เร่งตั้ง‘กมธ.นิรโทษกรรม’ ทอนจ้องริบรายได้กองทัพ

นายกฯ ลาป่วย 2 วัน ตามคำแนะนำแพทย์ หลังไข้หวัดใหญ่เล่นงาน รีบรักษาตัวก่อนบินไปศรีลังกา 3-4 ก.พ.นี้  ด้าน “ธนาธร” เข้าประชุม กมธ.ถ่ายโอนทรัพย์สินกองทัพฯ หวังริบรายได้เข้าคลัง อ้างทำให้กองทัพมีความเป็นสมัยใหม่

เมื่อวันที่ 31 มกราคม 2567 ผู้สื่อข่าวรายงานความเคลื่อนไหวของนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ภายหลังเปิดเผยผลตรวจเลือดออกมาว่า ป่วยเป็นไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ A และเมื่อวันที่ 30 ม.ค.ที่ผ่านมา จากเดิมนายกฯ จะเข้าปฏิบัติหน้าที่ที่ทำเนียบรัฐบาล ในเวลา 11.30 น. และอยู่ระหว่างขอคำปรึกษากับแพทย์อีกครั้งว่าควรจะหยุดพักหรือไม่

ล่าสุด วันเดียวกันนี้ ตามคำแนะนำของแพทย์ โดยเบื้องต้นนายกฯ ได้แจ้งลาป่วย 2 วัน เพื่อพักรักษาอาการป่วยไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ A อยู่ที่บ้านพักสุขุมวิท 16 ทั้งนี้ หากวันที่ 1 ก.พ. อาการดีขึ้น นายกฯ จะทำงานผ่านระบบซูมที่บ้านพักเพื่อติดตามงาน เนื่องจากในวันที่ 3-4 ม.ค. มีกำหนดการเดินทางเยือนสาธารณรัฐสังคมนิยมประชาธิปไตยศรีลังกา จึงต้องการให้อาการป่วยหายสนิท

นายเศรษฐายังโพสต์ข้อความผ่าน x  ว่า สำนักงานศาลยุติธรรมพาน้องๆ เยาวชนจาก 3 จังหวัดภาคใต้มาพบผมที่ทำเนียบฯ แต่ผมป่วยเสียก่อน เราเลยไม่ได้เจอกัน น้องๆ เลยฝากคลิปนี้ให้ ผมดูคลิปแล้วมีกำลังใจมากๆ อยากหายป่วยไปทำงานวันนี้เลย ขอบคุณน้องๆ มากนะครับ

ที่รัฐสภา นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ  ประธานคณะก้าวหน้า ให้สัมภาษณ์ก่อนเข้าประชุมคณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญพิจารณาศึกษาแนวทางการถ่ายโอนธุรกิจของกองทัพไปอยู่ในความดูแลของหน่วยงานอื่น หรือย้ายไปสถานที่อื่นที่เหมาะสม ถึงความคาดหวังใน กมธ.ชุดนี้ ว่า กมธ.ชุดนี้จะมีเป้าหมายในการศึกษาทรัพย์สินที่อยู่ภายใต้การบริหารของกองทัพที่เกี่ยวกับการพาณิชย์ว่ามีอะไรบ้าง รวมถึงดูว่าจะมีอะไรสามารถถ่ายโอนกลับเข้ามาที่กระทรวงการคลัง

"เชื่อว่ากองทัพในปัจจุบันมีภารกิจที่ไม่ได้เกี่ยวข้องกับการป้องกันประเทศเยอะมาก ทั้งสนามกอล์ฟ โรงแรม และศูนย์ประชุมต่างๆ ซึ่งไม่เกี่ยวกับภารกิจหลัก จึงเห็นว่าควรถ่ายโอนรายได้เหล่านี้ไปให้กระทรวงการคลัง และทำให้กองทัพมีความเป็นสมัยใหม่"

เมื่อถามว่า จะหาจุดสมดุลระหว่างการเมืองกับกองทัพอย่างไร นายธนาธร ตอบว่า ต้องใช้ กมธ.ในการสนทนากัน เพื่อหาทางออกที่ดีที่สุดให้กับประเทศ ส่วนจะเป็นความขัดแย้งเรื่องการเมืองและกองทัพหรือไม่นั้น ประวัติศาสตร์มีมาแล้ว ในอดีตกองทัพไม่มีงบประมาณ​ ขอก็ไม่ได้ กองทัพก็ขอทรัพย์สินบางส่วนไปบริหารเองเพื่อจัดเป็นสวัสดิการให้กับทหาร แต่เวลาก็ผ่านมานานแล้ว หากกองทัพอยากมีสวัสดิการ ก็ต้องขอผ่านกลไกสภาเหมือนกระทรวงอื่นตามปกติ คิดว่าเรื่องนี้ไม่น่าจะนำไปสู่ความขัดแย้ง การจัดสรรทรัพยากรเป็นเรื่องการเมืองอยู่แล้ว ดังนั้น จึงเป็นปัญหาการเมือง และเชื่อว่ากมธ.ชุดนี้คงมีข้อสรุปที่เห็นร่วมกันได้

ถามถึงกรณีที่มีการมองว่าการนั่ง กมธ.ชุดนี้เป็นการปูทางกลับเข้าสู่การเมือง นายธนาธรปฏิเสธว่า “ไม่หรอกครับ ทางพรรคก้าวไกลเห็นว่าผมติดตามเรื่องนี้มานาน จึงอยากให้มาช่วยนั่งใน กมธ.ชุดนี้ ซึ่งผมก็ยินดี”

ผู้สื่อข่าวถามว่า มองอย่างไรหากนายจิรายุ ห่วงทรัพย์ โฆษกกระทรวงกลาโหม นั่งประธาน กมธ.ชุดนี้ นายธนาธรกล่าวว่า เชื่อว่านายจิรายุจะทำหน้าที่อย่างเป็นธรรม และไม่ติดขัดอะไร

ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎรวันเดียวกันนี้ นายศรัณย์ ทิมสุวรรณ สส.เลย พรรคเพื่อไทย ในฐานะเลขานุการวิปรัฐบาล ขอเปลี่ยนระเบียบวาระการประชุม ขอให้นำญัตติที่ 5.50 เรื่องขอให้สภาตั้งคณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญเพื่อศึกษาการออกกฎหมายนิรโทษกรรม ขึ้นมาพิจารณาต่อจากกระทู้ทั่วไปในการประชุมสภาวันที่ 1 ก.พ. โดยมีเหตุผลและความจำเป็นเนื่องจากขณะนี้หลายฝ่ายให้ความสนใจ ไม่ว่าจะในสภานอกสภา หรือภาคประชาชน ขณะเดียวกันสิ่งที่หลายฝ่ายกำลังคุยกันก็มีความเห็นที่แตกต่าง แต่ทุกฝ่ายที่เห็นว่าควรจะมีกฎหมายนิรโทษกรรมเกิดขึ้นนั้นมีความเห็นที่ยังแตกต่างกันในหลายประเด็น ทางรัฐบาลและผู้เสนอญัตติ จึงมองว่าการที่จะให้ใช้พื้นที่สภาเป็นพื้นที่กลางในการพูดคุย อย่างน้อยๆ ให้ทุกคน ทุกกลุ่ม ที่ต้องการจะเสนอกฎหมาย ได้มีพื้นที่มาคุยกัน จะได้ทำให้เราสามารถผลักดันกฎหมายให้เกิดขึ้นจริง และสามารถหาจุดร่วมกันได้

ด้านนายณัฐวุฒิ บัวประทุม สส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ในฐานะวิปฝ่ายค้าน กล่าวว่า ไม่ว่าผู้เห็นต่างทางการเมือง ผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการถูกดำเนินคดี ถึงเวลาที่สังคมไทยต้องทบทวนการทำกฎหมายนิรโทษกรรม แต่เมื่อพิจารณาจากที่มีการเผยแพร่ออกมา มีเนื้อหาใกล้เคียงกัน 3 เรื่อง คือร่างพ.ร.บ.นิรโทษกรรมแก่บุคคลซึ่งได้กระทำความผิดอันเนื่องมาจากเหตุการณ์ความขัดแย้งทางการเมือง พ.ศ.... นำเสนอโดยนายชัยธวัช ตุลาธน สส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล กับคณะ 2.ร่าง พ.ร.บ.ที่เกี่ยวเนื่องกับการนิรโทษกรรม จากผู้แทนของพรรครวมไทยสร้างชาติ ที่ประธานสภาฯ รับไว้แล้ว และ 3.ภาคประชาชนและไอลอว์ จะเสนอร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมในเดือน ก.พ. ซึ่งในทางกฎหมายเวทีสภาเป็นเวทีที่มาพูดคุยกัน ตนเชื่อมั่นว่าเรามีความพร้อมที่จะมีการพูดคุย และเชื่อมั่นว่าท้ายที่สุดจะนำไปสู่การออกกฎหมายนิรโทษกรรม

นายณัฐวุฒิกล่าวต่อว่า เพื่อให้มีความชัดเจนยิ่งขึ้น หากมีการเลื่อนญัตติ ก็เชื่อมั่นว่าสภาน่าจะมีการรับหลักการ และนำไปสู่การตั้ง กมธ.วิสามัญฯ แต่คนที่ติดคุก และคนที่มีผลกระทบอาจจะรอไม่ได้ จึงขอให้เร่งดำเนินการ มีกรอบระยะเวลาในการพิจารณาญัตติ มีเป้าหมายที่ชัดเจนว่าจะนำไปสู่สังคมที่กลับคืนสู่ระบบปกติ พวกตนก็เห็นด้วยที่จะให้มีการเลื่อนญัตติ และเห็นตรงกันว่าหากมีการพิจารณาอย่างรวดเร็วนำไปสู่การตั้ง กมธ.วิสามัญฯ และขอให้เกิดพื้นที่ให้ทุกฝ่ายมีส่วนร่วม เพราะมีข่าวมาว่าการจัดสรรที่นั่งใน กมธ.วิสามัญฯ สัดส่วนไม่เป็นไปตามปกติที่ควรจะเป็น จึงขอให้จัดสัดส่วนที่ใกล้เคียงกัน หากไม่เป็นแบบนั้นก็ต้องมาทบทวนอีกทีว่าจะเอาอย่างไร

แต่นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน ประธานในที่ประชุม ชี้แจงว่า เรื่องสัดส่วน กมธ.วิสามัญฯ ที่จะเกิดขึ้น ถ้าอยากจะให้มีผู้มีส่วนร่วมมากขึ้น ก็ขอให้วิปทั้งสองฝ่ายได้พูดคุยกัน เพราะสามารถเพิ่มจำนวนได้ ดังนั้นการเลื่อนญัตติดังกล่าวถือว่าไม่มีผู้ใดขัดข้อง

นอกจากนี้ ยังมีการพิจารณาวาระรับทราบรายงานผลการพิจารณาศึกษา เรื่อง การจัดทำข้อเสนอระบบการเลือกตั้งและแนวทางการทำงานของสภาร่างรัฐธรรมนูญที่มาจากการเลือกตั้ง ตามที่คณะกรรมาธิการ (กมธ.) พัฒนาการเมือง การสื่อสารมวลชน และการมีส่วนร่วมของประชาชนพิจารณาเสร็จแล้ว

โดยนายพริษฐ์ วัชรสินธุ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ในฐานประธาน กมธ. เสนอรายงานว่า รัฐธรรมนูญปัจจุบันถูกตั้งคำถามถึงความชอบธรรมทางประชาธิปไตย ทั้งที่มา กระบวนการ และเนื้อหา จำเป็นต้องจัดทำรัฐธรรมนูญใหม่ให้มีความชอบธรรมทางประชาธิปไตยมากที่สุด โดยมีสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) จากการเลือกตั้งทั้งหมด แต่บางฝ่ายในสังคมกังวลว่า ส.ส.ร.จากการเลือกตั้งทั้งหมด จะไม่มีพื้นที่ให้ผู้เชี่ยวชาญ หรือตัวแทนที่มีความหลากหลายมามีส่วนยกร่าง

นายพริษฐ์กล่าวต่อว่า ตามรายงานฉบับนี้เชื่อว่า ข้อกังวลต่างๆ ถูกคลี่คลายได้ ภายใต้กรอบ ส.ส.ร.จากการเลือกตั้งทั้งหมด โดยแบ่ง ส.ส.ร.เป็น 3 ประเภทคือ 1.ส.ส.ร.ตัวแทนพื้นที่ หรือประเภท ก.  2.ส.ส.ร.ตัวแทนผู้เชี่ยวชาญ-ผู้มีประสบการณ์ หรือประเภท ข.  และ 3.ส.ส.ร.ตัวแทนกลุ่มความหลากหลาย หรือประเภท ค. ส.ส.ร.ทุกประเภทมาจากการเลือกตั้ง มีความเชื่อมโยงกับประชาชนผ่านคูหาเลือกตั้ง จะไม่มี ส.ส.ร.จากช่องทางที่ไม่เชื่อมโยงกับประชาชนผ่านคูหาเลือกตั้ง เช่น การแต่งตั้งโดยองค์กรใดที่ประชาชนไม่ได้รับรู้

ส่วนอีกโมเดลอาจให้ ส.ส.ร.ประเภท ข. และ ค. มาจากการเลือกของ ส.ส.ร.ประเภท ก. แม้จะไม่ใช่การเลือกตั้งที่มาจากการประชาชนโดยตรง แต่ก็มาจากการเลือกโดยตัวแทนประชาชน รายงานฉบับนี้แม้ไม่มีข้อสรุปชัดเจนจะใช้โมเดลใด แต่ก็แสดงให้เห็นทางเลือกที่มีความหลากหลายของการเลือกตั้ง ส.ส.ร.ที่มาจากการเลือกตั้งโดยตรงของประชาชน

หลังสมาชิกอภิปรายแสดงความคิดเห็นเสร็จสิ้น โดยไม่มีสมาชิกเห็นเป็นอย่างอื่น และเห็นตามที่ กมธ.ขอให้ส่งรายงานฉบับนี้ไปให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) สภาผู้แทนราษฎร และสมาชิกวุฒิสภา  เพื่อพิจารณาและเป็นทางเลือก.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

กกต.จับตาศึก ‘อบจ.ราชบุรี’

ประธาน กกต.ยันจับตาเลือกตั้ง อบจ.ราชบุรีวันอาทิตย์นี้ เตือนอย่าทำอะไรผิดกฎหมาย “2 ผู้สมัคร” แห่หาเสียงโค้งสุดท้าย โดยเฉพาะเด็กค่าย ปชน.

ไปข้างหน้าเพื่อชาติ! อิ๊งค์วอนเสื้อแดงให้เข้าใจ ราชทัณฑ์ดิ้นโต้เสรีพิศุทธ์

"นายกฯ อิ๊งค์" เผย ครม.นิ่งแล้ว รอตรวจประวัติเสร็จทำงานได้ทันที แจงจับมือ "ประชาธิปัตย์" เพื่อเสถียรภาพรัฐบาล บอกเข้าใจหัวอกคนเสื้อแดง วอนก้าวไปข้างหน้าเพื่อชาติ