คลังบีบกนง.ลดดอกเบี้ย เล็งออกบอนด์กู้ต่างชาติ

นายกฯ เผยหลังหารือ "หวัง อี้" ระบุรัฐบาล-เอกชนจีนสนใจโครงการแลนด์บริดจ์ “คลัง” จ่อออกพันธบัตรกู้ต่างชาติในรอบ 20 ปี ระดมทุนรอ ดับฝันแจกเงินหมื่น "จุลพันธ์" ยอมรับอย่างเป็นทางการไม่ทัน พ.ค.นี้แน่นอนแล้ว ยันมีโครงการอื่นแต่ขออุบไว้ก่อน บีบ กนง.ลดดอกเบี้ย อ้างช่วยเหลือประชาชน

เมื่อวันที่ 29 มกราคม 2567 นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและ รมว.การคลัง ให้สัมภาษณ์ภายหลังการหารือกับนายหวัง อี้ สมาชิกกรมการเมือง ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการกลางด้านกิจการต่างประเทศของพรรคคอมมิวนิสต์จีน และ รมว.ต่างประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีน ในเรื่องโครงการแลนด์บริดจ์ว่า นายหวัง อี้ ได้พูดขึ้นมาเองว่า ทางการจีนสนใจโครงการแลนด์บริดจ์และต้องการข้อมูลเพิ่มเติม และไม่ใช่เพียงแค่รัฐบาลจีนเพียงอย่างเดียว แต่เอกชนจีนก็สนใจที่จะมีส่วนร่วม เพราะเขาทราบดีว่าหนึ่งในเหตุผลหลักที่เราดำริขึ้นมาว่าควรจะมีแลนด์บริดจ์ เพราะการลงทุนที่จะข้ามมาจากประเทศจีนในช่วงหลายปีหลัง บริษัทใหญ่ๆ ในประเทศจีนมาลงทุนสร้างโรงงานผลิตและโรงงานอุตสาหกรรมที่ใหญ่มากในเมืองไทย และไม่ใช่แค่มาสนองตอบความต้องการของคนในประเทศไทยอย่างเดียว แต่จะเป็นศูนย์กลางการส่งออกด้วย ซึ่งแน่นอนว่าเราต้องมีท่าเรือน้ำลึก มีโครงการเมกะโปรเจกต์ใหญ่ๆ อย่างแลนด์บริดจ์ ที่จะมาซัพพอร์ตตรงนี้  ซึ่งนายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รมว.คมนาคม ก็จะเดินทางไปประเทศจีนในเร็วๆ นี้เพื่อจัดทำโรดโชว์

นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและ รมว.การคลัง ให้สัมภาษณ์ก่อนเป็นประธานการประชุมสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ครั้งที่ 2/2567  ถึงกรณีที่นิด้าโพลเผยผลสำรวจความเห็นประชาชน ว่าไม่โกรธถ้าจะยกเลิกนโยบายแจกเงินดิจิทัลวอลเล็ต 10,000  บาท ว่าโพลก็มีหลายๆ อย่าง ทั่วถึงหรือไม่ ถามคนที่จังหวัดหนองบัวลำภู บึงกาฬหรือไม่ เพราะอย่างนั้นต้องดูนิดหนึ่งแล้วกัน

เมื่อถามย้ำว่า ที่นายกฯ ลงพื้นที่ประชาชนระบุว่าต้องการเงินดิจิทัลใช่หรือไม่ นายกรัฐมนตรีกล่าวว่า “ไม่มีใครบอกว่าไม่ต้องการเลย”

นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.พาณิชย์ ให้สัมภาษณ์ถึงผลสำรวจความคิดเห็นของนิด้าโพล เรื่อง "วิกฤตเศรษฐกิจกับการแจกเงินดิจิทัลวอลเล็ต” โดยความเห็นของประชาชนส่วนใหญ่ไม่โกรธ หากรัฐบาลจะยกเลิกนโยบายแจกเงินดิจิทัล เพราะเข้าใจสภาพเศรษฐกิจ ว่าเวลานี้มีความคิดเห็นเกี่ยวกับเรื่องดิจิทัลวอลเล็ตที่แตกต่างหลากหลาย โดยรัฐบาลยินดีรับฟัง เพราะถือว่าผลโพลเป็นหนึ่งความเห็นต่อการจัดการแก้ไขปัญหา  สิ่งสำคัญคือรัฐบาลจะรวบรวมทุกความคิดเห็น แต่ละความเห็น แต่ละผลโพล ที่ย่อมมีความแตกต่างกัน ทั้งความเห็นที่สนับสนุนก็มีหลายเรื่องมาพิจารณาให้รอบคอบ

รองนายกฯ กล่าวว่า ที่ผ่านมาย้ำตลอดว่าอยากให้ดูเจตนารมณ์ของโครงการนี้ ซึ่งเป็นโครงการที่รัฐบาลได้นำเสนอตอนหาเสียงไว้กับประชาชน และคิดว่าเป็นวิธีสำคัญที่รัฐบาลจะใช้กระตุ้นเศรษฐกิจครั้งสำคัญ ไม่ใช่แค่แก้ปัญหาประชาชนอย่างเดียว แต่รวมไปถึงการกระตุ้นเศรษฐกิจและทำให้เกิดการขยายตัวออกไปมากขึ้น หัวใจสำคัญคือรัฐบาลได้แถลงนโยบายนี้ต่อรัฐสภา โดยยืนยันตามเจตนารมณ์ที่ให้ไว้กับประชาชน

ผู้สื่อข่าวถามว่า มีแนวโน้มที่จะปรับจากการออกเป็นพ.ร.บ.กู้เงิน มาเป็น พ.ร.ก.เนื่องจากประชาชนเห็นว่าต้องการให้แก้วิกฤตเร่งด่วนหรือไม่ นายภูมิธรรมกล่าวว่า ถ้าฟังทุกอย่างก็จะเป็นแบบที่เห็น และยอมรับว่าปวดหัวกับความเห็นที่แตกต่าง จึงต้องนำมาพิจารณาอย่างรอบด้าน  เมื่อเข้าใจและได้ข้อสรุปว่าวิธีการใดจะดีที่สุด ที่ไม่กระทบกับความคิดเห็นของคนส่วนใหญ่ ก็จะดำเนินการตามวิธีการนั้น ฉะนั้นยังตอบไม่ได้ว่าจะออกเป็น พ.ร.บ.หรือพ.ร.ก. แต่ทุกอย่างต้องเป็นวิธีการที่ไปได้ ขึ้นอยู่กับเงื่อนไขและสภาพแวดล้อม

ขณะที่นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รมช.การคลัง กล่าวว่า  โครงการ Digital Wallet ของรัฐบาลไม่ทันเดือน พ.ค. 2567 แน่นอน แต่ยังไม่ได้มีการกำหนดกรอบเวลาใหม่ที่ชัดเจนว่าจะเป็นเมื่อไหร่ แต่ส่วนตัวหวังว่าจะเลื่อนไปไม่นาน โดยระหว่างนี้ยังอยู่ระหว่างรอหนังสือจากคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ  (ป.ป.ช.) จึงยังไม่ได้มีการนัดประชุมคณะกรรมการนโยบายโครงการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่าน Digital  Wallet อย่างเป็นทางการ แต่ก็มีการเตรียมพร้อมรับมือว่าข้อเสนอแนะของ ป.ป.ช.จะออกมาเป็นอย่างไร เพื่อให้โครงการสามารถเดินหน้าต่อไปได้ พร้อมทั้งมองว่าหลังจากรัฐบาลได้รับเอกสารจาก ป.ป.ช.แล้ว ก็ควรจะถึงจุดจบที่รัฐบาลจะต้องมาตัดสินใจว่าจะเอาอย่าไร จะเดินหน้าโครงการในรูปแบบใด ถึงเวลานั้นมันควรต้องมีคำตอบแล้ว

 “เอกสารของ ป.ป.ช.ที่หลุดออกมาก่อนหน้านั้น  รัฐบาลก็ยังไม่รู้ว่าท้ายที่สุดแล้วเอกสารจริงจะเป็นอย่างไร  แต่ก็ถือว่าทำให้รัฐบาลได้เห็นโจทย์พอสมควรว่าข้อห่วงใยของ ป.ป.ช.ในแต่ละประเด็นคืออะไร เราก็มีหน้าที่ในการตอบคำถามในส่วนที่เราตอบได้ อะไรที่ตอบไม่ได้เราก็เตรียมการว่าเมื่อมาแล้วเราจะดำเนินการอย่างไร เพื่อที่จะให้ข้อห่วงใย ข้อเสนอแนะเหล่านั้นมันมีคำตอบในตัวของมัน ส่วนเรื่องที่มีการตั้งข้อสังเกตว่า จะมีการเปลี่ยนกรอบการกู้เงินจากการออกพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) เป็นการออก พ.ร.ก.กู้เงินหรือไม่นั้น ยืนยันว่ายังไม่ได้มีการพูดคุย  ถ้าถามในข้อเท็จจริงไม่ว่าจะเป็นกลไกการกู้เงินแบบใดก็ตามที่อยู่ในอำนาจของรัฐบาล เรายังมีเครื่องมือนั้นอยู่เสมอ แต่ ณ ตอนนี้รัฐบาลยังไม่ได้มีการพูดคุยในส่วนนั้น”  นายจุลพันธ์กล่าว

โดยยืนยันว่า รัฐบาลไม่มีการปรับนโยบายหรือเงื่อนไขของโครงการอย่างแน่นอน แต่ในช่วงที่โครงการล่าช้าออกไปนั้น รัฐบาลมีกลไกหรือเครื่องมืออีกมากมายที่จะมาใช้ในการกระตุ้นเศรษฐกิจ เพราะรัฐบาลไม่ได้ทำแค่โครงการ Digital Wallet โดยโครงการดังกล่าวเป็นเพียงหนึ่งในนโยบายที่รัฐบาลพยายามทำเพื่อพี่น้องประชาชนเท่านั้น โดยมาตรการที่รัฐบาลดูอยู่มีทั้งมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ กระตุ้นการลงทุนและกระตุ้นการบริโภค แต่ยังไม่สามารถชี้แจงในรายละเอียดได้ รวมทั้งได้มีการเร่งด้านงบประมาณซึ่งเป็นอีกกลไกสำคัญ โดยจะพยายามให้จบในสภาก่อนเดือน เม.ย. 2567 รวมถึงอาจจะมีการเปิดให้มีการลงนามในสัญญา TOR ก่อนกรณีจัดซื้อจัดจ้าง เพื่อเตรียมความพร้อมหากงบประมาณเรียบร้อย โครงการจะได้เดินหน้าต่อเนื่องได้ทันที

นายจุลพันธ์กล่าวอีกว่า คำว่าวิกฤตนั้นไม่มีใครเป็นคนกำหนดได้ หากถามว่าเศรษฐกิจวิกฤตหรือไม่ คงเป็นเรื่องปัจเจกของบุคคล หากถามคนนี้อาจจะบอกว่าใช่ แต่ถามอีกคนอาจจะบอกว่าไม่ใช่ แต่มองว่าเรื่องนี้รัฐบาลมีอำนาจตามกฎหมายรัฐธรรมนูญในการบริหารราชการ ดังนั้น ณ ขณะนี้หากรัฐบาลมองว่าเศรษฐกิจวิกฤตและถูกกรอบกฎหมายทั้งหมด รัฐบาลก็จะเดินหน้าเพื่อแก้ไขปัญหาให้ประชาชนแค่นั้นเอง งานอื่นก็เป็นหน้าที่ของหน่วยงานต่างๆ ที่รับผิดชอบ เช่น ป.ป.ช.ในการติดตามตรวจสอบ

รมช.การคลังกล่าวว่า การประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ที่จะมีขึ้นในวันที่ 7 ก.พ. เห็นว่า กนง. หรือธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ควรพิจารณาปรับลดดอกเบี้ยนโยบายลง จากปัจจุบันอยู่ที่ 2.50% ต่อปี  เพื่อบรรเทาภาระภาคประชาชน เนื่องจากขณะนี้อัตราดอกเบี้ยเงินกู้ของธนาคารพาณิชย์ทรงตัวอยู่ในระดับสูง  ซึ่งส่งผลต่อภาระภาคประชาชนและภาคธุรกิจ ซึ่งเป็นช่วงที่เศรษฐกิจไทยต้องการปัจจัยในการกระตุ้นอย่างมาก

 “จะเห็นได้ว่าดอกเบี้ยแบงก์ตอนนี้อยู่ในระดับสูง กำไรแบงก์ก็อยู่สูง จึงอยากให้ ธปท.มองถึงประชาชนด้วย จะมองเพียงขาเดียวไม่ได้ มองแต่เสถียรภาพทางการเงินอย่างเดียวไม่ได้ ซึ่งภาครัฐต้องมีหน้าที่ดูแลความเป็นอยู่ประชาชนด้วย ไม่เช่นนั้นประชาชนก็ตายกันหมด” นายจุลพันธ์กล่าว

รมช.การคลังกล่าวว่า ได้มอบหมายนโยบายให้สำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ (สบน.) พิจารณาแนวทางออกพันธบัตร (บอนด์) ในรูปเงินตราต่างประเทศ ซึ่งเป็นโอกาสสำคัญในหลายๆ สกุลเงินตราต่างประเทศ และไทยเองไม่ได้มีการออกพันธบัตรในรูปเงินตราต่างประเทศมา 20 ปีแล้ว โดยวัตถุประสงค์สำคัญไม่ใช่เพื่อการระดมทุนหรือการกระจายความเสี่ยง แต่เพื่อเป็นการสร้างมาตรฐานในการอ้างอิงอัตราดอกเบี้ยให้ภาคเอกชนเป็นหลัก

ทั้งนี้ การออกพันธบัตรเงินตราต่างประเทศถือว่ามีความน่าสนใจ เพราะมีทั้งสกุลเงินหยวน ซามูไรบอนด์  ดอลลาร์บอนด์ ซึ่งฮ่องกงได้แสดงความสนใจในเรื่องนี้ แต่รายละเอียดคงต้องมาพิจารณาความเหมาะสม ว่าการดำเนินการดังกล่าวจะสร้างประโยชน์ให้ประเทศไทยอย่างไร จะมีความคุ้มค่าหรือไม่ และจะทำให้เกิดความง่ายต่อกระบวนการมากน้อยเพียงใด คงต้องมาหารือกันในรายละเอียดอีกครั้ง

นอกจากนี้ ในเดือน มี.ค. 2567 กระทรวงการคลังมีแผนจะจำหน่ายพันธบัตรออมทรัพย์ ประจำปีงบประมาณ  2567 วงเงินราว 4 หมื่นล้านบาท ส่วนหนึ่งเพื่อเป็นการทดแทนของเดิม และเพื่อรองรับการบริหารการเงินการคลังของภาครัฐ สร้างการกระจายเครื่องมือระดมทุนของรัฐบาลให้หลากหลาย ครอบคลุมนักลงทุนกลุ่มต่างๆ และต้องการที่จะกระจายไปให้ถึงประชาชนเพื่อให้เกิดการออมในภาคประชาชน โดยในปีงบประมาณ 2567 กระทรวงการคลังมีแผนระดมทุนผ่านพันธบัตรออมทรัพย์ประมาณ 1 แสนล้านบาท

รมช.การคลังกล่าวว่า การพิจารณาออกพันธบัตรเงินตราต่างประเทศ พบว่าปัจจุบันอัตราดอกเบี้ยในต่างประเทศไม่ใช่ทุกประเทศที่สูงกว่าดอกเบี้ยไทย ญี่ปุ่นถูกกว่า ดอลลาร์แพงกว่า หยวนใกล้เคียงกับไทย แต่การออกบอนด์ต่างประเทศ วัตถุประสงค์ไม่ใช่เรื่องของการกระจายความเสี่ยง ประโยชน์มันเป็นเรื่องของการหาต้นทุนที่ถูกกว่า สร้างมาตรฐานในการอ้างอิงอัตราดอกเบี้ยให้ภาคเอกชน ส่วนโครงการที่มารองรับการระดมทุนคือ โครงการที่ต้องมีรายได้จากต่างประเทศตามกฎหมายเป็นแบบนั้น ซึ่งโครงการแลนด์บริดจ์ก็เข้าข่าย แต่ก็ไม่ใช่โครงการที่จะเกิดขึ้นภายในปีนี้.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง