"เศรษฐา" ลั่นหามาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจตลอดเวลา "ภูมิธรรม" การันตีแจกเงินหมื่นแน่ จ่อประชุมบอร์ดดิจิทัลวอลเล็ตสรุปข้อท้วงติง ย้ำเครื่องยนต์ขับเคลื่อนดับหมด ย้อนแบงก์ชาติได้ดูข้อมูลบ้างหรือไม่ "คลัง" ยัน ศก.ไทยปี 66 โตจริงที่ 1.8% ร่ายยาวทุกตัวชี้วัดส่อวิกฤต รับมึนเอกสารหลุด ปลัดสั่งทำหนังสือชี้แจง
ที่โรงแรมพูลแมน คิง เพาเวอร์ เมื่อวันที่ 24 มกราคม เวลา 10.00 น. นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวถึงกรณีมีเอกสารลับของกระทรวงการคลังหลุด เรื่องประมาณการเศรษฐกิจไทยในปี 2566 และปี 2567 ว่า ขอให้มีการแถลงอย่างเป็นทางการก่อน ยังไม่ยืนยันข้อมูล แม้ว่าตนจะเป็น รมว.การคลัง ตนไม่เคยขอเอกสารอะไรมาดูก่อน สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) มีมีอิสระในการทำตัวเลขอยู่แล้ว ต้องให้เกียรติผู้อำนวยการ สศค.ด้วย
ผู้สื่อข่าวถามว่า จะมีการพิจารณามาตรการอื่นเพื่อเข้ามากระตุ้นเศรษฐกิจหรือไม่ นายเศรษฐากล่าวว่า พิจารณาอยู่ตลอดเวลา ไม่อยากสร้างวาทกรรมใหม่ว่าเศรษฐกิจวิกฤตหรือไม่ เพราะยืนยันตลอดเวลาว่าเศรษฐกิจไม่ดี
ส่วนกรณีผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ให้สัมภาษณ์สื่อต่างประเทศว่าเศรษฐกิจของไทยยังไม่วิกฤตนั้น นายกฯ กล่าวว่า เป็นเรื่องของท่านที่พูดไป เป็นความเห็นต่าง เป็นธรรมดาของสังคม
เมื่อถามว่า การที่เศรษฐกิจโตตํ่า จึงมีความกังวลจากภาคเอกชนว่าจะเกิดการลดดอกเบี้ย และอยากเห็นมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจอื่นๆ นายกฯ กล่าวว่า เรื่องนี้ต้องถาม ธปท. ทั้งนี้ รัฐบาลคิดเรื่องการกระตุ้นเศรษฐกิจอยู่ตลอดเวลา และมั่นใจว่าจะมีนโยบายอื่นที่คลอดออกมาด้วย ไม่ใช่แค่เรื่องดิจิทัลวอลเล็ต
เมื่อถามย้ำว่า ได้พูดคุยกับทาง สศค. ในการศึกษาเรื่องนี้เพิ่มเติมหรือไม่ นายเศรษฐากล่าวว่า เราพูดคุยกันตลอดเวลา พูดคุยกันทุกเรื่อง ทั้งเรื่องมาตรการกระตุ้นภาษี และอีกหลายอย่าง
ส่วนขณะนี้นโยบายการเงินการคลังไม่สอดประสานกัน อาจกระทบต่อความเชื่อมั่นของนักลงทุนนั้น นายเศรษฐากล่าวว่า มีเห็นต่างบ้าง แต่เชื่อว่า สศค.และ ธปท. มีการคุยกันตลอด ความเห็นต่างเป็นธรรมดาของการอยู่ร่วมกัน ส่วนจะให้เห็นด้วยกันได้หรือไม่นั้น ต้องพูดคุยกัน ทุกคนมีหน้าที่ ตนมีหน้าที่หามาตรการกระตุ้นการคลัง
ด้านนายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ กล่าวในงานเสวนาหัวข้อ "จับสัญญาณบวกส่งออก ปลุกเศรษฐกิจดิจิทัลไทยในตลาดโลก" ภายในงานสัมมนาปาฐกถาพิเศษ Thailand 2024 The Great Challenges เพิ่มรายได้ ลดรายจ่าย ขยายโอกาส ว่า วันนี้ต้องยอมรับว่ายังเห็นเศรษฐกิจโลกมีปัญหา แม้หลายสำนักงานจะยังขัดแย้งกันอยู่ และที่ผ่านมานักเศรษฐศาสตร์มักจะมีการทำนายเรื่องตัวเลขการเติบโตไว้ แต่สุดท้ายต้องมาแก้ไขเรื่องที่ทำนายไว้ และวนอยู่แบบนี้ซึ่งต้องหันกลับมามองความเป็นจริง ควรใช้เรื่องวิชาการมาคุยกันอย่างถี่ถ้วน
"สะท้อนไปยังนโยบายของรัฐที่กำลังจะใช้เครื่องมือแจกเงินดิจิทัลวอลเล็ต 10,000 บาท แต่ก็มีเสียงวิพากษ์วิจารณ์ในแง่มุมต่างๆ บ้างก็เห็นด้วยและมองว่าไม่สามารถเดินหน้าต่อได้ เพราะขณะนี้ยังไม่วิกฤตมากเพียงพอ แต่อีกส่วนก็มองว่าอยู่ในช่วงวิกฤตแล้ว ซึ่งหากไปถามประชาชนที่มีข้อมูลผลการสำรวจความคิดเห็นของประชาชนทั้งหมด 2 แสนราย กว่า 97% มองว่าวิกฤตเช่นเดียวกับนักธุรกิจ ผู้ประกอบการ สตาร์ทอัป และประชาชนส่วนใหญ่พูดเหมือนกันหมดว่าวิกฤต ทำให้วันนี้เราเถียงกันระหว่างเรื่องที่อยู่ในความเป็นจริงกับความฝัน และต้องถามไปถึง ธปท. ว่าเคยฟังหรือเคยดูข้อมูลเหล่านี้หรือไม่ เพราะการเติบโตของทุนนิยมในวันนี้ต้องคำนึงถึงความเป็นจริง และเป็นทุนนิยมที่มีหัวใจ" นายภูมิธรรม ระบุ
สำหรับดิจิทัลวอลเล็ต คือการดึงประชาชนเข้ามากู้วิกฤตด้วยกัน แจกเงินคนละ 10,000 บาท ไม่ได้คำนึงถึงคนจนหรือรวย แต่เปิดโอกาสให้ทุกคนได้มีโอกาสใช้สอย เพื่อให้เกิดบรรยากาศและการเพิ่มกำลังซื้อ ซึ่งจะช่วยขยับขับเคลื่อนกลไกเศรษฐกิจทั้งหมด เพราะเครื่องจักรเศรษฐกิจหลายตัวดับลงเกือบหมด ทำให้การนำเงินไปเพิ่มกำลังซื้อ เพื่อขยับขึ้นมาหมุนวงจรเศรษฐกิจได้อีกหลายรอบ อันนี้เป็นหัวใจสำคัญ แต่ยังไปไม่ได้ เพราะยังมีการตั้งคำถามอยู่ ซึ่งถือเป็นข้อพึงสังวร ไม่ใช่ข้อพึงปฏิบัติ รัฐบาลจึงจะเดินหน้าทำเรื่องนี้ต่อไป
นายภูมิธรรมยังกล่าวถึงความชัดเจนโครงการดิจิทัลวอลเล็ต จะออกเป็นพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) หรือพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ว่า ยังไม่สามารถตอบได้ตอนนี้ แต่ได้รวบรวมความคิดเห็นมาทั้งหมดแล้ว เอาเป็นว่าจะใช้โครงการดิจิทัลวอลเล็ตในการกระตุ้นเศรษฐกิจ เป้าหมายคือการเพิ่มกำลังซื้อของประชาชน และประเด็นสำคัญคือต้องแจกให้ได้มากที่สุด เพื่อกระจายกำลังซื้อ ซึ่งหากมีความชัดเจนในข้อคิดเห็นต่างๆ แล้ว หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะได้พิจารณาปรับปรุงในประเด็นที่คำนึงถึง แต่จะขอดูข้อวิจารณ์ข้อท้วงติงทั้งหมดก่อนเพื่อพิจารณาร่วมกัน เพื่อดำเนินการแก้ไขกันต่อไป และยืนยันว่าพร้อมจะทำอย่างแน่นอน
โดยการประชุมนัดถัดไปจะเกิดขึ้นในเวลาอันใกล้นี้ แต่ยังไม่ได้กำหนดวันเวลา โดยจะมีรัฐมนตรีที่จะเข้าร่วม ขณะนี้อยู่ระหว่างรวบรวมข้อมูลและจะสรุปกันอีกครั้งหนึ่ง เพราะว่ามีข้อท้วงติงและข้อคัดค้านเข้ามาเพิ่มเติม ตามข้อสั่งการของนายกรัฐมนตรี อะไรที่ควรทำและควรทำให้ดีขึ้น ขออย่าไปดูปลายทาง ไปดูต้นทางว่าเราทำได้เมื่อไร
นายภูมิธรรมกล่าวว่า ไม่ว่านโยบายใดๆ ก็ตามที่พรรคเพื่อไทยได้หาเสียงไว้ นั่นแปลว่าผ่านกระบวนการคิดมาแล้ว ว่ามีผลบวกผลลบอย่างไร เมื่อแถลงแล้ว ผ่านการแถลงนโยบายต่อรัฐบาลสภาแล้ว ขอให้เราได้ทำงาน ส่วนทำงานแล้วจะผิดพลาด ให้ไปดูว่ามันผิดพลาดได้ตรงไหน หากผิดพลาดในส่วนของความเสียหายต้องรับผิดชอบไปตามนั้น
ที่กระทรวงการคลัง นายพรชัย ฐีระเวช ผู้อำนวยการเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ในฐานะโฆษกกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า กระทรวงคลังยืนยันตัวเลขประมาณการเศรษฐกิจไทยในปี 2566 ขยายตัวได้ 1.8% ต่อปี โดยเป็นตัวเลขที่หารือร่วมกับ ธปท. และสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ให้ความเห็นไปในทิศทางเดียวกันแล้ว โดยเมื่อเทียบกับเศรษฐกิจไทยไตรมาส 1/2566 ขยายตัวได้ 2.6%, ไตรมาส 2/2566 ขยายตัว 1.8%, ไตรมาส 3/2566 ขยายตัว 1.5% หากจะให้เศรษฐกิจไทยทั้งปีขยายตัวได้มากกว่า 2% ในไตรมาส 4/2566 จะต้องขยายตัวได้ราว 4-5% แต่ไม่มีสัญญาณดังกล่าว ซึ่งคาดว่าจะเติบโตได้ 1.4% เท่านั้น
สำหรับเศรษฐกิจไทยในปี 2567 คาดว่าเศรษฐกิจจะขยายตัวได้ 2.8% ซึ่งตัวเลขเศรษฐกิจที่คลังพิจารณาด้วยความรอบคอบ ถี่ถ้วน คิดมาอย่างดีแล้ว โดยเศรษฐกิจอยู่ในศักยภาพที่ดี โดยการประมาณการดังกล่าวยังไม่ได้รวมมาตรการดิจิทัลวอลเล็ตของรัฐบาล
อย่างไรก็ดี การที่เศรษฐกิจไทยขยายตัวได้ 1.8% ลดลงจากประมาณการครั้งก่อนที่ 2.7% ถือว่าอยู่ในระดับวิกฤตแล้วหรือไม่ คำถามนี้อยากให้นักวิชาการเป็นคนตอบ เพราะคำว่าวิกฤตไม่มีนิยามที่ชัดเจน แต่ในเชิงเศรษฐศาสตร์ ก็มีมุมมองว่าถ้าเศรษฐกิจหดตัว ติดลบ 2 ไตรมาสติดต่อกัน จะเข้าสู่ภาวะถดถอยทางเทคนิค ซึ่งปัจจุบันเศรษฐกิจไทยมีสัญญาณชี้วัดที่ส่งสัญญาณอ่อนตัวและติดลบหลายด้าน มีการเปราะบางในบางจุด มีการขยายตัวทางเศรษฐกิจที่ลดลงต่อเนื่องมาโดยตลอด หากดูแลไม่ดีก็อาจจะเกิดวิกฤตได้ แต่ปัจจุบันก็ยังไม่ถึงในทางทฤษฎีด้านเศรษฐศาสตร์ ว่าเศรษฐกิจติดลบ 2 ไตรมาสติดต่อกัน
“ไตรมาส 4/2566 ยังไม่มีสัญญาณชัดเจนว่าเศรษฐกิจจะโตทะลุ 4-5% แต่เราเห็นสัญญาณที่ไม่ค่อยดีมากกว่า เช่น การผลิตภาคอุตสาหกรรมที่หดตัวต่อเนื่อง ในเดือน พ.ย. ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม หดตัวที่ -4/7% ต่อปี เป็นการติดลบติดต่อกันเดือนที่ 14 และอุตสาหกรรมหดตัวต่อเนื่อง เช่น ยานยนต์หดตัวติดต่อกันเป็นเดือนที่ 23, คอมพิวเตอร์ หดตัวติดต่อกันเป็นเดือนที่ 15 ยางพาราและพลาสติกหดตัวติดต่อกันมาเป็นเดือนที่ 9 เป็นต้น โดย สศค.นำข้อมูลดังกล่าวมาสอบยันทุกทางแล้ว” นายพรชัยระบุ
ทั้งนี้ คำศัพท์คำว่าวิกฤตเป็นคำวิเศษณ์ จะต้องอยู่กับคำนามที่ประกอบกัน เช่น ช่วงเวลาวิกฤต อย่างวิกฤตต้มยำกุ้งปี 2540 ซึ่งมีหน่วยงานอย่างองค์กรการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) รับรอง หรือเหตุการณ์วิกฤต เช่น มีปัญหาทางการเงินของครัวเรือนสูง มีหนี้สิน รายได้ไม่เพียงพอรายจ่าย ก็เป็นวิกฤตที่ต้องมารับฟังข้อมูลต่างๆ มาประกอบการพิจารณาว่าเข้าเงื่อนไขต่างๆ หรือไม่
โฆษกกระทรวงการคลังกล่าวถึงกรณีเอกสารประมาณการเศรษฐกิจไทยที่หลุดไปก่อนหน้านี้ว่า ได้รายงานเรื่องดังกล่าวให้ปลัดกระทรวงการคลังรับทราบทางวาจาแล้ว โดยปลัดได้สั่งการให้ทำเอกสารชี้แจงตามระเบียบราชการ ทั้งนี้ยังไม่รู้ว่าเอกสารหลุดไปทางไหนเลย ตนไม่รู้จริงๆ โดยในส่วนการทำงานของ สศค.นั้น ยืนยันว่าเรายังทำงานด้วยการยึดหลักวิชาการ ตัวเลขที่ชี้แจงมามีเหตุและผล ดำเนินการด้วยความรอบคอบ การทำงานของเราต้องการเผยแพร่ข้อมูลด้วยความชัดเจน จึงมีการแถลงข่าวอย่างละเอียด พยายามอธิบายให้ดีและมากที่สุด โดยความน่าเชื่อถือของ สศค.นั้น ยังเป็นความเชื่อถือที่วงการวิชาการและราชการให้การยอมรับ.
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
บิ๊กอ้วนตอกยํ้า แจก‘เงินดิจิทัล’ ‘อนุสรณ์’เตือน
“ภูมิธรรม” ยันรัฐบาลเร่งแจกเงินดิจิทัลวอลเล็ต หวังกระตุ้นเศรษฐกิจ
อิ๊งค์หาเสียงฟุ้งพท.มาคนจนรวยแน่
"หัวหน้าอิ๊งค์” ลุยนครพนม ช่วย “อนุชิต” ผู้สมัครนายก อบจ.เพื่อไทยหาเสียง
รพ.ตำรวจอึมครึม เวชระเบียนชั้น14
เส้นตายพุธนี้! แพทยสภาสอบหมอช่วย "ทักษิณ" อึมครึม "แพทย์ใหญ่ รพ.ตำรวจ" ปัดตอบส่งเอกสารหรือยัง
‘จ่าเอ็ม’เครียด อุบ‘ผู้มีบุญคุณ’ ตร.หิ้วฝากขัง!
ตำรวจเค้นสอบ “จ่าเอ็ม” ตลอดคืน ยังให้การไม่เป็นประโยชน์คดียิงอดีต
จับตา!เคาะ‘กาสิโน’ คลังชงเข้าครม.ไฟเขียว/นักวิชาการชี้ผลประโยชน์ทับซ้อน
จับตา “คลัง” เล็งชงเอนเตอร์เทนเมนต์คอมเพล็กซ์เข้า ครม.จันทร์นี้หรือไม่ หลัง
ชีพจรลงเท้า นายกฯ ลุยบึงบอระเพ็ด เร่งแก้น้ำแล้ง น้ำท่วมพรุ่งนี้
นายกฯเร่งแก้น้ำแล้ง น้ำท่วม บ่ายพรุ่งนี้ลงพื้นที่บึงบอระเพ็ด