 และ 64
"ในช่วงเวลาของความขัดแย้งดังกล่าว มีประชาชนจำนวนมากออกมาใช้สิทธิเสรีภาพเพื่อแสดงความคิดเห็น และมีประชาชนจำนวนมากออกมาชุมนุมประท้วงบนท้องถนน โดยมีเหตุผลและแรงจูงใจทางการเมือง แต่กลับถูกฟ้องร้องดำเนินคดี ถูกคุกคามเพื่อปิดปาก และจำกัดสิทธิเสรีภาพด้วยกฎหมายของรัฐ ส่งผลให้ปัจจุบันมีประ ชาชนจำนวนมากถูกรัฐทำให้กลายเป็นผู้ต้องหาทางการเมือง นักโทษทางการเมือง และผู้ลี้ภัยทางการเมือง"
น.ส.ขัตติยากล่าวว่า คำถามคือเราจะเดินหน้าอย่างไร เพราะเมื่อมองไปข้างหลังเรายังเห็นคนร่วมชาติถูกพันธนาการด้วยโซ่ตรวนทางกฎหมาย กุญแจที่ปลดโซ่ตรวนคือการออก พ.ร.บ.นิรโทษกรรม เพื่อที่จะลบล้างความผิดให้กับประชาชนทุกฝ่ายที่แสดงความคิดเห็นหรือเคลื่อนไหวด้วยแรงจูงใจทางการเมือง และเป็นจุดเริ่มต้นเดินต่อไปข้างหน้าและไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง
“ดิฉันในฐานะผู้แทนฯ และเป็นหนึ่งในผู้ที่สูญเสียที่ได้รับผลกระทบโดยตรง จากการกระทำที่รุนแรงของเจ้าหน้าที่รัฐ ดิฉันขอยืนยันในหลักการว่า จะไม่ให้มีการนิรโทษกรรมต่อความผิดที่เกิดแก่ชีวิตโดยเด็ดขาด” น.ส.ขัตติยากล่าวด้วยเสียงอันสั่นเครือ
ด้านนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล อภิปรายสนับสนุนว่า การนิรโทษกรรมไม่ใช่เรื่องที่น่ากลัว หรือมีภาพที่เป็นลบตลอดเวลา ตนคิดว่าโอกาสในการรับนิรโทษกรรม ไม่ควรผูกขาดกับคณะรัฐประหาร หรือคนที่คิดที่จะล้มล้างการปกครองเพียงอย่างเดียว ไม่ควรที่จะผูกขาดกับคนที่จะบ่อนเซาะ ต้องการที่จะทำลายระบบ ประชาธิปไตยเพียงอย่างเดียว
ก่อนที่นายพิธาจะหยิบเอกสารจากสภาขึ้นมาอ้างอิง พร้อมระบุว่า ตั้งแต่ปี 2475-2557 ไม่ว่าจะครั้งไหน มีเพียงแค่ 2521 ครั้งเดียวที่เป็นพระราชบัญญัตินิรโทษกรรมแก่ผู้ซึ่งกระทำความผิดเนื่องจากการชุมนุมในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ แต่นอกจากนั้น มีแต่นิรโทษกรรมผู้กระทำการปฏิวัติ ยึดอำนาจปกครองประเทศ ความผิดต่อความมั่นคงของราชอาณาจักรในฐานะกบฏ นี่คือสิ่งที่เราไม่ควรอนุญาตให้การผูกขาดการนิรโทษกรรมอยู่กับการรัฐประหารเพียงอย่างเดียว
"เพราะฉะนั้น การนิรโทษกรรมครั้งนี้ จะต้องไม่คิดเฉพาะคนที่ทำรัฐประหาร แต่ควรคิดที่เหยื่อ คนที่ถูกทำรัฐประหาร เราต้องคิดถึงคนที่ได้รับผลกระทบจากนโยบายจากรัฐบาลที่สืบทอดมาจากการทำรัฐประหาร ไม่ใช่จำเป็นเฉพาะแค่พูดออกมาเรียกร้องทางการเมือง แต่ยังมีเรื่องอื่น เช่น การติดคุก ทวงคืนผืนป่า หรือคนที่ถูกรัฐฟ้องปิดปากประชาชน"
นายพิธากล่าวด้วยว่า ถ้าเราตั้งหลักกันได้ว่าเวลาที่จะนิรโทษกรรมเมื่อไหร่ หากฟังที่ตนพูดก็จะรู้ได้ว่าอย่างน้อยย้อนหลังไปถึงปี 2549 ใครที่จะได้รับนิรโทษกรรม ก็คงจะเดาออก ส่วนกระบวนการที่จะทำไม่ใช่แค่บอกว่ายุติคดีทางอาญา แต่คือการเยียวยา การออกมารับผิดชอบสร้างสาธารณะ ไม่ให้เกิดวัฒนธรรมผิดลอยนวล ไม่ใช่แค่นิรโทษกรรมของคนที่สั่งฆ่า แต่จะต้องดูคนที่ถูกฆ่าด้วย พูดในมุมของคนที่ต้องสูญเสียอิสรภาพในการอยู่ในประเทศบ้านเกิดเมืองนอนเท่านั้น จึงจะถือว่าเป็นการนิรโทษกรรมที่รอบคอบ บรรลุไปถึงเป้าหมายที่ประเทศไทยต้องการ ณ ปัจจุบัน
นายพิธากล่าวทิ้งท้ายว่า ถ้าหากทำแบบนี้ตนคิดว่าจะเป็นกระดุมเม็ดแรกที่เราจะสามารถตั้งต้นทั้งสามอธิปไตยของประเทศไทย ในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข คือ 1.ฝ่ายบริหาร นายกรัฐมนตรีสามารถสั่งตำรวจได้เลย ชะลอคดี 2.ฝ่ายอัยการศาล ต้องวินิจฉัยคดี ด้วยความรัดกุม รอบคอบ บนฐานของข้อมูลที่เป็นข้อเท็จจริงเท่านั้น ไม่ใช่เอาอารมณ์หรืออะไรอย่างอื่นมาตัดสินด้วย 3.ฝ่ายรัฐสภา อภิปรายความแตกต่างของ พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ไม่ว่าจะมาจากพรรคไหน และรวมถึงข้อคิดเห็นของประชาชนด้วย
น.ส.ศศินันท์ ธรรมนิฐินันท์ สส.กทม. พรรคก้าวไกล อภิปรายว่า ขอฝากไปยังสส.ทุกคน มองกลับไปยังประชาชนโดยไม่ต้องแปะป้ายว่าพวกเขาใส่เสื้อสีอะไร เลือกพรรคอะไร มีความคิดการเมืองแบบไหน ต่อสู้เรื่องอะไร แต่พวกเขาเหล่านั้นคือประชาชน ที่มีความเชื่อ ความกล้าที่จะพูด และมีความเชื่อว่าประเทศเราจะเปลี่ยนแปลงได้ นำเสนอแนวคิดทางการเมืองด้วยความกล้าหาญ แลกมาด้วยอิสรภาพ ชีวิตของพวกเขา เพราะนี่คือเหตุผลที่ทำให้เราที่ยืนในสภาอันทรงเกียรติแห่งนี้ ทำให้สภาเป็นทางออกของการแก้ไขปัญหาทุกอย่าง ดิฉันในนามพรรคก้าวไกล จึงขอร่วมสนับสนุนญัตตินี้
ส่วนนายอรรถกร ศิริลัทธยากร สส.ฉะเชิงเทรา พรรคพลังประชารัฐ อภิปรายว่า พรรคพลังประชารัฐสนับสนุนญัตตินี้ เพื่อก้าวข้ามความขัดแย้ง หาทางออกให้ประเทศ จุดยืนของพรรคต่อการนิรโทษกรรมมี 4 ข้อคือ 1.ไม่นิรโทษกรรมให้บุคคลใดบุคคลหนึ่ง 2.ไม่นิรโทษกรรมให้บุคคลใดที่ทำผิดกฎหมายร้ายแรง เกิดความเสียหายแก่ชีวิต ทรัพย์สิน ระบอบการปกครอง 3.การนิรโทษกรรม ถ้าจะเกิดขึ้น ต้องเป็นความเห็นชอบจากทุกฝ่าย ทุกสี ไม่เพิ่มความขัดแย้ง 4.ไม่เห็นด้วยกับการนิรโทษกรรมคนที่ทำผิดมาตรา 112 เราไม่เอา
