ครม.อนุมัติปรับลดอัตราภาษีสรรพสามิตน้ำมันดีเซลและน้ำมันอื่นๆ ที่คล้ายกัน ประมาณ 1 บาท/ลิตร ตรึงไม่เกิน 30 บาท/ลิตร จนถึงหลังสงกรานต์ เริ่ม 20 ม.ค.67 จนถึง 19 เม.ย. 67 "กกพ." หืดขึ้นคอ เอกชนขอค่าไฟ 3.60 บาท ชี้โครงสร้างใหม่ได้แค่ 4.20 บาท ลุยศึกษาคืนเงิน กฟผ. หวั่นแบกหนี้สะสมเป็นแสนล้านอีกรอบ
เมื่อวันอังคาร นางรัดเกล้า อินทวงศ์ สุวรรณคีรี รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ว่า ที่ประชุม ครม.มีมติอนุมัติหลักการร่างกฎกระทรวงกำหนดพิกัดอัตราภาษีสรรพสามิต (ฉบับที่...) พ.ศ..... ตามที่กระทรวงการคลัง (กค.) เสนอ ซึ่งมีสาระสำคัญเป็นการปรับลดอัตราภาษีสรรพสามิตสินค้าน้ำมันดีเซลและน้ำมันอื่นๆ ที่คล้ายกัน ประเภทอัตราตามปริมาณ (ลิตร) (ปรับลดประมาณ 1 บาท/ลิตร) เป็นระยะเวลา 3 เดือน ตั้งแต่วันที่ 20 มกราคม 2567 จนถึงหลังเทศกาลสงกรานต์ วันที่ 19 เมษายน 2567 ทั้งนี้ กค.ได้ดำเนินการมาตรการภาษี โดยการออกกฎกระทรวงกำหนดพิกัดอัตราภาษีสรรพสามิต เพื่อปรับลดอัตราภาษีสรรพสามิตสินค้าน้ำมันดีเซล และน้ำมันอื่นๆ ที่คล้ายกัน ตั้งแต่วันที่ 18 ก.พ.65 ถึงวันที่ 31 ธ.ค.66 (ประมาณ 1 ปี 8 เดือน มีการสูญเสียรายได้ประมาณ 172,000 ล้านบาท โดยในแต่ละครั้ง ปรับอัตราภาษีลดลงแตกต่างกัน) รวม 8 ฉบับ
นางรัดเกล้ากล่าวว่า มาตรการดังกล่าวสอดคล้องกับนโยบายรัฐบาลที่ต้องการลดภาระค่าครองชีพของประชาชนอย่างต่อเนื่อง เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจภาพรวมของประเทศ ผ่านการลดค่าใช้จ่ายด้านพลังงานให้แก่ประชาชน และที่ผ่านมา รัฐบาล ด้วยความร่วมมือระหว่าง กระทรวงพลังงาน (พน.) และกระทรวงการคลัง ได้ใช้กลไกกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงและภาษีสรรพสามิตเป็นเครื่องมือในการรักษาเสถียรภาพราคาขายปลีกน้ำมันดีเซลไม่ให้เกิน 30 บาท/ลิตร ทั้งนี้ กค.ได้จัดทำประมาณการสูญเสียรายได้และประโยชน์ที่คาดว่าจะได้รับ โดยรายงานว่า การดำเนินการตามมาตรการภาษีดังกล่าวจะทำให้กรมสรรพสามิตจัดเก็บรายได้ภาษีสรรพสามิตสินค้าน้ำมันและผลิตภัณฑ์น้ำมันลดลงประมาณ 2,000 ล้านบาท/เดือน โดยการดำเนินการตามมาตรการภาษีในครั้งนี้เป็นระยะเวลาประมาณ 3 เดือน จึงคาดว่าจะสูญเสียรายได้ประมาณ 6,000 ล้านบาท แต่จะเป็นการช่วยรักษาเสถียรภาพของราคาขายปลีกน้ำมันดีเซลในประเทศไม่ให้ปรับตัวสูงขึ้นอย่างรวดเร็วจนกระทบค่าครองชีพของประชาชนและภาคธุรกิจ
“มาตรการครั้งนี้ เป็นการยืดระยะเวลาของมาตรการช่วยเหลือประชาชนด้านราคาพลังงานระยะสั้น อย่างไรก็ดี สำหรับมาตรการระยะยาวนั้น ทาง พน.ยังคงเดินหน้าอย่างเข้มข้นเพื่อที่จะ “รื้อ-ลด-ปลด- สร้าง” ด้วยการรื้อโครงสร้างราคาพลังงานของประเทศไทย โดยมีเป้าหมายที่จะทำให้เป็นรูปธรรมภายในปี 2567 นี้อย่างแน่นอน” นางรัดเกล้ากล่าว
นายคมกฤช ตันตระวาณิชย์ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ในฐานะโฆษก กกพ. เปิดเผยว่า ในกรณีที่เอกชนอยากให้ค่าไฟฟ้าอยู่ในระดับ 3.60 บาทต่อหน่วย และในระยะยาวไม่เกิน 3 บาทต่อหน่วยนั้น ต้องยอมรับว่าเป็นไปได้ยาก เนื่องจากปัจจุบันหากมองการดำเนินตามโครงสร้างเดิมต้นทุนค่าไฟฟ้าจะอยู่ที่ระดับ 4.30 บาทต่อหน่วยแล้ว และล่าสุดที่มีการปรับโครงสร้างก๊าซ จึงทำให้ค่าไฟขยับลงมาที่ 4.20 บาทต่อหน่วย อีกทั้งงวดปัจจุบันมีเงินค่าปรับจากผู้ผลิตไม่สามารถส่งมอบก๊าซได้ตามเงื่อนไขสัญญาซื้อขายก๊าซธรรมชาติ (Shortfall) จำนวน 4,300 ล้านบาทเข้ามาช่วย จึงทำให้ค่าไฟฟ้าอยู่ในระดับ 4.18 บาทต่อหน่วยได้ ซึ่งงวดที่ 2 จะไม่มีเงินตรงนี้ และจะขึ้นอยู่กับว่าก๊าซในอ่าวไทยจะทำได้เท่าไหร่ รวมถึงก๊าซจากพม่าจะหายหรือไม่ ดังนั้น หากยืนเงื่อนไขตามงวดปัจจุบันต้นทุนจะอยู่ในระดับ 4.20 บาทต่อหน่วย
"การเอาราคา 3 บาทกว่าๆ คงยาก เพราะเรารื้อโครงสร้างก๊าซจนไม่รู้จะรื้ออย่างไรแล้ว หากจะทำให้ค่าไฟลดลงอีก อาจจะต้องมีคนขาดทุน หรือต้องแยกการเก็บค่าไฟเป็นพื้นที่ อย่างในกรุงเทพฯ จะมีราคาถูกกว่าต่างจังหวัดที่มีต้นทุนจากการเดินสายส่งไฟสูงกว่า ซึ่งต้องถามว่าจะยอมแยกหรือไม่ เพื่อให้คนกรุงเทพฯ จ่ายถูกกว่า นอกจากนี้ยังต้องดูเรื่องต้นทุนที่ถูกบวกเข้าไปเป็นค่าไฟแฝงด้วย อย่างเช่น ค่าไฟฟรี 50 หน่วย หรือไฟฟ้าตามทางหลวง และถนนสาธารณะประชาชนก็ยังต้องจ่ายอยู่" นายคมกฤช กล่าว
นายคมกฤชกล่าวว่า แนวโน้มค่าไฟฟ้าทั้งปี 2567 ที่นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.พลังงาน ต้องการที่จะตรึงให้อยู่ในระดับ 4.20 บาทต่อหน่วยนั้น ต้องติดตามปัจจัยอื่นๆ เข้ามาสนับสนุน เนื่องจากงวดหน้าไม่มี Shortfall แล้ว แต่หากก๊าซธรรมชาติจากแหล่งเอราวัณมาในระบบครบ 800 ล้านลูกบาศก์ฟุต และก๊าซจากแหล่งพม่ายังมีเข้ามาอย่างต่อเนื่อง รวมถึงราคานำเข้าก๊าซธรรมชาติจากตลาดจร (LNG Spot) อยู่ในระดับ 10 เหรียญฯ สหรัฐต่อล้านบีทียู ก็อาจจะสามารถตรึงอยู่พอได้ แต่ก็ต้องดูว่าจะได้จริงเท่าไหร่ และสามารถคืนหนี้กฟผ.เท่าไหร่ มีนโยบายไหนเข้ามาสนับสนุนอีก
"ครม.ให้ไปศึกษาทั้งต้นทุน ปริมาณก๊าซว่าจะเป็นเท่าไหร่ และภาระที่ต้องคืนกฟผ.ด้วย จึงต้องหารือในภาคนโยบายกับกระทรวงพลังงานเพื่อให้ กฟผ. กระทบน้อยสุด ดังนั้น ตัวเลขภาระ กฟผ. งวด ก.ย.-ธ.ค.2566 น่าจะออกช่วงเดือนมี.ค.นี้ หากดูคร่าวๆ น่าจะอยู่หลักหมื่นล้าน อาจส่งผลให้ภาระที่ กฟผ.จะต้องรับสะสมในระดับ 1.1-1.2 แสนล้านบาท จากที่ กฟผ.เคยรับภาระสูงสุดที่ 150,268 ล้านบาท ในงวด ก.ย.-ธ.ค.2565" นายคมกฤชกล่าว.
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
เหนือ-อีสาน อุณหภูมิยังหนาวจัด กทม.16 องศา มีหมอกบาง
กรมอุตุนิยมวิทยา พยากรณ์อากาศ 24 ชั่วโมงข้างหน้า บริเวณความกดอากาศสูงหรือมวลอากาศเย็นกำลังแรงที่ปกคลุมประเทศไทยตอนบนและ
ขอแบ่งเค้ก‘กาสิโน’ แทบทุกหน่วยงานหนุน/รบ.ยกสิงคโปร์โมเดลทำรายได้พุ่ง
รัฐบาลอุ๊งอิ๊งทุบโต๊ะทำคลอด “เอนเตอร์เทนเมนต์คอมเพล็กซ์”
ห่วงศก.ครึ่งหลัง68แผ่ว แนะฟื้นความเชื่อมั่นจีน
หอการค้าไทยห่วง ศก.ครึ่งหลังปี 68 แผ่วหนัก จี้ฟื้นความเชื่อมั่นจีน
อิ๊งค์ปัดนิติกรรมอำพราง สวนเรืองไกรข่มขู่ให้จ่าย
"อิ๊งค์" ยันปมหนี้ 4 พันล้านของสามีคนใต้ ไม่มีนิติกรรมอำพราง
ปปช.ตั้งกุนซือไต่สวนชั้น14
กลุ่ม คปท.-กองทัพธรรมบุก ตร.จี้ “บิ๊กต่าย”เร่งรัดให้ รพ.ตำรวจส่งเวชระเบียนการรักษา "ทักษิณ" ให้แพทยสภา
‘จ่าเอ็ม’นอนคุก ล่าตัว‘มือชี้เป้า’ โยงคนจ้างวาน
ศาลอาญาอนุญาตฝากขัง "จ่าเอ็ม" เปิดพฤติการณ์ฆ่าโหด