ล้มล้างปกครอง ศาลเอกฉันท์พิธา-ก้าวไกลแก้112เซาะสถาบันสั่งห้ามแตะ

ศาล รธน.มีมติเอกฉันท์  "พิธา-ก้าวไกล" ใช้นโยบายหาเสียงแก้ ม.112 มีเจตนาเซาะกร่อน บ่อนทำลายสถาบันพระมหากษัตริย์ เข้าข่ายใช้สิทธิเสรีภาพล้มล้างการปกครอง สั่งเลิกแสดงความเห็น-พูด-เขียน ย้ำชัดไม่ให้มีการแก้ไข ม.112 ในอนาคต "ชัยธวัช" ควง "พิธา" แถลงอ้างไม่มีเจตนาบ่อนทำลาย ชี้คำวินิจฉัยอาจส่องผลต่อสถาบันเอง โวยไม่ให้แก้ไข 112 กระทบสิทธิเสรีภาพ ปชช. "ศปปส." เฮลั่น กม.ปกป้องสถาบัน "เรืองไกร" ตามซ้ำ 1    ก.พ.บุกยื่น กกต.ยุบ "ก้าวไกล"

เมื่อวันที่​ 31 ม.ค.2567 เวลา 09.30  น. ศาลรัฐธรรมนูญได้เริ่มประชุมปรึกษาหารือ ลงมติ และจัดทำคำวินิจฉัย ในคดีที่นายธีรยุทธ สุวรรณเกษร อดีตทนายความพระพุทธะอิสระ (ผู้ร้อง) ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญตามมาตรา 49 ว่า การกระทำของนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ขณะเป็นหัวหน้าพรรคก้าวไกล (ผู้ถูกร้องที่ 1) และพรรคก้าวไกล (ผู้ถูกร้องที่ 2) ที่เสนอร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่..) พ.ศ..… เพื่อยกเลิกประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 โดยใช้เป็นนโยบายในการหาเสียงเลือกตั้ง และยังคงดำเนินการอย่างต่อเนื่อง เป็นการใช้สิทธิเสรีภาพเพื่อล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 49 วรรคหนึ่ง หรือไม่ ก่อนออกนั่งบัลลังก์อ่านคำวินิจฉัยให้คู่กรณีฟังในเวลา 14.00 น. ตามที่นัดหมาย

อย่างไรก็ตาม ก่อนหน้านี้นายพิธา แจ้งว่าติดภารกิจประชุมสภาผู้แทนราษฎร จึงจะไม่เดินทางมารับฟัง

กระทั่งเวลา 14.00 น. องค์คณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญออกนั่งบัลลังก์อ่านคำวินิจฉัย โดยนายปัญญา อุดชาชน ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ เริ่มอ่านคำวินิจฉัยว่า คดีเป็นปัญหาข้อกฎหมายและมีพยานหลักฐานเพียงพอที่จะพิจารณาวินิจฉัยได้ จึงยุติการไต่สวนตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ มาตรา 58 วรรคหนึ่ง และกำหนดประเด็นที่ต้องวินิจฉัยว่า การกระทำของผู้ถูกร้องทั้งสองเป็นการใช้สิทธิหรือเสรีภาพเพื่อล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 49 วรรคหนึ่ง หรือไม่

ข้อเท็จจริงฟังเป็นที่ยุติว่า เมื่อวันที่ 25 มี.ค.2564 ผู้ถูกร้องที่ 1 และ สส. สังกัดผู้ถูกร้องที่ 2 จำนวน 44 คน เสนอร่าง พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่…) พ.ศ..… แก้ไขเกี่ยวกับความผิดฐานหมิ่นประมาท ยื่นต่อประธานสภาผู้แทนราษฎร และระหว่างการหาเสียงเลือกตั้ง สส.เป็นการทั่วไป 2566 ผู้ถูกร้องที่ 1 ใช้นโยบายของพรรคผู้ถูกร้องที่ 2 หาเสียงเลือกตั้งโดยให้มีการแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 และดำเนินการอย่างต่อเนื่อง ประกอบกับผู้ถูกร้องทั้ง 2 มีพฤติการณ์รณรงค์ให้มีการแก้ไขเพิ่มเติมหรือยกเลิกกฎหมายดังกล่าวเรื่อยมา โดยการเข้าร่วมการชุมนุมกับกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับการยกเลิกประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 และมีกรรมการบริหารพรรค สส. สมาชิกพรรคผู้ถูกร้องที่ 2 เป็นผู้ต้องหาหรือนายประกันผู้ต้องหาในความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 และเคยแสดงความคิดเห็นทั้งให้แก้ไขและยกเลิกกฎหมายดังกล่าวผ่านการจัดกิจกรรมทางการเมืองและสื่อสังคมออนไลน์หลายครั้ง

กรณีมีข้อโต้แย้งที่ต้องวินิจฉัยตามคำชี้แจงแก้ข้อกล่าวหาของผู้ถูกร้องทั้ง 2 ก่อนว่า ผู้ถูกร้องบรรยายคำร้องโดยอ้างความคิดเห็นของบุคคลมีลักษณะเป็นการคาดคะเน ไม่ยืนยันข้อเท็จจริงหรือพฤติการณ์ที่เกี่ยวข้องและไม่ได้ระบุข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาว่าผู้ถูกร้องทั้ง 2 กระทำการล้มล้างการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขอย่างไร ทำให้ผู้ถูกร้องทั้ง 2 ไม่อาจเข้าใจได้เป็นคำร้องที่ไม่ชอบตาม พ.ร.ป.ว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ มาตรา 42 วรรคหนึ่ง (2) หรือไม่

112 เป็นความมั่นคงแห่งรัฐ

เห็นว่า คำร้อง คำร้องเพิ่มเติม และเอกสารประกอบคำร้องที่ผู้ร้องกล่าวอ้างว่า เมื่อวันที่ 25 มี.ค.2564 ผู้ถูกร้องที่ 1 กับพวก ได้เสนอร่างเสนอร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่…) พ.ศ.…. ยื่นต่อประธานสภาฯ เพื่อยกเลิกประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 โดยใช้เป็นนโยบายในการหาเสียงเลือกตั้ง และยังคงดำเนินการอย่างต่อเนื่อง เป็นการใช้สิทธิหรือเสรีภาพเพื่อล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 49 วรรคหนึ่ง

พิจารณาแล้วเห็นว่า แม้การเสนอร่างกฎหมายต่อสภาฯ เป็นวิธีการทางรัฐสภา ซึ่งรัฐธรรมนูญบัญญัติให้ฝ่ายนิติบัญญัติมีหน้าที่และอำนาจโดยตรงเสนอร่างกฎหมายระดับพระราชบัญญัติ แต่เมื่อร่างกฎหมายผ่านกลไกการตรวจสอบโดยฝ่ายนิติบัญญัติแล้ว ศาลรัฐธรรมนูญยังมีหน้าที่และอำนาจตรวจสอบความชอบด้วยรัฐธรรมนูญหรือร่างกฎหมายได้ ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 210 วรรคหนึ่ง (1) ดังนั้น การที่รัฐธรรมนูญ มาตรา 49 กำหนดหน้าที่และอำนาจของศาลรัฐธรรมนูญให้เข้ามาตรวจสอบการกระทำที่เป็นการใช้สิทธิและเสรีภาพเพื่อล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข  โดยมิได้บัญญัติยกเว้นการกระทำใดไว้เป็นการเฉพาะ  การเสนอร่างกฎหมายโดยฝ่ายนิติบัญญัติจึงเป็นการกระทำหนึ่งซึ่งอาจถูกตรวจสอบได้ว่าเป็นการกระทำเพื่อล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข หรือไม่

นายจิรนิติ หะวานนท์ ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ อ่านคำวินิจฉัยว่า รัฐธรรมนูญมาตรา 49 เป็นบทบัญญัติที่มีความมุ่งหมายเพื่อเป็นมาตรการปกป้องคุ้มครองระบอบการปกครองของประเทศ ให้เป็นการปกครองระบอบ ประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข คุ้มครองมิให้ใช้สิทธิหรือเสรีภาพที่จะส่งผล เป็นการบั่นทอนทำลายหลักการพื้นฐานของรัฐธรรมนูญ และสั่นคลอนคติรากฐาน ของการปกครองระบอบประชาธิปไตยที่มีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขของไทย ที่ดำรงอยู่​ให้เสื่อมทราม หรือสิ้นสลายไป

การที่ผู้ถูกร้องที่ 1 และสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรสังกัดพรรคผู้ถูกร้องที่ 2 รวม 44 คน เสนอร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญาฉบับที่พ.ศ..... แก้ไขความผิดเกี่ยวกับหมิ่นประมาท ยื่นต่อประธานสภาผู้แทนราษฎรเมื่อวันที่ 25 มี.ค.2564 เพื่อแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 มีเนื้อหาให้แก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 112 จากเดิม เป็นหมวด 1 ลักษณะ 1  ความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงแห่งราชอาณาจักร ให้เป็นลักษณะ 1/2 ความผิดเกี่ยวกับพระเกียรติของพระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท และเกียรติยศของผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ซึ่งการที่ประมวลกฎหมายอาญาภาค 2 แบ่งลักษณะความผิดเป็น 13 ลักษณะ โดยจัดเรียงตามลักษณะความผิด อันเป็นการกระทำที่กระทบต่อรัฐ ความผิดที่เกี่ยวกับเป็นการกระทำที่กระทบต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ ความผิดที่เป็นการกระทำต่อสาธารณชน ความผิดที่กระทบต่อสังคมและบุคคล และความผิดที่กระทบต่อปัจเจกบุคคล

แม้ผู้ถูกร้องทั้งสองโต้แย้งว่าประมวลกฎหมายอาญามิได้กำหนดลำดับศักดิ์ ขอหมวดหมู่และลักษณะของกฎหมายไว้ แต่ประมวลกฎหมายอาญาในแต่ละลักษณะ บรรยายเรียงลำดับความสำคัญและความร้ายแรง ในแต่ละหมวดไว้ในแต่ละมาตราโดยมาตรา 112 อยู่ในลักษณะหนึ่งความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงแห่งรัฐแห่งราชอาณาจักร เนื่องจากต้องคุ้มครองทั้งความมั่นคงแห่งราชอาณาจักร​ และเกียรติยศประมุขของรัฐ สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญในมาตรา 2 ที่บัญญัติรับรองว่าประเทศไทยมีการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข สถาบันพระมหากษัตริย์จึงมีความสำคัญต่อความมั่นคงของประเทศ เพราะพระมหากษัตริย์ ประเทศไทย หรือชาติไทยดำรงอยู่คู่กันเป็นเนื้อเดียวกัน เป็นศูนย์รวมจิตใจของคนในชาติ และธำรงความเป็นปึกแผ่นอันหนึ่งอันเดียวกันของคนในประเทศ การกระทำความผิดต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ จึงเป็นการกระทำความผิดต่อความมั่นคงของประเทศด้วย

เจตนาชัดลดคุ้มครองสถาบัน

การที่ผู้ถูกร้องทั้งสองเสนอให้มาตรา 112 ออกจากลักษณะหนึ่งความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงแห่งราชอาณาจักร  เป็นการกระทำเพื่อมุ่งหวังให้ความผิดตามมาตรา 112 เป็นความผิดที่ไม่มีความสำคัญ และความร้ายแรงระดับ เดียวกับความผิด ในหมวดของลักษณะ 1 และไม่ให้ถือเป็นความผิดที่กระทบต่อความมั่นคงของประเทศอีกต่อไปนั้น มุ่งหมายที่จะแยกสถาบันพระมหากษัตริย์กับความเป็นชาติไทยออกจากกัน ซึ่งเป็นอันตรายต่อความมั่นคงของรัฐอย่างมีนัยสำคัญ

การที่ผู้ถูกร้องที่ 1 กับพวก เสนอให้เพิ่มบทบัญญัติให้ผู้กระทำความผิดสามารถพิสูจน์เหตุยกเว้นความผิดและเหตุยกเว้นโทษได้ ตามร่างมาตรา 6 ซึ่งให้เพิ่มความมาตรา 135/7 ว่า ผู้ใดติชมแสดงความคิดเห็นหรือแสดงข้อความโดยสุจริตเพื่อรักษาไว้ซึ่งการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข เพื่อดำรงไว้ซึ่งรัฐธรรมนูญ หรือเพื่อประโยชน์สาธารณะ  ผู้นั้นไม่มีความผิด และมาตรา 135/8  ถ้าผู้ถูกกล่าวหาว่ากระทำความผิด พิสูจน์ได้ว่าข้อหาที่เป็นความผิดนั้นเป็นความจริง ผู้นั้นไม่ต้องรับโทษ ย่อมทำให้ผู้กระทำความผิดใช้ข้อกล่าวอ้างว่าตนเข้าใจผิด และเชื่อโดยสุจริต​ว่าเป็นความจริง เป็นข้อต่อสู้และขอพิสูจน์ความจริงในทุกคดี เช่นเดียวกับการที่ผู้กระทำความผิดในคดีหมิ่นประมาทบุคคลทั่วไปลุกขึ้นต่อสู้ ทั้งที่ลักษณะ​ของการกระทำความผิดมีความร้ายแรงมากกว่าการดูหมิ่นหรือหมิ่นประมาทต่อบุคคลธรรมดา

อีกทั้ง ที่ผู้ถูกร้องที่ 1 กับพวกเสนอให้ความผิดตามมาตรา 112 เป็นความผิดอันยอมความได้ โดยเพิ่มความในมาตรา 135/9 วรรคหนึ่งว่า ความผิดในลักษณะนี้ เป็นความผิดอันยอมความได้  และวรรคสอง ให้สำนักพระราชวังเป็นผู้ร้องทุกข์และถือว่าเป็นผู้เสียหายในความผิดเกี่ยวกับพระเกียรติพระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท และผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์นั้น และให้สำนักพระราชวังเป็นผู้เสียหายร้องทุกข์มุ่งหมายให้การกระทำความผิดตามมาตรา 112 กลายเป็นความผิดในเรื่องส่วนพระองค์ของสถาบันพระมหากษัตริย์เท่านั้น เป็นการลดสถานะความคุ้มครองของสถาบันพระมหากษัตริย์ ให้รัฐไม่ต้องเป็นผู้เสียหายในความผิดดังกล่าวโดยตรง และให้สถาบันพระมหากษัตริย์กลายเป็นคู่ขัดแย้งกับประชาชน และจะเป็นการขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญมาตรา 6 ส่งผลให้การกระทำความผิดตามมาตรา 112 ไม่ใช่การกระทำความผิดที่กระทบต่อชาติและประชาชน ทั้งที่การกระทำความผิดดังกล่าวย่อมเป็นการทำร้ายจิตใจของชนชาวไทย ที่มีเคารพเทิดทูนสถาบันพระมหากษัตริย์ เพราะทรงเป็นพระประมุขและศูนย์รวมความเป็นชาติที่รัฐต้องคุ้มครองและต้องเป็นผู้เสียหายในคดีอาญา

นายอุดม รัฐอมฤต ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ อ่านคำวินิจฉัยว่า ดังนั้นแม้การเสนอแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 จะเป็นหน้าที่และอำนาจของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรผ่านกระบวนการทางนิติบัญญัติตามรัฐธรรมนูญมาตรา 133 และร่างกฎหมายดังกล่าวจะไม่ได้รับการบรรจุในวาระการประชุมสภาผู้แทนราษฎรก็ตาม เมื่อการเสนอร่างกฎหมายนี้ กลับดำเนินการโดยสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่สังกัดพรรคผู้ถูกร้องที่ 2 ทั้งสิ้นเพียงพรรคเดียว โดยผู้ถูกร้องทั้งสองได้เบิกความกับศาลยอมรับว่าพรรคผู้ถูกร้องที่ 2 นำเสนอนโยบายดังกล่าวให้แก่ กกต.เพื่อใช้เป็นนโยบายในการรณรงค์หาเสียงเลือกตั้ง สส. เป็นการทั่วไป พ.ศ.2566 และปัจจุบันยังปรากฏเป็นนโยบายการแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 อยู่บนเว็บไซต์ของพรรคผู้ถูกร้องที่ 2 การที่ผู้ถูกร้องทั้งสองใช้การเสนอแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 เป็นนโยบายของพรรคผู้ถูกร้องที่ 2 ในการหาเสียงเลือกตั้งแม้ไม่มีร่างที่จะแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ให้เห็นว่าจะแก้ไขในประเด็นใด เสนอมาพร้อมนโยบายพรรคผู้ถูกร้องที่ 2 แต่ตามเว็บไซต์ของผู้ถูกร้องที่ 2 กล่าวถึงการแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 กลับมีเนื้อหาที่จะแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ทำนองเดียวกับร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญาฉบับที่.. พ.ศ..... แก้ไขเกี่ยวกับความผิดหมิ่นประมาทเมื่อวันที่ 25 มี.ค.64 ที่ยื่นต่อประธานสภาผู้แทนราษฎร

ดังนั้น ถือได้ว่าพรรคผู้ถูกร้องที่ 2 ได้ร่วมกับผู้ถูกร้องที่ 1 เสนอร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ฉบับที่ พ.ศ..... แก้ไขเกี่ยวกับความผิดหมิ่นประมาท เนื้อหาของร่างกฎหมายที่ผู้ถูกร้องทั้งสองเสนอเป็นพฤติการณ์ที่แสดงออกถึงเจตนาของผู้ถูกร้องทั้งสอง ที่ต้องการลดทอนการคุ้มครองสถาบันพระมหากษัตริย์ลง โดยผ่านร่างกฎหมาย และอาศัยกระบวนการนิติบัญญัติเพื่อสร้างความชอบธรรมโดยซ่อนเร้น โดยใช้วิธีการผ่านกระบวนการทางรัฐสภา นอกจากนั้น ผู้ถูกร้องทั้งสองยังมีพฤติการณ์รณรงค์หาเสียงทางการเมืองเพื่อเสนอแนวความคิดเห็นดังกล่าวให้กับประชาชนทั่วไปผ่านรูปแบบนโยบายของพรรคผู้ถูกร้องที่ 2 อย่างต่อเนื่อง หากประชาชนทั่วไปซึ่งไม่รู้เจตนาที่แท้จริงของผู้ถูกร้องทั้งสอง อาจหลงตามกับความคิดเห็นที่แสดงออกผ่านการเสนอร่างกฎหมายและนโยบายของพรรค

การที่ผู้ถูกร้องทั้งสองใช้การเสนอแก้ไขกฎหมายเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 เพื่อลดสถานะของสถาบันพระมหากษัตริย์เป็นนโยบายพรรคในการหาเสียงเลือกตั้ง และยังคงดำเนินการอย่างต่อเนื่อง เป็นการใช้นโยบายพรรคการเมืองโดยนำสถาบันพระมหากษัตริย์ลงมาเพื่อหวังผลคะแนนเสียงทางการเมืองและประโยชน์ในการชนะการเลือกตั้ง มุ่งหมายให้สถาบันพระมหากษัตริย์อยู่ในฐานะคู่ขัดแย้งกับประชาชน ทำให้สถาบันพระมหากษัตริย์ต้องเข้าไปเป็นฝักฝ่ายต่อสู้แข่งขัน รณรงค์ทางการเมือง อันอาจนำมาซึ่งการโจมตี ติเตียน โดยไม่คำนึงถึงหลักการพื้นฐานสำคัญของการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ซึ่งมีหลักสำคัญว่า พระมหากษัตริย์ต้องดำรงสถานะอยู่เหนือการเมือง และความเป็นกลางทางการเมือง

การที่ผู้ถูกร้องทั้งสองเสนอแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 และใช้เป็นนโยบายพรรคในการหาเสียงเลือกตั้งดังกล่าว มีเจตนาเซาะกร่อน บ่อนทำลายสถาบันพระมหากษัตริย์ เป็นเหตุให้ชำรุด ทรุดโทรม เสื่อมทราม หรืออ่อนแอลง นำไปสู่การล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขในที่สุด ข้อโต้แย้งของผู้ถูกร้องทั้งสองจึงฟังไม่ขึ้น

มติเอกฉันท์ล้มล้างการปกครอง

ข้อโต้แย้งของผู้ถูกร้องที่ 2 ที่ว่า รัฐธรรมนูญมาตรา 49 ใช้เฉพาะกับบุคคลธรรมดาไม่ใช้กับพรรคการเมืองนั้น ผู้ถูกร้องที่ 1 ในฐานะที่เป็นหัวหน้าพรรคการเมือง และพรรคผู้ถูกร้องที่ 2 เป็นนิติบุคคลที่มีวัตถุประสงค์สำคัญที่ดำเนินกิจกรรมทางการเมือง เมื่อพรรคผู้ถูกร้องที่ 2 ได้แสดงบทบาทเคลื่อนไหวทางการเมืองสอดรับกับการเคลื่อนไหวของกลุ่มการเมืองต่างๆ โดยการรณรงค์ ปลุกเร้า และยุยง ปลุกปั่น เพื่อสร้างกระแสในสังคมให้สนับสนุน ให้ยกเลิก หรือแก้ไขประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ปรากฏพฤติการณ์ของพรรคผู้ถูกร้องที่ 2 พบว่ามีกลุ่มบุคคลที่มีชื่อทำกิจกรรม "ยืน หยุด ขัง" ข้อเรียกร้องให้พรรคการเมืองทุกพรรคเสนอนโยบาย ยกเลิกประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 มีกลุ่มบุคคลที่ปัจจุบันเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรของพรรคผู้ถูกร้องที่ 2 จัดชุมนุมโดยแนวร่วมคณะราษฎร ยกเลิก 112 ครย 112 มีการรณรงค์ให้ยกเลิกประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 มีพฤติการณ์สนับสนุนเรียกร้อง ให้ยกเลิก หรือแก้ไขประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 มีพฤติการณ์สนับสนุน เรียกร้องให้ยกเลิกประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 โดยโพสต์ข้อความลงในเฟซบุ๊กส่วนตัว นอกจากนี้ยังมีพฤติกรรมเป็นนายประกันเกี่ยวกับการเป็นนายประกันให้กับผู้ต้องหาหรือจำเลยในข้อหาตามมาตรา 112 

พฤติการณ์ที่แสดงออก หรือเข้าร่วมการชุมนุมที่มีการรณรงค์ให้ยกเลิกประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ถือเป็นหลักประกันผู้ต้องหาหรือจำเลยในข้อหาตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 หรือเป็นผู้กระทำความผิดในข้อหาดังกล่าวเสียเอง ย่อมแสดงให้เห็นว่าพรรคผู้ถูกร้องที่ 2 เป็นกลุ่มการเมืองที่มีอุดมการณ์ต้องการเปลี่ยนแปลงแก้ไข หรือยกเลิกบทบัญญัติแห่งกฎหมายที่คุ้มครองสถาบันพระมหากษัตริย์ นอกเหนือจากวิธีการนิติบัญญัติ ซึ่งศาลรัฐธรรมนูญเคยมีคำวินิจฉัยที่ 19/2564 ว่าการกระทำที่มีเจตนาทำลายล้างสถาบันพระมหากษัตริย์โดยชัดแจ้ง เป็นการเซาะกร่อน บ่อนทำลายระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข

ดังนั้น ศาลรัฐธรรมนูญได้วางมาตรฐานเกี่ยวกับระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขว่า  พระมหากษัตริย์ดำรงสถานะอยู่เหนือการเมือง และเป็นกลางทางการเมือง  การกระทำใดๆ ที่เป็นการส่งเสริมหรือทำลายให้สถาบันพระมหากษัตริย์สูญเสียสถานะที่จะต้องอยู่เหนือการเมือง หรือดำรงความเป็นกลางทางการเมือง  ย่อมเป็นการเซาะกร่อนบ่อนทำลาย เป็นเหตุให้ชำรุด ทรุดโทรม เสื่อมทราม หรืออ่อนแอลง เข้าลักษณะเป็นการล้มล้างการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข

นายนครินทร์ เมฆไตรรัตน์ ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ อ่านว่า เมื่อข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า การกระทำของผู้ถูกร้องทั้งสองมีพฤติการณ์ในการใช้เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นและความคิดเห็นเพื่อการทำลายการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข โดยซ่อนเร้นหรือผ่านการนำเสนอกฎหมายแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 และใช้เป็นนโยบายพรรค เหตุการณ์คำร้องผ่านพ้นไปแล้ว แต่การดำเนินการรณรงค์ให้การยกเลิกการแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญาของผู้ถูกร้องทั้งสองดำเนินการมาอย่างต่อเนื่องเป็นขบวนการ โดยใช้หลายพฤติการณ์ ทั้งการชุมนุม การจัดกิจกรรม การรณรงค์ผ่านสื่อสังคมออนไลน์ เสนอร่างกฎหมายเข้าสู่สภาผู้แทนราษฎร การใช้เป็นนโยบายหาเสียงเลือกตั้ง หากยังปล่อยให้ผู้ถูกร้องทั้งสองกระทำการดังกล่าวต่อไปย่อมไม่ไกลเกินเหตุที่จะนำไปสู่การล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข

การกระทำของผู้ถูกร้องทั้ง 2 จึงเป็นการใช้สิทธิหรือเสรีภาพเพื่อล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 49 วรรคหนึ่ง ซึ่งวรรคสอง ให้ศาลรัฐธรรมนูญมีอำนาจสั่งการให้เลิกการกระทำดังกล่าวที่จะเกิดขึ้นในอนาคตได้

อาศัยเหตุผลดังกล่าวศาลรัฐธรรมนูญมีมติเป็นเอกฉันท์วินิจฉัยว่าการกระทำของผู้ถูกร้องทั้งสอง เป็นการใช้สิทธิหรือเสรีภาพเพื่อล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 49 วรรคหนึ่ง สั่งการให้ผู้ถูกร้องทั้งสองเลิกการกระทำ เลิกการแสดงความคิดเห็น การพูด การเขียน การโฆษณา และการสื่อความหมายวิธีอื่น เพื่อให้มีการยกเลิกประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 อีกทั้งไม่ให้มีการแก้ไขประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ด้วยวิธีการซึ่งไม่ใช่กระบวนการทางนิติบัญญัติโดยชอบที่จะเกิดขึ้นต่อไปในอนาคตด้วย ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 49 วรรคสอง และพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ว่าด้วยวิธีพิจารณาศาลรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2561 มาตรา 74 (อ่านรายละเอียดหน้า 2) 

นายวรวิทย์ กังศศิเทียม ประธานศาลรัฐธรรมนูญ กล่าวทิ้งท้ายว่า คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญย่อมีทั้งผู้ที่เห็นด้วย หรือไม่เห็นด้วย แต่ขอให้ตระหนักว่า การวิจารณ์คำวินิจฉัยที่กระทำโดยไม่สุจริต และใช้ถ้อยคำที่มีความหมายหยาบคาย เสียดสี หรืออาฆาตมาดร้าย จะมีความผิดฐานละเมิดอำนาจศาล ตาม พ.ร.ป.ว่าด้วยวิธีพิจารณาศาลรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2561  มาตรา 38 วรรคท้าย ซึ่งจะมีโทษตักเตือน จำคุก ปรับไม่เกิน 50,000 บาท

เรืองไกรร้อง กกต.ยุบพรรค

ที่รัฐสภา  เวลา 13.55 น. นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ สส.บัญชีรายชื่อ และประธานที่ปรึกษาหัวหน้าพรรคก้าวไกล,  นายชัยธวัช ตุลาธน สส.บัญชีรายชื่อ และหัวหน้าพรรคก้าวไกล พร้อม สส.ของพรรค ได้ทยอยเข้ามาที่ห้องวอร์รูมของพรรค เพื่อฟังคำวินิจฉัยดังกล่าวพร้อมกัน

จากนั้น เวลา 15.00 น. นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ประธานคณะก้าวหน้า เดินทางเข้ารับฟังการอ่านคำตัดสินของศาลรัฐธรรมนูญในคดีดังกล่าวร่วมกับ สส.พรรคก้าวไกลในห้องวอร์รูมเช่นเดียวกันพรรค อย่างไรก็ตาม ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ขณะที่นายธนาธรกำลังเดินเข้าห้องวอร์รูมไป ศาลรัฐธรรมนูญได้มีคำวินิจฉัยออกมาเรียบร้อยแล้ว และนายธนาธรได้หลบหน้าผู้สื่อข่าวโดยเดินออกจากห้องประชุมผ่านทางหนีไฟ

ต่อมาเวลา 16.15 น. นายชัยธวัช ตุลาธน สส.บัญชีรายชื่อ และหัวหน้าพรรคก้าวไกล พร้อมด้วยนายพิธา และสส.พรรคก้าวไกล แถลงข่าวถึงความเห็นภายหลังศาล รธน.มีคำวินิจฉัยในคดีใช้นโยบายแก้ไขกฎหมายอาญามาตรา 112 หาเสียงของพรรคก้าวไกล เข้าข่ายล้มล้างการปกครองและสั่งยุติการกระทำ

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในการแถลงข่าวครั้งนี้ นายชัยธวัชจะเป็นผู้แถลงหลักเป็นภาษาไทย ส่วนนายพิธาจะแปลคำแถลงของนายชัยธวัชเป็นภาษาอังกฤษ พร้อมตอบข้อซักถามสื่อมวลชนต่างประเทศ

นายชัยธวัชกล่าวว่า คำวินิจฉัยของศาล รธน.ในวันนี้ แม้ว่าศาลจะวินิจฉัยว่าการกระทำของพรรคก้าวไกลถือว่าเป็นการใช้สิทธิเสรีภาพเพื่อการล้มล้างการปกครอง แต่พรรคก้าวไกลขอยืนยันอีกครั้งว่า เราไม่ได้เจตนา เพื่อเซาะกร่อนบ่อนทำลาย หรือแยกสถาบันพระมหากษัตริย์ออกจากชาติแต่อย่างใด

หัวหน้าพรรค ก.ก.กล่าวว่า พวกเรายังกังวลว่าคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญวันนี้ อาจก่อให้เกิดผลกระทบต่อการเมืองไทยในระยะยาว อีกทั้งการตีความข้อเท็จจริง ข้อกฎหมาย และเจตนาคำวินิจฉัยในคดี อาจก่อให้เกิดปัญหาต่อดุลยภาพระหว่างประชาธิปไตยกับสถาบันพระมหากษัตริย์ในระบอบการเมืองไทยในอนาคต สุดท้ายคำวินิจฉัยในวันนี้ อาจส่งผลกระทบให้ประเด็นเรื่องสถาบันพระมหากษัตริย์ กลายเป็นปัญหาความขัดแย้งในการเมืองไทยมากยิ่งขึ้น ซึ่งอาจจะส่งผลกระทบด้านลบต่อสถาบันเสียเอง

"สิ่งที่เกิดขึ้นในวันนี้ และผลที่จะเกิดขึ้นในอนาคต จึงเป็นเรื่องของพวกเราทุกคน ไม่ใช่ของพรรคก้าวไกล เป็นเรื่องของอนาคต ของระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข" หัวหน้าพรรค ก.ก.กล่าว

ขณะที่ นายปิยบุตร แสงกนกกุล  เลขาธิการคณะก้าวหน้า โพสต์เฟซบุ๊ก ตอนหนึ่งระบุว่า "ผมไม่เห็นด้วยกับคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญดังกล่าว ทั้งผลของคำวินิจฉัย เหตุผลประกอบคำวินิจฉัย และการออกคำบังคับของศาล เพื่อประโยชน์ในทางวิชาการ ผมจำเป็นต้องใช้เสรีภาพในการวิจารณ์คำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ"

วันเดียวกัน นายธีรยุทธ สุวรรณเกษร  ผู้ร้องให้ศาล รธน.วินิจฉัย ซึ่งเดินทางไปฟังคำวินิจฉัยที่ศาล รธน. กล่าวว่า จะขอกลับไปทบทวนคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญที่ออกมาก่อน ก่อนที่จะพิจารณาว่าจะดำเนินการใดๆ ต่อไป

ส่วนกลุ่มศูนย์รวมประชาชนปกป้องสถาบัน (ศปปส.) ที่มารอฟังคำวินิจฉัยที่ศาล รธน.เช่นกัน ได้ชูกำปั้นและชูนิ้วชี้แสดงอาการดีใจ โดยนายอานนท์ กลิ่นแก้ว แกนนำกลุ่ม ศปปส. กล่าวว่า เชื่อว่าคนไทยทั้งประเทศก็ดีใจพร้อมกับพวกเราที่เดินปกป้องสถาบันพระมหากษัตริย์มาหลายปี เราไม่เสียแรงเปล่า ไม่เสียของ เราส่งข้อความถึงพี่น้องคนไทยทั่วประเทศว่า สถาบันพระมหากษัตริย์ยังคงอยู่กับคนไทย และกฎหมายมาตรา 112 จะปกป้องคุ้มครองพระมหากษัตริย์ของพวกเรา

ขณะที่ นายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ สมาชิกพรรคพลังประชารัฐ เปิดเผยว่า  ในวันที่ 1 ก.พ. เวลา 10.00 น. ตนจะเดินทางไป กกต.เพื่อยื่นยุบพรรคก้าวไกล เนื่องจากก่อนหน้านี้เคยไปยื่นร้องต่อ กกต.ให้ยุบพรรคก้าวไกลมาแล้ว 2 รอบ กรณีที่พรรคก้าวไกลแก้ไข ม.112 แต่ขณะนั้น กกต.บอกว่าไม่เข้าเงื่อนไข ไม่สามารถดำเนินการได้ แต่ล่าสุดคำวินิจฉัยของศาล รธน.ระบุชัดเจนว่าการแก้ไขมาตรา 112 ของพรรคก้าวไกล เข้าข่ายล้มล้างการปกครอง จึงถือว่าเข้าเงื่อนไขตามมาตรา 92 ของพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง เรื่องการกระทำล้มล้างการปกครองในระบอบประชาธิปไตยฯ ที่ กกต.จะต้องรับเรื่องไปพิจารณายุบพรรคก้าวไกล โดยตนจะขอให้ กกต.รีบดำเนินการไต่สวนเรื่องนี้เป็นการเร่งด่วน เพราะมีคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญออกมาอย่างชัดเจนแล้ว

 “ยืนยันว่าเป็นการดำเนินการตามกฎหมาย ไม่มีใครสั่งให้ผมมาขยายผลยุบพรรคก้าวไกลต่อ” นายเรืองไกรกล่าว.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

‘จุรินทร์’ เผย8ปัจจัย การเมืองปี68เดือด!

"จุรินทร์" เปิด 8 ปัจจัยการเมืองปี 2568 จับตามีคดีความที่มีผู้ร้องไปยื่นร้องนายกฯ และผู้เกี่ยวข้องไว้ที่ศาลรัฐธรรมนูญและองค์กรอิสระต่างๆ ซึ่งปัจจุบันมีเรื่องที่ค้างอยู่อย่างน้อย