“บิ๊กทิน” ยื้อเวลาเรือดำน้ำ ปูดเตรียมเซ็นตั้งคณะกรรมการศึกษาหลัง อสส.เคลียร์ข้อกฎหมายแล้ว แย้มทาบตัวตึงก้าวไกลร่วม “วิโรจน์” ออกตัวทันควัน หวั่นถูกฝ่ายบริหารเอาไปเป็นกำแพงพิงหลังฟอกโครงการ “โรม” มึนบอกยังไม่รู้รายละเอียด ข้องใจพี่ทินอาจแค่ต้องการเป็นข่าว
เมื่อวันอังคารที่ 23 มกราคม 2567 นายสุทิน คลังแสง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ให้สัมภาษณ์ถึงการตั้งคณะกรรมการศึกษาเรื่องการจัดซื้อเรือดำน้ำ หลังสำนักงานอัยการสูงสุด (อสส.) ได้ส่งคำตอบถึงกองทัพเรือ (ทร.) เกี่ยวกับโครงการเรือดำน้ำที่จัดหาจากจีน และเกิดปัญหาเรื่องเครื่องยนต์ ว่าเมื่อสำนักงาน อสส.ส่งตอบมา ทำให้เราพอทราบแนวทางและได้ข้อสรุปที่เป็นประโยชน์กับกองทัพ ประเทศและประชาชน จึงคิดว่าการตั้งคณะกรรมการศึกษาฯ จะเป็นเรื่องที่ดีที่มีหลายคนมาช่วยกันคิด โดยคณะกรรมการฯ จะมีกรรมการ 13-15 คน จากหลายฝ่าย โดยมี พล.อ.สมศักดิ์ รุ่งสิตา ที่ปรึกษา รมว.กลาโหม เป็นประธาน นอกจากนี้จะมีนายยุทธพงศ์ จรัสเสถียร ที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี ซึ่งสนใจเรื่องดำน้ำมานาน และสามารถนำข้อมูลไปรายงานให้นายกฯ ทราบได้ รวมทั้งยังมีตัวแทนจากสถาบันวิชาการป้องกันประเทศ อัยการสูงสุด (อสส.) กองทัพเรือคาดว่าจะเป็นผู้บัญชาการทหารเรือ ตัวแทนกระทรวงการคลังที่มาช่วยดูเรื่องการเงินและงบประมาณ เพื่อให้เกิดความคุ้มค่าและเกิดประโยชน์
“เราได้เชิญตัวแทนฝ่ายค้านคือนายวิโรจน์ ลักขณาอดิศร หรือนายรังสิมันต์ โรม สส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล คนใดคนหนึ่งมาร่วมด้วย โดยจะลงนามคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการในวันที่ 24 ม.ค.นี้” นายสุทินระบุ และว่า คณะกรรมการศึกษาฯ เสร็จแล้วต้องเสนอรายงานต่อ รมว.กลาโหมก่อนเสนอ ครม.พิจารณา โดยจะมีเวลาศึกษา 30 วัน โดยหากศึกษาเสร็จใน 1 เดือน จากนั้นคงใช้เวลาไม่นาน ภายใน 2 เดือนก็น่าจะเห็นแนวทางได้
ถามว่า นอกจากพรรคก้าวไกลแล้ว จะเปิดโอกาสให้พรรคร่วมฝ่ายค้านอื่นส่งตัวแทนมาร่วมได้หรือไม่ นายสุทินกล่าวว่า ก็ให้ส่งมา แต่คิดว่าตัวแทนจากพรรคก้าวไกลก็น่าเพียงพอ เพราะเขาสนใจเรื่องนี้อยู่ ส่วนนายวิโรจน์ได้ตอบรับแล้วหรือไม่นั้น เชื่อว่าน่าจะไม่มีปัญหา
เมื่อถามว่า อสส.ได้ตอบคำถามกองทัพอย่างไรบ้าง นายสุทินกล่าวว่า จะเปลี่ยนแปลงก็ได้ โดยให้ออกเป็นมติคณะรัฐมนตรี โดยจะใช้เป็นเรือดำน้ำจากจีนหรือใช้เรือยี่ห้ออื่น หรือข้ามไปเป็นใช้เรือฟริเกตก็ได้ แต่ต้องออกเป็นมติ ครม.
ขณะที่นายวิโรจน์กล่าวว่า เรื่องการตรวจสอบถ่วงดุล เรามี กมธ.ความมั่นคงของนายรังสิมันต์อยู่แล้ว ซึ่งที่ผ่านมารัฐมนตรีให้ความร่วมมือในการตรวจสอบถ่วงดุล แต่เราต้องอย่าลืมหลักการการตรวจสอบและถ่วงดุลอำนาจนิติบัญญัติต้องไม่เข้าไปแทรกแซงอำนาจฝ่ายบริหาร เพราะความรับผิดชอบในการตัดสินใจยังอยู่ในอำนาจของ รมว.กลาโหม ซึ่งสิ่งกังวลคือจะเอาความเห็นของฝ่ายนิติบัญญัติไปอ้างอิงในการตัดสินใจของฝ่ายบริหาร ซึ่งจะทำลายหลักการตรวจสอบและถ่วงดุลในระบอบประชาธิปไตยทันที ดังนั้น ในความรู้สึกของตนกับนายสุทินไม่มีปัญหา แต่อยากรักษาหลักการตรวจสอบถ่วงดุล และอยากให้เป็นหน้าที่ของ กมธ.การทหาร หรือ กมธ.ความมั่นคงของนายรังสิมันต์ แต่คงตอบแทนนายรังสิมันต์ไม่ได้ ส่วน กมธ.การทหาร อยากให้อยู่ในบทบาทของ กมธ.การทหารและกระทรวงกลาโหมมากกว่า ดีกว่าให้เป็นนายวิโรจน์คนหนึ่ง
เมื่อถามว่า จะไม่เข้าร่วมใช่หรือไม่ นายวิโรจน์กล่าวว่า คิดว่าคงจะมีโอกาสหารือกับนายสุทินในช่วงเดือน ก.พ. ซึ่งวันนี้คงต้องคุยในรายละเอียดก่อน แต่เจตนาที่พยายามจะคลี่คลายหาทางออก ให้เป็นประโยชน์กับเงินภาษีของประชาชน ก็เป็นดำริที่ดีอยู่แล้ว แต่ถ้าเรามีการข้อตกลงร่วมกัน ในการตรวจสอบถ่วงดุลระหว่างกระทรวงกลาโหม และ กมธ.การทหาร เพื่อให้ทำงานกันอย่างแนบแน่นมากขึ้น ไม่ใช่ว่าส่งเอกสารหรือขอหนังสืออะไรไปแล้วไม่เคยได้รับอย่างที่เคยเป็นมา ถ้าจะทำงานอย่างไร้รอยต่อมากขึ้น ถ้าเราสงสัยแล้วท่านชี้แจง เปิดเผยรายละเอียดเป็นสาธารณะ อะไรที่กระทบความสัมพันธ์ระหว่างประเทศก็เข้าอกเข้าใจกัน ตรงนั้นจะทำให้เราทำงานได้อย่างเข้าใจ
ส่วนนายรังสิมันต์กล่าวประเด็นนี้ว่า ยังไม่มีใครติดต่อมา ถ้าทาบทามอย่างเป็นทางการ อย่างน้อยควรจะโทร.มาบอกก่อน เพื่อปรึกษารายละเอียดกัน ก็ค่อนข้างแปลกใจ หรือว่าพี่สุทินอยากให้มีประเด็นหน้าสื่อ มันจะได้ไปพิจารณาประเด็นอื่นหรือเปล่า อันนี้ก็ไม่ทราบ
นายรังสิมันต์กล่าวต่อว่า ตอนเดินทางไปกระทรวงกลาโหม กระทรวงกลาโหมก็ได้บอกไปว่าทาง กมธ.ความมั่นคงแห่งรัฐยินดีที่จะไป ส่วนหนึ่งในเรื่องการตรวจสอบ โดยยึดประโยชน์ของประชาชนและประเทศชาติเป็นที่ตั้ง แต่วันนี้นายสุทินได้ให้สัมภาษณ์ โดยไม่ได้บอกกล่าวกัน ไม่ทราบรายละเอียดอะไรเลย ดังนั้นต้องตั้งคำถามกลับไปว่าอยากให้เป็นกรรมการตรวจสอบจริงๆ ใช่หรือไม่ อยากจะให้ไปทำอะไร หรือแค่ต้องการให้มีภาพข่าวออกมาเท่านั้น
เมื่อถามว่า หากมีการทาบทามจริงๆ จะตอบรับหรือไม่ นายรังสิมันต์กล่าวว่า ต้องฟังรายละเอียด ไม่รู้ว่าจะตัดสินใจจากอะไร ทั้งนี้ เป็นประธาน กมธ.ความมั่นคงแห่งรัฐฯ ต้องไปดูข้อกฎหมายว่าจะสามารถไปนั่งในคณะกรรมการได้หรือไม่ และแม้จะไม่ได้ไปนั่ง แต่ถ้าเชิญเราไปรับฟังข้อมูลในคณะกรรมการฯ ทาง กมธ.ก็ยินดี เพราะเราก็อยากได้ข้อมูลทั้งหมดจากกระทรวงกลาโหมและทางกองทัพเรือ ว่าข้อมูลเรื่องเรือดำน้ำที่เป็นปัญหาทั้งหลายเป็นอย่างไร เราก็อยากได้ข้อมูลตรงนี้ให้ได้มากที่สุด
“ยืนยันว่าไม่ได้ปฏิเสธ แต่ไม่รู้จะตอบรับยังไง คงจะรอโทรศัพท์ของท่านรัฐมนตรี เบอร์ผมยังมีอยู่มั้ง เป็นรัฐมนตรีแล้วก็คงไม่ลบเบอร์ฝ่ายค้านที่เคยสู้มาด้วยกัน” นายรังสิมันต์กล่าว
นายรังสิมันต์กล่าวอีกว่า นายสุทินพูดเสมอว่าเรากับประเทศจีนมีผลประโยชน์กันเยอะมาก การนำเรื่องนี้จะทำให้เป็นเงื่อนไขในการเสียผลประโยชน์ ก็ขอถามกลับว่า หากผลประโยชน์ระหว่างเรากับจีนมีมากขนาดนั้นจริง จีนจะยอมให้เป็นอย่างนั้นหรือ อย่าไปคิดว่าไทยต้องเอาใจจีน 100% แต่ทั้ง 2 ประเทศต้องยืนอยู่ด้วยกันอย่างมีศักดิ์ศรีที่เท่าเทียมกัน ไม่คิดว่านายสุทินจะมองข้ามในเรื่องนี้
เมื่อถามว่า มองเจตนาในการเชิญเข้าร่วมคณะกรรมการนี้อย่างไร นายรังสิมันต์ กล่าวว่า ไม่อยากจะเดามาก แต่คิดว่าหากเราต้องซื้ออาวุธจริงๆ ต้องดูว่าซื้อด้วยภัยความมั่นคงแบบไหน เราก็ยังไม่ได้รับข้อมูลจากกระทรวงกลาโหม ว่าตกลงเราจะซื้อเรือดำน้ำด้วยภัยความมั่นคงแบบไหน และเมื่อซื้อมาแล้ว สิ่งที่ต้องคิดต่อไปคือการเชื่อมโยงอาวุธต่างๆ มีหรือไม่ ถ้าทำได้ถึงจะซื้อ แต่เรากลับไม่ได้ข้อมูลอะไรเลย นายสุทินก็กลายเป็นคนละคน เข้าใจว่าเมื่อมาเป็นรัฐมนตรีก็ต้องรักษาท่าที แต่สุดท้ายต้องเอาผลประโยชน์ของประเทศชาติและประชาชนก่อน
นายรังสิมันต์กล่าวด้วยว่า สิ่งที่นายสุทินทำแล้วจะได้รับคำเยินยอจากทั่วสารทิศ ไม่ใช่ได้รับการต่อว่าจากประชาชน คือควรจะทำให้การปฏิรูปกองทัพเกิดขึ้นจริงๆ ควรจะเปลี่ยนวิธีคิดการจัดซื้ออาวุธ ในเรื่องเรือดำน้ำ ถูกตั้งคำถามเรื่องความจำเป็นก็ต้องเลิก เพราะมีปัญหาในเรื่องของเครื่องยนต์ด้วย ดังนั้น อย่าปกป้องเรื่องนี้เลย มันสายไปแล้ว เราไม่ได้มีปัญหากับการซื้ออาวุธทุกอย่าง เข้าใจว่า บางทีกองทัพมีความจำเป็น แต่สิ่งที่ต้องทำต่อไป คือต้องทําให้โปร่งใส ให้เกิดจากความจำเป็นจริงๆ ไม่มีการทุจริตคอร์รัปชัน
“เรื่องเรือดำน้ำที่เลิกไม่ได้ เพราะมันเป็นเงื่อนไขก่อนตั้งรัฐบาลหรือเปล่า มีนาย บ.ใบไม้คนหนึ่งหรือเปล่าที่ไปจ่ายค่าหัวคิวหรือไม่ แล้วสุดท้ายลุงคนนั้นที่เอาไปแล้ว 20% หรือมากกว่านั้น เขาจ่ายไปแล้วมันถึงคืนไม่ได้ กลายเป็นเรื่องทุจริตคอร์รัปชันไปแล้วใช่หรือไม่” นายรังสิมันต์กล่าว.
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
ฉายาสภาเหลี่ยม(จน)ชิน
ถึงคิวสื่อสภา ตั้งฉายา สส. "เหลี่ยม (จน) ชิน" จากการพลิกขั้วรัฐบาลเขี่ย
ตอกฝาโลงกิตติรัตน์ ‘กฤษฎีกา’ชี้ขาดคุณสมบัติ เหตุมีส่วนกำหนดนโยบาย
"กฤษฎีกา" ชี้ชัดสมัย "นายกฯ เศรษฐา" ตั้ง "กิตติรัตน์" เป็นประธานที่ปรึกษาของนายกฯ
‘เท้งเต้ง’ไม่ทน! ชงแก้ข้อบังคับ รมต.ตอบกระทู้
ทนไม่ไหว! “หัวหน้าเท้ง” หารือประธานสภาฯ ขอให้แก้ข้อบังคับการประชุม
แม้วพบอันวาร์กลางทะเล เตือนเสือกทุกเรื่องทำพัง!
ปชน.จี้ถามรัฐบาล “ทักษิณ” มีอำนาจจริงปราบแก๊งคอลเซ็นเตอร์หรือไม่
ให้กำลังใจจนท.ดูแลปีใหม่ เข้มงวด‘ความปลอดภัย’
นายกฯ ให้กำลังใจตำรวจ-กรมทางหลวง ทำงานหนักช่วงปีใหม่
กฤษฎีกาเอกฉันท์โต้งหมดสิทธิ์
กฤษฎีกามติเอกฉันท์ "กิตติรัตน์" ขาดคุณสมบัติ หมดสิทธิ์นั่ง "ประธานบอร์ดแบงก์ชาติ"