ยืมเวทีสภายำธุรกิจกองทัพ

"รทสช." ยื่น "ร่าง พ.ร.บ.สร้างเสริมสังคมสันติสุข" เข้าสภา ไม่นิรโทษ ม.112 ทุจริตคอร์รัปชัน และกระทำความผิดอาญาร้ายแรง ด้านก้าวไกลใช้สภายำทหาร อัด "ธุรกิจกองทัพ" บ่อนทำลายประเทศ-ตรวจสอบไม่ได้ ขนาดองค์กรอิสระน้ำยังท่วมปาก

เมื่อวันที่ 25 มกราคม 2567 ที่รัฐสภา  นายอัครเดช วงษ์พิทักษ์โรจน์ สส.ราชบุรี  พร้อมด้วย สส.ของพรรครวมไทยสร้างชาติ แถลงกรณียื่นร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) สร้างเสริมสังคมสันติสุข พ.ศ.… ต่อนายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานผู้แทนราษฎร คนที่ 2 นายอัครเดชกล่าวว่า ร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ นโยบายของพรรครวมไทยสร้างชาติที่ต้องการให้บ้านเมืองเดินหน้าไปได้ หลังจากที่เรามีความขัดแย้งทางด้านการเมืองเป็นระยะเวลาหลายสิบปี วันนี้เรามีความต้องการให้ความขัดแย้งดังกล่าวหายไป โดยใช้กลไกของสภาในการร่างกฎหมาย พ.ร.บ.ฉบับนี้ เพื่อผลักดันการนิรโทษกรรม ในส่วนผู้ชุมนุมทางการเมือง สิ่งสำคัญและจุดเด่น นโยบายของพรรครวมไทยสร้างชาติ ไม่นิรโทษกรรมให้ผู้ที่กระทำผิด ดังนี้ 1.ละเมิดกฎหมายอาญา มาตรา 112  2.การทุจริตคอร์รัปชัน 3.ผู้กระทำความผิดอาญาร้ายแรง

ส่วนนายวิชัย สุดสวาสดิ์ สส.ชุมพร พรรครวมไทยสร้างชาติ กล่าวเสริมว่า  ระยะเวลาเกือบ 20 ปี ประชาชนเกิดความแตกแยกทางการเมือง รัฐบาลยกระดับประกาศใช้กฎหมายควบคุมการชุมนุมทางการเมืองอย่างเข้มงวด ส่งผลให้การชุมนุมทางการเมืองหรือการแสดงความคิดเห็นทางการเมืองของประชาชนเป็นการกระทำผิดกฎหมาย พรรครวมไทยสร้างชาติตั้งใจพาประเทศเดินไปสู่เป้าหมายในเรื่องของการปรองดอง ตั้งใจทำให้สังคมเกิดสันติสุข และพัฒนาอย่างต่อเนื่อง พาประเทศเดินหน้าเข้าสู่ความปรองดองอย่างแท้จริง

 “ความคิดแตกแยกไม่ได้ส่งผลดีต่อประเทศ ประชาชนได้รับผลกระทบ คนที่ออกมาต่อสู้หรือแสดงเจตนารมณ์ทางการเมือง เป็นคนที่มีฝีมือ สร้างคุณงามความดีให้กับประเทศ แต่เมื่อเกิดคดีทำให้โดนตัดสิทธิ์ การขับเคลื่อนประเทศมีอุปสรรค นี่คือนิมิตหมายที่ดีของการเมืองเมืองไทย  เป็นของขวัญปีใหม่ให้กับประชาชน พ.ร.บ.สร้างเสริมสันติสุข จะสำเร็จหรือไม่ต้องฝากให้สื่อและประชาชนเข้าใจในสิ่งที่ต้องการจะสื่อสาร โดยเฉพาะหัวหน้าพรรครวมไทยสร้างชาติ มีนโยบายชัดเจนในเรื่องส่งเสริมสังคมสันติสุขและปรองดอง เพื่อให้ประเทศขับเคลื่อนต่อไป”

ด้านนายพิเชษฐ์กล่าวว่า พ.ร.บ.ฉบับนี้ ถือว่าเป็นความใจกว้างของ สส. คิดว่ามีกฎหมายในทำนองเดียวกันบรรจุอยู่ในวาระการประชุมอยู่แล้ว ถ้ารอคิวก็คงจะช้า จะไปพิจารณาว่ามี พ.ร.บ.กี่ฉบับที่เกี่ยวกับการนิรโทษกรรม ซึ่งจะนำมาประกบและพิจารณาในคราวเดียวกัน ระยะเวลาที่ผ่านมาสังคมเราไม่สงบ มีความขัดแย้ง นี่คือช่วงของความสามัคคีในการพัฒนาประเทศ ตนจะเร่งนำเข้าที่ประชุมเพื่อให้สภาได้พิจารณาโดยเร็วที่สุด

เมื่อถามว่า จะมีการลงมติแยกทีละฉบับ หรือคราวเดียวกัน เพราะร่าง พ.ร.บ.ของพรรคก้าวไกลมีหลักการที่แตกต่างจากของพรรครวมไทยสร้างชาติ นายพิเชษฐ์ตอบว่า หากคล้ายกันก็จะเข้าสู่การประชุมสภาวาระที่หนึ่ง และมีการตั้งคณะกรรมาธิการ (กมธ.) แล้ว ต้องขึ้นอยู่กับคณะกรรมาธิการฯ ว่าจะหลอมรวมแต่ละประเด็นร่วมกันได้หรือไม่ ซึ่งเมื่อมีการลงมติ ก็คงแล้วแต่ที่ประชุมว่าจะเห็นด้วยแบบไหน ตนคิดว่าทุกคนมีเจตนาดีที่จะแก้ไขปัญหาของประเทศ ถึงวันนั้นก็คงไม่ยาก คงไม่มีปัญหา เพราะไม่ได้มีแค่พรรคใดพรรคหนึ่ง แต่มีหลายพรรคที่มีเจตนาดี

ที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร วันเดียวกันนี้ นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนฯ คนที่ 1 เป็นประธาน มีวาระการพิจารณาญัตติ เรื่องขอให้สภาผู้แทนราษฎรตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาแนวทางการถ่ายโอนหน้าที่การให้บริการไฟฟ้าที่อยู่ในความดูแลรับผิดชอบของกิจการไฟฟ้าสวัสดิการกองทัพไปอยู่ในหน่วยงานที่เกี่ยวข้องโดยตรง

โดยนายวิโรจน์ ลักขณาอดิศร สส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล อภิปรายว่า  Defence Integrity Index 2020 หรือดัชนี GDI ซึ่งเป็นดัชนีที่ชี้วัดคอร์รัปชันกองทัพและหน่วยงานความมั่นคง แต่ผลการประเมินปี 2020 กลับงามไส้ ประเทศไทยถูกประเมินอยู่ในระดับเสี่ยงมาก   ประชาชนเข้าไม่ถึงงบประมาณของกองทัพ สะท้อนว่ากองทัพในปัจจุบันขาดสำนึกว่าเงินที่ใช้จ่ายอยู่ในทุกวันนี้เป็นเงินภาษีของพี่น้องประชาชน

 “นอกจากนี้ กองทัพและกระทรวงกลาโหมไม่เคยให้ความร่วมมือกับผู้ตรวจการแผ่นดิน หรือกรรมาธิการการทหาร ที่ผมเป็นประธาน เดี๋ยวท่านประธานจะรู้ว่าประธานที่ชื่อวิโรจน์ จะจัดการกับรัฐมนตรีที่ชื่อสุทินอย่างไร” นายวิโรจน์กล่าวว่า หลายวันก่อนก็มีนักข่าวถามว่าไปทำงานร่วมกันกับคุณสุทินหรือไม่ ผมก็ตอบนักข่าวว่าไปร่วมคงร่วมไม่ได้ แต่ถ้าไปแทนนี่แน่นอน บอกไว้ตรงนี้ว่าผมสนับสนุนให้มีการตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญเพื่อศึกษาแนวทางในการคืนธุรกิจกองทัพให้รัฐบาล รวมทั้งให้จัดการเงินนอกงบประมาณอย่างโปร่งใส ไม่ปล่อยให้เสนาพาณิชย์กลายเป็นบ่อนทำลายความมั่นคงของประเทศ

ด้าน น.ส.เบญจา แสงจันทร์ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล เป็นผู้เสนอญัตติ อภิปรายว่าขอเปิดกรุสมบัติและอาณาจักรลึกลับขุมทรัพย์ธุรกิจในกองทัพ  รวมถึงความมั่งคั่งของนายพลในกองทัพไทย และรายได้ต่างๆ ในธุรกิจทั้งหมด ตลอดจนการเติบโตของนายพล บนเส้นทางเศรษฐีสุดลี้ลับที่แทบจะจับต้องอะไรไม่ได้เลย และพบว่าทรัพสินของนายพลหลังเกษียณ ลงจากตำแหน่ง ผบ.ทบ.และลงจากตำแหน่งทางการเมือง มีมูลค่าสูงมาก บางรายมี 200 ล้านบาท, 300 ล้านบาท, 500 ล้านบาท และบางรายมี 800 ล้านบาท และประเทศไทยยังมีนายพลที่มั่งคั่งอีกว่า 3,000 นาย ที่รวยตั้งแต่ระดับ 10 ล้านบาท ไปจนถึงหลัก 100 ล้านบาท 1,000 ล้านบาท ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน จนอาจกล่าวได้ว่าเป็นทหารได้อะไรมากกว่าที่คิดจริงๆ

เธออภิปรายว่า ขุมทรัพย์กองทัพที่เป็นเส้นทางเศรษฐีนายพลคือ 1.ที่ราชพัสดุ กองทัพมีที่ดินราชพัสดุทั่วประเทศ 7.5ล้านไร่ โดยกองทัพนำมาสร้างเป็นปั๊มน้ำมัน 150 แห่ง สนามกอล์ฟ 74 แห่ง และยังมีรายได้ที่มากกว่าหลายพันล้านบาทต่อปี ยังมีร้านสะดวกซื้อของเจ้าสัวรายหนึ่งที่ผูกขาดร้านสวัสดิการในค่ายทหาร มีธุรกิจตลาดนัด สโมสร โรงแรม สนามมวย สนามม้า สถานีโทรทัศน์ บ้านพักตากอากาศ ใช้ที่ดินกองทัพไปจัดสรรให้กำลังพลซื้อบ้าน ใครจะร่วมโครงการกู้เงินซื้อบ้านต้องมีผู้บังคับบัญชาเซ็นให้ ผู้ได้ประโยชน์จากการเอาที่ดินรัฐไปให้กำลังพลคือ ผู้บังคับบัญชาที่สูบเลือดสูบเนื้อจากชั้นผู้น้อย

2.บอร์ดรัฐวิสาหกิจ 56 แห่ง เป็นขุมทรัพย์ที่ทหารมาเป็นจำนวนมาก ทั้งที่เป็นงานที่ไม่ตรงความชำนาญทหาร ทั้งบอร์ดรถไฟ การท่องเที่ยว ปตท. ธนาคารต่างๆ  บางคนเป็นบอร์ดหลายแห่ง งานสบาย ได้เงินหลายตำแหน่งเป็นเส้นทางเศรษฐีนายพล ไม่เคยตรวจสอบได้

3.งบประมาณกระทรวงกลาโหมเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ไม่มีหน่วยใดตรวจสอบได้ เป็นต้นเหตุทุจริต มีเงินทอนจัดซื้ออาวุธ ตั้งบริษัทของทหารรับงานในกองทัพ

4.คลื่นวิทยุและโทรทัศน์ของกองทัพ 205 คลื่น ซึ่งมากสุดในประเทศ เป็นเสือนอนกินปล่อยเช่าคลื่น ได้เงินมหาศาล แต่ไม่เคยเปิดเผยเงินค่าเช่าคลื่น รวมถึงค่าเช่าโครงข่ายทีวีดิจิทัล ที่ ททบ.5 ได้ค่าเช่าโครงข่าย 1,008 ล้านบาทต่อปี เป็นเสือนอนกินรับรายได้จากคลื่นวิทยุ-โทรทัศน์มหาศาล

และ 5.ขุมทรัพย์ธุรกิจพลังงาน ทั้งน้ำมัน ไฟฟ้า โซลาร์ฟาร์ม ที่กองทัพมีกิจการเป็นของตัวเอง ตนจึงเห็นว่าควรถ่ายโอนกิจการต่างๆ ให้มาอยู่ในความดูแลรับผิดชอบของรัฐบาล

จากนั้นเปิดให้สมาชิกอภิปรายแสดงความคิดเห็น และหลังสมาชิกอภิปรายเสร็จสิ้นที่ประชุม นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาฯ ทำหน้าที่ประธานที่ประชุมแจ้งว่า เท่าที่ฟังดูแล้วสมาชิกทุกคนเห็นตรงกันให้ตั้ง กมธ.วิสามัญ จึงถือว่าที่ประชุมเห็นชอบให้ตั้ง กมธ.วิสามัญพิจารณาศึกษาแนวทางการถ่ายโอนธุรกิจกองทัพไปอยู่ในความดูแลของหน่วยงานอื่นหรือย้ายไปอยู่หน่วยงานอื่น จำนวน 25 คน โดย กมธ.ในสัดส่วนของพรรคก้าวไกล มีชื่อนายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ประธานคณะก้าวหน้า มาเป็น กมธ.ด้วย  โดยมีระยะเวลาพิจารณา 90 วัน

นอกจากนี้ จากกรณีนายจิรัฏฐ์ ทองสุวรรณ์ พรรคก้าวไกล ในฐานะโฆษกคณะกรรมาธิการ (กมธ.) การทหาร เตรียมข้อตรวจสอบที่พักอาศัยของกำลังพลในกองทัพ ซึ่งอ้างว่าเป็นคอนโดฯ หรูหราของทหารชั้นนายพล และมีการแอบปล่อยเช่า

ล่าสุด กองทัพบกนำสื่อมวลชนเข้าชมสถานที่ดังกล่าว ซึ่งมีชื่อเต็มว่า อาคารสงเคราะห์กองทัพบก ส่วนกลาง เกียกกาย ซึ่งมีลักษณะเป็นอาคารสูง 20 ชั้น โดยแบ่งเป็นตึกที่อยู่อาศัยของทหารชั้นประทวน และทหารชั้นสัญญาบัตร มีร้านค้าสวัสดิการ ร้านอาหาร สระว่ายน้ำ

และอีกส่วนเรียกว่า อาคารรับรองกองทัพบก เกียกกาย เปิดให้กำลังพลจากต่างจังหวัดมาติดต่อราชการใน กทม. รวมถึง ข้าราชการ บุคคลทั่วไปสามารถใช้บริการได้ โดยค่าเช่าห้องมีตั้งแต่ 600-1,600 บาท ขึ้นอยู่กับขนาดห้อง และหากเป็นทหารคิดในราคาสวัสดิการ โดยรายได้ทั้งหมดหักค่าใช้จ่ายนำเข้ากองทุนสวัสดิการกองทัพบก เพื่อสะสมนำมาเป็นค่าบำรุงรักษาอาคารสถานที่

ด้าน พ.อ.สมเกียรติ ถนอมคุ้ง ผู้อำนวยการกองการสงเคราะห์ กรมสวัสดิการทหารบก เปิดเผยว่า จะเห็นว่าที่พักมีลักษณะเหมือนแฟลตทั่วไป ไม่ใช่คอนโดฯ หรูหราอะไร แต่ต้องสร้างหลายชั้น เพราะมีพื้นที่จำกัดในขณะที่ความต้องการของกำลังพลมีเป็นจำนวนมาก ซึ่งจะต่างกับที่พักต่างจังหวัด ที่มีพื้นที่กว้างกว่า.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง