‘สภาสูง’ลับมีด อภิปรายม.153 มี‘แลนด์บริดจ์’

“เสรี” หวังซักฟอกรัฐบาล   ก.พ.นี้ ยังไม่เคาะรายชื่อผู้อภิปราย แง้มอาจมีกฐินแลนด์บริดจ์ ย้ำต้องการส่งเสริมการทำงานให้มีประสิทธิภาพ ไม่ใช่อภิปรายไม่ไว้วางใจ “เจ๊ไหม” ย้ำต้องมีผลศึกษาสะพานเศรษฐกิจภาคใต้ของตัวเองแบบละเอียดก่อนของบประมาณ

เมื่อวันอาทิตย์ที่ 28 ม.ค.2567 นายเสรี สุวรรณภานนท์ สมาชิกวุฒิสภา (สว.)   ให้สัมภาษณ์ถึงการยื่นญัตติขอเปิดอภิปรายทั่วไปแบบไม่ลงมติ ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 153 ว่า เราได้ขอช่วงเวลาอภิปรายรัฐบาลในช่วงเดือน ก.พ.      โดยขณะนี้อยู่ในช่วงที่ประธานวุฒิสภา กำลังตรวจสอบรายชื่อเพื่อส่งเรื่องไปให้รัฐบาล และจะมีคณะทำงานเจรจาตกลง   โดยมี พล.อ.สิงห์ศึก สิงห์ไพร รองประธานวุฒิสภา เป็นผู้นำเจรจา และในส่วน สว.ก็จะทำหนังสือแจ้งสมาชิกที่จะอภิปรายในประเด็นที่กำหนดไว้

เมื่อถามว่า จะมีใครร่วมอภิปรายบ้าง   นายเสรีกล่าวว่า ขณะนี้ยังอยู่ในขั้นตอนให้สมาชิกแสดงเจตจำนงเพื่อขออภิปราย  ซึ่งเรากำหนดว่าจะไม่ปิดกั้น สว.ที่สนใจอภิปรายในประเด็นต่างๆ ตามความรู้ความสามารถของตน และจะให้ สว.แต่ละคนอภิปรายไม่เกิน 2 ประเด็น อีกประมาณ 7-10 วัน ถึงจะมีการพิจารณาบุคคลที่จะเข้าร่วมอภิปราย ส่วนจะมุ่งโฟกัสประเด็นไหนเป็นพิเศษหรือไม่นั้น  ประเด็นหลักเราก็เรียงตามความเหมาะสมไว้ สิ่งสำคัญคือเรื่องปากท้องเศรษฐกิจ ซึ่งนิด้าโพลทำสำรวจก็ปรากฏว่า เรื่องเศรษฐกิจเป็นปัญหาที่ประชาชนกำลังประสบอย่างหนัก แต่ในขณะเดียวกันประชาชนก็ไม่เห็นด้วยกับโครงการแจกเงินดิจิทัลวอลเล็ต เพราะอาจมีปัญหาอื่นตามมาอีกมาก

“ปัญหาเศรษฐกิจก็มีปัญหาทุกยุคทุกสมัย อยู่ที่ว่ารัฐบาลจะสร้างเศรษฐกิจโดยรวมอย่างไร ที่จะทำให้สถานการณ์ดีขึ้นจริง ส่วนจะอภิปรายเรื่องโครงการแลนด์บริดจ์ด้วยหรือไม่นั้น เราต้องดูก่อนว่าโครงการนี้กระทบกับเศรษฐกิจหรือไม่  เพราะรัฐบาลก็อยากให้โครงการนี้เกิดขึ้น เพราะน่าจะช่วยสร้างอาชีพให้กับประชาชนในพื้นที่ได้ แต่หากมองอีกมุมในเรื่องความคุ้มค่าของทุน ปัญหาอยู่ที่ว่าต้องการให้เป็นอย่างไร ซึ่งเรื่องนี้ก็สามารถพูดอภิปรายได้” นายเสรีกล่าว

เมื่อถามว่า รัฐบาลทำงานมาเพียง 4-5 เดือน จะมีประเด็นเพียงพอที่ สว.จะอภิปรายได้จริงหรือไม่ นายเสรีกล่าวว่า เรื่องระยะเวลาที่รัฐบาลทำงาน แม้แค่ 4 เดือน แต่ต้องเข้าใจว่าญัตติที่เราเสนอ เราไม่ได้พูดถึงการทำงานล้มเหลวของรัฐบาล แต่เราพูดเพื่อให้รัฐบาลมาแถลงในสิ่งที่เป็นประโยชน์ ซึ่งผลจากการหาเสียง การแถลงนโยบายต่างๆ หรือการดำเนินโครงการให้เป็นรูปธรรม คงยังไม่เกิดขึ้นได้ทันทีในเวลาแค่ 4 เดือน ฉะนั้นเราไม่ได้อภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาล แต่เรากำลังส่งเสริมรัฐบาลให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น ซึ่งประเด็นที่เราได้เสนอไปก็มีจำนวนมากพอที่จะหยิบยกเพื่อให้เป็นประโยชน์กับประชาชน นอกจากเรื่องเศรษฐกิจ ก็มีเรื่องกระบวนการยุติธรรม ที่สามารถแนะนำรัฐบาลเป็นการเสนอทางออกให้กับสังคมได้ มีอีกหลายหลายเรื่องที่เป็นประโยชน์ ระยะเวลาทำงาน 3-4 เดือนไม่ใช่ปัญหา

ขณะเดียวกัน นายศรัณย์ ทิมสุวรรณ สส.เลย พรรคเพื่อไทย (พท.) ในฐานะเลขานุการคณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2567 กล่าวถึงความคืบหน้าการทำงานว่า สัปดาห์นี้จะมีการพิจารณางบประมาณมาตรา 15 กระทรวงคมนาคมต่อจากสัปดาห์ที่แล้ว จากนั้นจะพิจารณามาตรา 17 กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และคาดว่าจะมีการตั้งคณะอนุ กมธ.ต่างๆ ซึ่งเท่าที่ทราบมีการพูดคุยกันไปสักระยะแล้ว แต่เนื่องจากไม่ได้เป็นคนพูดคุย จึงไม่แน่ใจว่าได้ข้อสรุปเช่นไร แต่ทั้งนี้ก็คิดว่าสมควรต้องตั้งแล้ว

เมื่อถามว่า โดยภาพรวมพิจารณาแล้วกี่เปอร์เซ็นต์ นายศรัณย์กล่าวว่า ค่อนข้างเป็นไปตามเวลาที่วางไว้ อาจมีเร็วมีช้าบ้าง แต่หากไปด้วยความเร็วระดับนี้ก็น่าจะเป็นไปตามตารางที่วางไว้ คือช่วงเดือน มี.ค.ถึงปลายเดือน มี.ค.น่าจะพิจารณาเสร็จ จากนั้น เม.ย.ก็น่าจะเข้าสู่การพิจารณาของสภาในวาระ 2-3

ขณะที่ น.ส.ศิริกัญญา ตันสกุล สส.บัญชีรายชื่อ และรองหัวหน้าพรรคก้าวไกล (ก.ก.) ในฐานะคณะ กมธ.วิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณฯ ทวีตผ่าน X ระบุว่า สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) มาตอบเรื่องแลนด์บริดจ์แล้วในห้อง กมธ.งบ 2567 โดยปีงบประมาณ 2567 นี้ สนข.ของบค่าจ้างจัดทำรายงานศึกษาความเหมาะสมออกแบบเบื้องต้น และผลกระทบสิ่งแวดล้อมโครงการแลนด์บริดจ์งวดสุดท้าย 7.6 ล้านบาท จากมูลค่าโครงการทั้งสิ้น 68 ล้านบาท ซึ่งคือรายงาน สนข. ที่เราเรียกติดปากกัน และของบจัดทำเอกสารเชิญชวนนักลงทุนอีก 45 ล้านบาท

“ใครจะหาว่าดิฉันจุกจิกไร้วิสัยทัศน์อย่างไรก็ได้ แต่ยืนยันว่าเราควรมีรายงานการศึกษาจากฝั่งเราเองโดยละเอียด ไม่ใช่ปล่อยให้นักลงทุนศึกษาฝั่งเดียว อย่าลืมว่านี่ไม่ใช่โครงการให้สัมปทานที่ดินที่ให้ไปแล้วเขาจะมาทำอะไรก็ได้ แต่นี่คือโครงการ PPP ซึ่งรัฐบาลและคนไทยมีส่วนเป็นเจ้าของร่วมและแบ่งปันรายได้ แม้ในรายละเอียดต้องเจรจาต่อรอง แต่เราเองต้องมีภาพในหัวที่ชัดเจนอยู่แล้วว่าจะให้เขามาทำอะไร มาสร้างอะไร เพื่อกำหนดสเปกให้เขามาลงทุน” น.ส.ศิริกัญญาระบุ

น.ส.ศิริกัญญาทวีตอีกว่า สนข.ควรศึกษาลงรายละเอียดต่างๆ ของโครงการให้เรียบร้อย ก่อนของบประมาณถัดไปสำหรับการจัดทำเอกสารเชิญชวนนักลงทุน มูลค่า 45 ล้านบาทสำหรับปี 2567 จึงเป็นที่มาให้ได้สอบถามลงรายละเอียดในประเด็นต่างๆ โดยคำถามเกี่ยวกับปริมาณการขนส่งสินค้าที่มีการรวมเส้นทางที่ไม่น่าเป็นไปได้ต่างๆ ที่ทำให้มีปริมาณการค้าเพิ่มเป็นร้อยล้านตัน ประเด็นต่อมา คือท่อส่งน้ำมันกับโรงกลั่นน้ำมัน ซึ่งในรายงานไม่มีแน่นอน แต่จากบทความของนายกรัฐมนตรีในสื่อต่างชาติ พูดถึงโครงการแลนด์บริดจ์ว่าจะประกอบไปด้วยท่อส่งน้ำมันและมีโรงกลั่นน้ำมัน  แบบนี้ สนข.จะทำอย่างไรต่อไป ซึ่งผู้อำนวยการ สนข.ชี้แจงว่า ในการศึกษาของ สนข.ตอนนี้ เน้นเรื่องตู้คอนเทนเนอร์อย่างเดียว แต่ในกราฟิกการนำเสนอของ สนข. จะเห็นว่ามีรูปท่อด้วย เพราะเป็นนโยบายของกระทรวงที่ให้ไว้ว่าถ้าจะทำ ต้องเตรียมหรือกันพื้นที่ไว้ทีเดียว เพราะเวลามีท่าเรือ มีธุรกิจเชิงพาณิชย์เกิดขึ้น ปริมาณการใช้น้ำมันในพื้นที่ต้องมากขึ้นอยู่แล้ว ดังนั้น มีความจำเป็นต้องขนถ่ายน้ำมันเพื่อใช้ในอุตสาหกรรมท่าเรือหรืออุตสาหกรรมต่างๆ ที่อยู่ในบริเวณนั้น.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

‘จุรินทร์’ เผย8ปัจจัย การเมืองปี68เดือด!

"จุรินทร์" เปิด 8 ปัจจัยการเมืองปี 2568 จับตามีคดีความที่มีผู้ร้องไปยื่นร้องนายกฯ และผู้เกี่ยวข้องไว้ที่ศาลรัฐธรรมนูญและองค์กรอิสระต่างๆ ซึ่งปัจจุบันมีเรื่องที่ค้างอยู่อย่างน้อย