อ้างกฤษฎีกาเคาะเงินดิจิทัล ‘ไหม’ชี้แค่บอกทำตามกม.

“คลัง” คอนเฟิร์ม กฤษฎีกาเคาะออก พ.ร.บ.กู้เงิน 5 แสนล้านบาทอุ้ม "ดิจิทัลวอลเล็ต" ได้ คาดสัปดาห์หน้านายกฯ นั่งหัวโต๊ะหารือ คกก.ชุดใหญ่ "ศิริกัญญา” เตือนรัฐบาลกฤษฎีกายังไม่ได้ไฟเขียว แค่บอกหากเป็นไปตาม ม.53, 57 พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลังก็ทำได้ แต่หากผิดเงื่อนไขไม่สามารถทำได้ แนะ กก.ชุดใหญ่ลงมติอย่างระมัดระวัง เชื่อ ขรก.คงหนาวๆ ร้อนๆ "พี่ศรี" ฮึ่ม! ระวังไม่มีแผ่นดินอยู่ขืนดันเงินดิจิทัลต่อ

ที่กระทรวงการคลัง วันที่ 8 มกราคม นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รมช.การคลัง เปิดเผยว่า คณะกรรมการกฤษฎีกาได้ตอบข้อถามของกระทรวงการคลัง โดยยืนยันว่าสามารถออก พ.ร.บ.กู้เงิน 5 แสนล้านบาท เพื่อใช้ในโครงการดิจิทัลวอลเล็ตได้ โดยเป็นไปตามอำนาจของคณะรัฐมนตรี (ครม.) และคณะกรรมการนโยบายโครงการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่านดิจิทัลวอลเล็ต ที่จะออกกฎหมายกู้เงินดังกล่าวมาใช้ในโครงการ ทั้งนี้ คณะกรรมการกฤษฎีกาได้มีการตั้งข้อสังเกตในบางประเด็น เช่น การออกกฎหมายกู้เงิน ที่จะต้องเป็นไปตาม พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลัง มาตรา 53 และมาตรา 57 รวมทั้งจะต้องมีการรับฟังความคิดเห็นอย่างรอบด้าน

"ประเด็นนี้ได้มีการพูดคุยกันในเบื้องต้นแล้ว แต่ยังไม่มีข้อสรุปใดๆ รวมทั้งข้อสังเกตที่ว่าต้องเป็นโครงการที่ดำเนินการในสถานการณ์ที่เศรษฐกิจอยู่ในภาวะวิกฤต จนไม่สามารถตั้งงบประมาณปกติมาดำเนินการได้ ความคุ้มค่าของโครงการ ซึ่งต้องมีการประเมินผลก่อนและหลัง และรับฟังความคิดเห็นให้รอบด้าน ตรงนี้อาจจะต้องมาดูว่าทำกลไกอย่างไร เพื่อให้ได้รับฟังความคิดเห็นจากประชาชน หรือส่วนงานใดๆ เพิ่มเติมหรือไม่ เป็นสิ่งที่คณะกรรมการชุดใหญ่ต้องพิจารณาต่อ โดยเมื่อมีข้อสังเกตต่างๆ จากกฤษฎีกาแล้ว ก็เป็นหน้าที่ของคณะกรรมการนโยบายโครงการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่านดิจิทัลวอลเล็ต และรัฐบาลในการที่จะหาคำตอบ หาความชอบ และหารายละเอียดที่ครบถ้วนเพื่อจะชี้แจงต่อสังคม ชี้แจงต่อส่วนงานที่มีหน้าที่ติดตามตรวจสอบทั้งหมด ว่าสถานการณ์ปัจจุบันเป็นไปตามกรอบกฎหมายหรือไม่ อย่างไร"

นายจุลพันธ์กล่าวว่า คาดว่าในสัปดาห์หน้าจะมีการเรียกประชุมคณะกรรมการนโยบายโครงการเติมเงิน  10,000 บาท ผ่านดิจิทัลวอลเล็ต ที่มีนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและ รมว.การคลัง เป็นประธาน เพื่อพิจารณาข้อหารือในประเด็นกฎหมายดังกล่าว พร้อมกันนี้จะมีเลขาฯ กฤษฎีกาที่ร่วมเป็นคณะกรรมการมาพิจารณาตรวจข้อกฎหมาย สรุปข้อประชุม และความเห็นของคณะกรรมการกฤษฎีกา ว่ามีข้อสังเกตและแนวทางการดำเนินการอย่างไร

 “การวินิจฉัยของกฤษฎีกาก็เป็นกลไกที่จำเป็นตามขั้นตอนของกฎหมาย ดังนั้นไม่ว่ากฤษฎีกาจะตอบอะไรมา รัฐบาลก็จะเดินหน้าตามขั้นตอนที่ต้องทำ โดยเมื่อมีการหารือในที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายแล้ว ก็จะมีการสรุปความชัดเจนว่าจะดำเนินการเรื่องนี้อย่างไรต่อไป ในส่วนของร่าง พ.ร.บ.กู้เงินนั้น กระทรวงการคลังได้ยกร่างบางส่วนแล้วในเบื้องต้น เรื่องนี้ดำเนินการไม่ช้า” นายจุลพันธ์กล่าว

สำหรับประเด็นที่มีข้อคิดเห็นขัดแย้งกันว่า เศรษฐกิจไทยอยู่ในภาวะวิกฤตหรือไม่นั้น รมช.การคลังกล่าวว่า รัฐบาลยืนยันอยู่แล้วว่าสถานการณ์เศรษฐกิจไทยในขณะนี้ค่อนข้างเปราะบาง พี่น้องประชาชนอยู่ในความเดือดร้อน และเศรษฐกิจไทยติดหล่มในเรื่องการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ ดังนั้นในขณะนี้เป็นสถานการณ์ที่หลายฝ่ายเรียกร้องตรงกันว่า ควรจะต้องดำเนินการเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจได้แล้ว

 “ณ ขณะนี้ยังไม่มีใครชี้มาว่าเศรษฐกิจไทยวิกฤตหรือไม่วิกฤต นี่เป็นหน้าที่ของส่วนงานของกระทรวงการคลัง  คณะกรรมการนโยบายโครงการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่านดิจิทัลวอลเล็ต ที่จะช่วยกันหาคำตอบที่มันพิสูจน์ได้ทางวิทยาศาสตร์ ที่สามารถตอบได้ว่าสถานการณ์นี้เป็นสถานการณ์ที่สุกงอม วิกฤตหรือไม่อย่างไร ส่วนการดำเนินการทั้งหมดของโครงการดิจิทัลวอลเล็ตนั้น เบื้องต้นรัฐบาลจะพยายามอย่างสูงสุดที่จะดำเนินการ เพื่อให้เงินถึงมือประชาชนตามกรอบเวลาที่กำหนดไว้” รมช.การคลัง ระบุ

นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.มหาดไทย ในฐานะหัวหน้าพรรคภูมิใจไทย กล่าวถึงกรณีคณะกรรมการกฤษฎีกาตอบเรื่องการออก พ.ร.บ.กู้เงิน 5.6  แสนล้านบาทมายังรัฐบาลแล้ว ได้เห็นหรือยังว่า ยัง ในส่วนของพรรคภูมิใจไทยทำตามนโยบายของรัฐบาลอยู่แล้ว ถ้าถูกกฎหมายทำได้ ไม่ผิด ไม่ขัดรัฐธรรมนูญ เราก็ต้องสนับสนุนในฐานะที่เป็นพรรคร่วมรัฐบาล

นายวราวุธ ศิลปอาชา รมว.การพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กล่าวว่า ทราบจากข่าวว่าที่นายกรัฐมนตรีระบุกฤษฎีกาได้ส่งความเห็นและข้อเสนอแนะมาที่นายกฯ แล้ว ซึ่งคงต้องขอดูรายละเอียดก่อนว่าที่กฤษฎีกาส่งมาให้นั้นเป็นอย่างไร และจากนั้นคงมีการนำเข้าหารือในที่ประชุม ครม. แต่อย่างไรก็ตามจากนี้ไปเป็นหน้าที่ของทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ต้องนำเอาความเห็นของกฤษฎีกาไปพิจารณาและนำมาพูดคุยกันว่าจะมีแนวทางอย่างไร

ผู้สื่อข่าวถามว่า ในเมื่อเป็นนโยบายรัฐบาล ที่ประชุมครม.ก็ต้องพยายามผลักดันให้สำเร็จใช่หรือไม่ นายวราวุธ กล่าวว่าแน่นอน และที่สำคัญหากผลักดันได้สำเร็จก็จะเป็นประโยชน์แก่ประชาชน แต่จะต้องคำนึงถึงข้อกฎหมายในการดำเนินการด้วย จึงเป็นที่มาของการขอความเห็นจากกฤษฎีกา

ที่รัฐสภา น.ส.ศิริกัญญา ตันสกุล สส.บัญชีรายชื่อ และรองหัวหน้าพรรคก้าวไกล (ก.ก.) กล่าวถึงกรณีที่คณะกรรมการกฤษฎีกาส่งความเห็นเกี่ยวกับ พ.ร.บ.กู้เงิน 5 แสนล้านบาท สำหรับโครงการดิจิทัลวอลเล็ตกลับมาที่รัฐบาลว่า หากจะมองว่ากฤษฎีกาไฟเขียว และหากตนเองเป็นข้าราชการที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับเรื่องนี้ก็จะรู้สึกร้อนๆ หนาวๆ เพราะสิ่งที่กฤษฎีกาบอกคือ หากโครงการนี้เป็นไปตามกฎหมาย มาตรา 53 มาตรา 57 มาตรา 6 และมาตรา 9 ของวินัยการเงินการคลัง จะสามารถกระทำได้  แต่หากผิดเงื่อนไขเหล่านั้นก็ไม่สามารถกระทำได้

"คณะกรรมการกฤษฎีกาตีความตามข้อกฎหมายโดยตรง จึงขอฝากไปยังผู้ที่เกี่ยวข้องทุกคนว่า กฤษฎีกาให้นำเรื่องนี้กลับเข้ามาประชุมในคณะกรรมการนโยบายดิจิทัลวอลเล็ตคณะใหญ่อีกครั้ง ซึ่งมีข้าราชการและผู้มีความรู้หลายท่าน จึงขอให้ระมัดระวังเรื่องการลงมติเกี่ยวกับ พ.ร.บ.กู้เงิน เพื่อให้กระทรวงการคลังกู้เงินด้วย โดยที่คณะกรรมการกฤษฎีกาไม่ได้ชี้ชัดอะไรมาเลยว่าอะไรที่สามารถกระทำได้และไม่สามารถกระทำได้ สุดท้ายต้องขึ้นอยู่กับคณะกรรมการนโยบายดิจิทัลชุดใหญ่ ว่าการดำเนินการจะเป็นไปตามเงื่อนไขกฎหมายที่กำหนดไว้หรือไม่"

น.ส.ศิริกัญญากล่าวด้วยว่า ตนยังรอคอยรายงานการศึกษาความคุ้มค่าของโครงการ เพราะเราไม่มีข้อมูลในเชิงลึก จึงได้ตั้งคำถามจากประสบการณ์ที่ประเทศต่างๆ พยายามแก้ไขปัญหาด้วยวิธีนี้ ซึ่งไม่ใช่วิธีกระตุ้นเศรษฐกิจที่ดีที่สุด แต่อาจจะเป็นวิธีการที่เร็วที่สุด และไม่ได้คุ้มค่าต่อเม็ดเงินมากที่สุด ซึ่งจนถึงทุกวันนี้ก็ยังไม่เห็นรายละเอียดอย่างครบถ้วน ว่าโครงการมูลค่า 5 แสนล้านบาท จะกระตุ้นเศรษฐกิจได้เท่าไหร่

เมื่อถามว่า จากข้อสังเกตของฝ่ายค้าน รัฐบาลควรประเมินในเรื่องใดบ้างก่อนดำเนินโครงการดิจิทัลวอลเล็ต  น.ส.ศิริกัญญากล่าวว่า สิ่งแรกคือต้องประเมินว่าสรุปแล้วประเทศไทยอยู่ในภาวะวิกฤตหรือไม่ ซึ่งมีคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญหลายครั้งว่านิยามของคำว่าวิกฤต เศรษฐกิจจะต้องไปในแนวทางที่เห็นเด่นชัดว่าเป็นวิกฤตที่เหมือนกับวิกฤตต้มยำกุ้ง วิกฤตแฮมเบอร์เกอร์ หรือโควิด  ซึ่งทุกคนเห็นเด่นชัดและไม่มีใครเถียง ดังนั้นจึงตกอยู่กับทางรัฐบาลแล้วว่า จะไปหากลวิธีอย่างใดเพื่อทำให้ข้อมูล ทางเศรษฐกิจดูวิกฤต

"ลักษณะของวิกฤตคือ กิจกรรมทางเศรษฐกิจสะดุดลดลงอย่างต่อเนื่อง เช่น รายได้ของประชาชน, GDP, การจ้างงาน จึงจะเรียกว่าวิกฤต และต้องดูว่ารัฐบาลจะหาตัวเลขใดมา สุดท้ายหากกำลังพิจารณา พ.ร.บ.กู้เงินกันอยู่  แล้วเศรษฐกิจเกิดกระเตื้องขึ้นมา สรุปแล้วจะยังอยู่ในเงื่อนไขเดิมหรือไม่ ก็ต้องไปลุ้นกัน" น.ส.ศิริกัญญากล่าว

มีรายงานว่า หลังจากที่รัฐบาลได้ส่งข้อคำถามไปยังคณะกรรมการกฤษฎีกา ว่านโยบายแจกเงินดิจิทัลคนละ 1 หมื่นบาท โดยการออก พ.ร.บ.กู้เงิน 5 แสนล้านบาท  สามารถทำได้ตามข้อกฎหมายหรือไม่ คณะกรรมการกฤษฎีกาคณะที่ 12 เป็นผู้ตอบข้อกฎหมาย โดยได้ประชุมและส่งคำตอบไปให้รัฐบาลแล้ว ประเด็นสำคัญที่คณะกรรมการกฤษฎีกาตั้งประเด็นในการหารือคือ พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลังของรัฐ มาตรา 53 ว่าด้วยการกู้เงินเพิ่มเติม จะต้องใช้กรณีจำเป็นเร่งด่วนเท่านั้น โดยการกู้เงินหากมีวิกฤตและเร่งด่วนรัฐบาลทำได้โดยออก พ.ร.ก. แต่เมื่อออก พ.ร.บ.ต้องผ่านขั้นตอนทางกฎหมายมาก และใช้เวลานาน อาจไม่ "ฉุกเฉิน" สะท้อนความไม่เร่งด่วน

นายศรีสุวรรณ จรรยา ผู้นำองค์กรรักชาติ รักแผ่นดิน  โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กว่า แม้กฤษฎีกาก็ไม่น่าจะกล้าให้ความเห็นไปอย่างอื่นได้ เพราะมาตรา 53 พระราชบัญญัติวินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ. 2561 เขียนไว้ชัด

 “มาตรา 53 การกู้เงินของรัฐบาลนอกเหนือจากที่บัญญัติไว้ในกฎหมายว่าด้วยการบริหารหนี้สาธารณะ ให้กระทรวงการคลังกระทําได้ก็แต่โดยอาศัยอํานาจตามกฎหมายที่ตราขึ้นเป็นการเฉพาะ และเฉพาะกรณีที่มีความจําเป็นที่จะต้องดําเนินการโดยเร่งด่วนและอย่างต่อเนื่องเพื่อแก้ไขปัญหาวิกฤติของประเทศ โดยไม่อาจตั้งงบประมาณรายจ่ายประจําปีได้ทัน

กฎหมายที่ตราขึ้นตามวรรคหนึ่ง ต้องระบุวัตถุประสงค์ของการกู้เงิน ระยะเวลาในการกู้เงิน แผนงานหรือโครงการที่ใช้จ่ายเงินกู้ วงเงินที่อนุญาตให้ใช้จ่ายเงินกู้ และหน่วยงานของรัฐซึ่งเป็นผู้รับผิดชอบการดําเนินแผนงานหรือโครงการที่ใช้จ่ายเงินกู้นั้น

เงินที่ได้รับจากการกู้เงินตามวรรคหนึ่ง ให้กระทรวงการคลังเก็บรักษาไว้เพื่อให้หน่วยงานของรัฐ เบิกไปใช้จ่ายตามแผนงานหรือโครงการตามที่กฎหมายกําหนดได้โดยไม่ต้องนําส่งคลัง เว้นแต่จะมีกฎหมายบัญญัติไว้เป็นอย่างอื่น”

"อย่าคิดว่ามีอำนาจรัฐแล้วคิดจะทำอะไรก็ได้ เดี๋ยวจะไม่มีแผ่นดินอยู่นะครับ แจกเงินดิจิทัล 5 แสนล้าน ผิดกฎหมาย หากยังดันทุรัง มีทางเดียวคือ เจอกันที่ศาลเท่านั้น" นายศรีสุวรรณระบุ.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ฟ้องต้นตอหมอคางดำ

สภาทนายความฯ เตรียมฟ้องแพ่งบิ๊กเอกชน-หน่วยงานรัฐ ต้นตอ "เอเลี่ยนสปีชีส์"

‘เนวิน’รวมใจชาวบุรีรัมย์ จัดมิวสิคัลเทิดพระเกียรติ

“เนวิน” รวมใจชาวบุรีรัมย์ จัดเทิดพระเกียรติ 72 พรรษา แสดง แสง สี เสียง มิวสิคัล “ลมหายใจของแผ่นดิน” โดยบุรีรัมย์ออร์เคสตรา แสดงความจงรักภักดี 28-30 ก.ค.2567 สนามช้างอารีนา บุรีรัมย์