“ธปท.” ตอบปมเงินเฟ้อติดลบทำไมไม่ลดดอกเบี้ย แจงปรับขึ้นดอกเบี้ยแบบค่อยเป็นค่อยไปอยู่ที่ 2.50% ถือว่าพอดี สมดุล เป็นกลาง ไม่ฉุดรั้งเศรษฐกิจ ชี้เป็นปัญหาเฉพาะที่ไม่ยั่งยืน ยันไม่ผิดทาง ยินดีรับฟังความคิดเห็นทุกภาคส่วน ไม่จำเป็นประชุม กนง.นัดพิเศษเพราะตัวเลข ศก.เป็นปกติ “จุลพันธ์” โต้ข่าวรัฐบาลจ่อยกเลิกออก พ.ร.บ.กู้เงิน 5 แสนล้านบาท หันใช้งบปี 68 อุ้ม Digital Wallet พร้อมลดกรอบเหลือ 3 แสนล้านบาท ไม่เป็นความจริง พร้อมแจงบอร์ดชุดใหญ่นัดประชุมสัปดาห์นี้
เมื่อวันจันทร์ นายปิติ ดิษยทัต ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายนโยบายการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) และเลขานุการคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) กล่าวในงาน BOT Policy Briefing เปิดแนวคิดนโยบายแบงก์ชาติ ถึงนโยบายการเงินว่าดอกเบี้ยนโยบายตอนนี้สูงไปหรือไม่ ในขณะที่เศรษฐกิจขยายตัวช้าและเงินเฟ้อติดลบนั้น ธปท.เข้าใจและเห็นใจ หลายคนเจอเศรษฐกิจไม่ดี มีปัญหาปากท้อง ธปท.และ กนง.ไม่ได้นิ่งนอนใจ แต่เกิดจากปัญหาเชิงโครงสร้าง เศรษฐกิจฟื้นตัวไม่ทั่วถึง นโยบายการเงินแก้ไม่ได้ง่ายๆ หลายอย่างต้องใช้ยาและการรักษาที่ตรงต้นตอของปัญหา ซึ่งการลดดอกเบี้ยมีความเสี่ยง ไม่ใช่แค่เงินเฟ้อ แต่อาจมีปัญหายากเกินแก้ เช่นการก่อหนี้เกินตัว รวมทั้งการแสวงหาผลตอบแทนที่สูง (Search for yield)
"ส่วนการที่เงินเฟ้อติดลบแต่ทำไมไม่ลดดอกเบี้ย สาเหตุคือจากปัจจัยเฉพาะที่ไม่ยั่งยืน การลดดอกเบี้ยไม่สะท้อนกำลังซื้อ เพราะเงินเฟ้อลดลงจากปัญหาอุปทาน การผลิตที่คลี่คลายลงในบางสินค้า ประเมินว่าเงินเฟ้อจะติดลบยาวถึงเดือน ก.พ.นี้ และค่อยๆ เพิ่มขึ้นอยู่ที่ 1-2% ซึ่งอยู่ในกรอบภายในสิ้นปี 2567 โดย ธปท.รับฟังจากทุกภาคส่วน จากรัฐบาล กระทรวงการคลัง นายกรัฐมนตรี นักวิเคราะห์ที่ให้มุมมองมีประโยชน์ ซึ่งมีหลายปัจจัยต้องคำนึงทั้งระยะสั้นระยะยาว ได้ทบทวนเสมอว่ามีจุดยืนสอดคล้องอย่างที่ควรจะเป็นหรือไม่ พร้อมทั้งยืนยันไม่มีการประชุม กนง.นัดพิเศษ เพราะตัวเลขเศรษฐกิจที่ออกมาเป็นปกติ ตลาดการเงินทำงานปกติ ไม่มีเหตุผลที่จะเรียกการประชุมนัดพิเศษ"
นายปิติกล่าวต่อว่า อย่างไรก็ดี กนง.พร้อมที่จะปรับนโยบายการเงินให้สอดคล้องกับสถานการณ์ทางเศรษฐกิจ ไม่ได้มีการยึดนโยบายจนไม่มีการปรับเปลี่ยน ซึ่งที่ผ่านมาการปรับขึ้นดอกเบี้ยก็เป็นไปอย่างค่อยเป็นค่อยไป สะท้อนการชั่งน้ำหนักและพิจารณาปัจจัยทั้งหมด ทั้งในระยะสั้นและระยะยาว โดยจุดยืนที่ กนง.อยากให้มีในภาวะการเงินปัจจุบันคือ อยากให้มีการสมดุลและเป็นกลาง ไม่ฉุดรั้งเศรษฐกิจ
"ข้อมูลตอนนี้ที่ชัดคือ แนวโน้มการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยยังไปต่อ แต่สิ่งที่เกิดขึ้นตั้งแต่ปีก่อนและอาจผิดคาดคือ ปัญหาเชิงโครงสร้างที่สร้างข้อจำกัดให้เศรษฐกิจมากกว่าที่คิด ซึ่งต้องกลับมาดูว่ากระทบกับแนวโน้มเศรษฐกิจอย่างไร ซึ่ง กนง.จะเอาข้อมูลทั้งหมดมาพิจารณาว่ามีนัยมากน้อยแค่ไหน อยากให้เข้าใจว่านโยบายการเงินไม่ได้มีอะไรที่ถูกต้อง 100% เพราะมีหลายปัจจัยที่ต้องคำนึงทั้งในระยะสั้นและระยะยาว” นายปิติ กล่าว
ส่วนกรณีมีคำถามว่า ภาพรวมเศรษฐกิจไทยและเงินเฟ้อที่ออกมาไม่ตรงกับที่คาด สะท้อนว่าการดำเนิน นโยบายการเงินมาผิดทางหรือไม่ นายปิติกล่าวว่า ไม่ เพราะ กนง.มองว่าระดับดอกเบี้ยปัจจุบันสามารถรับมือกับความเสี่ยง และความไม่แน่นอนทั้งในด้านบวกและลบได้ โดยเฉพาะการดำเนินนโยบาย 2 ครั้งล่าสุด ที่ขึ้นดอกเบี้ยมาอยู่ที่ระดับ 2.25-2.50% แม้การแจกเงินดิจิทัลวอลเล็ต จะมาช้าหรือเร็ว หรือเศรษฐกิจมีการเปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยสำคัญ อัตราดอกเบี้ยดังกล่าวจะสามารถรองรับความเสี่ยงได้ทั้งสองกรณี และมองว่านโยบายการเงินเป็นพระรองมากกว่าพระเอก
"การขึ้นดอกเบี้ยมาอยู่ที่ระดับ 2.50% ถือเป็นจุดที่พอดี หากเทียบกับต่างประเทศ ที่จำเป็นต้องขึ้นดอกเบี้ยไปเกินกว่าจุดที่เป็นกลางของระบบเศรษฐกิจ เช่นการขึ้นดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) ที่ระดับ 5% ขณะที่อัตราดอกเบี้ยที่แท้จริงอยู่ที่เพียง 2% เท่านั้น โดยหวังให้นโยบายการเงินฉุดรั้งเศรษฐกิจและดึงเงินเฟ้อให้ลงมา" นายปิติกล่าว
นางสาวสุวรรณี เจษฎาศักดิ์ ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายกำกับสถาบันการเงิน ธปท. กล่าวถึงกรณีที่นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและ รมว.การคลัง ให้ความเห็นว่าดอกเบี้ยไทยสูงเกินไปและกำไรธนาคารพาณิชย์สูง ท่ามกลางความเดือดร้อนของประชาชนว่า ประเด็นนี้ ธปท.จะต้องพูดคุยหารือกับธนาคารพาณิชย์อย่างใกล้ชิดขึ้น ซึ่งที่ผ่านมาได้คุยตลอดเวลาและต้องคุยมากยิ่งขึ้น เพื่อดูแลลูกหนี้ให้มากกว่านี้ ต้องทำให้ธนาคารทำมากกว่านี้ เช่น ดูแลคนกลุ่มเปราะบาง หรือคนกลุ่มที่ได้รับผลกระทบจากเงินกู้เป็นคนละกลุ่มกับเงินฝาก
ทั้งนี้ เรื่องกำไรธนาคารพาณิชย์มองว่าเป็นกลไกตลาด ซึ่งยอมรับว่าที่ผ่านมาการส่งผ่านดอกเบี้ยเงินฝากน้อย โดยเฉพาะดอกเบี้ยเงินฝากออมทรัพย์ แต่ปัจจุบันหลายธนาคารเริ่มขยับเงินฝากมากขึ้น ทั้งเงินฝากประจำและเงินฝากออมทรัพย์ดิจิทัล โดยรายได้ดอกเบี้ยสุทธิ (NIM) ช่วง 9 เดือนอยู่ที่ 2.95% สูงขึ้นก่อนโควิด-19 แต่ยังไม่ได้สะท้อนค่าใช้จ่ายอีกหลายรายการในการประกอบธุรกิจ ทำให้ต้องเข้าไปดูว่ามีการไม่มีประสิทธิภาพในการดำเนินธุรกิจหรือไม่ ซึ่งจะสามารถปรับลดส่วนต่างตรงนี้ได้หรือไม่
“ธปท.สนับสนุนให้ธนาคารพาณิชย์เก็บดอกเบี้ยตามความเสี่ยงของลูกค้า ซึ่งส่วนนี้ลูกค้าสามารถเปิดเผยข้อมูล เพื่อประกอบการพิจารณาสินเชื่อได้ รวมทั้งจะเร่งสร้างการแข่งขันให้มากขึ้น” นางสาวสุวรรณีกล่าว
นายสักกะภพ พันธ์ยานุกูล ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายตลาดการเงิน ธปท. กล่าวยืนยันว่า การทำงานของตลาดทุน ตราสารหนี้เอกชนยังทำงานปกติ ส่วนเรื่องความเสี่ยงการชำระคืนจะครบกำหนด 1 ล้านล้านบาทในปีนี้ ส่วนใหญ่ครบกำหนดในไตรมาสแรก มองว่าปัญหาการไม่สามารถชำระคืนได้เป็นปัญหาเฉพาะรายเฉพาะบริษัท แต่มั่นใจไม่ขยายไประบบตลาดการเงิน และผลกระทบหุ้นกู้กลุ่มเสี่ยงต่อกองทุนรวมมีน้อยมาก
"ในส่วนของการพิจารณามาตรการ LTV ในภาคอสังหาริมทรัพย์นั้น ต้องชั่งน้ำหนักระหว่างผู้กู้ ผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ถ้าดูสถานการณ์จะเห็นว่าผู้กู้สัญญาแรกที่ต้องการบ้านหลังแรกจริง มาตรการดังกล่าวไม่ได้กระทบ ในทางกลับกันจะเป็นการส่งเสริมมากกว่า ขณะที่จำนวนการโอนกรรมสิทธิ์สูงกว่าค่าเฉลี่ยในอดีต สินเชื่อผู้ประกอบการปรับตัวดีขึ้น ภาพใหญ่คงต้องมาดู แต่การเห็นสภาพปัจจุบัน มีความจำเป็นต้องดูความสมดุลต่างๆ ด้วย" นายสักกะภพกล่าว
ด้านนายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รมช.การคลัง กล่าวถึงกรณีที่มีกระแสข่าวว่า คณะกรรมการนโยบายโครงการเติมเงิน 1 หมื่นบาท ผ่าน Digital Wallet ที่มีนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและ รมว.การคลังเป็นประธาน เตรียมประชุมเพื่อพิจารณายุติการออกพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) กู้เงิน 5 แสนล้านบาทเพื่อใช้ในโครงการดังกล่าว และหันมาใช้งบประมาณปี 2568 แทน และลดวงเงินเหลือเพียง 3 แสนล้านบาทนั้น ยืนยันว่าไม่เป็นความจริง โดยรัฐบาลยังมีความพยายามจะออก พ.ร.บ.กู้เงิน 5 แสนล้านบาท เพื่อเดินหน้าโครงการ Digital Wallet ต่อไป ส่วนการประชุมคณะกรรมการฯ จะมีขึ้นภายในสัปดาห์นี้
“ได้เห็นข่าวแล้วยืนยันว่าไม่เป็นความจริง ข่าวที่ออกมาไม่ได้ประชุมกับพวกผมแน่ๆ โดยภายในสัปดาห์นี้จะมีการประชุมคณะกรรมการชุดใหญ่ ส่วนจะเป็นวันไหนจะแจ้งอีกครั้ง” นายจุลพันธ์กล่าว
ทั้งนี้ กระแสข่าวคณะกรรมการนโยบายโครงการเติมเงิน 1 หมื่นบาท ผ่าน Digital Wallet เตรียมพิจารณายุติการออก พ.ร.บ.เพื่อกู้เงิน 5 แสนล้านบาท และหันไปใช้งบประมาณปี 2568 แทนนั้น เกิดขึ้นหลังคณะกรรมการกฤษฎีกาได้ส่งความเห็นตอบกลับมายังกระทรวงการคลัง ซึ่งประเด็นสำคัญในหนังสือตอบกลับความเห็นของกฤษฎีกาคือ ต้องเป็นไปตามเงื่อนไขของ พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ.2561 มาตรา 53 มาตรา 57 มาตรา 6 มาตรา 7 และมาตรา 9 ซึ่งต้องมีความจำเป็นดำเนินการโดยเร่งด่วนและต่อเนื่อง เพื่อแก้ไขปัญหาวิกฤตประเทศ โดยไม่อาจตั้งงบประมาณรายจ่ายประจำปีได้ทัน ซึ่งข้อสังเกตดังกล่าวหลายฝ่ายมองว่า จะเป็นเงื่อนไขสำคัญที่จะปิดประตูไม่ให้รัฐบาลเดินหน้าโครงการ Digital Wallet ได้
อย่างไรก็ตาม ก่อนหน้านี้นายจุลพันธ์ยังยืนยันว่า โครงการเติมเงิน 1 หมื่นบาท ผ่าน Digital Wallet จะเดินหน้าตามกรอบเวลาเดิม คือในเดือน พ.ค. 2567 โดยยังไม่มีเหตุผลให้ต้องเลื่อนออกไป.
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
ฉายาสภาเหลี่ยม(จน)ชิน
ถึงคิวสื่อสภา ตั้งฉายา สส. "เหลี่ยม (จน) ชิน" จากการพลิกขั้วรัฐบาลเขี่ย
ตอกฝาโลงกิตติรัตน์ ‘กฤษฎีกา’ชี้ขาดคุณสมบัติ เหตุมีส่วนกำหนดนโยบาย
"กฤษฎีกา" ชี้ชัดสมัย "นายกฯ เศรษฐา" ตั้ง "กิตติรัตน์" เป็นประธานที่ปรึกษาของนายกฯ
ให้กำลังใจจนท.ดูแลปีใหม่ เข้มงวด‘ความปลอดภัย’
นายกฯ ให้กำลังใจตำรวจ-กรมทางหลวง ทำงานหนักช่วงปีใหม่
‘เท้งเต้ง’ไม่ทน! ชงแก้ข้อบังคับ รมต.ตอบกระทู้
ทนไม่ไหว! “หัวหน้าเท้ง” หารือประธานสภาฯ ขอให้แก้ข้อบังคับการประชุม
แม้วพบอันวาร์กลางทะเล เตือนเสือกทุกเรื่องทำพัง!
ปชน.จี้ถามรัฐบาล “ทักษิณ” มีอำนาจจริงปราบแก๊งคอลเซ็นเตอร์หรือไม่
กฤษฎีกาเอกฉันท์โต้งหมดสิทธิ์
กฤษฎีกามติเอกฉันท์ "กิตติรัตน์" ขาดคุณสมบัติ หมดสิทธิ์นั่ง "ประธานบอร์ดแบงก์ชาติ"