ไทยติดเชื้อ 2,940 ราย ดับ 30 คน นายกฯ บี้แก้ปัญหาระบบติดตามนักท่องเที่ยวต่างชาติ "อนุทิน" สั่งดำเนินคดีนักเดินทางแหกกักตัว ยันปรับมาตรการรับสถานการณ์ "โอมิครอน" กรมวิทย์เผยผลตรวจรอบ 4 หนุ่มอิสราเอลเป็นลบ ติดเชื้อแต่หายแล้ว กทม.สั่งทุกหน่วยในสังกัดงดจัดปีใหม่-สวดมนต์ข้ามปีป้องระบาดหนัก แอสตร้าฯ การันตีบูสเตอร์เข็ม 3 สู้โอมิครอนได้
เมื่อวันที่ 23 ธันวาคม ศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือ ศบค. รายงานสถานการณ์การแพร่ระบาดในประเทศไทยว่า พบผู้ติดเชื้อรายใหม่ 2,940 ราย เป็นการติดเชื้อในประเทศ 2,830 ราย มาจากระบบเฝ้าระวังและระบบบริการ 2,705 ราย, มาจากการค้นหาเชิงรุก 125 ราย, มาจากเรือนจำ 53 ราย, เป็นผู้เดินทางมาจากต่างประเทศ 57 ราย ทำให้มียอดผู้ติดเชื้อสะสมยืนยันตั้งแต่ปี 2563 จำนวน 2,202,001 ราย หายป่วยเพิ่มขึ้น 2,798 ราย ทำให้มียอดหายป่วยสะสมตั้งแต่ปี 2563 จำนวน 2,142,186 ราย อยู่ระหว่างรักษา 38,314 ราย อาการหนัก 854 ราย ใส่ท่อช่วยหายใจ 227 ราย เสียชีวิตเพิ่มขึ้น 30 ราย เป็นชาย 15 ราย หญิง 15 ราย พบผู้เสียชีวิตมากสุดอยู่ใน จ.ราชบุรี 7 ราย ทำให้มียอดผู้เสียชีวิตสะสมตั้งแต่ปี 2563 จำนวน 21,501 ราย ส่วนยอดผู้ได้รับวัคซีนของประเทศไทย วันที่ 22 ธ.ค. มีการฉีดวัคซีนเพิ่มเติม 463,737 โดส รวมยอดฉีดวัคซีนสะสมตั้งแต่วันที่ 28 ก.พ.ทั้งสิ้น 101,079,615 โดส
สำหรับ 10 จังหวัดที่มีผู้ติดเชื้อสูงสุดวันที่ 23 ธ.ค. ได้แก่ กทม. 432 ราย, นครศรีธรรมราช 227 ราย, ชลบุรี 182 ราย, สมุทรปราการ 171 ราย, บึงกาฬ 95 ราย, สงขลา 86 ราย, ศรีสะเกษ 79 ราย, เชียงใหม่ 68 ราย, ปัตตานี 65 ราย, สุราษฎร์ธานี 60 ราย
พล.อ.สุพจน์ มาลานิยม เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์ปฏิบัติการศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศปก.ศบค.) กล่าวว่า ศบค.ได้มีการผ่อนคลายมาตรการให้เอกชนสามารถจัดกิจกรรมเคาต์ดาวน์ในช่วงเทศกาลปีใหม่ได้ โดยผู้จัดงานจะต้องมีการขออนุญาตล่วงหน้า ซึ่งทางกรุงเทพมหานคร (กทม.) หรือจังหวัดต่างๆ จะต้องเป็นผู้ลงไปกำกับดูแล รวมถึงตรวจสอบเรื่องมาตรการ ให้เป็นไปตามที่กระทรวงสาธารณสุขนั้นวางไว้อย่างเคร่งครัด เพื่อความปลอดภัยของประชาชน ส่วนการยกเลิกการจัดกิจกรรมการจัดงานปีใหม่และกิจกรรมสวดมนต์ข้ามปีที่ลานคนเมืองในส่วนของ กทม.นั้น ถือเป็นเรื่องของความไม่พร้อมในสถานที่ โดยไม่เกี่ยวข้องกับนโยบายของ ศบค.
น.ส.ไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า จากที่รัฐบาลโดย ศบค.ได้ปรับมาตรการเข้าราชอาณาจักรชั่วคราว หลังมีการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 สายพันธุ์โอมิครอนในหลายประเทศ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม ได้มอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งด้านสาธารณสุข คมนาคม การท่องเที่ยว การต่างประเทศ เร่งชี้แจงแนวทางดำเนินการของรัฐบาลให้ภาคธุรกิจเอกชน นักท่องเที่ยวทั้งในและต่างประเทศให้เกิดความเข้าใจแนวทางการควบคุมโรคของประเทศไทย รวมทั้งได้กำชับให้ทุกหน่วยงานเตรียมระบบงาน ให้มีความพร้อมรับกับมาตรการที่จะเข้มงวดขึ้น โดยเฉพาะในส่วนของการคัดกรองและติดตามผู้ที่ได้รับอนุมัติให้เดินทางเข้าประเทศไทย เช่น กลุ่มที่เข้าประเทศรูปแบบ Test & Go จำนวน 2 แสนคน รวมถึงกลุ่มที่เข้าประเทศด้วยรูปแบบภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์ที่ยังเปิดให้เข้าตามปกติ
นอกจากนี้ นายกฯ ได้รับทราบถึงประเด็นปัญหาเรื่องของระบบติดตามนักท่องเที่ยว ที่ผู้ประกอบการโรงแรมได้สะท้อนระหว่างการประชุมชี้แจงของการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) วันที่ 22 ธ.ค.64 ที่ผ่านมา ว่าขณะนี้มีนักท่องเที่ยวบางส่วนที่ไม่สามารถดาวน์โหลดแอปพลิเคชันหมอชนะได้ เนื่องจากมีปัญหาทางเทคนิคระหว่างระบบของหมอชนะกับระบบไทยแลนด์พาส ซึ่งในส่วนนี้นายกรัฐมนตรีได้กำชับหน่วยงานที่ดูแลด้านระบบให้ร่วมกันแก้ไขปัญหานี้ หรือหาแนวทางรองรับให้เร็วที่สุด
รองโฆษกประจำสำนักนายกฯ เปิดเผยว่า นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.สาธารณสุข ได้รับรายงานว่า บริษัท แอสตร้าเซนเนก้าฯ ได้เผยแพร่ข้อมูลการศึกษาจากห้องปฏิบัติการของมหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ด บ่งชี้ว่าการฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 ของแอสตร้าฯ เป็นวัคซีนกระตุ้นเข็มที่ 3 สามารถเพิ่มระดับภูมิคุ้มกันต่อโควิด-19 สายพันธุ์โอมิครอนได้
ที่กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) นายอนุทินกล่าวถึงกรณีที่เจ้าหน้าที่ไทยพบตัวนักเดินทางชาวอิสราเอลที่ไม่ยอมกักตัวตามมาตรการว่า ต้องดำเนินคดี เรื่องนี้ ได้สืบสวนแล้วพบว่านักเดินทางคนนี้ไม่ยอมรอผลตรวจ แล้วเดินทางไปตามสถานที่ต่างๆ เท่ากับได้ละเมิดกฎหมายในประเทศไทยแล้ว โทษเป็นอย่างไรว่าไปตามนั้น ในกรณีแบบนี้ หากติดเชื้อโควิด ทางการจะรักษาให้ตามสิทธิ์ประกันสุขภาพที่เขาซื้อไว้ก่อนเดินทางเข้ามา เมื่อรักษาหายต้องรับโทษที่ก่อไว้ แต่ถ้าไม่ติดเชื้อต้องถูกลงโทษอยู่ดี เพราะได้ทำผิดกฎหมายประเทศไทย ในส่วนของโรงแรมก็ต้องรับผิดชอบ ทำไมปล่อยให้ออกมาทั้งที่ยังไม่ได้รับผล เราต้องมาดูมาตรการว่ามีช่องโหว่ตรงไหน แล้วรีบอุด อย่ามองว่าเป็นเรื่องเล็ก เพราะนี่คือเคสเดียว แต่ถ้ามี 50 เคส รับรองว่าวุ่นวายมหาศาล
สำหรับการควบคุมโรคระบาด สธ. กำชับให้ทุกคนยึดถือแนวทางชื่อว่า DUKE ซึ่ง D คือ Determination = ความตั้งใจรักษาวินัยของตัวเอง, U คือ Universal Prevention คือ การป้องกันโรคในชีวิตประจำวัน, K = Knowledge คือ การรู้จักโรค การมีความรู้ในการรับมือกับโรค และ E = Emerge หรือความพยายามแก้ปัญหา แต่ต้องไม่จมกับปัญหา ต้องรู้ทางแก้อย่างแจ่มแจ้งชัดเจน บุคลากรการแพทย์ น่าจะเข้าใจหลักการเหล่านี้ดีทุกคน สำหรับประชาชนที่ไปร่วมงานต่างๆ ต้องปฏิบัติตามมาตรการ เพื่อรักษาชีวิตท่าน คนรอบข้าง ไปจนถึงเป็นการช่วยเหลือประเทศ
"คนไทยที่มีแผนจะเดินทางไปต่างประเทศ ขอย้ำว่า ถ้าระหว่างที่ท่านพำนักอยู่ประเทศนั้น แล้วประเทศดังกล่าวมีการระบาดมากๆ ทางการไทยก็ต้องปรับมาตรการ การเดินทางกลับบ้านของท่าน อาจมีขั้นตอนต่างๆ เพิ่มเข้ามา ก็ต้องขอให้เข้าใจรัฐเช่นกัน จะเห็นว่าที่ผ่านมาเราปรับมาตรการคัดกรอง ตรวจเชื้อ กักตัวกันอยู่เรื่อย ให้ทันการระบาดของโรค" นายอนุทินระบุ
นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ชี้แจงผลตรวจการติดเชื้อในรายนักท่องเที่ยวชายชาวอิสราเอล ที่หนีออกจากโรงแรมในระบบ Test & Go และไปเที่ยวพัทยารวมถึงสมุย ซึ่งผลตรวจหาเชื้อของ 2 โรงพยาบาลในขณะหนีออกไปเที่ยว พบว่าเป็นลบ แต่การตรวจเชื้อจากโรงแรมที่พักที่เป็นคู่สัญญาในครั้งแรกพบว่าติดเชื้อโควิดสายพันธุ์โอมิครอน ว่า การตรวจเชื้อในช่วงเวลาที่ชายชาวอิสราเอลหนีเที่ยว คาดว่าเป็นการติดเชื้อในช่วงขาลงแล้ว เพราะปริมาณเชื้อหรือไซเคิลไทม์สูงประมาณ 30 ของวงรอบการปั่นเพิ่มจำนวนเชื้อ โอกาสการแพร่เชื้อไปสู่ผู้อื่นก็มีน้อยด้วย ทั้งนี้ ได้ส่งเชื้อไปตรวจซ้ำ ซึ่งเป็นครั้งที่ 4 ที่ศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ จังหวัดสุราษฎร์ธานี พบให้ผลเป็นลบ เป็นเครื่องยืนยันว่าชายคนดังกล่าวติดเชื้อโควิดสายพันธุ์โอมิครอน แต่หายแล้ว
นายเกรียงยศ สุดลาภา รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (กทม.) เปิดเผยว่า เพื่อป้องกันการระบาดของโรคโควิด-19 สายพันธุ์โอมิครอน พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ได้สั่งให้ยกเลิกการจัดงานปีใหม่ กทม. และการสวดมนต์ข้ามปีประจำปี 2565 ณ ลานคนเมือง ศาลาว่าการ กทม. รวมถึงหน่วยงานในสังกัดทั้งหมด อย่างไรก็ดี ในส่วนของภาคเอกชนที่ประสงค์จัดงาน กทม. ขอความร่วมมือให้คุมเข้มมาตรการป้องกันอย่างเคร่งครัด ทั้ง Covid Free Setting การคัดกรอง การทำความสะอาดสถานที่ การเว้นระยะห่าง การจัดให้มีสถานที่กักตัวสำหรับผู้ติดเชื้อ ผู้ร่วมงานต้องมีผลการฉีดวัคซีน หรือผลตรวจ ATK ก่อนร่วมงาน 72 ชั่วโมง และลดจำนวนผู้เข้าร่วมงาน สำหรับประชาชน กทม. ขอความร่วมมือให้งดเว้นการเข้าไปในพื้นที่เสี่ยง ซึ่งมีการรวมตัวกันของคนจำนวนมาก
นายอิทธิพล คุณปลื้ม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม กล่าวถึงการจัดกิจกรรมสวดมนต์ข้ามปีว่า ได้ย้ำให้สำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดทั่วประเทศประสานงานกับจังหวัดและสาธารณสุขพื้นที่อย่างใกล้ชิด คำนึงถึงมาตรการของแต่ละพื้นที่เป็นหลัก หากจัดงานได้ ต้องยึดการจัดพื้นที่ตามหลักโควิดฟรีเซตติง หากใกล้ช่วงจัดงานแล้วจำนวนผู้ติดเชื้อเพิ่มมากขึ้น ได้จัดเตรียมการถ่ายทอดสดทั้งทางสถานีโทรทัศน์และทางออนไลน์ผ่านเว็บไซต์กรมการศาสนาไว้รองรับ ส่วนการงานจัดมหรสพและงานรื่นเริงในช่วงปีใหม่ ทั้งงานบุญท้องถิ่น งานประเพณีประจำจังหวัด ได้ประสานงานกับทุกจังหวัดขอความร่วมมือปฏิบัติตามมาตรการอย่างเคร่งครัดเพื่อป้องกันการเกิดคลัสเตอร์ใหม่.
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
แฉระบบเด็กฝาก ทำลายองค์กรตร. ดับฝัน‘ดาวฤกษ์’
เช็ก 41 รายชื่อแต่งตั้งนายพลสีกากี ระดับรอง ผบ.ตร.-ผบช.
ยธ.เมินแจงกมธ. ปมนักโทษเทวดา รพ.ตำรวจชั้น14
ชั้น 14 น่าพิศวง "โรม" กวักมือเรียก “ทักษิณ” ไปสภา เข้าแจง กมธ.มั่นคงฯ
แจกเฟส2เอื้อเลือกอบจ. เตือนร้องถอดถอนครม.
นายกฯ โชว์วิชั่น Forbes ยันไทยสงบ สันติ หวังแม้รัฐบาลเปลี่ยน
ฟ้อง9บิ๊กมท.ทุจริตที่เขากระโดง
เรื่องถึงศาล "ณฐพร" ฟ้องกราวรูด "บิ๊ก ขรก.มหาดไทย"
ลุ้นศาลรับคดีล้มล้าง ตุลาการถก6ประเด็น‘ทักษิณ-พท.’/ดันแก้ประชามติไม่รอ180วัน
"ทักษิณ-พท." ระทึก! 9 ตุลาการศาล รธน.ยืนยันนัดประชุมวาระพิเศษ 22 พ.ย.นี้
สั่งประหารชีวิต ‘แอม ไซยาไนด์’ คุกผัวเก่า-ทนาย
ศาลพิพากษาประหารชีวิต "แอม ไซยาไนด์" วางยาฆ่าก้อย พร้อมชดใช้ 2.3 ล้าน