อัดฉีดอันดามัน552ล.

"เศรษฐา" สวมเสื้อลายทรัพย์รักษ์ระนองนำถก ครม.สัญจร เคาะ 18   โครงการ งบฯ 552 ล้าน ให้จังหวัดอันดามัน พบกลุ่มต้าน "แลนด์บริดจ์"  ยื่นข้อเสนอตั้ง กก.ทุกภาคส่วน นายกฯ  รับข้อเสนอไปพิจารณา ยันฟังทุกสิทธิ์ทุกเสียง คำนึงทุกมิติ  โฆษกรัฐบาลแจงนักลงทุนจะให้คำตอบคุ้มค่าหรือไม่     "ศิริกัญญา" ยันไม่ได้อ่านรายงานผิดฉบับ แต่ข้อมูลไม่ตรงกัน แนะรื้อรายงานศึกษา สนข.ใหม่ทั้งหมด

เมื่อเวลา 10.00 น. วันที่ 23  มกราคม ที่หอประชุมคอซู้เจียง ศูนย์ราชการจังหวัดระนอง ตำบลบางริ้น อำเภอเมืองระนอง จังหวัดระนอง นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและ รมว.การคลัง เป็นประธานการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) อย่างเป็นทางการนอกสถานที่ ครั้งที่ 1/2567

โดยนายกฯ และ ครม.สวมเสื้อผ้าบาติกสีฟ้าที่ทางจังหวัดมอบให้ เป็นลาย  “ทรัพย์รักษ์ระนอง” ลายผ้าประจำจังหวัดระนอง ซึ่งเป็นลายแปดเหลี่ยมที่ “คอซู้เจียง” เจ้าเมืองระนองเคยใส่ มีลวดลายลักษณะเหมือน “เก๋งจีนฝนแปด” แสดงถึงทรัพยากรธรรมชาติที่อุดมสมบูรณ์ของเมืองฝนแปดแดดสี่ และประแจจีนซึ่งเป็นหนึ่งในรูปแบบลายผ้าอินทนิล สินธุ์แร่นอง สื่อถึงความหมายสัญลักษณ์ความมงคลเป็นตัวแทนของความราบรื่น

เมื่อมาถึงนายกฯ เยี่ยมชมบูธของหน่วยงานต่างๆ ช่วงหนึ่งนายกฯ ได้ชิมมังคุดแช่อิ่มอบแห้ง รวมทั้งได้ลองดมกลิ่นกะปิเคยแท้ พร้อมชมการทำแบบอนุรักษ์ของเดิมไว้ แม้ในปัจจุบันจะมีการพัฒนาทำในภาคอุตสาหกรรม นายกฯ ยังได้ลองชิมชาดอกกาแฟไม่มีกาเฟอีนช่วยลดคอเลสเตอรอล พร้อมรินให้ ครม.ชิมด้วย

ช่วงหนึ่งระหว่างเยี่ยมชมบูธสินค้าหัตถกรรมต่างๆ เจ้าของร้านได้มอบเข็มกลัดรูปปูเจ้าฟ้าที่ทำจากดิ้นโบราณติดเสื้อให้นายกฯ รวมถึงนายกฯ ได้เซ็นชื่อบนท้องเต่าเรียกทรัพย์ที่ทำจากกะลา  และทางร้านได้มอบเต่าเงินเต่าทองที่ทำจากกะลาให้กับนายกฯ ด้วย นายกฯ ยังได้ชิมก๊กซิมบี้ อาหารท้องถิ่น ที่มีการพัฒนาเป็นอาหารแช่แข็ง ซึ่งนายกฯ ระบุว่าเป็นเมนูซอฟต์พาวเวอร์

ก่อนเข้าประชุม ครม. ผู้สื่อข่าวถามว่าอาการหวัดดีขึ้นหรือยัง นายกฯ กล่าวว่า “อาการยังเหมือนเดิม แต่ไม่เป็นอะไรครับ ยังไหวอยู่”

 จากนั้นนายกฯ ถ่ายภาพร่วมกับ ครม. ผู้ว่าราชการจังหวัดกลุ่มจังหวัดภาคใต้ฝั่งอันดามัน (จังหวัดกระบี่ ตรัง พังงา ภูเก็ต ระนอง และสตูล) ทางจังหวัดยังได้มอบผ้าพันคอย้อมสีธรรมชาติ อ.กะทู้ จ.ภูเก็ต และน้ำพริก 8 รสชาติ เป็นของที่ระลึกให้ ครม. ทั้งนี้ มี ครม.ลาประชุม 3 คน ได้แก่ นายวราวุธ ศิลปอาชา รมว.การพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์, นายเกรียง กัลป์ตินันท์ รมช. มหาดไทย และนายจักรพงษ์ แสงมณี รมช.การต่างประเทศ

ต่อมาเวลา 11.30 น. นายเศรษฐา แถลงภายหลังประชุมว่า ในการลงพื้นที่ตรวจราชการเมื่อวันที่ 22 ม.ค. ตนได้ไปดูท่าเรือระนอง-เกาะสอง โดยมีการอนุมัติปรับปรุงท่าเรือท่องเที่ยวและการขนส่งให้ดีขึ้น รวมถึงการพัฒนาท่าเรือให้เป็นวันสต็อปเซอร์วิส เพื่อให้นักธุรกิจและประชาชนทำมาค้าขายได้สะดวกยิ่งขึ้น และยังได้สั่งการให้กระทรวงมหาดไทย กระทรวงยุติธรรม และกระทรวงแรงงาน เร่งรัดให้คนได้มีสัญชาติและพิสูจน์สิทธิให้รวดเร็วยิ่งขึ้น เพื่อรับสิทธิขั้นพื้นฐานทางกฎหมาย

นายเศรษฐากล่าวว่า ได้ไปดูจุดก่อสร้างโครงการแลนด์บริดจ์ ทำให้ จ.ระนองและ จ.ชุมพรเจริญมากยิ่งขึ้น มีการสร้างงาน สร้างรายได้ พร้อมศึกษาทางด้านสิ่งแวดล้อม และยังได้รับหนังสือร้องเรียนจากฝ่ายที่เห็นชอบกับการก่อสร้างโครงการ ซึ่งต้องมีการพูดคุยกันต่อไป ภารกิจสุดท้ายไปดูบ่อน้ำแร่ร้อนรักษะวาริน เพื่อส่งเสริมให้มีการท่องเที่ยวเพิ่มมากขึ้น เพราะเป็นบ่อน้ำพุร้อนธรรมชาติที่มีมาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5 แต่ยังมีบางเรื่องที่ยังขาดอยู่ ซึ่งตนได้สั่งการให้การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ไปทำการบ้านเพิ่มเติมมา

เคาะ 18 โครงการ 552 ล้าน

นายกฯ กล่าวด้วยว่า ครม.เห็นชอบโครงการกลุ่ม 6 จังหวัด (กระบี่ ตรัง พังงา ภูเก็ต ระนอง และสตูล) 13 โครงการมูลค่า 350 ล้านบาท คิดเป็นจังหวัดละ 50 ล้านบาท และโครงการตามข้อเสนอของภาคเอกชน 5 โครงการมูลค่า 202 ล้านบาท โดยใช้งบประมาณปี 2566 งบกลางไปพลางก่อน นอกจากนี้ในที่ประชุม ครม.มีการพูดคุยเรื่องร่างพ.ร.บ.การประมง ซึ่งจะมีการชี้แจงกับ 14 ชาวประมง ซึ่ง ครม.เห็นชอบในหลักการ แต่ยังต้องผ่านกระบวนการทางกฎหมายเร่งรัดให้เข้าที่ประชุม ครม.ในสัปดาห์หน้า

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับโครงการสำคัญเพื่อพัฒนาภาคใต้อันดามัน 6 จังหวัด ทั้งหมด 18 โครงการ วงเงิน 552 ล้านบาท แบ่งเป็นโครงการสำคัญที่มีความพร้อมและดำเนินการแล้วเสร็จใน 1 ปี รวม 13 โครงการ วงเงิน 350 ล้านบาท และโครงการที่เป็นข้อเสนอเอกชน อีก 5 โครงการ วงเงิน 202 ล้านบาท

จากนั้น นายเศรษฐาพร้อมด้วยนายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.พาณิชย์, ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า รมว.เกษตรและสหกรณ์ และนายไชยา พรหมา รมช.เกษตรและสหกรณ์ ลงมาพบกับกลุ่มสมาคมชาวประมงในเขตจังหวัดภาคใต้ ได้แก่ จังหวัดชุมพร ประจวบคีรีขันธ์ ระนอง และจังหวัดใกล้เคียง เพื่อรับฟังปัญหา รวมถึงรับมอบกระเช้าผลิตภัณฑ์ประมงและดอกไม้ โดยนายกฯ กล่าวว่า เราจะทำตามนโยบายที่ได้หาเสียงไว้ วันนี้ รองนายกฯ และ รมว.เกษตรฯ ก็มีส่วนช่วยกัน เพิ่งผ่านไปแค่ 4 เดือนเราก็ทำได้ ขอขอบคุณทุกคน

ต่อมา เวลา 12.15 น. นายเศรษฐา เดินทางมาพบกับเครือข่ายรักษ์พะโต๊ะ พร้อมชาวบ้านชุมพรและระนอง ประมาณ 100 คน ที่รวมตัวกันเพื่อยื่นหนังสือคัดค้านการก่อสร้างโครงการแลนด์บริดจ์ ซึ่งมีการชูป้ายข้อความต่างๆ อาทิ มีการบิดเบือนข้อมูลและลิดรอนสิทธิ์ของประชาชน, แบบพัฒนาโครงการไม่รอบคอบ, กระบวนการให้ข้อมูลไม่รอบด้าน เป็นต้น โดยมี พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ หักพาล รอง ผบ.ตร. ทำหน้าที่ประสานงานกับกลุ่มคัดค้านฯ ด้านแกนนำกลุ่มผู้คัดค้านฯ กล่าวว่า พวกเราไม่ได้คัดค้าน พร้อมสนับสนุน แต่โครงการแลนด์บริดจ์เป็นโปรเจกต์ขนาดใหญ่ที่ส่งผลกระทบต่อวิถีชีวิตของประชาชนในพื้นที่ จึงมีข้อแนะนำและเรียกร้องให้รัฐบาลจะต้องมีการศึกษาผลกระทบอย่างรอบด้านและได้มาตรฐาน ต้องไม่ลำเอียง กำหนดเป้าหมายการพัฒนาอย่างชัดเจน โดยบูรณาการกับแผนงานอื่นๆ อย่างเป็นรูปธรรมในทุกด้าน รวมถึงประชาชนจะต้องมีส่วนร่วม ให้รัฐบาลทำการพัฒนาในด้านต่างๆ ควบคู่ไปด้วย โดยเฉพาะการประมงและการเกษตร และเสนอให้มีการตั้งคณะกรรมการร่วม ซึ่งประกอบด้วยนักการเมือง ข้าราชการ ท้องถิ่น และภาคประชาชน โดยเฉพาะประชาชนในพื้นที่ เพื่อให้เป็นกลไกในการทำงาน ที่จะเป็นทางออกในการแก้ปัญหาความขัดแย้ง

แลนด์บริดจ์พัฒนาทุกมิติ

ขณะที่นายกฯ กล่าวว่า ท่านมีข้อสงสัยอยู่หลายข้อ หนึ่งเรื่องการศึกษาโครงการแลนด์บริดจ์ครอบคลุมหรือเปล่า มีอิสระหรือเปล่า ดูแลทุกมิติหรือเปล่า ไม่ใช่แค่แลนด์บริดจ์อย่างเดียว อุตสาหกรรมที่จะมาต่อเนื่องในอนาคตด้วย ผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม การมีส่วนร่วมของภาคประชาชน โดยเฉพาะประชาชนในท้องถิ่นด้วย ตรงนี้รับฟังจะนำไปพิจารณาเป็นข้อประกอบการทำเอกสารศึกษาเพื่อให้ทุกฝ่ายได้มีความกระจ่างในจุดประสงค์ และวันที่ 23 ม.ค. ได้มีการพูดคุยตามมาด้วยเกี่ยวกับเรื่องของการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาคใต้ นอกเหนือจากแลนด์บริดจ์ ซึ่งรัฐบาลนี้ทำอย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็นมาตรการส่งเสริมการท่องเที่ยว มาตรการที่จะสร้างสนามบินอันดามันเนเชอรัล ที่ จ.พังงา ทราบดีว่าเราดำเนินการแล้วโดยรัฐบาลนี้ โดยเฉพาะเรื่องการประมง อาทิตย์หน้าจะเอา พ.ร.บ.ประมง เพื่อให้ชาวประมงกลับมาประกอบอาชีพได้อีกครั้งตามกฎของไอยูยู ยืนยันทุกสิทธิ์ทุกเสียงของพี่น้องประชาชนจะได้รับการรับฟัง ไตร่ตรองที่ดีจากรัฐบาล

นายชัย วัชรงค์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงถึงความคืบหน้าโครงการแลนด์บริดจ์ว่า ขณะนี้อยู่ในขั้นตอนของการโรดโชว์ รัฐบาลที่ไม่ได้อยู่ในฐานะผู้ลงทุน แต่อยู่ในฐานะผู้เชิญชวน หากเราศึกษาวิจัยจนครบถ้วนเสมือนเป็นผู้ลงทุนเอง ถึงเวลาเขามา โจทย์เขาอาจจะไม่เหมือนเรา เราจึงต้องเหลือพื้นที่ให้เขามาตั้งโจทย์และศึกษา วิจัย ตามแนวทางที่ผู้ลงทุนนั้นต้องการ คำตอบสุดท้ายจะอยู่ที่ผู้ลงทุนจะตอบเองว่า ถ้ามาลงทุนแล้วจะคุ้มหรือไม่คุ้ม ไม่ใช่เราไปตอบแทนเขา และยืนยันจากการไปโรดโชว์มายังไม่มีบริษัทใดระบุว่าข้อมูลที่เราให้น้อยเกินไป และสื่อมวลชนทั้งในสหรัฐ ยุโรป ไม่มีสื่อไหนวิจารณ์ว่ารัฐบาลไทยไม่มีข้อมูลครบถ้วนเพียงพอ ส่วนทุกคนที่ได้รับผลกระทบต้องได้รับการดูแลอย่างดีที่สุด ชดเชยให้มากพอ ไม่ทำให้เกิดความเสียหายกับประชาชน

ที่รัฐสภา น.ส.ศิริกัญญา ตันสกุล สส.บัญชีรายชื่อ และรองหัวหน้าพรรคก้าวไกล กล่าวถึงกรณีที่ถูกบรรดารัฐมนตรีตอบโต้เรื่องรายงานคณะกรรมาธิการ (กมธ.) โครงการแลนด์บริดจ์ โดยระบุว่า น.ส.ศิริกัญญา อ่านรายงานผิดฉบับ และเป็นเรื่องของจินตนาการว่า ในเรื่องของการอ่านรายงานผิดฉบับจริงๆ แล้วนางมนพร เจริญศรี รมช.คมนาคม อาจจะไม่ได้สื่อโดยตรง ว่าไม่ได้อ่านผิดฉบับ แต่อาจจะเป็นเพราะข้อมูลไม่ตรงกัน 

"คิดว่าจะต้องมีอะไรที่ผิดพลาดตรงไหนสักที่หนึ่ง ถ้าเป็นไปได้ทางออกที่ง่ายที่สุด เพื่อให้รายละเอียดต่างๆ เข้าใจตรงกันและสมเหตุสมผล คือรื้อรายงานของ สนข.มาพิจารณาใหม่อีกครั้งหนึ่ง ก่อนที่จะนำไปทำเอกสารเพื่อทำการโรดโชว์กับนักลงทุนต่างประเทศ" น.ส.ศิริกัญญากล่าว

วันเดียวกัน พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ หัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ เป็นประธานการประชุมพรรค โดย พล.อ.ประวิตรกล่าวในที่ประชุมถึงการเตรียมจัดกิจกรรมสัญจรครั้งที่ 2 ในวันที่ 3 มี.ค.ที่ จ.หนองคาย ว่าเพื่อประชาสัมพันธ์นโยบายของพรรคที่ได้ขับเคลื่อนประสบความสำเร็จ ทั้งในเรื่องการบริหารจัดการน้ำ การจัดสรรที่ทำกิน รวมถึง การแปลงเอกสารสิทธิ สปก.4-01 เป็นโฉนดเพื่อการเกษตร.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

‘จุรินทร์’ เผย8ปัจจัย การเมืองปี68เดือด!

"จุรินทร์" เปิด 8 ปัจจัยการเมืองปี 2568 จับตามีคดีความที่มีผู้ร้องไปยื่นร้องนายกฯ และผู้เกี่ยวข้องไว้ที่ศาลรัฐธรรมนูญและองค์กรอิสระต่างๆ ซึ่งปัจจุบันมีเรื่องที่ค้างอยู่อย่างน้อย