จากนั้น นายรังสิมันต์ โรม สส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล (ก.ก.) อภิปรายว่า พรรคก้าวไกลเคยนำเสนอร่างนิรโทษกรรม ซึ่งมี 4 หลักการที่กรรมาธิการฯ ควรนำไปพิจารณาคือ 1.อย่ากำหนดมาตราที่นิรโทษกรรมไม่ได้ 2.หากจะจำกัดว่าอะไรที่ห้ามนิรโทษกรรม ควรมีลักษณะที่ร้ายแรง คือเป็นผู้กระทำผิดตามมาตรา 113 เป็นผู้กระทำรัฐประหารเมื่อวันที่ 22 พ.ค. หรือเป็นเจ้าหน้าที่รัฐที่สั่งให้ตีหัวผู้ชุมนุม หรือเป็นการกระทำที่พรากชีวิตผู้อื่น แบบนี้ไม่ควรได้รับการนิรโทษกรรม 3.ผู้ที่ออกไปชุมนุมล้วนปรารถนาดีต่อชาติบ้านเมือง ดังนั้นแม้จะนิรโทษกรรมแบบเหมาเข่งทั้งหมดได้ ดังนั้นต้องกลั่นกรองโดยไม่ดูแค่มิติทางกฎหมาย แต่ต้องดูมิติทางการเมืองและองค์ประกอบอื่น ดังนั้นเราเสนอว่าควรมีคณะกรรมการ โดยให้เวลา 2 ปีเพื่อพิจารณา แล้วชี้ขาดว่าใคร กรณีไหนที่สมควรได้รับการนิรโทษกรรม และ 4.ใครที่เชื่อมั่นในกระบวนการยุติธรรม ไม่อยากได้รับการนิรโทษกรรม สามารถสละสิทธิ์ได้ ทั้งนี้ อย่าให้ใครว่าได้ว่ามีแต่ทหารหรือคณะรัฐประหารที่ได้รับการนิรโทษกรรม วันนี้สภาที่มาจากประชาชนควรทำหน้าที่เพื่อประชาชนอย่างแท้จริง
นายชัยธวัช ตุลาธน สส.บัญชีรายชื่อ หัวหน้าพรรคก้าวไกล อภิปรายว่า เห็นด้วยกับการตั้ง กมธ.วิสามัญฯ การนิรโทษกรรมคู่ขัดแย้งทั้งหมดเป็นจุดเริ่มต้นในการสร้างการเมืองแห่งความรัก การเมืองที่สร้างความเข้าอกเข้าใจต่อกัน สร้างความปรารถนาดีร่วมกัน เพื่อให้พวกเรามีระบบการเมือง มีระเบียบสังคมที่พวกเราอยู่ร่วมกันได้ แม้จะไม่มีทางเห็นตรงกันทุกเรื่องก็ตาม
หลังสมาชิกอภิปรายแสดงความคิดเห็นเสร็จสิ้น ซึ่ง สส.ที่อภิปรายทั้งหมดเห็นด้วยกับการตั้ง กมธ. นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร ประธานที่ประชุมจึงแจ้งว่า เมื่อที่ประชุมไม่มีใครเห็นเป็นอย่างอื่น จึงถือว่าที่ประชุมเห็นชอบให้ตั้ง กมธ.วิสามัญเพื่อศึกษาการออกกฎหมายนิรโทษกรรม โดยมี กมธ.จำนวน 35 คน พิจารณาภายใน 60 วัน.
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
แฉระบบเด็กฝาก ทำลายองค์กรตร. ดับฝัน‘ดาวฤกษ์’
เช็ก 41 รายชื่อแต่งตั้งนายพลสีกากี ระดับรอง ผบ.ตร.-ผบช.
ยธ.เมินแจงกมธ. ปมนักโทษเทวดา รพ.ตำรวจชั้น14
ชั้น 14 น่าพิศวง "โรม" กวักมือเรียก “ทักษิณ” ไปสภา เข้าแจง กมธ.มั่นคงฯ
แจกเฟส2เอื้อเลือกอบจ. เตือนร้องถอดถอนครม.
นายกฯ โชว์วิชั่น Forbes ยันไทยสงบ สันติ หวังแม้รัฐบาลเปลี่ยน
ฟ้อง9บิ๊กมท.ทุจริตที่เขากระโดง
เรื่องถึงศาล "ณฐพร" ฟ้องกราวรูด "บิ๊ก ขรก.มหาดไทย"
ลุ้นศาลรับคดีล้มล้าง ตุลาการถก6ประเด็น‘ทักษิณ-พท.’/ดันแก้ประชามติไม่รอ180วัน
"ทักษิณ-พท." ระทึก! 9 ตุลาการศาล รธน.ยืนยันนัดประชุมวาระพิเศษ 22 พ.ย.นี้
สั่งประหารชีวิต ‘แอม ไซยาไนด์’ คุกผัวเก่า-ทนาย
ศาลพิพากษาประหารชีวิต "แอม ไซยาไนด์" วางยาฆ่าก้อย พร้อมชดใช้ 2.3 ล้าน