ตอกฝาโลงเงินดิจิทัล ปปช.ชี้ชัดความเสี่ยงเพียบ ไม่ตรงปก-ส่อโกง-สร้างหนี้

ป.ป.ช.จัดชุดใหญ่ไฟกะพริบดิจิทัลวอลเล็ต บอกชัดผลเสียมากกว่าดี ทั้งไม่ตรงปกตอนหาเสียง เปิดช่องโกง ซ้ำร้ายสร้างหนี้มโหฬาร แนะลดเป้าแจกพร้อมย้ำควรใช้แอปเป๋าตัง “ภูมิธรรม” เลื่อนประชุมคณะกรรมการดิจิทัลไร้กำหนด อ้างรอรวบตึงผลการศึกษาในคราวเดียว อึ้ง! สหายอ้วนโอ่ทุนนิยมต้องเดินหน้า พ่วงมัดมือพรรคร่วมรัฐบาลเป็นนโยบายที่ได้รับฉันทามติแถลงสภาไปแล้ว “จุลพันธ์” รับเวลาค่อนข้างหมิ่นเหม่อาจเจอโรคเลื่อน “สมชาย-สมชัย” เตือนให้รีบใส่เกียร์ถอยหลังด่วน 

เมื่อวันอังคารที่ 16 มกราคม 2567 นายนิวัติไชย เกษมมงคล เลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีคณะกรรมการเพื่อศึกษาและดำเนินการรับฟังความเห็นเกี่ยวกับนโยบายรัฐบาล กรณีการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่านระบบดิจิทัลวอลเล็ต ที่มี น.ส.สุภา ปิยะจิตติ กรรมการ ป.ป.ช.เป็นประธาน ว่าได้สรุปผลการศึกษาวิเคราะห์และส่งให้ที่ประชุม ป.ป.ช.เรียบร้อยแล้ว แต่ ป.ป.ช.ยังไม่มีมติส่งเรื่องให้รัฐบาล เพราะ ป.ป.ช.เพิ่งพิจารณารายงานสรุปผลการศึกษาโครงการดังกล่าวไปเพียงแค่ครั้งเดียวเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว โดยอยู่ระหว่างพิจารณารายละเอียดต่างๆ ในผลการศึกษาว่า มีข้อมูลครบถ้วนเพียงพอแล้วหรือยัง จำเป็นต้องมีข้อมูลใดเพิ่มเติมหรือไม่ อยู่ระหว่างการพิจารณานำเรื่องเข้าสู่ที่ประชุม ป.ป.ช.ชุดใหญ่อีกครั้ง แต่ยังไม่กำหนดเป็นเมื่อใด จึงยังไม่มีการส่งเรื่องให้รัฐบาลทราบ

“หากมีการส่งรายงานให้รัฐบาลแล้ว ถือเป็นอำนาจฝ่ายบริหารจะดำเนินการโครงการดิจิทัลวอลเล็ตต่อไปหรือไม่ ป.ป.ช.มีหน้าที่เพียงให้ข้อเสนอแนะ ข้อควรระวังเท่านั้น หากดำเนินการโครงการไปแล้ว ไม่มีความเสียหายทางเศรษฐกิจหรือการทุจริตเกิดขึ้นก็ไม่เป็นไร แต่ถ้าเกิดความเสียหายเกิดขึ้น รัฐบาลต้องรับผิดชอบ ต้องไปดูว่าเป็นข้อผิดพลาดจากการบริหารนโยบาย หรือมีการทุจริตมาเกี่ยวข้อง” นายนิวัติไชยระบุ

รายงานจาก ป.ป.ช.แจ้งว่า คณะกรรมการชุด น.ส.สุภาได้สรุปผลการศึกษาเรื่องความเสี่ยงและส่งให้ ป.ป.ช.พิจาณาเมื่อ 2 สัปดาห์ที่ผ่านมา โดยผลการศึกษาระบุว่ามีความเสี่ยงหลายเรื่อง ได้แก่ 1.ความเสี่ยงการทุจริตเชิงนโยบาย เนื่องจากแหล่งที่มาของเงินในโครงการมาจากการกู้เงิน และเงื่อนไขการแจกเงินไม่ตรงกับที่แจ้งต่อคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) รวมทั้งการกำหนดเงื่อนไขขึ้นเงินของร้านค้าที่ร่วมโครงการ อาจมีความเสี่ยงเอื้อประโยชน์ต่อบุคคลหรือกลุ่มบุคคลได้ และมีความเสี่ยงรับจ้างลงทะเบียนร้านค้าในลักษณะนอมินีให้อยู่นอกระบบฐานข้อมูลภาษีกรมสรรพากร เพื่อเลี่ยงภาษี หรือใช้ฟอกเงินทำผิดกฎหมาย หรือความเสี่ยงสมคบคิดกันทุจริตระหว่างร้านค้ากับกลุ่มเป้าหมายที่ได้รับเงิน

2.ประเด็นความเสี่ยงด้านเศรษฐกิจ โดยเมื่อพิจารณาข้อมูลตัวเลขทางเศรษฐกิจต่างๆ ไปทิศทางเดียวกันว่าไม่เข้าข่ายวิกฤต ไม่เห็นสัญญาณวิกฤตเศรษฐกิจไทย แต่อาจเจริญเติบโตที่ชะลอตัวหรือต่ำกว่าศักยภาพ ขณะที่ข้อมูลสำนักงบประมาณของรัฐสภาประเมินผลกระทบทางการคลังที่สำคัญของโครงการดิจิทัลวอลเล็ต จะมีภาระดอกเบี้ยหนี้สาธารณะเพิ่มขึ้น 15,800 ล้านบาทต่อปี สัดส่วนหนี้สาธารณะต่อจีดีพีเพิ่มขึ้น 2.65% การชำระต้นเงินกู้เพิ่มจากเดิมปีละ 125,000 ล้านบาท ดังนั้นการดำเนินนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจต้องคำนึงถึงความคุ้มค่า และมีความจำเป็นเพียงใด

3.ประเด็นความเสี่ยงด้านกฎหมาย โดยสภาวะเศรษฐกิจปัจจุบันยังไม่เข้าข่ายวิกฤตหากรัฐบาลจะตราพระราชบัญญัติกู้เงิน 5 แสนล้านบาท เพื่อมาดำเนินโครงการควรพิจารณาอย่างรอบคอบ มิฉะนั้นจะมีความเสี่ยงผิดเงื่อนไขตาม พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลัง รวมถึงผิด พ.ร.บ.เงินคงคลัง พ.ศ.2491 และ พ.ร.บ.เงินตรา พ.ศ.2501 หรือไม่ รัฐบาลต้องพิจารณาอย่างรอบคอบ ไม่ให้ขัดหรือแย้งต่อบทบัญญัติกฎหมาย 

แนะ 8 แนวทางป้องโกงดิจิทัล

ทั้งนี้ ป.ป.ช.มีข้อเสนอแนะต่อคณะรัฐมนตรี (ครม.) เพื่อป้องกันการทุจริตนโยบายดิจิทัลวอลเล็ตดังนี้ 1.รัฐบาลต้องศึกษาโครงการให้เห็นผลเป็นรูปธรรมว่าผู้ได้รับประโยชน์จากโครงการจะไม่ตกแก่พรรคการเมือง บุคคล หรือกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง โดยเฉพาะกลุ่มผู้ประกอบการรายใหญ่ 2.การหาเสียงพรรคเพื่อไทยในการเลือกตั้ง กับสิ่งที่แถลงนโยบายต่อรัฐสภา มีความแตกต่างกัน กกต.ควรตรวจสอบว่าขัดรัฐธรรมนูญ และ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมืองหรือไม่ มิฉะนั้นจะเป็นบรรทัดฐานพรรคการเมืองหาเสียงอย่างไรก็ได้ เมื่อได้รับเลือกตั้งก็ไม่จำเป็นต้องปฏิบัติตาม 3.ตัวเลขภาวะเศรษฐกิจของหน่วยงานต่างๆ ปรากฏอัตราความเจริญเติบโตประเทศไทยยังไม่เข้าข่ายวิกฤตเศรษฐกิจ ดังนั้นการกระตุ้นเศรษฐกิจควรเน้นให้เติบโตอย่างมีเสถียรภาพและยั่งยืน 4.โครงการต้องคำนึงถึงความคุ้มค่า ความจำเป็น ตลอดจนผลกระทบและภาระทางการเงินการคลังในอนาคต ภายใต้หลักธรรมาภิบาล 4 ด้านคือ ความโปร่งใส การถ่วงดุล การรักษาความมั่นคงของระบบการคลัง และความคล่องตัว ซึ่งโครงการนี้มีผลเสียมากกว่าผลดี คือต้องกู้เงิน 5 แสนล้านบาท การกู้เงินเป็นการสร้างภาระหนี้แก่รัฐบาลในระยะยาว จะต้องตั้งงบประมาณชำระหนี้จำนวนนี้ เป็นเวลา 4-5 ปี กระทบต่อตัวเลขการใช้จ่ายและการลงทุนของภาครัฐ

5.ครม.และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องควรพิจารณาประเด็นความเสี่ยงด้านกฎหมายอย่างรอบคอบ ได้แก่ รัฐธรรมนูญ มาตรา 172 พ.ร.บ.การเงินการคลังของรัฐ มาตรา 53 พ.ร.บ.มาตรา 4-6 เพื่อให้การดำเนินโครงการเกิดประสิทธิภาพสูงสุดเป็นไปตามกฎหมาย 6.ครม.ควรประเมินความเสี่ยงการดำเนินโครงการอย่างรอบด้าน โดยกำหนดแนวทางหรือมาตรการบริหารความเสี่ยง การป้องกันการทุจริต 7.การดำเนินนโยบายรัฐบาลที่มีวัตถุประสงค์ช่วยเหลือประชาชนภายใต้สถานการณ์เศรษฐกิจที่ไม่เข้าขั้นวิกฤต ควรพิจารณากลุ่มประชาชนเป้าหมายที่เปราะบางที่สุดที่ต้องการความช่วยเหลืออย่างแท้จริง และ 8.การนำเทคโนโลยีบล็อกเชนมาใช้กับโครงการดิจิทัลวอลเล็ต ครม.ควรพิจารณาความจำเป็นและความเหมาะสม ระยะเวลา และงบประมาณที่ต้องใช้ในการพัฒนาระบบ เพราะโครงการเป็นการแจกเงินครั้งเดียว ให้ใช้จ่ายภายใน 6 เดือน การพิจารณาใช้แอปพลิเคชันเป๋าตังจะเป็นประโยชน์และเหมาะสมกว่า

ด้าน นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.พาณิชย์ ในฐานะรักษาการนายกฯ ให้สัมภาษณ์ก่อนการประชุม ครม.ถึงการประชุมคณะกรรมการนโยบายโครงการเติมเงินดิจิทัล 10,000 บาท ผ่าน Digital Wallet ที่จะประชุมในวันนี้ ว่าเลื่อนไปแล้ว รอช่วงสั้นๆ เพราะได้รับหนังสือมาจากกฤษฎีกาแล้ว และได้ทราบว่าจะมีหนังสือจาก ป.ป.ช.ด้วย ก็เลยคิดว่าเอาทั้ง 2 ฉบับเข้าทีเดียว ไม่ต้องประชุมหลายครั้ง ก็เลยรออีกสักนิด ซึ่งอาจจะดีด้วยถ้านายกฯ กลับมาพอดีจะได้ประชุม

ผู้สื่อข่าวถามว่า รัฐบาลให้น้ำหนักการเดินหน้าเงินดิจิทัลวอลเล็ต ที่ ป.ป.ช.มีความเห็นมาอย่างไร นายภูมิธรรมกล่าวว่า ทุกคนมีน้ำหนักเท่ากัน ประชาชนเสนอมา การเมืองเสนอ พรรคร่วมฝ่ายค้านหรือพรรคร่วมรัฐบาลเสนอมาก็ให้น้ำหนักเท่ากัน คือจะรับฟังภายใต้เงื่อนไขวัตถุประสงค์ของโครงการ หากเป็นการวิพากษ์วิจารณ์และไปไกลจากวัตถุประสงค์ที่จะทำอาจต้องพิจารณาให้ความสำคัญในอีกระดับหนึ่ง

สหายอ้วนอ้างระบบทุนนิยม

นายภูมิธรรมกล่าวอีกว่า เราอยู่ในระบบทุนนิยมจะนิ่งเฉยอย่างนี้ไม่ได้ ฉะนั้นเราจำเป็นต้องขับเคลื่อน แต่การขับเคลื่อนในโครงการดิจิทัลวอลเล็ตเป็นการขับเคลื่อนที่ให้พี่น้องประชาชนได้มีโอกาสมีส่วนร่วมกระตุ้นเศรษฐกิจร่วมกัน เพื่อให้เกิดการหมุนเวียนทางเศรษฐกิจและการสร้างงาน วันนี้เราเถียงกันในเรื่องหลักการ และเถียงในเรื่องวิธีคิด ในเรื่องระบบการจัดการ ไม่ได้หมายความว่าไม่สำคัญ แต่การเถียงกันทั้งหมดต้องอิงฐานที่พี่น้องประชาชนประสบอยู่ เราอยู่ในระบบทุนนิยม จะขยับระบบทุนนิยมให้เดินหน้าไปได้ ก็ต้องคำนึงถึงจิตใจและความเป็นจริงของประชาชนที่กำลังเดือดร้อน ฉะนั้นโครงการนี้เป็นโครงการที่เราพุ่งเป้ากระตุ้นเศรษฐกิจ ไม่ใช่โครงการแจกเงิน และเชื่อว่าการกระตุ้นเศรษฐกิจจะทำให้เศรษฐกิจเดินหน้า

 “ขอความกรุณาอย่าเอาวิชาการมานั่งเถียงกัน แต่เอาวิชาการมาเป็นข้อพึงระวังได้ และต้องคำนึงถึงชีวิตที่เป็นจริง เพราะเวลาเราถกเถียงกันในหมู่ข้าราชการระดับสูงหรือนักวิชาการก็ดี เราเถียงบนพื้นฐานที่ไม่ค่อยมีโอกาสได้ประสบปัญหาที่พี่น้องประชาชนได้รับ จึงอยากเชิญชวนให้เรื่องนี้มาช่วยกันพูด ช่วยกันคิดว่าจะทำอย่างไรให้ปัญหามันดีขึ้น ถ้ามีวิธีการที่ดีกว่านี้เราไม่ขัดข้องอะไร ยินดีรับฟัง มีอะไรที่บอกว่าจะกระตุ้นเศรษฐกิจได้ อย่าใช้ความรู้สึกเฉพาะด้านของตัวเอง และต้องยอมรับว่าเรื่องต่างๆ ในการแก้ไขต้องใช้ความร่วมมือด้วยกันทุกๆ เรื่อง วันนี้เป็นระบบทุนนิยม เราแข่งขันสู้กัน พยายามจัดการให้ระบบดีที่สุด แต่ก็ต้องเป็นทุนนิยมที่มีหัวใจและคำนึงถึงความเป็นจริงของมนุษย์และคนในประเทศไทยด้วยกัน” รองนายกฯ กล่าว

                    เมื่อถามว่า ความเห็นของ ป.ป.ช.จะมาตอนไหน นายภูมิธรรมกล่าวว่า ไม่ทราบ แต่ได้ยินว่าจะมาเร็วๆ นี้ 1-2 อาทิตย์ก็ควรรู้แล้ว

ถามต่อว่า ถ้า พ.ร.บ.กู้เงินเดินไปไม่ได้ รัฐบาลมีแผนสำรองอะไรหรือไม่ นายภูมิธรรมกล่าวว่า กรอบใหญ่เราคิดไว้แล้ว แต่รอให้เหตุการณ์มันเกิดขึ้นว่าอะไรเป็นอย่างไร และเราก็แก้จากความเป็นจริงจะดีกว่า แต่เรายืนยันที่จะเดินหน้าโครงการนี้ ส่วนจะได้อะไรขึ้นอยู่กับข้อจำกัดและข้อเสนอของฝ่ายที่เกี่ยวข้อง ถ้าเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องทางกฎหมายซึ่งจำเป็นต้องปฏิบัติ เราก็คงเอามาปรับใช้ เพราะนโยบายนี้ไม่ใช่นโยบายที่คิดขึ้นมาลอยๆ แต่เป็นนโยบายที่พรรคร่วมรัฐบาลได้ร่วมกันคิดตั้งแต่การจัดตั้งรัฐบาล และได้แถลงต่อรัฐสภาอย่างถูกต้องตามกระบวนการกฎหมาย ฉะนั้นความชอบธรรมที่จะดำเนินนโยบายนี้ตามที่รัฐสภาเลือกมาจากประชาชนถือเป็นเรื่องที่ถูกต้องและชอบธรรมที่สุด เพียงแต่เรารับฟังเพื่อให้ทุกคนที่เกี่ยวข้องสบายใจและให้รอบด้านครบถ้วนมากที่สุดเท่านั้นเอง อย่าใช้บางประเด็นหรือบางส่วนมาขวางทุกเรื่องแล้วทำไม่ได้เลย

เมื่อถามว่าระเบียบการเงินการคลังส่วนหนึ่งที่บอกว่าเศรษฐกิจต้องวิกฤตจริงๆ ถึงจะออก พ.ร.บ.กู้เงินได้ ตรงนี้รัฐบาลคิดเห็นอย่างไร นายภูมิธรรมกล่าวว่า เศรษฐกิจวิกฤตจริงๆ ใครเป็นคนกำหนดว่าวิกฤต ถามตนเองก็บอกว่าวิกฤต แต่ถ้าถามฝ่ายค้านก็บอกว่าไม่วิกฤต ทั้งที่ก่อนฝ่ายค้านจะเข้ามาก็มองว่าวิกฤตและจะแก้ปัญหาร่วมกัน มันต้องดูความเป็นจริง ไม่ใช่พูดตามภาวะอารมณ์หรือตามสถานการณ์ต่างๆ

เสียงแข็งยึดไทม์ไลน์เดิม

“วันนี้เรายังวางไทม์ไลน์ไว้อย่างเดิม ยังไม่ได้มีอะไรมาหักล้างที่ทำให้เราต้องผิดเพี้ยนไปจากนี้ และเราก็คิดถึงทางยากลำบากที่มันจะเกิดขึ้นกับสภาพที่เป็นปัญหา ฉะนั้นต้องช่วยกันคิดเพื่อให้เดินหน้า ไม่ใช่ช่วยกันคิดเพื่อให้หยุดอยู่กับที่” นายภูมิธรรมกล่าว

ขณะที่ นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รมช.การคลัง กล่าวถึงการเลื่อนประชุมคณะกรรมการดิจิทัลเช่นกันว่า ต้องรอหนังสือจาก ป.ป.ช. เป็นสาเหตุที่ทำให้ต้องเลื่อนประชุม เพราะเราต้องรับฟังอย่างรอบด้าน หากเร่งประชุมก็จะหาว่ารวบรัด เชื่อว่าคงอีกไม่นาน เพื่อให้คณะกรรมการได้พิจารณา ทั้งคำตอบของกฤษฎีกา และความเห็นของ ป.ป.ช.เพื่อจะได้ดำเนินการ ได้ตอบสนองต่อข้อเรียกร้องได้ถูกต้อง จะได้เดินหน้าโครงการต่อไป

เมื่อถามถึงกระแสข่าวจะมีการลดขนาดโครงการลง นายจุลพันธ์กล่าวว่า ไม่มีการพูดคุยกัน เห็นแค่จากข่าวว่าจะลดวงเงิน 5 แสนล้านบาท เหลือ 3 แสนล้านบาท แต่ยืนยันว่ามีการประชุมเรื่องดิจิทัลวอลเล็ต ซึ่งอยู่ในการประชุมเกือบทุกคณะ ไม่มีการพูดคุยในประเด็นนี้ และไม่เคยได้ยินตัวเลข 3 แสนล้านบาท

 “ยอมรับว่าเวลาเริ่มตึง เพราะ พ.ค.2567 ซึ่งเป็นกรอบเวลาที่ถูกวางไว้ก็ใกล้เข้ามาทุกที แต่ไม่ว่าอย่างไรรัฐบาลยังยืนยันตามกรอบเวลาเดิม ส่วนกรณีถ้าไม่ทัน พ.ค.ก็คงต้องขยับไปเป็น มิ.ย.2567 จริงๆ ถามแบบนี้ไม่รู้จะตอบอย่างไร แต่ข้อเท็จจริงถ้ามันเป็นอย่างนั้น ไม่ทันก็คือไม่ทัน มันก็ต้องดันออกไป แต่สิ่งที่ต้องยอมรับเลยคือไม่ง่าย เพราะเวลาตึงมาก” นายจุลพันธ์ระบุ

นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกฯ และ รมว.มหาดไทย ในฐานะรองประธานคณะกรรมการนโยบายโครงการเติมเงิน 10,000 บาท กล่าวว่า มั่นใจว่ารัฐบาลทำอะไรต้องมีความรอบคอบ เรามี ครม. 36 คน ก็เชื่อว่าจะทำงานด้วยความรอบคอบ และอยู่ในบทบัญญัติของกฎหมายให้มากที่สุด

ส่วน นายปกรณ์ นิลประพันธ์ เลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา กล่าวว่า ยังไม่เห็นผลการศึกษาของ ป.ป.ช.เลย แต่ใครเสนออะไรมาก็ควรจะฟังประกอบการพิจารณา จะได้รอบคอบ แค่นั้นเอง ไม่มีอะไร จริงๆ แล้วหลักคือ รับฟังความคิดเห็นเอามาประกอบการตัดสินใจ ยิ่งได้ข้อมูลมากก็เอามาประกอบการตัดสินใจได้ละเอียดรอบคอบมากยิ่งขึ้น

เมื่อถามว่าผลการศึกษาของ ป.ป.ช.มีน้ำหนักมากน้อยแค่ไหน นายปกรณ์กล่าวว่า ก็ควรจะฟัง เพราะใน ป.ป.ช.เป็นองค์กรอิสระ มีข้อสังเกตมาเพื่อประกอบการพิจารณาก็ควรประกอบการพิจารณาด้วย

แนะใส่เกียร์ถอยหลัง

นายอุตตม สาวนายน ประธานกรรมการด้านนโยบายและการปฏิรูปเพื่อการพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืน พรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) กล่าวถึงโครงการดิจิทัลวอลเล็ตว่า เป็นเรื่องใหญ่อาจต้องใช้เวลาดำเนินการ จึงต้องรอดูว่าจะออกมาภายใต้เงื่อนไขอย่างไร ส่วนเศรษฐกิจตอนนี้วิกฤตหรือไม่อยู่ที่มุมมองของแต่ละคนที่จะตีความ คงไม่สามารถไปตัดสินได้ แต่สถานการณ์ปัจจุบันตัวเลขเติบโตของเศรษฐกิจไทยขยายตัวจริง แต่เป็นไปอย่างช้าๆ เมื่อเทียบกับเพื่อนบ้าน

ด้าน นายสมชาย แสวงการ สว. กล่าวว่า คณะกรรมการดิจิทัลของรัฐบาลควรรับฟังผลการศึกษาของ ป.ป.ช.ไปพิจารณาให้ละเอียดและรอบคอบ และต้องพิจารณาควบคู่กับความเห็นของกฤษฎีกาที่ได้ตอบคำถามในประเด็นดังกล่าวเช่นกัน ซึ่งผลศึกษาของ ป.ป.ช.ที่มีจำนวนหน้า 177 หน้า พบว่ามีข้อเสนอแนะอยู่ 58 หน้า ที่เหลือนั้นเป็นภาคผนวก ที่มองว่าเป็นส่วนสำคัญ หากรัฐบาลเดินหน้าโครงการจนเกิดความเสี่ยง หรือการกระทำที่ทำผิดกฎหมาย เอกสารในภาคผนวกนั้นสามารถใช้เป็นเอกสารพยานหลักฐานต่อศาลได้ ซึ่งการเตือนของ ป.ป.ช.นั้นคล้ายกับการวินิจฉัยในโครงการรับจำนำข้าว

 “รัฐบาลควรเลิกโครงการดังกล่าว แต่หากจะมุ่งมั่นเพื่อใช้เงินของประเทศผ่านการกู้เงิน ควรพิจารณาปรับรายละเอียด เช่น พุ่งเป้าเฉพาะกลุ่มเปราะบาง 1.5 แสนล้านบาท ส่วน 3.5 แสนล้านบาท ให้นำมาใช้กับนโยบายอื่นๆ ของรัฐบาล” นายสมชายกล่าว

นายสมชัย ศรีสุทธิยากร อดีต กกต.โพสต์เฟซบุ๊กระบุว่า ป.ป.ช.ชี้แล้วว่าไม่ตรงปกที่หาเสียงว่าจะไม่กู้ แล้วยังเปิดช่องให้ทุจริตในร้านค้าที่รับเงินดิจิทัล เอื้อประโยชน์แค่นายทุนบางราย กฤษฎีกาก็ตอบแบบถนอมน้ำใจว่ากู้ได้ หากรัฐบาลทำได้โดยไม่ผิดกฎหมาย เหมือนบอกกลายๆ ว่าหากไม่ไหวก็อย่าฝืน เหลือแต่คณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดินคงมีความเห็นไม่ต่าง ไม่ต้องรอไปถึงศาลรัฐธรรมนูญ.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง