"พิธา" เฮ! มติศาลรัฐธรรมนูญ 8 ต่อ 1 ไม่สิ้นสภาพ สส. ชี้ "ไอทีวี" ไม่ใช่สื่อตั้งแต่ สปน.บอกเลิกสัญญา แม้มีหุ้นวันสมัครก็ไม่มีผล "ทิม" ดี๊ด๊าเดินหน้าทำงานต่อไม่รอแล้วนะ "ชัยธวัช" เปิดทางเก้าอี้ "หัวหน้าพรรค-ผู้นำฝ่ายค้านฯ" ยันไม่ห่วงคดี 112 ที่ยังค้างอยู่ “เลขาฯ สภา” อ้าแขนบอกเข้าสภาได้ทันที "ก.ก." คึกคักแจ้งสื่อ "พิธา" เข้าสภา 25 ม.ค.นี้ "นายกฯ-เสี่ยอ้วน" ปัดแสดงความเห็น
ที่ศาลรัฐธรรมนูญ ศูนย์ราชการแจ้งวัฒนะ วันที่ 24 ม.ค. เวลา 09.30 น. คณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญได้เริ่มประชุมเพื่อแถลงด้วยวาจา ปรึกษาหารือ ลงมติ กรณีที่คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ส่งคำร้องขอให้พิจารณาวินิจฉัยกรณีที่นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ประธานที่ปรึกษาหัวหน้าพรรคก้าวไกล สส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล เป็นผู้ถือหุ้นในบริษัท ไอทีวี จำกัด (มหาชน) ซึ่งประกอบกิจการหนังสือพิมพ์ หรือสื่อสารมวลชนใดๆ อยู่ในวันที่สมัครรับเลือกตั้ง สส.แบบบัญชีรายชื่อ เป็นเหตุให้สมาชิกภาพ สส. ของผู้ถูกร้องสิ้นสุดลง ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 101 (6) ประกอบมาตรา 98 (3) หรือไม่ ก่อนที่จะจัดทำคำวินิจฉัยและออกนั่งบัลลังก์อ่านคำวินิจฉัยให้คู่กรณีฟัง ในเวลา 14.00 น. ตามที่ได้นัดหมายไว้
คดีนี้ศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งรับคำร้องนี้ไว้พิจารณาวินิจฉัย และสั่งให้นายพิธาหยุดปฏิบัติหน้าที่ สส. ตั้งแต่วันที่ 19 ก.ค.2566 จนกว่าศาลรัฐธรรมนูญจะมีคำวินิจฉัย ซึ่งในกระบวนพิจารณาที่ผ่านมา ศาลรัฐธรรมนูญได้มีการประชุมพิจารณาพยานหลักฐานทั้งที่ฝ่ายผู้ร้อง และผู้ถูกร้อง หรือที่ศาลเรียกจากผู้เกี่ยวข้องหลายครั้ง ก่อนที่เรียกพยานของทั้งสองฝ่ายรวม 3 ปาก เข้าไต่สวนพร้อมนัดลงมติและอ่านคำวินิจฉัยในวันนี้
ผู้สื่อข่าวรายงานบรรยากาศโดยรอบอาคารราชบุรีดิเรกฤทธิ์ (อาคาร A) ศูนย์ราชการแจ้งวัฒนะ ซึ่งเป็นที่ตั้งของสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ ตั้งแต่เช้ายังคงเป็นไปด้วยความเรียบร้อย แม้ยังไม่มีกลุ่มมวลชนใดเดินทางมา แต่เจ้าหน้าที่ตำรวจได้จัดกำลังรักษาความสงบเรียบร้อย รวมทั้งด้านหน้าสำนักงานมีการติดตั้งแผงเหล็กกั้นเป็นแนวยาวตั้งแต่สำนักงานกรมสอบสวนคดีพิเศษ และมีรถจีโน่ฉีดน้ำกับรถควบคุมผู้ต้องหามาจอดเตรียมความพร้อมในบริเวณใกล้เคียง
ทั้งนี้ การเข้า-ออกของบุคคล สำนักงานศาลรัฐธรรมนูญยังคงยึดตามประกาศศาลรัฐธรรมนูญ ซึ่งกำหนดให้พื้นที่โดยรอบเป็นพื้นที่ควบคุม ผู้ใดที่จะเข้ามาในพื้นที่ควบคุมต้องได้รับอนุญาต ซึ่งต้องผ่านการตรวจตัวบุคคลและสิ่งของที่นำมา ตามวิธีการของเจ้าหน้าที่ด้านการรักษาความปลอดภัยและความสงบเรียบร้อย ซึ่งภายในอาคารบริเวณรอบสำนักงาน เจ้าหน้าที่ก็มีการนำแผงเหล็กมากั้นเช่นเดียวกัน
ในส่วนการเข้ารับฟังการอ่านคำวินิจฉัย ศาลรัฐธรรมนูญอนุญาตให้เฉพาะคู่กรณีและบุคคลที่เกี่ยวข้องเท่านั้น ขณะที่สื่อมวลชนและช่างภาพ รวมทั้งประชาชนที่อาจจะเดินทางมารับฟังคำวินิจฉัย ทางสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญอำนวยความสะดวก โดยได้จัดพื้นที่บริเวณโถงกลาง ชั้น 2 ไว้รองรับ มีการติดตั้งจอทีวีพร้อมลำโพงไว้เพื่อถ่ายทอดการอ่านคำวินิจฉัย รวมทั้งมีการถ่ายทอดการอ่านคำวินิจฉัยผ่านช่องทางยูทูบของสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ
ด้อมส้มแห่เชียร์แน่น
กระทั่งเวลา 12.45 น. นายพิธาพร้อมด้วยนายชัยธวัช ตุลาธน หัวหน้าพรรคก้าวไกล เดินทางเข้ารับฟังคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ โดยระหว่างที่นายพิธาเดินผ่านเวทีแสดงดนตรีสดภายในอาคารศูนย์ราชการฯ ศิลปินบนเวทีซึ่งใส่หน้ากากรูปนายพิธาได้ร้องเพลง 'ไม่เป็นรอง' ของวง 'Cocktail' เพื่อต้อนรับนายพิธา ซึ่งนายพิธาได้ชี้นิ้วไปที่ศิลปิน พร้อมกับร้องเพลงดังกล่าวคลอตามไปด้วย รวมทั้งยังมีมวลชนตะโกนให้กำลังใจว่า 'นายกฯ พิธา', 'นายกฯ ในดวงใจ' เป็นระยะ ซึ่งนายพิธาและนายชัยธวัชได้หันกลับมาโบกมือและส่งยิ้มให้
นายพิธาให้สัมภาษณ์ก่อนเข้าฟังคำวินิจฉัยว่า ยืนยันมั่นใจในข้อเท็จจริงและความบริสุทธิ์ของตัวเอง ขอบคุณประชาชน สมาชิกพรรค และคนที่ทำงานในพรรค โดยเฉพาะทีมกฎหมายที่ทำงานอย่างหนักตลอด 6 เดือนที่ผ่านมาจนถึงโค้งสุดท้ายก่อนปีใหม่
เวลา 14.00 น. ก่อนที่คณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญจะเริ่มอ่านคำวินิจฉัย นายวรวิทย์ กังศศิเทียม ประธานคณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ได้ชี้แจงถึงกระบวนการที่ทำให้เกิดความล่าช้า และกล่าวเตือนนายพิธาว่า การแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับคดีในสื่อต่างๆ นั้น ถือว่าไม่สมควรและไม่เหมาะสม เพราะการแสดงความคิดเห็นทั้งเชิงบวกและลบเกี่ยวกับคดีก่อนศาลมีคำวินิจฉัย อาจเป็นการชี้นำและกดดันศาล
จากนั้น นายอุดม สิทธิวิรัชธรรม ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ เริ่มอ่านคำวินิจฉัย ตอนหนึ่งระบุว่า ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาคำร้อง คำชี้แจงเอกสารแก้ข้อกล่าวหา คำชี้แจงและเอกสารของบุคคลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งคำเบิกความการไต่สวนพยาน รวมทั้งคำแถลงปิดคดีของคู่กรณีรวมไว้ในสำนวนแล้ว เห็นว่าคดีมีพยานหลักฐานเพียงพอที่จะวินิจฉัยได้
ต่อมา นายนภดล เทพพิทักษ์ ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ อ่านคำวินิจฉัยตอนหนึ่งว่า ข้อเท็จจริงเบื้องต้นฟังได้ว่า เมื่อวันที่ 20 มี.ค.2566 มีพระราชกฤษฎีกายุบสภาสภาผู้แทนราษฎร 2566 เพื่อให้มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเป็นการทั่วไป และวันที่ 21 มี.ค.2566 ผู้ร้องออกประกาศกำหนดให้วันที่ 14 พ.ค.2566 เป็นวันเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเป็นการทั่วไป และกำหนดให้วันที่ 4-7 เม.ย.2566 เป็นวันรับสมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ยื่นบัญชีรายชื่อ ผู้สมัครรับเลือกตั้ง สส.แบบบัญชีรายชื่อต่อผู้ร้อง ในวันที่ 4 เม.ย.2566 โดยมีชื่อของผู้ถูกร้องอยู่ในลำดับที่ 1 ต่อมาหลังการเลือกตั้งผู้ร้องประกาศผลการเลือกตั้งแบบบัญชีรายชื่อ ปรากฏชื่อผู้ถูกร้องเป็น สส.แบบบัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล
อย่างไรก็ตาม ปรากฏว่าผู้ถูกร้องมีชื่อเป็นผู้ถือหุ้นในบริษัท ไอทีวี ตามสำเนาบัญชีรายชื่อผู้ถือหุ้น ในวันที่ 26 เม.ย. 2566 ลำดับที่ 7,061 จำนวน 42,000 หุ้น และผู้ถูกร้องถือหุ้นดังกล่าว เรื่อยมา กระทั่งเมื่อวันที่ 25 พ.ค.2566 ผู้ถูกร้องโอนหุ้นดังกล่าวทางทะเบียนให้กับนายภาษิณ ลิ้มเจริญรัตน์ โดยตามแบบหนังสือนำส่งงบการเงินของบริษัท ไอทีวี ที่ยื่นต่อกรมพัฒนาธุรกิจการค้า เมื่อวันที่ 10 พ.ค.2566 นำส่งงบการเงินรอบปีบัญชี สิ้นสุดวันที่ 31 ธ.ค.2565 ระบบประเภทธุรกิจว่าสื่อโทรทัศน์
เมื่อพิจารณาในเบื้องต้นแล้ว จึงมีข้อที่จะต้องพิจารณาต่อไปว่า วันสมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ผู้ถูกร้องเป็นเจ้าของหรือผู้ถือหุ้นในบริษัท ไอทีวี หรือไม่ ผู้ร้องกล่าวอ้างว่า บัญชีรายชื่อผู้ถือหุ้น ณ วันที่ 26 เม.ย.2566 ปรากฏชื่อผู้ปกครอง เป็นผู้ถือหุ้นในลำดับที่ 7,061 จำนวน 42,000 หุ้น โดยถือหุ้นในนามตนเอง มิได้หมายเหตุว่าถือแทนบุคคล นิติบุคคล หรือในฐานะผู้จัดการมรดกแต่อย่างใด และถือหุ้นดังกล่าวเรื่อยมา
เมื่อวินิจฉัยว่าผู้ถูกร้องถือหุ้นในบริษัทไอทีวี อยู่ในวันที่พรรคก้าวไกลยื่นบัญชีรายชื่อผู้สมัคร สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อต่อผู้ร้อง จึงมีข้อพิจารณาต่อไปว่า บริษัท ไอทีวี ประกอบกิจการหนังสือพิมพ์ หรือสื่อมวลชนใดๆ ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 98 (3) หรือไม่
นายปัญญา อุดชาชน ตุลาการศาลฯ อ่านตอนหนึ่งระบุว่า ข้อเท็จจริงปรากฏว่า เมื่อวันที่ 3 ก.ค.2538 บ.ไอทีวี จำกัด (มหาชน) เดิมชื่อ บ.สยาม เอ็นเตอร์เทนเม้นท์ จำกัด ทำสัญญาร่วมเข้าร่วมงานและดำเนินการทางสถานีวิทยุโทรทัศน์ กำหนดอายุสัญญา 30 ปีกับ สปน. จดทะเบียนแปรสภาพเป็นบริษัทมหาชน จำกัด เป็นชื่อ บ.ไอทีวี จำกัด (มหาชน)ระบุวัตถุประสงค์ของบริษัทมหาชนจำกัดไว้ 45 ข้อ โดยข้อ 18 ข้อ 40 ข้อ 41 และข้อ 43 เป็นไปตามที่ผู้ถูกร้องกล่าวอ้าง ต่อมา สปน.มีหนังสือลงวันที่ 7 มี.ค.2550 ถึงกรรมการผู้จัดการไอทีวี แจ้งบอกเลิกสัญญาร่วมงานและดำเนินการสถานีวิทยุโทรทัศน์ระบบยูเอสเอฟว่า การแจ้งบอกเลิกสัญญาโดยหนังสือฉบับนี้ย่อมเป็นผลทำให้สัญญาการเข้าร่วมงานสิ้นสุดลง ซึ่งสอดคล้องกับข้อเท็จจริงที่ว่า เมื่อวันที่ 15 มี.ค.2550 บริษัท ไอทีวี ยื่นแบบแจ้งเปลี่ยนแปลงข้อเท็จจริงนายจ้างต่อสำนักงานประกันสังคม เพื่อแจ้งว่าบริษัทหยุดกิจการชั่วคราว ตั้งแต่วันที่ 8 มี.ค.2550 เนื่องจากไม่มีพนักงาน
ศาลชี้ไอทีวีไม่ใช่สื่อแล้ว
สำนักงานประกันสังคมตรวจสอบแล้วการหยุดกิจการชั่วคราวจนถึงปัจจุบันคงปรากฏข้อมูลการประกอบกิจการของสำนักงานประกันสังคมว่า หยุดกิจการชั่วคราวตั้งแต่วันที่ 8 มี.ค.2550 จนถึงปัจจุบัน ประกอบกับเมื่อพิจารณาแบบ ส.บช.3 รอบปีบัญชีสิ้นสุดวันที่ 31 ธ.ค.2560-2562 ระบุประเภทธุรกิจว่า กิจกรรมของบริษัทโฮลดิ้ง ไม่ได้ลงทุนในธุรกิจการเงินเป็นหลัก รอบบัญชีสิ้นสุดวันที่ 31 ธ.ค.63 และปี 64 ระบุประเภทธุรกิจว่า สื่อโทรทัศน์ ระบุสินค้าว่า ปัจจุบันไม่ได้ดำเนินการเนื่องจากติดคดีความรอบปีสิ้นสุด 31 ธ.ค.2565 ระบุประเภทธุรกิจว่า สื่อโทรทัศน์ สินค้าว่าไม่ได้ดำเนินกิจการเนื่องจากรอผลคดี มีรายได้จากผลตอบแทนการลงทุนและดอกเบี้ยรับ
นอกจากนี้ หมายเหตุงบการเงินปีสิ้นสุดวันที่ 31ธ.ค.2560 ถึงปี 2565 ระบุว่า บ.ไอทีวี เคยดำเนินธุรกิจหลักเกี่ยวกับการดำเนินการสถานีวิทยุโทรทัศน์ สื่อโฆษณา และผลิตรายการ แต่ สปน.เพิกถอนสิทธิดังกล่าว ส่งผลให้บริษัทดังกล่าวหยุดดำเนินกิจการ ระบุว่า บริษัทมีรายได้จากผลตอบแทนการลงทุนและดอกเบี้ยรับ ส่วนบริษัทย่อยของบริษัท ไอทีวี คือบริษัท ฮาร์ดแวร์มีเดีย ต้องหยุดดำเนินกิจการไปด้วย แต่เมื่อพิจารณา ภ.ง.ด.50 ตั้งแต่ปี 2560-2565 ระบุว่าประกอบกิจการเผยแพร่ภาพยนตร์ วีดิทัศน์ และรายการโทรทัศน์ แต่ระบุรายได้โดยตรงจากการประกอบกิจาการเป็นศูนย์บาท และระบุรายได้อื่นว่ามาจากดอกเบี้ยรับ
แม้จากการไต่สวนฟังได้ว่า บริษัท ไอทีวี จัดตั้งขึ้นเพื่อประกอบกิจการเกี่ยวกับสถานีโทรทัศน์ สื่อโทรทัศน์ การผลิตสื่อโฆษณา และการผลิตรายการ ซึ่งเป็นกิจการที่เป็นสื่อกลางในการส่งข่าวสาร และเนื้อหาสาระไปสู่มวลชนที่สามารสื่อความหมายให้ประชาชนทราบได้เป็นอย่างทั่วไป แต่เมื่อแบบ ส.บช.3 เหตุประกอบงบการเงิน ภ.ง.ด.50 ตั้งแต่ปี 2550-2565 ปรากฏข้อมูลที่สอดคล้องกันว่าบริษัทสถานีไอทีวีหยุดดำเนินกิจการนับตั้งแต่ สปน.ยกเลิกสัญญาปี 2550 ซึ่งผลของการบอกเลิกสัญญาดังกล่าวทำให้สิทธิในคลื่นความถี่ของสถานีโทรทัศน์ไอทีวีกลับมาเป็นของ สปน. และบริษัท ไอทีวี ไม่มีคลื่นความถี่ที่จะดำเนินการของสถานีไอทีวีได้อีกต่อไป เกิดเป็นคดีพิพาทระหว่างผู้สัญญาในการเรียกร้องค่าเสียหาย โดย บ.ไอทีวี ไม่ได้มีการฟ้องร้องเรียกร้องค่าเสียของคลื่นความถี่ของสถานีให้แก่ตนเองแต่อย่างใด ขณะนี้คดีพิพาทดังกล่าวอยู่ในการพิจารณาของศาลปกครองสูงสุด
