เคลียร์ผู้ว่าแบงก์ชาติ นายกฯเปิดทำเนียบฯจูนปมดอกเบี้ย/ชงช่วยSME

“เศรษฐา” เชิญผู้ว่าฯ ธปท.จิบกาแฟ 10 ม.ค. ห้องทำงานที่ทำเนียบฯ คุยปมร้อนขึ้นดอกเบี้ยสวนทางเงินเฟ้อ “คลัง” เตรียมเรียกแบงก์รัฐถกเข้มลดดอกเบี้ย ชี้  "ออมสิน" เด้งรับ นำร่องลดอัตราดอกเบี้ยอุ้มรายย่อยทันที "กกร." นัดถกปมดอกเบี้ยแพงพุธนี้ หอการค้าฯ ชี้ ศก.ปี  67 โตต่อเนื่อง เสนอรัฐคุม ดบ.ช่วยเอสเอ็มอีฝ่าวิกฤต "จตุพร" ซัด "เสี่ยนิด" อย่าบริหาร ศก.ผ่านโซเชียล

ที่ทำเนียบรัฐบาล วันที่ 9 ม.ค. นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ให้สัมภาษณ์หลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ถึงกรณีมีความเห็นต่างจากนายเศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ในการขึ้นอัตราดอกเบี้ยว่า คนอยู่บ้านเดียวกันเห็นไม่ตรงกันก็หลายอย่าง ตนว่าอยู่ในสังคมเดียวกันเชื่อว่าหลายๆ ท่านมีจุดประสงค์เดียวกันคือ อยากให้ชีวิตความเป็นอยู่ของพี่น้องประชาชนดีขึ้น แต่เรื่องของการปฏิบัติงานหรือเรื่องนโยบายต่างๆ อาจมีความเห็นไม่ตรงกันบ้างเป็นธรรมดา แต่ก็ต้องมีการพูดคุยกัน ซึ่งตนก็ได้นัดไปเมื่อวันที่ 8 ม.ค. ซึ่งท่านก็ตอบรับโดยดีไม่ได้มีเรื่องอะไร เป็นเรื่องที่เห็นไม่ตรงกัน

 “แน่นอนไม่ปฏิเสธว่าเห็นตรงกันทุกเรื่อง ผมเชื่อว่าท่านก็เห็นตรงกับผมบางเรื่อง ผมก็เห็นตรงกับท่านบางเรื่อง แต่บางเรื่องที่เห็นไม่ตรงกันก็ต้องมาพูดคุยกันและเหตุการณ์ก็เปลี่ยนไปเยอะ ก็เป็นหน้าที่ผมที่จะต้องโน้มน้าวความคิดเห็นของท่านว่าเหตุการณ์มันเปลี่ยนไป ตรงนี้มองว่าเป็นการอยู่ร่วมกันเป็นธรรมดาก็ต้องมีการพูดคุยกัน” นายเศรษฐากล่าว

ถามถึงกรณีเอกชนเริ่มเลื่อนจ่ายหุ้นกู้ที่ครบกำหนด จะส่งผลต่อภาวะเศรษฐกิจหรือไม่อย่างไร นายเศรษฐากล่าวว่า เดี๋ยววันที่ 10 ม.ค.จะมีการพูดคุยกับ รมช.การคลัง และผู้ว่าฯ ธปท.ในเวลา 13.30 น. ซึ่งจะมีการพูดคุยกันหลายเรื่อง เป็นเรื่องที่เราต้องให้ความสำคัญและหยิบยกข้อมูลมานำเสนอกัน

ช่วงบ่าย นายเศรษฐาให้สัมภาษณ์อีกครั้งถึงการเรียกผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) มาหารือว่า อย่าใช้คำว่าเรียกดีกว่า เป็นการเชิญท่านมาพูดคุยกัน เพราะคำพูดเล็กๆ น้อยๆ พวกนี้อาจดูไม่ดี

