ฟัน2ตำรวจอรัญฯ เซ่นคดี‘ป้าบัวผัน’

 

กรุงเทพฯ ๐ "ผบ.ตร." ลั่นคดี "ป้าบัวผัน" จบแน่ ยันทำตรงไปตรงมา ไม่มีเรื่องอิทธิพล เตรียมศึกษาแก้กฎหมาย ลดอายุเยาวชนรับโทษ คาดเสร็จสิ้นเดือนนี้ สรุป ตร.สภ.อรัญประเทศ 2 นาย เข้าข่ายกระทำความผิดวินัยตำรวจ   และ 1 ใน 2 นายกระทำผิดอาญา มาตรา 157 ส่วนความผิดตาม พ.ร.บ.อุ้มหาย พยานหลักฐานยังไม่เพียงพอที่จะแจ้งข้อกล่าวหา ด้าน กสม.ชี้ ตร.ทำขัดต่อหลักสิทธิในกระบวนการยุติธรรม เตรียมส่งเรื่องให้อัยการสูงสุดและคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทรมานฯ ตรวจสอบ

จากกรณีเด็กและเยาวชน 5 คน ก่อเหตุทำร้ายร่างกายและฆ่า น.ส.บัวผัน ตันสุ หรือ “ป้าบัวผัน” และนำศพไปทิ้งบ่อน้ำเพื่ออำพรางคดี เหตุเกิดเมื่อวันที่ 12 มกราคม 2567 ในท้องที่อำเภออรัญประเทศ จังหวัดสระแก้ว โดยเจ้าหน้าที่ตำรวจสถานีตำรวจภูธรอรัญประเทศได้นำตัวนายปัญญา คงคำแสน หรือ “ลุงเปี๊ยก” ซึ่งเป็นสามีมาสอบสวน และให้การรับสารภาพว่าเป็นผู้ก่อเหตุ ซึ่งต่อมาปรากฏหลักฐานว่าสามีผู้ตายถูกเจ้าหน้าที่กระทำทรมานและบังคับข่มขู่เพื่อให้รับสารภาพ รวมถึงให้นำชี้จุดเกิดเหตุ       

ล่าสุด เมื่อวันที่ 20 ม.ค. ที่โครงการศูนย์บริการการพัฒนาขยายพันธุ์ไม้ดอกไม้ผลบ้านไร่อันเนื่องมาจากพระราชดำริ ตำบลน้ำแพร่ อำเภอหางดง พล.ต.อ.ต่อศักดิ์ สุขวิมล ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผบ.ตร.) ให้สัมภาษณ์ถึงความคืบหน้าการสอบสวนคดีป้าบัวผันว่า คณะสืบสวนข้อเท็จจริงคดีนี้จะคลี่คลายทุกอย่างให้จบภายในวันเดียวกันนี้ ยืนยันว่าตำรวจไม่มีการช่วยอยู่แล้ว และได้สั่งการไปว่าคดีทุกอย่างต้องตรงไปตรงมา เพราะมีพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย พ.ศ.2565 หรือแม้แต่ พ.ร.บ.ตำรวจฉบับใหม่ เป็นตัวบังคับ ซึ่งตำรวจก็ถูกตรวจเช็กแบบรอบด้าน และเทคนิคนิติวิทยาศาสตร์ทั้งหมดจะเป็นตัวชี้วัดว่าตำรวจผิด-ไม่ผิด หากผิดก็ว่าไปตามผิด

ผบ.ตร.กล่าวต่อว่า ได้หารือกับนายกรัฐมนตรีในเบื้องต้น ซึ่งนายกฯ ก็เห็นด้วยที่ ผบ.ตร.ลงพื้นที่ไปเอง และทุกอย่างจะจบหมด ยืนยันไม่มีเรื่องอิทธิพล ทำทุกอย่างตรงไปตรงมา วันนี้น่าจะจบในเรื่องของตำรวจที่ถูกกล่าวหาว่าจับแพะ

พบ ตร.สภ.อรัญฯ 2 นายผิด

เมื่อถามว่า ที่มีข้อเสนอจะให้แก้กฎหมายเพื่อลดโทษให้กับเยาวชนที่กระทำความผิดให้มีจำนวนอายุที่น้อยลง ผบ.ตร.กล่าวว่า ได้นำเสนอไป แต่ขอให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตร.) นำฝ่ายกฎหมายและคดีมาดูในข้อกฎหมายว่ามีสนธิสัญญาเกี่ยวกับสิทธิเด็ก ที่ประเทศไทยไปทำไว้กับสหประชาชาติว่าจะเป็นอุปสรรคหรือไม่ และต้องดูข้อศึกษาของประเทศญี่ปุ่นและประเทศเยอรมนี เขาทำได้อย่างไร ซึ่งต้องนำไปเปรียบเทียบกัน ตอนนี้ทีมงานทั้งหมด จะสรุปมาให้ตนภายในสิ้นเดือนนี้ เพื่อนำเรียนนายกรัฐมนตรี และให้กระทรวงยุติธรรม ได้สานต่อจากหลายหน่วยงาน

ขณะที่ พล.ต.ท.สมประสงค์ เย็นท้วม   ผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค 2 เปิดเผยผลการตรวจสอบข้อเท็จจริงกรณีคลิปเสียงเจ้าหน้าที่ตำรวจชุดสืบสวน สภ.อรัญประเทศ จ.สระแก้ว บังคับขู่เข็ญให้ ลุงเปี๊ยกรับสารภาพในคดีฆาตกรรมป้าบัวผัน คณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงได้ตรวจสอบข้อเท็จจริงเสร็จสิ้นแล้ว  พบว่ามีตำรวจ สภ.อรัญประเทศ 2 นาย เข้าข่ายกระทำความผิดวินัยตำรวจ ตาม พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติ พ.ศ.2565 และ 1 ใน 2 นาย กระทำผิดอาญามาตรา 157 ส่วนความผิดตาม พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการทรมานและกระทำให้บุคคลสูญหาย พ.ศ.2565 หรือ พ.ร.บ.อุ้มหาย พยานหลักฐานยังไม่เพียงพอที่จะแจ้งข้อกล่าวหา

ทั้งนี้ ตำรวจภูธรภาค 2 จะส่งสำนวนการตรวจสอบข้อเท็จจริงให้พนักงานสอบสวนภูธรจังหวัดสระแก้ว สืบสวนสอบสวน รวบรวมพยานหลักฐานเพิ่มเติม หากพบว่ามีการกระทำผิดตาม พ.ร.บ.อุ้มหาย หรือกฎหมายอื่นใด จะได้กล่าวโทษดำเนินคดีกับตำรวจผู้กระทำผิดอย่างเด็ดขาด โดยตำรวจภูธรภาค 2 จะให้ความเป็นธรรมกับทุกฝ่าย และขอให้ประชาชนโปรดมั่นใจในการปฏิบัติงานของตำรวจภูธรภาค 2

กสม.ชำแหละตำรวจ

ขณะที่คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ออกแถลงการณ์ว่า ได้ติดตามข่าวเหตุการณ์ข้างต้นมาอย่างต่อเนื่อง และเห็นว่าการดำเนินการของเจ้าหน้าที่ตำรวจหรือพนักงานสอบสวนสถานีตำรวจภูธรอรัญประเทศ ไม่เป็นไปตามหลักสิทธิในกระบวนการยุติธรรมทางอาญาของผู้ต้องหาหรือจำเลย รวมถึงปฏิบัติหน้าที่ขัดต่อหลักสิทธิมนุษยชนหลายประการ กล่าวคือ รัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 4 วางหลักไว้ว่า ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ สิทธิ เสรีภาพ และความเสมอภาคของบุคคลย่อมได้รับการคุ้มครอง ปวงชนชาวไทยย่อมได้รับการคุ้มครองตามรัฐธรรมนูญเสมอกัน และมาตรา 27 ระบุว่า บุคคลย่อมเสมอกันในกฎหมาย มีสิทธิและเสรีภาพและได้รับการคุ้มครองตามกฎหมายเท่าเทียมกัน การเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมต่อบุคคล

ไม่ว่าด้วยเหตุความแตกต่างในเรื่องฐานะทางเศรษฐกิจหรือสังคม หรือเหตุอื่นใดจะกระทำไม่ได้ แต่กรณีที่เกิดขึ้น เห็นได้ชัดว่า “ป้าบัวผัน” และ “ลุงเปี๊ยก” ไม่ได้รับการคุ้มครองตามกฎหมายตามที่ควรจะเป็น และได้รับการปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรม มีความพยายามช่วยเหลือผู้ก่อเหตุ และสร้างสถานการณ์ให้ “ลุงเปี๊ยก” ตกเป็น “แพะ” หรือจำเลยแทนอย่างเลวร้าย

การนำ “ลุงเปี๊ยก” ไปทำแผนประกอบคำรับสารภาพก็ขัดกับหลักการสันนิษฐานไว้ก่อนว่าเป็นผู้บริสุทธิ์ (presumption of innocence) ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 มาตรา 29 และกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (International Covenant on Civil and Political Rights: ICCPR) ข้อ 14 ที่ว่า “ในคดีอาญา ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าผู้ต้องหาหรือจำเลยไม่มีความผิด และก่อนมีคำพิพากษาอันถึงที่สุดว่าได้กระทำความผิด จะปฏิบัติต่อบุคคลนั้นเสมือนเป็นผู้กระทำความผิดมิได้” หลักการเช่นว่านี้ เป็นสิทธิขั้นพื้นฐานที่คุ้มครองบุคคลที่ถูกกล่าวหาจะต้องไม่ถูกพิจารณาว่าเป็นผู้กระทำความผิดจนกว่าจะได้มีการพิสูจน์จนสิ้นข้อสงสัย

ขณะเดียวกัน รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา 68 และกติกา ICCPR ข้อ 14 ได้วางหลักไว้ว่า รัฐพึงให้ความช่วยเหลือทางกฎหมายที่จำเป็นและเหมาะสม โดยจัดหาทนายความให้แก่ผู้ยากไร้หรือผู้ด้อยโอกาสในการเข้าถึงกระบวนการยุติธรรม และผู้ต้องหานั้นต้องได้รับแจ้งข้อกล่าวหาโดยพลันด้วย ด้วยเหตุนี้ การดำเนินคดีใดๆ ต่อผู้ต้องหา พนักงานสอบสวนต้องแจ้งข้อกล่าวหาให้ทราบตามกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาซึ่งสอดคล้องกับกติกา ICCPR และต้องแจ้งให้บุคคลนั้นได้รับทราบว่าตนมีสิทธิที่จะได้รับความช่วยเหลือด้านกฎหมาย มีสิทธิปรึกษาหารือกับทนายความหรือผู้ที่ตนไว้วางใจ ทั้งนี้ หากเจ้าหน้าที่ไม่ได้แจ้งข้อกล่าวหาและแจ้งสิทธิให้แก่ผู้ต้องหา ย่อมเป็นการกระทำอันเป็นการละเมิดต่อสิทธิในกระบวนการยุติธรรมด้วย

เป็นการกระทำที่โหดร้าย

นอกจากนี้ เมื่อพิจารณาถึงสิทธิของบุคคลที่จะไม่ถูกทรมานหรือการประติบัติหรือการลงโทษที่ไร้มนุษยธรรมหรือย่ำยีศักดิ์ศรี กสม.เห็นว่า การที่เจ้าหน้าที่ตำรวจนำตัว “ลุงเปี๊ยก” ไปสอบสวนในห้องที่เปิดเครื่องปรับอากาศแต่ให้ถอดเสื้อ นำถุงดำมาคลุมศีรษะ และบังคับข่มขู่เพื่อให้รับสารภาพ เป็นการกระทำที่ก่อให้เกิดความเจ็บปวดหรือความทุกข์ทรมานอย่างร้ายแรงแก่ร่างกายหรือจิตใจ และเป็นการกระทำที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรมหรือย่ำยีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ อันเป็นเหตุให้ถูกลดทอนคุณค่าหรือละเมิดสิทธิขั้นพื้นฐานความเป็นมนุษย์ด้วย

ในการดำเนินคดีอาญา รัฐหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐจะทำการทรมานเพื่อให้ได้มาซึ่งข้อมูลหรือคำรับสารภาพจากผู้ต้องหาหรือจำเลยไม่ได้ การกระทำดังกล่าวจึงถือเป็นการละเมิดต่อสิทธิที่จะไม่ถูกทรมานฯ อันเป็นความผิดตามพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย พ.ศ.2565 ซึ่งหากผู้บังคับบัญชาทราบแต่ไม่ดำเนินการเพื่อระงับการกระทำความผิดย่อมต้องรับผิดกับผู้ใต้บังคับบัญชาด้วยตามกฎหมายนี้ และการที่เจ้าหน้าที่ตำรวจไม่บันทึกภาพและเสียงในการควบคุมตัวก็ถือว่ามิได้ปฏิบัติตามพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการทรมานฯ เช่นกัน

กสม.ขอเน้นย้ำว่า สิทธิในกระบวนการยุติธรรมทางอาญา เป็นสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐานของผู้ต้องหาหรือจำเลย รวมถึงประชาชนทุกคน รัฐหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐมีหน้าที่ต้องเคารพ คุ้มครอง และเติมเต็มเพื่อให้สิทธิต่างๆ เกิดขึ้น จากกรณีข้างต้น กสม.จะส่งเรื่องให้สำนักงานอัยการสูงสุด และคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย ดำเนินการตรวจสอบข้อเท็จจริงเพื่อนำคนผิดมาลงโทษ และเพื่อฟื้นฟูและเยียวยาด้านร่างกายและจิตใจให้แก่ผู้เสียหายตามหน้าที่และอำนาจต่อไป 

ขณะเดียวกัน กสม.จะร่วมกับภาคีเครือข่ายขับเคลื่อนในเรื่องสิทธิในกระบวนการยุติธรรม โดยเฉพาะการเข้าถึงกระบวนการยุติธรรมชั้นต้นธารสำหรับทุกคน (Access to Justice for All) เพื่อเสนอไปยังคณะรัฐมนตรีและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชน รวมถึงแก้ไข ปรับปรุงกฎหมายให้สอดคล้องกับหลักสิทธิมนุษยชนต่อไป.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

กกต.จับตาศึก ‘อบจ.ราชบุรี’

ประธาน กกต.ยันจับตาเลือกตั้ง อบจ.ราชบุรีวันอาทิตย์นี้ เตือนอย่าทำอะไรผิดกฎหมาย “2 ผู้สมัคร” แห่หาเสียงโค้งสุดท้าย โดยเฉพาะเด็กค่าย ปชน.

ไปข้างหน้าเพื่อชาติ! อิ๊งค์วอนเสื้อแดงให้เข้าใจ ราชทัณฑ์ดิ้นโต้เสรีพิศุทธ์

"นายกฯ อิ๊งค์" เผย ครม.นิ่งแล้ว รอตรวจประวัติเสร็จทำงานได้ทันที แจงจับมือ "ประชาธิปัตย์" เพื่อเสถียรภาพรัฐบาล บอกเข้าใจหัวอกคนเสื้อแดง วอนก้าวไปข้างหน้าเพื่อชาติ