“เสรี” ยันที่ประชุม กมธ.พัฒนาการเมือง มีมติรวบรวมชื่อสภาสูง 84 เสียง เปิดญัตติซักฟอกรัฐบาลแบบไม่ลงมติตามมาตรา 153 ชี้มี 7 ประเด็นครอบคลุมทุกด้าน “สว.ตัวตึง” ยันเวลาบริหารประเทศไม่ใช่ข้ออ้าง “เลิศรัตน์” แย้งเร็วเกินไป “เศรษฐา” ลั่นยินดีหากต้องการความกระจ่าง ถือเป็นหน้าที่ตามกลไกรัฐธรรมนูญ “ราเมศ-เทพไท” รุมดีดปาก “สว.วันชัย” ชงให้ลืมๆ เรื่องเทวดาชั้น 14
เมื่อวันจันทร์ที่ 8 มกราคม 2567 ยังคงมีความต่อเนื่องในการยื่นญัตติขอเปิดอภิปรายทั่วไปคณะรัฐมนตรี (ครม.) โดยไม่ลงมติตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 153 โดยนายเสรี สุวรรณภานนท์ สมาชิกวุฒิสภา (สว.) ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการ (กมธ.) การพัฒนาการเมืองและการมีส่วนร่วมของประชาชน ให้สัมภาษณ์ภายหลังการประชุม กมธ.ว่า ที่ประชุมเห็นพ้องต่อการยื่นญัตติดังกล่าว และขณะนี้ได้ปรับแก้เนื้อหาเสร็จแล้ว เตรียมให้ สว.ร่วมเข้าชื่อจำนวนไม่น้อยกว่า 1 ใน 3 หรือประมาณ 84 คน เพื่อเสนอญัตติดังกล่าวต่อนายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธานวุฒิสภาต่อไป เบื้องต้นจะให้ สว.ได้เข้าชื่อในวันที่ 9 ม.ค.เป็นวันแรก ส่วนจะใช้เวลาเข้าชื่อจนกว่าครบจำนวนเมื่อใดนั้นประเมินไม่ได้ แต่เมื่อได้ชื่อครบถ้วนจะส่งให้ประธานวุฒิสภาทันทีเพื่อดำเนินการตามขั้นตอนต่อไป
นายเสรีกล่าวต่อว่า ญัตติดังกล่าวมีรายละเอียดใน 7 ประเด็นใหญ่ที่สำคัญครอบคลุมการเมือง เศรษฐกิจ สังคม และการปฏิรูป เนื่องจากที่ผ่านมาบทบาทสำคัญของ สว. คือการติดตามให้ข้อเสนอแนะ รวมถึงรายงานการปฏิรูปประเทศหลายฉบับ ดังนั้นจึงต้องการรับฟังจากรัฐบาลว่าจะสานต่อหรือไม่อย่างไร รวมถึงประเด็นการแก้ไขรัฐธรรมนูญและการออกเสียงประชามติ โดยคาดว่าเวลาที่เหมาะสมในการอภิปรายคือช่วง ก.พ.-มี.ค. 2567
“เวทีวุฒิสภาครั้งนี้เป็นการรับฟังชี้แจง และให้ข้อเสนอแนะ ไม่ใช่เวทีล้มรัฐบาล ดังนั้นเชื่อว่าจะได้รับความร่วมมือ ทั้งในการนำเสนอญัตติไม่ได้เจาะจงตัวบุคคล เพราะตามมาตรา 153 กำหนดให้ซักถาม ครม. ส่วนกรณีที่นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและ รมว.การคลังอาจส่งคนอื่นมาชี้แจงแทนนั้น ขอให้ผ่านกระบวนการเข้าชื่อเสนอญัตติให้แล้วเสร็จก่อน ซึ่งการเข้าชื่อถือเป็นความสมัครใจ แต่คาดว่าจะได้รับการตอบรับจาก สว.” นายเสรีกล่าว
