ได้ไปอีกคืบ! "กรมราชทัณฑ์" แจง "น.ช.ทักษิณ" เข้าเกณฑ์พักโทษเป็นกรณีพิเศษ เจ็บป่วยร้ายแรง-มีอายุตั้งแต่ 70 ปีขึ้นไป เผยมีตัวแทนผู้ตรวจการแผ่นดินได้พบนักโทษเทวดาตัวเป็นๆ ที่ชั้น 14 ส่วน "ทวี" แจงดรามาสองมาตรฐานห้ามเรียก "ทักษิณ" เป็นนักโทษชาย
เมื่อวันที่ 17 มกราคม 2567 ที่ห้องแถลงข่าว ชั้น 2 อาคารกระทรวงยุติธรรม ถนนแจ้งวัฒนะ กทม. นายสมบูรณ์ ม่วงกล่ำ ที่ปรึกษา รมว.ยุติธรรม, นายกูเฮง ยาวอหะซัน เลขานุการ รมว.ยุติธรรม, นายสิทธิ สุธีวงศ์ รองอธิบดีกรมราชทัณฑ์ ฝ่ายบริหาร และ นพ.สมภพ สังคุตแก้ว หัวหน้าผู้ตรวจราชการกรมราชทัณฑ์ ร่วมกันแถลงประเด็นสำคัญของกรมราชทัณฑ์ ซึ่งอยู่ในความสนใจของประชาชน
นายสมบูรณ์ ม่วงกล่ำ ที่ปรึกษา รมว.ยุติธรรม กล่าวว่า ภายหลังจากที่นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ซึ่งอยู่ระหว่างการนอนพักรักษาตัวภายนอกเรือนจำเกินกว่า 120 วัน โดยในทุกห้วงเวลานับตั้งแต่รักษาตัวครบ 30 ครบ 60 และเกินกว่า 120 วัน ก็เป็นไปตามขั้นตอนที่อธิบดีกรมราชทัณฑ์จะต้องมีความเห็นและรายงานไปตามลำดับชั้น ทั้งการรายงานต่อปลัดกระทรวงยุติธรรม เมื่อครั้งรักษาตัวครบ 60 วัน และเมื่อเกินกว่า 120 วัน ก็ต้องรายงานให้รัฐมนตรีรับทราบ
เขากล่าวว่า เมื่อวันที่ 12 ม.ค.ที่ผ่านมา นางพงษ์สวาท นีละโยธิน ปลัดกระทรวงยุติธรรม ได้เซ็นรับทราบการอนุญาตนอนพักรักษาตัวภายนอกเรือนจำ จากนั้นวานนี้ (16 ม.ค.) พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง รมว.ยุติธรรม ได้เซ็นรับทราบถึงการนอนพักรักษาตัวของนายทักษิณ ที่เกินมา 136 วัน ถือว่าเข้าเงื่อนไขและปฏิบัติถูกต้องตามกฎหมาย
โดยกรณีของนายทักษิณ ที่นอนพักรักษาตัวภายนอกเรือนจำ ต้องยอมรับว่าได้ถูกตรวจสอบจากหลายหน่วยงาน ไม่ว่าจะเป็นสำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน และสำนักงาน ป.ป.ช. เป็นต้น โดยเฉพาะทางผู้ตรวจการแผ่นดิน มีตัวแทนขึ้นไปบนชั้น 14 รพ.ตำรวจ และได้พบนายทักษิณ
ขณะที่ นายสิทธิ สุธีวงศ์ รองอธิบดีกรมราชทัณฑ์ ฝ่ายบริหาร กล่าวว่า สำหรับความคืบหน้าของระเบียบกรมราชทัณฑ์ ว่าด้วยการดำเนินการสำหรับการคุมขังในสถานที่คุมขัง พ.ศ.2566 นั้น เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ทางกรมราชทัณฑ์ได้มีการประชุมและรายงานต่อคณะกรรมการราชทัณฑ์ให้รับทราบถึงการดำเนินการ เพราะกฎกระทรวงกำหนดให้กรมราชทัณฑ์ต้องออกระเบียบนี้
ส่วนความคืบหน้าของระเบียบแนวทางการปฏิบัติ และกำหนดคุณสมบัติของผู้ต้องขังที่จะต้องมารองรับระเบียบกรมราชทัณฑ์ ว่าด้วยการดำเนินการสำหรับการคุมขังในสถานที่คุมขัง พ.ศ. 2566 หรือระเบียบคุมขังนอกเรือนจำ อยู่ระหว่างการดำเนินการ ซึ่งในวันประชุมทางฝ่ายเลขาฯ ก็ได้นำเสนอในที่ประชุมว่า ถ้าหากคณะกรรมการราชทัณฑ์ท่านใดมีข้อคิดเห็น ข้อเสนอแนะ ทางกรมราชทัณฑ์ก็จะต้องรับฟัง อีกทั้งในส่วนของผู้ทรงคุณวุฒิก็จะส่งข้อมูลให้กรมราชทัณฑ์ เพื่อเตรียมยกร่างหลักเกณฑ์ประกอบการพิจารณา แต่ ณ วันนี้ระเบียบคุมขังนอกเรือนจำยังไม่ได้มีการดำเนินการใด เพราะต้องรอระเบียบหลักเกณฑ์ แนวทางการปฏิบัตินี้ก่อน
สำหรับกลุ่มผู้ต้องขังในรายคดีใดที่จะได้รับการละเว้นจากระเบียบดังกล่าว เราต้องใช้ในการจำแนกวิเคราะห์เช่นกัน ว่ารายคดีใดจะได้ประโยชน์ หรือรายคดีใดต้องละเว้น แต่ตอนนี้ยังไม่มีความชัดเจน เพราะต้องไปศึกษาให้รอบคอบก่อนว่าจะแบ่งกลุ่มอย่างไร ส่วนจำนวนผู้ต้องขังล็อตแรกที่จะใช้พิจารณาก็ยังไม่สามารถระบุได้ ต้องรอการศึกษาให้รอบด้านก่อน และต้องรอฟังความเห็นจากคณะกรรมการราชทัณฑ์ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องด้วยเพื่อความรัดกุมที่สุด
โดยประเด็นโครงการพักการลงโทษกรณีมีเหตุพิเศษ เรื่องนี้เป็นประโยชน์ของผู้ต้องขังที่มีสิทธิ์ได้รับ แต่การพิจารณาว่าผู้ต้องขังรายใดจะเข้าเกณฑ์โครงการดังกล่าวนั้น ทาง ผบ.เรือนจำ แต่ละแห่งจะเป็นผู้พิจารณาว่าใครมีความเหมาะสมหรือผ่านคุณสมบัติได้รับการพักโทษ ทั้งแบบกรณีมีเหตุพิเศษและแบบปกติ ซึ่งผู้ต้องขังจะไม่สามารถเสนอตัวเองได้ เป็นการจัดทำประมวลเรื่องโดยเรือนจำนั้นๆ อย่างไรก็ตาม เรือนจำแต่ละแห่งจะมีการพิจารณาผู้ต้องขังที่ผ่านเกณฑ์พักโทษในทุกเดือน แล้วจึงจะเสนอรายชื่อมายังกรมราชทัณฑ์ เพื่อนำเข้าสู่คณะกรรมการพิจารณาพักการลงโทษที่จะประชุมในทุกเดือน
ทั้งนี้ ทางกรมราชทัณฑ์ โดยนายสหการณ์ เพ็ชรนรินทร์ อธิบดีกรมราชทัณฑ์ ยังไม่ได้รับรายงานจากนายนัสที ทองปลาด ผบ.เรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ ถึงประเด็นรายชื่อของนายทักษิณ ชินวัตร ว่าเข้าเกณฑ์โครงการพักการลงโทษหรือไม่
สำหรับคุณสมบัติของนายทักษิณ หากดูจากหลักเกณฑ์ที่ว่าเป็นผู้ต้องขังเด็ดขาดชั้นกลาง สูงวัย และมีอาการเจ็บป่วย ถือว่าอยู่ในเกณฑ์ที่จะได้รับการพิจารณาในโครงการพักการลงโทษกรณีมีเหตุพิเศษ เนื่องจากเจ็บป่วยร้ายแรง หรือพิการ หรือมีอายุตั้งแต่ 70 ปีขึ้นไป (นักโทษเด็ดขาดชั้นกลางขึ้นไป) แต่อย่างไร ณ วันนี้กรมยังไม่ได้รับรายงานจากเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ จึงยังไม่มีข้อมูลตรงนี้ ส่วนกระบวนการหากนายทักษิณผ่านเข้าโครงการดังกล่าวจริง จะเป็นการดำเนินการโดยเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ ซึ่งมีแนวทางปฏิบัติว่าจะจัดทำเรื่องเอกสารอะไรอย่างไร รวมถึงกรณีการติดกำไล EM จะเป็นหน้าที่ของคณะกรรมการพักการลงโทษที่จะพิจารณาเหตุต่างๆ หากจะไม่ติดกำไล ก็ต้องมีเหตุผลประกอบ
นายสิทธิกล่าวถึงระบบพักการลงโทษว่า หากผู้ต้องขังรายใดเข้าเกณฑ์ได้รับการพักโทษ ตามขั้นตอนแล้วต้องมีรายชื่อของผู้อุปการะ ซึ่งกรมคุมประพฤติต้องไปสืบเสาะว่าใครจะเป็นผู้อุปการะผู้ต้องขัง และเมื่อพักโทษจะประกอบอาชีพอะไร และต้องรายงานตัวต่อพนักงานคุมประพฤติอย่างไรบ้าง หรือกำหนดอาณาเขตว่าห้ามพ้นรัศมีเท่าใด หรือห้ามเดินทางออกนอกราชอาณาจักร ส่วนบทบาททางการเมือง ในระหว่างการพักโทษ สามารถกระทำได้หากไม่เป็นการฝ่าฝืนหรือไปทำอะไรที่ผิดระเบียบ
ด้าน พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ชี้แจงกรณีกรมราชทัณฑ์ออกหนังสือชี้แจงการใช้คำนำหน้าชื่อผู้ต้องขัง หลังมีกระแสข่าวว่ากรมราชทัณฑ์ให้อภิสิทธิ์ดูแลผู้ต้องขัง 2 มาตรฐาน ไม่ใช้คำนำหน้าชื่อว่า นักโทษชาย หรือ น.ช. กับนายทักษิณ ชินวัตร ซึ่งพักรักษาตัวที่โรงพยาบาลตำรวจมานานกว่า 140 วัน
รมว.ยุติธรรมกล่าวว่า ยังไม่เห็นเอกสารดังกล่าวจากกรมราชทัณฑ์ ส่วนการเรียกชื่อโดยส่วนตัว อยู่ที่คนจะเรียก แต่ถ้าเป็นศัพท์ทางกฎหมายก็ต้องเป็นอีกอย่างหนึ่ง อย่างเช่นศัพท์ทางกฎหมายว่าเป็นจำเลย ซึ่งคนเป็นจำเลยเยอะ แต่ว่าเวลาออกจากจำเลยในคดีอาญา ก็จะไม่เรียกว่าจำเลย ซึ่งเป็นเสรีภาพ ของใครจะเรียกยังไง ไม่มีกฎหมายห้าม ว่าจะเรียกแล้วผิดหรือจะไม่เรียกแล้วผิด เพียงแต่ว่าจะใช้ภายในหน่วยงานใดหน่วยงานหนึ่งก็ได้ ย้ำว่าประชาชนจะเรียกอะไรก็ได้ เป็นเสรีภาพ ส่วนการเคารพก็เรียกอีกแบบหนึ่ง ก็เหมือนคนเป็นจำเลย ในคดีอาญา คดีแพ่ง ทำไมถึงไม่เรียกจำเลยติดต่อกัน ก็เพราะเป็นเสรีภาพในการเรียก ยืนยันไม่ได้เลือกปฏิบัติกับคนใดคนหนึ่ง ทางเราอยากทำให้บ้านเมืองเป็นปกติดีกว่า
พ.ต.อ.ทวีกล่าวอีกว่า เอกสารดังกล่าวจากกรมราชทัณฑ์ยังได้ระบุว่า ตามมาตรา 4 ของ พ.ร.บ.ราชทัณฑ์ พ.ศ.2560 นักโทษเด็ดขาด หมายความว่า บุคคลซึ่งถูกขังไว้ตามหมายจำคุกภายหลังคำพิพากษาถึงที่สุด และให้หมายความรวมถึงบุคคลซึ่งถูกขังไว้ตามคำสั่งที่ชอบด้วยกฎหมาย การใช้คำนำหน้าชื่อว่า นักโทษเด็ดขาดชาย (น.ช.) หรือนักโทษเด็ดขาดหญิง (น.ญ.) เป็นเพียงถ้อยคำที่ใช้แบ่งประเภทของนักโทษเด็ดขาด โดยใช้เพศเป็นเกณฑ์กำหนดเท่านั้น ซึ่งอยู่ภายใต้กรอบกฎหมาย
นอกจากนี้ การใช้คำนำหน้าชื่อเหล่านี้จะใช้ในงานราชทัณฑ์ขณะถูกควบคุมตัวอยู่ในเรือนจำ-ทัณฑสถานเท่านั้น แต่หากต้องเปิดเผยชื่อ-นามสกุลออกสู่สาธารณชน จะไม่ใช้คำนำหน้าชื่อด้วย น.ช. หรือ น.ญ. เพื่อบ่งบอกสถานะความเป็นผู้ต้องขัง ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อภาพลักษณ์ขององค์กรในการคืนคนดีสู่สังคม กระทบต่อสิทธิมนุษยชน รวมถึงอาจทำให้เป็นการตีตราผู้ต้องขังไปตลอด
ทั้งนี้ กรมราชทัณฑ์ไม่ได้เลือกปฏิบัติใช้คำนำหน้าชื่อว่า นาย เฉพาะกับนายทักษิณเท่านั้น ที่ผ่านมาหากต้องเปิดเผยชื่อ-นามสกุลของผู้ต้องขังคนอื่นๆ ออกสู่สาธารณชน จะใช้คำนำหน้าชื่อว่า นาย นาง หรือนางสาว เช่นเดียวกันกับการบันทึกข้อมูลทางการแพทย์เมื่อออกไปรักษาโรงพยาบาลภายนอก รวมถึงระบบการบันทึกข้อมูลต่างๆ ที่เกี่ยวกับการฉีดวัคซีนก็จะใช้คำนำหน้าชื่อเป็นนาย นาง หรือนางสาว เช่นเดียวกัน.
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
เหนือ-อีสาน อุณหภูมิยังหนาวจัด กทม.16 องศา มีหมอกบาง
กรมอุตุนิยมวิทยา พยากรณ์อากาศ 24 ชั่วโมงข้างหน้า บริเวณความกดอากาศสูงหรือมวลอากาศเย็นกำลังแรงที่ปกคลุมประเทศไทยตอนบนและ
ขอแบ่งเค้ก‘กาสิโน’ แทบทุกหน่วยงานหนุน/รบ.ยกสิงคโปร์โมเดลทำรายได้พุ่ง
รัฐบาลอุ๊งอิ๊งทุบโต๊ะทำคลอด “เอนเตอร์เทนเมนต์คอมเพล็กซ์”
ห่วงศก.ครึ่งหลัง68แผ่ว แนะฟื้นความเชื่อมั่นจีน
หอการค้าไทยห่วง ศก.ครึ่งหลังปี 68 แผ่วหนัก จี้ฟื้นความเชื่อมั่นจีน
อิ๊งค์ปัดนิติกรรมอำพราง สวนเรืองไกรข่มขู่ให้จ่าย
"อิ๊งค์" ยันปมหนี้ 4 พันล้านของสามีคนใต้ ไม่มีนิติกรรมอำพราง
ปปช.ตั้งกุนซือไต่สวนชั้น14
กลุ่ม คปท.-กองทัพธรรมบุก ตร.จี้ “บิ๊กต่าย”เร่งรัดให้ รพ.ตำรวจส่งเวชระเบียนการรักษา "ทักษิณ" ให้แพทยสภา
‘จ่าเอ็ม’นอนคุก ล่าตัว‘มือชี้เป้า’ โยงคนจ้างวาน
ศาลอาญาอนุญาตฝากขัง "จ่าเอ็ม" เปิดพฤติการณ์ฆ่าโหด