ผู้ร้องคดีล้มล้างการปกครองฯ ยันไม่มีขอให้ศาล รธน.สั่งยุบ "พรรคก้าวไกล" แค่ขอให้หยุดจาบจ้วง-กลั่นเซาะบ่อนทำลายสถาบันฯ ลั่นพุธนี้เจอกันแน่ ไม่หวั่นด้อมส้มมาเพียบ "สมชาย" ยกคำวินิจฉัยที่ 19/2564 "พิธา-ก.ก." เสี่ยงผิดตามคำร้องเหตุไม่ใช่การปฏิรูป "พริษฐ์" มั่นใจ ก.ก.แจงได้ทุกข้อกล่าวหา ย้ำทุกการกระทำไม่เข้าข่ายล้มล้างการปกครอง "ซูเปอร์โพล" เปิดข้อมูลฐานเสียง ก.ก. 3 ปีที่ผ่านมาโตกระโดด รอวันแลนด์สไลด์ทั้งประเทศ
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในวันพุธที่ 31 มกราคมนี้ ศาลรัฐธรรมนูญได้นัดอ่านคำวินิจฉัยกลางคำร้องคดีล้มล้างการปกครองฯ หรือคดีที่มีการร้องว่า นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ อดีตหัวหน้าพรรคก้าวไกล (ก.ก.) และพรรคก้าวไกล ในฐานะผู้ถูกร้องที่ 1 และ 2 ตามลำดับ มีการเสนอร่างแก้ไขมาตรา 112 เข้าสภา และนำนโยบายแก้ไข 112 ไปหาเสียงเลือกตั้ง เป็นพฤติการณ์ที่เป็นการใช้สิทธิเสรีภาพเพื่อล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 49 วรรคหนึ่ง หรือไม่
นายธีรยุทธ สุวรรณเกษร ทนายความอิสระ ในฐานะผู้ร้องคดีดังกล่าว เปิดเผยว่า จะเดินทางไปฟังการอ่านคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญในวันพุธที่ 31 ม.ค.นี้ ที่ศาลรัฐธรรมนูญ อยากไปฟังคำชี้แนะต่างๆ จากตุลาการศาลรัฐธรรมนูญเพื่อให้เกิดบรรทัดฐานในเรื่องการเมืองการปกครองไทยต่อไป ไม่ได้รู้สึกกดดันอะไรที่อาจจะต้องเจอกับกองเชียร์ของพรรค ก.ก.และอยากบอกว่าพรรค ก.ก.มีการแก้ไขข้อบังคับพรรคฉบับล่าสุด มีการเขียนเรื่องภราดรภาพไว้ในข้อบังคับพรรคฯ ด้วย ซึ่งคำว่า ภราดรภาพ ก็มีหลักสำคัญคือการรับฟังความคิดเห็นบุคคลอื่นด้วย ดังนั้น สมาชิกพรรค ก.ก.ผู้นิยมชมชอบในตัวพรรค ก.ก. ต้องให้ความเคารพในความคิดเห็นของผู้อื่นด้วย
"คำร้องที่ยื่นศาลรัฐธรรมนูญไม่ได้มีการขอให้ศาลมีคำสั่งยุบพรรค ก.ก. ในคำร้องได้สรุปไว้ในบรรทัดท้ายว่า ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญโปรดมีคำสั่งให้ผู้ถูกร้องทั้งสอง (นายพิธา และพรรคก้าวไกล) หยุดที่จะนำนโยบายยกเลิกหรือแก้ไขมาตรา 112 มาใช้เป็นนโยบายในการหาเสียง และขอให้หยุดในการสัมภาษณ์หรือแสดงความคิดเห็นในเรื่อง 112 ไม่ว่าจะต่อสื่อมวลชนทั้งในประเทศและต่างประเทศ พูดง่ายๆ ภาษาชาวบ้านคือขอให้หยุดเถอะ อย่าก้าวล่วงสถาบันฯ เลย เพราะแม้จะไม่ได้ถึงกับออกปากก้าวล่วง แต่สิ่งที่ดำเนินการทำอยู่ มันจะเป็นการเปิดช่องเปิดโอกาสให้มีผู้ฉกฉวยเอาไปใช้ประโยชน์ในการก้าวล่วงสถาบันพระมหากษัตริย์ ก็ขอให้หยุดเสียเถอะ”
เมื่อถามว่า หากในคำวินิจฉัยกลางของศาลรัฐธรรมนูญในวันที่ 31 ม.ค. มีการระบุว่า พฤติการณ์ของผู้ถูกร้องทั้งสองไม่เหมาะสม เข้าข่ายเป็นปฏิปักษ์ต่อระบอบการปกครองฯ ตรงนี้บางฝ่ายสามารถที่จะนำไปยื่น กกต.ให้เอาผิดผู้ถูกร้องตาม พ.ร.บ.พรรคการเมืองฯ เพื่อขอให้ศาลรัฐธรรมนูญสั่งยุบพรรค ก.ก.ได้หรือไม่ นายธีรยุทธกล่าวว่า สำหรับตนยังไม่ได้คิดถึงขั้นนั้น ก็เลยอาจจะยังตอบไม่ได้ และไม่ได้อยากจะไปพิฆาตฟาดฟันอะไร เพียงแต่เห็นว่ามันเป็นเรื่องที่กระทบกระเทือนต่อจิตใจของพสกนิกรชาวไทย จึงขอให้เขาหยุด ให้ฟังเสียงคนอื่นบ้าง
“จากพฤติการณ์หลายอย่างที่เราเห็น บวกกับความเห็นของนักวิชาการ สื่อมวลชนอาวุโสหลายคนที่ให้ความเห็นเรื่องนี้ เชื่อว่าตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ที่เป็นผู้ทรงภูมิความรู้อยู่แล้ว จะวางบรรทัดฐานเพื่อให้เกิดความสงบสุขในการเมืองการปกครองของบ้านเราไปถึงภายภาคหน้า ที่จะส่งผลไปถึงสิ่งที่ผมคาดหวังมากกว่านั้นก็คือว่า หากต่อไปนักการเมืองหรือพรรคการเมืองใดๆ หรือพรรคการเมืองไหนก็แล้วแต่ หากคิดจะกระทำการหรือคิดวางนโยบาย หรือพูดจาในสิ่งใดๆ มันอาจจะกระทบกระเทือนเบื้องพระยุคลบาท หรือจาบจ้วง หรือกลั่นเซาะบ่อนทำลาย หรือไปเปิดช่องให้เกิดการวิพากษ์วิจารณ์กับสถาบันพระมหากษัตริย์หรือสถาบันหลักของชาติอื่นๆ ก็ขอให้ดูบรรทัดฐานที่ศาลรัฐธรรมนูญจะวางไว้ในคดีนี้ เพื่อให้เกิดความตระหนักเพิ่มขึ้น จะได้หลีกเลี่ยง หรืองดการกระทำเสีย เพื่อที่ต่อไปภายภาคหน้าจะไม่เกิดเรื่องราวแบบนี้ เพราะศาลรัฐธรรมนูญได้วางบรรทัดฐานไว้แล้วกับคำร้องคดีนี้ อันนี้คือสิ่งที่ผมคาดหวังไว้เท่านั้นเอง” นายธีรยุทธกล่าว
เชื่อมีความผิดตามคำร้อง
นายสมชาย แสวงการ สมาชิกวุฒิสภา (สว.) โพสต์เฟซบุ๊กระบุว่า เหตุใดคดีที่พิธาและพรรคก้าวไกลมีความสุ่มเสี่ยงที่จะถูกวินิจฉัยให้มีความผิดหรือให้ยุติการกระทำตามคำร้อง และอาจนำไปสู่การร้องดำเนินคดีที่หนักขึ้นในก้าวต่อไป ดังนี้ 1.คำร้องประกอบหลักฐานนั้นค่อนข้างแน่นหนา ในการชี้ให้เห็นถึง การกระทำต่างๆต่อเนื่องหลังที่ศาลรัฐธรรมนูญที่19/2564 สั่งห้ามการกระทำดังกล่าวแล้ว แต่ยังปรากฎการเคลื่อนไหวขององค์กรเครือข่ายต่อเนื่อง อาทิ การกำหนดเรื่องการแก้ไขมาตรา112 เป็นนโยบายพรรค การเดินสายในเวทีหาเสียงต่างกรรมต่างวาระ การพูดอภิปรายในรัฐสภา การให้สัมภาษณ์สื่อไทยและต่างประเทศ มีการเคลื่อนไหวต่างๆที่อาจถูกชี้ให้เห็นว่ามีส่วนร่วมอย่างไม่เป็นทางการในหลายกรณี ที่ชัดเจนต่อสถาบัน ทั้งการเสนอร่างแก้ไขหรือยกเลิกประมวลกฎหมายอาญามาตรา112 ที่เป็นกฎหมายความมั่นคงคุ้มครองพระประมุข
2.คำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ ที่19/2564 ระบุถึงพฤติการณ์และเหตุการณ์ต่อเนื่องจากการกระทําของผู้ถูกร้องแสดงให้เห็น มูลเหตุจูงใจว่าการใช้สิทธิหรือเสรีภาพ มีเจตนาซ่อนเร้นเพื่อล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ไม่ใช่เป็นการปฏิรูป การใช้สิทธิหรือเสรีภาพของผู้ถูกร้องเป็นการแสดงความคิดเห็น โดยไม่สุจริต เป็นการละเมิดกฎหมาย มีมูลเหตุจูงใจเพื่อล้มล้างการปกครองฯ ม. 49 วรรคหนึ่ง และสั่งการให้ผู้ถูกร้องกลุ่มองค์กรเครือข่ายเลิกกระทําการดังกล่าวที่จะเกิดขึ้นต่อไปในอนาคตด้วย ตามรัฐธรรมนูญ ม. 49วรรคสอง ด้วย แต่ยังปรากฎการกระทำดังกล่าวโดยกลุ่มบุคคลและพรรคการเมืองต่อเนื่องเรื่อยมา
"คำร้องของนายธียุทธ พร้อมเอกสารหลักฐานต่างๆที่ยื่นต่อศาลรัฐธรรมนูญ โดยอ้างถึงการที่นายพิธาและพรรคก้าวไกลกระทำการผิดตามคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญที่19 /2564 ที่สั่งการห้ามการกระทำดังกล่าวไว้แล้ว มีน้ำหนักมากที่จะทำให้นายพิธา และพรรคก้าวไกล มีความสุ่มเสี่ยงอย่างยิ่งในคดีนี้" นายสมชาย กล่าว
ด้านนายพริษฐ์ วัชรสินธุ สส.บัญชีรายชื่อ ในฐานะโฆษกพรรคก้าวไกล กล่าวถึงกรณีที่ศาลรัฐธรรมนูญนัดอ่านคำวินิจฉัยคดีของนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ สส.บัญชีรายชื่อ และประธานที่ปรึกษาหัวหน้าพรรรคก.ก. ใช้นโยบายยกเลิก แก้ไข มาตรา 112 หาเสียง วันที่ 31 ม.ค.นี้ จะมีบุคลากรของพรรคคนใดเดินทางไปบ้าง ว่า จะต้องมีการหารือกันภายในพรรคก่อน ซึ่งคาดว่าจะเป็นวันที่ 29 ม.ค.นี้ แล้วจะมีการแจ้งต่อสาธารณะอีกครั้ง แต่ในวันเดียวกันนั้น ก็มีการประชุมสภา จึงคิดว่าหน้าที่ที่สำคัญของ สส.พรรคก้าวไกล คือการทำหน้าที่ในสภา เนื่องจากคาดว่าจะมีการพิจารณารายงานเกี่ยวกับระบบเลือกตั้งสมาชิกสภาร่างรัฐธรรม(ส.ส.ร.) รวมถึงญัตติที่มึความสัมพันธ์อีกหลายด้านด้วย
"ยังยืนยันคำเดิม คือพยายามทำอย่างเต็มที่ภายใต้ขอบเขตที่สามารถทำได้ ในการยืนยันความบริสุทธิ์ ว่าการกระทำที่ผ่านมา ไม่ว่าจะพรรคก้าวไกล หรือ สส.ของพรรค ไม่มีการกระทำใดที่เข้าข่ายการล้มล้างการปกครอง โดยเฉพาะกรณีที่ สส.ชุดที่แล้วของพรรคก้าวไกล ยื่นร่างแก้ไข ม.112 ไม่เข้าข่ายล้มล้างการปกครอง ทั้งในส่วนกระบวนการที่เรามองว่าการยื่นกฎหมายใดๆก็ตาม ไม่สามารถนำไปสู่การล้มล้างการปกครองได้อยู่แล้ว เพราะเมื่อยื่นกฎหมายเข้าไปยังมีอีกหลายขั้นตอนพิจารณา เนื้อหาสาระในการปรับปรุงแก้ไข ม.112 นั้น แม้จะมีเนื้อหาบางส่วน ที่บางฝ่ายเห็นด้วยและไม่เห็นด้วย แต่ไม่ได้มีเนื้อหาส่วนไหนที่เข้าข่ายล้มล้างการปกครอง ไม่ว่าจะเป็นเนื้อหาเกี่ยวกับการปรับอัตราโทษ หรือเหตุยกเว้นความผิด และโทษ"
'ก้าวไกล'รอวันแลนด์สไลด์
สำหรับความมั่นใจในหลักฐานที่จะชี้แจงต่อศาล นายพริษฐ์ กล่าวว่า เราทำเต็มที่แล้ว ในการตอบคำถาม และชี้แจงทุกข้อกล่าวหาผ่านกระบวนการของศาล เหลือเพียงการรอคำวินิจฉัยของศาลว่าจะเป็นเช่นไร ทั้งนี้ทุกกรณีหรือเหตุการณ์ที่อยู่เหนือการควบคุมของพรรค พรรคได้มีการประเมินทุกฉากทัศน์ที่อาจจะเกิดขึ้นได้ มีการวางแผน และออกแบบการบริหารจัดการทุกฉากทัศน์ไว้อยู่แล้ว เราทำเป็นพื้นฐานในทุกกรณี
นายพริษฐ์ ยังได้กล่าวเชิญชวนให้ประชาชนร่วมกันจับตาคำวินิจฉัยครั้งนี้ด้วย เพราะคำวินิจฉัยนี้ ไม่ได้ส่งผลแค่พรรคก้าวไกลอย่างเดียว แต่จะเป็นการวางบรรทัดฐานสำคัญสำหรับการเมืองไทยในอนาคต หวังว่าคำนี้วินิจฉัยจะออกมายืนยันในสิ่งที่เราได้สื่อสารมาโดยตลอด
สำนักวิจัยซูเปอร์โพล เสนอผลสำรวจ เรื่อง สำรวจฐานเสียงพรรคก้าวไกลวันนี้ กรณีศึกษาตัวอย่างประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งทุกสาขาอาชีพทั่วประเทศอายุ 18 ปีขึ้นไป 1,142 ตัวอย่าง ระหว่างวันที่ 25 - 27 ม.ค. 2567 ที่ผ่านมา เมื่อเปรียบเทียบผลสำรวจระหว่างเดือนก.ค.ปี 2563 กับ ม.ค.ปี 2567 เกี่ยวกับการตัดสินใจเลือกตั้งของประชาชนถ้าวันนี้เป็นวันเลือกตั้ง จะเลือกพรรคก.ก.หรือไม่เลือกพรรคก.ก. พบว่า ในช่วงกว่า 3 ปีที่ผ่านมา ฐานเสียงของพรรคก.ก.พุ่งพรวดมาเท่าตัว จากร้อยละ 16.7 ขึ้นมาอยู่ที่ร้อยละ 37.3 และเมื่อจำแนกตามช่วงอายุ พบว่า ส่วนใหญ่อยู่ในกลุ่มคนรุ่นใหม่มากที่สุดคือ ร้อยละ 76.2 ในกลุ่มคนต่ำกว่า 20 ปี ร้อยละ 48.8 ในกลุ่มคนอายุ 20 – 29 ปี ร้อยละ 33.7 ในกลุ่มคนอายุ 30 – 39 ปี ร้อยละ 28.8 ในกลุ่มอายุ 40 – 49 ปี ร้อยละ 19.6 ในกลุ่มคนอายุ 50 - 59 ปี และร้อยละ 22.2 ในกลุ่มคนอายุ 60 ปีขึ้นไป
เมื่อแบ่งออกตามกลุ่มอาชีพ พบว่า ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 69.2 ในกลุ่มนักเรียนนักศึกษาเลือกพรรคก.ก.รองลงมาคือกลุ่มคนว่างงานร้อยละ 43.5 กลุ่มพนักงานบริษัทเอกชน ร้อยละ 39.4 กลุ่มคนค้าขายส่วนตัว ร้อยละ 32.5 กลุ่มข้าราชการเจ้าหน้าที่รัฐ ร้อยละ 31.0 กลุ่มเกษตรกรและรับจ้างแรงงานทั่วไปร้อยละ 21.3 และกลุ่มแม่บ้านผู้เกษียณอายุร้อยละ 15.2 เมื่อจำแนกตามภูมิภาค พบว่า กระแสพรรคก้าวไกลมาแรงในภาคใต้ร้อยละ 45.2 รองลงมาคือ ภาคกลางร้อยละ 40.3 อีสานร้อยละ 39.4 กรุงเทพ ร้อยละ 38.4 แต่ในภาคเหนือพบเพียงร้อยละ 9.7
รายงานของซูเปอร์โพล ระบุว่า ผลโพลชิ้นนี้ชี้ให้เห็นว่าพรรคก.ก.มีฐานเสียงเพิ่มสูงพุ่งพรวดเท่าตัวในช่วงระยะเวลา 3 ปีและมีแนวโน้มสูงขึ้นต่อเนื่องโดยยังเหนียวแน่นในกลุ่มคนรุ่นใหม่กลุ่มนักเรียนนักศึกษาตามด้วยกลุ่มพนักงานบริษัทเอกชนและกำลังเติบโตในภาคใต้มากที่สุดในการสำรวจล่าสุดนี้ ปัจจัยที่ทำให้พรรคก.ก.ได้รับคะแนนนิยมเพิ่มสูงขึ้น จากการวิเคราะห์พบความเชื่อมโยงกับความนิยมในตัวนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์และปัจจัยเชื่อมโยงอื่น ๆ หลายปัจจัย เช่น การใช้ปัญญาประดิษฐ์ (AI) การใช้บอท (BOT) ในเทคโนโลยีดิจิทัลที่ทำให้เกิดการกระจายข้อมูลข่าวสารของพรรคก.ก.และของนายพิธา ตรงกับจริตความต้องการเปลี่ยนแปลงของคนรุ่นใหม่ส่งผลให้กลุ่มคนรุ่นใหม่เกิดความเชื่อมั่นศรัทธาในพรรคก.ก.และในลักษณะเฉพาะตัวนายพิธา ทั้งในเรื่องการศึกษาดี มีความรู้ความสามารถ มีวิสัยทัศน์ก้าวไกล การสื่อสารดีทั้งภาษาไทยและภาษาต่างประเทศที่มากกว่าภาษาอังกฤษ ความสง่างาม ความดูดีมีเสน่ห์ของนายพิธา เช่นกัน
ซูเปอร์โพลระบุด้วยว่ายังมีปัจจัยอื่น ๆ เสริมประกอบควบคู่ไป ทำให้พรรคก้าวไกลและส.ส.ของพรรคก.ก.ได้รับการสนับสนุนอย่างเข้มข้นจนถึงขั้นตัดสินใจจะเลือกและชักชวนคนอื่น ๆ ให้เลือกด้วยเป็นลักษณะของการผูกพัน (engagement) ระหว่างความสนใจ ค่านิยม ทัศนคติของฐานเสียงประชาชนแฟนคลับและตัวตนของพรรคก.ก.ได้อย่างลงตัว ถึงวันนี้จึงยากที่จะเหนี่ยวรั้งไว้ได้รอวันแลนสไลด์ของพรรคก.ก.ทั้งประเทศเท่านั้น
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
10วันปีใหม่เมาขับ7พันคดี ขับรถเร็วตายบนถนนพุ่ง
ปิดศูนย์ 10 วันอันตรายปีใหม่ สังเวย 436 ศพ เจ็บ 2,376 ราย
ดักคอล้วงภาษีอุ้มค่าไฟ ‘ดีอี’เร่งกาสิโนขึ้นบนดิน
"ภูมิธรรม" ขำข่าวปรับ ครม.เขี่ย รทสช. บอกอย่าฟังคนปล่อยข่าว
สว.ส่งสัญญาณเบรกแก้รธน.
แก้ รธน. "เพื่อไทย" ตีกรรเชียงหนี "พรรคส้ม" ปักธงเคาะร่างแก้ รธน. 256 ไม่แตะหมวดกษัตริย์ “ชูศักดิ์” ชี้พุ่งเป้าไปที่ ส.ส.ร.เป็นหลัก
‘อ้วน’สั่งทบทวน หนทางดับไฟใต้ พูดคุยให้ถูกคน
ยังไร้แววเมียนมาปล่อย 4 คนไทย "ภูมิธรรม" ย้ำต้องรอจบกระบวนการ
รุมตบปากพ่อนายกฯ สว.จี้ขอโทษเหยียดสีผิว/อดีตกกต.แนะอบรมมารยาทหาเสียง
รัฐมนตรีเพื่อไทยดาหน้าป้องนายใหญ่ บอกหาเสียง อบจ.เชียงรายปกติ
โค้งสุดท้ายสังเวย393ศพ ศปถ.จ่อถอดบทเรียนอีก
โค้งสุดท้าย 10 วันอันตราย วันที่ 9 เกิดอุบัติเหตุรวม 2,322 ครั้ง