ตอกฝาโลงเงินหมื่น ‘ทีมสุภา’เตือนเสี่ยงทุจริตอื้อชนิดที่คนสุจริตนึกไม่ออก!

ไทยโพสต์ ๐ ตอกฝาโลงดิจิทัลวอลเล็ต   กรรมการศึกษา ป.ป.ช.ออกโรงเตือน เสี่ยงทุจริต หากไม่เลิกอาจโดนชี้มูล ดำเนินคดี! กางข้อมูล 7 เรื่องทางเศรษฐศาสตร์ ชี้ไทยไม่เข้าขั้นวิกฤตเศรษฐกิจแบบเฉียบพลัน-รุนแรง จนออก กม.กู้เงิน 5 แสนล้านบาท จับตาสร้างระบบบล็อกเชนทุจริตเชิงนโยบายหรือไม่ เทียบทุจริตจำนำข้าว วิธีการบางอย่างคนที่สุจริตจะนึกไม่ออก แต่ถ้าเกิดขึ้นแล้วจะเห็น

หลังมีการเผยแพร่เอกสาร ข้อเสนอแนะเพื่อป้องกันการทุจริต เกี่ยวกับนโยบายรัฐบาลกรณีการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่าน Digital Wallet ที่ศึกษาโดยคณะกรรมการเพื่อศึกษาและดำเนินการรับฟังความเห็นเกี่ยวกับนโยบายรัฐบาล กรณีการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่าน Digital Wallet สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ที่มี น.ส.สุภา ปิยะจิตติ อดีตกรรมการป.ป.ช. เป็นประธานคณะกรรมการฯ ที่ทำให้เกิดกระแสความคิดเห็นจากฝ่ายต่างๆ ตามมามากมาย

รศ.ดร.สิริลักษณา คอมันตร์ อดีตคณบดีคณะเศรษฐศาสตร์   มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และอดีตอนุกรรมการไต่สวนคดีทุจริตจำนำข้าวของสำนักงาน ป.ป.ช. ในฐานะหนึ่งในคณะกรรมการเพื่อศึกษาและดำเนินการรับฟังความเห็นเกี่ยวกับนโยบายรัฐบาล   กรณีดิจิทัลวอลเล็ตของสำนักงาน ป.ป.ช. ที่มี น.ส.สุภา ปิยะจิตติ อดีตกรรมการ ป.ป.ช.เป็นประธาน กล่าวว่า  เอกสารรายงานดังกล่าวเป็นของจริงที่ได้มีการพิจารณาในที่ประชุมใหญ่  ป.ป.ช.แล้ว และขณะนี้คณะกรรมการฯ   ถือว่าทำงานเสร็จสิ้นเรียบร้อย แต่หากต่อมารัฐบาลมีการปรับเปลี่ยนหลักเกณฑ์การที่จะออกกฎหมายกู้เงิน 5 แสนล้านบาทมาทำดิจิทัลวอลเล็ต ทางกรรมการก็อาจจะเรียกประชุมอีกครั้งเพื่อคุยกันว่าจะต้องมีการศึกษาอะไรอีกหรือไม่ 

ดร.สิริลักษณากล่าวว่า สิ่งสำคัญในการพิจารณาเรื่องดิจิทัลวอลเล็ตของคณะกรรมการของสำนักงาน ป.ป.ช. ก็คือ ต้องพิจารณาก่อนว่าขณะนี้สภาวะเศรษฐกิจของประเทศไทยเข้าขั้นวิกฤตที่จะออกกฎหมายกู้เงินหลายแสนล้านบาทมาแจกประชาชน ตามมาตรา 53 ของ พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลังฯ หรือไม่ ซึ่งจากการพิจารณา หลังคณะกรรมการฯ เชิญตัวแทนจากหลายหน่วยงานมาให้ข้อมูล เช่น ธนาคารแห่งประเทศไทย, สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ, สำนักงบประมาณ ทางคณะกรรมการฯ เห็นว่าประเทศไทยยังไม่อยู่ในสภาพวิกฤตเศรษฐกิจรุนแรงและเฉียบพลัน โดยใช้เกณฑ์พิจารณา 7 เรื่องสำคัญตามหลักวิชาการทางเศรษฐศาสตร์คือ วิกฤตสถาบันการเงิน, ความเสี่ยงที่จะสูญเสียเงินสำรองระหว่างประเทศ, สภาวะค่าเงินบาท, วิกฤตหนี้กับต่างประเทศและหนี้ เอ็นพีแอล, ตัวเลขการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศ หรือจีดีพี, สถานะการคลังของรัฐบาล, สภาวะเงินเฟ้อ โดยจากข้อมูลตัวเลขทั้งหมดก็พบว่าสำหรับประเทศไทยยังไม่อยู่ในภาวะวิกฤต 

“ดังนั้นถ้ารัฐบาลจะออกกฎหมายโดยให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงิน 5 แสนล้านบาท แล้วไปดึงเงินออกมาจากกระทรวงการคลัง จึงทำไม่ได้ หากประเทศไม่ได้อยู่ในสภาวะวิกฤตเศรษฐกิจ ถือว่าไม่เข้าข่ายมาตรา 53 ของ พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลังของรัฐฯ   และกฎหมายที่เกี่ยวข้องอีกหลายมาตรา” กรรมการศึกษาดิจิทัลวอลเล็ตของสำนักงาน ป.ป.ช.ระบุ

ทุจริตเชิงนโยบาย

เมื่อถามว่า ท่าทีของนายกรัฐมนตรีให้สัมภาษณ์ล่าสุดหลังเดินทางกลับจากต่างประเทศเมื่อ 19 ม.ค. ยืนยันรัฐบาลจะเดินหน้านโยบายดิจิทัลวอลเล็ตต่อไป ดร.สิริลักษณากล่าวว่า หากรัฐบาลจะเดินหน้าดิจิทัลวอลเล็ต ที่เป็นการแจกเงินเพื่อการบริโภค ซึ่งจากลักษณะที่จะทำ และยังคงเดินตามเกณฑ์เดิม เช่นจะให้กับคนที่มีรายได้มีเงินเดือนไม่ถึง 7 หมื่นบาทต่อเดือน สมมุติว่ารัฐบาลยังคงยืนยันตามนี้ มันจะทำให้เกิดความเสี่ยงหลายด้านด้วยกัน ด้านแรกก็คือการที่จะออกกฎหมายกู้เงินมา ก่อนหน้านี้ศาลรัฐธรรมนูญเคยมีคำวินิจฉัยในบางคดีว่า หากมีการออกกฎหมายพิเศษกู้เงินมา เงินที่กู้มาต้องส่งให้กระทรวงการคลัง

"เมื่องบที่จะทำดิจิทัลวอลเล็ตไม่ได้อยู่ใน พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายปกติ    การจะออกกฎหมายพิเศษมากู้เงิน ซึ่งตาม พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลังฯ บอกว่า จะต้องเป็นเรื่องเร่งด่วน เพื่อแก้ไขวิกฤตของประเทศ แต่เมื่อดูสภาพเศรษฐกิจของประเทศเวลานี้โดยพิจารณาจากหลักเกณฑ์ต่างๆ เช่น เรื่องเงินเฟ้อ สภาวะการคลังของประเทศ ก็จะพบว่าไม่มีเกณฑ์ข้อใดที่บอกว่า เศรษฐกิจไทยอยู่ในภาวะวิกฤต เพราะฉะนั้นถ้ารัฐบาลจะเดินหน้าเรื่องนี้ด้วยการออกกฎหมาย มันก็จะขัดกับ พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลังฯ ที่จะนำเงินคลังออกมาใช้"

กรรมการศึกษานโยบายดิจิทัลวอลเล็ตของ ป.ป.ช.กล่าวอีกว่า ส่วนเรื่องทุจริตเชิงนโยบาย หากเป็นไปตามที่รัฐบาลตั้งใจไว้แบบเดิมในการทำดิจิทัลวอลเล็ต ที่จะใช้ระบบบล็อกเชน ซึ่งระบบดังกล่าวธนาคารต่างๆ ก็ยังไม่มีการใช้กัน ดังนั้นก็ต้องมีการไปจ้าง ก็ทำให้ไม่มีประสิทธิภาพในการใช้เงินแล้วเพราะต้องนำงบประมาณไปว่าจ้างบริษัทที่มีความสามารถสูงเข้ามาทำ  แทนที่จะโอนเงินให้ประชาชนโดยตรง  และมันก็มีข้อสงสัยว่าบริษัทที่จะเข้ามาเป็นใคร จะเป็นการทุจริตเชิงนโยบายหรือไม่ ที่จะให้ใครที่มีเทคโนโลยีสูงดังกล่าวได้ประโยชน์จากนโยบายนี้มารับจ้างงานไปทำ ที่อาจใช้งบประมาณในการว่าจ้างจำนวนมาก ที่หากทำ ก็ต้องไปดึงงบจากที่ตั้งไว้ว่าจะช่วยเหลือประชาชน

"อันนี้ก็เป็นความเสี่ยงอันหนึ่งเรื่องผลประโยชน์ทับซ้อน ถามไปรัฐบาลก็ไม่ให้คำตอบ ไม่มีความชัดเจนใดๆ คณะทำงานถามเจ้าหน้าที่ของกระทรวงการคลัง เขาก็บอกว่าเรื่องยังมาไม่ถึง อันนี้ก็เป็นความเสี่ยง และยังกรณีเมื่อจะมีการโอนเงินเข้าบัญชี ต้องดูว่าจะเกิดกรณีแบบมี "บัญชีม้า" หรือมีการเจรจาบางอย่างเกิดขึ้นหรือไม่ เช่น พอรัฐบาลจะทำนโยบายดิจิทัลวอลเล็ตแล้ว แต่ระหว่างการรอการโอนเข้าบัญชีประชาชน อาจมีบางคนที่มีคุณสมบัติเข้าตามหลักเกณฑ์ แต่เขาอยากได้เงินไปใช้ก่อน ก็อาจมีพวกกลุ่มคนที่เป็นพวกนายหน้าคอยไปติดต่อคนที่อยากได้เงินไปใช้ก่อนที่รัฐบาลจะโอน โดยมีการเจรจากัน เช่น 1 หมื่นบาท คนไปติดต่อบอกว่าจะให้เงินไปก่อน 7 พันบาท แล้วพอได้เงินมา ก็นำเงินทั้งหมด  1 หมื่นบาทมาใช้คืน ตรงนี้ก็มีความเสี่ยงเยอะ"

คนที่สุจริตจะนึกไม่ออก

เธอระบุว่า ก็เหมือนกับสมัยโครงการรับจำนำข้าว ที่เคยเป็นอนุกรรมการไต่สวนรับจำนำข้าวของ ป.ป.ช.มาก่อน ก็เจอประเภทโกงด้วยวิธีการเวียนเทียนข้าวกันเพื่อจำนำซ้ำ ดิจิทัลวอลเล็ตจึงมีความเสี่ยงในหลายด้านในการบริหารจัดการ ที่วิธีการบางอย่างคนที่สุจริตจะนึกไม่ออก แต่ถ้าเกิดขึ้นแล้วจะเห็น

“หากต้องใช้ระบบบล็อกเชน ซึ่งหากจะใช้เทคโนโลยีขนาดนั้น ก็ต้องมีการไปว่าจ้างผู้มีความเชี่ยวชาญเทคโนโลยีดังกล่าว ที่ก็อาจจะเป็นคนที่มีความเกี่ยวข้องกัน อาจเป็นคนที่ได้รับผลประโยชน์หรือคนที่ให้ผลประโยชน์กับบุคคลในรัฐบาล ซึ่งตรงนี้ก็เป็นความเสี่ยงที่จะถูกคณะกรรมการ ป.ป.ช.สอบสวน และอาจถูกชี้มูล ก็อาจเป็นไปได้” อดีตอนุกรรมการไต่สวนคดีทุจริตจำนำข้าวของ ป.ป.ช.ระบุ  

อดีตคณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวอีกว่า ดิจิทัลวอลเล็ตที่เป็นการแจกเงินเพื่อให้ไปใช้ในการบริโภค เป็นการดำเนินการที่ไม่มีประสิทธิภาพ แต่ควรใช้เงินไปกับการลงทุนโดยภาครัฐ ที่จะทำให้จีดีพีขยายตัวมากกว่าที่จะให้เงินครัวเรือนนำไปใช้ เพราะฉะนั้น ถ้าหากว่าจีดีพีขยายตัวมากกว่าโดยที่รัฐบาลเป็นผู้ใช้จ่ายในการลงทุน ประชาชนจะได้ประโยชน์อย่างทั่วถึง โดยเฉพาะหากรัฐบาลลงทุนแบบเฉพาะเจาะจง โดยเฉพาะกับกลุ่มผู้ด้อยโอกาส กลุ่มคนที่อยู่ในชนบทในพื้นที่ห่างไกล จะเป็นประโยชน์กับคนที่ขาดโอกาสจริงๆ

“ดังนั้น การที่จะเดินหน้านโยบายดิจิทัลวอลเล็ต ก็มีความเสี่ยงหลายด้านด้วยกัน ทั้งด้านเศรษฐกิจที่ทำแล้วจะไม่มีประสิทธิภาพ ไม่เป็นธรรม รัฐธรรมนูญ กำหนดให้รัฐบาลดูแลประชาชนอย่างเป็นธรรม แต่การแจกเงินลักษณะแบบที่จะทำ ไม่มีความเป็นธรรม เพราะบางคนแม้อาจจะมีเงินเดือนไม่ถึง 7 หมื่นบาท ทำให้จะได้รับสิทธิ์ดิจิทัลวอลเล็ต  แต่เขาอาจจะมีทรัพย์สินอื่นๆ เช่น ที่ดิน มีสินทรัพย์จำนวนมากกว่าคนที่มีเงินเดือน 7 หมื่น แล้วรัฐบาลจะตรวจสอบตรงนี้ได้อย่างไร หากไม่มีการตรวจสอบแล้วให้เงินกับคนเหล่านี้ไป ก็มีความไม่เป็นธรรมอีกเช่นกัน” รศ.ดร.สิริลักษณากล่าว

นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ สส.บัญชีรายชื่อ และอดีตหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ได้ให้ความเห็นเรื่องดิจิทัลวอลเล็ต ภายหลังมีข่าว ป.ป.ช.เตรียมเสนอความเห็นต่อรัฐบาลในทางที่อาจมีปัญหาเรื่องการทุจริตและผิดกฎหมายว่า เรื่องนี้ถ้าไม่ทำหรือทำไม่ได้ ก็เป็นความรับผิดชอบของรัฐบาล เพราะเป็นผู้ริเริ่มนโยบายทั้งในส่วนที่ได้นำไปหาเสียงกับประชาชนไว้และแถลงนโยบายต่อรัฐสภา อีกทั้งต้องทำแบบไม่ให้มีการทุจริตผิดกฎหมายและเกิดความเสียหายต่อระบบเศรษฐกิจด้วย รวมทั้งต้องไม่ให้เกิดการซ้ำรอยจำนำข้าวที่เกิดการทุจริต กระทำผิดกฎหมาย และสร้างความเสียหายกับประเทศมหาศาลจนวันนี้ยังใช้หนี้ไม่หมด ส่วนจะทำอย่างไรขึ้นอยู่กับรัฐบาล เมื่อเป็นคนผูกแล้วก็ต้องเป็นคนแก้ และกรณีนี้จะเป็นอีกกรณีหนึ่งที่จะเป็นบทเรียนสำคัญกับประชานิยมให้ต้องมีความรับผิดชอบมากขึ้น

ส่วนกรณีที่นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ได้ออกมาตอบโต้ ป.ป.ช.เรื่องทุจริตว่าอย่าพูดลอยๆ นั้น นายจุรินทร์กล่าวว่า เมื่อยังไม่ทำก็ยังไม่มี ยกเว้นวันหน้าพิสูจน์ได้ว่ามีการทุจริตหรือเป็นการทุจริตเชิงนโยบาย รัฐบาลก็ต้องรับผิดชอบ.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

‘หนู’ ลั่นฟังแค่ ‘อิ๊งค์’ ยันร่วมรัฐบาลเป็นไฟต์บังคับ ‘ทักษิณ’ พูดไม่นำพา

"อนุทิน" ลั่น! รับสัญญาณจากนายกฯ อิ๊งค์เท่านั้น ยันที่ "ทักษิณ" พูดไม่ได้หมายถึงรัฐมนตรีจากพรรคภูมิใจไทย "ท่านทักษิณพูดถึงพรรคที่ไม่เข้าร่วมประชุม ผมก็ไม่นำพาไปฟังอะไรมาก"