ยื่นสอบก๊วนอุ้มนช. ‘วัชระ’ร้องป.ป.ช.ฟัน‘ทวี-ราชทัณฑ์-หมอ’/แนะทุเลาจำคุก

กรุงเทพฯ ๐ "วัชระ" ยื่น ป.ป.ช.สอบกราวรูด ทวี-อธิบดีกรมราชทัณฑ์-หมอใหญ่ ร่วมอุ้ม น.ช.ทักษิณ นอนชั้น 14 ไม่มีกำหนด ปชป.แนะย้อนเกล็ด ใช้วิอาญา ม.246 (2) ให้ศาลสั่งทุเลาการจำคุกไว้ก่อน หายป่วยแล้วเอาเข้าคุก  "รุ้ง" โวยลั่นสองมาตรฐาน ตอนสามนิ้วติดคุกถูกถ่ายรูป อ้างเป็นคดีที่คนสนใจ

เมื่อวันที่ 13 มกราคม 2567 นายวัชระ เพชรทอง อดีต สส.บัญชีรายชื่อ  พรรคประชาธิปัตย์ เปิดเผยภายหลังไปยื่นหนังสือถึงนายนิวัติไชย เกษมมงคล  เลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ เพื่อขอให้ตรวจสอบเจ้าหน้าที่กรมราชทัณฑ์ใช้สรรพนามเรียกนักโทษชายทักษิณ ชินวัตร ผิด ว่าการออกข่าวกรมราชทัณฑ์โดยใช้สรรพนามไม่ถูกต้องตามกฎหมาย กฎระเบียบและข้อบังคับที่เกี่ยวข้องของทางราชการ มีลักษณะเอื้อประโยชน์และอวยนักโทษที่มีฐานะ ไม่ปฏิบัติตามหลักนิติรัฐและนิติธรรม ไม่เสมอภาคกับนักโทษทั่วประเทศ จำนวน 280,000 คน

ส่อว่าเจ้าหน้าที่ของรัฐปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบหรือทุจริต ขอให้สำนักงาน ป.ป.ช.ดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ และผิดประมวลจริยธรรมของข้าราชการและตามมาตรฐานทางจริยธรรมของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญและผู้ดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระ รวมทั้งผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน และหัวหน้าหน่วยงานธุรการของศาลรัฐธรรมนูญและองค์กรอิสระ พ.ศ.2561 ดังนี้

1.ขอให้ตั้งคณะอนุกรรมการไต่สวน นายสหการณ์ เพ็ชรนรินทร์ อธิบดีกรมราชทัณฑ์ กับพวก กรณีการออกข่าวกรมราชทัณฑ์ใช้สรรพนามเรียก น.ช.ทักษิณ ชินวัตร ไม่ถูกต้องตามกฎหมายและกรณีที่เกี่ยวข้อง เช่น การอนุมัติให้ น.ช.ทักษิณไปรักษาตัวที่โรงพยาบาลตำรวจโดยไม่ถูกต้องตามระเบียบขั้นตอนของกรมราชทัณฑ์ โดยมีกรณีนายวิษณุ เครืองาม เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรีและรักษาการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม เข้าไปเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ  ในวันที่ 22 สิงหาคม 2566 และกรณีกรมราชทัณฑ์ตอบรับว่าจะส่งเอกสารและคลิปภาพวันที่ 22-23 สิงหาคม 2566 ให้คณะกรรมาธิการการตำรวจ  สภาผู้แทนราษฎร กรณี น.ช.ทักษิณให้สอบสวนเอาผิดว่าเหตุใดยังไม่ส่ง และขอให้ออกคำสั่งคุ้มครองคลิปวิดีโอดังกล่าวไม่ให้ถูกทำลาย

2.ขอให้ตั้งคณะอนุกรรมการไต่สวน แพทย์โรงพยาบาลกรมราชทัณฑ์ และโรงพยาบาลตำรวจทุกราย และแพทย์ใหญ่โรงพยาบาลตำรวจชื่อ พล.ต.ท.ทวีศิลป์ เวชวิทารณ์ (พตร.) กรณี น.ช.ทักษิณ ชินวัตร ต้องรักษาอาการป่วยตั้งแต่วันที่ 22 สิงหาคม 2566 จนถึงปัจจุบัน (เกิน 120 วัน) ส่อว่าใช้วิชาชีพแพทย์กรอกข้อความอันเป็นเท็จต่อราชการหรือไม่ ให้ตรวจทุกฉบับตั้งแต่ 22 สิงหาคม 2566 ถึงวันนี้

3.ขอให้ตั้งคณะอนุกรรมการไต่สวน พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ว่าเหตุใดไม่ดำเนินการตั้งคณะกรรมการตรวจสอบ น.ช.ทักษิณ ชินวัตร ตามคำร้องเรียนลงวันที่ 20 ธันวาคม 2566 เจ็บป่วยจริงหรือไม่  ทำไมระยะเวลาการรักษาเกิน 120 วันยังไม่หาย เป็นอะไร ทำไมอยู่นานถึง 120 วัน เอื้อประโยชน์ให้กับ น.ช.ทักษิณหรือไม่ ทั้งนี้ โดยขอให้กันข้าราชการกรมราชทัณฑ์ (พัศดี/ผู้คุม) แพทย์พยาบาลโรงพยาบาลกรมราชทัณฑ์ และโรงพยาบาลตำรวจที่ให้การเป็นประโยชน์ไว้เป็นพยานทุกคน

หยุดความอหังการนักโทษเทวดา

ด้านนายเชาว์ มีขวด อดีตรองโฆษกพรรคประชาธิปัตย์ โพสต์เฟซบุ๊ก CHAO MEEKHUAD เรื่อง หยุดความอหังการนักโทษเทวดาชั้น 14 ด้วยอำนาจศาลฎีกาฯ สั่งทุเลาโทษจำคุกตาม วิอาญา มาตรา 246 มีเนื้อหาระบุว่า ปัญหาการรับโทษจำคุกของนักโทษชายทักษิณ ชินวัตร ที่ได้รับการปฏิบัติจากเจ้าหน้าที่รัฐเยี่ยงเทวดา สร้างความสั่นคลอนต่อระบบยุติธรรมไทยอย่างไม่เคยปรากฏมาก่อน ล่าสุดหลังผ่าน 120 วัน กรมราชทัณฑ์ชี้แจงว่า “ขณะนี้นายทักษิณ ชินวัตร ได้ออกไปรับการรักษาตัวยังโรงพยาบาลตำรวจเกินระยะเวลา 120 วัน โดยเรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานครได้ดำเนินการประสานไปยังโรงพยาบาลตำรวจเพื่อรับทราบถึงอาการป่วยของนายทักษิณ ซึ่งแพทย์ได้รายงานอาการเจ็บป่วยในหลายประการที่ต้องเฝ้าระวังโดยแจ้งความเห็นว่า ผู้ป่วยอยู่ระหว่างการรักษาของแพทย์เฉพาะทาง และต้องดูแลอย่างใกล้ชิดถึงอาการป่วย เพื่อให้พ้นจากสภาวะอันตรายแก่ชีวิต”

นายเชาว์ระบุต่อว่า ฟังได้แค่ขำๆ  เพราะไม่มีใครเขาเชื่อ เช่นเดียวกับ กมธ.ตำรวจ สภาฯ ไปตรวจงานที่โรงพยาบาลตำรวจ มีการส่งตัวแทนคือ นายชัยชนะ เดชเดโช ประธาน กมธ. เป็นตัวแทนขึ้นไปชั้น 14 ที่นักโทษชายทักษิณ ชินวัตร พักรักษาตัวอยู่ แต่ไม่ได้เห็นแม้แต่เงาของนักโทษชายทักษิณ จนอดขำไม่ได้เช่นกัน เพราะภารกิจนี้ของ กมธ. ไม่สมเหตุสมผลมาตั้งแต่แรก

จึงถูกตั้งข้อสงสัยว่า สถานการณ์แบบนี้รู้อยู่แล้วหรือไม่ว่า สิ่งที่ได้จากภารกิจนี้จึงมีเพียงแค่โหนกระแสนักโทษชายทักษิณให้ได้เป็นข่าวเท่านั้น ขณะที่บางคนคิดไปไกลถึงขั้นว่า มีใครกำลังเคาะกะลา เรียกเรตติ้ง สร้างราคาให้ตัวเอง เพื่อเพิ่มอำนาจต่อรองประโยชน์อะไรอยู่หรือเปล่า จึงเป็นห้วงเวลาแห่งความสิ้นหวังต่อระบบยุติธรรมไทย แต่ละองค์กรเละเทะไปหมดในยุคนักโทษชายครองเมือง ผมเคยทำจดหมายเปิดผนึกถึง ป.ป.ช. และอัยการสูงสุด ในฐานะโจทก์แต่ละคดีทั้งสามคดี

ในฐานะผู้มีส่วนได้ส่วนเสียโดยตรงให้ใช้สิทธิยื่นคำร้องต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ให้ศาลไต่สวนพฤติการณ์การจำคุกของนักโทษชายทักษิณ ว่าถูกต้องตามบทบัญญัติของกฎหมาย หรือไม่ เพราะเชื่อว่าไม่ได้ป่วยจริง แต่ ป.ป.ช.และอัยการสูงสุดก็ไม่ขยับ แต่ก็มีคนเคยนำประเด็นนี้ไปยื่นคำร้องต่อศาลฎีกาโดยตรง แต่ศาลยกคำร้อง อ้างเหตุเป็นอำนาจของราชทัณฑ์ ภายหลังจากที่กรมราชฑัณฑ์แถลงหลังนอนอยู่ รพ. ตำรวจเกิน 120 วันของนักโทษชายทักษิณว่า "อยู่ระหว่างการรักษาของแพทย์เฉพาะทาง และต้องดูแลอย่างใกล้ชิดถึงอาการป่วย เพื่อให้พ้นจากสภาวะอันตรายแก่ชีวิต" 

ทุเลาการบังคับให้จำคุกไว้ก่อน

ผมจึงเห็นว่ากรณีเจ็บป่วยของนักโทษชายทักษิณจึงน่าจะเข้าหลักเกณฑ์เรื่องการทุเลาโทษจำคุกตาม ป.วิ อ. มาตรา 246 (2) บัญญัตว่า เมื่อเกรงว่าจำเลยจะถึงอันตรายแก่ชีวิตถ้าต้องจำคุก ให้ศาลมีอำนาจสั่งให้ทุเลาการบังคับให้จำคุกไว้ก่อนจนกว่าเหตุอันควรทุเลาจะหมดไป ดังนั้น เมื่อเป็นการทุเลาโทษจำคุก จึงถือว่านักโทษชายทักษิณยังไม่ได้รับโทษจำคุก จนกว่าจะหายป่วย และส่งตัวเข้าเรือนจำตามปกติจึงจะเริ่มรับโทษจำคุกใหม่ การพักโทษที่นักโทษชายทักษิณกำลังจะได้รับก็ยังไม่เริ่มนับเช่นเดียวกัน

"ผู้เกี่ยวข้องควรเริ่มดำเนินการทันที เพราะหากไม่ทำอะไรเลย เท่ากับตอนนี้นับถอยหลังรอวันนักโทษเทวดาพ้นคุกแบบชิลๆ เนื่องจากเหลืออีกเพียงเดือนเศษ ก็จะเข้าหลักเกณฑ์ขอพักโทษแล้ว หากปล่อยให้ถึงวันนั้น ระบบยุติธรรมไทยคงเสื่อมถอยมากในสายตาของประชาชน และผมเชื่อเลยว่าเมื่อไหร่ก็ตามที่นายทักษิณพ้นคุก สุขภาพของเขาจะแข็งแรงขึ้นมาทันที รวมถึงจะกลับมามีบทบาททางการเมืองอย่างเข้มข้น คนที่เป็นนายกฯ อยู่ในปัจจุบัน ก็จะเหลือค่าแค่นอมินีเท่านั้น ไม่แตกต่างจากในอดีต ผมขอย้ำว่า คนทำผิดต้องติดคุก คนทำร้ายชาติบ้านเมืองต้องไม่ได้ดี" นายเชาว์ระบุทิ้งท้าย

เช่นเดียวกับ นายชาญชัย อิสระเสนารักษ์ อดีต สส.นครนายก พรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) กล่าวว่า ได้ตรวจดูและศึกษาข้อกฎหมาย ป.วิอาญา ภาค 6 การบังคับตามคำพิพากษา และค่าธรรมเนียม ในหมวด 1 ของการบังคับตามคำพิพากษา มาตรา 246 ที่ระบุว่า ‘เมื่อจำเลย สามี ภริยา ญาติของจำเลย พนักงานอัยการ ผู้บัญชาการเรือนจำ หรือเจ้าพนักงานผู้มีหน้าที่จัดการตามหมายจำคุก ร้องขอ หรือเมื่อศาลเห็นสมควร ศาลมีอำนาจสั่งให้ทุเลาการบังคับให้จำคุกไว้ก่อน จนกว่าเหตุอันควรทุเลาจะหมดไป ในกรณีต่อไปนี้ (1) เมื่อจำเลยวิกลจริต (2) เมื่อเกรงว่าจำเลยจะถึงอันตรายแก่ชีวิตถ้าต้องจำคุก (3) ถ้าจำเลยมีครรภ์ และ (4) ถ้าจำเลยคลอดบุตรแล้วยังไม่ถึงสามปี และจำเลยต้องเลี้ยงดูบุตรนั้น

นายชาญชัยกล่าวต่อว่า ข้อเท็จจริงที่ปรากฏตามคำชี้แจงของกรมราชทัณฑ์เมื่อวันที่ 11 ม.ค.67 ที่สรุปสาระสำคัญได้คือ การที่กรมราชทัณฑ์ได้ส่งตัวนายทักษิณ ชินวัตร ออกจากเรือนจำมารักษาที่ รพ.ตำรวจเกินกว่า 120 วัน ตั้งแต่วันที่ 23 ส.ค.2566 โดยเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ ได้ประสาน รพ.ตำรวจ ซึ่งแพทย์ได้รายงานอาการเจ็บป่วยที่ต้องเฝ้าระวัง อยู่ระหว่างการรักษาของแพทย์เฉพาะทางและต้องดูแลอย่างใกล้ชิดถึงอาการป่วย เพื่อให้พ้นจากสภาวะอันตรายแก่ชีวิต ซึ่งตรงกับข้อกฎหมาย ป.วิอาญา ม.246 (2) (ที่ระบุว่า เมื่อเกรงว่าจำเลยจะถึงอันตรายแก่ชีวิตถ้าต้องจำคุก) ซึ่งอธิบดีกรมราชทัณฑ์ได้พิจารณาความเห็นของแพทย์ผู้ทำการรักษาที่พิจารณาแล้วเห็นว่า ยังต้องอยู่ดูแลรักษาอย่างใกล้ชิด จึงพิจารณาเห็นชอบเมื่อวันที่ 8 ม.ค.2567 ให้นายทักษิณอยู่รักษาตัวต่อยัง รพ.ตำรวจ เพราะยังมีอาการเจ็บป่วยที่ต้องเฝ้าระวังอย่างใกล้ชิดโดยแพทย์ผู้ทำการรักษาเฉพาะทาง และหากเกิดภาวะแทรกซ้อน หรืออาการที่อาจเป็นอันตรายถึงแก่ชีวิต จะได้รักษาทันท่วงที  ทางกรมราชทัณฑ์ได้ปฏิบัติตามกฎกระทรวงยุติธรรม จึงรายงานให้รัฐมนตรียุติธรรมทราบ ที่เป็นไปตามกฎกระทรวงกรณีการส่งตัวผู้ต้องขังไปรักษาตัวนอกเรือนจำ พ.ศ.2563 ซึ่งขัดต่อกฎหมาย ป.วิอาญา ม.246 (2) ทั้งที่กรมราชทัณฑ์ต้องทำรายงานขออนุญาตต่อศาล รวมทั้งต้องทำเรื่องขอให้ศาลทุเลาโทษจำคุกโดยให้รักษาตัวให้หายจากอาการป่วยเสียก่อน แล้วค่อยกลับมารับโทษจำคุกตามคำพิพากษาของศาลต่อไป

'รุ้ง' โวยสองมาตรฐาน

“กรณีอ้างเหตุเจ็บป่วยไม่ยอมเข้ารับโทษในเรือนจำ น่าจะเข้าหลักเกณฑ์เรื่องการทุเลาโทษจำคุกตาม ป.วิ อาญา ม.246 (2) ดังนั้น เมื่อเป็นการทุเลาโทษจำคุกจึงถือว่า น.ช.ทักษิณยังไม่ได้รับโทษจำคุก จนกว่าจะหายป่วย และส่งตัวเข้าเรือนจำตามปกติจึงจะเริ่มรับโทษจำคุกใหม่ การพักโทษก็ยังไม่เริ่มนับเช่นเดียวกัน ศาลยังไม่ได้สั่งให้ทุเลาโทษจำคุก แต่กลับไปทุเลากันเอง ถามว่าเรื่องนี้ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ อย่างไร กรณีดังกล่าวนี้ ผมเห็นว่าเป็นการทำความผิดกฎหมาย ป.วิอาญา ม.246 และขัดต่อคำพิพากษาของศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของนักการเมือง ซึ่งผมจะนำเรื่องนี้ยื่นฟ้องร้องต่อศาลยุติธรรม และรวมถึงผู้กระทำความผิดอื่นที่ไม่ใช่เจ้าหน้าที่รัฐที่ร่วมกระทำความผิด ซึ่งเป็นทั้งตัวการและผู้สนับสนุนให้เกิดการกระทำความผิด” นายชาญชัยกล่าว

วันเดียวกันนี้ น.ส.ปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล หรือ "รุ้ง" นักเคลื่อนไหวทางการเมืองไทย กลุ่มแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม โพสต์เฟซบุ๊กว่า "ตอนที่เราอยู่ในเรือนจำ รอบที่มีการอดอาหาร เจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์นำข้อมูลอาการของเราเผยแพร่ต่อสาธารณะหลายโอกาสทั้งที่ไม่ได้มีการขอความยินยอมด้วยซ้ำ ทั้งมีการถ่ายภาพไว้ทุกครั้งที่มีการตรวจด้วย พอเรามารู้ทีหลังว่ามีการเผยแพร่ (แต่ไม่ได้แพร่ภาพนะคะ) เราจำได้ว่าเราถาม จนท.ราชทัณฑ์ว่าทำไมมีการเผยแพร่โดยไม่บอกเราเลย

เขาให้คำตอบว่า เพราะเป็นคดีที่มีความสนใจของสาธารณะสูง เลยต้องเปิดเผยได้

เลยจะบอกเฉยๆ ว่า นายทักษิณก็มีคนสนใจทั้งประเทศ อาจจะยิ่งกว่าพวกเรานักกิจกรรมด้วยซ้ำนะคะ

ไม่สองมาตรฐานยังไงก่อน

คือมันดีมากแล้วแหละที่ราชทัณฑ์จะดูแลผู้ที่แก่และป่วยอย่างดี แต่ไม่ได้ทำแบบนี้กับทุกคนไง มันเหลือจะเชื่อสำหรับคนที่เคยเข้าไปอยู่ในเรือนจำจริงๆ นะ เป็นไปได้ยังไงที่เข้าไปเรือนจำ อยู่ยังไม่ถึง 6 ชั่วโมงด้วยซ้ำแล้วได้ออกมานอนที่ รพ.ยาวๆ ในขณะที่คนป่วยคนอื่นก็อยู่ตามมีตามเกิดไป

การที่คนจะมีคำถามต่ออาการป่วยของนายทักษิณนั้นไม่แปลกเลย".

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

‘ยิ่งลักษณ์’ กลับคุก ‘บิ๊กเสื้อแดง’ รู้มา! ว่าไปตามราชทัณฑ์ไม่ใช้สิทธิพิเศษ

“เลขาฯ แสวง” ยันเดินหน้าคดี “ทักษิณ-เพื่อไทย” ล้มล้างการปกครองต่อ เพราะใช้กฎหมายคนละฉบับกับศาล รธน. "จตุพร" ลั่นยังไม่จบ! ต้องดูสถานการณ์เป็นตอนๆ ไป