กรณีเห็นได้ว่า ข้อพิพาทกรณีดังกล่าวหากในท้ายที่สุดแล้ว บ.ไอทีวี เป็นฝ่ายชนะคดีก็มิได้มีผลให้ บ.ไอทีวีได้รับมอบคืนคลื่นความถี่และดำเนินสถานีวิทยุโทรทัศน์ระบบยูเอสเอฟอีก ข้อเท็จจริงปรากฏสรุปได้ว่า บ.ไอทีวีไม่มีสิทธิในการประกอบกิจการสื่อโทรทัศน์ตามกฎหมายตั้งแต่วันที่ 7 มี.ค.2550 และการที่ บ.ไอทีวียังคงสถานะนิติบุคคลเดิมไว้ ก็เพื่อการดำเนินคดีที่ค้างอยู่ในศาลเท่านั้น ทั้งนี้ไม่ปรากฏว่าบริษัทมีรายได้จากการประกอบกิจการเกี่ยวข้องกับสื่อมวลชน แต่มีรายได้จากผลตอบแทนการลงทุนและดอกเบี้ยรับ
การที่นายคิมห์ สิริทวีชัย ประธานกรรมการบริษัท ไอทีวี เบิกความว่า หากศาลปกครองสูงสุดมีคำพิพากษา บ.ไอทีวี ชนะคดีจะมีการพิจารณาอีกครั้งระหว่างผู้ถือหุ้นกับกรรมการบริษัทว่า บริษัทจะดำเนินการต่อไปหรือไม่ ซึ่งอาจจะประกอบกิจการสื่อมวลชนหรือจะประกอบกิจการอื่นๆ ตามวัตถุประสงค์ของ บ.ตามข้อใดข้อหนึ่งจาก 45 ข้อ ก็ได้ ซึ่งเป็นเรื่องในอนาคต ยังไม่ได้มีการพิจารณาในขณะนั้น แสดงให้เห็นว่าตั้งแต่สปน.บอกเลิกสัญญาจนถึงปัจจุบัน บ.ไอทีวีไม่ได้ประกอบกิจการที่เกี่ยวกับสื่อมวลชน อีกทั้งไม่พบข้อมูลหลักฐานว่า บ.ไอทีวีได้รับใบอนุญาตให้ประกอบกิจการตาม พ.ร.บ.จดแจ้งการพิมพ์ ปี 2550, พ.ร.บ.ประกอบกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ พ.ศ.2551, พ.ร.บ.จัดสรรคลื่นความถี่และกำกับกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ กิจการโทรคมนาคม พ.ศ.2553 และไม่เป็นผู้ได้รับอนุญาตประกอบกิจการภาพยนตร์ วีดิทัศน์ และสื่อโฆษณา ตาม พ.ร.บ.ภาพยนตร์และวีดิทัศน์ พ.ศ.2551
ดังนั้น ณ วันนี้ ผู้ถูกร้องสมัครรับเลือกตั้ง สส. บริษัท ไอทีวี มิได้ประกอบกิจการสื่อมวลชนอื่นๆ การถือหุ้นไอทีวีของผู้ถูกร้องตามคำร้องจึงไม่ทำให้มีลักษณะต้องห้ามมิให้ใช้สิทธิสมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 98 (3) อาศัยเหตุผลดังกล่าววินิจฉัยว่า สมาชิกภาพของสภาผู้แทนราษฎรของผู้ถูกร้องไม่สิ้นสุดลงตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 101 (6) ประกอบมาตรา 98 (3)
ทั้งนี้ ศาลรัฐธรรมนูญมีมติเสียงข้างมาก 8 ต่อ 1 วินิจฉัยว่าในวันที่พรรคก้าวไกลยื่นบัญชีรายชื่อผู้สมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อต่อผู้ร้อง ผู้ถูกร้องเป็นผู้ถือหุ้นในบริษัท ไอทีวี แต่ข้อเท็จจริงในทางไต่สวนรับฟังได้ว่าบริษัท ไอทีวี ไม่ได้ประกอบกิจการหรือมีรายได้จากกิจการหนังสือพิมพ์หรือสื่อมวลชนใดๆ ผู้ถูกร้องจึงมิใช่ผู้มีลักษณะต้องห้ามมีให้ใช้สิทธิสมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 98 (3) สมาชิกภาพสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรของผู้ถูกร้องไม่สิ้นสุดลงตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 101 (6) โดยตุลาการศาลรัฐธรรมนูญเสียงข้างน้อยจำนวน 1 คน คือ นายนครินทร์ เมฆไตรรัตน์ เห็นว่าสมาชิกภาพของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรของผู้ถูกร้องสิ้นสุดลงตามรัฐธรรมนูญ
'พิธา' เฮไปต่อไม่รอแล้วนะ
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ภายหลังศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยไม่สิ้นสภาพ สส. นายพิธาได้โพสต์ภาพลงบนเฟซบุ๊ก โดยมีข้อความบนภาพว่า "ขอบคุณทุกกำลังใจ เดินหน้าทำงานต่อ ไม่รอแล้วนะ" พร้อมแคปชันว่า "ขอขอบคุณทุกกำลังใจครับ"
จากนั้นเวลา 15.00 น. นายพิธาให้สัมภาษณ์หลังศาลวินิจฉัยไม่สิ้นสภาพ สส.ว่า รู้สึกปกติ เฉยๆ ตั้งใจเดินหน้าทำงานเพื่อประชาชนต่อไป ภารกิจแรกคือการแถลงแผนงานประจำปีของพรรคก้าวไกล ตามที่ได้รับมอบหมายจากนายชัยธวัช ส่วนจะกลับเข้าสภาได้เมื่อไหร่นั้น จะให้ สส.ที่อยู่ในสภาหรือวิปได้มีการหารือกับประธานสภาฯ อีกครั้งว่าสามารถเข้าไปปฏิบัติหน้าที่ได้เมื่อไหร่ โดยได้ให้ฝ่ายกฎหมายของพรรคตรวจสอบว่าคำวินิจฉัยที่ประกาศต่อสาธารณชนแล้วจะมีความผูกพันต่อสององค์กรแค่ไหน
"เมื่อเข้าสภาแล้วก็จะทำหน้าที่ สส.ให้เต็มที่ ให้สมกับที่รอกันมา รู้สึกปกติเหมือนทุกวัน ในใจคิดถึงเรื่องการทำงานต่อไป ในการลงพื้นที่ และรอเวลา ว่าจะได้กลับเข้าสภาเมื่อไหร่" นายพิธากล่าว
ถามว่าจะมีผลต่อการปรับเปลี่ยนกรรมการบริหารพรรคหรือไม่ นายพิธา กล่าวว่า ไม่น่าจะเป็นผลเกี่ยวข้องกัน เพราะกรรมการบริหารพรรคของก้าวไกลครบ 4 ปี ฉะนั้นเมื่อครบวาระกระบวนการอะไรจะเกิดขึ้น ก็ว่ากันไปตามกระบวนการ ไม่ได้เกี่ยวข้องกับรูปคดี ซึ่งขณะนี้ยังไม่มีการเสนอให้กลับมานั่งตำแหน่งหัวหน้าพรรค
"ผมยังเป็นแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีของพรรคก้าวไกลตามรายชื่ออยู่ ถ้ามีอุบัติเหตุทางการเมือง หรือมีอะไรเกี่ยวข้อง ซึ่งตอนที่อยู่ในสภาชุดที่แล้วเคยมีการคุยกันว่าคนที่อยู่ในบัญชีรายชื่อนายกรัฐมนตรีมีใครบ้าง ซึ่งตนก็ยังอยู่ในรายชื่อนั้น อย่างไรก็ดี คิดถึงทุกคน จะรีบกลับไปเสริมทัพ ไปทำงานกับเพื่อนๆ พรรคก้าวไกลทุกคนอย่างแน่นอน ถ้าเขามีไฟเขียวให้กลับเข้าสภาเมื่อไหร่ ก็จะกลับเข้าไปตอนนั้น" นายพิธากล่าว
ด้านนายชัยธวัช ตุลาธน สส.บัญชีรายชื่อ และหัวหน้าพรรคก้าวไกล กล่าวว่า ช่วง 1-2 วันนี้ นายพิธามีกำหนดการแถลงแผนงานประจำปีของพรรคก้าวไกลอยู่แล้ว รอดูว่าจะได้เข้าสภาเร็วหรือไม่ ถ้าเร็วก็อาจจะได้แถลงที่สภา แต่ถ้าต้องรอก็อาจจะมีการแถลงที่พรรค
ถามว่า กังวลใจในส่วนของคดีที่ใช้นโยบายยกเลิกประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 หาเสียงของนายพิธาและพรรคก้าวไกลเข้าข่ายล้มล้างการปกครองหรือไม่ นายชัยธวัชกล่าวว่า ไม่ต้องกังวลอะไร หวังว่าจะมีข่าวดีเหมือนคดีนี้ ก็ควรจะมีผลทางคดีไม่ได้รุนแรงเท่าไหร่
ซักว่าหากนายพิธาได้รับเลือกเป็นหัวหน้าพรรคในการประชุมบริหารชุดใหม่ นายชัยธวัชกล่าวว่า ขึ้นอยู่กับที่ประชุมใหญ่วิสามัญประจำปีของพรรคก้าวไกล ซึ่งจะเกิดขึ้นในช่วงเดือน เม.ย. ซึ่งหากดำรงตำแหน่งหัวหน้าพรรค ก็ต้องดำรงตำแหน่งผู้นำฝ่ายค้านอยู่แล้ว ซึ่งตนยินดีไม่มีปัญหา ไม่ได้ยึดติดตำแหน่งอยู่แล้ว
ที่รัฐสภา ว่าที่ ร.ต.ต.อาพัทธ์ สุขะนันท์ เลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร กล่าวถึงการกลับเข้าสู่สภาผู้แทนราษฎรของนายพิธาว่า สามารถเข้ามาทำหน้าที่ได้ตามปกติ เพราะศาลไม่ได้สั่งให้สมาชิกภาพ สส.สิ้นสุดลง
ถามว่า ต้องรอเอกสารจากศาลรัฐธรรมนูญส่งมายังสำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรก่อนหรือไม่ ว่าที่ ร.ต.ต.อาพัทธ์กล่าวว่า ในทางธุรการก็จะมีหนังสือแจ้งมาตามขั้นตอน แต่จากที่ดูตามคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ถือว่ามีผลตั้งแต่อ่านคำวินิจฉัยแล้ว นายพิธาจึงสามารถเดินกลับเข้ามาลงชื่อและเข้าห้องประชุมสภาฯ ได้ทันที สำหรับเงินเดือน สส.ของนายพิธานั้น ก็จะดำเนินการย้อนหลังให้
ก.ก.คึกคักรอรับเข้าสภา
ผู้สื่อข่าวรายงานจากรัฐสภาว่า ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ช่วงที่มีการพิจารณาวาระการขอให้สภาผู้แทนราษฎร พิจารณามาตรการป้องกันสร้างความปลอดภัยและแก้ไขเยียวยาความเสียหายจากกรณีโรงงานผลิตดอกไม้เพลิง ที่เสนอโดยนายสรชัด สุจิตต์ สส.สุพรรณบุรี พรรคชาติไทยพัฒนา ซึ่งเป็นจังหวะเดียวกับที่ศาลรัฐธรรมนูญกำลังอ่านคำวินิจฉัย เรื่องสถานะความเป็น สส.ของนายพิธา ปรากฏว่า สส.ก้าวไกลหลายคนมาจับกลุ่มรวมตัวกันในห้องประชุม เพื่อติดตามการอ่านคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญอย่างใกล้ชิด เมื่อทราบว่านายพิธาไม่ต้องสิ้นสถานะการเป็น สส. บรรดา สส.ก้าวไกลต่างมีสีหน้ายิ้มแย้มแจ่มใส เข้ามาจับมือแสดงความยินดีกันภายในห้องประชุม
นอกจากนี้ หลังศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่านายพิธาไม่ต้องสิ้นสถานะการเป็น สส. ที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรได้ปรับตัวเลขจำนวนสมาชิกทั้งหมด จากเดิม 499 คน เป็น 500 คน ซึ่งถือว่ารวมชื่อของนายพิธาเข้ามาแล้ว
มีรายงานว่า ทางพรรคก้าวไกลได้แจ้งสื่อมวลชนว่านายพิธาจะเดินทางกลับเข้าสภาในวันที่ 25 ม.ค. เวลา 10.30 น. โดยใช้ประตูใหญ่โถงทางเข้าฝั่ง สส. ชั้น 1 และให้สัมภาษณ์สั้นๆ แก่ผู้สื่อข่าว
วันเดียวกัน นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวถึงกรณีที่ศาลรัฐธรรมนูญนัดอ่านคำพิพากษาคดีถือครองหุ้นไอทีวีของนายพิธาว่า ขอไม่ให้ความเห็นในเรื่องนี้ เพราะเป็นเรื่องของกระบวนยุติธรรม ซึ่งตนเป็นฝ่ายบริหาร
เช่นเดียวกับ นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.พาณิชย์ ในฐานะรองหัวหน้าพรรคเพื่อไทย กล่าวถึงกรณีที่ฝ่ายเศรษฐกิจมีความกังวลที่ศาลรัฐธรรมนูญนัดตัดสินคดีการถือครองหุ้นสื่อไอทีวีของนายพิธา อาจจะทำให้เกิดแรงกระเพื่อมทางการเมืองและมีการออกมาเคลื่อนไหวชุมนุมว่า ปัญหาทางการเมืองและสภาพแวดล้อมทางการเมืองมันมีผลต่อการทำงานรัฐบาล ซึ่งเราเจ็บปวดกับ 9 ปีที่ผ่านมา ที่มีการชุมนุมแล้วทำให้บ้านเมืองไม่สงบ ทำให้เศรษฐกิจทรุดและซบเซา หลายเรื่องที่จะทำแล้วก็ไม่ได้ทำ เมื่อ 9 ปีที่ผ่านมาทำให้มองเห็นผลชัดเจนวันนี้ เพราะฉะนั้นไม่อยากให้เราต้องกลับไปสู่จุดนั้น
"รัฐบาลพร้อมรับฟังความคิดเห็นอยู่แล้ว เช่น การลงพื้นที่ ครม.สัญจรจังหวัดระนอง จะเห็นได้ว่ามีผู้คัดค้านในโครงการแลนด์บริดจ์ แต่นายกรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรีคนอื่นๆ ก็ไปรับฟังความคิดเห็นต่าง เพื่อนำมาพิจารณาร่วมกัน" นายภูมิธรรมกล่าว.
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
สส.เพื่อไทย ดี๊ด๊า ประเทศไทยมีระบบที่เป็นมาตรฐาน!
นายอนุสรณ์ เอี่ยมสะอาด สส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย (พท.) กล่าวว่าประชาชนที่ติดตามเรื่องนี้คงสบายใจขึ้นที่ศาลรัฐธรรมนูญมีมติไม่รับ
สาวกเพื่อไทย ยื่นศาลรธน.สอบ 'ธนพร' ละเมิดอำนาจศาล
ที่บริเวณหน้าศาลรัฐธรรมนูญ นายนิยม นพรัตน์ หรือเค สามถุยส์ และนายทันกวินท์ รัฐวัฒก์อังกูร เดินทางมายังสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ เพื่อยื่นหนังสือร้อง นายธนพร ศรียากูล ผู้อำนวยการสถาบันวิเคราะห์
'ชูศักดิ์' เผย 'เพื่อไทย' ได้รับความเป็นธรรม ศาลรธน. ไม่รับคำร้องปมล้มล้างการปกครอง
นายชูศักดิ์ ศิรินิล รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ในฐานะรองหัวหน้าพรรคเพื่อไทย กล่าวถึงภายหลังที่ศาลรัฐธรรมนูญไม่รับคำร้องนายธีรยุทธ สุวรรณเกษร ทนายอิสระ ที่ขอให้ศาลมีคำสั่งให้นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรีและพรรคเพื่อไทย(พท.) ยุติการกระทำที่เข้าข่ายล้มล้างการปกครองจะผูกพันไปยังกรณีที่มีการยื่นคำร้องเดียว
'อิ๊งค์' ยิ้มรับ 'พ่อ-เพื่อไทย' รอดล้มล้างปกครอง ชาวเน็ตชี้จากนี้ไป 'ทักษิณ' ใส่เกียร์เหลิง
จากกรณีตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ มีมติไม่รับไว้พิจารณาวินิจฉัย คำร้องที่นายธีรยุทธ สุวรรณเกษร ในฐานะประชาชน ยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญ ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญ
'แก้วสรร' แนะ 'ธีรยุทธ' ปรับยุทธวิธี เสริมความแกร่งของสำนวนมุ่งไปที่ กกต.-ปปช.
หลังตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ มีมติไม่รับไว้พิจารณาวินิจฉัย กรณีที่นายธีรยุทธ สุวรรณเกษร ในฐานะประชาชน ยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญ ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญ
แก้วสรร : ประเมินคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ
แก้วสรร อติโพธิ เผยแพร่บทความเรื่อง "ประเมินคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ" โดยมีเนื้อหาดังนี้