‘ไวรัส’พ่นพิษ! ยอดใช้จ่ายวูบ ต่ำสุดใน‘12ปี

“โอมิครอน” พ่นพิษ ทำคนไทยใช้จ่ายช่วงปีใหม่ลดลง หอการค้าฯ คาดอยู่ที่ 8.5 หมื่นล้านบาท ต่ำสุดในรอบ 12 ปี อึ้ง! มีแค่ 0.1% ที่คาดว่าปีหน้าฟ้าใหม่เศรษฐกิจจะรุ่งโรจน์

เมื่อวันศุกร์ที่ 24 ธันวาคม นายธนวรรธน์ พลวิชัย ประธานที่ปรึกษาศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยผลสำรวจพฤติกรรมการใช้จ่ายของประชาชนในช่วงเทศกาลปีใหม่ 2565 ว่า คาดว่าจะมีเม็ดเงินสะพัดจากการใช้จ่ายของประชาชนทั่วประเทศราว 85,796.49 ล้านบาท ลดลง 6.2% จากปีก่อน และถือว่าปีนี้ต่ำสุดในรอบ 12 ปี นับตั้งแต่ปี 2554 เป็นผลจากปัจจัยความกังวลเรื่องการแพร่ระบาดของโควิดสายพันธุ์โอมิครอนเป็นหลัก โดยแบ่งเป็นการใช้จ่ายเพื่อการท่องเที่ยว 49,642.57 ล้านบาท และค่าใช้จ่ายในการซื้อสินค้า-เลี้ยงสังสรรค์-ทำบุญ รวม 36,153.92 ล้านบาท

"ก่อนหน้านี้ หอการค้าไทยคาดการณ์ผิดคาด จากเดิมที่คาดว่าการใช้จ่ายปีใหม่จะอยู่ในกรอบเดิมประมาณ 120,000-140,000 ล้านบาท แต่เมื่อมีการแพร่ระบาดของโอมิครอนเข้ามา การยกเลิก Test & Go ประกอบกับมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐที่จะออกมาช่วงปีหน้า รวมถึงการคำนวณรวมไปถึงสถานการณ์ที่อาจงดเคาต์ดาวน์ การใช้จ่ายของปี 65 จึงอยู่ที่ประมาณ 86,000 ล้านบาท ซึ่งโอมิครอนเป็นปัจจัยหลักที่ทำให้การใช้จ่ายหายไปถึง 30,000-50,000 ล้านบาท ทั้งนี้ 86,000 ล้านบาท ก็ต้องขึ้นอยู่กับบรรยากาศจริง ซึ่งอาจลดลงได้อีกประมาณ 5,000-10,000 ล้านบาท" นายธนวรรธน์กล่าว

นายธนวรรธน์กล่าวอีกว่า ของขวัญยอดนิยมในช่วงปีใหม่ 3 อันดับแรก คือ ซื้อกระเช้าของขวัญ รองลงมาคือซื้อของรับประทาน และซื้อเครื่องดื่มบำรุง ส่วนการเดินทางออกไปท่องเที่ยวช่วงปีใหม่นั้น พบว่า การเดินทางท่องเที่ยวในประเทศ ค่าใช้จ่ายเฉลี่ยอยู่ที่ 5,445.28 บาท/คน ส่วนการท่องเที่ยวต่างประเทศ ค่าใช้จ่ายเฉลี่ยอยู่ที่ 21,508.32 บาท/คน ทั้งนี้ ประชาชน 33% มองว่าเทศกาลปีใหม่ปีนี้จะคึกคักพอๆ กับปีที่แล้ว แต่ประชาชน 27% มองว่าปีใหม่ปีนี้ไม่คึกคัก ในขณะที่ประชาชน 23% มองว่าปีใหม่จะคึกคักน้อยกว่าปีที่แล้ว และมี 17% มองว่าปีใหม่จะคึกคักมากกว่าปีที่แล้ว

