กฤษฎีกาปัดไฟเขียวดิจิทัล

“เศรษฐา” รับกฤษฎีกาไม่ได้บอกทำได้หรือไม่ได้เรื่องกู้มาแจก แนะให้ฟังความเห็นทุกฝ่ายก่อน ยังเสียงแข็งไทม์ไลน์แจกหมื่นตามเดิม “จุลพันธ์” พลิ้วบอกกฤษฎีกาไม่มีหน้าที่ตอบ Yes หรือ No “ปกรณ์” ระบุชัดไม่ได้ไฟเขียว แต่ย้ำเรื่องมาตรา 53 ของ กม.วินัยการเงินการคลัง สว.ชี้ซ้ำรอยยุคเงินกู้ “มาร์ค-ปู” ถูกศาลรัฐธรรมนูญตีตก แนะระดมสมองตีความเศรษฐกิจไทยวิกฤตหรือไม่ “สมชาย” เตือนเดินหน้าอาจเปลี่ยนนายกฯ

เมื่อวันอังคารที่ 9 มกราคม 2567 ยังคงมีความต่อเนื่องหลังจากคณะกรรมการกฤษฎีกาให้ความเห็น ในโครงการดิจิทัลวอลเล็ตที่รัฐบาลได้สอบถามไป โดยก่อนประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวเพียงสั้นๆ ว่า เดี๋ยวออกมา

นายชัย วัชรงค์ โฆษกประจำสำนักนายกฯ ระบุว่า ยืนยันรัฐบาลพร้อมดำเนินการตามกฎหมาย รับฟังความเห็นจากผู้รู้ ผู้มีประสบการณ์ และประชาชนอย่างทั่วถึง และอยากให้ทุกฝ่ายมั่นใจ เข้าใจในแนวทางการทำงานของรัฐบาล ที่ต้องการกระตุ้นเศรษฐกิจให้เกิดการทำงานเต็มระบบ พัฒนาเต็มสูบ เต็มศักยภาพ

 “รัฐบาลมุ่งมั่นดำเนินการเพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดแก่เศรษฐกิจของประเทศ ต้องการนำประเทศออกจากหล่มทางเศรษฐกิจ ขอขอบคุณการวิพากษ์วิจารณ์ที่เป็นไปอย่างสร้างสรรค์ เพื่อร่วมกันเดินหน้าพัฒนาชาติบ้านเมือง" นายชัยกล่าว

ต่อมานายเศรษฐาให้สัมภาษณ์หลังประชุม ครม.ว่า ที่ประชุมยังไม่มีการพิจารณาถึงร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) กู้เงินเพื่อมาใช้ในโครงการเงินดิจิทัลวอลเล็ต หลังจากคณะกรรมการกฤษฎีกาส่งความเห็นมา เพราะต้องเสนอผ่านคณะกรรมการขับเคลื่อนนโยบายเงินดิจิทัล 10,000 บาท ผ่านดิจิทัลวอลเล็ตที่ตนเองเป็นประธานก่อน และนายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รมช.การคลังกำลังดูเวลาอยู่

เมื่อถามว่า ความเห็นของกฤษฎีกาส่วนหนึ่งพูดถึงความจำเป็นเร่งด่วนในการกู้เงิน ที่ต้องเป็นไปตามระเบียบการเงินการคลัง นายเศรษฐากล่าวว่า ก็ต้องรับฟังความคิดเห็นของทุกคน ซึ่งต้องพูดคุยกัน

ถามต่อว่า มองว่าความเห็นของกฤษฎีกามีความชัดเจนหรือไม่ว่าทำได้หรือไม่ได้ นายกฯ กล่าวว่า อยากฟังความเห็นของทุกๆ ฝ่ายด้วย เพราะกฤษฎีกาบอกมาให้ฟังความเห็นของทุกๆ ฝ่าย ทั้งของนายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ  (สศช.) ผู้เชี่ยวชาญ และคณะกรรมการดิจิทัลวอลเล็ตทุกคน ต้องให้ความสำคัญกับทุกเสียง

เมื่อถามว่า กฤษฎีกาไม่ได้มีความชัดเจนว่าทำได้หรือไม่ได้ใช่หรือไม่ในความรู้สึกของนายกฯ นายเศรษฐากล่าวว่า กฤษฎีกาไม่ได้บอกว่าทำได้หรือทำไม่ได้ เป็นเรื่องของดุลพินิจและต้องรับฟังความคิดเห็น ถึงบอกว่าต้องมีการประชุมคณะกรรมการ

ถามอีกว่า นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ สส.บัญชีรายชื่อ  พรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) ออกมาเรียกร้องให้รัฐบาลเปิดคำถามและคำตอบของกฤษฎีกา นายเศรษฐากล่าวว่า เมื่อถึงเวลาสมควรก็จะเปิดเผย

เมื่อถามว่า โดยส่วนตัวนายกฯ มั่นใจว่าเรื่องนี้จะเดินไปต่อได้ใช่หรือไม่ นายเศรษฐากล่าวว่า "ไปต่อได้แน่นอนครับ ชัดเจนครับ และต้องขอประชุมคณะกรรมการดิจิทัลก่อน และจะตอบเนื้อหาทีหลัง"

กฤษฎีกาไม่ได้บอก Yes หรือ No

ถามย้ำว่า จะทันเดือน พ.ค.ปีนี้หรือไม่ นายเศรษฐา กล่าวว่า ณ เวลานี้ยังยืนยันตามไทม์ไลน์เดิม แต่ต้องขอประชุมก่อน ผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการมีข้อสงสัยหรือข้อเสนอแนะอะไรอีกหรือไม่ อย่างที่บอกนัยสำคัญของกฤษฎีกาคือ ต้องฟังความคิดเห็นของทุกๆ ฝ่าย

เมื่อถามว่า ยืนยันการออกเป็น พ.ร.บ.จะทำได้หรือไม่ นายเศรษฐากล่าวว่า ยืนยันถ้าออกก็ออกเป็น พ.ร.บ. และเมื่อถามว่า ความเห็นของกฤษฎีกาไม่ได้ทำให้หนักใจอะไรใช่หรือไม่ นายเศรษฐากล่าวว่า ทุกเรื่องมีความหนักใจหมด เพราะต้องดูเรื่องของความถูกต้อง ความครบถ้วนในแง่การรับฟังความคิดเห็นของทุกฝ่าย

ขณะที่นายจุลพันธ์กล่าวว่า ที่กฤษฎีกาตอบกลับมานั้นเป็นการส่งความเห็นตามข้อกฎหมาย ซึ่งรู้กันดีอยู่แล้วว่ากฤษฎีกาไม่ได้มีหน้าที่ตอบว่ากู้ได้หรือไม่ได้ แต่เป็นเพียงการส่งความเห็นและข้อเสนอแนะต่างๆ ซึ่งรัฐบาลพร้อมรับฟังและนำไปปฏิบัติตามให้เป็นไปตามข้อกฎหมายที่กำหนด

 “กฤษฎีกาไม่ได้มีหน้าที่ตอบว่า Yes หรือ No เขาแค่ส่งความเห็นตามข้อกฎหมาย แต่ถามว่าเขาห้ามทำหรือไม่ มันก็ไม่ใช่ แต่เขาก็ไม่ได้มีหน้าที่อนุมัติ สิ่งที่กฤษฎีกาบอกมาเป็นในเรื่องของตัวข้อเสนอแนะต่างๆ ที่เรารับฟัง ที่รัฐบาลต้องไปปฏิบัติตามเพื่อให้เป็นไปตามข้อกฎหมาย โดยหลังจากนี้ก็จะเป็นหน้าที่ของรัฐบาล ที่ต้องไปทำให้เป็นไปตามกรอบกฎหมายกำหนด ต้องทำให้เข้าเงื่อนไข” นายจุลพันธ์กล่าว

สำหรับกระบวนการรับฟังความคิดเห็นต่างๆ ตามข้อสังเกตของกฤษฎีกานั้น ยังไม่ได้มีการหารือในส่วนนี้ โดยต้องรอการหารือในที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายโครงการเติมเงิน 10,000 บาทก่อน หลังจากนั้นหากคณะกรรมการมีคำสั่งอะไรออกมาค่อยว่ากันอีกครั้ง ส่วนระหว่างนี้อยากให้รอฟังความชัดเจนก่อน

นายจุลพันธ์กล่าวอีกว่า ในส่วนข้อสังเกตเรื่องการกู้เงินต้องเป็นไปตามความจำเป็น เช่นเศรษฐกิจวิกฤตนั้น ยอมรับว่าเป็นส่วนหนึ่งของข้อสังเกตที่กฤษฎีกาให้มา ซึ่งรัฐบาลต้องชี้ให้เห็นว่ามันวิกฤต

ผู้สื่อข่าวถามว่า อะไรจะเป็นตัวบ่งชี้ว่าเศรษฐกิจวิกฤิ นายจุลพันธ์ถามย้อนว่า "แล้วอะไรเป็นตัวบ่งชี้ว่าเศรษฐกิจไม่วิกฤต"                           

กฤษฎีกายันไม่มีไฟเขียว

ด้านนายปกรณ์ นิลประพันธ์ เลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา กล่าวว่า กฤษฎีกาได้ส่งคำตอบเรื่องการออก พ.ร.บ.กู้เงิน 5 แสนล้านบาทเพื่อใช้ในโครงการดิจิทัลวอลเล็ต 1 หมื่นบาทมาให้รัฐบาลแล้ว ส่วนรายละเอียดคงต้องไปเข้าในคณะกรรมการนโยบายโครงการเติมเงิน  10,000 บาทก่อน เพราะเรื่องนี้เป็นเรื่องลับ อาจต้องนำไปให้กระทรวงการคลังเป็นคนชี้แจงในรายละเอียด แต่ว่าไม่มีคำว่าไฟเขียว 

ผู้สื่อข่าวถามว่า คำตอบของกฤษฎีกาตอบในแง่ของข้อกฎหมายใช่หรือไม่ นายปกรณ์กล่าวว่า ตอบเป็นข้อกฎหมายอย่างเดียวเลย เพราะกฤษฎีกาเป็นนักกฎหมาย แต่เงื่อนไขตามกฎหมายที่กำหนดไว้ในมาตรา 53 พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลัง พ.ศ. 2561 มีอะไรบ้าง ซึ่งในเงื่อนไขในนั้นจะบอกว่าเป็นกรณีที่มีความจำเป็นเร่งด่วน ต้องแก้ไขปัญหาอย่างต่อเนื่องเพื่อแก้ไขวิกฤตของประเทศ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องมาดูกันว่ามันเข้าเงื่อนไขนั้นหรือไม่ ซึ่งเราในฐานะนักกฎหมายคงจะตอบได้เพียงเท่านั้น หากจะถามว่าออกเป็นกฎหมายได้หรือไม่นั้น มาตรา 53 ก็บอกแล้วว่าให้ออกเป็นกฎหมายได้ ส่วนจะเป็น พ.ร.บ. หรือพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) ก็แล้วแต่ เพราะออกเป็นกฎหมายเหมือนกัน มีเพียงเท่านี้ ไม่ได้มีอะไรมากกว่านี้ 

เมื่อถามว่า ข้อเสนอแนะที่ให้ไปมีอะไรบ้าง นายปกรณ์กล่าวว่า ไม่มีอะไรเลย เพียงแต่เป็นการอธิบายถึงมาตรา 53 และบอกว่าต้องรับฟังหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง มีข้อมูลเชิงประจักษ์ยืนยันได้เท่านั้นเอง

เมื่อถามย้ำว่า ไม่ได้ชี้ว่ารัฐบาลควรทำอะไรหรือไม่ควรทำอะไรใช่หรือไม่ นายปกรณ์กล่าวว่า เป็นนักกฎหมายชี้ไม่ได้ เพราะเรื่องนี้ต้องอาศัยตัวเลขที่เป็นข้อมูลทางวิทยาศาสตร์ 

ผู้สื่อข่าวถามว่า ความเห็นของกฤษฎีกาสามารถรับประกันได้หรือไม่ว่ารัฐบาลจะทำอะไรที่ไม่ผิดกฎหมาย นายปกรณ์กล่าวว่า อันนี้ไม่รู้

เมื่อถามอีกว่า สามารถใช้อ้างอิงได้หรือไม่ นายปกรณ์ กล่าวว่า สามารถใช้อ้างอิงได้เพราะเรายืนตามมาตรา 53 มาตรา 6 มาตรา 7 และมาตรา 9 ของ พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลัง ตอบอย่างนั้นเป๊ะ

เมื่อถามย้ำว่า การันตีได้หรือไม่ว่าถ้ารัฐบาลทำตามคำแนะนำของกฤษฎีกาแล้วจะปลอดภัย นายปกรณ์กล่าวว่า  “อ๋อ ถ้าทำตามผม ปลอดภัยแน่นอนครับ”

'จุรินทร์' จี้เคลียร์ 7 ปม

ถามถึงกรณีนายจุลพันธ์ออกมาระบุว่า กฤษฎีกาไฟเขียว ใช้คำนี้ไม่ได้ใช่หรือไม่ นายปกรณ์กล่าวว่า เข้าใจว่ารัฐมนตรีช่วยไม่ได้ใช้คำว่าไฟเขียวนะ เพราะตนเองไม่ใช่ตำรวจจราจร แต่ถ้าเป็นไปตามเงื่อนไขก็ทำได้ ไม่เป็นปัญหาอะไร ขึ้นอยู่กับข้อเท็จจริงในเชิงประจักษ์ว่าเป็นไปตามกฎหมายหรือเปล่า

ผู้สื่อข่าวถามว่า มีคำถามเพิ่มเติมจาก ครม.หรือไม่ว่าวิกฤตหรือไม่วิกฤต นายปกรณ์กล่าวว่า ไม่มีคำถามนี้ แค่ถามว่าออกเป็น พ.ร.บ.ได้หรือไม่แค่นั้นเอง 

ส่วนนายปกรณ์วุฒิ อุดมพิพัฒน์สกุล สส.บัญชีรายชื่อ  พรรคก้าวไกล (ก.ก.) ในฐานะประธานคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมฝ่ายค้าน (วิปฝ่ายค้าน) กล่าวถึงกรณีที่ ครม.เตรียมเดินหน้าออก พ.ร.บ.กู้เงิน 5 แสนล้านบาทว่า ฝ่ายค้านขอรอดูท่าทีอย่างเป็นทางการ ส่วนพรรค ก.ก.มีท่าทีต่อเรื่องดังกล่าวตั้งแต่แรกแล้ว จึงจะรอตรวจสอบอย่างเข้มข้นอีกครั้ง

ขณะที่นายจุรินทร์กล่าวว่า รัฐบาลควรเปิดเผยคำถาม คำตอบที่สอบถามกฤษฏีกาไป ไม่ควรเก็บเป็นความลับ เพราะเป็นการสร้างหนี้ก้อนใหญ่ถึง 5 แสนล้านบาทให้ประเทศในอนาคต คนไทยทั้งประเทศควรมีสิทธิ์รับรู้ และไม่ว่ากฤษฎีกาจะตอบว่าอย่างไร กฤษฎีกายังเป็นแค่ที่ปรึกษากฎหมายของรัฐบาล แต่การตัดสินใจเป็นของรัฐบาล เพราะฉะนั้นถ้ามีปัญหาเกิดขึ้นไม่ว่าจะในทางเศรษฐกิจหรือในทางกฎหมายตามมา รัฐบาลต้องรับผิดชอบในฐานะผู้ตัดสินใจและในฐานะเจ้าของนโยบาย

“ต้องรอดูว่าท้ายที่สุดแล้วรัฐบาลจะตัดสินใจอย่างไร  จะยังยืนยันเสนอ พ.ร.บ.กู้เงินอยู่หรือไม่ ซึ่งหมายความว่ารัฐบาลจะตัดสินใจไปเสี่ยงเอาดาบหน้าหรือไม่ ซึ่งมีอย่างน้อย 7 ปมที่รัฐบาลจะต้องพิจารณาโดยรอบคอบ ทั้งในข้อกฎหมายและในทางเศรษฐกิจ คือ 1.จำเป็นหรือไม่ 2.เร่งด่วนหรือไม่ 3.ต่อเนื่องหรือไม่ 4.วิกฤตหรือไม่ 5.ไม่สามารถตั้งเงินก้อนนี้ไว้ในงบประจำปีได้ทันใช่หรือไม่ 6.มีความคุ้มค่าหรือไม่ และ 7.ได้รับฟังความคิดเห็นโดยรอบด้านแล้วใช่หรือไม่” นายจุรินทร์กล่าว

สำหรับความเห็นของสมาชิกวุฒิสภา (สว.) นั้น นายตวง อันทะไชย สว. กล่าวว่า ที่ผ่านมาการออก พ.ร.บ.กู้เงินในลักษณะนี้ไม่เคยประสบความสำเร็จ ตั้งแต่สมัยรัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ และรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์  ชินวัตร ซึ่งสุดท้ายเรื่องไปจบที่ศาลรัฐธรรมนูญ การออก พ.ร.บ.กู้เงิน 5 แสนล้านบาทของรัฐบาลนายเศรษฐาก็เชื่อว่าจะเป็นเช่นเดียวกัน

 “สิ่งที่รัฐบาลต้องอธิบายให้ได้เป็นอันดับแรกคือ เรื่องของประเทศไทยเกิดวิกฤตเศรษฐกิจอย่างไร เพราะถ้าดูจากตัวเลขงบประมาณ ประเทศไทยไม่ได้อยู่ในภาวะวิกฤต  อีกทั้งนายกฯ ได้เดินสายไปเชิญชวนทุกประเทศทั่วโลกมาลงทุน แต่มาบอกคนในประเทศว่าเรากำลังวิกฤต” นายตวงกล่าว

 นายตวงกล่าวอีกว่า หากรัฐบาลเดินหน้าต่อเชื่อว่าเรื่องจะไปจบที่ศาลรัฐธรรมนูญ จะมีผู้ยื่นเรื่องร้องต่อศาลให้วินิจฉัย โดยศาลเคยวินิจฉัยเรื่องเหล่านี้มาแล้ว ซึ่งรัฐบาลอาจรู้อยู่แก่ใจว่าเป็นเรื่องยาก และอาจมีธงหรืออาจเป็นข้ออ้างเพื่อเดินหน้าต่อในทางการเมือง เพราะทุกเรื่องต้องมีทางลง เห็นใจรัฐบาลเหมือนกันว่าจะลงอย่างไร เพราะประกาศตั้งแต่หาเสียง ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับว่าจะลงอย่างไรให้มีเกียรติภูมิ มีศักดิ์ศรีและสง่างาม ถ้าลงไม่ได้ในอดีตมีทางที่คนเคยลงคือไปที่ศาลรัฐธรรมนูญ ซึ่งคำตอบก็รู้อยู่แล้ว

เตือนลุยแจกเก้าอี้หาย!

นายสถิตย์ ลิ่มพงศ์พันธุ์ สว. กล่าวว่า รัฐบาลควรเรียกประชุมหน่วยงานเศรษฐกิจ ทั้งกระทรวงการคลัง สภาพัฒน์ และธนาคารแห่งประเทศไทย เพื่อปรึกษาและตกลงกันว่าคำว่านิยามเศรษฐกิจ ตามความหมายของ พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลังเป็นอย่างไร ถึงขั้นวิกฤตหรือยัง เพราะถ้าไม่ให้ชัดเจนก็สุ่มเสี่ยงจะมีการโต้แย้งวิวาทะทางวาจาและทางคดีมากมาย ซึ่งจะเป็นความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้นต่อผู้ปฏิบัติงานทั้งในปัจจุบันและอนาคต

นายสมชาย แสวงการ สว. กล่าวว่า หากคนของรัฐบาลตีความการให้ความเห็นของกฤษฎีกาว่าทำได้จะถือเป็นความเสี่ยงของรัฐบาล รวมถึงหน่วยงานของกระทรวงการคลังที่เสี่ยงต่อการทำผิดกฎหมาย และหากรัฐบาลเดินหน้าเรื่องดังกล่าว ปลายทางต้องถูกส่งเรื่องไปยังศาลรัฐธรรมนูญ ซึ่งขณะนี้ทราบว่ามีผู้ที่ยื่นเรื่องต่อผู้ตรวจการแผ่นดินเพื่อส่งศาลรัฐธรรมนูญแล้ว

 “ผมขอเรียกร้องให้รัฐบาลหยุดทำโครงการนี้ ทางออกตอนนี้คือ รัฐบาลขอโทษประชาชน และเลิกโครงการ หากจะเดินหน้าทำต่อไป ผมมองว่ามีสิทธิ์ที่นายกฯ อาจถูกเปลี่ยนตัวได้” นายสมชายกล่าว

ส่วนนายวันชัย สอนศิริ สว. กล่าวว่า ถ้า ครม.มีมติว่าเห็นชอบอย่างไร เมื่อเข้าสู่สภาวาระที่หนึ่งก็ต้องผ่าน เพราะเขาคุมเสียงข้างมาก เขาทำได้ อย่างน้อยที่สุดรัฐบาลมีกว่า 300 เสียง อย่างไรก็ต้องผ่าน ส่วนในชั้น กรรมาธิการที่คุมเสียงส่วนใหญ่ได้นั้น วาระ 2-3 ก็น่าจะไปได้ ไม่น่าจะมีอะไรสะดุดหยุดชะงัก ถ้าผ่านมาถึงระดับนี้แล้ว ในชั้น สว.ก็มั่นใจ แม้จะมีบางคนตั้งข้อสังเกตและไม่เห็นด้วย แต่ถึงขนาดผ่านสภามาแล้ว และเชื่อว่าการที่ สว.โหวตให้นายเศรษฐาเป็นนายกฯ ก็แปลว่า สว.ส่วนใหญ่ก็สนับสนุนรัฐบาลนี้ให้มาเป็นรัฐบาล

เมื่อถามว่า มองว่า พ.ร.บ.ฉบับนี้จะไปติดที่ชั้นศาลรัฐธรรมนูญหรือไม่ เพราะที่ผ่านมาไม่เคยมีการออก พ.ร.บ.ลักษณะนี้ได้เลย นายวันชัย กล่าวว่า คิดว่าฝ่ายค้านเขาคงทำหน้าที่เต็มที่ รวมทั้ง สว.ก็อาจมีช่อง แต่หากไปถึงศาลรัฐธรรมนูญและทุกอย่างผ่านกระบวนการต่างๆ มา คิดว่าไม่น่าจะมีอะไร และเชื่อว่ารัฐบาลคงไม่ทำเหมือนโครงการจำนำข้าวที่ประกาศมาแล้วทำเลย แต่ครั้งนี้ออกเป็น พ.ร.บ. เมื่อ พ.ร.บ.ผ่านสภาและผ่านวุฒิสภาแล้ว ก็เชื่อว่าไม่น่าจะไปสะดุดหยุดชะงัก เพียงแต่จะเป็นไปตามหาเสียง 100% หรือไม่ เป็นอีกเรื่องหนึ่ง เพราะยังมีขั้นตอนการปรับปรุงแก้ไขอีกมาก.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

‘แพทองโพย’ขาลง!

"นิด้าโพล-ดุสิตโพล" สะท้อนตรงกัน   "นายกฯ อิ๊งค์" ขาลง! คะแนนนิยมลด สวนทางผลงานรัฐบาลเพิ่ม

กกต.หายห่วง! ชูเลือกตั้งอบจ. รู้สึก ‘ปลอดภัย’

"แสวง" ปลุกเจ้าหน้าที่ กกต.! ยันไม่ได้รู้สึกถึงความไม่ปลอดภัยหลังจากที่ได้ลงตรวจเยี่ยมการสมัครรับเลือกตั้งที่ปราจีนบุรี ไม่คิดว่าผู้สมัครนายก อบจ.คนไหนจะสร้างความรุนแรง

ประเดิม 10 วันอตร. ตาย 52

ประเดิม 10 วันอันตราย เกิดอุบัติเหตุ 322 ครั้ง ผู้บาดเจ็บ 318 คน ผู้เสียชีวิตแล้ว 52 ราย สาเหตุส่วนใหญ่ขับรถเร็ว