พิงปปช.แจกดิจิทัลไม่ทันพ.ค.

“จุลพันธ์” รับแจกเงินดิจิทัลวอลเล็ตไม่ทันเดือน พ.ค. ยังกั๊กไม่ล้มโครงการขอเดินหน้าต่อ เตรียมตั้งวง คกก.นโยบายถกความเห็น "กฤษฎีกา-ป.ป.ช."   ลั่นเป็นหน้าที่รัฐบาลต้องทำความเข้าใจทุกฝ่าย วอนเห็นใจ ปชช.เดือดร้อน ยันไม่ได้ดันทุรังแต่เห็นปัญหา ปท. โต้ "ศิริกัญญา" อย่าใช้ ป.ป.ช.เป็นเครื่องมือทำลายรัฐบาล หลัง "รอง หน.พรรค ก.ก."  ซัด รบ.ใช้องค์กรอิสระพิงหลังหาทางลง

ที่รัฐสภา วันที่ 17 ม.ค. เวลา 10.30 น.  นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง (รมช.การคลัง)  แถลงกรณีโครงการดิจิทัลวอลเล็ตของรัฐบาลว่า คณะกรรมการนโยบายดิจิทัลวอลเล็ตได้เลื่อนการประชุมจริงเมื่อวันที่ 16 ม.ค.ที่ผ่านมา เนื่องจากมีเอกสารข้อเสนอแนะของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) จึงเห็นว่าควรเลื่อนการประชุมก่อน เพื่อรอให้เอกสารของ ป.ป.ช.มาถึงพร้อมกันแล้วประชุมคณะกรรมการนโยบายฯ ทีเดียว  เพื่อกำหนดแนวดำเนินการต่อไป

นายจุลพันธ์กล่าวว่า เอกสารของ  ป.ป.ช. แสดงความเห็นค่อนข้างตรงและแรงพอสมควรในการคัดค้านการดำเนินนโยบาย รัฐบาลก็รับฟังและนำมาพิจารณาประกอบ ขณะนี้ก็ยังไม่มีความชัดเจนว่าเอกสารดังกล่าวเป็นทางการแล้วหรือไม่ อย่างไร ซึ่งมี น.ส.สุภา ปิยะจิตติ อดีตกรรมการ ป.ป.ช. ในฐานะประธานคณะกรรมการเพื่อศึกษาและดำเนินการรับฟังความเห็นเกี่ยวกับนโยบายรัฐบาล กรณีการเติมเงิน 10,000 บาทผ่านดิจิทัลวอลเล็ต เป็นผู้ทำข้อเสนอแนะดังกล่าวมา โดย น.ส.สุภาเป็นผู้ที่ติดตามนโยบายของรัฐบาลจากการเลือกตั้งมาตลอดอยู่แล้ว และในเวลานี้รัฐบาลก็รอความชัดเจนในเรื่องเอกสารของ  ป.ป.ช.

 “วิกฤตนี้ไม่ใช่เรื่องโครงสร้างทางเศรษฐกิจเท่านั้น แต่เป็นวิกฤตการเห็นอกเห็นใจพี่น้องประชาชนที่มีความเดือดร้อนทางเศรษฐกิจ คือทุนนิยมที่ไม่มีหัวใจจะไปเข้าใจผู้ที่เดือดร้อน มันแสดงให้เห็นมาตลอดว่าล้มเหลว รัฐบาลชุดปัจจุบันเราเดินทางไปทั่วประเทศ เราเห็นถึงความเดือดร้อนของประชาชน โดยเฉพาะในต่างจังหวัด เราไม่ได้ทำงานในห้องแอร์ วันนี้พี่น้องประชาชนทั่วประเทศต้องการการกระตุ้นเศรษฐกิจครั้งใหญ่” นายจุลพันธ์กล่าว

ถามว่าหลายหน่วยงานทั้งกฤษฎีกาและ ป.ป.ช. ขอให้มีการทบทวนโครงการนี้ เพราะเกรงจะซ้ำรอยรับจำนำข้าว นายจุลพันธ์กล่าวว่า เราก็รับฟังประเด็นนี้ ไม่ว่าประชาชนหรือหน่วยงานใดมีข้อคิดเห็น รัฐบาลก็มีหน้าที่รับฟัง เปิดรับความคิดเห็นหลากหลาย ตนไม่เคยพูดว่าทุกฝ่ายเห็นพ้องต้องกัน 100% แต่อยากให้ทุกฝ่ายเห็นถึงความเดือดร้อนของประชาชนว่าขณะนี้เศรษฐกิจไม่ได้ดีและต้องการกระตุ้น และสามารถเดินหน้าโครงการได้เป็นวัตถุประสงค์ที่เราคาดหวัง

รมช.การคลังกล่าวว่า ที่เราได้เห็นหนังสือของคณะกรรมการกฤษฎีกาเป็นคำตอบเชิงกฎหมาย ไม่มีไฟเขียวไฟแดง และไม่ได้สั่งการให้เดินหน้า มีแต่ความเห็นเรื่องกฎหมาย ซึ่งเรามีหน้าที่รับฟังและปฏิบัติตาม แต่เมื่อมีหนังสือของป.ป.ช.มา ก็ค่อนข้างชัดเจนว่ามีการวางธงไม่ให้โครงการนี้เดินหน้า แม้นโยบายดิจิทัลวอลเล็ตจะได้รับการรับรองจากประชาชนผ่านการเลือกตั้ง และได้แถลงนโยบายต่อรัฐสภาแล้ว ก็ยังมีความเห็นขององค์กรอื่น อาทิ ป.ป.ช. หรือธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ที่แตกต่าง ซึ่งอาจจะยังไม่เข้าใจในสิ่งที่รัฐบาลกำลังทำ ทั้งนี้ วิกฤตในขณะนี้ไม่ใช่แค่การเติบโตทางเศรษฐกิจที่ตกต่ำ หรือเรื่องโครงสร้างทางเศรษฐกิจเท่านั้น แต่เป็นวิกฤตการเห็นใจประชาชนที่มีความเดือดร้อนทางเศรษฐกิจ ทุนนิยมที่ไม่มีหัวใจแสดงให้เห็นมาตลอดว่าล้มเหลว รัฐบาลไม่ได้มองเศรษฐศาสตร์เป็นแค่หนังสือแบบเรียน แต่เรามองในมิติความเป็นจริง และในมิติชีวิตของประชาชนที่เดือดร้อนด้วย

รับแจกเงินหมื่นไม่ทัน พ.ค.

 “ผมต้องเรียนว่า วันนี้ถ้าดูกรอบเวลาไม่น่าทันเดือน พ.ค. รัฐบาลยืนยันว่าต้องดำเนินนโยบายดิจิทัลวอลเล็ตต่อไป ถึงแม้จะไม่สามารถทันกรอบเวลาในเดือน พ.ค. เพราะเมื่อดูจากข้อคิดเห็นจากสิ่งที่ออกมาต่อจากนี้ เราคงต้องรอให้ทาง ป.ป.ช.ส่งหนังสือมาทางเรา และต้องเชิญคณะกรรมการนโยบายฯ มาประชุม เพื่อนำเอาความเห็นของทั้ง ป.ป.ช.และกฤษฎีกามาพิจารณาในครั้งเดียวกัน และเริ่มกระบวนการรับฟังความคิดเห็นเพิ่มเติมในการทำความเข้าใจกับหน่วยงานหรือองค์กรใดๆ ก็ตามที่ยังไม่เห็นถึงเจตนาดีที่รัฐบาลพยายามทำ เราต้องสื่อสารจนทุกฝ่ายมีความเข้าใจตรงกัน และเดินหน้านโยบายนี้ให้ได้ในที่สุด” รมช.การคลังกล่าว

ซักว่า หากเดินหน้าโครงการนี้ต่อจะไม่หวั่นใช่หรือไม่ หากเกิดคดีทางการเมืองตามมา นายจุลพันธ์กล่าวว่า เราถึงต้องทำความเข้าใจกับหน่วยงานต่างๆ รัฐบาลชุดนี้ไม่ได้เป็นอนุบาลทางการเมือง เราเห็นอยู่ว่าสิ่งที่เกิดขึ้นคืออะไร สิ่งที่ทำคืออะไร เรามีหน้าที่ทำทุกอย่างให้เป็นไปตามกรอบของกฎหมาย เพื่อให้ได้รับการยอมรับจากทุกภาคส่วน และแก้ปัญหาให้กับประชาชน 

เมื่อถามว่า จะล้มเลิกการออกเป็นพ.ร.บ.กู้เงินใช่หรือไม่ นายจุลพันธ์กล่าวว่า ไม่ใช่ สุดท้ายก็ต้องรอให้คณะกรรมการฯ ได้พูดคุยและตัดสินใจว่าจะเดินหน้าอย่างไร ดังนั้นตนขอไม่ให้คำตอบในนาทีนี้ ถามย้ำว่าจะมีหนทางอื่นอีกหรือไม่นอกจากการออกเป็น พ.ร.ก.หรือ พ.ร.บ.กู้เงิน นายจุลพันธ์กล่าวว่า ยังไม่ได้พูดคุย 

รมช.การคลังย้ำอีกครั้งว่า เมื่อดูจากอุปสรรคที่เห็น เรามองว่ากลไกที่จะผลักดันโครงการนี้ให้ทันเดือน พ.ค.นี้ไม่ใช่เรื่องง่ายนัก แต่จะพยายามให้ได้มากที่สุด เพราะกระบวนการต่างๆ ทั้งการฟังความเห็นและการทำความเข้าใจ ต้องใช้เวลา    ในส่วนกรอบเวลานั้นยังไม่มี

ถามอีกว่า หากโครงการนี้เดินหน้าต่อไม่ได้ จะมีแผนสำรองในการกระตุ้นเศรษฐกิจแบบอื่นหรือไม่ รมช.การคลังกล่าวว่า ยังไม่ให้คำตอบว่าไปไม่ได้ อย่างไรก็ตาม กลไกของภาครัฐมีเยอะ เรามีศักยภาพเพียงพอในการหาหนทางในการช่วยเหลือประชาชน ยังมีหนทางอีกจำนวนมาก ในส่วนของโครงการนี้จะมีจุดจบหรือไม่นั้น ยังไม่ถึงจุดที่สามารถตอบได้ แต่ยังไม่เห็นจุดนั้น และเราจะเดินหน้าต่อไป

"เราไม่ใช่ดันทุรัง เพราะเรามองถึงปัญหาเศรษฐกิจของประเทศและการเจริญเติบโตที่ต่ำกว่าศักยภาพ ถ้าไม่ได้ลงพื้นที่สัมผัสประชาชนจะมองไม่เห็นในจุดนี้ เราต้องชี้ให้เห็นถึงความจำเป็นในการกระตุ้นเศรษฐกิจให้กลับมาแข็งแกร่งให้เป็นไปตามศักยภาพของประเทศ ดังนั้นจะมาบอกว่าดันทุรังไม่ได้" รมช.การคลังกล่าว 

ถามว่าเป็นไปได้หรือไม่ว่าโครงการนี้จะไม่ทันในปีงบประมาณ 67 นายจุลพันธ์ กล่าวว่า ไม่ได้กำหนดเวลา ต้องรอตามขั้นตอน เมื่อมีคำตอบที่ชัดเจนจากบางหน่วยงานแล้วก็จะประชุมเพื่อหาแนวทาง เมื่อนั้นเราจึงจะตอบได้

นายจุลพันธ์ยังกล่าวถึงกรณี น.ส.ศิริกัญญา ตันสกุล สส.บัญชีรายชื่อ และรองหัวพรรคก้าวไกล (ก.ก.) ออกมาระบุรัฐบาลเลือกที่จะใช้ความเห็นของ ป.ป.ช.เพื่อเป็นหลังพิงในการยกเลิกโครงการว่า  คณะกรรมการนโยบายโครงการดิจิทัลวอลเล็ตมีหน้าที่รับฟังความเห็นอย่างรอบด้าน ไม่ว่าจะเป็น สว., ป.ป.ช. หรือองค์กรภาคส่วนใดในสังคม และเราก็นำความเห็นเหล่านี้มาปรับให้มีความเหมาะสมที่สุด ความเห็นของฝ่ายค้านเราก็รับฟังเช่นกัน

 “จะใช้คำว่าเราใช้ ป.ป.ช.เป็นหลังพิง  ซึ่งไม่ใช่ เมื่อมีข้อมูลเข้ามาเราก็มีหน้าที่รับฟัง และต้องตอบ ก็ไม่อยากให้พรรคฝ่ายค้านใช้ ป.ป.ช.เป็นเครื่องมือทำลายรัฐบาลเช่นกัน” นายจุลพันธ์กล่าว

'ไหม' ซัดพิง ปปช.หาทางลง

ก่อนหน้านี้ เวลา 09.50 น. น.ส.ศิริกัญญากล่าวถึงความเห็น ป.ป.ช.ที่ส่งถึงรัฐบาลกรณีออก พ.ร.บ.เงินกู้ 500,000 ล้านบาท เพื่อใช้ในโครงการดิจิทัลวอลเล็ตว่า เป็นเพียงคำแนะนำ รับฟังไว้ แต่ไม่จำเป็นต้องทำตาม เรื่องการดำเนินนโยบายเป็นความรับผิดชอบโดยตรงของรัฐบาล ดังนั้นไม่จำเป็นต้องปฏิบัติตาม  ไม่ได้เป็นข้อกฎหมายอะไรที่จำเป็น ขอให้องค์กรอิสระทำงานในกรอบหน้าที่ของตนเอง หลายเรื่องที่มองแล้วก็รู้สึกว่าไม่ใช่หน้าที่ของ ป.ป.ช.ด้วยซ้ำ แต่หากเป็นข้อคิดเห็นที่มีประโยชน์รัฐบาลก็ควรรับฟัง แต่ไม่ควรมาเป็นจุดอ้างอิงว่าที่เราไม่ได้ทำโครงการดิจิทัลวอลเล็ตเพราะ ป.ป.ช.ให้ความเห็นแบบนี้ ตนอยากให้รัฐบาลรับผิดชอบอย่างเต็มที่ หากโครงการนี้ไปต่อไม่ได้ก็ให้เป็นความรับผิดชอบของรัฐบาลโดยตรง ไม่ต้องเอาหลังพิงองค์กรอิสระ

 “ดิฉันไม่เข้าใจว่าทำไมถึงต้องมีการเลื่อนการประชุมคณะกรรมการนโยบายดิจิทัลวอลเล็ต ทั้งที่ความเห็นของ ป.ป.ช.ก็คือความเห็นของ ป.ป.ช. ถ้าเราสามารถพิจารณากันได้เองโดยไม่ใช้ความเห็นของ ป.ป.ช. ก็สามารถทำได้เช่นเดียวกัน เป็นจุดเด่นควรจะรับฟัง แต่ก็ไม่ได้เป็นจุดเปลี่ยนจุดตายของโครงการนี้ว่าจะไปต่อได้หรือไม่” น.ส.ศิริกัญญากล่าว

รองหัวหน้าพรรค ก.ก.กล่าวถึงทางลงที่ดีที่สุดของรัฐบาลว่า การลดขนาดโครงการให้เล็กลง และพยายามใช้วิธีการแนวทางที่เป็นไปได้ตามกฎหมายก่อน หรือจะไปแก้ไข พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลัง พ.ศ.2542 ว่าในกรณีที่รัฐบาลอยากจะกู้เงิน ประเทศอาจไม่จำเป็นต้องวิกฤตก็ได้ ซึ่งรัฐบาลก็คุมเสียงข้างมากในสภาอยู่แล้ว ก็อาจจะทำได้ในรัฐบาลนี้

ถามว่าหากรัฐบาลยังดื้อดึงใช้เงื่อนไขเดิมทั้งหมด จะเกิดปัญหาในอนาคตหรือไม่ รองหัวหน้าพรรค ก.ก.กล่าวว่า คิดว่ามีปัญหาแน่ๆ ขณะนี้ติดล็อกทางกฎหมายไม่แน่ใจว่าจะนำไปสู่อะไร สุดท้ายแล้ว คนที่จะลุยไปด้วยกันไม่ใช่แค่รัฐบาล แต่ทางสภาก็ต้องโหวตให้กฎหมายที่สุ่มเสี่ยงผิดกฎหมาย ข้าราชการที่มีส่วนร่วมในการลงมติ และคณะกรรมการฯ ต้องลงมาอยู่ในร่างแหนี้ด้วย ตนอยากให้รัฐบาลคิดทบทวนว่าจะหาทางลงให้โครงการนี้อย่างไรดี

เมื่อถามว่า ฝ่ายค้านจะแนะนำอะไรกับรัฐบาล น.ส.ศิริกัญญากล่าวว่า อยากให้รัฐบาลอยู่นิ่งๆ คิดทบทวนอีกสักครั้งหนึ่งอย่างถี่ถ้วนว่ามีโอกาสที่จะเป็นไปได้อย่างไรบ้าง ตอนที่หาเสียงยังมีอำนาจรัฐยังไม่มีแขนขาที่เป็นข้าราชการอาจจะคิดไม่ออกว่าจะต้องทำด้วยวิธีการใด และคิดว่าจะต้องกระตุ้นเศรษฐกิจด้วยวิธีการใด ระหว่างนี้ตนยังเห็นด้วยว่าเศรษฐกิจมันไม่ดี มีการเติบโตต่ำ ถึงจะไม่วิกฤต แต่ก็ยังมีปัญหาที่จำเป็นจะต้องแก้ในระยะสั้นและแก้ไขโครงสร้างในระยะยาว ดังนั้นเรื่องอะไรที่ต้องทำทันทีต้องทำได้แล้ว อย่ามัวแต่รอดิจิทัลวอลเล็ต ซึ่งไม่รู้ว่าเมื่อไหร่จะได้ทำสักที เพราะถ้าเกิดวิกฤตจริงก็รอไม่ได้

 “รัฐบาลต้องทำอะไรสักอย่างเพื่อทำให้เศรษฐกิจดีขึ้น แม้ต้องรอถึงเดือนพฤษภาคม เราคิดว่าล่าช้าเกินไป และต้องมาลุ้นอีกว่าจะทำหรือไม่ได้ทำ ควรต้องเริ่มทำสักทีด้วยงบกลาง ตอนนี้แม้จะมีอยู่น้อย ก็ต้องออกโครงการอะไรขึ้นมาเพื่อให้ประชาชนรู้สึกว่าการจับจ่ายใช้สอยมันคล่องตัวมากขึ้นแล้ว” น.ส.ศิริกัญญากล่าว

วันเดียวกัน นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.มหาดไทย กล่าวว่า โครงการดิจิทัลวอลเล็ต 10,000   บาท มีคณะกรรมการนโยบายโครงการเติมเงินดิจิทัล 10,000 บาทผ่านดิจิทัลวอลเล็ตอยู่แล้ว ถึงอย่างไรถ้ามีความเห็นจาก ป.ป.ช.มา เขาจะต้องนำให้รัฐบาลและคณะกรรมการฯ รับทราบ จะต้องผ่านอยู่ช่องทางนั้นมาก่อน

"เราต้องรับฟังทุกความเห็น ซึ่งผมมั่นใจว่าทุกนโยบายของรัฐบาลเป็นนโยบายที่อยู่บนพื้นฐานความสุจริต ไม่มีใครที่จะกล้าตั้งนโยบายเพื่อตั้งใจที่จะทำทุจริต  มันไม่ใช่" นายอนุทินกล่าว 

ถามว่า ในฐานะที่เป็นคณะกรรมการดิจิทัลวอลเล็ต มองความเห็นของ ป.ป.ช.อย่างไร นายอนุทินกล่าวว่า ต้องดูรายละเอียด ซึ่งถือว่าดีแล้วที่มีคนห่วงใย ต้องขอบคุณด้วยซ้ำที่มีผู้ให้ความสนใจและให้ความเห็นต่างๆ มา บางทีมันก็มีอะไรที่เรานึกไม่ถึง ยิ่งเราได้ข้อมูลมากเท่าไหร่เราก็สามารถนำมาประกอบการตัดสินใจได้มากยิ่งขึ้น ต้องถือเป็นสิ่งที่ดี

ซักว่าในรายงานของ ป.ป.ช. ดูแล้วค่อนข้างแรง จะทำให้โครงการนี้สะดุดได้เลยหรือไม่ นายอนุทินกล่าวว่า ตอนนี้ยังไม่มีใครได้อ่านเลยว่าเป็นอย่างไร เป็นการคาดเดากันไป แต่ถึงอย่างไรเราไม่ฟังไม่ได้หรอก เราต้องฟังความเห็นของ ป.ป.ช. ต้องดู ต้องอ่าน ซึ่งต้องมาดูว่ารัฐบาลมีเจตนาที่จะทำอย่างนั้นหรือไม่

"ผมมั่นใจว่าการพิจารณาต้องดูในเรื่องของหลักธรรมาภิบาล หรือการไม่ทำผิดระเบียบรัฐธรรมนูญ ไม่ทำผิดกฎหมาย มีอยู่แค่นี้ ถ้าผิดรัฐธรรมนูญก็ทำไม่ได้ หรือผิดกฎหมายก็ทำไม่ได้ ใครอยากจะทำคงทำไม่ได้ เพราะคนส่วนใหญ่คงไม่ยอมให้ทำ อย่าไปซีเรียสจนเกินไปจนคนไม่กล้าคิดอะไรเลย" นายอนุทินกล่าว. 

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

พ่อนายกฯขู่เช็กบิล! พรรคร่วมโดดประชุมครม.-นักร้อง/ขอพระเจ้าอยู่ต่ออีก17ปี

"เพื่อไทย" คึก! 3 นายกฯ ร่วมทีมขึ้นรถไฟสัมมนาพรรคที่หัวหิน "นายกฯ อิ๊งค์" ขอ  สส.ไม่แบ่งขั้ว-อายุ ยอมรับ 3 เดือนโฟกัสงานรัฐบาล