ก่อนการประชุม นายกิตติศักดิ์ รัตนวราหะ สว. กล่าวเรื่องนี้ว่า เรื่องระยะเวลาในการทำงานของรัฐบาลไม่ใช่ปัจจัยสำคัญ ไม่ว่าจะอยู่กี่วันหากทำไม่ดีก็มีค่าเท่ากัน ดังนั้นจะมาบริหาร 3-4 เดือน หรือ 3-4 ปีก็ขึ้นอยู่กับพฤติกรรมของรัฐบาล ว่าบริหารประเทศชาติได้ดีหรือไม่ หากทำไม่ดีเพียง 1 วันก็แพงเกิน ซึ่งจากการพูดคุยกันกับเพื่อน สว. ก็เห็นว่าพฤติกรรมของรัฐบาลในขณะนี้มีเสียงสะท้อนเข้ามา โดยเฉพาะเรื่องของนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯ และเรื่องเงินดิจิทัลวอลเล็ต 10,000 บาท ยังไม่มีใครตอบคำถามพี่น้องประชาชนที่สงสัยได้เลย ดังนั้นสิ่งที่ยังปกปิดอยู่ต้องมีความชัดเจนต่อประชาชนให้ได้
เมื่อถามว่า ไม่เกรงว่าจะเกิดข้อครหาหรือ เพราะ สว.ไม่อภิปรายรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา แต่กลับอภิปรายรัฐบาลเศรษฐาที่บริหารประเทศมาเพียง 4 เดือน นายกิตติศักดิ์กล่าวว่า เทียบกันได้ แต่เราคิดว่าถ้าด้วยความเป็นธรรม ตอนนี้ผลงานของรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ 8-9 ปีที่ผ่านมาได้เกิดมรรคผลอะไรบ้าง ในขณะที่รัฐบาลของนายเศรษฐา 3-4 เดือนที่ผ่านมา ทำอะไรที่ประชาชนได้ประโยชน์จับต้องได้บ้าง
รัฐบาลสบช่องแจงชาวบ้าน
นายดิเรกฤทธิ์ เจนครองธรรม สว. กล่าวว่า การเปิดอภิปรายแบบไม่ลงมติของวุฒิสภา มีบทบัญญัติชัดเจนให้สามารถเชิญรัฐบาลมาสอบถาม และชี้แจงถึงเรื่องต่างๆ ที่ได้ทำไป รวมถึงสามารถเสนอแนะรัฐบาล เรื่องนี้จะเป็นประโยชน์ต่อประชาชนและรัฐบาลเอง เพราะหลายเรื่องที่ประชาชนคลางแคลงสงสัย ไม่มีพื้นที่รับฟังคำอธิบาย นายกฯ และ ครม.สามารถใช้พื้นที่สภาอธิบายผ่านวุฒิสภาสู่ประชาชนได้
เมื่อถามว่า สว.จะนำเรื่องใดขึ้นมาอภิปรายเป็นพิเศษหรือไม่ นายดิเรกฤทธิ์กล่าวว่า ภาพกว้างคือการแก้ไขรัฐธรรมนูญที่มีนโยบายจะแก้ไขทั้งฉบับ รวมถึงการทำประชามติก็มีปัญหาหลายประเด็น เช่น ความชอบด้วยรัฐธรรมนูญ วิธีการ ความจำเป็น เนื้อหา ขอบเขตที่จะแก้ รวมถึงสรรหาสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) แม้กระทั่งการบังคับใช้กฎหมาย เรื่องกระบวนการยุติธรรมที่มีความไม่โปร่งใส รวดเร็ว และยังไม่ได้อธิบาย เรื่องเหล่านี้เป็นความคาดหวังของประชาชน
เมื่อถามถึงกระบวนการบังคับใช้กฎหมายที่ยังไม่โปร่งใส พอจะยกตัวอย่างได้หรือไม่ นายดิเรกฤทธิ์กล่าวว่า มีหลายประเด็นทั้งกระบวนการยุติธรรม ทางแพ่ง ทางอาญา ทางปกครอง ที่ยังมีคดีต่างๆ ค้างอยู่มากมาย เช่น กระบวนการบริหารโทษในกรมราชทัณฑ์ ว่าทำไมถึงมีบางคนถูกเลือกปฏิบัติต่างจากประชาชนทั่วไป ประเด็นนี้สามารถอธิบายได้ เรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องของบุคคลใดบุคคลหนึ่งที่อยู่ชั้น 14 กรณีเดียว แต่เราพูดถึงภาพกว้างด้วย เราไม่ได้ก้าวล่วงดุลพินิจ แต่เราอยากสร้างความเคลื่อนไหว นอกจากนั้นยังมีอีกหลายเรื่องหลายกรณีที่ประชาชนสนใจ
“ข้อดีของมาตรา 153 คือกำหนดให้รัฐมนตรีเข้ามาชี้แจงโดยไม่ต้องผ่านตัวแทน จากที่พูดคุยกับ สว.นอกรอบ พบว่าคนที่เห็นด้วยกับการอภิปรายแบบไม่ลงมติมีมากกว่าจำนวน 1 ใน 3 ที่ต้องเข้าชื่อแน่นอน” นายดิเรกฤทธิ์กล่าว
เมื่อถามถึงเหตุผลในการตัดสินใจเปิดการอภิปรายแบบไม่ลงมติรัฐบาลที่เพิ่งทำงานได้เพียง 4 เดือน นายดิเรกฤทธิ์ กล่าวว่า ความสัมพันธ์ระหว่างรัฐบาลกับฝ่ายนิติบัญญัติ สามารถทำหน้าที่ได้เป็นช่วงๆ ตอนรัฐบาลชุดที่แล้วก็มีการมารายงานทุก 3 เดือนในเรื่องยุทธศาสตร์ชาติ รวมถึงมีการทำงานร่วมกับ กมธ.ที่เกี่ยวข้อง ประเด็นก็แตกต่างกับรัฐบาลชุดนี้ที่มาจากประชาชน พันธกรณี ข้อผูกพัน กับสิ่งที่หาเสียงหรือประกาศเป็นนโยบายไว้ เมื่อมีการให้พันธสัญญาก็จะต้องขับเคลื่อน และมีความคาดหวังจากประชาชน
“การทำหน้าที่ตรงนี้ไม่อยากให้มองตัวบุคคล แต่อยากให้มองตัวของรัฐบาล ว่าสถานการณ์เวลานี้มีประเด็นที่มากพอ มีประโยชน์หรือไม่ อย่างไร ในการอภิปราย” นายดิเรกฤทธิ์กล่าว
ขณะที่ พล.อ.เลิศรัตน์ รัตนวานิช สว. กล่าวว่า ยังไม่เห็นรายละเอียดว่า สว.ส่วนใหญ่ติดใจเรื่องอะไร จึงต้องขอความชัดเจนก่อน เพราะต้องใช้รายชื่อ สว. 84 คนลงนามเพื่อขอเปิดอภิปราย ซึ่งถือว่าไม่ใช่จำนวนที่น้อยๆ ก่อนหน้านี้ก็ได้พูดคุยกับเพื่อน สว.บางคน บอกว่ารัฐบาลชุดที่แล้วทำงานมา 4 ปี ทำไม สว.ไม่เปิดอภิปรายเลย รัฐบาลชุดนี้ทำงานมากว่า 3 เดือนกลับจะเปิดอภิปรายเสียแล้ว ดังนั้นก็ต้องดูประเด็นว่าจะใช้มาตรานี้หรือไม่
‘เศรษฐา’ พร้อมรับศึกซักฟอก
เมื่อถามว่า ให้เวลารัฐบาลทำงานนานแค่ไหนถึงสมควรเปิดการอภิปราย พล.อ.เลิศรัตน์กล่าวว่า ขอให้สิ้นปีงบประมาณนี้ไปก่อน แต่พวกตนก็คงไปก่อนเหมือนกัน ทั้งนี้ ส่วนตัวมองว่าการเปิดอภิปรายตอนนี้ยังเร็วไป
ถามย้ำว่า การเปิดอภิปรายครั้งนี้ถือเป็นการทิ้งทวนของ สว.หรือไม่ พล.อ.เลิศรัตน์กล่าวติดตลกว่า "ผมไม่มีทวนที่จะทิ้ง"
ด้านนายเศรษฐา ทวีสิน นายกฯ และ รมว.การคลัง กล่าวเรื่องนี้ เป็นหน้าที่ของฝ่ายบริหารอยู่แล้ว ถ้าเกิดฝ่ายนิติบัญญัติหรือฝ่ายตรวจสอบต้องการความกระจ่าง หรืออะไรก็ต้องชี้แจง ซึ่งเป็นไปตามกลไกของรัฐธรรมนูญ
เมื่อถามย้ำว่า ระยะเวลาในการบริหารประเทศเพียงแค่ 4 เดือน คิดว่าเร็วไปหรือไม่ นายเศรษฐากล่าวว่า ถือว่ามันเป็นหน้าที่ ไม่เกี่ยวกับจำนวนเดือนหรือจำนวนวัน ซึ่งมีความพร้อมและยินดี
ส่วนนายราเมศ รัตนะเชวง โฆษกพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) กล่าวว่า ถือว่าเป็นสิทธิของ สว.ตามรัฐธรรมนูญ ก็สามารถดำเนินการได้ อย่าไปคิดว่า สว.มีเจตนาไม่ดีต่อรัฐบาล หากมีการอภิปรายที่เล็งเห็นถึงการตรวจสอบอย่างแท้จริง เพื่อให้รัฐบาลได้มาอธิบายปัญหาที่เกิดขึ้นพร้อมแถลงข้อเท็จจริง ก็เป็นเรื่องที่ดี อย่างน้อยที่สุดนี่คือกระบวนการตรวจสอบถ่วงดุลโดยฝ่ายรัฐสภา ฝ่ายนิติบัญญัติ
รุมดีดปาก สว.วันชัย
นายราเมศกล่าวว่า ส่วนที่มี สว.บางคนบอกว่าในเรื่องนายทักษิณไม่ควรมีการแบ่งสีแบ่งฝ่าย ให้เลิกทะเลาะกันเรื่องสีแดง สีเหลือง นปช. กปปส.ได้แล้ว เพราะเขาไปรวมเป็นรัฐบาลกันหมดแล้ว คิดว่าท่าน สว.กำลังเข้าใจผิดในหลักการของบ้านเมือง เรื่องนายทักษิณเป็นเรื่องหลักการความถูกผิดของบ้านเมือง เป็นเรื่องการเลือกปฏิบัติการบังคับใช้กฎหมายที่ไม่เท่าเทียม ไม่ใช่เรื่องสีเสื้อ ไม่ใช่เรื่องทะเลาะส่วนตัว เรื่องนี้คือเรื่องใหญ่ของบ้านเมือง หากปล่อยให้เป็นเช่นนี้ บ้านเมืองในวันข้างหน้าจะอยู่กันอย่างไร นักการเมืองควรเป็นแบบอย่างในการเคารพกฎหมายบ้านเมือง เพราะถ้าไม่เป็นเช่นนั้นต่อไปบ้านเมืองจะเหลืออะไร
นายเทพไท เสนพงศ์ อดีต สส.นครศรีธรรมราช พรรค ปชป. โพสต์เฟซบุ๊กระบุว่า เคยรู้จักกับ สว.วันชัยมานานหลายปี ตั้งแต่จัดทอล์กโชว์และจัดรายการที่บลูสกาย ซึ่งเป็นคนหนึ่งที่ต่อต้านระบบทักษิณ และหลังรัฐประหารก็ให้สัมภาษณ์เชียร์ คสช. สนับสนุนรัฐธรรมนูญฉบับปี 2560 อย่างสุดลิ่มทิ่มประตู จนได้เป็น สว.ชุดปัจจุบัน แต่วันนี้ สว.วันชัยกลับออกมาเรียกร้องให้เลิกแบ่งสีเสื้อ กปปส.กับ นปช.ไปร่วมรัฐบาลกันหมดแล้ว ยังกล่าวหาว่าการที่ คสช.ทำรัฐประหาร มีอำนาจรัฏฐาธิปัตย์ทำอะไรได้มากกว่านักโทษเทวดาชั้น 14 เสียอีก พวกหลงโรงจะมาทะเลาะกันเรื่องเทวดากับมนุษย์ โดยเฉพาะเทวดาชั้น 14 อยู่ทำไม ทำให้ตนประหลาดใจว่า ทำไม สว.วันชัยเป็นไปได้ถึงขนาดนี้ มีอะไรมาดลใจ หรือไปโดนอะไรมา หรือกินยาผิดซอง หรือโดนของอะไรกันแน่ ทำให้สงสัยจัง
นายนิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ สมาชิกพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) โพสต์เฟซบุ๊กว่า ในหัวข้อ “ป่วยจริงหรือ ป่วยทิพย์ ทำให้จบเถอะ” ระบุว่า "จิตใจยังไม่สงบ ซึ่งเรื่องที่ปิดกั้นขัดขวางทำให้จิตใจไม่สงบคือนายทักษิณป่วยจริง หรือป่วยทิพย์ เพราะถ้าป่วยทิพย์ก็ถือว่าประเทศนี้เจอเรื่องใหญ่เข้าให้แล้ว จะให้แก้ด้วยการเจริญกสิณหรือเจริญหลักมรณสติ ก็ดูจะเกินปัญญาไปมาก มีทางเดียวที่จะดับความฟุ้งซ่านจิตใจได้ คือต้องร่วมกับกลุ่มคนบางกลุ่มทำความจริงให้ปรากฏป่วยจริงหรือป่วยทิพย์ เรื่องนี้ต้องจบ"
“จะให้ผมปลีกวิเวกอยู่แถบเชิงเขาบรรทัด ฟังเสียงลิง เสียงค่าง ก็ไม่สงบ อย่ากระนั้นเลย ขึ้นเครื่องบินไปคุยกับกลุ่ม คปท.ดีกว่า ว่าเขาทำเรื่องนี้ไปถึงไหนแล้ว” นายนิพิฏฐ์ระบุ.
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
ตั้งกก.สอบผกก.บางซื่อ ทนายปาเกียวเล็งทิ้งตั้ม
“ดีเอสไอ” เตรียมสรุปสำนวนคดี 18 บอสดิไอคอนเสนออัยการคดีพิเศษภายใน 20 ธ.ค.นี้
นิกรหักเพื่อไทย เตือนส่อผิดกม. ให้กมธ.ตีความ
“นิกร” หักข้อเสนอ “ชูศักดิ์” เลยช่วงเวลาแปลงร่างประชามติเป็นกฎหมายการเงินแล้ว
‘สนธิ’ลั่นการเมืองใกล้สุกงอม!
“อุ๊งอิ๊ง” เมินปม กกต.สอบครอบงำต่อ เด็ก พท.ยันเป็นการดำเนินการตามปกติ
จ่อส่งคดีหมอบุญให้DSI
ตร.สอบปากคำอดีตภรรยา-ลูกสาว “หมอบุญ” เพิ่มเติม
ทักษิณรอดคลุมปี๊บ! ส้มเหลวปักธงอุดรธานี ‘คนคอน’ตบหน้า‘ปชป.’
เลือกตั้ง อบจ. 3 จังหวัด “เพชรบุรี-อุดรธานี-นครศรีธรรมราช” ราบรื่น
‘ยิ่งลักษณ์’ กลับคุก ‘บิ๊กเสื้อแดง’ รู้มา! ว่าไปตามราชทัณฑ์ไม่ใช้สิทธิพิเศษ
“เลขาฯ แสวง” ยันเดินหน้าคดี “ทักษิณ-เพื่อไทย” ล้มล้างการปกครองต่อ เพราะใช้กฎหมายคนละฉบับกับศาล รธน. "จตุพร" ลั่นยังไม่จบ! ต้องดูสถานการณ์เป็นตอนๆ ไป