“ฅนธรรมศาสตร์” มองปัญหาทางออกสังคมไทย “วิชา” เผยยิ่งเป็นโครงการสังคมยิ่งดึงดูดเสือหิวมางาบ เพราะรู้คนด้อยโอกาสไร้ทางสู้ ย้ำระบบอุปถัมภ์ฝังรากลึกทำให้เหลื่อมล้ำเรื่องความยุติธรรม “ชวน” เตือนสติ มธ.ผลิตบัณฑิตต้องยึดมั่นตามแนวทางก่อตั้งมหา’ลัย “ศิริกัญญา” ชำแหละรัฐบาลเละ ทั้งดิจิทัล-ส.ป.ก.
เมื่อวันอาทิตย์ที่ 21 มกราคม 2567 ที่หอประชุมใหญ่ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ ได้จัดงาน 2 ทศวรรษแห่งการแบ่งปัน 9 ทศวรรษแห่งการสร้างสรรค์สังคม เนื่องในโอกาสครบรอบ 20 ปีกองทุนทำบุญวันเกิดกับธรรมศาสตร์ และ 90 ปีการสถาปนามหาวิทยาลัย โดยได้จัดเวทีเสวนาพิเศษ “มุมมองฅนธรรมศาสตร์ มองปัญหาสู่ทางออกสังคมไทย ปัญหาคอร์รัปชัน เศรษฐกิจและตำรวจ”
โดย ศ.พิเศษวิชา มหาคุณ อดีตกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) กล่าวเสวนาหัวข้อคอร์รัปชัน ช่วงหนึ่งว่า ปัญหาหนักมาก หลายภาคส่วนยังไม่ได้ทำงานกันอย่างจริงจังเพื่อให้บรรลุผล ซึ่งนิสัยคนไทยนั้นต่างทำ ยังไม่เห็นว่าปัญหาที่เกิดขึ้นเป็นปัญหาร้ายแรงครอบคลุมทุกมิติ จึงจำเป็นต้องกระตุ้นให้เยาวชนรุ่นใหม่รู้ถึงปัญหาทุจริตคอร์รัปชันร้ายแรงเพียงใด
“ปัญหาทุจริตคอร์รัปชันกระทบการพัฒนาด้านเศรษฐกิจ การพัฒนาสังคม การเจริญเติบโตทางด้านเศรษฐกิจ จะเห็นได้ว่าส่วนต่างๆ เหล่านี้มันขยายตัวการทุจริตทั่วทุกหนทุกแห่ง เช่นเดียวกันกับสิ่งแวดล้อมเรียกว่ากรีนคอร์รัปชัน ขณะนี้ปัญหากรีนคอร์รัปชันเป็นปัญหาร้ายแรงที่สุดในโลก เพราะกำลังมีการทำลายสิ่งแวดล้อม โลกวิปริตไปหมดแล้วด้วยน้ำมือมนุษย์ เพราะฉะนั้นต้องให้เยาวชนทุกคนตระหนักรู้รักษาผลประโยชน์ของประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม”
ศ.พิเศษวิชากล่าวอีกว่า การทุจริตหรือคอร์รัปชันจะเป็นการบั่นทอนความเจริญของเศรษฐกิจ ไม่สามารถไปช่วยเหลือคนยากจนที่ด้อยโอกาสได้ โครงการต่างๆ ที่เป็นโครงการสังคมที่ดีเราจะพบว่ามีการทุจริตมาก เป็นแหล่งเสือหิว เสือโหย เพราะเขาเห็นว่าสามารถจัดการได้ดีที่สุด เพราะคนด้อยโอกาสไม่มีแรงเพียงพอต่อต้านการทุจริต เมื่อมาเอาของไปก็ได้แต่นั่งมองตาปริบๆ ไม่ได้ต่อสู้หรือต่อต้านอะไร โครงการเหล่านี้บอกได้เลยว่าตกหล่นเป็นเงินทอนไปเยอะแยะ เหลือแทบไม่คุ้มกับการลงทุนสร้างประโยชน์ให้กับประชาชน เช่นเดียวกันกับด้านการศึกษาขั้นพื้นฐาน เงินงบประมาณแผ่นดิน ทั้งที่จะสร้างเด็กดีๆ แทบไม่เห็นหัวเลย
“ปัญหาความเหลื่อมล้ำด้านความยุติธรรมเป็นปัญหาที่น่าตลก เพราะเราต้องการความยุติธรรม แต่เรากลับไม่อยากให้ความยุติธรรมแก่ใครนอกจากพวกเดียวกันเอง การเลือกปฏิบัติเป็นการก่อให้เกิดการละเมิดสิทธิมนุษยชนก่อให้เกิดระบบอุปถัมภ์ขึ้นมา ระบบอุปถัมภ์เป็นดีเอ็นเอของคนไทย คนไทยหนีไม่พ้นในเรื่องของพรรคพวกพ้อง น้องพี่ ระบบอุปถัมภ์ฝังรากลึกในพลเมืองของเรา” นายวิชากล่าว
นายชวน หลีกภัย อดีตนายกรัฐมนตรี และอดีตประธานสภาผู้แทนราษฎร กล่าวปาฐกถาพิเศษ “Looking back & forward : เหลียวหลังแลหน้า ธรรมศาสตร์ และประชาชน” ว่าตั้งแต่ 90 ปีที่แล้ว เมื่อมีการเปลี่ยนแปลงการปกครอง 24 มิถุนายน 2475 คณะราษฎรประกาศหลักการ 6 ข้อ ซึ่งหนึ่งในนั้นคือ หลักให้โอกาสในการศึกษา ซึ่งเป็นเหตุผลที่เมื่อมีการปกครองในระบอบรัฐธรรมนูญแล้ว ก็เป็นการสมควรบำรุงการศึกษาวิชาธรรมศาสตร์และการเมืองในระดับมหาวิทยาลัยเช่นนานาประเทศ จึงจัดตั้งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และการเมืองขึ้นเป็นพิเศษ และตลาดวิชาสมัยนั้นเข้มแข็ง นักศึกษาเข้ามามาก ออกไปน้อย ไม่มีการขอคะแนนอาจารย์ ทำให้คนจบธรรมศาสตร์สมัยนั้นมีความเข้มแข็งทางความรู้ไม่น้อยกว่าที่ไหน แต่ทุกมหาวิทยาลัยต่างพัฒนาหลักสูตร ดังนั้น สิ่งที่สำคัญคือการปลูกฝังให้มีความคิดในประชาธิปไตย และซื่อตรงสุจริต อยากให้ธรรมศาสตร์เป็นส่วนหนึ่งของความเชื่อในสังคม ซึ่งในยุคปัจจุบันนี้ ขอฝากเน้นให้มหาวิทยาลัย ผลิตศิษย์ที่มีความรับผิดชอบ เพราะเมื่อศิษย์มีความรับผิดชอบแล้ว ก็จะไม่ทุจริตคอร์รัปชัน ตลอดจนให้ศิษย์ยึดมั่นในระบอบประชาธิปไตย หลักนิติธรรม และมีความซื่อสัตย์สุจริตเป็นสำคัญ นี่คือสิ่งที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์กับประชาชนนั้นเชื่อมโยงกัน สร้างบัณฑิตออกไปรับใช้ประเทศชาติและประชาชน
“มหาวิทยาลัยก็ผ่านชีวิตเหมือนกับพวกเรา ทั้งลุ่มๆ ดอนๆ ทั้งดีทั้งร้าย แต่แน่นอนที่สุด ตราบเท่าที่เรายังมีหลักการอยู่ ไม่ว่าอะไรจะเกิดขึ้นในบ้านเมือง ถ้ามหาวิทยาลัยของเรายังมีหลักยึดมั่นแนวทางตั้งแต่เริ่มต้น เป็นบ่อน้ำสำหรับดื่มกิน แม้ขณะนี้มีบ่อเกิดขึ้นมากมาย แต่บ่อนี้ก็จะเป็นน้ำพิเศษ ไม่ทะนงว่าดีกว่าที่อื่น แต่ไม่ด้อยกว่าที่ไหน หากผู้บริหารและครูบาอาจารย์ของเราเชื่อมั่นสิ่งที่เกิดมาตั้งแต่ 90 ปีที่แล้ว และดำรงสิ่งนี้ต่อไป ผมเชื่อว่าธรรมศาสตร์จะผลิตบัณฑิตเพื่อรับใช้ประชาชน รับใช้บ้านเมือง ที่จะเป็นประโยชน์ต่อไปในอนาคต” นายชวนกล่าว
น.ส.ศิริกัญญา ตันสกุล สส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล (ก.ก.) กล่าวในหัวข้อเศรษฐกิจว่า การจะทำให้ไทยหลุดจากกับดักประเทศรายได้ปานกลาง ปัญหาเชิงโครงสร้าง ทั้งความเหลื่อมล้ำ และปัญหาคอร์รัปชัน เป็นเรื่องหลักที่รัฐบาลต้องแก้ และการที่ช่องว่างระหว่างคนรวยกับคนจนถ่างออกไปเรื่อยๆ จึงเป็นผลให้มีนโยบายกระตุ้นอย่างดิจิทัลวอลเล็ตออกมา แต่นโยบายขจัดความยากจนต่างๆ ก็เป็นอาหารอันโอชะของคนที่อยากจะคอร์รัปชันเช่นกัน
ส่วนปัญหาภาคการเกษตร น.ส.ศิริกัญญากล่าวว่า ถ้าพูดแบบใจร้ายที่สุด ประเทศเรามีคนในภาคเกษตรมากจนเกินไป แต่ผลิตของออกมาได้คุณภาพต่ำ ทำให้เราไม่สามารถเติบโตไปข้างหน้าได้ ด้วยภาคเกษตรที่ใหญ่โตเทอะทะ แต่ไร้ประสิทธิภาพ จากการที่ภาครัฐเข้าไปอุดหนุนภาคเกษตรอยู่เรื่อยๆ เป็นการเลี้ยงคน เลี้ยงไข้ และเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้จีดีพีของภาคเกษตรไม่ไปไหน ถ้าเราอยากเห็นทางออกในเรื่องนี้ เราต้องทำให้การอุดหนุนน้อยลง ขณะเดียวกันต้องพยายามหยุดแช่แข็งภาคเกษตรและชนบทไทย อย่างเรื่องการให้ที่ดินทำมาหากิน หรือการให้ ส.ป.ก. เหมือนเป็นการกักขังให้เขาอยู่เฉพาะภาคเกษตร เพราะคนที่ได้ ส.ป.ก. อาจจะไม่อยากทำเกษตรตลอดชีวิต เขาอาจอยากขายของหน้าบ้านหรือทำโฮมสเตย์ แต่ก็ทำไม่ได้ จึงควรต้องมีการปลดล็อก และหยุดแช่งแข็ง และต้องคิดเสมอว่าจะต้องทำให้เขาหลุดพ้นจากบ่วงนี้ไปให้ได้
น.ส.ศิริกัญญากล่าวว่า ในส่วนการลงทุนที่ต่ำของประเทศ ทั้งเอกชนและภาครัฐ ทุกวันนี้แม้จะผ่านวิกฤตโควิด แต่ก็ยังไม่ฟื้นตัวอยู่ในระดับก่อนวิกฤตต้มยำกุ้ง การลงทุนมีน้อย การพัฒนาฝีมือก็ยังอยู่แบบเดิมๆ และประเทศไทยก็ไม่ชอบลงทุนกับนวัตกรรม แต่ชอบการลงทุนผ่านคอร์รัปชันเพื่อให้ได้สิทธิ์ในการผูกขาดอาจจะจ่ายมาก แต่จ่ายแล้วจบ มีความเสี่ยงต่ำ และผลตอบแทนสูง สุดท้ายเศรษฐกิจในประเทศก็อ่อนแอ
น.ส.ศิริกัญญากล่าวต่อว่า คำตอบยังเป็นเรื่องของการแจกเงินหรือไม่ ซึ่งอาจจะเป็นไปได้ เพื่อให้เศรษฐกิจฟื้นมาในระยะสั้น ทางออกจะยังเป็นการแจกเงินเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจอยู่หรือเปล่า แต่หัวใจสุดท้ายอยู่ที่ Execution หรือ Implementation ลำพังตัวเองและ ป.ป.ช. ก็ไม่อาจขัดขวางโครงการใหญ่ของรัฐบาลได้ ไม่ว่าคิดมาดีแค่ไหน แต่ถ้าตกม้าตาย ต่อให้ใครก็ช่วยไม่ได้ ไม่มีใครทำให้โครงการล้มได้นอกจากตัวท่านเอง
น.ส.ศิริกัญญากล่าวทิ้งท้ายว่า เป็นเรื่องเทคนิคว่าทำไมประเทศถึงไม่เรียกว่าวิกฤต ซึ่งอาจค้านสายตาประชาชนทั่วไป ว่าตอนนี้ประชาชนรู้สึกวิกฤตมากแล้ว ต้องการความช่วยเหลือ แต่ตัวบทกฎหมายเขียนไว้อย่างชัดเจน เราไม่ควรทำให้เกิดบรรทัดฐานใหม่ขึ้นมาที่ไม่ต้องรอให้ประเทศเกิดวิกฤต ก็สามารถกู้ได้เลยแบบนี้ ก็ไม่ต้องมีงบประมาณรายจ่ายประจำปีแล้ว.
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
ขอแบ่งเค้ก‘กาสิโน’ แทบทุกหน่วยงานหนุน/รบ.ยกสิงคโปร์โมเดลทำรายได้พุ่ง
รัฐบาลอุ๊งอิ๊งทุบโต๊ะทำคลอด “เอนเตอร์เทนเมนต์คอมเพล็กซ์”
ห่วงศก.ครึ่งหลัง68แผ่ว แนะฟื้นความเชื่อมั่นจีน
หอการค้าไทยห่วง ศก.ครึ่งหลังปี 68 แผ่วหนัก จี้ฟื้นความเชื่อมั่นจีน
อิ๊งค์ปัดนิติกรรมอำพราง สวนเรืองไกรข่มขู่ให้จ่าย
"อิ๊งค์" ยันปมหนี้ 4 พันล้านของสามีคนใต้ ไม่มีนิติกรรมอำพราง
‘จ่าเอ็ม’นอนคุก ล่าตัว‘มือชี้เป้า’ โยงคนจ้างวาน
ศาลอาญาอนุญาตฝากขัง "จ่าเอ็ม" เปิดพฤติการณ์ฆ่าโหด
ปปช.ตั้งกุนซือไต่สวนชั้น14
กลุ่ม คปท.-กองทัพธรรมบุก ตร.จี้ “บิ๊กต่าย”เร่งรัดให้ รพ.ตำรวจส่งเวชระเบียนการรักษา "ทักษิณ" ให้แพทยสภา
บิ๊กอ้วนตอกยํ้า แจก‘เงินดิจิทัล’ ‘อนุสรณ์’เตือน
“ภูมิธรรม” ยันรัฐบาลเร่งแจกเงินดิจิทัลวอลเล็ต หวังกระตุ้นเศรษฐกิจ