โพลชี้‘ปีมังกร’ ‘การเมือง’วุ่น! นายกฯอยู่ยาว

นิด้าโพลเผยคนส่วนใหญ่เชื่อการเมืองไทยปีมังกรยังวุ่นวายเหมือนเดิม 39% มั่นใจรัฐบาลเศรษฐาจะอยู่ยาวไม่ปรับ ครม. “ซูเปอร์โพล” ระบุชัดคนเหนือ-อีสานทุกข์น้อยเมื่อรัฐบาลเพื่อไทยยิ่งใหญ่ 

 เมื่อวันอาทิตย์ ศูนย์สำรวจความคิดเห็นนิด้าโพล สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) เปิดเผยผลสำรวจของประชาชนเรื่อง การเมือง เศรษฐกิจ และคุณภาพชีวิตในปี 2567 ซึ่งสอบถามประชาชนที่มีอายุ 18 ปีขึ้นไปทั่วประเทศ   1,310 หน่วยตัวอย่างทางโทรศัพท์ โดยเมื่อถามความคิดเห็นของประชาชนเกี่ยวกับสถานการณ์ทางการเมืองไทยโดยทั่วไปในปี 2567 เมื่อเทียบกับปี 2566 พบว่า 45.65% ระบุว่าสถานการณ์ทางการเมืองจะวุ่นวายเหมือนเดิม รองลงมา 28.40% สถานการณ์ทางการเมืองจะวุ่นวายมากขึ้น, 14.34% สถานการณ์ทางการเมืองจะวุ่นวายน้อยลง, 6.95%สถานการณ์ทางการเมืองจะไม่วุ่นวายเลย และ 4.66% ระบุว่าเฉยๆ/ไม่ตอบ/ไม่สนใจ

เมื่อถามความคิดเห็นของประชาชนเกี่ยวกับรัฐบาลนายเศรษฐา ทวีสิน ในปี 2567 พบว่า 39.16% ระบุว่านายกรัฐมนตรีเศรษฐาจะอยู่ยาวตลอดทั้งปี, 20.46% รัฐบาลจะมีการปรับคณะรัฐมนตรี (ครม.), 10.61% จะมีการยุบสภาเพื่อเลือกตั้งใหม่, 8.40% นายเศรษฐาจะลาออก, 7.86% นายเศรษฐาจะเปิดทางให้ น.ส.แพทองธาร ชินวัตร เป็นนายกฯ แทน,  6.79% จะเกิดความแตกแยกในพรรคร่วมรัฐบาลและทำให้รัฐบาลล่ม, 4.20% ระบุว่านายเศรษฐาจะโดนชุมนุมขับไล่ ทำให้ต้องพ้นจากตำแหน่งนายกฯ, 2.14% นายเศรษฐาจะโดนคดีความทางการเมืองต้องหลุดจากตำแหน่งนายกฯ, 1.83% รัฐบาลจะโดนรัฐประหาร และ 16.11% เฉยๆ/ไม่ตอบ/ไม่สนใจ

สำหรับความคิดเห็นของประชาชนเกี่ยวกับสถานการณ์ทางเศรษฐกิจไทย ในปี 2567 เมื่อเทียบกับปี 2566 พบว่า 35.65% สถานการณ์ทางเศรษฐกิจจะดีขึ้น, 31.22% สถานการณ์ทางเศรษฐกิจจะแย่เหมือนเดิม, 17.33% สถานการณ์ทางเศรษฐกิจจะแย่ลง, 13.66% สถานการณ์ทางเศรษฐกิจจะดีเหมือนเดิม และ 2.14% ระบุว่าเฉยๆ/ไม่ตอบ/ไม่สนใจ    

ท้ายที่สุดเมื่อถามความคิดเห็นของประชาชนเกี่ยวกับคุณภาพชีวิตโดยทั่วไปในสังคมไทย ในปี 2567 เมื่อเทียบกับปี 2566 พบว่า 31.98% คุณภาพชีวิตโดยทั่วไปของคนในสังคมไทยจะดีขึ้น,  31.76% คุณภาพชีวิตโดยทั่วไปจะแย่เหมือนเดิม, 18.17% คุณภาพชีวิตโดยทั่วไปจะแย่ลง, 16.18% คุณภาพชีวิตโดยทั่วไปของคนในสังคมไทยจะดีเหมือนเดิม และ 1.91% เฉยๆ/ไม่ตอบ/ไม่สนใจ     

ขณะเดียวกัน ผศ.ดร.นพดล กรรณิกา ผู้ก่อตั้งสำนักวิจัยซูเปอร์โพล เสนอผลสำรวจความรู้สึกของประชาชนเรื่อง เงินในกระเป๋า กรณีศึกษาตัวอย่างประชาชนทุกสาขาอาชีพทั่วประเทศ จำนวน 1,020 ตัวอย่าง โดยเมื่อสอบถามถึงเงินในกระเป๋าของประชาชนช่วงต้นปี พบว่าประชาชนเป็นทุกข์มากถึงมากที่สุด 23.9%, เป็นทุกข์ปานกลาง 30.1%, เป็นทุกข์น้อยถึงไม่ทุกข์เลย 46% เมื่อแบ่งออกตามกลุ่มอาชีพพบว่า กลุ่มคนว่างงานกับกลุ่มมนุษย์เงินเดือนเป็นกลุ่มคนที่ทุกข์มากถึงมากที่สุด สูงสุดคือกลุ่มคนว่างงาน เป็นทุกข์มากที่สุด 37.5% รองลงมาคือ มนุษย์เงินเดือนทำงานบริษัทเอกชน 32.6%, ค้าขายอิสระ 28.2%, เกษตรกรรับจ้าง 20.7% และข้าราชการเจ้าหน้าที่รัฐ 18.7% ซึ่งมีสัดส่วนของผู้เป็นทุกข์น้อยที่สุดเมื่อเทียบกลุ่มอาชีพอื่น

เมื่อแบ่งตามภูมิภาค พบว่ากลุ่มคนภาคใต้เป็นกลุ่มคนที่รู้สึกเป็นทุกข์มากถึงมากที่สุดเมื่อนึกถึงเงินในกระเป๋าของตนช่วงต้นปีคือ 32.1% รองลงมาคือกลุ่มคนภาคกลาง 29.4%, กลุ่มคนกรุงเทพมหานคร 27.3%, กลุ่มคนอีสาน 18.8% และกลุ่มคนภาคเหนือ 11.5% ตามลำดับ

ผู้ก่อตั้งซูเปอร์โพลกล่าวว่า ผลโพลเรื่อง เงินในกระเป๋าของประชาชนต้นปีนี้ ชี้ให้เห็นประเด็นที่น่าพิจารณาหลายมิติได้แก่ มิติด้านอาชีพ เพศ ช่วงอายุ ความรู้สึกมั่นคงในอาชีพการงานการเงิน และประชาชนในแต่ละภูมิภาคมีความรู้สึกเป็นทุกข์แตกต่างกันเมื่อนึกถึงเงินในกระเป๋าของตนเอง ที่วิเคราะห์มาจนอาจกล่าวได้ว่าในช่วงที่พรรคเพื่อไทยเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล ประชาชนในภาคเหนือและภาคอีสานรู้สึกเป็นทุกข์มากถึงมากที่สุดน้อยกว่าคนในภาคใต้และภาคอื่นๆ และพบด้วยว่ากลุ่มข้าราชการเป็นกลุ่มอาชีพที่มีความทุกข์วิกฤตน้อยกว่ากลุ่มอาชีพอื่นๆ ดังนั้นแนวนโยบายเพิ่มเงินในกระเป๋าของประชาชนด้วยโครงการเงินดิจิทัลของรัฐบาลและนโยบายเพิ่มเงินเดือนให้ข้าราชการ อาจต้องพิจารณาใช้เม็ดเงินหยอดเข้ากระเป๋าของประชาชนให้ตรงกลุ่ม ที่น่าพิจารณาคือกลุ่มสูงวัย กลุ่มคนว่างงาน กลุ่มมนุษย์เงินเดือนบริษัทเอกชน และกลุ่มคนในภาคใต้ ที่รัฐบาลน่าจะตัดสินใจออกนโยบายลดความทุกข์ของประชาชนให้ตรงกลุ่มเป้าหมาย.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง