สะเทือนห้องวีไอพี ชั้น 14 "เศรษฐา" เซ็นคำสั่งฟ้าผ่า! แบ่งงาน "รองนายกฯ" ใหม่ ดึง "ยุติธรรม" ยกเว้น "ดีเอสไอ" ให้ "พีระพันธุ์" กำกับดูแลแทน "สมศักดิ์" ยันไม่เกี่ยวปมวิจารณ์ระเบียบกรมราชทัณฑ์ "เรียงหิน" น้อมรับไม่ติดใจ ปัดตอบถูกย้ายเพราะปม "น.ช.ทักษิณ"
เมื่อวันที่ 27 ธันวาคม 2566 นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ลงนามคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรี ที่ 381/2566 เรื่อง แก้ไขเพิ่มเติมคำสั่งมอบหมายและมอบอำนาจให้รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ปฏิบัติราชการแทนนายกรัฐมนตรี เมื่อ 25 ธ.ค.ที่ผ่านมา
สาระสำคัญคือ 1.การมอบหมายและมอบอำนาจให้นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.พาณิชย์ ปฏิบัติราชการแทนนายกรัฐมนตรี 2.การมอบหมายและมอบอำนาจให้นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รองนายกรัฐมนตรี ปฏิบัติราชการแทนนายกรัฐมนตรี กระทรวงสาธารณสุข และ 3.การมอบหมายและมอบอำนาจให้นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรี ปฏิบัติราชการแทนนายกรัฐมนตรี กระทรวงยุติธรรม (ยกเว้นกรมสอบสวนคดีพิเศษ)
การแบ่งงานครั้งล่าสุดนี้ ถูกตั้งข้อสังเกตว่า อาจเกี่ยวข้องกับกรณีการรักษาตัวนอกเรือนจำของนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ที่โรงพยาบาลตำรวจ ซึ่งอยู่เกิน 120 วันไปแล้วหรือไม่ โดยในช่วงที่ผ่านมา นายเศรษฐารวมถึง พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง รมว.ยุติธรรม ต่างปฏิเสธตอบคำถามสื่อมวลชนในหลายโอกาสถึงเรื่องนายทักษิณ พร้อมกับระบุสอดคล้องกันว่าเป็นหน้าที่ของกรมราชทัณฑ์ และโรงพยาบาลตำรวจ ขณะที่นายสมศักดิ์มักชี้แจงประเด็นดังกล่าวที่สังคมสงสัยมาตลอด ซึ่งเกี่ยวข้องกับระเบียบกรมราชทัณฑ์ ว่าด้วยการดำเนินการสำหรับการคุมขังในสถานที่คุมขัง พ.ศ.2566 ที่กำหนดเงื่อนไขการคุมขังนอกเรือนจำ และยังเคยออกมาเตือน กมธ.ตำรวจ อาจถูกฟ้องดำเนินคดี หากเข้าตรวจค้นชั้น 14 โรงพยาบาลตำรวจโดยพลการ
ล่าสุด นายสมศักดิ์ได้ให้สัมภาษณ์ตำหนิกรมราชทัณฑ์ ทำงานเช้าชามเย็นชามในกรณีนายทักษิณ เมื่อ 26 ธ.ค.ที่ผ่านมา และยังระบุว่า เรื่องที่เกี่ยวข้องกับนายทักษิณไม่กระทบเสถียรภาพรัฐบาล เพราะเงื่อนไขของกฎหมายและระเบียบราชทัณฑ์มีความชัดเจน ถ้าปฏิบัติตามแนวทางและกรอบของกฎหมาย หากข้าราชการทำตามทุกอย่างก็เดินไปตามปกติ แต่ถ้าทำๆหยุดๆ ไม่จริงจัง ทำไปโดยที่ไม่เข้าใจจะเป็นปัญหา
นายเศรษฐาให้สัมภาษณ์ถึงการแบ่งงานรองนายกฯ ครั้่งนี้ว่า อย่าไปคิดมาก เพราะพิจารณาตามทักษะความรู้ความสามารถ เป็นการปรับให้ตรงจุดมากกว่า และนายพีระพันธุ์ก็ไม่ใช่พรรคเพื่อไทย เราไม่ได้ยึดติดว่าใครอยู่พรรคไหน แล้วต้องอยู่ตรงนั้นเสมอไป เช่น กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.พาณิชย์ เป็นผู้รับผิดชอบดูแล จึงสะท้อนให้เห็นการทำงานหลายภาคส่วน หลายพรรคสามารถทำงานร่วมกันได้
เมื่อถามว่า สาเหตุที่สลับกระทรวงยุติธรรม ถูกเชื่อมโยงว่าเป็นเพราะนายสมศักดิ์ออกมาพูดเรื่องระเบียบกรมราชทัณฑ์หรือไม่ นายกฯ ส่ายหน้าก่อนตอบว่า ไม่มีเรื่องนี้แน่นอน ไม่เกี่ยวกัน ขอยืนยัน
ด้านนายสมศักดิ์ ปฏิเสธปมร้อนเกี่ยวกับนายทักษิณว่า ไม่รู้ ไม่มี และเมื่อก่อนเหมือนมีการกล่าวหาตน ว่าไปทำระเบียบกฎเกณฑ์ไว้เกี่ยวกับการเอื้ออะไรต่างๆ ตอนนี้เมื่อไม่ได้คุมแล้วก็ชัดเจนว่าไม่ได้เอื้อ จึงไม่มีอะไรน่าสงสัยอีกแล้ว
ผู้สื่อข่าวถามว่า ได้ให้เหตุผลในการเปลี่ยนแปลงงานใหม่หรือไม่ นายสมศักดิ์กล่าวว่า ไม่ต้องให้เหตุผล เพราะเป็นอำนาจนายกฯ อยู่แล้ว เปลี่ยนแปลงได้ตลอด
ถามว่า เกิดความสงสัยหรือไม่ เพราะเคยเป็นอดีต รมว.ยุติธรรม และเป็นรองนายกฯ ก็กำกับกระทรวงยุติธรรม แต่ล่าสุดกลับมีการเปลี่ยนแปลง นายสมศักดิ์ตอบว่า ไม่อยากถาม เราเป็นนักการเมืองต้องพร้อมที่จะทำงาน และที่ผ่านมาตนก็เคยทำงานในกระทรวงสาธารณสุข ทั้งตำแหน่ง รมว.สาธารณสุขและ รมช.สาธารณสุข จึงถือว่ามีงานที่หนาแน่นกว่ากระทรวงยุติธรรมหลายเท่าตัว ถ้าไปถามจะถูกหาว่าเราอยากทำงานเบา
เมื่อถามว่า สาเหตุที่ถูกย้ายเพราะแสดงความเห็นเกี่ยวกับเรื่องคดีของนายทักษิณมากเกินไป ทำให้สังคมจับจ้องรัฐบาลใช่หรือไม่ เขากล่าวว่า ไม่ได้สงสัยอะไร ที่ผ่านมาก็ว่าไปตามระเบียบกฎเกณฑ์ เพื่อให้สังคมเกิดความเข้าใจ และก็มีแต่คนพูดว่าดีแล้วที่ทำให้สังคมเข้าใจ
ผู้สื่อข่าวถามต่อว่า น้อยใจหรือไม่ นายสมศักดิ์ตอบทันทีว่า “ดีใจ”
ซักว่า รู้สึกโล่งใจหรือไม่ที่ไม่ต้องรับเผือกร้อน รองนายกฯ ผู้นี้ปฏิเสธว่า ไม่ ไม่ได้มีเผือกร้อนอะไรเลย ทำงานมาตั้งหลายสมัย งานทุกอย่างมีทางออก และมีคำตอบของเขาอยู่แล้ว อย่าไปซีเรียส อย่าซีเรียสแทนตนเลย สบายๆ
เมื่อถามว่า กรณีที่ให้นายพีระพันธุ์ไปกำกับกระทรวงยุติธรรม จะมีงานสำคัญในอนาคตอะไรหรือไม่ นายสมศักดิ์ยังคงปฏิเสธว่า ไม่ทราบ ไม่น่าจะมีอะไร คงอยู่ที่ความเหมาะสม
ถามว่า อาจจะมีเรื่องในอนาคตที่ไม่อยากให้พรรคเพื่อไทยไปเกี่ยวข้องหรือไม่ นายสมศักดิ์กล่าวว่า อย่าไปคิดมาก เขาปรับให้ใหม่ตนก็ดีใจแล้วที่ได้กระทรวงสาธารณสุขมา
ขณะที่ นพ.พรหมินทร์ เลิศสุริย์เดช เลขาธิการนายกรัฐมนตรี ให้สัมภษณ์ถึงการสร้างผลงานของรัฐบาลมาอาจจะมาสะดุด เพราะเรื่องนายทักษิณที่ถูกกล่าวหาว่าเป็นนักโทษเทวดาหรือไม่ว่า เราเชื่อว่าเราทำทุกอย่างในกรอบกฎหมาย รัฐบาลมีหน้าที่ทำประโยชน์ให้ประชาชน เรื่องต่างๆ ที่เกิดขึ้นมีข้อวิจารณ์ต่างๆ ถ้าอยู่ในกรอบกฎหมายก็ต้องเป็นเรื่องเฉพาะ
เมื่อถามว่า เรื่องกระบวนการยุติธรรมที่ถูกมองว่ากำลังถูกสั่นคลอน จากกกรณีนายทักษิณ จะเป็นปัญหากับรัฐบาลหรือไม่ นพ.พรหมินทร์กล่าวว่า ถ้าเราอยู่ในกรอบกฎหมาย ทุกคนมีสิทธิแบบเดียวกัน ตนว่ามันอยู่ในกรอบกฎหมายหรือไม่ ผิดกฎหมายหรือไม่ ต้องพิจารณากันตรงนั้น ในหลักสำคัญคือหลักนิติธรรมที่เกิดขึ้นกับประเทศทั้งประเทศ และไม่ควรจะเกิด 2 มาตราฐาน ฉะนั้นอะไรที่ปฏิบัติได้กับทุกคนก็เป็นอย่างนั้น
วันเดียวกันนี้ นายนรินท์พงศ์ จินาภักดิ์ นายกสมาคมทนายความแห่งประเทศไทย โพสต์ข้อความผ่านเพจเฟซบุ๊กสมาคมทนายความแห่งประเทศไทยว่า ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 129 และข้อบังคับการประชุมสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ.2562 ข้อ 90 (13) คณะกรรมาธิการการตำรวจมีอำนาจหน้าที่กระทำกิจการ พิจารณาสอบหาข้อเท็จจริง หรือศึกษาเรื่องใดๆ ที่เกี่ยวกับกิจการตำรวจ การปฏิบัติหน้าที่ให้เป็นไปตามกฎหมาย การป้องกันและการรักษาความสงบเรียบร้อยภายในประเทศ
แต่การส่งตัวอดีตนายกฯ ทักษิณซึ่งเป็นผู้ต้องขังไปรักษาตัวนอกเรือนจำ และการอนุญาตให้พักรักษาตัวที่โรงพยาบาลตำรวจ เป็นอำนาจของผู้บัญชาการเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ ซึ่งอนุญาตตามความเห็นของแพทย์หรือเจ้าหน้าที่ทางการแพทย์ของกรมราชทัณฑ์ และความเห็นของแพทย์โรงพยาบาลตำรวจผู้ทำการรักษา อันเป็นการใช้อำนาจตามพระราชบัญญัติราชทัณฑ์ พ.ศ.2560 มาตรา 55 ประกอบกฎกระทรวงการส่งตัวผู้ต้องขังไปรักษาตัวนอกเรือนจำ พ.ศ.2563 ข้อ 2 (2) ซึ่งมิใช่กิจการของตำรวจ การกระทำของผู้บัญชาการเรือนจำจึงไม่อยู่ในอำนาจการตรวจสอบของคณะกรรมาธิการการตำรวจ
ส่วนการที่คณะกรรมาธิการฯ จะไปโรงพยาบาลตำรวจ เพื่อตรวจสอบว่าอดีตนายกฯ ยังพักรักษาตัวอยู่หรือไม่นั้น เนื่องจากห้องพักรักษาตัวของผู้ต้องขังที่เป็นผู้ป่วยถือเป็นสถานที่คุมขัง ตามพระราชบัญญัติราชทัณฑ์ พ.ศ. 2560 มาตรา 55 บุคคลอื่นจะเข้าไปในห้องพัก ซึ่งเป็นสถานที่คุมขังจะต้องได้รับอนุญาตจากผู้บัญชาการเรือนจำ และต้องได้รับความยินยอมจากผู้ต้องขังที่เป็นผู้ป่วย ดังนั้น หากต้องการตรวจสอบ คณะกรรมาธิการฯ ควรเชิญเจ้าหน้าที่ของโรงพยาบาลตำรวจมาสอบข้อเท็จจริง ก็จะได้ผลเท่ากัน เพราะการนำคณะไปก็ไม่อาจเข้าไปในสถานที่พักรักษาตัวได้อยู่ดี แต่จะเป็นการรบกวนการทำงานของโรงพยาบาลและผู้ป่วยอื่นที่ไม่เกี่ยวข้องด้วย
นอกจากนั้น การเรียกแพทย์จากกรมราชทัณฑ์และแพทย์จากโรงพยาบาลตำรวจ มาสอบข้อเท็จจริงเกี่ยวกับเรื่องนี้ อยู่ในอำนาจของคณะกรรมาธิการการสาธารณสุขตามข้อบังคับข้อ 90 (33) ดังนั้นคณะกรรมาธิการการตำรวจ จึงไม่มีอำนาจตรวจสอบข้อเท็จจริงเรื่องนี้แต่อย่างใด
การตรวจสอบเป็นเรื่องดีและกระทำได้ แต่จะต้องอยู่ในอำนาจหน้าที่ ไม่เช่นนั้นจะเป็นการใช้อำนาจหน้าที่โดยมิชอบ อันเป็นการจงใจปฏิบัติหน้าที่หรือใช้อำนาจขัดต่อบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญหรือกฎหมาย เป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 157 ซึ่งอยู่ในอำนาจการไต่สวนของ ป.ป.ช. ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 234 (1).
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
บิ๊กอ้วนตอกยํ้า แจก‘เงินดิจิทัล’ ‘อนุสรณ์’เตือน
“ภูมิธรรม” ยันรัฐบาลเร่งแจกเงินดิจิทัลวอลเล็ต หวังกระตุ้นเศรษฐกิจ
อิ๊งค์หาเสียงฟุ้งพท.มาคนจนรวยแน่
"หัวหน้าอิ๊งค์” ลุยนครพนม ช่วย “อนุชิต” ผู้สมัครนายก อบจ.เพื่อไทยหาเสียง
รพ.ตำรวจอึมครึม เวชระเบียนชั้น14
เส้นตายพุธนี้! แพทยสภาสอบหมอช่วย "ทักษิณ" อึมครึม "แพทย์ใหญ่ รพ.ตำรวจ" ปัดตอบส่งเอกสารหรือยัง
‘จ่าเอ็ม’เครียด อุบ‘ผู้มีบุญคุณ’ ตร.หิ้วฝากขัง!
ตำรวจเค้นสอบ “จ่าเอ็ม” ตลอดคืน ยังให้การไม่เป็นประโยชน์คดียิงอดีต
จับตา!เคาะ‘กาสิโน’ คลังชงเข้าครม.ไฟเขียว/นักวิชาการชี้ผลประโยชน์ทับซ้อน
จับตา “คลัง” เล็งชงเอนเตอร์เทนเมนต์คอมเพล็กซ์เข้า ครม.จันทร์นี้หรือไม่ หลัง
ชีพจรลงเท้า นายกฯ ลุยบึงบอระเพ็ด เร่งแก้น้ำแล้ง น้ำท่วมพรุ่งนี้
นายกฯเร่งแก้น้ำแล้ง น้ำท่วม บ่ายพรุ่งนี้ลงพื้นที่บึงบอระเพ็ด