“เศรษฐา” ยันดันซอฟต์พาวเวอร์เต็มสูบ ให้ขยายเวลาวีซ่าพิเศษนักท่องเที่ยวมาเรียนมวยไทยจาก 60 วันเป็น 90 วัน พร้อมเล็งขยายเรียนรำไทย-ดนตรี-อาหาร “ปลัด มท.” ยันคิกออฟตลาดนัดแก้หนี้ทุกจังหวัดราบรื่น วันแรกลดหนี้รวม 24 ล้านบาท “กิตติรัตน์-ชาดา” ย้ำแก้หนี้ไม่ใช่ยกหนี้
เมื่อวันอาทิตย์ที่ 14 มกราคม 2567 นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง โพสต์ข้อความในสื่อสังคมออนไลน์ถึงการสนับสนุนซอฟต์พาวเวอร์ของประเทศไทย โดยเฉพาะมวยไทย หลังรัฐบาลมีแผนเปิดตัววีซ่าพิเศษสำหรับนักท่องเที่ยวต่างชาติที่ต้องการเดินทางมาประเทศไทยเพื่อฝึกมวยไทย โดยจะอนุญาตให้อยู่ได้นานถึง 90 วันเพื่อจบหลักสูตร ว่าพร้อมสนับสนุน Soft Power ของไทย ซึ่งการให้วีซ่าพิเศษ 90 วันจากวีซ่าปกติ 60 วันแก่คนที่สนใจจะเข้ามาเรียนมวยไทยเป็นเพียงจุดเริ่มต้นเล็กๆ ของการดำเนินการตามนโยบายของรัฐบาลที่ต้องการกระตุ้นเศรษฐกิจไทยด้วยการใช้ความเป็นไทยส่งออกไกลไปทั่วโลก
“เราไม่ได้คิดให้วีซ่าพิเศษเฉพาะเพียงมวยไทยเท่านั้นนะครับ แต่ Soft Power อื่นๆ อย่าง รำไทย ดนตรีไทย การเรียนทำอาหารไทย ฯลฯ เราก็พร้อมสนับสนุน และกำลังเตรียมพิจารณาให้วีซ่าพิเศษเป็นลำดับต่อไปด้วยครับ”
วันเดียวกัน ยังถือเป็นวันแรกของการคิกออฟตลาดนัดแก้หนี้พร้อมกันทุกจังหวัด โดยนายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย (มท.) กล่าวว่า ภาพรวมทั่วประเทศมีหน่วยงานเข้าร่วมบูรณาการจัดกิจกรรม 1,435 หน่วยงาน มีลูกหนี้เข้าร่วมกิจกรรม 5,076 คน และมีเจ้าหนี้เข้าร่วมกิจกรรม 1,663 คน จำนวนข้อพิพาทที่ลูกหนี้และเจ้าหนี้สมัครใจเข้ารับการไกล่เกลี่ยและประนอมข้อพิพาท 1,157 กรณี สามารถตกลงไกล่เกลี่ยและประนอมข้อพิพาทสำเร็จ 1,040 กรณี มูลหนี้ก่อนการไกล่เกลี่ยและประนอมข้อพิพาท 126.297 ล้านบาท มูลหนี้หลังการไกล่เกลี่ยและประนอมข้อพิพาท 102.218 ล้านบาท มูลหนี้ลดลง 24 ล้านบาท ทั้งนี้ มท.ได้สั่งการไปยังผู้ว่าราชการจังหวัดทุกจังหวัดเพิ่มเติมการจัดตลาดนัดแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบเป็นเดือนละอย่างน้อย 4 ครั้ง เพื่อบูรณาการหน่วยงานที่เกี่ยวข้องไปให้คำปรึกษาพี่น้องประชาชนอย่างทั่วถึง ซึ่งเป็นกิจกรรมเพิ่มเติมจากการรับลงทะเบียนและไกล่เกลี่ยหนี้ที่ดำเนินการอยู่ก่อนแล้ว และจากการประเมินภาพรวมในวันนี้นับว่าเกิดประโยชน์สำหรับพี่น้องประชาชนเป็นอย่างยิ่ง
“วันนี้ได้ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมการดำเนินงานตลาดนัดแก้หนี้ จังหวัดนครนายก ที่หอประชุมอำเภอเมืองนครนายก เพื่อให้กำลังใจเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงาน และพบปะพูดคุยสอบถามพี่น้องประชาชนผู้ลงทะเบียนแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบกับภาครัฐที่เดินทางมาขอรับคำปรึกษา พบว่าภาพรวมเป็นไปด้วยความเรียบร้อย และยังได้รับรายงานว่าทุกพื้นที่ทั่วประเทศในวันนี้การจัดมหกรรมตลาดนัดแก้หนี้ นำโดยท่านผู้ว่าราชการจังหวัดทุกจังหวัดเป็นไปด้วยความเรียบร้อยดี” นายสุทธิพงษ์กล่าว
นายสุทธิพงษ์กล่าวเพิ่มเติมว่า ขอให้ผู้ว่าราชการจังหวัด นายอำเภอ ผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ผู้นำท้องถิ่นท้องที่ ตลอดจนภาคีเครือข่ายทั้ง 7 ภาคีทุกพื้นที่ทั่วประเทศ ได้ช่วยกันประชาสัมพันธ์สร้างการรับรู้การรับลงทะเบียนแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบให้กับพี่น้องประชาชนอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้พี่น้องประชาชนที่ประสบปัญหาได้ลงทะเบียน ทั้งในระบบออนไลน์ https://debt.dopa.go.th และที่ศูนย์อำนวยการแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบ ทั้งที่ว่าการอำเภอ ศูนย์ดำรงธรรมจังหวัดทั่วประเทศ และสำนักงานเขต 50 เขตใน กทม. ช่วยกันทำให้ประชาชนเข้าถึงการแก้ปัญหาอย่างทั่วถึง อีกทั้งเป็นตัวกลางในการประสานงานสถาบันการเงินหรือธนาคารของรัฐ เพื่อช่วยปรับเปลี่ยนจากเป็นหนี้นอกระบบมาเป็นหนี้ในระบบ ทำให้พี่น้องประชาชนได้รับสิทธิในการพิจารณาชำระหนี้แบบดอกเบี้ยต่ำ ตามที่กฎหมายกำหนด อันจะนำไปสู่ความถูกต้อง ความสงบเรียบร้อยของสังคม ตามพันธกิจบำบัดทุกข์ บำรุงสุขของกระทรวงมหาดไทย
ปลัด มท.ยังกล่าวถึงการลงทะเบียนแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบเป็นวันที่ 45 นับตั้งแต่เปิดลงทะเบียนเมื่อวันที่ 1 ธ.ค.2566 ว่า จากข้อมูลของสำนักการสอบสวนและนิติการ กรมการปกครอง เมื่อเวลา 15.00 น. มีมูลหนี้รวม 8,189.870 ล้านบาท ประชาชนลงทะเบียนแล้ว 127,822 ราย เป็นการลงทะเบียนผ่านระบบออนไลน์ 110,049 ราย และการลงทะเบียน ณ ศูนย์อำนวยการแก้ไขหนี้นอกระบบ 17,773 ราย รวมจำนวนเจ้าหนี้ 92,287 ราย มีพื้นที่/จังหวัดที่มีผู้ลงทะเบียนมากที่สุด 5 ลำดับแรก 1.กทม.ยังคงมากที่สุด มีผู้ลงทะเบียน 10,628 ราย เจ้าหนี้ 6,697 ราย มูลหนี้ 741.968 ล้านบาท 2.นครศรีธรรมราช มีผู้ลงทะเบียน 5,223 ราย เจ้าหนี้ 4,509 ราย มูลหนี้ 338.532 ล้านบาท 3.นครราชสีมา มีผู้ลงทะเบียน 4,769 ราย เจ้าหนี้ 3,093 ราย มูลหนี้ 354.865 ล้านบาท 4.สงขลามีผู้ลงทะเบียน 4,751 ราย เจ้าหนี้ 3,522 ราย มูลหนี้ 306.444 ล้านบาท 5.ขอนแก่น มีผู้ลงทะเบียน 3,325 ราย เจ้าหนี้ 2,693 ราย มูลหนี้ 263.723 ล้านบาท
ขณะที่จังหวัดที่มีผู้ลงทะเบียนน้อยที่สุด 5 ลำดับแรก ได้แก่ 1.แม่ฮ่องสอน มีผู้ลงทะเบียน 196 ราย เจ้าหนี้ 168 ราย มูลหนี้ 10.813 ล้านบาท 2.ระนอง มีผู้ลงทะเบียน 270 ราย เจ้าหนี้ 184 ราย มูลหนี้ 18.411 ล้านบาท 3.สมุทรสงคราม มีผู้ลงทะเบียน 334 ราย เจ้าหนี้ 242 ราย มูลหนี้ 10.692 ล้านบาท 4.ตราด มีผู้ลงทะเบียน 413 ราย เจ้าหนี้ 304 ราย มูลหนี้ 17.561 ล้านบาท และ 5.สิงห์บุรี มีผู้ลงทะเบียน 447 ราย เจ้าหนี้ 303 ราย มูลหนี้ 21.644 ล้านบาท
“สำหรับข้อมูลการไกล่เกลี่ยหนี้นอกระบบทั่วประเทศพบว่า มีลูกหนี้เข้าสู่กระบวนการไกล่เกลี่ยแล้ว 8,780 ราย ไกล่เกลี่ยสำเร็จ 3,193 ราย มูลหนี้ของลูกหนี้ก่อนไกล่เกลี่ย 702.638 ล้านบาท หลังการไกล่เกลี่ย 367.176 ล้านบาท มูลหนี้ลดลง 335.461 ล้านบาท และจังหวัดที่นำลูกหนี้เข้าสู่กระบวนการไกล่เกลี่ยได้มากที่สุดยังคงเป็นนครสวรรค์เช่นเดิม โดยมีลูกหนี้ที่เข้าสู่กระบวนการไกล่เกลี่ย 2,913 ราย ไกล่เกลี่ยสำเร็จ 75 ราย มูลหนี้ของลูกหนี้ก่อนไกล่เกลี่ย 225.086 ล้านบาท หลังการไกล่เกลี่ย 5.010 ล้านบาท ทำให้มูลหนี้ของพี่น้องประชาชนในนครสวรรค์ลดลง 220.076 ล้านบาท สำหรับกรณีที่ไม่ได้รับความร่วมมือกระทั่งไม่สามารถดำเนินการไกล่เกลี่ยได้ เจ้าหน้าที่จะดำเนินการส่งสำนวนแจ้งความต่อพนักงานสอบสวนของสถานีตำรวจในพื้นที่ มีการดำเนินคดีไปแล้ว 46 คดี ใน 19 จังหวัด” นายสุทธิพงษ์กล่าว
ส่วนที่ห้องประชุม เทศบาลนครนนทบุรี นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง ประธานที่ปรึกษาของนายกรัฐมนตรี พร้อมนายสุธี ทองแย้ม ผู้ว่าฯ นนทบุรี และคณะ ร่วมงานตลาดนัดแก้หนี้ โดยนายกิตติรัตน์กล่าวว่า การเป็นลูกหนี้ต้องใช้หนี้ เป็นหน้าที่ของลูกหนี้ตามกฎหมาย ถ้าเป็นลูกหนี้แล้วจะให้รัฐบาลไปหาเงินมาช่วยเป็นการเข้าใจผิด รัฐบาลมีหน้าที่ดูแลเจ้าหนี้และลูกหนี้ โดยเป็นคนกลางให้ทั้งคู่เดินไปได้ รัฐบาลไม่ได้ช่วยเหลืออุดหนุนหรือให้เปล่า เป็นการเข้าใจผิด
ส่วนนายชาดา ไทยเศรษฐ์ รมช.มหาดไทย เป็นประธานในพิธีเปิดกิจกรรมตลาดนัดแก้หนี้จังหวัดอุทัยธานี พร้อมทำพิธีมอบเงินกู้ยืมจากธนาคารให้ประชาชนที่เข้าร่วมโครงการ โดยกล่าวช่วงหนึ่งว่า ปัจจุบันคนไทยเป็นหนี้นอกระบบกันมากขึ้นจากการบริหารเงินในชีวิตผิดพลาด ซึ่งโครงการนี้หวังจะเป็นสะพานช่วยปลดหนี้ให้กับประชาชนที่กำลังแบกรับภาระหนี้สินนอกระบบอยู่ แต่อยากบอกกับทุกคนว่าอย่ากู้หนี้ มาใช้หนี้ เพราะมันจะไม่มีวันที่ชีวิตจะหมดหนี้ลงได้ อยากให้เริ่มต้นบริหารการชำระหนี้ใหม่ที่ดีกว่าเดิม
“ต้องยอมรับก่อนว่า เมื่อเราเป็นหนี้ยังไงเราก็ต้องใช้หนี้ แต่การใช้หนี้ตรงนี้ก็ต้องพอกับกำลังส่งของเราด้วยเช่นกัน เข้าใจว่าไม่มีใครอยากที่จะเป็นหนี้ และเข้าใจทั้งลูกหนี้ เจ้าหนี้ทุกคนด้วยเช่นกัน ซึ่งหวังว่าการขับเคลื่อนโครงการตลาดนัดแก้หนี้ที่จัดขึ้นในครั้งนี้ จะสามารถช่วยเหลือประชาชนให้สามารถปลดหนี้สินได้” นายชาดากล่าว.
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
บิ๊กอ้วนตอกยํ้า แจก‘เงินดิจิทัล’ ‘อนุสรณ์’เตือน
“ภูมิธรรม” ยันรัฐบาลเร่งแจกเงินดิจิทัลวอลเล็ต หวังกระตุ้นเศรษฐกิจ
อิ๊งค์หาเสียงฟุ้งพท.มาคนจนรวยแน่
"หัวหน้าอิ๊งค์” ลุยนครพนม ช่วย “อนุชิต” ผู้สมัครนายก อบจ.เพื่อไทยหาเสียง
รพ.ตำรวจอึมครึม เวชระเบียนชั้น14
เส้นตายพุธนี้! แพทยสภาสอบหมอช่วย "ทักษิณ" อึมครึม "แพทย์ใหญ่ รพ.ตำรวจ" ปัดตอบส่งเอกสารหรือยัง
‘จ่าเอ็ม’เครียด อุบ‘ผู้มีบุญคุณ’ ตร.หิ้วฝากขัง!
ตำรวจเค้นสอบ “จ่าเอ็ม” ตลอดคืน ยังให้การไม่เป็นประโยชน์คดียิงอดีต
จับตา!เคาะ‘กาสิโน’ คลังชงเข้าครม.ไฟเขียว/นักวิชาการชี้ผลประโยชน์ทับซ้อน
จับตา “คลัง” เล็งชงเอนเตอร์เทนเมนต์คอมเพล็กซ์เข้า ครม.จันทร์นี้หรือไม่ หลัง
ชีพจรลงเท้า นายกฯ ลุยบึงบอระเพ็ด เร่งแก้น้ำแล้ง น้ำท่วมพรุ่งนี้
นายกฯเร่งแก้น้ำแล้ง น้ำท่วม บ่ายพรุ่งนี้ลงพื้นที่บึงบอระเพ็ด