“ประชาชนมองว่าภาวะเศรษฐกิจในปัจจุบันมีผลกระทบต่อการใช้จ่ายช่วงปีใหม่ 71.2% ส่วนการแพร่ระบาดของโควิดในปัจจุบันมีผลกระทบต่อการใช้จ่ายในช่วงปีใหม่ 68.3% และภาระหนี้สินมีผลกระทบต่อการใช้จ่ายในช่วงปีใหม่ 43.2%” นายธนวรรธน์ระบุ

สำหรับสิ่งที่ประชาชนต้องการได้เป็นของขวัญจากรัฐบาลมากสุดใน 5 อันดับ คือ อันดับแรก บริหารประเทศอย่างโปร่งใส ปราบปรามการทุจริตอย่างจริงจัง, อันดับสอง กระจายอำนาจสู่ท้องถิ่น และดำเนินงานอย่างมีประสิทธิภาพและเสถียรภาพ, อันดับสาม จัดแพ็กเกจกระตุ้นเศรษฐกิจต่อเนื่อง เช่น คนละครึ่ง และชิมช้อปใช้ เป็นต้น, อันดับสี่ แก้ปัญหาการแพร่ระบาดโควิด-19 ให้หมดไปจากประเทศ และอันดับห้า แก้ปัญหาการกระจายรายได้ ลดความเหลื่อมล้ำในสังคม ส่วนสิ่งที่อยากให้รัฐดำเนินการในปี 2565 อันดับแรกคือ เรื่องการดูแลค่าครองชีพให้เหมาะสม รองลงมาคือการแพร่ระบาดของโควิด-19 และอันดับสามปัญหาหนี้ครัวเรือน

ทั้งนี้ ประชาชนยังได้ประเมินผลการแก้ไขปัญหาในด้านต่างๆ ของรัฐบาลในรอบปีที่ผ่านมา โดย 3 อันดับแรกที่จัดการได้ดีคือการแพร่ระบาดของโควิด-19 รองลงมาคือการเตรียมความพร้อมรับมือภัยธรรมชาติ และอันดับสาม การแก้ไขปัญหาสังคม

นายธนวรรธน์กล่าวอีกว่า เมื่อสำรวจความคิดเห็นประชาชนเกี่ยวกับเศรษฐกิจไทยในปี 2565 เมื่อเทียบกับปี 2564 พบว่าประชาชนส่วนใหญ่ 28.4% มองว่าเศรษฐกิจไทยจะแย่ลงมาก รองลงมาประชาชน 26.5% มองว่าจะเหมือนเดิม ส่วนอีก 25.4% มองว่าแย่ลงเล็กน้อย มีเพียง 0.1% ที่มองว่าดีขึ้นมาก สำหรับการขยายตัวของภาวะเศรษฐกิจ ประชาชนส่วนใหญ่ไม่ทราบหรือไม่แน่ใจ รองลงมาประชาชนมองว่าเศรษฐกิจไทยในปี 2565 จะขยายตัวในระดับ 2.51-3.00% โดยมาตรการของรัฐบาลที่ประชาชนส่วนใหญ่ต้องการให้ขยายเวลาการใช้มาตรการคนละครึ่งมากที่สุด รองลงมา คือโครงการช้อปดีมีคืน และเราเที่ยวด้วยกัน ตามลำดับ

“เมื่อถามถึงความกังวลต่อการแพร่ระบาดของโอมิครอน พบว่าประชาชนมีความกังวล 72.7% และไม่กังวล 27.3% ซึ่งความกังวลดังกล่าวส่งผลต่อการตัดสินใจไปท่องเที่ยวในช่วงปีใหม่ถึง 59.6%”.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

อวยทักษิณชนะนายกอบจ.

"ภูมิธรรม" โว พท.ชนะนายก อบจ.อุดรฯ เป็นเรื่องธรรมดา เหตุ ปชช.ยังรัก “ทักษิณ” ชอบผลงานที่ทำมา