เปิดศึกผู้ว่าฯธปท. ‘เศรษฐา’ค้านขึ้นดอกเบี้ย ‘โต้ง’เตือนเกินความพอดี

"เศรษฐา" เปิดศึกผู้ว่าฯ แบงก์ชาติ ติงขึ้นดอกเบี้ยสวนทางสถานการณ์เงินเฟ้อ จ่อจับเข่าคุย "จุลพันธ์" กั๊ก ชี้อัตราดอกเบี้ยนโยบายมีการปรับขึ้นมาจากในภาพรวม และตลาดเป็นการแข่งขันสมบูรณ์ ไม่มีใครได้เปรียบเสียเปรียบ แค่ขึ้นเร็วไปนิด ส่วน “อนุทิน” มอง แบงก์มีกำไร ช่วยการันตีเศรษฐกิจยังมั่นคง เรื่องนี้ใช้ความรู้สึกไม่ได้

เมื่อวันที่ 8 มกราคม 2567 ที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและ รมว.การคลัง ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีที่ออกมาติง หลังธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ขึ้นอัตราดอกเบี้ย ขณะที่สถานการณ์เงินเฟ้อในประเทศไทยติดลบติดต่อกันหลายเดือนว่า ความจริงแล้วเราก็พูดคุยกันตลอดอยู่แล้วในเรื่องนี้ และเรื่องการขึ้นอัตราดอกเบี้ย จุดยืนของตนก็ชัดเจนว่า “ผมไม่เห็นด้วย”  แต่ท่าน (แบงก์ชาติ) ก็มีอำนาจในการขึ้น

"นัยที่ผมได้โพสต์ข้อความไปเมื่อคืนนี้ มันเกี่ยวกับเรื่องสินค้าการเกษตรพืชผลต่างๆ ที่ผมอยากให้กระทรวงพาณิชย์ดูแลไม่ให้ต่ำลงไป เพราะถ้าต่ำเกินไปก็จะลำบาก"

เมื่อถามถึงการขึ้นดอกเบี้ยในสถานการณ์เงินเฟ้อที่ต่ำมาก นายกฯ มีความกังวลอย่างไรบ้าง นายเศรษฐา กล่าวว่า “บอกว่าต่ำมากครับ ดังนั้นอาจจะต้องพิจารณาเรื่องการลดดอกเบี้ย ผมก็ฝากไว้”

ผู้สื่อข่าวถามว่า หลังจากนี้จะไปคุยกับผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทยหรือไม่ นายกฯ ตอบว่า “มีอยู่แล้วครับ”

ทั้งนี้ เมื่อคืนวันที่ 7 ม.ค. เวลา 22.08 น. นายเศรษฐา  ได้โพสต์เฟซบุ๊ก โดยระบุว่า "จากการที่แบงก์ชาติขึ้นดอกเบี้ยทั้งๆ ที่เงินเฟ้อติดลบติดต่อกันหลายๆ เดือนนั้น ไม่เป็นผลดีต่อเศรษฐกิจเลย และยังมีผลกระทบต่อ ประชาชนที่มีรายได้น้อย และ SME อีกด้วย"

"ผมจึงอยากให้กระทรวงพาณิชย์ และกระทรวงที่เกี่ยวข้องเข้าไปดูราคาสินค้าเกษตรบางชนิดให้เหมาะสม  เพราะอาจจะต่ำไปก็ได้ และหวังว่าแบงก์ชาติจะช่วยดูแลประชาชน ไม่ขึ้นดอกเบี้ยสวนทางกับเงินเฟ้อนะครับ"

ด้านนายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รมช.การคลัง เปิดเผยว่า  กรณีธนาคารพาณิชย์มีกำไรสูงกว่า 2.2 แสนล้านบาทนั้น ในส่วนของกระทรวงการคลัง ในฐานะกำกับดูแลธนาคารเฉพาะกิจของรัฐ มีนโยบายตรึงอัตราดอกเบี้ยไว้ให้นานที่สุด โดยในช่วง 3 เดือนสุดท้ายของปี 2566 ทุกแห่งก็มีการตรึงอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ และในช่วงต้นปี 2567 ก็มีการปรับขึ้นเล็กน้อย เช่น ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ปรับขึ้นดอกเบี้ย MLR แค่ 25 สตางค์เท่านั้น ก็พยายามตรึงกันอย่างเต็มที่ เพื่อไม่ให้ลูกค้าโดยเฉพาะกลุ่มที่มีรายได้น้อยได้รับผลกระทบ

อย่างไรก็ดี ในส่วนของธนาคารพาณิชย์เนื่องจากอัตราดอกเบี้ยนโยบายมีการปรับขึ้นมาจากในภาพรวม  และตลาดเป็นการแข่งขันสมบูรณ์ มันก็มีความจำเป็นที่ธนาคารต่างๆ จะต้องอยู่ภายใต้การแข่งขันเดียวกัน ไม่มีใครได้เปรียบเสียเปรียบ ต่างจากธนาคารเฉพาะกิจของรัฐ  ด้วยความที่เป็นธนาคารเพื่อประชาชน มีวัตถุประสงค์เพื่อความช่วยเหลือเป็นหลัก ก็พยายามตรึงให้ได้มากที่สุดและยาวนานที่สุด

 “เราเคยมีความเห็นว่า การขึ้นดอกเบี้ยนโยบายของคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ที่ผ่านมาเร็วและแรงเกินไปนิดหนึ่ง กระทบต่อสถานการณ์เศรษฐกิจในปัจจุบัน ตัวอย่างง่ายๆ เลยอย่างตอนนี้อัตราเงินเฟ้อติดลบมา 2-3 เดือน ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน เป็นสถานการณ์ที่กระทรวงการคลังจับตาดูใกล้ชิด” นายจุลพันธ์กล่าว

 นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง ประธานที่ปรึกษาของนายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์ว่า ตอนดอกเบี้ยขึ้นมาในช่วงแรกๆ  ไม่อยากวิจารณ์ ทั้งๆ ที่เริ่มเห็นสัญญาณแล้ว แต่พอขึ้นต่อเนื่องหลายๆ ครั้ง จนกระทั่งอยู่ในจุดที่เกินความพอดีไปมากแล้ว

 "นักวิชาการหลายกลุ่มก็มอง แต่ไม่มีใครกล้าพูด พูดแค่ในร้านกาแฟ ผมไม่ได้หิวแสง และไม่ได้กระทบกระทั่งกับใคร แต่การพูดเตือนสติ เตือนใจรุ่นน้อง ให้เข้าใจแง่มุมทางเศรษฐศาสตร์ และไม่ใช่ว่าจะยึดหลักบอกว่าควบคุมเงินเฟ้อ ซึ่งควบคุมได้จริง เพราะทำลายกำลังซื้อที่อ่อนแออยู่แล้วลงไป จนกระทั่งเงินเฟ้อติดลบแล้ว แท้จริงแล้วมองเห็นได้ตั้งแต่ช่วงกลางปี 66 แล้วว่าการขึ้นดอกเบี้ยในภาวะที่กำลังซื้ออ่อนแอ และเงินเฟ้อที่เกิดขึ้นเวลานั้นเกิดจาก  Cost-Push นั้นไม่ช่วยอะไร"

นายกิตติรัตน์กล่าวว่า หาก ธปท.จะแย้งว่าประเทศอื่นขึ้นดอกเบี้ย ถ้าไทยไม่ขึ้นตามจะเกิดเงินทุนไหลออกและกระทบเงินบาทนั้น ตนมองว่าถ้าประเทศไทยมีเงินสำรองระหว่างประเทศต่ำ และเงินที่เข้ามาเป็นเงินที่เข้ามาเพื่อแสวงหาประโยชน์ อัตราผลตอบแทนในตลาดเงินในสัดส่วนที่สูงมาก การกังวลว่าไทยดอกเบี้ยต่ำกว่านานาชาติและจะไหลออก จนกระทั่งไทยเหลือเงินทุนสำรองระหว่างประเทศไม่พอ ก็เป็นเรื่องที่พอเข้าใจได้ แต่ประเทศไทยอยู่ในฐานะที่เงินทุนสำรองระหว่างประเทศมากเพียงพอ และมีเงินทุนต่างชาติส่วนหนึ่งที่เข้ามาเพื่อแสวงหาผลตอบแทนระยะสั้นๆ ในตลาดการเงิน ดังนั้นถ้ากลุ่มนั้นจะออกไปคงไม่เป็นไร แต่ถ้าสมมติเราจัดการไม่ถูก ทำจนกระทั่งเศรษฐกิจอ่อนแอ กลุ่มเงินทุนระยะยาวที่มีการลงทุนในไทย โดยหวังว่าเศรษฐกิจไทยดีและแข็งแรง จะกังวลจนอาจจะออกไปด้วย เป็นเรื่องที่ไม่ควรให้เกิดขึ้น ดังนั้นการที่จะมีอัตราดอกเบี้ยต่ำ และเงินทุนกลุ่มระยะสั้นไหลออกไป  ค่าเงินบาทอ่อนลง เป็นคุณต่อผู้ส่งออก

"เห็นมาแล้วหลังปี 2540 พอเงินบาทอ่อน ธุรกิจแข่งขันลำบาก เราเริ่มพอแข่งขันได้ สามารถสะสมความได้เปรียบทางการค้า ได้ดุลบัญชีเดินสะพัด เงินทุนสำรองระหว่างประเทศที่มากอยู่ทุกวันนี้ มาจากคุณูปการจากการที่ค่าเงินบาทเคยอ่อนค่า จริงอยู่ที่ค่าเงินบาทที่อ่อนอาจทำให้สินค้านำเข้ามีราคาสูงขึ้น ก็กลัวว่าจะไปทับถมเรื่องเงินเฟ้อถ้าสินค้านำเข้าสูงขึ้น เราสามารถผลิตเองได้ในราคาที่แข่งขันได้ ก็เกิดเป็นคุณเหมือนกัน ดังนั้นการที่จะชั่งน้ำหนักให้ดีว่าตรงไหนควรทำก็เป็นเรื่องที่ต้องพิจารณา" นายกิตติรัตน์กล่าว

 นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.มหาดไทย ให้สัมภาษณ์ว่า ธนาคารไม่ได้มีกำไรจากการคิดดอกเบี้ยลูกค้าอย่างเดียว แต่มีกำไรจากการลงทุนหรือค่าเงิน หรือเรื่องอื่นๆ ตั้งเยอะแยะ ต้องถือว่าถ้ากิจการทางการเงินมีกำไร ก็จะเป็นเครื่องการันตีอย่างหนึ่งว่าเศรษฐกิจประเทศไทยยังมั่นคงอยู่ แต่ถ้าธนาคารขาดทุนเมื่อไหร่ประเทศก็ไปก่อน นี่คือตัวชี้วัดแล้ว เพราะฉะนั้น เราต้องมองว่าการที่ธนาคารที่มีกำไร เพราะธนาคารเก็บดอกเบี้ยที่ให้กู้ยืมได้ เมื่อลูกค้าจ่ายดอกเบี้ยได้แสดงว่าลูกค้ายังมีความสามารถในการชำระหนี้ เพราะสามารถชำระดอกเบี้ยได้ซึ่งส่วนใหญ่ยังโอเคอยู่ 

 “อย่าไปใช้ความรู้สึก ต้องดูตัวเลขจริงว่าตัวเลขใดที่ใช้อ้างอิงวัดความมั่นคงทางเศรษฐกิจของประเทศ อย่าไปคิดว่าคนนี้ทำกิจการขาดทุนแล้วเศรษฐกิจไม่ดีทั้งประเทศ" นายอนุทินกล่าว

นายสถิตย์ ลิ่มพงศ์พันธุ์ สมาชิกวุฒิสภา กล่าวว่า เรื่องการดำเนินการของสถาบันการเงินเป็นหน้าที่ของ ธปท.ที่คงจะต้องให้ความสำคัญในการสร้างสมดุล ระหว่างการเติบโตของสถาบันการเงินกับการได้รับบริการที่เป็นธรรมของผู้บริโภค เพราะ ธปท.ถือว่าเป็นผู้กำกับดูแลสถาบันการเงิน

 “ฉะนั้น การที่มีหัวข้อวิพากษ์วิจารณ์กันถึงเรื่องกำไรของสถาบันการเงิน ก็คงเป็นเรื่องที่ขึ้นอยู่กับการกำกับดูแลความเป็นธรรมของสถาบันการเงินกับผู้บริโภค ซึ่งคงต้องให้ความสำคัญกับเรื่องนี้เป็นพิเศษ และต้องหาทางแก้ไข เพื่อที่จะให้ความเป็นธรรม” นายสถิตย์กล่าว.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง