โหมโรงประชามติแก้รธน. ครป.แนะทบทวนคำถาม

ประธานรัฐสภาหนุนทำประชามติแก้ไขรัฐธรรมนูญเต็มสูบ โหมโรงชวนประชาชนเตรียมพร้อม ได้ออกมาหยั่งเสียงปีหน้า 2567 "ครป." ไม่เห็นด้วยคำถามประชามติแบบลับลวงพราง  โวยตอนรับฟังไม่ใช่แบบนี้ แนะทบทวนก่อนเสนอ ครม.ใหม่ปีหน้า "แกนนำเพื่อไทย" เบรกฝ่ายค้านคิดยื่นซักฟอกก่อนปิดสมัยประชุมฯ อ้างเพิ่งเข้ามา ยังไม่ได้ใช้งบประมาณ

เมื่อวันที่ 28 ธ.ค. นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานรัฐสภาและประธานสภาผู้แทนราษฎร กล่าวว่า  สำหรับปีใหม่ 2567 เชื่อว่าจะมีหลายอย่างเปลี่ยนแปลงดีขึ้น สำหรับระบอบประชาธิปไตยอาจจะมีการออกเสียงประชามติเพื่อแก้ไขรัฐธรรมนูญที่ใช้ฉบับปัจจุบัน ซึ่งขณะนี้ทราบว่ารัฐบาลได้มีมติแล้วที่จะดำเนินการแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อจัดทำประชามติ แต่จะแก้ไขอย่างไรเป็นหน้าที่รัฐบาลที่จะไปตัดสินใจ อย่างไรก็ตาม การจัดทำประชามติ แม้จะเสียเวลา แต่เพื่อจะได้รัฐธรรมนูญที่ดี เพราะเป็นกฎหมายสูงสุดในการปกครองประเทศชาติ ถ้ามีรัฐธรรมนูญที่ดี เป็นประชาธิปไตย เราก็จะเป็นประเทศประชาธิปไตย และได้ สส.ที่ดีและรัฐบาลที่ดีมาบริหารประเทศ อีกทั้งการทำประชามติก็มีกฎเกณฑ์เป็นไปตาม พ.ร.บ.การออกเสียงประชามติ หากประชาชนมาใช้สิทธิ์ไม่ถึงครึ่ง การทำประชามติก็ต้องเดินหน้าใหม่ เพราะไม่เป็นผล และต้องเสียงบประมาณไป  ซึ่งแต่ละครั้งใช้งบกว่า 3,000 ล้านบาท

 “อยากเชิญชวนให้ประชาชนได้ออกมาใช้สิทธิ์ทุกคน เสียเวลาเล็กน้อยแต่เพื่อประโยชน์อันยาวนาน ถ้าเราไม่ไปใช้สิทธิ์การลงประชามติ รัฐธรรมนูญใหม่ก็จะเกิดขึ้นไม่ได้ การจัดทำประชามติอาจไม่ใช่เพียงรอบเดียว โดยรอบแรกเป็นการถามประชาชนว่าเห็นควรเปลี่ยนแปลงแก้ไขรัฐธรรมนูญหรือไม่ หลังจากนั้นเมื่อมีการตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญแก้ไขรัฐธรรมนูญ เมื่อดำเนินการแล้วเสร็จก็ต้องทำประชามติถามความเห็นประชาชนอีกครั้งว่า จะเห็นชอบหรือไม่ ซึ่งสำคัญมากกว่าในการถามความเห็นครั้งแรก อีกทั้งแม้จะมีประชาชนมาใช้สิทธิ์เกินครึ่งหนึ่งของจำนวนผู้มีสิทธิ์แล้ว ก็ยังต้องมีผู้เห็นชอบครึ่งหนึ่งของจำนวนผู้มาใช้สิทธิ์ด้วย ส่วนตัวจึงอยากให้ประชาชนออกมาใช้สิทธิ์ของตนเองทุกคน อยากเห็นการแก้ไขรัฐธรรมนูญในส่วนที่ยังบกพร่อง เพื่อให้มีรัฐธรรมนูญที่ดีขึ้นและสนองความต้องการของประชาชน” ประธานรัฐสภากล่าว

ขณะที่ท่าทีของฝ่ายการเมืองภาคประชาชนต่อการออกเสียงทำประชามติแก้ไขรัฐธรรมนูญนั้น วันเดียวกันนี้ นายเมธา มาสขาว รักษาการเลขาธิการคณะกรรมการรณรงค์เพื่อประชาธิปไตย (ครป.) กล่าวว่า การที่คณะกรรมการเพื่อพิจารณาศึกษาแนวทางในการทำประชามติเพื่อแก้ปัญหาความเห็นที่แตกต่างในเรื่องรัฐธรรมนูญ 2560 เตรียมตั้งคำถามประชามติว่า “ท่านเห็นชอบหรือไม่ ที่จะมีการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ โดยไม่แก้ไขหมวด 1 บททั่วไป หมวด 2 พระมหากษัตริย์” โดยจะนำเสนอคณะรัฐมนตรีในเดือนมกราคมนี้นั้น ครป.ไม่เห็นด้วยกับการตั้งคำถามดังกล่าว เพราะเป็นการตั้งคำถามประชามติแบบลับลวงพราง ไม่ต่างจากการประชามติรัฐธรรมนูญ 2560 ที่ประชาชนรับร่างรัฐธรรมนูญไปก่อนเพราะต้องการการเลือกตั้ง และไม่ต้องการให้ คสช.หยิบรัฐธรรมนูญฉบับไหนก็ได้มาบังคับใช้ ซึ่่งเป็นการรัฐประหารซ้ำ  คำถามประชามติที่ประกาศออกมานั้น เป็นการจัดแถวแบ่งแยกประชาชนที่เป็นคุณต่อรัฐบาลฝ่ายเดียว ถ้าประชาชนตอบเห็นด้วย ก็เท่ากับไม่ต้องการแก้ไขหมวด 1-2 หรือถ้าตอบไม่เห็นด้วย ก็เป็นการมัดรวมประชาชนที่ต้องการแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งฉบับให้ได้ผลลัพธ์เท่ากับไม่ต้องการแก้ไขรัฐธรรมนูญเลย 

นายเมธาให้ข้อเสนอแนะว่า ถามที่ตรงไปตรงมาและชัดเจนที่สุด และสอดคล้องกับคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญคือ คำถามหลัก : ควรมีการยกร่างรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับหรือไม่ และคำถามพ่วง (ถ้ามี) คือให้ ส.ส.ร.มาจากการแต่งตั้งเลือกตั้งทั้งหมดหรือไม่ เพราะถ้าตั้งคำถามกำกวมแอบแฝงก็จะไม่ได้ผลประชามติที่แท้จริง แต่เป็นการออกแบบผลประชามติจำแลงนี่เป็นข้อเสนอของภาคประชาชนเกือบทั้งหมดในการรับฟังความคิดเห็นของอนุกรรมการที่ผ่านมาในเดือน พ.ย.ที่ผ่่านมา แต่กรรมการชุดใหญ่กำลังออกแบบกติกามัดมือชกเอาตามที่ตนปรารถนา

รักษาการเลขาธิการ ครป.กล่าวอีกว่า กรอบในร่างคำถามประชามติที่เตรียมเสนอรัฐบาลในช่วงเดือน ม.ค.2567 ยังมีเวลาทบทวน อย่าลืมว่านโยบายพรรคเพื่อไทยที่ให้สัญญาประชาคมไว้คือ ให้มี ส.ส.ร.มาจากการเลือกตั้ง พรรคเคยชูจุดเด่นแก้รัฐธรรมนูญ ผลักดันให้ประเทศเป็นประชาธิปไตย ขจัดการสืบทอดอำนาจเผด็จการ สร้างความเป็นธรรมให้ประชาชน และแก้ปมแรกของทุกปัญหาด้วยการแก้รัฐธรรมนูญ ถ้าตั้งคำถามประชามติกำกวม จะเป็นการทำลายพันธสัญญาของพรรคเพื่อไทยลงไปด้วย ที่ผ่านมากว่า 6 ปี ภาคประชาชนและพรรคการเมืองทุกพรรคเคยเสนอร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญต่อรัฐสภาไปแล้วกว่า 26 ฉบับ ผ่านแค่ฉบับเดียวคือเรื่องสัดส่วนการเลือกตั้งและระบบบัญชื่อ มีการเตะถ่วงการแก้ไขรัฐธรรมนูญ เพราะมีกลุ่ม สส.-สว.บางพวกไปยื่นศาลรัฐธรรมนูญเพื่่อต่อต้านการแก้ไข แต่ศาลก็วินิจฉัยกรณีจัดทำร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ทั้งฉบับเท่านั้น และก็หมดสมัยประชุมไปจนมีการเลือกตั้งใหม่

ดังนั้น รัฐบาลไม่ต้องซื้อเวลาอีกต่อไป สามารถดำเนินการเสนอร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญได้ทันที แต่ถ้าเห็นด้วยกับประชาชนในการแก้ไขรัฐธรรมนูญ 2560 เพื่อจัดทำรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับโดย  ส.ส.ร.ที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชน ก็ตั้งคำถามประชามติใหม่  หรือถ้าไม่เห็นด้วยกับ ส.ส.ร.มาจากการเลือกตั้งทั้งหมด ก็ไปกำหนดในร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญตามมาตรา 256 ที่จะเสนอรัฐสภาได้

ด้านนายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.พาณิชย์ ในฐานะแกนนำพรรคเพื่อไทย กล่าวถึงสถานการณ์การเมืองในปีหน้า โดยเฉพาะเรื่องการอภิปรายไม่ไว้วางใจตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 151 และมาตรา 152 ถือว่าเป็นสิทธิ แต่อาจจะลำบาก เนื่องจากรัฐบาลเพิ่งเริ่มต้น ยังไม่ได้ทำงาน และงบประมาณในการดำเนินงานก็ยังไม่มี ที่ผ่านมาเป็นการเตรียมพื้นฐานเพื่อรองรับ ซึ่งทั้งหมดสามารถชี้แจงได้ และประชาชนเห็นอยู่แล้วว่ารัฐบาลทำงานอยู่ทั้งที่ไม่มีเงินรองรับ ก็ยังมีผลงานออกไปได้มากในช่วงการเมืองแบบนี้ ไม่น่ามีปัญหาอะไรให้น่ากังวล และปฏิเสธไม่ได้ว่ารัฐมนตรีในรัฐบาลนี้ต้องทำงานเหนื่อยมาก

นายรังสิมันต์ โรม สส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล กล่าวถึงกรณีที่นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ระบุว่ามีแนวโน้มจะปรับยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี เนื่องจากระยะเวลาอาจยาวนานไป และควรปรับเนื้อหาให้สอดคล้องต่อความเปลี่ยนแปลงของโลกว่า จริงๆ เราก็พูดถึงเรื่องนี้มาโดยตลอดว่าการออกแบบซึ่งเป็นมรดกของการรัฐประหาร และรัฐธรรมนูญฉบับฉบับนี้มีปัญหาจริงๆ เราจะมั่นใจได้อย่างไรว่าสิ่งที่เรากำหนดนั้นถูกต้องในยุคนี้ เมื่อเวลาผ่านไปแล้ว อาจจะไม่ถูกต้องแล้วก็ได้ และการมีคณะกรรมการต่างๆ ที่มีอำนาจมากพอสมควร ก็อาจจะทำให้เกิดปัญหา ในการบริหารงานของรัฐบาลที่ไม่สอดคล้องกับสถานการณ์ที่เปลี่ยนไป ต้องยอมรับว่าเราต้องจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ เพื่อนำสิ่งต่างๆ ที่ไม่ถูกต้อง หรือไม่ควรมี ซึ่งเป็นฐานกลไกของคณะรัฐประหารออกไป ดังนั้น หากนายกฯ มองว่าเรื่องนี้ควรได้รับการแก้ไข เราควรร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ซึ่งตนมองว่าเรื่องของคณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติก็อาจจะไม่ต้องมีแล้วก็ได้ เป็นหน้าที่ของรัฐบาลที่ต้องมองการณ์ไกลในการทำให้ประเทศไทยก้าวหน้ามากที่สุด.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง