แจกหมื่นเลิกหยอดน้ำข้าวต้ม

“ไทย-เยอรมนี” หารือผลักดันความร่วมมือ 2 ประเทศ “เศรษฐา” ชูแลนด์บริดจ์ ยกระดับขนส่งโลจิสติกส์   “ปธน.เยอรมนี” บอกสัญญาณดีหลังศาลมีคำพิพากษา “พิธา” แสดงให้เห็นไทยมีพื้นฐาน ปชต. ระบุประชาคมทั่วโลกเฝ้าดูสถานการณ์ "นายกฯ" ชี้จุดยืนไทยยึดมั่นความเป็นกลาง "เสี่ยนิด" ย้ำกลางงานสัมมนา ศก.ไทยวิกฤต จำเป็นต้องแจกเงินหมื่นกระตุ้นการใช้จ่าย เหน็บแจกทีละพันสองพันแบบหยอดน้ำข้าวต้มไร้ประโยชน์

ที่ทำเนียบรัฐบาล วันที่ 25 ม.ค. เวลา 10.00 น. นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ให้การต้อนรับ ดร.ฟรังค์-วัลเทอร์  ชไตน์ไมเออร์ (H.E. Dr. Frank-Walter Steinmeier) ประธานาธิบดีแห่งสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี ในโอกาสเยือนประเทศไทยอย่างเป็นทางการในฐานะแขกของรัฐบาล

ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรีนำประธานาธิบดีเยอรมนีตรวจแถวกองทหารเกียรติยศ ณ บริเวณสนามหญ้าหน้าตึกไทยคู่ฟ้า จากนั้นเชิญไปยังห้องสีม่วง เพื่อแนะนำคณะรัฐมนตรี และไปยังห้องสีงาช้างด้านนอก  เพื่อลงนามในสมุดเยี่ยมและชมของที่ระลึกที่ทั้งสองฝ่ายมอบให้แก่กัน จากนั้นทั้งสองฝ่ายร่วมหารือกลุ่มเล็ก ณ ห้องสีงาช้างด้านใน ซึ่งต่างเห็นพ้องกันว่าไทยและเยอรมนียังมีศักยภาพเพิ่มพูนความร่วมมือด้านเศรษฐกิจระหว่างกัน โดยเฉพาะในด้านการลงทุน ซึ่งภาคเอกชนเยอรมนีลงทุนในไทยเป็นจำนวนมาก และให้ความสนใจขยายการลงทุนเพิ่ม โดยนายกฯ ได้เชิญชวนภาคเอกชนเยอรมนีเข้ามาลงทุนในไทย โดยเฉพาะในโครงการแลนด์บริดจ์ เพื่อสร้างโอกาสผลักดันให้ไทยเป็นศูนย์กลางการค้าการขนส่งของภูมิภาค

ต่อมานายเศรษฐาพร้อมด้วย ดร.ฟรังค์-วัลเทอร์ร่วมกันแถลงข่าว โดยนายเศรษฐากล่าวว่า ตนยินดีเป็นอย่างยิ่งที่ประธานาธิบดีแห่งสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนีได้นำคณะภาคเอกชนเยอรมนีร่วมเดินทางมาในครั้งนี้ด้วย ซึ่งตนได้แจ้งข้อมูลเกี่ยวกับศักยภาพด้านเศรษฐกิจของไทยและโอกาสใหม่ๆ สำหรับภาคเอกชนเยอรมนี หลังจากที่ไทยกับสหภาพยุโรปสามารถบรรลุการเจรจาความตกลงเขตการค้าเสรีได้สำเร็จ ซึ่งได้ตั้งเป้าหมายไว้ภายในปี 2568 นอกจากนี้ยังได้แจ้งข้อมูลเกี่ยวกับนโยบายการส่งเสริมเศรษฐกิจหมุนเวียน รวมทั้งโครงการ แลนด์บริดจ์และโครงการยกระดับการขนส่งระบบรางและโลจิสติกส์ของไทย การส่งเสริม Ease of Doing Business รวมทั้งการสร้างทรัพยากรมนุษย์

นายเศรษฐากล่าวว่า วันเดียวกันนี้ ประธานาธิบดีแห่งสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี และภริยา มีกำหนดเข้าเฝ้าฯ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี และในวันที่ 26 ม.ค. ประธานาธิบดีแห่งสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนีจะเดินทางไปจังหวัดอุบลราชธานี เพื่อเยี่ยมชมโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ทุ่นลอยน้ำไฮบริดที่เขื่อนสิรินธร ซึ่งผลิตกระแสไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์และพลังน้ำใหญ่เป็นอันดับต้นของโลก และโครงการเกษตรยั่งยืนที่เป็นความร่วมมือระหว่างเยอรมนีกับไทย รวมทั้งเยี่ยมชมอุทยานแห่งชาติผาแต้ม ซึ่งเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงธรรมชาติที่เป็นที่นิยมของทั้งคนไทยและชาวต่างชาติ

 “ผมหวังเป็นอย่างยิ่งว่า การเดินทางเยือนประเทศไทยอย่างเป็นทางการของประธานาธิบดีแห่งสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนีในครั้งนี้ จะเป็นการเปิดศักราชใหม่ของการแลกเปลี่ยนและความร่วมมือระหว่างไทยกับเยอรมนี ซึ่งจะนำไปสู่ความร่วมมือที่ใกล้ชิดและเป็นประโยชน์ต่อทุกฝ่าย โดยเฉพาะในด้านยานยนต์ไฟฟ้า พลังงานสะอาด เศรษฐกิจหมุนเวียน และความร่วมมือในด้านอื่นๆ อีกมากมาย ทำให้ประเทศไทยกับเยอรมนีมีความร่วมมือในทุกมิติที่แน่นแฟ้นมากขึ้น โดยในห้วงเดือน มี.ค.นี้ ผมมีกำหนดที่จะเดินทางเยือนสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนีอย่างเป็นทางการ เพื่อสานต่อและผลักดันความร่วมมือระหว่างกัน อันจะนำไปสู่การสถาปนาความเป็นหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์ระหว่างกันต่อไป” นายกฯกล่าว

เยอรมนีชี้ปมพิธาสัญญาณดี

ขณะที่ ดร.ฟรังค์-วัลเทอร์กล่าวว่า ความสัมพันธ์ของ 2 ประเทศไม่ได้เพิ่งเริ่มต้น แต่มีประวัติศาสตร์ยาวนานกว่า 160 ปีแล้ว ซึ่งเดิมเคยทำสัญญาการค้าระหว่างกัน การสำรวจเส้นทางการเดินเรือทางทะเล ช่วงเวลานี้ถือเป็นช่วงเวลาสำคัญที่ประเทศไทยเพิ่งผ่านการเลือกตั้ง ซึ่งมีคนไทยออกมาใช้สิทธิ์ถึง 75% เป็นตัวเลขที่สะท้อนถึงความเข้มแข็งในระบอบประชาธิปไตย ในโอกาสนี้จึงขอกล่าวแสดงความยินดีกับการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี และอวยพรให้สมัยของท่านเป็นสมัยที่ประสบความสำเร็จ และยินดีที่จะได้ความร่วมมือของทั้งสองประเทศให้ก้าวต่อไปได้ และเป็นการร่วมมือพัฒนาภาคีเครือข่าย

"ความสัมพันธ์ระหว่างสหภาพยุโรปและประเทศไทย เราได้ให้การสนับสนุนในเรื่องของการเจรจาข้อตกลงการค้าเสรี เชื่อว่าทั้งสองประเทศจะบรรลุข้อตกลงในระยะเวลาอันใกล้ น่าจะโครงสร้างพื้นฐานที่ต้องการขยายต่อไป สำหรับสหภาพยุโรป มีโครงการชื่อ Global Gateway มีศักยภาพในการเข้ามาช่วยเหลือโครงการโครงสร้างพื้นฐานในอนาคตที่จะเกิดขึ้น" ดร.ฟรังค์-วัลเทอร์กล่าว

ประธานาธิบดีเยอรมนีกล่าวว่า ตนและนายกฯ ของไทยหารือถึงบทบาทสำคัญในภาคประชาสังคม ที่เราแลกเปลี่ยนทัศนะ โดยตนยินดีสำหรับข่าวคำพิพากษาของนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล คิดว่าคำพิพากษาที่ออกมาเป็นสัญญาณที่ดีของการดำเนินไปในทิศทางที่ดีของประเทศไทย นอกจากนี้ยังพูดถึงวิกฤตการณ์ความขัดแย้งภูมิภาคต่างๆ ในโลก และบทบาทต่างๆ ที่เราจะมีท่าทีต่อความขัดแย้งต่างๆ ได้

จากนั้นภายหลังการแถลงข่าวได้เปิดโอกาสให้สื่อมวลชนซักถาม โดยผู้สื่อข่าวต่างประเทศถามถึงการเปลี่ยนผ่านรัฐบาลไทยที่กลับมาเป็นรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง จะมีการดำเนินความสัมพันธ์ระหว่างประเทศอย่างไรโดยเฉพาะกับเยอรมนี นายเศรษฐากล่าวว่า เราประกาศชัดเจนว่าประเทศเราพร้อมสำหรับการดำเนินการธุรกิจ โดยในเดือนมี.ค.นี้จะเดินทางไปเยือนทวิภาคีกับรัฐบาลเยอรมนีอีกครั้ง

ส่วนประธานาธิบดีเยอรมนีกล่าวว่า  คำถามนี้พูดถึงอุปสรรคความร่วมมือ ซึ่งเป็นเพียงอดีตในช่วงที่ผ่านมา และในช่วงสถานการณ์การเมืองที่อาจมีความไม่สงบเกิดขึ้นบ้าง ซึ่งเป็นเหตุการณ์ที่เราไม่สามารถคาดการณ์ได้ว่าจะมีเหตุการณ์อะไรเกิดขึ้นต่อจากนี้ แต่ตนเชื่อว่าหลังการเลือกตั้งที่ผ่านมา เรามองเห็นแนวทางเชิงบวกในการพัฒนาความร่วมมือระหว่างกัน และในช่วงไม่กี่เดือนที่ผ่านมา เราเห็นแนวทางที่จะสร้างความเชื่อมั่นของนายเศรษฐา เยอรมนีและประชาคมทั่วโลกไม่เพียงแค่เฝ้าดูสถานการณ์ แต่มีความคาดหวัง ในการเสริมสร้างความร่วมมือในช่วงการเปลี่ยนผ่าน ซึ่งถือเป็นช่วงเวลาสำคัญ ที่เราไม่อาจตั้งความคาดหวังให้การเปลี่ยนแปลงเป็นไปอย่างรวดเร็ว

"ปัจจัยที่สำคัญคือ เสถียรภาพ การแสดงออก และคำพิพากษาของนายพิธา ซึ่งถือเป็นหนึ่งในผู้นำฝ่ายค้าน และแสดงให้เห็นว่าประเทศไทยมีพื้นฐานของระบบประชาธิปไตยที่มีเสถียรภาพในการแสดงออกที่เกิดขึ้น" ประธานาธิบดีเยอรมนีกล่าว

นายเศรษฐากล่าวว่า รัฐบาลนี้ให้ความสำคัญกับสิทธิมนุษยชน และตลอดเวลาที่รัฐบาลนี้เข้ามาบริหารประเทศ ได้ให้สิทธิเสรีภาพที่เหมาะสม อยู่ภายใต้กรอบของกฎหมาย และสนับสนุนด้านนี้อย่างต่อเนื่อง ส่วนเรื่องการค้าระหว่างประเทศ 4 เดือนที่ผ่านมา เราเดินทางไปทั่วประเทศและทั่วโลก นอกจากนี้ ในเรื่องของจุดยืนทางการเมือง เรายึดมั่นความเป็นกลาง ไม่สนับสนุนความขัดแย้ง ในแง่ของผู้บริสุทธิ์ และคนไทยที่อยู่ในต่างแดน จะต้องได้รับการดูแลเป็นอย่างดี

'นิด' ย้ำจำเป็นแจกเงินหมื่น

จากนั้น เวลา 11.05 น. นายเศรษฐา ได้หารือเต็มคณะร่วมกับนายฟรังค์-วัลเทอร์, นาย Michael Kellner รมช.กระทรวงเศรษฐกิจและการปฏิบัติการด้านสภาพภูมิอากาศ สหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี (BMWK) และคณะผู้แทนภาคเอกชนเยอรมนี ซึ่งประกอบด้วยผู้แทนจาก 12 บริษัท ใน 5 สาขา ได้แก่ สาขานิทรรศการงานแสดงสินค้านานาชาติ อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์และยานยนต์ พลังงานหมุนเวียนและสิ่งแวดล้อม บริการ ดิจิทัลและการศึกษา และวัสดุก่อสร้าง การก่อสร้างและโครงสร้างพื้นฐาน เพื่อแลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นและความต้องการด้านการส่งเสริมการค้าและการลงทุน

ในช่วงท้าย นายกฯ เน้นย้ำว่า ไทยพร้อมบูรณาการความร่วมมือ อำนวยความสะดวกให้แก่ภาคธุรกิจต่างๆ ที่ต้องการขยายการลงทุนในประเทศไทย ซึ่งศักยภาพและเสถียรภาพทางการเมืองของไทย ชี้ชัดและมีความสำคัญอย่างมากต่อสภาพแวดล้อมทางธุรกิจ จะช่วยสร้างความเชื่อมั่นให้แก่นักลงทุนได้เพิ่มมากขึ้น โดยรัฐบาลยินดีพิจารณาทุกข้อเสนอแนะและจะทำงานร่วมกันอย่างใกล้ชิดต่อไป

ที่ SCBX Next Tech ชั้น 4 ศูนย์การค้าสยามพารากอน เวลา 15.00 น. นายเศรษฐาเดินทางไปร่วมงานสัมมนา “The Better Future Forward 2024” พร้อมกล่าวปาฐกถาพิเศษหัวข้อ "Reinventing Thailand : Toward Becoming a Key Global Player ทำประเทศไทยให้ดีกว่าเดิม : สู่พลังขับเคลื่อนหลักในเวทีโลก"

นายเศรษฐากล่าวตอนหนึ่งว่า รัฐบาลได้ตั้งคณะกรรมการปรับปรุงกฎหมายเพื่อความสะดวกในการประกอบธุรกิจนักลงทุนต่างชาติ อย่างบริษัทยาประเทศสวิตเซอร์แลนด์หลายบริษัทมีความประสงค์ที่จะมาตั้งโรงงานในไทย แต่ติดขัดในเรื่องของ อย. ถ้าเราสามารถแก้ไขปัญหาได้ทีละเปลาะ อะไรทำได้ทำก่อน

"เรื่องเศรษฐกิจวิกฤต-ไม่วิกฤตเชื่อว่าทุกคนมีความเห็นที่แตกต่างกันไป แต่รัฐบาลยืนหยัดชัดเจนว่าเศรษฐกิจวิกฤต  วันนี้ GDP ประเทศเราแพ้คู่แข่ง 2-3 เท่าตัว ก่อนหน้านี้มีการกระตุ้นเศรษฐกิจแบบหยอดน้ำข้าวต้ม ที่แจกเงินทีละ 1,000- 2,000 บาท ไปถึงไหนไหมครับ 10 ปีหลังเศรษฐกิจขยายตัว 1.8% เฉลี่ยไปไม่ถึงไหน วิธีการนี้ไม่เวิร์ก เราจำเป็นต้องกระตุ้นเศรษฐกิจครั้งใหญ่ แต่เราก็ต้องรับฟังความคิดเห็นอย่างรอบคอบ" นายเศรษฐากล่าว

นายกฯ กล่าวว่า สมมุติหากดิจิทัลวอลเล็ตเกิดขึ้นในวันที่ 1 มิ.ย. เชื่อว่าทุกคนต้องตีปีก พร้อมที่จะผลิตสินค้าเพิ่มมากยิ่งขึ้น ถ้าท่านเป็นผู้ผลิตท่านจะไม่ผลิตสินค้าหรือ และจะทำให้มีการจ้างงาน ทำงานแบบ Over time เงินในกระเป๋าตังค์ของพี่น้องจะเพิ่มมากขึ้นเท่าไหร่

นายเศรษฐายังกล่าวถึงการแก้ปัญหาด้านต่างๆ ของรัฐบาล ทั้งเรื่องหนี้สิน เรื่องแลนด์บริดจ์ เรื่องการเมืองระหว่างประเทศที่ยืนยันไทยเป็นมิตรกับทุกประเทศ เรื่องการท่องเที่ยว เรื่องแก้ปัญหายาเสพติด เรื่องสิทธิเสรีภาพ เรื่องรัฐธรรมนูญ เรื่องสิทธิการประกอบอาชีพ

"หลายเรื่องราวพยายามทำอยู่ ขอให้มั่นใจว่าโอกาสที่มีเป็นโอกาสที่จะทำให้หัวใจของประชาชนทุกคนฟูขึ้นได้จากการมีสิทธิเสรีภาพที่ดีขึ้น และก็จะดีขึ้นเรื่อยๆ" นายเศรษฐากล่าว

วันเดียวกัน นายอัครเดช วงษ์พิทักษ์โรจน์ สส.ราชบุรี ในฐานะโฆษกพรรครวมไทยสร้างชาติ (รทสช.) ยืนยันว่าพรรค รทสช.มีนโยบายส่งเสริมโครงการแลนด์บริดจ์อยู่แล้ว เพราะจะเป็นโครงการสำคัญในการกระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศ รวมทั้งสนับสนุนระเบียงเศรษฐกิจภาคใต้

ส่วนนายวิชัย สุดสวาสดิ์ สส.ชุมพร พรรค รทสช. กล่าวถึงโครงการแลนด์บริดจ์ว่า ขอให้ภาครัฐสั่งให้ทางจังหวัดและกระทรวงที่เกี่ยวข้องลงไปให้ความรู้กับประชาชน โดยเฉพาะเรื่องของการเวนคืนที่ดิน เพราะมีหลายหน่วยงานไปพูดด้วยข้อมูลที่ไม่ชัดเจน รวมถึงผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม เพื่อให้ประชาชนเกิดความกระจ่าง.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง