นิดสู้อยู่4ปีนอนทำเนียบ2ม.ค.

"เศรษฐา" ปล่อยฟรี ครม.ปีใหม่ ไม่สั่งการบ้าน บอกทุกคนรู้หน้าที่   เปิดใจสื่อสะเทือนใจที่สุดค่าแรงขั้นต่ำไม่ขยับ พร้อมขอ ว.5 ส่วนตัวพักผ่อนหัวหิน เผยดูฤกษ์แล้วเก็บกระเป๋าเข้านอนทำเนียบฯ 2 ม.ค. ขณะที่ “หมอมิ้ง”   ออกโรงประเทศมีนายกฯ คนเดียวชื่อเศรษฐา ทวีสิน หลัง พ.ค.67 หมดอำนาจ สว.ก็ยังไม่เปลี่ยนตัว เอกสารงบปี 67 ถึงมือ สส. ขีดเส้นจบภายใน 8 เม.ย. "มหาดไทย-ศึกษาฯ-คลัง-กลาโหม" ได้มากสุด พลังงานท้ายแถว

เมื่อวันพุธ ที่ทำเนียบรัฐบาล นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและ รมว.การคลัง ได้เดินลงจากตึกไทยคู่ฟ้ามายังห้องผู้สื่อข่าว 2 เพื่อพบปะพูดคุยกับสื่อมวลชน และได้สอบถามเรื่องการปรับปรุงห้องทำงานผู้สื่อข่าว ก่อนกล่าวยืนยันว่าตนไม่เคยพูดว่าจะย้ายห้องผู้สื่อข่าว ไปตีความกันเอาเอง ตนต้องการปรับปรุงใหม่ทำให้ดีขึ้น ห้องใหญ่ขึ้น  สะดวกสบายขึ้น เมื่อผู้สื่อข่าวถามว่าวันนี้นายกฯ ใส่ถุงเท้าสีส้ม ซึ่งแตกต่างจากทุกวันที่ใส่สีแดง นายกฯ กล่าวว่า     ใช้ว่าสีแสด ไม่ชอบสีส้ม เมื่อถามว่าทำไมถึงชอบสีแสด นายกฯ กล่าวว่า ไม่รู้เหมือนกัน อย่าบิดไปการเมือง ตนใส่สีแสดมาแต่ไหนแต่ไรแล้ว แต่ชอบใส่สีแดงมากที่สุด สีเขียว สีม่วง สีชมพูก็มี 

เมื่อถามว่า นายกฯ มีความตั้งใจจะอยู่ 4 ปีใช่หรือไม่ นายกฯ กล่าวด้วยน้ำเสียงหนักแน่นว่า “ความตั้งใจผมอยู่ 4 ปี” เมื่อถามว่าคิดว่าต้องสู้เยอะหรือไม่ที่ต้องอยู่ 4 ปี นายกฯ กล่าวว่า เป็นธรรมดาก็ต้องสู้เยอะ สู้กับตัวเอง สู้กับความคาดหวัง ความต้องการของประชาชน แน่นอนตนสู้อยู่แล้ว ถ้าเราหยุดทำงานไม่มีผลงานเมื่อไหร่มันบ่งบอกถึงจุดจบ 

เมื่อถามว่า เตรียมพลังไว้เต็มที่ สู้ไหวใช่หรือไม่ นายกฯ กล่าวว่า so far so good ก็ยังไหว ไม่มีอะไรที่ทำให้บั่นทอนหรือคิดถอย ไม่มี เมื่อถามว่า 3 เดือนที่ผ่านมารู้สึกตัวเองแก่ลงหรือไม่ นายกฯ กล่าวว่า ร่างกายแย่ลง แต่ว่ามีความอดทนสูงขึ้นเยอะ

เมื่อถามว่า จากการเป็นนักธุรกิจผันตัวมาเป็นนักการเมือง มีการปรับตัวอย่างไร หรือนำมาปรับใช้อย่างไรในการบริหารประเทศ นายเศรษฐากล่าวว่า  ปรับตลอด ปรับทุกเรื่อง เช่นเป้าหมายในการลงพื้นที่ จากที่มี 5 ภารกิจก็เปลี่ยนเป็น 3 ภารกิจ เพื่อให้มีเวลาลงในเชิงลึกมากขึ้น

“รับทราบว่ามีขีดจำกัดในการทำงานว่าจะเร็วได้ขนาดไหนอย่างไร เพราะมีเรื่องของกฎหมายและหลายเสาหลักที่เข้ามาตรวจสอบ การทำงานของเราจึงไม่ใช่เรื่องง่าย ต้องเคารพองค์กรอิสระ ที่จะเข้ามาตั้งข้อสงสัย ถือเป็นเรื่องธรรมดาที่เราต้องเตรียมความพร้อมและเตรียมตัวให้ดี การแก้ปัญหาแม้ปากจะพูดออกไปแล้ว แต่ก็ยังมีอีกหลายขั้นตอนกว่าจะทำได้ จึงต้องระมัดระวัง เพราะสิ่งที่นายกรัฐมนตรีพูดคนมีความคาดหวัง ต้องทำให้ได้ ถ้าทำไม่ได้ก็จะผิดหวัง จึงต้องปรับ ระหว่างความเป็นไปได้และการสื่อสารออกไป รวมถึงเงินดิจิทัลด้วย” นายกรัฐมนตรีระบุ

นายเศรษฐายังระบุถึงการประชุมพิจารณาร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปี ที่จะเข้าสู่การประชุมระหว่างวันที่ 3-5 ม.ค.นี้ว่า  จะเดินทางไปด้วยตัวเอง ตอนนี้ได้ลงตารางงานไว้แล้ว อยากชี้แจงให้ฝ่ายค้านสบายใจ ชี้แจงคนที่มีความข้องใจให้สบายใจขึ้น ยอมรับกังวลเรื่องการสื่อสารและวิธีการที่จะต้องพูดเกี่ยวกับรายละเอียดของงบประมาณ

ผู้สื่อข่าวรายงานด้วยว่า นายกรัฐมนตรียังกล่าวถึงภารกิจในช่วงวันหยุดเทศกาลปีใหม่ว่า ไม่ได้แจกการบ้าน ครม. ขึ้นอยู่กับรัฐมนตรีแต่ละคน บางคนมีงานต้องลงพื้นที่ เช่น รมว.คมนาคม ก็ต้องอำนวยความสะดวกในช่วงเทศกาลปีใหม่ ส่วนรัฐมนตรีท่องเที่ยว ก็ต้องดูด้านการท่องเที่ยวให้ดี ในส่วนของงานด้านความมั่นคงก็ต้องดูให้ดี ต่างคนมีหน้าที่ที่แตกต่างกันไป 

สะเทือนใจปมค่าแรง

นายเศรษฐากล่าวอีกว่า สำหรับวันหยุดเทศกาลปีใหม่ ตนมีภารกิจส่วนตัวที่ อ.หัวหิน จ.ประจวบคีรีขันธ์ สื่อไม่ต้องตาม ให้ไปพักผ่อนกันได้ 

นายกฯ ยังเปิดเผยถึงการพักผ่อนหลังรับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีว่า ไม่สามารถตอบเวลาที่แน่นอนได้ แต่จะพยายามนอนในช่วงเวลาไม่เกิน 23.00 น. แต่ก็จะไหลไปถึงเวลา 23.00-23.45 น.ตลอด ส่วนที่เคยบอกว่าจะเข้ามานอนที่ทำเนียบรัฐบาลนั้น นายเศรษฐา ระบุว่า ให้ทีมงานเตรียมดูว่าจะให้เข้ามานอนวันไหน ซึ่งไม่แน่ใจว่าวันที่ 2 ม.ค.2567 จะนอนได้หรือไม่ คงต้องดูฤกษ์ก่อน แต่วันที่ 1 ม.ค.ไม่อยากนอน แต่วันที่ 2 ม.ค.ก็ดีนะ เพราะว่าตื่นมาวันที่ 3 ม.ค.ไปทำบุญที่กระทรวงการคลัง

ผู้สื่อข่าวรายงานด้วยว่า นายเศรษฐาตอบคำถามด้วยว่า เป็นนายกฯ มา 3 เดือนมีอะไรที่บั่นทอนความรู้สึกมากที่สุดว่า "เอาตรงๆ เรื่องที่บั่นทอนความรู้สึกไม่ได้เกิดขึ้นจากฝ่ายการเมือง ไม่ได้เกิดขึ้นจากผู้สื่อข่าว ที่รู้สึกสะเทือนใจมากที่สุดคือเรื่องค่าแรงขั้นต่ำ

เมื่อถามย้ำว่า เพราะไม่สามารถทำตามที่ประกาศไว้ได้ใช่หรือไม่ นายกฯ กล่าวว่า เป็นเรื่องของไตรภาคี ตนไม่ได้เสียใจที่คนมาว่าพูดแล้วทำไม่ได้ ดีแต่พูดแล้วทำไม่ได้ ไม่ใช่ตรงนั้น หลายเรื่องไม่จำเป็นต้องอิงกับกฎหมายหรือไตรภาคี เป็นเรื่องของสามัญสำนึก เป็นเรื่องที่ต้องเห็นอกเห็นใจซึ่งกันและกัน 

เมื่อถามว่า ทำไมสมัยรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ถึงทำได้ นายเศรษฐากล่าวว่า สมัยก่อนไม่มี ซึ่งมีการเปลี่ยนแปลง และตนไม่แน่ใจว่าเมื่อ 9 ปีที่แล้วมีคณะกรรมการไตรภาคีหรือไม่ อำนาจของคณะกรรมการไตรภาคีมีอะไรเปลี่ยนแปลงหรือไม่ ซึ่งหน้าที่ของตนในฐานะนายกฯ  ก็ต้องไปดู ไปพูดคุยกับสภานายจ้าง  ปลัดแรงงา และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ซึ่งหน้าที่ของสื่อก็เป็นตัวแทนประชาชนในการเรียกร้อง ก็ช่วยๆ กันทำ 

'มิ้ง' ยันนายกฯ ชื่อเศรษฐา

วันเดียวกัน ที่ทำเนียบรัฐบาล นพ.พรหมินทร์ เลิศสุริย์เดช เลขาธิการนายกฯ ให้สัมภาษณ์ถึงการสร้างความนิยมของรัฐบาลหลังทำงานมา 3 เดือนแต่ยังพบว่าผลสำรวจความนิยมคะแนนของนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ อดีตหัวหน้าพรรคก้าวไกลยังมาเป็นอันดับหนึ่งว่า   ผลงานรัฐบาลได้พูดกับได้ทำเป็นคนละเรื่องกัน ที่ผ่านมาเราเดินหน้าเกณฑ์ทหารด้วยความสมัครใจ ปรับลดกำลังพลให้เหมาะสม ทำให้มีบทบาทเหมาะสมกับสถานการณ์โลก สมรสเท่าเทียม PM 2.5 ดิจิทัลวอลเล็ต ยึดมั่นตามที่หาเสียงไว้ และจะทำให้เป็นจริง เราขอโอกาสทำงานให้ประชาชนเป็นจริง

เมื่อถามว่า ที่บอกว่าทำกับพูดต่างกัน เชื่อว่าหากมีการสำรวจความคิดเห็นช่วง 6 เดือน คะแนนของพรรคเพื่อไทยจะกลับมานำหรือไม่ นพ.พรหมินทร์ กล่าวว่า ไม่ได้พูดอย่างนั้น เราตั้งใจทำประโยชน์ให้ประชาชนทั่วประเทศ โดยไม่เลือกทำเฉพาะพื้นที่ที่เรามี สส.

เมื่อถามว่า เราจะใช้อะไรมาเป็นตัวดึงกระแสให้กับรัฐบาล นพ.พรหมินทร์ ตอบว่า ความจริงใจและผลงานการปฏิบัติ ตนเชื่อว่าหากเราได้ปฏิบัติและเห็นถึงความจริงใจของเราที่เป็นรัฐบาลของประชาชน

เมื่อถามว่า ได้ประเมินการเมืองหลังเดือน พ.ค. 67 ที่ สว.ชุดปัจจุบันหมดวาระอย่างไร เพราะมีการตั้งข้อสังเกตว่าพรรคเพื่อไทยจะมีอำนาจต่อรองทางการเมืองมากขึ้น นพ.พรหมินทร์กล่าวว่า ถือเป็นการคิดแบบเก่าที่แบ่งเป็นพวกเป็นพรรค ฉายารัฐบาลที่สื่อตั้งให้ว่า  “แกงส้ม ผลักรวม” ถือเป็นการรวมเพื่อประเทศ รวมเพื่อประชาชน ต้องขอบคุณที่สื่อชมเรา และเราก็ไม่ได้ไปแกงใคร

เมื่อถามว่า 4 ปีของรัฐบาล จะเห็น น.ส.แพทองธาร ชินวัตร หัวหน้าพรรคก้าวไกล เข้ามามีตำแหน่งในรัฐบาลหรือเข้ามานั่งในตำแหน่งนายกฯ หรือไม่ นพ.พรหมินทร์กล่าวว่า ขณะนี้ น.ส.แพทองธารเป็นแคนดิเดตนายกฯ ของพรรคเพื่อไทย รัฐบาลให้ความสำคัญโดยให้เข้ามาช่วยงานรัฐบาล แต่แน่นอนที่สุดนายกฯ คือนายเศรษฐา ไม่มีความจำเป็นใดๆ ที่ต้องปรับเปลี่ยน

เมื่อถามว่า ปีหน้าจะเห็นนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯ เข้ามาให้คำแนะนำการบริหารประเทศของรัฐบาลหรือไม่ นพ.พรหมินทร์ตอบว่า ความคิดเห็นของทุกคนที่เป็นประโยชน์ไม่ใช่แค่ของนายทักษิณรัฐบาลรับฟังทั้งสิ้น นายเศรษฐา รับฟังตลอด โดยเฉพาะเสียงประชาชน โดยนำมาปรับใช้สั่งการแก้ปัญหาต่างๆทันที

เมื่อถามย้ำว่า จะทำให้เกิดความสับสนหรือไม่ว่าจะต้องฟังเสียงนายเศรษฐาหรือนายทักษิณ นพ.พรหมินทร์ ตอบว่า “นายกฯ เศรษฐาเป็นคนรับฟังความคิดเห็นของใครก็ได้ แล้วนำมาปรับใช้ ยืนยันว่านายกฯ คือนายเศรษฐา”

เมื่อถามอีกว่า ปีหน้าประเทศไทยจะมีนายกฯ สองคนเข้ามาบริหารประเทศ นพ.พรหมินทร์กล่าวว่า “ผมไม่ได้พูด ไม่ได้หมายความอย่างนั้น สื่อที่ถามฟังภาษาไทยออกหรือไม่ หรือหูอื้อ ผมพูดชัดเจนว่ามีนายกฯ คนเดียว”

เมื่อถามอีกว่า ยืนยันหรือไม่ว่าศูนย์กลางอำนาจอยู่ที่ทำเนียบรัฐบาล นพ.พรหมินทร์กล่าวว่า อำนาจไม่เคยไปจากที่ไหนเลย อยู่ที่นายกรัฐมนตรีชื่อ เศรษฐา ทวีสิน เมื่อถามย้ำว่าเดือน พ.ค.เมื่อหมดอำนาจ สว. จะไม่มีการเปลี่ยนตัวนายกฯ ใช่หรือไม่ เลขาธิการนายกฯ  ตอบว่า ไม่มีครับ ทำไมต้องเปลี่ยนประเทศไทยได้ประโยชน์อะไรหรือ

เมื่อถามว่า ปี 2567 จะมีปัจจัยอะไรเสี่ยงต้องเปลี่ยนตัวนายกฯ หรืออะไรที่กระทบรัฐบาลทำให้อยู่ไม่ครบวาระหรือไม่ เลขาธิการนายกฯ กล่าวว่า ปัจจัยสำคัญคือเรื่องเศรษฐกิจโลก ส่วนเสถียรภาพของภาครัฐถือว่าแข็งแกร่ง ถ้ามุ่งต่อประโยชน์ประชาชนถือว่าเสียงเราดัง

นพ.พรหมินทร์ยังให้สัมภาษณ์นโยบายโครงการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่านดิจิทัลวอลเล็ตว่า ปีหน้าโครงการดิจิทัลวอลเล็ตยังเป็นไปตามแผน ขณะนี้นำไปสู่ขั้นตอนนำไปปฏิบัติให้เป็นจริง เราก็จะปรับและเสนอกฎหมายที่จะต้องกู้เงินเข้าไปในสภา คงจะตามหลังร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2567

เมื่อถามว่า ถ้ากฎหมายกู้เงินไม่ผ่านจะต้องรับผิดชอบทางการเมืองหรือไม่ นพ.พรหมินทร์กล่าวว่า เรารับผิดชอบตามสิ่งที่เราทำให้ประชาชน ส่วนความรับผิดชอบสำคัญคือความรับผิดชอบประชาชน และเราไม่ได้พยายามทำแหกกฎหมาย เราศึกษากฎหมายจนชัดเจนแล้วเราเดินตาม ไม่น่าจะเกิดปัญหาสะดุดอะไร

นายนิกร จำนง โฆษกคณะกรรมการเพื่อพิจารณาศึกษาแนวทางในการทำประชามติ เพื่อแก้ไขปัญหาความเห็นที่แตกต่างในเรื่องรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 กล่าวถึงกระแสการตั้งคำถามในการทำประชามติว่า มิได้เป็นการมัดมือชก หากแต่เป็นการกระทำตามภารกิจสำคัญให้สำเร็จลุล่วงได้อย่างเปิดเผย ตรงไปตรงมา และต้องไม่สร้างปัญหาความขัดแย้งใหม่ขึ้นมาจากการนี้อีก จึงอยากสอบถามกลับไปว่า การเปิดให้กว้างในประเด็นที่เห็นแล้วว่าอ่อนไหวมากเช่นนั้น จะไม่เป็นการเปิดมือยุยงให้ประชาชนชกกันเองหรือ เราทุกคนไม่ว่าจะเป็นฝ่ายไหน ก็ต้องช่วยกันป้องกันสถานการณ์เช่นนั้น มิใช่ช่วยกันสุมไฟ   และอยากจะถามกลับไปอีกว่า ตกลงแล้วอยากจะแก้ไขรัฐธรรมนูญในหมวดต่างๆ เพื่อประชาชน หรืออยากแก้ไขรัฐธรรมนูญเฉพาะในหมวด 1 และหมวด 2 ซึ่งเป็นประเด็นเดียวกับมาตรา 112 เช่นนั้นหรือ

 “การตัดสินใจในการออกคำถามดังกล่าวของคณะกรรมการฯ เพื่อเสนอให้ ครม.ตัดสินใจในครั้งนั้น ได้พิจารณาอย่างกว้างขวาง อย่างรอบคอบ อย่างรักษาคำมั่นสัญญาว่า เพื่อให้คนไทยได้มีรัฐธรรมนูญที่เป็นประชาธิปไตยมากขึ้น โดยยึดรูปแบบการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข และไม่แก้ไขในหมวดพระมหากษัตริย์" ที่ได้ให้ไว้ต่อประชาชนให้สำเร็จลงให้ได้ด้วยความระมัดระวัง เพื่อป้องกันมิให้เกิดปัญหาเป็นวิกฤตรัฐธรรมนูญสร้างความขัดแย้งในหมู่ประชาชนขึ้นมาอีก” นายนิกรระบุ

เอกสารงบ 67 ถึงมือ สส.

ที่รัฐสภา ว่าที่ ร.ต.ต.อาพัทธ์ สุขะนันท์ รองเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร ในฐานะรักษาราชการแทนเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร เปิดเผยว่า เอกสารร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2567 ได้มาถึงสภาผู้แทนราษฎรเมื่อวันที่ 26 ธ.ค.ที่ผ่านมา ซึ่งสภาผู้แทนราษฎรจะต้องพิจารณาให้แล้วเสร็จภายในกรอบ 105 วัน ตามที่รัฐธรรมนูญมาตรา 143 กำหนดไว้ หรือต้องให้แล้วเสร็จภายในวันที่ 8 เม.ย. 67

ว่าที่ ร.ต.ต.อาพัทธ์กล่าวว่า โดยประธานสภาผู้แทนราษฎรได้กำชับให้เตรียมห้องประชุมสำหรับให้หน่วยงานมาสนับสนุนข้อมูลให้คณะรัฐมนตรีชี้แจง และเมื่อถึงวันพิจารณา 3-5 ม.ค. 67 สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร สำนักประชุม ก็จะทำหน้าที่ควบคุมเวลาให้เป็นไปตามที่วิป 4 ฝ่ายตกลงกัน คือรัฐบาลได้ 20 ชั่วโมง ฝ่ายค้านได้ 20 ชั่วโมง

“ขณะที่บรรยากาศการรับเอกสารในวันนี้ (27 ธ.ค.) สส.ได้ให้ทีมงานมารับเอกสารร่างเพื่อนำกลับไปพิจารณา ประกอบด้วยหนังสือรายละเอียดเกี่ยวกับงบประมาณคนละ 2 กล่อง ทางสภาได้จัดเตรียมไว้ 425 ชุด จากที่มี สส. 500 คน เนื่องจากว่าได้ทำแบบสอบถามไปก่อนหน้านี้ว่า สส.คนใดต้องการเป็นเล่มหรือรูปแบบไฟล์อิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งการรับเอกสารสามารถเข้ารับได้จนกว่าจะถึงวันอภิปราย” ว่าที่ ร.ต.ต.อาพัทธ์ระบุ

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับสาระเนื้อหาร่างงบประมาณปี 2567 วงเงิน 3.48 ล้านล้านบาท ซึ่งเพิ่มขึ้นจากงบประมาณปี 2566 จำนวน 295,000 ล้านบาท โดยรายจ่ายประจำกำหนดไว้ที่ 2,532,826 ล้านบาท รายจ่ายเพื่อชดใช้เงินคงคลังกำหนดไว้เป็นจำนวน 118,361 ล้านบาท ขณะที่รายจ่ายลงทุนกำหนดไว้เป็นจำนวน 717,722 ล้านบาท และรายจ่ายชำระคืนต้นเงินกู้ได้จัดสรรไว้เป็นจำนวน 118,320 ล้านบาท

โดยงบประมาณรายจ่ายงบกลางกำหนดไว้เป็นจำนวน 606,765 ล้านบาท สำหนังรายได้ปี 2567 คาดว่าจะจัดเก็บรายได้ประเภทต่างๆ ได้จำนวน 3,337,400 ล้านบาท แต่เมื่อหักการลดคืนภาษีต่างๆ จะคงเหลือรายได้สุทธิจำนวน 2,787,000 ล้านบาท และเนื่องด้วยรายจ่ายสูงกว่ารายได้ จำนวน 693,000 ล้านบาท คาดว่ารัฐบาลจะมีการกู้เงินในวงเงินดังกล่าวเพิ่ม

ส่วนกระทรวงที่ได้รับการจัดงบประมาณสูงสุด หลักแสนล้านบาท 5 อันดับแรก ประกอบด้วย กระทรวงมหาดไทย 353,127 ล้านบาท, กระทรวงศึกษาธิการ 328,384 ล้านบาท, กระทรวงการคลัง 327,155 ล้านบาท, กระทรวงกลาโหม 198,320 ล้านบาท และกระทรวงคมนาคม 183,635 ล้านบาท

ขณะที่กระทรวงที่ได้รับการจัดสรรงบประมาณน้อยที่สุด 5 อันดับ ประกอบด้วย กระทรวงพลังงาน 2,834 ล้านบาท, กระทรวงอุตสาหกรรม 4,559 ล้านบาท, กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา 5,591 ล้านบาท, กระทรวงพาณิชย์ 6,822 ล้านบาท และกระทรวงวัฒนธรรม 7,016 ล้านบาท

ด้านนายตรีรัตน์ ศิริจันทโรภาส รองเลขาธิการพรรคไทยสร้างไทย กล่าวว่า เมื่อเปรียบเทียบการจัดงบประมาณสมัยรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา กับรัฐบาลของนายเศรษฐา พบว่ามีการเพิ่มงบประมาณเกือบทุกกระทรวง ซึ่งสวนทางกับรายรับที่ยังคงมีน้อยกว่ารายจ่าย โดยเฉพาะงบกลาง ที่ไม่สามารถตรวจสอบรายละเอียดงบได้ เสมือนการตีเช็คเปล่า ได้รับการจัดงบประมาณสูงขึ้นกว่าเดิมจาก 590,000 ล้านบาท เป็น 606,765 ล้านบาท

"ในขณะที่งบประมาณกระทรวงกลาโหมที่นายสุทิน คลังแสง เป็นเจ้ากระทรวง ประกาศทั้งก่อนและหลังเลือกตั้งว่าจะลดขนาดกองทัพ แต่ดันจัดงบประมาณสวนทาง เพิ่มขึ้นจากเดิม จาก 194,000 ล้าน เป็น 198,000 ล้านบาท ซึ่งสะท้อนการไม่แก้ไขปัญหาจำนวนบุคลากรของกองทัพที่มีมากเกินไปส่งผลให้ปี 2567 มีการเสนอของบประมาณมากกว่าปี 2566 ถึง 295,000 ล้านบาท ซึ่งยังไม่รวมการแจกเงินดิจิทัลอีกกว่า 5 แสนล้านบาท ที่มาจากการกู้”  นายตรีรัตน์ระบุ.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

กกต.จับตาศึก ‘อบจ.ราชบุรี’

ประธาน กกต.ยันจับตาเลือกตั้ง อบจ.ราชบุรีวันอาทิตย์นี้ เตือนอย่าทำอะไรผิดกฎหมาย “2 ผู้สมัคร” แห่หาเสียงโค้งสุดท้าย โดยเฉพาะเด็กค่าย ปชน.

ไปข้างหน้าเพื่อชาติ! อิ๊งค์วอนเสื้อแดงให้เข้าใจ ราชทัณฑ์ดิ้นโต้เสรีพิศุทธ์

"นายกฯ อิ๊งค์" เผย ครม.นิ่งแล้ว รอตรวจประวัติเสร็จทำงานได้ทันที แจงจับมือ "ประชาธิปัตย์" เพื่อเสถียรภาพรัฐบาล บอกเข้าใจหัวอกคนเสื้อแดง วอนก้าวไปข้างหน้าเพื่อชาติ