"ผมเชิญท่านมาพูดคุยกัน ซึ่งผู้สื่อข่าวทั้งหลายเคยให้คำแนะนำว่า อย่างที่ผมเคยพูดจะเชิญมาพูดคุยกันทุกเดือน แต่เดือนที่แล้วไม่ได้มาแต่ก็ได้คุยโทรศัพท์กัน วันที่ 10 ม.ค.ก็เชิญมาพูดคุยกันธรรมดา กินกาแฟกันที่ห้องทำงาน ทำเนียบรัฐบาล” นายกฯ กล่าว

ขณะที่นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รมช.การคลัง กล่าวว่า  เตรียมจะเรียกสมาคมสถาบันการเงินของรัฐ (แบงก์รัฐ) มาหารือ โดยยอมรับว่ากระทรวงการคลังมองเห็นถึงปัญหาอัตราดอกเบี้ยที่อยู่ในระดับสูง ซึ่งเป็นภาระของประชาชน  และที่ผ่านมาแบงก์รัฐก็ได้มีการตรึงอัตราดอกเบี้ยมามากพอสมควร และกระทรวงการคลังเองก็ได้มีการสั่งการไปยังแบงก์รัฐทั้งหมด ให้มีการตรึงอัตราดอกเบี้ยให้นานและมากที่สุด เพราะรู้ว่าประชาชน เกษตรกร ผู้กู้รายย่อยเดือดร้อน

นายจุลพันธ์กล่าวว่า แบงก์รัฐมีภารกิจทางสังคมและภารกิจที่ได้รับมอบหมายจากรัฐบาล เช่น การพักหนี้ การแก้ไขปัญหาหนี้สิน ซึ่งทั้งธนาคารออมสิน และธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ก็มีภาระที่จะต้องเข้าไปช่วยเหลือตามกลไกของรัฐ ซึ่งส่วนนี้ทำให้แบงก์รัฐไม่สามารถดำเนินการในรูปแบบธุรกิจได้เป็นปกติ 100%  และมาตรการแก้หนี้นั้นส่วนหนึ่งก็อาจจะไหลเข้ามาอยู่กับแบงก์รัฐ ที่จะต้องเข้าไปรองรับลูกหนี้กลุ่มนี้ พร้อมทั้งให้ความช่วยเหลือในเรื่องของอัตราดอกเบี้ยที่เหมาะสม และหนี้เหล่านี้ก็ถือว่าเป็นกลุ่มเสี่ยง แต่แบงก์รัฐก็มีภาระหน้าที่ที่จะต้องดำเนินการตามพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) จัดตั้ง

 “ที่ว่าแบงก์รัฐบางแห่งจะมีกำไรเยอะ ก็คือสถานการณ์เดียวกัน แต่ตั้งแต่ปลายปีที่ผ่านมาแบงก์รัฐพยายามตรึงอัตราดอกเบี้ยมาโดยตลอด และถามว่าแบงก์รัฐจะอยู่อย่างไรในตลาดแบบนี้ โดยในช่วงต้นปีธนาคารออมสินก็ปรับเพิ่มอัตราดอกเบี้ยไปเพียง 0.25 สตางค์ ขณะที่ ธ.ก.ส. ปรับขึ้นดอกเบี้ย MLR เท่านั้น แต่ดอกเบี้ยส่วนอื่นก็พยายามตรึงอยู่และตรึงให้ถึงที่สุด ส่วนกำไรที่สูงนั้น ท้ายที่สุดแล้วก็ต้องโยนเม็ดเงินกำไรส่วนหนึ่งกลับมาที่รัฐเป็นเงินหลวง เพื่อใช้ทำภารกิจตามนโยบายรัฐบาลต่อไป” นายจุลพันธ์กล่าว

รมช.การคลังกล่าวว่า ที่มีการชี้แจงว่าที่ผ่านมา ธปท.ไม่ได้มีการขึ้นดอกเบี้ยเร็วและแรงเกินไปนั้น ส่วนหนึ่งอยากให้ย้อนกลับไปดูกำไรของธนาคารพาณิชย์ด้วย ขณะที่ชาวบ้านเดือดร้อน ตรงนี้ความเห็นของรัฐบาลกรณีที่ ธปท.บอกว่ามีการปรับอัตราดอกเบี้ยขึ้นไปรอนั้น มองว่าคำนี้ไม่สมเหตุสมผล

ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 9 ม.ค. 2567 ธนาคารออมสินได้ประกาศลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ลูกค้ารายย่อย (MRR) หลังจากตรึงอัตราดอกเบี้ยมาตรฐานไว้ในระดับต่ำจนถึงสิ้นปีที่ผ่านมา โดยประกาศดอกเบี้ย MRR จากเดิม 6.995% ลดลงเหลือ 6.845% มีผลตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป เพื่อช่วยเหลือบรรเทาภาระทางการเงินของประชาชนในช่วงระยะนี้ไปจนกว่าจะมีการเปลี่ยนแปลง นับเป็นอัตราดอกเบี้ย MRR ที่ต่ำที่สุดในระบบธนาคาร ณ เวลานี้

ด้านนายสนั่น อังอุบลกุล ประธานกรรมการหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย กล่าวว่า สถานการณ์เงินเฟ้อที่ติดลบต่อเนื่องในปัจจุบัน ทำให้มีกระแสพูดถึงเกี่ยวกับการขึ้นอัตราดอกเบี้ยของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ในช่วงที่ผ่านมา ซึ่งมุมมองวิชาการถือเป็นความพยายามของ ธปท.ในการสกัดเงินเฟ้อที่สูง ตลอดจนรักษาเสถียรภาพของค่าเงินบาทที่อ่อนค่ามากในช่วงปีที่แล้ว รวมทั้งเป็นการลดช่องว่างของอัตราดอกเบี้ยระหว่างไทยกับสหรัฐฯ ไม่ให้ห่างกันมากจนเกินไป ซึ่งต้องยอมรับว่าส่งผลกระทบโดยตรงกับต้นทุนกู้ยืมของผู้ประกอบการและประชาชน ทั้งนี้หลายฝ่ายยังคงติดตามสัญญาณของธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) ว่าจะปรับลดอัตราดอกเบี้ยในช่วงใด และหวังว่า ธปท.จะไม่มีการปรับขึ้นดอกเบี้ยแล้ว

นายสนั่นกล่าวว่า กรณีที่ Fed มีการปรับลดดอกเบี้ยลงหลังจากนี้ ธปท.คงจะมีการปรับลดดอกเบี้ยให้เหมาะสมกับสถานการณ์ของเศรษฐกิจไทยต่อไป ด้านตัวเลขเงินเฟ้อทั่วไปที่ติดลบต่อเนื่อง 3 เดือน น่าจะมาจากการปรับลดเชิงเทคนิคตามนโยบายการลดภาระค่าของชีพด้านพลังงานของภาครัฐ ทั้งค่ากระแสไฟฟ้าและราคาน้ำมันเชื้อเพลิง ประกอบกับราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกปรับตัวลดลง แต่ในส่วนของอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานยังมีการปรับขึ้นเล็กน้อย แสดงให้เห็นว่าไทยยังคงพอมีกำลังซื้ออยู่บ้าง โดยเงินเฟ้อทั่วไปปี 2566 อยู่ที่ 1.23% ขณะที่นโยบายการคลังที่รัฐบาลกำลังดำเนินการ ทั้งการยกเว้นวีซ่าเพื่อกระตุ้นการท่องเที่ยว โครงการ Easy E-Receipt รวมถึงการผลักดันโครงการ Digital Wallet จะมีส่วนช่วยกระตุ้นการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ โดยคาดว่าอัตราเงินเฟ้อทั่วไปปีนี้น่าจะเพิ่มขึ้นถึงระดับ 2.0-2.5% ภายใต้กรอบเป้าหมายของกระทรวงการคลังและ ธปท.ที่ 1-3%

"ในมุมของหอการค้าฯ ยังเห็นว่า หากธนาคารสามารถปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงจะช่วยลดภาระประชาชน ลดต้นทุนผู้ประกอบการ และส่งเสริมให้เข้าถึงแหล่งเงินทุนได้สะดวก จะเป็นส่วนสำคัญในการเร่งให้เศรษฐกิจไทยฟื้นตัวได้รวดเร็วยิ่งขึ้น โดยในวันพุธ (10 ม.ค.) กกร.คงจะมีการหารือในประเด็นดังกล่าวร่วมกันต่อไป" นายสนั่นกล่าว

ประธานสภาหอการค้าฯ กล่าวว่า นโยบายการคลังเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านโครงการ Easy E-Receipt จะช่วยให้เกิดเม็ดเงินหมุนเวียนในระบบ 4-6 หมื่นล้านบาท และหากโครงการดิจิทัลวอลเล็ต สามารถดำเนินการได้จริงตามแผน คาดว่าจะมีส่วนช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจได้อีก 1.0-1.5% ซึ่งหอการค้าฯ หวังว่าเศรษฐกิจไทยใน Q1/67 จะสามารถเติบโตได้อย่างน้อย 3% เมื่อเทียบกับ Q1/66 ที่อยู่ในระดับ 2.7%

"สำหรับการส่งออก หอการค้าฯ คาดว่าจะเติบโตขึ้นจากปีที่แล้ว แม้ว่าสถานการณ์ต่างประเทศทั้ง Geopolitics ความขัดแย้งและสงครามระหว่างประเทศที่ยังไม่มีข้อสรุป แต่สินค้าส่งออกหลายประเภทของไทยยังมีโอกาสขยายตลาดได้ เช่น อาหารและผลไม้  ชิ้นส่วนยานยนต์ ยางพารา มันสำปะหลัง เครื่องใช้ไฟฟ้า  และเครื่องอิเล็กทรอนิกส์ หอการค้าไทยและมหาวิทยาลัยหอการค้าไทยจึงประเมินเศรษฐกิจไทยปี 2567 ว่า  GDP น่าจะขยายตัวได้ 3.2% (ยังไม่รวมผลของโครงการดิจิทัลวอลเล็ต) การส่งออกพลิกกลับมาโตได้ที่ 2-3% อัตราเงินเฟ้อทั่วไปเพิ่มสูงขึ้นอยู่ในระดับ 2%  และหนี้ครัวเรือนลดลงมาอยู่ที่ 87.8% ต่อ GDP" ประธานสภาหอการค้าฯ กล่าว

วันเดียวกัน นายจตุพร พรหมพันธุ์ วิทยากรคณะหลอมรวมประชาชน เฟซบุ๊กไลฟ์ตำหนินายเศรษฐาว่า นายกฯ มักนิยมบริหารประเทศผ่านการโพสต์ข้อความ  โดยล่าสุดต่อว่า ธปท.ปรับขึ้นดอกเบี้ยสวนทางเงินเฟ้อติดลบ ซึ่งเป็นการบริหารงานที่ไม่เหมาะสม และไม่ใช่วิธีการบริหารราชการของคนเป็นนายกฯ

 “ปัญหามีว่าอยากจะปลดผู้ว่าฯ ธปท.ใช่หรือไม่ ก็ปลดเลยสิ แต่มันมีที่ไหนที่การบริหารราชการด้วยข้อความผ่านเอ็กซ์ ที่ไม่เห็นด้วยกับหน่วยงานราชการ แทนที่นายกฯ จะใช้ความเป็นผู้นำที่มีวุฒิภาวะ ด้วยการแลกเปลี่ยนเหตุผลที่ก่อเกิดปัญหา ซึ่งธนาคารชาติก็จะมีเหตุผลให้ในมิติใด สิ่งสำคัญที่สุดวิธีการทวีตข้อความผ่านเอ็กซ์ ยังไม่เข็ดกับการแสดงความเห็นกรณีอิสราเอลกับฮามาสอีกเหรอ” นายจตุพรกล่าว.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง