รบ.ลากยาว‘สว.’ซักฟอกปลายมี.ค.

นายกฯ สั่งทุกหน่วยงานเร่งเสนอ กม. หลังพบล่าช้า พร้อมให้ “สมศักดิ์” ไล่บี้ทุกกระทรวง เปิดภารกิจเดือน ก.พ. เดินสายแน่น “ลพบุรี- อีสาน-3 จชต." ผลตรวจพบนายกฯ ป่วยไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ A "ภูมิธรรม" ลั่น พร้อมทุกเมื่อ สว.เปิดอภิปราย แต่นายกฯ เดินสาย ตปท.ยาวหลัง 20 มี.ค.อภิปรายได้ "สว." สับเละนโยบายประชานิยม สร้างวาทกรรมให้ได้คะแนนเสียง "ดิจิทัลวอลเล็ต" หาเสียงอีกอย่าง ทำอีกอย่าง หลอกลวงเพื่อคะแนนนิยม

ที่ทำเนียบรัฐบาล วันที่ 30 มกราคม   นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรมว.การคลัง เป็นประธานการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ก่อนการประชุมบริเวณโถงกลาง ตึกบัญชาการ 1 คณะกรรมการมูลนิธิสงเคราะห์ครอบครัวทหารผ่านศึก ในพระราชูปถัมภ์สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี เข้าพบนายกรัฐมนตรีเพื่อมอบดอกไม้ที่ระลึกวันทหารผ่านศึก (ดอกป๊อปปี้) ให้นายกฯ และ ครม.

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับภารกิจในการเดินทางลงพื้นที่ต่างจังหวัดของนายกรัฐมนตรีช่วงเดือน ก.พ. โดยวันที่ 9 ก.พ. นายกฯ จะลงพื้นที่ดูงานด้านเกษตรกรรม จ.ลพบุรี และช่วงเย็นร่วมงานแผ่นดินสมเด็จพระนารายณ์มหาราช จากนั้นวันที่ 17-19 ก.พ. มีภารกิจลงพื้นที่ จ.นครพนม สกลนคร และอุดรธานี ดูด้านการท่องเที่ยว โครงสร้างพื้นฐาน ถนนเชื่อมจังหวัด และนวัตกรรมด้านการเกษตร และวันที่ 27-29 ก.พ. นายกฯ จะเดินทางลงพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ เพื่อดูการส่งเสริมเรื่องการท่องเที่ยว และเร่งรัดการลงทุนอุตสาหกรรมฮาลาล

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในการประชุม ครม. นายเศรษฐายังมีอาการป่วยไข้หวัดอยู่ ช่วงการแถลงข่าวนายกฯ มีสีหน้าอิดโรยเล็กน้อย น้ำเสียงแหบ และกระแอมไอเป็นระยะ แต่ยังตอบคำถามของผู้สื่อข่าวทุกคำถาม

ต่อมา เวลา 16.35 น. ที่พรรคเพื่อไทย นายเศรษฐาเดินทางกลับภายหลังการประชุม สส.พรรคเพื่อไทย โดยได้สวมหน้ากากอนามัย ก่อนที่ผู้สื่อข่าวจะสอบถามว่าอาการเป็นอย่างไร ผลตรวจเลือดออกแล้วหรือไม่ ซึ่งนายกฯ ได้กล่าวด้วยน้ำเสียงที่แหบพร่าว่า ป่วยเป็นไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ A แต่วันพรุ่งนี้ (31 ม.ค.) ยังคงปฏิบัติงานตามเดิม โดยช่วงเย็นมีนัดรับประทานอาหารกับผู้นำเหล่าทัพ

นายชัย วัชรงค์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงภายหลังการประชุม ครม. ว่า นายกฯ ได้ขอให้ทุกกระทรวง ทุกหน่วยงานไปเร่งตรวจสอบและเสนอกฎหมายที่อยู่ในความรับผิดชอบ เพื่อเสนอต่อ ครม.โดยเร็ว สืบเนื่องจากเมื่อวันที่ 31 ต.ค.66 นายกฯ ได้เคยกำชับให้ทุกกระทรวงกลับไปทบทวนกฎหมายของตัวเอง ทั้งกฎหมายและระเบียบเดิมว่าอะไรควรจะต้องยกเลิกให้รีบเสนอมา รวมถึงกฎหมายฉบับใหม่ๆ ที่ต้องเสนอเข้ามา ซึ่งนายกฯ ได้ให้ทีมงานมอนิเตอร์ พบว่าการเสนอกฎหมายของรัฐบาลยังล่าช้า จึงขอให้นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะผู้ประสานกับรัฐมนตรีทุกคนไปเร่งรัดทุกกระทรวงให้เร่งเสนอกฎหมาย ไม่ว่าจะเป็นการแก้ไขหรือเสนอเข้ามาใหม่ เพื่อให้ ครม.พิจารณาโดยเร็วที่สุด

นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.พาณิชย์ กล่าวถึงความพร้อมของ ครม. ภายหลังสมาชิกวุฒิสภายื่นมติอภิปรายทั่วไปแบบไม่ลงมติตามมาตรา 153 ว่า จะอภิปรายวันไหนก็ได้ รัฐบาลมีความพร้อมอยู่แล้ว ซึ่งการอภิปรายตามมาตรา 153 ก็เป็นการแสดงความคิดเห็น วิพากษ์วิจารณ์ และการติติง ซึ่งเป็นธรรมดาที่รัฐบาลต้องรับฟัง ซึ่งเรื่องใดที่เป็นประโยชน์ก็จะน้อมรับฟังและนำไปปฏิบัติ แต่เรื่องใดที่ยังมีการสื่อสารที่คลาดเคลื่อนกัน ไม่เข้าใจกัน รัฐบาลก็พร้อมที่จะชี้แจง ซึ่งทุกคนก็ทำตามหน้าที่ ฝ่ายค้านก็ทำตามหน้าที่ สว. ก็ทำตามหน้าที่ รัฐบาลก็มีหน้าที่ที่ต้องชี้แจงเพื่อสร้างความเข้าใจกับพี่น้องประชาชนมากขึ้น

"แต่ตอนนี้รัฐบาลติดภารกิจของนายกฯ ที่จะเดินทางไปประเทศศรีลังกา ต่อด้วยการเดินทางไปประเทศออสเตรเลีย รวมถึงจะเดินทางไปยังทวีปยุโรปในหลายๆ ประเทศ นับเป็นภารกิจที่มีระยะเวลากว่า 10 วัน โดยเริ่มเดินทางตั้งแต่วันที่ 4 มีนาคม ซึ่งหลังวันที่ 20 มีนาคมเป็นต้นไป วันใดที่พร้อมก็สามารถอภิปรายได้ทันที"

เมื่อถามว่า หาก สว.มีการอภิปรายเนื้อหาถึงคนชั้น 14 จะมีองครักษ์มาปกป้องหรือไม่ ภูมิธรรมกล่าวว่า อย่าเพิ่งไปคิดว่ามี เพราะยังไม่รู้ว่า สว.จะอภิปรายเรื่องใดบ้าง จริงๆ ตนไม่ชอบให้คนจินตนาการมาก เพราะตนนั้นอยากให้อยู่กับความเป็นจริง

ที่ทำการพรรคก้าวไกล (ก.ก.) นายพริษฐ์ วัชรสินธุ สส.บัญชีรายชื่อ และโฆษกพรรค ก.ก. กล่าวถึงการนัดรับประทานอาหารเย็นกระชับมิตรของแกนนำพรรคร่วมฝ่ายค้านในเย็นวันที่ 1 ก.พ.นี้ ซึ่งเป็น 1 วันหลังศาลรัฐธรรมนูญอ่านคำวินิจฉัยคดีพรรค ก.ก.หาเสียงแก้ไข มาตรา 112 ว่า เรื่องวันที่ประจวบเหมาะกัน น่าจะเป็นเรื่องบังเอิญ ความจริงการหารือร่วมกันระหว่างพรรคร่วมฝ่ายค้านเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นประจำ เพื่อให้การทำงานร่วมกันมีเอกภาพ แม้ว่าการทำงานของพรรคร่วมฝ่ายค้านอาจจะไม่ได้ลักษณะเดียวกันกับพรรคร่วมรัฐบาล เพราะอาจไม่ได้มีการรวมตัวกันเป็นกิจจะลักษณะ แต่การหารือแนวทางการทำงานร่วมกันก็เป็นเรื่องสำคัญ

ส่วนเรื่องหัวข้อในการอภิปรายทั่วไป นายพริษฐ์กล่าวว่า เคยถูกพูดคุยอย่างเป็นทางการในการประชุมมาแล้ว เบื้องต้นแม้ยังไม่ได้มีการตัดสินใจเรื่องวันเวลา แต่คาดว่าจะเกิดขึ้นหลังจากงบประมาณปี 2567 ผ่าน 3 วาระไปแล้วเวลาที่เป็นไปได้สุดคือช่วงต้นเดือน เม.ย. ก่อนที่จะปิดสมัยประชุม ส่วนจะเป็นแบบลงมติหรือไม่ ต้องหารืออีกที

ที่รัฐสภา ในการประชุมวุฒิสภา มีนายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธานวุฒิสภา เป็นประธานการประชุม พิจารณารายงานการพิจารณาศึกษาเรื่องผลกระทบของนโยบายหาเสียงเชิงประชานิยมของพรรคการเมืองไทย ซึ่งคณะกรรมาธิการ (กมธ.) การพัฒนาการเมืองและการมีส่วนร่วมของประชาชน  วุฒิสภา พิจารณาเสร็จแล้ว

โดยนายกำพล เลิศเกียรติดำรงค์ สว.กมธ. ในฐานะประธานอนุ กมธ.ด้านวิชาการและเสริมสร้างให้ความรู้ระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข พิจารณาศึกษาเรื่องผลกระทบของนโยบายหาเสียงเชิงประชานิยมของพรรคการเมืองไทย ชี้แจงว่า นโยบายหาเสียงเชิงประชานิยมมีทั้งข้อดีและข้อเสียควบคู่กันไป หากมีการหาเสียงไปในทิศทางการสร้างวาทกรรมหรือการใช้ช่องว่างทางกฎหมายที่ไม่เหมาะสมล้วนแล้วก่อให้เกิดปัญหา สร้างร่องรอยความเสียหายให้กับประเทศอย่างใหญ่หลวง การเลือกตั้งปี 66 พรรคการเมืองมีการใช้นโยบายหาเสียงเชิงประชานิยมมากกว่าการเลือกตั้งทุกครั้งที่ผ่านมา นโยบายการหาเสียงที่ไร้ผิดชอบ เปรียบเสมือนนโยบายชวนเชื่อที่พยายามจะให้ช่องว่างของกฎหมาย สร้างความเสียหายต่อระบบเศรษฐกิจและสังคมของประเทศเหมือนในอดีตที่ผ่านมา ซึ่งทำให้ก่อภาระหนี้ผูกพันของประเทศมาจนถึงปัจจุบันและอนาคตได้

  ด้านนายเชษฐา ทรัพย์เย็น อนุ กมธ. ชี้แจงว่า ประเด็นเรื่องความชอบธรรมในการออกนโยบายประชานิยม อาจจะเป็นการละเมิดหลักการประชาธิปไตยหรือไม่ เพราะเป็นการเอาเสียงข้างมากมากดเสียงข้างน้อย และเป็นการเอาผลประโยชน์ของประชาชนแลกกับคะแนนเสียงทางการเมืองหรือไม่ 

  จากนั้นเปิดให้สมาชิกแสดงความคิดเห็น โดยนายเฉลิมชัย เฟื่องคอน สว. อภิปรายว่า เรื่องประชานิยมโดยเฉพาะเงินดิจิทัลวอลเล็ต ซึ่งเป็นนโยบายของพรรคเพื่อไทยที่เป็นแกนนำรัฐบาล ที่หาเสียงไว้อย่าง แต่ปฏิบัติอีกอย่าง โดยหาเสียงว่าเงิน 5.6 แสนล้านบาท ให้คนละ 1 หมื่นบาททุกคน โดยไม่ต้องกู้ แต่เวลาแถลงนโยบายก็บอกเงินไม่มี ต้องกู้ และแจกไม่ทุกคน อย่างนี้ถือว่าหาเสียงอีกอย่างทำอีกอย่าง หลอกลวงเพื่อคะแนนนิยม ทำให้ประชาชนหลงผิด

ขณะที่ นายเสรี สุวรรณภานนท์ สว.ในฐานะประธาน กมธ.การพัฒนาการเมืองฯ  ชี้แจงว่า รัฐธรรมนูญปี 60 เห็นปัญหาในเรื่องเหล่านี้ จึงได้บัญญัติไว้ในมาตรา 258 หมวด ก (3) ที่ให้ความสำคัญว่านโยบายต่างๆ ต้องมีกลไกกำหนดความรับผิดชอบของพรรคการเมือง แต่ กกต.บอกว่าเป็นนโยบายสามารถทำได้ ปัญหาก็กลับมาที่ กกต.อีก หาก กกต.บอกว่าทำไม่ได้ หมิ่นเหม่ต่อการผิดกฎหมาย กระทบการเงินการคลัง นโยบายนี้มีปัญหากับการเลือกตั้ง พรรคการเมืองเขาก็จะไม่นำมาใช้ แต่ปรากฏว่า กกต.ไปวางกฎเกณฑ์ไว้แบบนี้ กกต.จึงขาดความน่าเชื่อถือ

ทั้งนี้ หลังสมาชิกแสดงความคิดเห็นเสร็จสิ้น ที่ประชุมวุฒิสภาเห็นชอบกับรายงานฉบับนี้ เพื่อส่งให้รัฐบาลและหน่วยงานต่างๆ รับทราบ.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง